วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Cold War: รักในรอยร้าว

ในยุคที่แม้แต่หนังซูเปอร์ฮีโรกระแสหลักยังมีความยาวเกินสามชั่วโมง อาจพูดได้ว่าพลังวิเศษของ พาเวล พาวลีคอฟสกี คือ การสร้างหนังให้มีความยาวไม่เกิน 90 นาที โดยผลงานกำกับชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทั้งหมด 5 เรื่องของเขา หนึ่งในนั้นเป็นภาพยนตร์ชนะรางวัลออสการ์เรื่อง Ida ล้วนรักษาระดับมาตรฐานเอาไว้อย่างเข้มงวด และ Cold War เองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แม้ว่ามันจะลงเอยกลายเป็นหนังที่ยาวที่สุดของเขา (89 นาที) ก็ตาม ความน่ามหัศจรรย์อยู่ตรงที่คราวนี้พาวลีคอฟสกีท้าทายตัวเองขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเลือกจะเล่าเรื่องราวซึ่งกินเวลานับสิบปีภายใต้ฉากหลังอันซับซ้อนช่วงสงครามเย็นในระดับเดียวกับภาพยนตร์มหากาพย์

ตามความเข้าใจของคนทั่วไปสงครามเย็นกินเวลายาวนาน 44 ปี (1947-1991) หนังเปิดเรื่องที่ประเทศโปแลนด์ในปี 1949 เมื่อ วิคเตอร์ (โทมัส คอทกับ อีเรนา (อกาธา คูเลสกาออกเดินทางตระเวนชนบทเพื่อบันทึกเสียงเพลงโฟล์กของชาวไร่ชาวนา พร้อมกับคัดเลือกเหล่านักร้องสมัครเล่นมาร่วมคณะดนตรีเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นบ้าน ในระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกพวกเขาได้รู้จัก ซูลา (โจแอนนา คูลิก) หญิงสาวที่น้ำเสียงเปี่ยมชีวิตชีวามากพอๆ กับประวัติอันด่างพร้อย เธอหาใช่สาวชาวบ้านดังที่กล่าวอ้าง แต่มาจากครอบครัวคนเหมือง ก่อนจะถูกส่งเข้าสถานพินิจด้วยข้อหาฆ่าพ่อตัวเอง เมื่อวิคเตอร์ถามถึงรายละเอียด เธอตอบอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ ว่า “เขาเข้าใจผิดคิดว่าฉันเป็นแม่ ฉันเลยใช้มีดพิสูจน์ให้เขาเห็นความแตกต่างน้ำเสียงของเธอพอไปวัดไปวา แม้ทักษะการเต้นอาจต้องฝึกฝนอีกสักหน่อย อีเรนาไม่ได้รู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ แต่วิคเตอร์กลับหลงใหลหัวปักหัวปำ เขาเชื่อว่าเธอมีเสน่ห์ดึงดูดบางอย่างนอกเหนือจากใบหน้าอันสะสวย

ภายในเวลาไม่กี่ปีซูลากลายเป็นนักร้องชูโรง ขณะความสัมพันธ์ของเธอกับวิคเตอร์ก็ไต่ระดับไปเป็นคู่รักเต็มตัว ความโด่งดังทำให้คณะดนตรีเป็นที่จับตาของพรรคคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่รัฐจึงหวังจะใช้มันเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ โดยยื่นข้อเสนอ (ที่คุณไม่อาจปฏิเสธได้) ให้สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์ของพรรคเอาไว้ในเพลง อีเรนาไม่อาจทนรับการทรยศต่อจิตวิญญาณของดนตรีโฟล์กได้จึงตัดสินใจโบกมือลาจากวง ส่วนนักดนตรีอย่างวิคเตอร์เองก็ชิงชังความคิดนี้ไม่น้อยกว่ากัน แต่มองเห็นการสนับสนุนของรัฐเป็นโอกาสที่จะได้ตระเวนทัวร์ไปยังประเทศอื่นๆ ยิ่งเมื่อซูลาสารภาพว่าเธอถูกรัฐบีบให้สอดแนมหาข้อมูลเกี่ยวกับวิคเตอร์ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือเบาะแสของการโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายทุนนิยมตะวันตก วิคเตอร์จึงตระหนักว่าเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในโปแลนด์ได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เมื่อคณะดนตรีเดินทางมาเปิดการแสดงที่เบอร์ลินตะวันออก เขาจึงวางแผนหลบหนีไปพร้อมกับซูลา แต่สำหรับหญิงสาวการตัดสินใจสละทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น

ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งวิบากกรรมความรักของคนทั้งสอง ซึ่งต้องแยกจากก่อนจะกลับมาพบเจอกันชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็พลัดพรากกันอีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือปัญหาส่วนตัว เป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดช่วงเวลา 15 ปี ถึงแม้พาวลีคอฟสกีจะต้องควบรวมเรื่องราวจำนวนมหาศาลภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่หนังกลับไม่รู้สึกเร่งรัด หรือตกหล่น ทั้งนี้เพราะเขาเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องในลักษณะเดียวกับ Boyhood ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ซึ่งจะให้อารมณ์เหมือนการหวนรำลึกความทรงจำ บางช่วงอาจลบเลือน แต่บางช่วงก็สุกสกาวในรายละเอียดเด่นชัด ทั้งหมดเชื่อมโยงอย่างแนบสนิทโดยปราศจากจุดแบ่งเด่นชัด อาศัยเพียงบริบทรอบข้างเพื่อบอกกล่าวการเปลี่ยนแปลงของเวลา ซึ่งในเรื่องนี้ดนตรีทำหน้าที่มอบบริบทดังกล่าว ผันผ่านจากเพลงโฟล์กสู่แจ๊ซและร็อคแอนด์โรล

จุดเด่นประการหนึ่งของหนังที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ ทักษะภาพยนตร์อันช่ำชองของพาวลีคอฟสกี ซึ่งช่วยขับเน้นให้ฉากอันสุดแสนจะธรรมดาสามัญเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ลึกซึ้ง สะเทือนใจ โดยไม่สัมผัสถึงความจงใจบีบคั้นเลยแม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้จากฉากที่ซูลากับวิคเตอร์กลับมาเจอกันครั้งแรกที่กรุงปารีส เธอมีคนรักอยู่แล้ว เขาเองก็เช่นกัน แต่หัวใจเรียกร้องให้ทั้งสองนัดเจอกันเพื่อสำรวจให้แน่ใจว่าอดีตได้ตายจากไปแล้วจริงหรือไม่ เขาถามเธอว่าเหตุใดถึงไม่มาตามนัดในเบอร์ลินตะวันออก เธอเชื่อว่าพวกเขาคงไปไม่รอด ไม่ใช่การหนีข้ามชายแดน แต่เพราะเธอคงไม่อาจปรับตัวเข้ากับโลกตะวันตกได้แบบเดียวกับเขา นี่เป็นครั้งแรกที่ซูลาเผยให้เห็นด้านที่เปราะบาง หวาดกลัว และไม่มั่นคงท่ามกลางภาพลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงแกร่ง เมื่อวิคเตอร์ตัดพ้อทำนองว่าความรักย่อมสามารถเอาชนะทุกอย่าง (“รักก็คือรัก”) เธอก็ตัดบทด้วยการพูดว่า อย่างหนึ่งที่ฉันมั่นใจคือฉันจะไม่มีวันหนีไปโดยไม่มีคุณจากนั้นเธอก็หอมแก้มเขาเพื่อบอกลา กล้องแพนตามเธอค่อยๆ เดินจากไป ก่อนจะหยุดชะงัก แล้วเดินกลับมาจูบลาเขาอย่างดูดดื่มแบบที่หัวใจเธอปรารถนา เรียกร้อง กล้องเลือกจะแช่นิ่งอยู่ที่วิคเตอร์ตอนเธอเดินจากไปอีกครั้ง แต่คนดูจะได้ยินเสียงฝีเท้าเธอเร่งจังหวะ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเธอคงไม่อาจหักห้ามใจให้เดินจากเขาไปได้ มวลแห่งอารมณ์ถ่ายทอดโหมซัดใส่คนดูโดยไม่จำเป็นต้องโหมเสียงดนตรี บทสนทนา หรือการโคลสอัพใบหน้า

หนังถ่ายทำด้วย academy ratio  ทำให้เฟรมภาพใกล้เคียงรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสแทนที่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนในหนังทั่วไป ซึ่งพาวลีคอฟสกี้ใช้ประโยชน์ด้วยการปล่อยพื้นที่ว่างด้านบนในหลายช็อต ทำให้ตัวละครของเขายิ่งดูกระจ้อยร่อย ไร้อำนาจ หรือการควบคุม ในแง่หนึ่งมันช่วยสะท้อนสภาพสังคมโปแลนด์ยุคหลังม่านเหล็กได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้คนถูกลดทอนความเป็นปัจเจก ถูกจับตามองโดยรัฐ ถูกตีกรอบทุกย่างก้าว และแม้กระทั่งงานศิลปะก็ยังถูกบีบให้กลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ฉากที่เจ็บปวดอย่างยิ่งฉากหนึ่งเป็นตอนที่คณะดนตรีของวิคเตอร์ได้รับ ข้อเสนอจากรัฐให้เปลี่ยนมาร้องเพลงเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน สันติภาพ และผู้นำชนชั้นกรรมาชีพ แทนการดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณดั้งเดิมของเพลงโฟล์กพื้นบ้าน จากนั้นหนังก็ตัดไปยังภาพการแสดงบนเวทีครั้งถัดมา เมื่อเหล่าสมาชิกในวง (ถูกจัดเรียงไว้ขอบล่างของจอภาพ) ต้องร้องเพลงสรรเสริญท่านผู้นำ ขณะผืนผ้ารูปสตาลินขนาดมหึมาถูกชักขึ้นด้านหลังพวกเขา

มีคนเปรียบเปรยไว้น่าฟังว่าลักษณะการเล่าเรื่องของ Cold War คล้ายการโยนหินให้กระดอนพื้นน้ำ โดยในช่วงที่หินกระทบกับพื้นน้ำแตกกระจาย คนดูก็จะได้เห็นชีวิตของสองตัวเอกตัดผ่านกัน ส่วนช่วงที่หินก้าวกระโดดข้ามอากาศก็ไม่ต่างจากช่วงเวลาที่พวกเขาแยกย้ายไปมีชีวิตส่วนตัว ซึ่งหนังตัดข้ามราวกับไม่สลักสำคัญใดๆ รอเวลาให้ทั้งคู่กลับมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง ให้อารมณ์เหมือนการนั่งฟังอัลบั้มรวมเพลงฮิต หรือดูหนังมหากาพย์ที่เล่าผ่านหลักไมล์แต่ละจุด โดยละเว้นรายละเอียดยิบย่อย หรือเชิงอรรถ แต่ขณะเดียวกันคนดูก็ยังตระหนักความนัยที่ซุกซ่อนอยู่ หรือคลื่นใต้น้ำทางการเมือง ซึ่งแม้จะไม่กระจ่างชัด แต่สามารถสัมผัสได้ พาวลีคอฟสกีเล่าว่าระหว่างถ่ายทำเขาตัดหลายฉากในบทหนังออก เพราะรู้สึกว่าถึงไม่มีฉากเหล่านั้น คนดูก็ยังสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้

ผมอยากสร้างหนังที่อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ แต่ก็ไม่อยากให้มีการปลดปล่อย หรือคลี่คลายโดยง่ายพาวลีคอฟสกีให้สัมภาษณ์ “ผลงานเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการทดลองอยู่หน่อยๆ ตรงที่มันคลุมเครือ คนดูกลุ่มหนึ่งอาจจะชื่นชอบ แต่อีกกลุ่มอาจจะเกลียดชังเพราะพวกเขาต้องการคำอธิบาย หรือต้องการที่จะเข้าใจว่าคนทำคิดอะไรอยู่ หรือทำไมตัวละครจึงประพฤติตัวเช่นนั้น บางทีหนังใหญ่ๆ จำพวกหนังชีวประวัติก็น่าเหนื่อยหน่าย พวกเขาใช้เวลาห้าสิบปีในการอธิบายว่าเราจะเดินจาก A ไปยัง B ได้อย่างไร แล้วก็แต่งเติมสาเหตุและผลลัพธ์ปลอมๆ เพื่อสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เธอทำแบบนั้น ก็เลยต้องลงเอยแบบนี้ ผมมักจะรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งเวลาดูหนังพวกนี้ เพราะผมรู้ว่าในชีวิตจริงทุกอย่างไม่ได้มีเหตุจูงใจเพียงหนึ่งเดียว และทุกการกระทำก็มักจะก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างหลากหลาย ผมไม่อยากก้าวเข้าไปแจกแจง แค่แสดงให้เห็นความจริงตรงหน้า ที่เหลือเป็นหน้าที่คนดูในการเชื่อมโยงส่วนที่หายไป หนังที่ผมชอบเป็นหนังที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่แค่บอกเป็นนัย แล้วเหลือพื้นที่ให้จินตนาการต่อ เมื่อทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าไม่ใช่ใส่มาเพื่ออธิบาย แต่เพื่อให้ได้สัมผัสประสบการณ์ ส่วนคำอธิบายเป็นหน้าที่คุณ

ซูลาน่าจะสร้างความหงุดหงิดให้คนดูที่ต้องการคำอธิบายอยู่ไม่น้อย แต่ในเวลาเดียวกันกลับน่าหลงใหลสำหรับคนดูอีกกลุ่มหนึ่ง ตอน Cold War เข้าฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์และคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครอง บางคนเปรียบ โจแอนนา คูลิก ว่าเจิดจรัสไม่แพ้ ฌานน์ มอโร ในยุครุ่งเรือง แม้หน้าตาเธอจะค่อนไปทาง ลีอา เซย์ดูซ์ เสียมากกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะซูลามีความคล้ายคลึงหลายประการกับแคทธาลีน บทที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้กับมอโรใน Jules and Jim ทั้งสองมีลักษณะของผู้หญิงอันตราย (ในฉากหนึ่งของหนังตัวละครถึงขั้นเตือนวิคเตอร์ว่าซูลาว่าเป็น femme fatale) เย้ายวน น่าหลงใหล แฝงความลึกลับ ยากจะเข้าใจ บุคลิกที่เหนือความคาดหมาย (และเหตุผล) ในทุกๆ ทางของพวกเธอช่วยฉีดกระตุ้นดรามาและความเหนือจริงให้กับตัวละครชายในเรื่อง ทำให้เธอไม่ต่างจากผลงานศิลปะ แล้วไม่รู้เป็นความจงใจสดุดี หรือความบังเอิญก็ตาม หนึ่งในฉากเด่นของหนังทั้งสองเรื่องเป็นตอนที่ซูลา/แคทธาลีนกระโดดแม่น้ำแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยพาวลีคอฟสกี้ยังก้าวข้ามอารมณ์พิศวง เหนือความคาดหมายในเบื้องต้นไปอีกขั้นด้วยการพลิกให้เป็นภาพที่ชวนอัศจรรย์ใจจนเกือบจะเรียกได้ว่าเหนือจริง คนดูเห็นวิคเตอร์เดินจากไปด้วยความขุ่นเคือง หลังซูลาสารภาพความจริงว่ารัฐบีบบังคับให้เธอสืบข้อมูลเกี่ยวกับวิคเตอร์ แต่เธอไม่เคยคิดจะทำร้ายเขา แถมยังสารภาพรักอย่างหมดใจอีกด้วย จากนั้นเราก็ได้ยินเสียงเธอกระโดดลงน้ำ แต่เมื่อวิคเตอร์เดินกลับมาดู เขากลับเห็นซูลานอนหงายหน้าร้องเพลงขณะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ให้อารมณ์เหมือนภาพวาดโอฟีเลียฆ่าตัวตายอันเลื่องชื่อของ จอห์น มิเล

นอกจากนี้ชะตากรรมสุดท้ายของซูลากับวิคเตอร์ยังสอดคล้องกับของแคทธาลีนกับจิมอีกด้วย ใน Jules and Jim แคทเธอรีนเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของชีวิตที่ปราศจากรูปแบบ หรือข้อจำกัด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเธอถึงได้ล้มเหลวในการลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัว ซึ่งเป็นวงจรชีวิตตามขนบธรรมเนียม ใน Cold War ซูลาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของโลกในม่านเหล็ก ขณะที่วิคเตอร์เป็นตัวแทนของโลกตะวันตก พวกเขาเป็นเหมือนขั้วต่างซึ่งไม่มีวันกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวได้ อย่างน้อยก็ในโลกใบนี้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมซูลาจึงไม่เคยมีความสุขในปารีส แม้จะได้ใช้เวลาอยู่กับรักเดียวอย่างวิคเตอร์ ความกลัวว่าตัวเองไม่ ดีพอหรือเหมาะสมสำหรับวิคเตอร์ยิ่งได้รับการตอกย้ำเมื่อเธอได้พบชู้รักของวิคเตอร์ในปารีสซึ่งแตกต่างจากเธอราวหน้ามือกับหลังมือ เช่นเดียวกับเมื่อซูลาค้นพบว่าเขาโกหกประวัติเธอกับคนอื่นๆ เพื่อให้ดูเธอเปี่ยม สีสันขึ้นในหมู่เพื่อนฝูงชนชั้นกลางแห่งโลกทุนนิยม (ชู้รักของวิคเตอร์พูดกับซูลาเหมือนเธอเป็นสาวบ้านนอกจากประเทศยากจนซึ่งไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม หรือการอุปมา)

ปารีสไม่ใช่ที่ทางสำหรับซูลา และเธอรู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงวิคเตอร์ให้กลายเป็นคนละคน ไม่ใช่ชายคนที่เธอเคยตกหลุมรักอย่างหมดใจ แต่ในเวลาเดียวกันโปแลนด์ก็ไม่เปิดโอกาสให้วิคเตอร์ได้เติบโตในฐานะศิลปิน เมื่อวิคเตอร์พยายามจะกลับไปตามหาซูลาที่ประเทศบ้านเกิด โปแลนด์ลงโทษเขาด้วยข้อหาสายลับและโทษจำคุก 15 ปี เขาถูกทรมานจนไม่อาจเล่นดนตรีได้อีก วิบากกรรมความรักของทั้งสองสามารถสรุปได้จากประโยคสุดท้ายของหนัง เมื่อซูลากับวิคเตอร์ตัดสินใจที่จะลาจากโลกใบนี้ไป โดยระหว่างนั่งรอเวลาตรงม้านั่งใต้ต้นไม้ซูลาเสนอขึ้นว่า ไปฝั่งตรงข้ามกันเถอะ วิวตรงนั้นสวยกว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่เคยพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ความสุขผ่านมาเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ก่อนทุกอย่างจะผุพังบิดเบี้ยว แต่พวกเขาไม่เคยยอมจำนนต่อเวลา ต่อความขัดแย้งในอุดมการณ์การเมือง (ชู้รักของวิคเตอร์อธิบายอุปมาในเพลงที่ซูลาร้องเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศสว่า กาลเวลาไม่สำคัญยามเราตกหลุมรัก”) พวกเขาเลือกจะไม่ประนีประนอมหัวใจ และท้ายที่สุดเมื่อตระหนักว่าไม่มีใครจะเข้าใจพวกเขามากไปกว่ากันและกัน นั่นเองกลายเป็นบทพิสูจน์ความรักที่แท้จริง อาจไม่ใช่ความรักโรแมนติกที่บริสุทธิ์ ไร้มลทินแบบที่เราคุ้นเคยจากภาพยนตร์ แต่ก็ยิ่งใหญ่ งดงามไม่ต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น: