วันพุธ, มีนาคม 17, 2553

Oscar 2010: Money Can't Buy Me Love


ไม่รู้ว่าเป็นตลกร้ายของชะตากรรมหรือไร เพราะท่ามกลางความพยายามสุดแรงเกิดที่จะเพิ่มเรตติ้งให้รายการของทีมผู้จัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์โดยมุ่งเน้นเข้าหามวลชนกระแสหลัก (เพิ่มหนังเยี่ยมเป็น 10 เรื่อง, เชิญนักแสดงวัยรุ่นมาร่วมงาน, สดุดีหนังสยองขวัญ, ตัดส่วนของการแจกรางวัลออสการ์เกียรติยศออก ฯลฯ) สุดท้ายแล้ว หนังที่กวาดรางวัลออสการ์ไปครองมากสุดในปีนี้กลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินน้อยที่สุดอย่าง The Hurt Locker

ก่อนประกาศผล หลายคนเชื่อว่า Avatar จะคว้าชัยในสาขาใหญ่สุดมาครองเนื่องจากจำนวนเงินมหาศาลที่มันกอบโกยมาจากกระเป๋าคนดูทั่วโลก รวมไปถึงกระแส “สาดโคลน” จำนวนมากที่ The Hurt Locker ต้องทนรับตลอดหนึ่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนกำหนดส่งใบลงคะแนน ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์นายทหารในกองทัพที่คัดค้านหนัง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง ลอสแองเจลิส ไทม์ หรือเรื่องที่ผู้อำนวยการสร้าง นิโคลัส ชาร์เทียร์ อีเมลหาคณะกรรมการหลายคน เรียกร้องให้โหวตเลือกหนังทุนต่ำเกี่ยวกับกลุ่มนายทหารปลดระเบิดในสงครามอิรักของตนแทนที่จะเลือกหนังมหากาพย์ทุนสูงบางเรื่อง (เขาไม่ได้ระบุชื่อ แต่ส่วนใหญ่คงเดาได้ไม่ยากว่าชาร์เทียร์หมายถึงเรื่องใด) จนส่งผลให้เขาถูกแบนไม่ได้มาร่วมงานออสการ์ (เป็นเหตุบังเอิญไหมที่ประธานสถาบันออสการ์ ทอม ชาเรค รวมถึงสมาชิกระดับบริหารของสถาบันอย่าง อดัม แชงค์แมน และ บิล เมคานิค ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องลึกซึ้งกับ ฟ็อกซ์ สตูดิโอ เจ้าของหนังเรื่อง Avatar ทั้งสิ้น บ้างในฐานะอดีตผู้บริหาร บ้างก็ดำรงตำแหน่งกรรมการระดับสูงอยู่)

ต่อมานายทหารคนหนึ่งก็เลือกจังหวะเหมาะที่จะประกาศฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทีมงาน The Hurt Locker โดยอ้างว่าตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งรับบทโดย เจเรมี เรนเนอร์ นั้นเห็นได้ชัดเจนว่าดัดแปลงมาจากเรื่องราวชีวิตของเขา และเขาก็ไม่ค่อยปลื้มนักกับการที่หนังวาดภาพให้ตัวละครดังกล่าวดู “จิตป่วย” (คำแก้ต่างของ มาร์ค โบว คนเขียนบท คือ เขารวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายทหารนับร้อยคน ไม่ใช่จากคนๆ เดียว)

การถูกโจมตีจากรอบด้านจนเกิดอาการเมาหมัดของ The Hurt Locker ทำให้เซียนออสการ์หลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าหนังเล็กๆ เรื่องนี้จะสามารถยืนหยัดบนตำแหน่งผู้นำไปจนถึงวันประกาศผลได้ แม้ว่าทุกลางบอกเหตุทั้งหมดก่อนหน้าล้วนบ่งชี้มายังจุดหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น BAFTA, WGA, PGA, DGA และสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลาย (การมอบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้ Avatar จะทำให้ออสการ์มีรสนิยมสอดคล้องกับลูกโลกทองคำเท่านั้น!) แต่ก็เช่นเดียวกับ A Beautiful Mind และ Slumdog Millionaire สุดท้ายแล้วหนังแอ็กชั่น-ดรามาของผู้กำกับหญิง แคธรีน บิเกโลว์ ก็สามารถฝ่าด่านเทศกาลสาดโคลน ซึ่งบรรดา “ตัวเก็ง” ทั้งหลายต้องเผชิญ ไปได้อย่างปลอดภัย... และอาจถึงขั้นแข็งแกร่งเหนือความคาดหมายด้วยซ้ำ เมื่อปรากฏว่ามันคว้ารางวัลมาครองมากถึง 6 สาขา ทั้งแบบ “นอนมา” อย่างสาขาผู้กำกับ และแบบขับเคี่ยวกันมันหยดอย่างสาขาตัดต่อ, บันทึกเสียง, ตัดต่อเสียง, บทดั้งเดิม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

สาเหตุหลักแห่งความพ่ายแพ้ของ Avatar น่าจะมาจากการขาดเสียงสนับสนุนของกลุ่มนักแสดง ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่สุดของออสการ์ และตัวแปรสำคัญที่เคยผลักดันให้ Crash พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินบนเวทีออสการ์มาแล้ว ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่าสมาชิกกลุ่มเทคนิคก็ไม่ได้เทคะแนนให้ Avatar อย่างหมดใจเสียทีเดียว เพราะหลายสาขาที่หนังสองเรื่องนี้ขับเคี่ยวกันมาล้วนลงเอยด้วยชัยชนะของ The Hurt Locker คงเหลือเพียงสาขากำกับภาพเท่านั้นที่หนังของ เจมส์ คาเมรอน เฉือนชนะไปได้อย่างหวุดหวิด

โดยรวมแล้วผลรางวัลส่วนใหญ่ล้วนปราศจากเซอร์ไพรซ์ สาขาเดียวที่ถือว่า “พลิกล็อก” คือ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของ เจฟฟรีย์ เฟลทเชอร์ (Precious) ชนิดหักปากกาเซียน ผลดังกล่าวทำให้ Up in the Air กินแห้วไปแบบเต็มปากจากการเข้าชิงทั้งหมด 6 รางวัล ส่วนอาการ “วืด” ของ The White Ribbon และ A Prophet ก็ถือว่าเป็นไปตามคาด เพราะ The Secret in Their Eyes เป็นหนังที่ได้ “ใจ” คณะกรรมการแบบเดียวกับ Depatures เมื่อปีก่อน

Oscar’s Best Moments


* หลายคนอาจกังขาต่อคุณภาพงานแสดงใน The Blind Side ว่ายอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีจริงหรือ แต่ดูเหมือนทุกคนจะเห็นตรงกันว่าสุนทรพจน์ของ แซนดร้า บูลล็อค บนเวทีออสการ์ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี... หรืออาจจะในรอบหลายปีเลยด้วยซ้ำ เธอไม่ได้ออกอาการสติแตกแบบ ฮัลลี เบอร์รี (Monster’s Ball) หรือร้องไห้สะอึกสะอื้นราวญาติเสียแบบ กวิเน็ธ พัลโทรว (Shakespeare in Love) หรือพูดอะไรแปลกๆ แบบ แซลลี่ “คุณชอบฉัน” ฟิลด์ (Places in the Heart) แต่กลับผสมผสานความจริงใจและอารมณ์ขันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักที่ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจแฟนหนังและเหล่าเพื่อนร่วมงาน ดังคำแซวของ สตีฟ มาร์ติน ที่ว่า “มีใครบ้างที่ไม่รัก แซนดร้า บูลล็อค” นอกจากนี้ ชุดสุดหรูแสนคลาสสิกของเธอยังได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่าแฟชั่นกูรูทั่วสารทิศว่ายอดเยี่ยมที่สุดชุดหนึ่งอีกด้วย ต้องเรียกว่าค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนของเธออย่างแท้จริง

* เบน สติลเลอร์ มักจะโผล่มาขโมยซีนในงานออสการ์หลายครั้งหลายครา ปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อเขาเดินมาประกาศรางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยมในมาดของมนุษย์ตัวฟ้า (แรกเริ่มเดิมทีเขาวางแผนมาประกาศรางวัลร่วมกับ ซาชา บารอน โคเอน ซึ่งจะแต่งเป็นชาวนาวีเพศเมีย ขณะที่สติลเลอร์จะรับทำหน้าที่เป็นล่ามสุดป่วย ซึ่งแปลภาษาได้ห่วยแตกจนโคเอนเริ่มมีน้ำโห แล้วเปิดเผยกลางเวทีว่าลูกในท้องเธอเป็นลูกของ เจมส์ คาเมรอน และต้องการเผชิญหน้าเขาในลักษณะแฉแหลกแบบแขกรับเชิญในรายการ เจอร์รี่ สปริงเกอร์ แต่หนึ่งในโปรดิวเซอร์งานออสการ์เกรงว่าแก๊กตลกดังกล่าวอาจคุกคามความรู้สึกของ เจมส์ คาเมรอน มากไป เลยตัดสินใจตัดออกในนาทีสุดท้าย... นี่คงเป็นอภิสิทธิ์ที่คุณได้รับไม่ว่าจะโดยต้องการหรือไม่ก็ตาม หากหนังของคุณทำเงินเกินสองพันล้านเหรียญทั่วโลก) พร้อมกับปล่อยมุกว่า เขาจะยืนห่างๆ จากผู้ชนะ เพราะไม่อยากให้คนได้รางวัลเสียความมั่นใจจากเมกอัพระดับสุดยอดของตน โดยในคืนก่อนหน้าสติลเลอร์ก็เพิ่งเรียกเสียงฮาได้มากสุดจากงาน Independent Spirit Award... บางทีออสการ์น่าจะติดต่อให้เขามาเป็นพิธีกรซะเลย

* รูปแบบนักแสดงห้าคนออกมาแนะนำนักแสดงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ถูกหยิบยืมมาจากปีก่อน แต่คราวนี้แทนที่จะใช้บริการของ “อดีตเจ้าของรางวัลออสการ์” พวกเขากลับเลือก “อดีตเพื่อนร่วมงาน” มากล่าวเปิดตัว ส่งผลให้หลายครั้งมันดูน่าอึดอัด ขัดเขิน หรือบางทีก็ถึงขั้นไร้สาระ (แม้เราจะได้ทราบเกร็ดสนุกๆ บางอย่างซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทักษะการแสดงแต่อย่างใด เช่น รอยสักบนมือของ เฮเลน เมียร์เรน หรือ เหตุการณ์ร่วมเรียงเคียงหมอนของ โคลิน ฟาร์เรล กับ เจเรมี เรนเนอร์) คนเดียวที่ดูเหมือนจะ “รู้งาน” และกล่าวแนะนำผู้เข้าชิงได้อย่างสมศักดิ์ศรี คือ โอปรา วินฟรีย์ ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดเมื่อพิจารณาจากงานหลักของเธอ “เธอเป็นนักเรียนที่ต้องการจะหารายได้พิเศษมาจ่ายค่าเทอม วันจันทร์เธอตัดสินใจโดดเรียนเพื่อมาทดสอบหน้ากล้องหนังเรื่อง Precious วันอังคารเธอถูกเรียกให้มาพูดคุยกับผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ วันพุธเธอคว้าบทนี้ไปครอง” วินฟรีย์กล่าวแนะนำนักแสดงนำหญิง แกบาเร ซิเดเบ “และคืนนี้เธอได้มานั่งอยู่ในงานแจกรางวัลออสการ์เพราะถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาเดียวกับ เมอรีล สตรีพ... เวลาเรามองดูเธอ เราจะเห็นภาพของซินเดอเรลลาแห่งฮอลลีวู้ด ยืนอย่างสง่างามอยู่ตรงจุดเริ่มต้นของอนาคตอันรุ่งโรจน์ และคำว่า ‘ล้ำค่า’ ก็เป็นแค่หนึ่งในคำคุณศัพท์แรกที่เธอได้รับ... ส่วนคำอื่นๆ ที่เหลือก็ล้วนแล้วแต่ยอดเยี่ยมทั้งนั้น” ไม่น่าแปลกใจเลยที่ซิเดเบจะนั่งปาดน้ำตาระหว่างรับฟังคำชมจากปากจากของราชินีทอล์คโชว์ เพราะขนาดพวกเราคนดูเองก็ยังแทบจะกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

* เมื่อปีก่อนเธอจับคู่กับ สตีฟ มาร์ติน มาเรียกเสียงฮาได้อย่างเหมาะเจาะ พอมาปีนี้มือเขียนบทและนักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลเอ็มมี่ ทีน่า เฟย์ (30 Rock) ก็ได้คู่หูที่สมน้ำสมเนื้ออีกเช่นเคย นั่นคือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ และการปะทะคารมกันระหว่างคนทั้งสองก่อนประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมก็ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์อันน่าชื่นใจของงานออสการ์ --- เฟย์: “หนังชั้นยอดเริ่มต้นด้วยบทชั้นเยี่ยม” ดาวนีย์: “สิ่งที่นักแสดงมองหาในบทหนัง คือ ความซื่อตรงและฉากระเบิดอารมณ์” เฟย์: “สิ่งที่นักเขียนต้องการจากนักแสดง คือ การท่องจำแบบคำต่อคำและความหวาดกลัวที่จะด้นสด” ดาวนีย์: “นักแสดงต้องการบทที่สะท้อนปัญหาสังคม ฉากหลังอากาศอบอุ่น ฉากโทรศัพท์ซึ่งสามารถแยกถ่ายเจาะ เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเจอยายนักแสดงสติแตกที่เขาเกลียดขี้หน้า และบทพูดยาวๆ โดยไม่ถูกขัดจังหวะ ก่อนจะเปิดบทหน้าถัดไปแล้วพบวลีว่า ‘โทนี่ สตาร์ค พูดต่อ’ ” เฟย์: “นักเขียนใฝ่ฝันให้นักแสดงถูกแทนที่โดย คอมพิวเตอร์ กราฟฟิก เพื่อพวกเขาจะได้สร้างสรรค์การแสดงชั้นยอดได้จากคอมพิวเตอร์แลปทอปโดยลำพัง” ดาวนีย์: “มันเป็นการร่วมงานกันระหว่างคนหน้าตาดีที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์กับคนโรคจิตที่ชอบใช้ชีวิตอยู่ในรู!”

* แคธรีน บิเกโลว (The Hurt Locker) สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง หลังจากก่อนหน้านี้มีผู้หญิงเพียง 3 คนเท่านั้นที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิง นั่นคือ ลีนา เวิร์ทมูลเลอร์ (Seven Beauties) เจน แคมเปี้ยน (The Piano) และ โซเฟีย คอปโปล่า (Lost in Translation)

What the Hell Happened?


* ใครก็ตามที่ได้ชมการถ่ายทอดสดคงพากันสงสัยว่า ขณะผู้กำกับ/อำนวยการสร้าง โรเจอร์ รอส วิลเลียมส์ กำลังกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Music by Prudence) ยายผู้หญิงผมแดงสวมชุดสีส้ม ที่สวมวิญญาณ คานเย่ เวสต์ ด้วยการขึ้นมาแย่งพูดนั้นเป็นใคร จากการสืบหาข้อมูล ผลปรากฏว่าเธอชื่อ อีเลนอร์ เบอร์เก็ตต์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสร้างของหนัง ซึ่งถูกถอดชื่อออกจากเครดิตหลังมีปัญหาฟ้องร้องกันเกี่ยวกับทิศทางของสารคดี เธออ้างว่าในงานออสการ์ แม่ของวิลเลียมส์ใช้ไม้เท้ากันเธอไม่ให้เดินไปถึงเวทีอย่างรวดเร็ว ขณะลูกชายรีบวิ่งไปรับรางวัล ส่วนเขาโต้กลับว่า “แม่ผมลุกขึ้นมากอดผม ท่านอายุ 85 ปี และตื่นเต้นมาก”

* ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ Twilight กับ New Moon ถือเป็นภาพยนตร์ “สยองขวัญ” นอกเสียจากการนั่งฟังบทสนทนาแข็งทื่อ ไร้อารมณ์สามารถทำให้คุณขนหัวลุกได้ ด้วยเหตุนี้เอง การคัดเลือกสองนักแสดงสุดฮ็อตวัยขบเผาะอย่าง คริสเตน สจ๊วต และ เทย์เลอร์ เลาท์เนอร์ มากล่าวเปิดตัวคลิปสดุดีหนังสยองขวัญ จึงถือเป็นเรื่องชวนพิศวงพอๆ กับสาเหตุว่าทำไมจู่ๆ ออสการ์ถึงตัดสินใจมาสดุดีหนังสยองขวัญ (หรือนี่คืออีกหนึ่งความพยายามอันสิ้นหวังของผู้จัดรายการที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น?) นอกจากนี้ บทกล่าวเปิดตัวยังระบุว่าหนังสยองขวัญไม่ได้รับเกียรติบนเวทีออสการ์นับแต่ The Exorcist คว้าสองรางวัลมาครองเมื่อ 37 ปีก่อน... หา? อืมม บางทีพวกเขาอาจหมายถึงหนังสยองขวัญแบบ “ฮาร์ดคอร์” ก็ได้ แต่พอคลิปเริ่มฉาย มันกลับปรากฏภาพของ The Silence of the Lambs (ได้ออสการ์ห้าสาขาสำคัญมาครองแบบครบถ้วน) และ Misery (ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำหญิง) รวมอยู่ด้วย (เช่นเดียวกับ Edward Scissorhands และ Beetlejuice !!!??? บอกมาสิ เป็นเพราะ ทิม เบอร์ตัน กำลังมีหนังเข้าฉายที่ทำเงินขึ้นอันดับหนึ่งอยู่ใช่ไหม) ... ตกลงคนเขียนบทกับคนตัดต่อคลิปได้ทำการบ้านและประสานงานกันบ้างหรือเปล่า

* จอห์น ฮิวจ์ ไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สักครั้ง แต่พอเขาเสียชีวิต กลับมีการเพิ่มช่วงเวลาพิเศษอุทิศให้เจ้าของผลงานอย่าง The Breakfast Club และ Sixteen Candles พร้อมทั้งยังเชิญอดีตนักแสดงกลุ่ม “แบรท แพ็ค” อย่าง อัลลี ชีดี้, มอลลี ริงวอลด์ และ จัดด์ เนลสัน มาร่วมกล่าวสดุดีด้วย... อย่าเข้าใจผิด Ferris Bueller’s Day Off เป็นหนังสุดโปรดของผมสมัยเด็กๆ แต่ในปีที่เราสูญเสียนักทำหนังระดับตำนานอย่าง อีริค โรแมร์ (Claire’s Knee, Tales of Four Seasons) ไป มันคู่ควรแล้วหรือที่ออสการ์จะให้สิทธิพิเศษแก่ฮิวจ์เพียงเพราะเขาทำหนังเอาใจตลาดและเคยเป็นขวัญใจวัยรุ่นในช่วงยุค 1980 มันให้ความรู้สึกราวกับทีมผู้จัดงานแจกรางวัลออสการ์อยากตะโกนบอกทุกคนว่า “เราไม่ได้เชิดใส่หนังกระแสหลักหรอกนะ!” ให้ตายสิ กระทั่งตอน โรเบิร์ต อัลท์แมน เสียชีวิต เขาก็แค่ถูกรวมไว้ในคลิป “แด่บุคคลที่จากไป” เท่านั้น การตัดสินใจดังกล่าวดูจะสอดคล้องกันดีกับกลยุทธ์ดึงปลั๊ก “ออสการ์เกียรติยศ” แล้วปิดโอกาสฉายแสงของ ลอเรน เบคอล, โรเจอร์ คอร์แมน และ กอร์ดอน วิลลิส... ช่างหัวพวกคนแก่ปะไร เด็กวัยรุ่นเท่านั้นที่เราอยากให้ความสำคัญ จริงมั้ย

* งานแจกรางวัลออสการ์ปีนี้ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่ “น่ากังขา” หนึ่งในนั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกต คือ การเปลี่ยนวลี And the Oscar goes to… มาเป็น And the winner is… เหตุผลหนึ่งคงเพื่อรักษาธีม “เรโทร” แบบการเสนอชื่อหนัง 10 เรื่องเข้าชิงแทน 5 เรื่อง แต่เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจดังกล่าวใช่จะเป็นที่เห็นชอบของทุกคน โดยหนึ่งในคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะออสการ์มาเป็นการแข่งขัน ซึ่งย่อมต้องมีคน “แพ้” และ “ชนะ” คือ เคท วินสเล็ท ผู้ยืนกรานใช้วลี And the Oscar goes to… ตอนขึ้นมาประกาศรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

* หลังจากหลายคนพากันงุนงงเป็นไก่ตาแตกว่า ฌอน เพนน์ บ่นพึมพำอะไรก่อนประกาศรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (“ผมไม่เคยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของสถาบันฯ แต่ทั้งสถาบันฯ และผมต่างมีบางอย่างเหมือนกัน นั่นคือ เราลืมที่จะให้เกียรตินักแสดงหญิงคนเดียวกัน... ดังนั้น ผมขอเริ่มต้นใหม่พร้อมกับสถาบันด้วยการให้เกียรตินักแสดงหญิงที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้”) ในที่สุดประชาสัมพันธ์ของเพนน์ก็ออกมาเฉลยในภายหลังว่า บทพูดที่ฟังดูเหมือนจะไม่เมคเซนส์ใดๆ นั้นเป็นการพูดถึงภรรยา โรบิน ไรท์ ซึ่งเพนน์ลืมกล่าวขอบคุณตอนเขาก้าวขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Milk ส่วนสถาบันฯ ก็ดันมองข้ามการแสดงอันน่าทึ่งของเธอใน The Private Lives of Pippa Lee

สรุปรายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – แคธรีน บิเกโลว (The Hurt Locker)
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม – เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart)
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม – แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side)
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds)
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – โมนีก (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire)
บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม – Precious: Based on the Novel Push by Sapphire
ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม – The Secret in Their Eyes (อาเจนตินา)
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม – Up
ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม – The Cove
กำกับภาพยอดเยี่ยม – Avatar
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม – Avatar
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม – The Young Victoria
ลำดับภาพยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – Up
เพลงประกอบยอดเยี่ยม – The Weary Kind (Crazy Heart)
แต่งหน้ายอดเยี่ยม – Star Trek
เทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม – Avatar
ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
บันทึกเสียงยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นยอดเยี่ยม – Logorama
ภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม – The New Tenants
ภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม – Music by Prudence

ไม่มีความคิดเห็น: