วันเสาร์, มิถุนายน 24, 2560

T2 Trainspotting: กอบกู้เศษซากที่หลงเหลือ


ในระหว่างการกลับมาเยี่ยมเพื่อนซี้ที่โดนเขาหักหลัง เรนตัน (ยวน แม็กเกรเกอร์) พยายามจะไถ่ถอนความผิดเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยการนำเงินส่วนแบ่ง 4,000 ปอนด์ที่เขาขโมยไปมาคืนให้ ไซมอน (จอนนี ลี มิลเลอร์) แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ฝ่ายหลังหายเดือดดาลแม้แต่น้อย 4,000 ปอนด์ ดอกเบี้ยก็ไม่มี จะเอาไปทำอะไรได้ ซื้อเครื่องย้อนเวลางั้นเหรอขณะเดียวกัน เพื่อนคนที่เขายกส่วนแบ่งให้เมื่อ 20 ปีก่อนอย่าง สปัด (อีเวน เบรมเนอร์) ก็ไม่ได้ดีใจที่ได้เห็นหน้าเพื่อนเท่าไหร่ แม้เรนตันจะเพิ่งช่วยชีวิตเขาได้ทันจากความพยายามฆ่าตัวตาย แกคิดว่าขี้ยาอย่างฉันจะเอาเงิน 4,000 ปอนด์ไปทำอะไรนี่ยังไม่ต้องพูดถึงหมาบ้าอย่าง เบ็กบี (โรเบิร์ต คาร์ไลล์) ซึ่งเฝ้าฝันอยากเชือดคอเรนตันไม่เว้นแต่ละวัน และตั้งแต่ฉากแรกคนดูจะเห็นว่าการใช้เวลา 20 ปีในคุกไม่ได้ช่วยให้เบ็กบีจิตใจสงบ หรือเย็นลงสักนิด

แต่ละคนเลือกจะโทษความเส็งเคร็งของชีวิตในปัจจุบันว่าเป็นผลจากการหักหลังของเรนตันเมื่อ 20 ปีก่อน โดยไม่ทันตระหนักว่าแม้กระทั่งคนที่ขโมยเงินพวกเขาไปเสวยสุขที่อัมสเตอร์ดัมก็หาได้ลงเอยอย่างสุขสันต์ ชีวิตแต่งงานของเรนตันจบลงด้วยการหย่าร้าง ไม่มีลูก ไม่มีงาน ไม่มีเพื่อน ไม่มีแม้กระทั่งที่พักขณะอายุล่วงเลยมา 46 ปี แถมสุขภาพยังเริ่มดิ่งลงเหวอีกต่างหาก แต่ปัญหาของเรนตันไม่ได้อยู่ตรงความเป็นไปได้ว่าตัวเองอาจอายุสั้น หรือตายก่อนวัยอันควร ตรงกันข้ามเมื่อหมอผ่าตัดหัวใจแก้ไขข้อผิดพลาดได้สำเร็จ พร้อมกับแจ้งข่าวดีว่าหัวใจเขาจะแข็งแรงเหมือนใหม่ ใช้ต่อไปได้อีก 30 ปี คำถามที่ตะโกนก้องในหัวเรนตันคือ กูจะอยู่ทำอะไรอีกตั้ง 30 ปี

ถ้าฉากจบของ Trainspotting อาจมีนัยยะคลุมเครือในจุดมุ่งหมาย เนื่องจากมันผสมปนเประหว่างความรู้สึก แฮปปี้ เอ็นดิ้ง (ตัวเอกหลบหนีจากชีวิตติดยา/อาชญากรรมได้สำเร็จด้วยการขโมยเงินสกปรกจากเพื่อนๆ) กับความเยาะหยัน (เขาได้หวนกลับไปสู่ชีวิตแบบที่เขาเคยปฏิเสธ/แปลกแยก) ฉากเปิดเรื่องของ T2 Trainspotting ดูจะช่วยเคลียร์ความเข้าใจได้ทันทีว่ามันโน้มเอียงมาทางอย่างหลังมากกว่า เพราะการ เลือกชีวิตของ มาร์ค เรนตัน หาได้หมายถึงความสุขตลอดไป และที่น่าขำขื่นยิ่งขึ้น คือ เขาหัวใจวายขณะกำลังวิ่งอยู่บนสายพายในฟิตเนส ขณะกำลังใช้ชีวิตในแบบพิมพ์นิยมของชนชั้นกลาง แตกต่างจากชีวิต ขบถขี้ยาอย่างที่เขาเป็นมาในช่วงวัยรุ่น (การตัดสลับช็อตสุดท้ายของหนังภาคแรกเข้ามาไม่เพียงจะช่วยเชื่อมโยงตัวละครหลังเวลาผันผ่านไป 20 ปีเท่านั้น แต่ยังช่วยสานต่อเรื่องราวด้วยว่ามาร์คลงเอยใช้ชีวิตตามที่เสียงวอยซ์โอเวอร์ของเขาบอกคนดูเอาไว้ในตอนจบของ Trainspotting จริง)

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามาร์คจะมีชีวิตที่ดีกว่า หากเขาไม่ได้เลือกหักหลังเพื่อนแล้วกลับตัวกลับใจเป็นคนดี มีงานมีการทำ มีทีวีจอใหญ่ เครื่องซักผ้า รถยนต์ ฯลฯ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในกรณีของสปัด ซึ่งไม่อาจสลัดหลุดจากอำนาจของยาเสพติด จนสุดท้ายก็ต้องเสียงาน ลูกเมีย และกำลังมุ่งหน้าสู่ความตายก่อนเรนตันจะโผล่มาทำลายแผน ดูเหมือนไม่ว่าคุณจะเลือกชีวิต หรือเลือกผลาญชีวิต สุดท้ายหายนะและความผิดหวังย่อมหาคุณจนเจอในที่สุด

T2 Trainspotting ดัดแปลงคร่าวๆ จากนิยายของ เออร์วิน เวลช์ เรื่อง Porno ซึ่งเป็นภาคต่อของ Trainspotting เล่าถึงชีวิตของตัวละครต่างๆ หลังเวลาผ่านไป 10 ปี แต่ในเวอร์ชั่นหนังของ แดนนี บอยล์ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังภาคแรกถึง 20 ปีตามเวลาจริง (Trainspotting ออกฉายเมื่อ 21 ปีที่แล้ว) ฉะนั้นมาร์คกับผองเพื่อนจึงก้าวย่างเข้าสู่วัยกลางคนเต็มตัว และต่างพบว่าชีวิตไม่ได้ดำเนินไปตามที่คาดหวังไว้ ความบ้าดีเดือด อิสรภาพแห่งวัยหนุ่มพลุ่งพล่านที่ไม่สนใจกฎ หรือธรรมเนียมปฏิบัติถูกแทนที่ด้วยความเศร้า อาการติดแหง็กอยู่กับอดีตดังจะเห็นได้จากการยืนกรานให้ลูกชายเจริญรอยตามเส้นทางโจรของเบ็กบี โดยไม่สนใจว่าเด็กหนุ่มวางแผนจะลงเรียนการโรงแรมในวิทยาลัย และไม่อยากสืบทอด กิจการครอบครัว แต่แน่นอนว่าเบ็กบีไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านใดๆ และสุดท้ายภารกิจยกเค้าครั้งแรกของสองพ่อลูกก็จบลงอย่างน่าผิดหวัง ไม่ต่างจากความพยายามจะมีเซ็กซ์ระหว่างเบ็กบีกับภรรยา

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคนที่ใช้เวลาอยู่ในคุกนานสองทศวรรษจะยึดมั่นอยู่กับอดีต แต่ในแง่หนึ่งมาร์คเองก็ไม่ต่างจากเบ็กบีสักเท่าไหร่ เขาไม่อาจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อัมสเตอร์ดัมได้ และสุดท้ายก็ต้องกลับมาเผชิญหน้าภูติผีแห่งอดีตที่เอดินบะระ โดยภูติผีเชิงสัญลักษณ์ถูก แดนนี บอยล์ ถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากที่เงาของแม่มาร์คทาบทับผนังบ้านเหมือนเธอกำลังนั่งร่วมโต๊ะอาหาร ขณะพ่อเขาเล่าว่าทุกอย่างในห้องนอนมาร์คถูกแช่แข็งไว้เหมือนเดิมเพราะคุณนายเรนตันเชื่อว่าสักวันลูกชายจะต้องกลับมา ซึ่งก็เป็นจริง เพียงแต่เธอไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นวันนั้น

ในฉากหนึ่ง มาร์คพาสปัดไปวิ่ง พร้อมกับเสนอแนะให้เขาเปลี่ยนถ่ายอาการเสพติดจากโคเคน หรือเฮโรอีนไปยังสิ่งอื่น เพราะขี้ยาระดับฮาร์ดคอร์อย่างพวกเขาไม่มีวันหยุดไปดื้อๆ โดยไม่มีสิ่งอื่นให้ยึดเหนี่ยว ให้เสพติดแทนและควบคุมมันได้ หลายคนเลือกที่จะวิ่งออกกำลังกาย หรือชกมวย หรืออย่างอื่นแล้วแต่ต้องการ เมื่อสปัดถามว่าเขาเลือกอะไร คำตอบของเขาคือ หลบหนีแต่หลบหนีจากอะไร เขาไม่ได้อธิบายต่อ สภาพแวดล้อมอันหดหู่? ชีวิตขี้ยา? ความผิด/รู้สึกผิด? ถ้าเหล่าโปรเตสแตนต์ที่ถูกมาร์คกับไซมอนขโมยบัตรเครดิตไปรูดลุ่มหลงอยู่กับชัยชนะแสนหวานเมื่อหลายร้อยปีก่อน จนไม่อยากตื่นมาเผชิญความจริงในโลกสมัยใหม่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร มาร์คเองก็ติดแหง็กไม่ต่างกัน แต่ในวังวนของการพยายามวิ่งหนีจากฝันร้าย จากอดีตอันขมขื่น

กระนั้นท่ามกลางประสบการณ์เลวร้าย เช่น การตายของทอมมี ซึ่งมาร์คก็มีส่วนรับผิดชอบ ในระหว่างช่วงเวลาแห่งการเผาผลาญวัยเยาว์ไปกับพฤติกรรมไร้แก่นสาร เช่น เสพเฮโรอีน ชีวิตของมาร์คในเอดินบะระกลับเปี่ยมความหมาย หยั่งรากลึกกว่า 20 ปีในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งท้ายที่สุดปลดเปลื้องเขาให้เหลือเพียงกระเป๋าเล็กๆ หนึ่งใบ ไม่แตกต่างจากตอนที่เดินทางไปพร้อมกระเป๋าใส่เงิน 12,000 ปอนด์ และความหวังที่จะลงหลักปักฐาน สร้างชีวิตใหม่ เขาไม่ได้ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้ที่นั่น ไม่มีเยื่อใยหลงเหลือ ตรงข้ามกับมิตรภาพและความรักของครอบครัวที่ยังรอคอยเขาอยู่เสมอในเอดินบะระ แม้ว่าเพื่อนบางคนอาจต้อนรับด้วยกำปั้นแทนอ้อมกอดในช่วงแรก เนื่องจากเคยถูกมาร์คหักหลัง แต่จนแล้วจนเล่าสายสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาแน่นแฟ้นเกินกว่าจะตัดขาด

ภาพเปรียบเทียบระหว่างประสบการณ์เฉียดตายของมาร์ค (ในฟิตเนสท่ามกลางคนแปลกหน้า) กับสปัด (ในอ้อมแขนของเพื่อนที่คอยรับเขาไว้ไม่ให้ร่วงหล่น) พิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมมาร์คถึงตัดสินใจอยู่ช่วยไซมอนปั้นฝันในการดัดแปลงบาร์ร้างคนให้กลายเป็นซ่องชั้นสูง (หรือที่เขาเรียกว่า ซาวน่า”) มันไม่ใช่เพราะเขาไม่เหลือทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเท่านั้น แต่เป็นเพราะเขาอยากจะทำเพื่อเพื่อนที่สนิทที่สุดเพียงคนเดียวของเขา

หนังไม่เพียงเป็นการทบทวนความหลังระหว่างมาร์คกับไซมอนเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาสำหรับนักดูหนังในยุค 90 อีกด้วย อารมณ์ ถวิลหาอดีตที่ไซมอนกล่าวหามาร์คตอนพวกเขาเดินทางไปไว้อาลัยให้กับทอมมี อาจใช้อธิบายตัวหนัง T2 Trainspotting ควบคู่ไปด้วยในคราวเดียวกัน แดนนี บอยล์ พยายามปลุกวิญญาณของหนังภาคแรกด้วยวิธีหลากหลาย ตั้งแต่แบบตรงไปตรงมาอย่างการหยิบหลายฉากจำสุดคลาสสิกมาฉายซ้ำ เปรียบเทียบ นำเพลง ซึ่งเป็นนิยามของหนังภาคแรกอย่าง Lust for Life ของ อิกกี้ ป็อป มาเปิดซ้ำ ไปจนถึงวิธีที่ยอกย้อนขึ้นหน่อยอย่างการใช้เทคนิคภาพคุ้นตา (ฟรีซ เฟรม, กล้องมุมเอียง) หรือการเลือกให้เบ็กบีเผชิญหน้ากับมาร์คในห้องน้ำ ซึ่งทำให้คนดูย้อนนึกไปถึงฉากมุดโถส้วมอันลือลั่นในภาคแรก

แน่นอนอายุที่เพิ่มมากขึ้นของทีมงาน ของตัวละครย่อมทำให้อารมณ์โดยรวมของหนังย่างเข้าใกล้ความหม่นเศร้า หดหู่มากกว่าจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังคึกคัก หรือวิญญาณขบถเหมือนในภาคแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังจะแร้นแค้นอารมณ์ขันเสียทีเดียว (ส่วนใหญ่มักตกอยู่บนบ่าของสปัดกับเบ็กบีเป็นหลัก) ขณะเดียวกัน บอยล์ก็พยายามพิสูจน์อย่างเต็มที่ว่าเขาไม่ใช่ตาแก่ที่หลงลืมความกระฉับกระเฉงแห่งวัยเยาว์ ผ่านมุมกล้องหวือหวาและการตัดภาพแบบฉับไว ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามานานนม (เขาคงเป็นผู้กำกับคนเดียวที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายที่ตกลงไปติดอยู่ในซอกหินจนต้องเลื่อยแขนตัวเองทิ้งเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยการเคลื่อนกล้อง ตัดภาพสุดสวิงสวายยิ่งกว่าหนังแข่งรถ) แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ หรือน่าตื่นตาเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนอีกต่อไป

แง่มุมวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ หรือระบบทุนนิยมที่เคยเข้มข้น ให้อารมณ์เสียดสีเยาะหยันในภาคแรกถูกลดทอนลงจนเกือบจะเป็นศูนย์ (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันเพราะคนเราเมื่อเริ่มแก่ตัว อายุมากขึ้น อุดมการณ์ที่เคยร้อนแรงเดือดพล่านก็มักจะค่อยๆ ดับลง) แม้จะยังหลงเหลือกลิ่นอายอยู่บ้างเมื่อมาร์คอธิบายความหมายของวลี เลือกชีวิตให้ เวโรนิกา (แอนเจลา เนดยัลโควา) ฟัง (“เลือกเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สแนปแชต อินสตาแกรม และอีกหลายพันวิธีเพื่อก่นด่าคนที่คุณไม่เคยรู้จัก เลือกอัพเดทโปรไฟล์ บอกให้โลกรู้ว่าคุณกินอะไรมื้อเช้าและหวังว่าจะมีใครสักคน ณ ที่ไหนสักแห่งสนใจ...ปฏิสัมพันธ์ถูกลดค่าให้เหลือเพียงแค่ข้อมูล”)

โดยรวมแล้ว T2 Trainspotting มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาขึ้นทั้งในแง่เนื้อหาและอารมณ์ น่าสนใจว่าบอยล์กับแม็กเกรเกอร์อาจจะอินเรื่องราวในหนังเป็นพิเศษ ซึ่งโฟกัสไปยังการปรองดอง การหันกลับมาเผชิญหน้าอดีตอันขมขื่น เพราะเพิ่งจะผ่านประสบการณ์ในทำนองเดียวกับมาร์คและไซมอน ทั้งสองเป็นคู่หูดารา-ผู้กำกับที่สนิทสนมกลมเกลียวกันตลอดหนังสามเรื่อง (Shallow Grave, Trainspotting, A Life Less Ordinary) จนกระทั่ง The Beach สร้างรอยร้าวที่กินเวลายาวนานนับ 10 ปี (แม็กเกรเกอร์ถูกหลอกล่อให้เชื่อว่าเขาจะได้รับบทนำ แต่สุดท้ายบอยล์กลับมอบบทนี้ให้กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกหาก T2 Trainspotting จะเดินหน้าไปสู่ตอนจบแบบ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง (เช่นเดียวกับชีวิตจริงของบอยล์และแม็กเกรเกอร์) โดยไม่แฝงนัยยะเยาะหยันใดๆ เวโรนิกาได้กลับไปหาลูกน้อย สปัดเลือกวิธีเลิกยาด้วยการถ่ายทอดชีวิตลงในงานเขียนแทนการชกมวย เบ็กบีถูกส่งกลับคุกซึ่งเหมาะกับเขา และมาร์คย้ายไปอยู่ในห้องเดิม ล้อมรอบด้วยวอลเปเปอร์ลายรถไฟเดิมๆ และเปิดเพลงเดิมๆ ฟังอีกครั้ง ขณะภาพอดีตถูกตัดแวบเข้ามาเปรียบเทียบ... ชีวิตของ มาร์ค เรนตัน อาจวนกลับมายังจุดเดิม แต่อย่างน้อยเขาก็หยุดวิ่งหนีแล้ว

วันอังคาร, มิถุนายน 06, 2560

I Am Not Madame Bovary: เธอผิดหรือไม่ผิด


ระหว่างนั่งดู I Am Not Madame Bovary ไปได้เกือบสองชั่วโมง ผมได้แต่นึกตั้งคำถามกับตัวเองในใจว่า เหตุใดเราถึงไม่ค่อยรู้สึกสงสาร หรือเห็นอกเห็นใจตัวละครเอกอย่าง หลีสั่งเหลียน (ฟ่านปิงปิง) สักเท่าไหร่ แม้เธอจะต้องประสบกับสารพัดความเลวร้าย เฮงซวยของเหล่าผู้มีอำนาจในระบบราชการ ซึ่งสักแต่แก้ปัญหาแบบขอไปที หรือกระทั่งมองเห็นชาวบ้านที่ทุกข์ร้อน เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมถึงหน้าหน่วยงาน และกระโดดมาขวางรถประจำตำแหน่งเป็นเหมือนแมลงหวี่แมลงวันที่น่ารำคาญจนต้องหาทางกำจัดให้พ้นสายตาโดยเร็ว พวกเขาพยายามทำทุกทาง ยกเว้นถามไถ่ถึงปัญหาที่แท้จริง แล้วพยายามช่วยเหลือ หรือหาทางคลี่คลายปมขัดแย้ง หนึ่งในกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้ คือ วางอำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่ให้ประชาชนตัวเล็กๆ หวาดกลัวด้วยการเชิญ ตัวการ ไปปรับทัศนคติในคุก (ฟังดูคุ้นๆ ไหม) แต่ไม่ว่าจะด้วยความแค้น หรือความหน้าด้านหน้าทนก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลกับหลีสั่งเหลียน ตรงกันข้าม มันกลายเป็นเหมือนการราดน้ำมันลงกองเพลิง จนสุดท้ายปัญหาเล็กๆ จากเรื่องไม่เป็นเรื่องในเมืองบ้านนอกกลับลุกลามบานปลายไปถึงคนใหญ่คนโตในพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการท้องถิ่นหลายคนก็ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่ง

เหตุผลแรกที่แวบเข้ามาในหัวคงเพราะหนังจงใจจะเสียดสี เยาะหยันระบบการทำงานอันไร้ประสิทธิภาพของรัฐ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครจึงถูกละทิ้งไป ทำให้เธอขาดมิติพอจะให้คนดูสามารถจับต้อง หรือเชื่อมโยงได้ ที่สำคัญ สไตล์ภาพของหนัง ซึ่งตีกรอบให้ตัวละครอยู่ในเฟรมวงกลม (น่าจะเพื่อสร้างสร้างอารมณ์เหมือนภาพวาดโบราณของชาวจีน) ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกห่างเหิน เข้าไม่ถึงตัวละครมากขึ้นไปอีก เพราะโดยธรรมชาติแล้วเวลาเห็นเฟรมวงกลมแบบนี้ปรากฏบนจอ เราก็มักจะนึกถึงช็อตแทนสายตาเวลาตัวละครใช้กล้องส่องทางไกล หรือกล้องจากเรือดำน้ำ ดังนั้นคนดูจึงได้อารมณ์ของผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ หนังยังตอกย้ำการรักษาระยะห่างด้วยเสียงเล่าเรื่องของบุคคลที่สามในแบบของการเล่าถึงนิทาน หรือตำนานอีกด้วย

พร้อมกันนี้หนังลดทอนช็อตโคลสอัพ ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับดึงอารมณ์ร่วมจากคนดู จนแทบจะเหลือศูนย์ จึงไม่แปลกถ้าคนดูจะไม่รู้สึก อินกับภารกิจ หรือความคับแค้นใจของหลีสั่งเหลียนมากเท่าที่ควร อันที่จริง การตัดสินใจดังกล่าวอาจถือได้ว่าสอดคล้องกับโทนอารมณ์โดยรวมของหนังซึ่งออกแนวเบาสมองมากกว่าจะจริงจัง แม้ว่าพล็อตที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดสุ่มเสี่ยงความเป็นเมโลดรามาอยู่บ้าง (สามีภรรยาวางแผนหย่าหลอกๆ เพื่อให้ได้ครอบครองห้องอพาร์ตเมนต์ในเมือง ซึ่งเป็นสิทธิสำหรับคนโสดเท่านั้น แล้วค่อยกลับมาแต่งงานกันใหม่ แต่สุดท้ายผู้ชายลงเอยด้วยการมีเมียใหม่ ส่งผลให้การหย่าหลอกๆ กลายเป็นจริงในที่สุด)

อีกหนึ่งเหตุผลที่มีส่วนไม่น้อยในการยับยั้งคนดูไม่ให้รู้สึกเข้าข้างหลีสั่งเหลียนอย่างหมดใจ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเธอเล่นไม่ซื่อด้วยการฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของระบบเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ใส่ตัว (อพาร์ตเมนต์ในเมือง) แต่สุดท้ายดันแค้นเคืองเมื่อพบว่าระบบไม่สามารถมอบความเป็นธรรมให้เธอได้ (โมฆะการหย่าปลอมๆ) จริงอยู่ อาจเป็นข้อจำกัดของระบบ (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือศาลก็ตาม) ในการเปิดโปงความจริงที่แท้ เพราะต่อให้นายทะเบียนอำเภอรู้ว่านี่เป็นการหย่าปลอมๆ เพื่อหวังฮุบห้องอพาร์ตเมนต์ เขาจะกล้ายอมรับต่อหน้าศาลหรือ การยอมรับย่อมหมายถึงเขาจะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในทันที ถ้าพวกเธอโกหกฉัน ก็หมายความว่าพวกเธอโกหกรัฐบาลน่ะสิเขาเถียงหลีสั่งเหลียนในศาล มองเช่นนี้แล้ว ถือเป็นความผิดของผู้พิพากษาหรือที่ตัดสินไปตามหลักฐานรูปธรรม นั่นคือ ลายเซ็นบนใบหย่าเป็นลายเซ็นของหลีสั่งเหลียนจริง ฉะนั้นการหย่าย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายไปแล้ว ไม่ว่าเบื้องหลังสองสามีภรรยาจะตกลงกันว่าอย่างไรก็ตาม หากจะเทียบง่ายๆ ก็คงเหมือนการที่เราทำข้อตกลงปากเปล่ากับใครสักคน แล้วจู่ๆ ถูกบุคคลดังกล่าวหักหลัง ผิดสัญญา เมื่อไม่มีหลักฐานพิสูจน์ในชั้นศาล เราก็จำเป็นต้องทำใจยอมรับว่าตัวเอง เสียเหลี่ยมให้กับนักต้มตุ๋นรายนั้น ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าระบบไม่อาจมอบความเป็นธรรมอย่างแท้จริงให้กับเราได้ก็ตาม เพราะเราถูกโกงจริง ถูกเบี้ยวสัญญาจริง แต่ขณะเดียวกันเราคงไม่อาจกล่าวโทษศาลที่ต้องตัดสินตามหลักฐาน ทำได้แต่เพียงโทษตัวเองที่ไว้ใจอีกฝ่าย แล้วไม่ยอมร่างสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่ดูเหมือนหลีสั่งเหลียนจะไม่เข้าใจในจุดนี้ เธอ เสียเหลี่ยมให้กับอดีตสามี (หนังไม่ได้เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ว่าเขาจงใจหลอกเธอแต่แรก หรือเพิ่งมาพบผู้หญิงใหม่ในช่วงการหย่า) เธอควรจะโทษคินอู๋เฮ (หลีซองฮาน) ซึ่งผิดสัญญา และโทษตัวเองที่โง่โดนหลอก ตรงกันข้าม เธอกลับหมายหัวบุคคลในระบบรัฐตั้งแต่นายอำเภอ ยันอัยการ ผู้พิพากษา และนายกเทศมนตรีที่ไม่ยอมให้ความเป็นธรรมกับเธอแบบเดียวกับ อาร์ยา สตาร์ค ในซีรีส์ Game of Thrones จดบัญชีดำของศัตรูเพื่อเตรียมชำระแค้น ต่างกันแค่ว่าคนดูสามารถเข้าข้างอาร์ยาได้อย่างเต็มใจมากกว่า

ที่จริงทุกอย่างคงไม่ลุกลามใหญ่โต หากคินอู๋เฮ จำเลยที่แท้จริง ยอมรับความผิด หรืออย่างน้อยก็แสดงท่าทีเสียใจสักนิดต่อสิ่งที่เขาทำลงไป แต่เมื่อหลีสั่งเหลียนเดินไปเผชิญหน้า เขากลับกล่าวหาว่าเธอเสียความบริสุทธิ์มาก่อนจะแต่งงานกับเขา ด่าว่าเธอเป็นพานจินเหลียน (ที่มาของชื่อหนัง) ทำให้ไฟแค้นของหลินสั่งเหลียนยิ่งโหมประโคม นำไปสู่ความดันทุรังที่กินเวลายาวนานนับสิบปี สร้างความเสียหายให้กับคนหลายคน (หนังดัดแปลงจากนิยาย ซึ่งแปลตรงตัวตามภาษาจีนได้ว่า ฉันไม่ใช่พานจินเหลียนพันจินเหลียนเป็นตัวละครจากนิยายอีโรติกที่คบชู้สู่ชายและวางแผนฆ่าสามีตัวเอง ต่อมาชื่อดังกล่าวกลายเป็นเหมือนคำด่าผู้หญิงแพศยาในลักษณะเดียวกับวันทอง หรือกากีของเมืองไทย และกลายเป็นมาดาม โบวารีเมื่อแปลงตามบริบทฝรั่ง)

หลายคนที่ได้ดู I Am Not Madame Bovary ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบไปถึงหนังรางวัลสิงโตทองคำของจางอี้โหมวเรื่อง The Story of Qiu Ju เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับฟ่านปิงปิงมาแปลงสภาพเป็นหญิงบ้านนอก (แบบเดียวกับที่จางอี้โหมวทำกับกงลี่) หรือพล็อตเกี่ยวกับการตามล่าหาความยุติธรรมของหญิงสาวในสังคมชายเป็นใหญ่ รวมไปถึงความคล้ายกันแม้กระทั่งในรายละเอียดของสไตล์ (หนังของเฝิงเสี่ยวกังอาจเอนเอียงไปทางตลกมากกว่า และไม่ได้เน้นความสมจริงในสไตล์นีโอเรียลลิสต์เท่าหนังของจางอี้โหมว แต่ทั้งสองเรื่องล้วนไม่พยายามเร้าอารมณ์ กันคนดูให้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และใช้ภาพโคลสอัพอย่างจำกัดจำเขี่ย) และจุดหักเหบางอย่างของหนัง (ใน The Story of Qiu Ju เหตุการณ์ที่ จุดไฟแค้นให้กับชิวจี้ คือ เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านไม่ยอมขอโทษ หรือนึกเสียใจสักนิดที่ทำร้ายร่างกายสามีเธอ แถมเมื่อถูกกฎหมายบังคับให้ต้องจ่ายค่าเสียหาย เขากลับขว้างเงินลงพื้นเพื่อหวังจะให้ชิวจี้ก้มลงเก็บ แต่เธอเลือกจะรักษาศักดิ์ศรีแล้วเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมแบบกัดไม่ปล่อย)

จุดร่วมของทั้งสองเรื่องไม่ได้อยู่แค่เปลือกนอกอย่างพล็อต หรือสไตล์การนำเสนอเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเด็นแก่นหลักของหนัง ซึ่งวิพากษ์กฎเกณฑ์และนโยบายของรัฐอย่างเจ็บแสบ แม้เฝิงเสี่ยวกังอาจเคลือบน้ำหวานไว้ชั้นหนึ่งจากการให้คนระดับบิ๊กในพรรคคอมมิวนิสต์มองเห็นข้อบกพร่องในการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นความไร้ประสิทธิภาพ หรือการมองข้ามความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน แต่ในแง่ภาพรวมวงกว้างแล้ว หนังยังคงส่องแสงแง่ลบไปยังรัฐ ซึ่งมีลักษณะแบบเผด็จการ ดำเนินนโยบายโดยไม่เห็นหัวประชาชน หรือตระหนักในความหลากหลายและความเป็นปัจเจก นั่นต่างหากที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งปวงในหนัง

อย่างที่บอกไปตอนต้นเหตุผลของหลีสั่งเหลียนในการแหกกฎระเบียบเพียงเพราะต้องการอพาร์ตเมนต์อาจฟังไม่ค่อยขึ้นสักเท่าไหร่ มันคุ้มเหรอกับการดันทุรังต่อสู้มานานนับสิบปี มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนคนอื่นหรือเปล่า (คนโสดจริงๆ ที่ต้องการห้องนั้น) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลผลักดันคนดูให้ถอยห่างจากตัวละคร... แต่แล้วในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ซึ่งหนังเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายทำจากเฟรมวงกลมมาเป็นภาพเต็มจอปกติ ราวกับกำลังจะบอกกล่าวคนดูอยู่กลายๆ ว่าคุณจะได้เห็นภาพในมุมกว้างขึ้นของเรื่องราว บทได้มอบแง่มุมมนุษย์ให้กับตัวละครอย่างหลีสั่งเหลียน เมื่อเธอเฉลยเหตุผลแท้จริงว่าสาเหตุของการหย่าปลอมๆ ก็เพราะทั้งสองอยากมีลูกอีกคน ซึ่งสมัยนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากฎหมาย ลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน (1979-2015) แต่แล้วเธอกลับแท้งลูกหลังทราบข่าวว่าสามีนอกใจ หักหลังเธอไปอยู่กินกับหญิงอื่น ฉันไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกที่ไม่ได้ลืมตามาดูโลกเธอกล่าว

แน่นอน เหตุผลดังกล่าวฟังขึ้นกว่า ดูน่าเห็นอกเห็นใจกว่า แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจไม่ได้ฟอกขาวให้กับความจงใจหลอกลวงรัฐและฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ทางกฎหมาย แต่ที่สำคัญกว่านั้น บทเฉลยทำให้คนดูตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐ ซึ่งเข้ามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป ปัญหาทั้งหมดคงไม่เกิด หากรัฐไม่เข้ามาบังคับขืนใจอิสรภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต

เช่นเดียวกัน รากเหง้าปัญหาใน The Story of Qiu Ju ก็เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับปัจเจกชน ชิวจี้กับสามีอยากจะสร้างโรงเก็บของในที่ดินของตัวเอง แต่หัวหน้าหมู่บ้านไม่อนุญาตบอกว่ากฎหมายระบุให้ปลูกพืชพันธุ์การเกษตรเท่านั้น สามีชิวจี้จึงไม่พอใจ ด่ากลับหัวหน้าหมู่บ้านว่าไม่มีน้ำยาทำลูกชาย เลยได้แต่ลูกสาวเต็มบ้าน จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย ข้อกล่าวหาของสามีชิวอี้ไม่เพียงสะท้อนความเชื่อของคนจีนที่กดขี่เพศหญิงเท่านั้น (ลูกชายย่อมดีกว่าลูกสาวเพราะพวกเขาสามารถสืบเชื้อสายของต้นตระกูลได้) แต่ยังบ่งบอกถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย เพราะเส้นสายในรัฐบาลทำให้หัวหน้าหมู่บ้านสามารถมีลูกสาวได้มากกว่าหนึ่งคน ขณะที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปอย่างชิวอี้กับสามีจำเป็นต้องเล่นตามกฎ

ด้วยเหตุนี้เมื่อเปรียบไปแล้วการต่อสู้ของทั้งชิวจี้และหลีสั่งเหลียนจึงไม่ใช่การต่อสู้ด้วยเหตุผลส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ของปัจเจกชนเพื่อปฏิเสธการเข้ามาควบคุมทุกแง่มุมในชีวิตส่วนตัว (ความต้องการจะมีลูก หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินตัวเอง) เพราะหากศักดิ์ศรีของความเป็นคนไม่ได้รับการเคารพ หรือเห็นคุณค่าแล้ว ก็ยากที่สังคมจีนจะก้าวเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง

วันจันทร์, เมษายน 03, 2560

Oscar: Can't Fight the Moonlight


Manchester by the Sea

Manchester by the Sea ไม่ใช่หนังที่รื่นรมย์ เปี่ยมสุขสักเท่าไหร่ คุณอาจรู้สึกอยากกอดใครสักคนหลังดูจบ หนังซึ่งนุ่มนวล ละเอียดอ่อนเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของ ลี แชนด์เลอร์ (เคซีย์ อัฟเฟล็ค) ชายหนุ่มที่เก็บตัวตามลำพังเนื่องจากบาดแผลทางใจ หลังพี่ชายเขา (ไคล์ แชนด์เลอร์) เสียชีวิตและระบุในพินัยกรรมให้เขาดูแลลูกชายวัยรุ่น (ลูคัส เฮดเจส) ความสัมพันธ์อันกระท่อนกระแท่นระหว่างน้าหลานก็เริ่มต้นขึ้น... ด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่ทุกข์ไม่ได้จบลงแค่นั้น ลีถูกบีบให้ต้องกลับมายังบ้านเกิดและหวนรำลึกโศกนาฏกรรมในอดีต เมื่อปมดังกล่าวถูกเปิดเผย อารมณ์ทั้งหลายก็พลันไหลทะลักส่งผ่านจากตัวละครมาถึงคนดู ผู้กำกับ เคนเน็ธ โลเนอร์แกน ไม่เคยกังวลว่าหนังของเขาจะสลดหดหู่เกินไป เราทุกคนล้วนเคยประสบเหตุการณ์บางอย่างที่เหลือจะทน ไม่ผิดอะไรถ้าเราจะจำลองเหตุการณ์แบบนั้นมาไว้ในหนังเขากล่าว

นักวิจารณ์ดูเหมือนจะเห็นด้วย เพราะหนังของเขาเดินหน้ากวาดรางวัลมากมายก่อนจะลงท้ายด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา โลเนอร์คุ้นเคยกับความสำเร็จเป็นอย่างดี ตอนอายุ 20 กว่าๆ เขาหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเขียนก็อปปี้โฆษณา ตามมาด้วยบทละครเวทีเรื่อง This Is Our Youth ในปี 1996 ซึ่งกวาดคำชมท่วมท้นเกี่ยวกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปวันๆ เขาเขียนบทหนังอยู่หลายเรื่อง (Analyze This, The Adventures of Rocky & Bullwinkle) และผันตัวมากำกับหนังเรื่องแรก You Can Count On Me ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์สองรางวัล หนึ่งในนั้น คือ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสำหรับโลเนอร์แกน

ความคิดในการสร้าง Manchester by the Sea เริ่มต้นจาก จอห์น คราซินสกี้ กับเพื่อนของเขา แม็ท เดมอน ทั้งสองมีไอเดียคร่าวๆ เกี่ยวกับหนังและต้องการให้โลเนอร์แกนเป็นคนเขียนบท แรกทีเดียวเดมอนตั้งใจว่าจะกำกับและนำแสดงเอง แต่เนื่องด้วยตารางเวลาไม่ลงตัว เขาจึงเสนอให้โลเนอร์แกนโดดมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับแทน เดมอนบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำแบบนั้นเพราะเขาและคนอื่นๆ ต่างเป็นห่วงโลเนอร์แกน (หลังเหตุหายนะที่ชื่อว่า Margaret ซึ่งลงเอยด้วยการโรงขึ้นศาล) เขาอยากให้โลเนอร์แกนกลับมาเขียนบทหารายได้ให้ตัวเองอีกครั้ง

ก็ใช่โลเนอร์แกนยอมรับ แม้จะเห็นว่ามันไม่จริงเสียทั้งหมดก็ตาม ผมรู้ว่าเขาเป็นห่วงผมและผมก็ดีใจ มันเป็นช่วงตกต่ำอย่างแท้จริง แต่ผมก็ยังเขียนบทละครเรื่อง The Starry Messenger ในปี 2009 แล้วก็เขียนบทและกำกับละครเรื่อง Medieval Play ในปี 2011 จริงอยู่ตอนนั้นผมร้อนเงินเพราะมีหนี้สินท่วมหัว และ Manchester by the Sea ก็เป็นงานที่ให้เงินดีมาก แต่จริงๆ แล้วผมก็ชอบไอเดียตั้งแต่แรก เพราะถ้าไม่ชอบผมคงไม่ตกลงใจทำ

เมื่อเดมอนไม่ว่างมาเล่น โลเนอร์แกนจึงเลือกอัฟเฟล็ค และงานแสดงอันลุ่มลึก แต่ทรงพลังของเขาในบทชายหนุ่มที่ปิดกั้นตัวเองจากทุกคนรอบข้างกวาดคำชมและรางวัลนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหลานชายมีช่วงเวลาที่อ่อนโยน แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากความมุ่งมั่นของลีที่จะเก็บงำความรู้สึกไว้ข้างใน โลเนอร์แกนรักษาความสมจริงของเรื่องราวเอาไว้โดยตลอด ไม่มีฉากจบแบบฮอลลีวู้ด ไม่มีการคลี่คลายที่ง่ายดาย แต่นำเสนอการปลดปล่อยทางอารมณ์ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ซึ่งรับบทเป็นอดีตภรรยาของลี บอกว่าโลเนอร์แกนร้องไห้หลังถ่ายฉากดรามาหนักๆ บางฉากจบ และเมื่อหนังเข้าฉาย หลายคนบอกว่ามันช่วยให้พวกเขาได้ปลดปล่อยพวกเขาพูดว่า นี่เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อฉันเลยหรือ เราก็เคยเจอกับอะไรแบบนี้โลเนอร์แกนกล่าว ผมถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยความระแวดระวังพอสมควร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังซีเรียสกว่าทุกอย่างที่ผมเคยเจอมา ผมต้องการเคารพในตัวเรื่อง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาก็ตาม แต่สำหรับหลายคนมันเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยเผชิญ ฉะนั้นผมจึงรู้สึกซาบซึ้งมากเวลามีคนบอกว่าพวกเขาเคยผ่านอะไรแบบนี้และรู้สึกดีกับหนัง

อะไรทำให้หนังเรื่องนี้เข้าถึงใจผู้คน ผมคิดว่าคงเพราะอย่างน้อยหนังจริงใจกับเรื่องราว ไม่เสแสร้งว่าเราสามารถทำใจลืมโศกนาฏกรรมแบบนี้ได้ ไม่มีคำโป้ปดแบบที่เห็นในหนังบีบน้ำตาทางทีวี คนมากมายเคยทนทุกข์แบบเดียวกันและไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร คงเป็นความรู้สึกอุ่นใจที่ได้เห็นภาวะแบบเดียวกันสะท้อนออกมาในหนัง เพราะมันทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวโลเนอร์แกนอธิบาย

แม้จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่ Manchester by the Sea ไม่ใช่หนังมืดหม่น อารมณ์ในหนังอาจดิบ เสียดแทง และเหลือจะทนได้ในบางครั้ง ฉากระหว่างอัฟเฟล็คกับ มิเชลล์ วิลเลียมส์ สามารถทำให้คนดูถึงกับร้องสะอื้นได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายแล้วหนังกลับให้ความรู้สึกอิ่มเอิบอย่างประหลาด โล่งใจเหมือนได้ปลดปล่อยบางอย่างลงจากบ่า ลีอาจมีปัญหาในการเผชิญชีวิต แต่เขาก็เป็นคนตลก ไอเดียของหนังคือคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เมื่อคุณเปิดโอกาสให้ใครสักคนเข้ามาในโลกของคุณ คุณก็ต้องรับมือกับคนๆ นั้น ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องดีหนังสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของจิตใจมนุษย์ ความสุขจากการได้อยู่ร่วมกัน และความพยายามที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า


The Good

·   คำกล่าวขอบคุณของ ไวโอลา เดวิส หลังได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Fences เป็นคำกล่าวขอบคุณที่ทรงพลังที่สุดในงาน (ที่ทรงพลังไม่แพ้กัน คือ แถลงการณ์ของ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ซึ่งได้รางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) จิมมี คิมเมล อดไม่ได้ที่จะแซวตบท้ายว่า ไวโอลา เดวิส เพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมีจากคำกล่าวเมื่อสักครู่นี้

·   คนดูคาดหวังไว้แล้วว่า คู่กัดของคิมเมลอย่าง แม็ท เดมอน จะต้องโดนกระทำการย่ำยีสารพัดอย่างแน่นอน แก๊กนี้แม้จะถูกเล่นต่อเนื่องมายาวนานในรายการ Jimmy Kimmel Live! แต่ยังได้ผลน่าพอใจ คิมเมลเริ่มต้นด้วยการกัดเดมอน ซึ่งทิ้งบทนำใน Manchester by the Sea ไปเล่นหนังจีนและไว้ผมทรงหางม้า The Great Wall ลงเอยด้วยการสูญเงิน 80 ล้านเหรียญ ฉลาดเลือกมากไอ้ซื่อบื้อตามมาด้วยการล้อเลียน We Bought a Zoo หนังซึ่งล้มเหลวทั้งเงินและกล่องของ คาเมรอน โครว พร้อมกับแนะนำเดมอนขณะขึ้นมาบนเวทีเพื่อประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมในฐานะ แขกของ เบน อัฟเฟล็ค (เมื่อเดมอนบอกว่าเขาค่อนข้างพอใจกับการแสดงของตัวเองใน We Bought a Zoo อัฟเฟล็คก็ช่วยตบมุกให้คิมเมลด้วยการถามแบบไม่เชื่อว่า จริงดิ”) ก่อนจะตบท้ายกับการแกล้งเล่นดนตรีเพื่อกลบเสียงพูดของเดมอน


·   ฉากหลังบนเวทีออสการ์ในปีนี้ถือเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความอลังการน่าตื่นตากับงานออกแบบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสกายไลน์ในสไตล์เรโทร หรือม่านคริสตัลที่จัดทรงเป็นรูปออสการ์ขนาดยักษ์ส่องประกายระยิบระยับ มันเป็นแหล่งพักสายตาชั้นดีเวลาผู้ชนะกำลังร่ายรายชื่อบุคคลที่พวกเขาอยากขอบคุณตั้งแต่เอเย่นต์ไปยันคนขับรถ


The Bad

·   ระหว่างให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังเวที เห็นได้ชัดว่า เอ็มมา สโตน เผลอเล่นใหญ่เกินไปในความพยายามจะทำตัวเป็นผู้แพ้ที่ทรงเกียรติ ขณะกล่าวชื่นชมผู้ชนะจนชวนให้รู้สึกขนลุก ฉันโคตรรักหนังเรื่อง Moonlight พระเจ้า ฉันรักหนังเรื่อง Moonlight เหลือเกิน ฉันตื่นเต้นแทน Moonlight สุดๆ แน่นอน มันวิเศษสุดที่ได้ยินเสียงประกาศว่า La La Land เราทุกคนอยากชนะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่เราดีใจกับ Moonlight มากกก ฉันว่ามันคือหนึ่งในหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลถ้านี่เป็นการออดิชั่นบท คนที่ชื่นชอบและปลาบปลื้มกับชัยชนะของ Moonlight แบบหมดใจก็อาจพูดได้ว่าเธอสอบตก เพราะเธอดูเหมือน คนที่เชียร์ La La Land แต่ต้องพยายามปั้นหน้ายิ้มแย้มเพื่อปิดซ่อนความผิดหวัง หรือกระทั่งคับแค้นไว้ภายในมากกว่า ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นใครก็ต้องเชียร์หนังตัวเองอยู่แล้ว เสียงหัวเราะฝืนๆ กับการเน้นเสียงกระแทกกระทั้นทำให้คำชื่นชมของเธอดูออกตัวแรงจนเกือบจะเป็นการประชดแทนที่จะฟังดูจริงใจ เป็นธรรมชาติ

·   ท่าปรบมือสุดประหลาดของ นิโคล คิดแมน กลายเป็นโจ๊กสุดฮิตในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง (“นิโคล คิดแมน ปรบมือไม่เป็นเหรอมีคนตั้งคำถามในทวิตเตอร์) ตามมาด้วยข้อสันนิษฐานต่างๆ ว่าเธอเพิ่งทาเล็บมา หรือกลัวแหวนจะกระทบกันแล้วเจ็บนิ้ว แต่ไม่ว่ายังไงมันได้กลายเป็นภาพติดตาที่จะตามหลอกหลอนคุณไปอีกหลายวัน

·   ในแวบแรกการหลอกนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพบกับเหล่าดาราชื่อดังของฮอลลีวู้ดอาจดูตลก หรือเรียกรอยยิ้มได้บ้าง จนกระทั่งมันเริ่มลากยาวและสร้างความอึดอัดให้กับทั้งคนดู นักท่องเที่ยว (ซึ่งบางคนอาจไม่ได้บ้าดารา หรืออยากมาอยู่ต่อหน้ากล้องสักเท่าไหร่) และเหล่าดาราที่นั่งอยู่แถวหน้า แม้ว่าบางคน เช่น เดนเซล วอชิงตัน จะคล่องแคล่ว รู้งาน แล้วแกล้งทำพิธีแต่งงานปลอมๆ ให้กับสองคู่หมั้นจากชิคาโก แต่สุดท้ายมันกลับให้ความรู้สึกเหมือนการพามาเที่ยวสวนสัตว์เสียมากกว่า 


The Ugly

·   ถึงตอนนี้ความผิดพลาดของการประกาศชื่อหนังยอดเยี่ยมผิดเรื่อง ซึ่งคงจะกลายเป็นคลิปอมตะ และถูกล้อเลียนไปอีกนานหลายปี ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่ามีต้นตอมาจากการที่ ไบรอัน คัลลิแนน ผู้ดำรงตำแหน่งหุ้นส่วนของบริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ยื่นซองรางวัล นำหญิงยอดเยี่ยมให้กับ วอร์เรน บีตตี้ แทนที่จะเป็นซอง หนังยอดเยี่ยมเขากับเพื่อนร่วมงาน มาร์ธา รูซ เป็นแค่สองคนในงานที่รู้ผลรางวัล โดยทั้งสองจะคอยดูแลซองผู้ชนะคนละเซ็ต และยืนอยู่คนละฟากเวทีเพื่อรับประกันความลื่นไหลของการจัดงาน (ผู้ประกาศรางวัลเดินออกจากฝั่งไหนของเวทีก็จะมีคนยื่นซองประกาศผลให้) รวมไปถึงยังเป็นมาตรการความปลอดภัยเผื่อเกิดเหตุผิดพลาดก็ยังมีซองสำรอง มีความเป็นไปได้สูงว่าคัลลิแนนอาจเพลิดเพลินกับการเล่น โซเชียล มีเดีย ไปหน่อยจนทำให้เสียสมาธิ แล้วยื่นซองรางวัลที่เพิ่งถูกประกาศจบไปแทนที่จะเป็นซองรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เขาทวีตภาพ เอ็มมา สโตน หลังเวทีขณะถือรางวัลออสการ์ ก่อนจะลบทวีตดังกล่าวออกหลังเกิดเหตุผิดพลาดในการประกาศผล แต่มีคนแคปภาพไว้ทัน) อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า วอร์เรน บีตตี้ รับมือกับสถานการณ์ได้ไม่ดีเท่าไหร่ เห็นได้ชัด เขาน่าจะรู้ว่าเกิดความผิดพลาดขึ้น สังเกตจากอาการลังเลอยู่นาน ไม่อ่านชื่อผู้ชนะ และทำท่าเหมือนจะมองหาบัตรอีกใบในซอง แต่แทนที่จะเช็คกับทีมงาน หรือคนที่ยื่นซองให้เขา (หรือถ้าเขาพลิกซองไปด้านหน้าก็จะเห็นทันทีว่ามันเป็นรางวัลสำหรับนำหญิง ไม่ใช่หนังเยี่ยม) เขากลับยื่นบัตรไปให้ เฟย์ ดันนาเวย์ (พูดอีกอย่างคือไคลด์ผลักบอนนีไปรับห่ากระสุน) โดยไม่กระซิบบอกความสงสัยกับเธอ เช่น คุณช่วยดูหน่อยสิ ผมว่าบัตรมันผิดนะส่วนคนหลังก็คงคิดว่าบีตตี้เล่นมุกถ่วงเวลาให้คนตื่นเต้นหรืออย่างไร จึงอ่านชื่อหนังที่เห็นบนแผ่นกระดาษไปโดยไม่สังเกตว่ามีชื่อ เอ็มมา สโตน โชว์หราอยู่ (หรือเธอคิดว่า เอ็มมา สโตน เป็นโปรดิวเซอร์ของ La La Land?) ท้ายที่สุด ต้องบอกว่าทีมงานหลังเวทีแก้ไขปัญหาค่อนข้างเชื่องช้า เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันที่เคยเกิดขึ้น 53 ปีก่อน พวกเขาปล่อยให้ทีมโปรดิวเซอร์ของ La La Land กล่าวขอบคุณไปจนเกือบจะเสร็จแล้วแทนที่จะรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุดตั้งแต่มีการประกาศชื่อผิด นำไปสู่สถานการณ์ที่ชวนให้น่าอึดอัดสำหรับทีมงานหนังทั้งสองเรื่อง โชคดีที่ทั้งฝ่าย Moonlight และ La La Land ต่างพูดจาให้เกียรติกันและกันได้อย่างน่ายกย่อง 

·   นอกเหนือจากหายนะ จดหมายผิดซองแล้ว งานออสการ์ครั้งนี้ยังปรากฏความผิดพลาดครั้งใหญ่อีกอย่าง โดยในคลิปรำลึกผู้จากไป รูปของโปรดิวเซอร์สาวชาวออสเตรเลีย เจน แชปแมน (ซึ่งยังมีชีวิตอยู่) ถูกใส่เข้ามาอย่างสะเพร่า ไม่ตรงกับชื่อผู้เสียชีวิต นั่นคือ เจเน็ท แพทเทอร์สัน ซึ่งเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่เคยร่วมงานกับแชปแมนในหนังอย่าง The Portrait of a Lady และ The Piano... การได้เห็นภาพตัวเองในคลิปผู้วายชนม์ถือเป็นฝันร้ายขนานแท้ จนอาจนำไปสู่การตั้งคำถามเชิงอัตถิภาวนิยม เช่น เรา ใช้ชีวิตอยู่จริงๆ ใช่ไหม หรือคำถามที่ชวนสะพรึงกว่านั้น เช่น เราเป็นวิญญาณที่ไม่รู้ตัวว่าตายไปแล้วหรือเปล่า (aka The Sixth Sense)


Records Broken

·   พญานกตัวจริง (ชนิดที่ เอมี อดัมส์ ยังต้องคาราวะ) เควิน โอคอนเนลล์ ได้พบกับความสมหวังในที่สุด หลังเขาก้าวขึ้นรับรางวัลออสการ์ตัวแรกพร้อมทีมงานอีก 3 คนในสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (sound mixing) จากหนังเรื่อง Hacksaw Ridge หลังเคยเข้าชิงครั้งแรกในสาขานี้เมื่อปี 1983 จาก Terms of Endearment และพ่ายให้กับทีมบันทึกเสียงจาก The Right Stuff จากนั้น 33 ปีต่อมา สถิติชวดรางวัลสูงสุดตลอดกาล (20 ครั้ง) ในประวัติศาสตร์ออสการ์ก็สิ้นสุดลงจนได้จากความสำเร็จในครั้งที่ 21 ตอนนี้คนที่ครองสถิติเข้าชิงมากสุดโดยยังไม่เคยได้รางวัล ได้แก่ เกร็ก พี. รัสเซลล์ อดีตหุ้นส่วนของโอคอนเนลล์ ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 16 ครั้งในสาขาบันทึกเสียง และเพิ่งจะถูกตัดสิทธิ์การเข้าชิงครั้งที่ 17 จากหนังเรื่อง 13 Hours: The Secret Soldiers of Benghazi เนื่องจากเขากระทำผิดกฎด้วยการโทรศัพท์ล็อบบี้ให้ผลงานตัวเอง อันดับสองคือ โธมัส นิวแมน ซึ่งเข้าชิง 14 ครั้ง ล่าสุดจาก Passengers ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม อันดับสามคือ โรเจอร์ ดีกินส์ ตากล้องในตำนานที่เข้าชิงทั้งหมด 13 ครั้ง และชวดรางวัลทุกครั้ง

·   เดเมียน ชาเซลล์ (La La Land) กลายเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุดที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง ทำลายสถิติที่ นอร์แมน ทอรอก (Skippy) สร้างไว้เมื่อปี 1931 คนแรกอายุ 32 ปีกับ 38 วันตอนได้ออสการ์ ขณะที่คนหลังอายุ 32 ปีกับ 260 ตอนได้ออสการ์

·   O.J.: Made in America กลายเป็นหนังชนะรางวัลออสการ์ (สารคดียอดเยี่ยม) ที่มีความยาวมากที่สุด (467 นาที) เอาชนะเจ้าของสถิติเดิม War and Peace (หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) เมื่อปี 1969 ซึ่งมีความยาว 431 นาที สารคดีเรื่องนี้สร้างขึ้นในโครงการ 30 for 30 Series ของช่อง ESPN แบ่งออกเป็น 5 ตอน แต่ถูกนำมาฉายในโรงหนังช่วงเดือนพฤษภาคมเพื่อสิทธิ์ในการเข้าชิง

·   หลังคว้าออสการ์จากหนังเรื่อง Fences ไปครอง ไวโอลา เดวิส กลายเป็นนักแสดงผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสามเวทีหลัก นั่นคือ ออสการ์, เอ็มมี และ โทนี โดยก่อนหน้านี้มีนักแสดงหญิง 13 คน และนักแสดงชาย 9 คนเท่านั้นที่ทำสำเร็จ อาทิ เฮเลน เมียร์เรน และ คริสเตอร์เฟอร์ พลัมเมอร์ เป็นต้น นอกจากนี้เดวิสยังเป็นนักแสดงคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลโทนีและออสการ์จากการเล่นบทเดียวกัน (แต่ต่างสาขา) เธอได้โทนีนำหญิงจากการรับบท โรสใน Fences เวอร์ชั่นบรอดเวย์ ก่อนจะได้ออสการ์สมทบหญิงจากบทเดียวกัน ส่วนคนแรกที่ทำสำเร็จ คือ ยูล บรินเนอร์ ซึ่งได้ออสการ์และโทนีในสาขานำชายจาก The King & I

·   โปรดิวเซอร์ ดีดี การ์ดเนอร์ (Moonlight) กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสองตัว ก่อนหน้านี้สามปีเธอเพิ่งได้รางวัลเดียวกันจากหนังเรื่อง Twelve Years a Slave

·   Moonlight เป็นหนังเกี่ยวกับ LGBT เรื่องแรกที่คว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ และหนังเรื่องที่สองที่ได้รางวัลออสการ์หนังเยี่ยมโดยไม่เคยชนะรางวัลของสมาพันธ์สำคัญสามแห่ง นั่นคือ PGA (ผู้อำนวยการสร้าง), DGA (ผู้กำกับ) และ SAG (นักแสดง) โดยเรื่องแรกที่ทำได้ คือ Braveheart ในปีแรกที่มีการแจกรางวัล SAG

·   ชัยชนะของ คอลลีน แอตวู้ด จากการออกแบบเสื้อผ้าให้กับหนังเรื่อง Fantastic Beasts and Where to Find Them (ตัวที่ 4 ของเธอหลังจาก Chicago, Memoirs of a Geisha และ Alice in Wonderland) ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกบนเวทีออสการ์ของหนังในจักรวาล Harry Potter โดยก่อนหน้านี้หนังทั้ง 8 เรื่องถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาเทคนิคต่างๆ รวม 12 รางวัล แต่ชวดหมด

·   มาเฮอร์ชาลา อาลี เป็นชาวมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง เขาเข้ารีตเป็นอิสลามเมื่อ 17 ปีก่อน

·   La La Land เป็นหนังเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสูงสุด 14 รางวัล แต่พลาดรางวัลหนังยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ All About Eve และ Titanic ล้วนคว้ารางวัลสูงสุดมาครองได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้มันกลายเป็นหนังเข้าชิงสูงสุดที่พลาดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการถือครองสถิติร่วมกันโดย The Curious Case of Benjamin Button, The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring และ Who’s Afraid of Virginia Woolf ซึ่งต่างได้เข้าชิงเรื่องละ 13 รางวัล 

วันเสาร์, มีนาคม 25, 2560

Oscar: 2017: Picture


Hidden Figures

บทหนังเรื่อง Hidden Figures ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือของ มาร์โก ลี เชตเตอร์ลีย์  เกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์หญิงผิวดำสามคนที่ทำงานให้กับนาซาช่วงยุค 60 เดินทางมาถึงมือของ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ กับเพื่อนผู้อำนวยการสร้าง มีมี วัลเดส ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก ก่อนพวกเขาจะได้ ธีโอดอร์ เมลฟี มาเป็นผู้กำกับด้วยซ้ำ บทหนังสะดุดใจวิลเลียมส์เป็นพิเศษเพราะว่ามันเฉลิมฉลองผลงานความสำเร็จของผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งจะช่วย “คานน้ำหนักเรื่องเล่าผ่านมุมมองผู้ชายที่แออัดอยู่เต็มท้องตลาดในเวลานี้” จากนั้นเขาก็เสริมว่า “เราควรได้เห็นเรื่องราวทั้งจากมุมมองผู้ชายและผู้หญิง การมีส่วนร่วมของผู้หญิงไม่ควรจะถูกหลบซ่อนอีกต่อไป

นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดที่ดึงดูดใจเขาก็คือ วิลเลียมส์เติบโตมาใน เวอร์จิเนีย บีช ซึ่งไม่ไกลจากศูนย์วิจัยแลงลีย์ของนาซาในเมืองแฮมป์ตัน ฉากหลังของ Hidden Figures เขาบอกว่าตอนเด็กๆ เขามักจะมองนาซาเป็นความลึกลับ น่าตื่นเต้น “เรารู้ว่าคำถามสำคัญๆ กำลังถูกค้นหาคำตอบที่นั่นเขากล่าว

แคทเธอรีน จอห์นสัน (ทาราจี พี. เฮนสัน) เป็นนักคณิตศาสตร์ระดับหัวกะทิที่ทำงานในแผนก “คอมพิวเตอร์ผิวสี” คำหลังบ่งชี้ถึงอคติแห่งยุคสมัย ส่วนคำแรกตอกย้ำกับคนดูว่านี่เป็นช่วงเวลาก่อน สตีฟ จ็อบส์ และคอมพิวเตอร์แอปเปิ้ลจะถือกำเนิด แคทเธอรีนกับเพื่อนร่วมงานในแผนกโดนเรียกว่า “คอมพิวเตอร์เนื่องจากทักษะช่ำชองในการคำนวณตัวเลข ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภารกิจพานักบินอวกาศเดินทางออกนอกโลก งานของพวกเธอทวีความสำคัญเป็นเท่าตัวหลังจากปรากฏการณ์ดาวเทียมสปุตนิก และ ยูริ กาการิน กลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่กลับมายังโลกได้สำเร็จ อเมริกาพากันตื่นตระหนก หัวหน้าหน่วยอวกาศ อัล แฮร์ริสัน (เควิน คอสเนอร์) พยายามผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด เมื่อแคทเธอรีนได้เลื่อนตำแหน่งมาอยู่แผนกเขาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเรขาคณิตวิเคราะห์ นี่จึงกลายเป็นโอกาสให้เพื่อนร่วมของเธอในห้องคอมพิวเตอร์ได้ฉายแสง

เพื่อนคนหนึ่งของเธอ แมรี แจ๊คสัน (เจเนล โมเน) เข้าไปมีส่วนร่วมในการทดสอบอุโมงค์ช่องลมของยานอวกาศ เมื่อคอมพิวเตอร์ IMB เครื่องใหม่เอี่ยมถูกส่งมายังนาซา คุกคามหน้าที่การงานของเหล่ามนุษย์คอมพิวเตอร์ทั้งหลาย โดโรธี วอแฮน (ออกเทเวีย สเปนเซอร์) จึงเริ่มต้นศึกษาเรียนรู้โปรแกรมของเครื่อง IMB เพื่อโอกาสที่จะได้ทำงานอยู่ในโครงการอวกาศต่อไป

ครอบครัวเราเติบโตมาในเมืองแฮมป์ตันมาร์โก ลี เชตเตอร์ลีย์ ผู้แต่งหนังสือสารคดีที่หนังนำมาดัดแปลง เล่า “เรารู้จักหลายคนที่ทำงานให้นาซา แฮมป์ตันมีทั้งนาซา อู่ต่อเรือ และฐานทัพ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะเป็นแอฟริกัน-อเมริกัน หลายคนเป็นผู้หญิง และหลายคนก็เป็นทั้งสองอย่างเชตเตอร์ลีย์เรียนการเงินในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ทำงานอยู่วอลสตรีทพักใหญ่ ก่อนจะย้ายมาสายสื่ออินเทอร์เน็ต เธอกับสามีอาศัยอยู่ในเม็กซิโกตอนผุดไอเดียเขียนหนังสือเล่มนี้ขณะกลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อหลายปีก่อน เมื่อบทสนทนาวนเวียนไปถึงสาวๆ “คอมพิวเตอร์ซึ่งมีส่วนช่วยให้นักบินอวกาศ จอห์น เกล็น ได้โคจรรอบโลก “ทำไมเราไม่เคยรู้เรื่องนี้เลยเชตเตอร์ลีย์นึกสงสัยและถามแม่เธอ  

แม่ฉันพูดขึ้นว่า ‘เอางี้ เราโทรหา แคทเธอรีน จอห์นสัน แล้วไปคุยกันที่บ้านเธอ’ นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินชื่อ โดโรธี วอแฮน จอห์นสันบอกว่าหล่อนเป็นคนฉลาดที่สุดเท่าที่เธอเคยเจอ เชตเตอร์ลีย์พูดถึงต้นกำเนิดของหนังสือ “ฉันดีใจมากที่หาสำนักพิมพ์ได้แต่ไม่ใช่แค่นั้น ตัวแทนเธอ แม็คเคนซี เบรดี้ วัตสัน ยังนำเรื่องราวไปเสนอกับผู้อำนวยการสร้าง ดอนนา กิกลิอตติ ซึ่งเคยทำหนังฮิตชิงออสการ์อย่าง Silver Linings Playbook, Shakespeare in Love และ The Reader “เธอโทรหาฉันแล้วบอกว่า ‘ฟังให้ดี เราจะดัดแปลงมันเป็นหนัง” เชตเตอร์ลีย์กล่าว “ฉันตอบไปว่า ‘หา หนังสือยังไม่ตีพิมพ์เลย คุณจะเอาไปสร้างเป็นหนังแล้วเหรอ

Hidden Figures ไม่เพียงมุ่งหวังที่จะเปิดเผยเรื่องราวคาดไม่ถึง ซึ่งน้อยคนจะรับรู้ แต่ยังสะท้อนภาพสังคมอเมริกาขณะเผชิญทางแยกอันท้าทายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวสี หรือความเข้มข้นของสงครามเย็นจนเกือบจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ หนังพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกฝ่ายโดยไม่จำเป็นเพศ หรือพื้นเพ (“นาซาไม่สนว่าคุณจะมีเพศอะไร ถ้าคุณคำนวณเลขได้ คุณก็มีค่าต่อองค์กร จอห์นสันเป็นอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ สมองเธอทำงานในระดับเดียวกับ จอห์น แนช และ สตีเวน ฮอว์กิน เธอคิดเหนือตัวเลขขึ้นไปอีกขั้นผู้กำกับเมลฟีกล่าว) “เราไม่ได้พยายามจับยัดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอคติทางสีผิว ทุกคนรู้เรื่องราวนั้นอยู่แล้วเฮนสันพูด “ตรงกันข้าม Hidden Figures พูดถึงการรับมือกับปัญหาดังกล่าวและก้าวข้ามมันเพื่อมนุษยชาติ

ตอนได้อ่านบทครั้งแรก ฉันตื่นเต้นมากที่ได้เห็นตัวละครผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันมีอาชีพอื่นนอกจากคนรับใช้ ฉันยังนึกว่ามันเป็นเรื่องแต่งซะอีกโมเน ศิลปินอาร์แอนด์บีที่ผันตัวมาเป็นนักแสดง กล่าว “พวกเธอขับรถคันเดียวกันไปทำงานทุกวัน พวกเธอผูกพันกันเหมือนพี่น้อง ทุกคนมีลูก มีชีวิตนอกนาซา ฉะนั้นมันจึงน่าสนใจที่ได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเธอไปพร้อมๆ กัน

บางทีความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Hidden Figures ทั้งในแง่คำวิจารณ์และการทำเงินอาจมีส่วนช่วยให้เหล่าผู้บริหารชายของสตูดิโอก้าวข้ามคติโบราณของฮอลลีวู้ดที่ว่าหนังซึ่งนำแสดงโดยผู้หญิง หรือคนผิวสีไม่มีโอกาสสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ หรือปราศจากฐานคนดูที่กว้างพอ เช่นเดียวกับนาซา พวกเขาควรพิจารณาจาก “แก่นซึ่งก็คือความน่าสนใจของตัวเรื่องและความสามารถของเหล่าทีมงาน แทนการโฟกัสไปยัง “เปลือก


La La Land

ทุกวันนี้การจะหาหนังเพลงในรูปแบบของยุคทองฮอลลีวู้ดถือเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าหาขุมทรัพย์ ถ้ามันไม่ได้ปรากฏตัวในรูปของการดัดแปลงละครเพลง เช่น Into the Woods ก็จะเป็นหักหลบให้พอสัมผัสกลิ่นอาย เช่น หนังประเภท Magic Mike ที่ดนตรีและการเต้นรำถูกประยุกต์ให้ร่วมสมัย รวมถึงตัดทอน ความไม่สมจริงของหนังเพลงแท้ๆ ออกไป ฉะนั้น อาจพูดได้ว่า La La Land เป็นความเสี่ยงทางด้านการลงทุน เพราะถึงแม้ฉากหลังของหนังจะเป็นยุคปัจจุบัน แต่เห็นได้ชัดทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบ ผู้สร้างจงใจที่จะพาคนดูหวนกลับไปหาความนุ่มนวลชวนฝันแห่งยุคสมัยของ เฟร็ด แอสแตร์ กับ จิงเจอร์ โรเจอร์ส

หนังอเมริกันร่วมสมัยควรมีสไตล์ “เหนือจริงในรูปแบบของหนังเพลงและเต้นรำให้มากขึ้น แทนการยึดติดกับรูปแบบเหมือนจริงอันแห้งแล้งและแฟนตาซีซูเปอร์ฮีโร่ที่ซ้ำซาก หนึ่งในความรื่นรมย์ของการนั่งชมหนังเพลง คือ แม้จะมีการจัดวางท่าเต้นอย่างเป็นระเบียบ พวกมันกลับพาคนดูให้หลุดพ้นจากกรงขังแห่งกิจวัตรอันน่าเบื่อหน่าย นำเสนอให้เห็นว่าทุกคนสามารถค้นพบความสุขจากช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตได้ เช่น การเดินตากฝนไปตามท้องถนนแบบเดียวกับ จีน เคลลี ใน Singing in the Rain

เดเมียน ชาเซลล์ เรียนภาพยนตร์อยู่ที่ฮาร์วาร์ดตอนเขาตกหลุมรักหนังเพลงของแอสแตร์กับโรเจอร์ส เขาชื่นชอบ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค และหนังของผู้กำกับรุ่นเฟรนช์นิวเวฟ ก่อนจะเริ่มศึกษาหนังอาวองต์การ์ดของอเมริกาในเวลาต่อมา เขาเคยดูหนังเพลงตั้งแต่เด็กๆ รู้สึกตื่นตะลึงที่ได้เห็นแอสแตร์กับโรเจอร์สเต้นรำใน Top Hat พร้อมกับดูหนังของ ฌอง-ลุก โกดาร์ด และ มายา ดาเรน ที่ฮาร์วาร์ดความหลงใหลในหนังเพลงของชาเซลล์ยิ่งเจริญงอกงาม เขาหลงใหล It’s Always Fair Weather ของ จีน เคลลี และ สแตนลีย์ โดเนน หนังเพลงเกี่ยวกับความสูญเสีย ความผิดหวัง และความเป็นชาย จากนั้นก็เริ่ม วางโครงการสร้างหนังธีซิส ซึ่งกลายมาเป็นผลงานกำกับหนังชิ้นแรกของเขาเรื่อง Guy and Madeline on a Park Bench จุดกำเนิดของหนังเริ่มจากบทสนทนาระหว่างเขากับเพื่อนนักศึกษา จัสติน เฮอร์วิทซ์ (ทั้งคู่ตั้งวงร็อกด้วยกัน) “ผมถามเขาว่า ถ้าฉันจะทำหนังแนวๆ หนังเพลงแต่ไม่ใช่หนังเพลงซะเดียว และต้องการเพลงใหม่ไปใส่ในหนัง นายจะช่วยแต่งเพลงให้ได้ไหม ” จัสตินตอบตกลง

หนัง “แนวๆ” หนังเพลงเรื่องนี้เล่าถึงหนุ่มนักดนตรีแจ๊สกับแฟนสาวรักอิสระ ซึ่งแยกทางกันก่อนหนังจะเปิดเรื่อง ดนตรีแจ๊สและการถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ 16 มม. ทำให้คนดูนึกถึงหนังของ จอห์น คาสซาเวทส์ ขณะที่ฉากร้องเพลงก็กรุ่นกลิ่นอาย Band of Outsiders ของโกดาร์ด ผมคิดเสมอว่า Guy and Madeline ไม่ได้เป็นหนังเพลงเต็มตัว” ชาเซลล์กล่าว “แต่เป็นหนังซึ่งค่อยๆ กลายพันธุ์เป็นหนังเพลงเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนัง คือ เมื่อเขาเล่นดนตรี ส่วนเธอก็ร้องเพลงและเต้นรำ ทั้งสองได้ค้นพบตัวเองผ่านเสียงเพลง

การผันชีวิตประจำวันไปสู่การเต้นแท็ป ฉากร้องรำทำเพลงใน Guy and Madeline ถือเป็นคุณสมบัติหลักของหนังเพลง ซึ่งผสมปนเปโลกแห่งความจริงที่ตัวละครเดินเหิน พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ เข้ากับโลกแห่งเสียงเพลงและเต้นรำ ใน Top Hat แอสแตร์กับโรเจอร์สเริ่มเต้นรำในศาลาระหว่างหลบพายุเกือบจะโดยความบังเอิญ เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่เน้นย้ำความธรรมดาสามัญ จนกระทั่งเขาเริ่มร้องเพลง Isn’t This a Lovely Day (to Be Caught in the Rain) ใน La La Land ฉากเพลงถูกสอดแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับมันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายจะกระโดดขึ้นเต้นแท็ปบนม้านั่ง และเช่นเดียวกับหนังเพลงคลาสสิกทั้งหลาย คู่พระนางในหนังต่างรู้จังหวะเต้นของกันและกันอย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับฉากศาลาใน Top Hat ซึ่งดึงดูดให้ตัวละครของแอสแตร์กับโรเจอร์สใกล้ชิดกัน ฉากเต้นรำในสวนสาธารณะของ La La Land ได้เปลี่ยนการจีบกันของหนุ่มสาวให้กลายเป็นการแสดงโชว์

ตลอดทั้งเรื่อง ชาเซลล์อาศัยภาพจำอันคุ้นเคยจากแนวทางหนังเพลง ไม่ว่าจะเป็นการเต้นคู่โดยไม่โดนตัวกัน ฉากจูบที่โดนขัดจังหวะกลางคัน ความพร้อมเพรียงของท่วงท่า การเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อสร้างความรู้สึกสนุกสนานและแปลงโฉมชีวิตประจำวันให้กลายเป็นสิ่งที่เขาเรียก (ทั้งขำๆ และจริงจังในเวลาเดียวกัน) ว่า “มหากาพย์

ฉากเพลงหลายฉากถ่ายทำที่ ฮอลลีวู้ด เซ็นเตอร์ สตูดิโอ ซึ่งเป็นโรงถ่ายเดียวกับที่แอสแตร์ทำ Second Chorus และ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ทำ One From the Heart “เราต้องยกเครนขึ้นสูงในตอนจบช็อตชาเซลล์ตะโกนสั่งตากล้องที่นั่งอยู่บนปลายเครนขนาดยักษ์ ขณะคนคุมเครนอยู่อีกด้าน คติพจน์ประจำใจเขา คือ “ต้องเป็นภาพแบบเต็มตัวซึ่งแอสแตร์คงเห็นชอบ แอสแตร์ชิงชังการตัดภาพเป็นส่วนๆ ในฉากเพลงของ บัสบี เบิร์คลีย์ ที่ทำให้รูปร่าง สรีระของคนกลายเป็นเหมือนชิ้นส่วนเครื่องจักร พร้อมกับยืนกรานว่า “ไม่กล้องก็ผมที่ต้องเต้นแน่นอนในหนังเพลงชั้นยอดทั้งหลาย มันเป็นส่วนผสมของทั้งสองอย่าง

ชาเซลล์ส่งสองนักแสดงนำไปอยู่ในความดูแลของนักออกแบบท่าเต้น แมนดี้ มัวร์ ก่อนเปิดกล้อง พร้อมทั้งกำชับให้ดูหนังโปรดของเขาอย่าง The Band Wagon และ The Umbrellas of Cherbourg ทุกคนพยายามจะหา “อากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละคร แล้วผันมันให้กลายเป็นฉากเพลง กอสลิงเป็นนักแสดงตั้งแต่วัยเด็ก เขามีมาดนักเต้นและท่าเดินสวยสง่า ส่วนสโตนก็เพิ่งรับบทนำในละครเพลงบรอดเวย์เรื่อง Cabaret ทั้งสองร้องเพลงและเต้นรำได้ดีพอจะทำให้ฉากเพลงใน La La Land ลื่นไหล ขณะที่ความไม่สมบูรณ์แบบก็ช่วยให้พวกเขาติดดินและเข้าถึงได้

มีหลายเหตุผลที่ทำให้หนังเพลงของอเมริกาค่อยๆ เสื่อมความนิยม ตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงของระบบสตูดิโอ ไปจนถึงรสนิยมคนดูที่หมุนเวียนตามเวลา หนังเพลงถือกำเนิดจากอุดมคติ หนึ่งในความเพลิดเพลินของหนังเพลงยุคคลาสสิก คือ การได้ดูร่างกายทำสิ่งมหัศจรรย์สารพัด (ลองนึกถึงฉากเต้นของ โดนัลด์ โอคอนเนอร์ ใน Singing in the Rain) เยื้องย่าง เคลื่อนไหวตามจังหวะเพลงได้อย่างสง่างาม หนังเพลงเปรียบเสมือนการปลดปล่อย เมื่อ จูดี้ การ์แลนด์ ร้องเพลง Over the Rainbow เธอกำลังบอกผู้ชมให้ก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบาก (หนังออกฉายในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ)… ด้วยเหตุนี้ในยุคสมัยแห่ง โดนัลด์ ทรัมป์ บางที La La Land อาจเป็นหนังที่มวลชนกำลังต้องการ


Hell or High Water

การชนะเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา เป็นผลพวงจากความคับแค้นต่อโครงสร้างสังคมที่จัดสรรอำนาจได้อย่างอยุติธรรม และแน่นอนว่าย่อมจะต้องส่งผลต่ออนาคตทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสภาพสังคมอย่างยิ่งใหญ่ เราใช้เวลา 4 ปีกว่าจะได้ชมสองภาพยนตร์ชั้นยอดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 ผ่านงานกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก แม้โดยเปลือกนอก War of the Worlds และ Munich จะไม่ได้พูดถึง 9/11 โดยตรงก็ตาม ฉะนั้นกว่าปรากฏการณ์ทรัมป์จะเริ่มเผยแง่มุมบนจอภาพยนตร์อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะหนังใช้เวลาสร้างยาวนานและไม่มีใครล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

แต่ก็มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวพันได้อย่างน่าประหลาด นั่นคือ Hell or High Water ของ เดวิด แม็คเคนซี ซึ่งใช้ทุนสร้าง 12 ล้าน แต่สามารถเก็บเงินในอเมริกาได้ 31 ล้าน หนังออกฉายในช่วงซัมเมอร์ท่ามกลางหนังภาคต่อที่น่าผิดหวังและหนังฟอร์มยักษ์ขายเทคนิคพิเศษ ด้วยความช่วยเหลือของทีมนักแสดงชั้นยอด แม็คเคนซีได้แปลงบทอันคมคายของ เทย์เลอร์ เชอริแดน ให้กลายเป็นหนังชั้นเลิศ เป็นความบันเทิงประเทืองปัญญาสำหรับผู้ใหญ่ เล่าถึงชีวิตของสองพี่น้อง ซึ่งตัดสินใจร่วมมือกันปล้นธนาคารเพื่อหาเงินมาใช้เจ้าหนี้ (ธนาคาร) ก่อนที่ดินของพวกเขาจะถูกยึด แต่ Hell or High Water เป็นมากกว่าแค่หนังปล้นธนาคารเพื่อความบันเทิง มันยังสะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง ผ่านฉากหลังเป็นเมืองในรัฐเท็กซัสตะวันตก คนดูจะเห็นป้ายโฆษณาหนทางปลดหนี้ บ้านที่หลุดจำนอง ฟาร์มที่ถูกปล่อยรกร้างแทบทุกหนแห่ง เช่นเดียวกับหนังสองเรื่องของสปีลเบิร์ก ในเชิงนัยยะ Hell or High Water เป็นเหมือนภาพวาดของหายนะอันเกิดจากวิกฤติการเงินในปี 2008

แทนการแจกแจงให้เห็นต้นเหตุของความฟอนเฟะเหมือนใน The Big Short และ Inside Job หนังของแม็คเคนซีเลือกจะพาคนดูไปสำรวจผลกระทบอันน่าเศร้าในเมืองเล็กๆ หลายแห่งของรัฐเท็กซัส ไม่ใช่ในฐานะบทเรียนประวัติศาสตร์ หรือจุดประเด็นโต้เถียง วิเคราะห์หาสาเหตุ แต่เพื่อวางรากฐานตัวละคร พล็อตหนังทั้งเรื่องถือกำเนิดขึ้นจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากวิกฤติการเงิน ความยากลำบากของสองตัวละครเอก การพังทลายของความหวังต่ออนาคตที่ดีกว่า และกลวิธีนอกกฎหมายที่พวกเขาเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาล้วนสะท้อนให้เห็นการพังทลายของระบบการเงินในอเมริกาเมื่อแปดปีก่อนอย่างชัดเจน

เชอริแดนเขียนบทหนังเรื่องนี้และ Sicario ด้วยความตั้งใจจะให้มันเป็นส่วนหนึ่งของไตรภาคเกี่ยวกับ ชายแดนอเมริกาแห่งยุคปัจจุบันเขาบอกว่า หลายอย่างเปลี่ยนไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แต่หลายอย่างก็ยังคงเดิม ผมอยากสำรวจจุดจบของวิถีชีวิตดั้งเดิม ตลอดจนผลกระทบอันหนักหน่วงจากวิกฤติซับไพร์มในเท็กซัสไม่นานหลังเกิดวิกฤติเชอริแดนได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน อาร์เชอร์ ซิตี้ เมืองบ้านเกิดของ แลร์รี แม็คเมอร์ไทร์ ผู้เขียนนิยายเรื่อง Hud และ The Last Picture Show “เมืองทั้งเมืองเหมือนถูกปล่อยร้าง ช่างเหมาะกับการบุกปล้นเสียจริงนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเขียนเรื่องราวโดยมีตัวเอกเป็นโจรปล้นธนาคาร

หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน หลายคนวิเคราะห์ว่าลิเบอรัลและเหล่าบรรดาชนชั้นสูงทั้งหลายคาดเดาผลการเลือกตั้งผิดพลาดเพราะพวกเขาไม่เข้าใจ ชนชั้นแรงงานผิวขาว ที่กระจายตัวอยู่ตามชนบท พร้อมเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ บอกให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับคนยากคนจนพวกนี้ ราวกับว่าพวกเราไม่เคยพบเห็นพวกเขามาก่อน ซึ่งนั่นไม่ตรงกันความจริงสักเท่าไหร่ หนังอย่าง Hell or High Water บ่งชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันเข้าใจสังคมอเมริกันในมุมกว้างมากพอจะวางฉากหลังของหนังในลักษณะที่เห็น ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงการเข้าใจว่าคนที่ยากจนกว่าเราโดนผลกระทบหนักสุดจากวิกฤติการเงิน เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วคนยากคนจนผิวดำก็ไม่ได้โหวตเลือกทรัมป์ ภาวะแบ่งแยกในสังคมอเมริกันดูจะบาดลึกยิ่งไปกว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

Hell or High Water เข้าฉายก่อนหน้าทรัมป์จะชนะเลือกตั้ง และผุดเป็นไอเดียก่อนเขาจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในแวดวงการเมืองด้วยซ้ำ แต่มันสะท้อนให้เห็นการแบ่งแยกในอเมริกาได้อย่างชัดเจน ตัวละครของ เจฟฟ์ บริดเจส เป็นตำรวจเท็กซัสที่ชอบเล่นมุกเหยียดเชื้อชาติอินเดียนแดงกับเพื่อนคู่หูเชื้อสายอินเดียนแดง (ที่เขานับถือและชื่นชม) ตลอดทั้งเรื่อง เขาเป็นผู้ชายหลงยุค ไม่ใช่เพียงเพราะวัยอันแก่ชราใกล้เกษียณเท่านั้น แต่เพราะโลกได้หมุนไปไกลเกินกว่าเขาจะไล่ตามได้ทัน ทั้งในแง่สังคมและในแง่ทัศนคติด้านเชื้อชาติ เขารู้ว่ามุกตลกของเขาไม่เหมาะสม แต่เขาก็ยังพูดมันออกมาอยู่ดี เขายึดมั่นอยู่กับมาตรฐานในอดีต ความหลงยุคของเขายังหมายรวมไปถึงแง่มุมทางเศรษฐกิจอีกด้วย ทุกเมืองที่เขาแวะเวียนไประหว่างภารกิจตามล่าสองโจรปล้นธนาคารตอกย้ำถึงอดีตอันเคยรุ่งโรจน์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเพียงซากปรักหัก รอวันตายจากไปตลอดกาลในอีกไม่ช้า

โจรปล้นธนาคารสองพี่น้อง ซึ่งรับบทโดย คริส ไพน์ และ เบน ฟอสเตอร์ ก็ประสบภาวะเดียวกัน คนแรกมีความฝันที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน เก็บเกี่ยวพืชผลเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ท่ามกลางความล่มสลายของชนบทรอบนอก ความหวังเป็นสิ่งเดียวที่เขาพยายามไขว่คว้าไว้ ในฉากสุดท้ายของหนัง เจฟฟ์ บริดเจส ยืนอยู่บนระเบียงบ้านของ คริส ไพน์ จ้องมองผู้ชาย ซึ่งแรงจูงใจในการปล้นมีน้ำหนัก และทำสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ราคาที่ต้องจ่าย คือ การพังทลายของความศิวิไลซ์ ใบหน้าของบริดเจสสะท้อนความเคารพนับถือและขยะแขยงในเวลาเดียวกัน มันมีความแตกต่างระหว่างการโหยหาอดีตที่ไม่อาจหวนคืนกับการลุกขึ้นมากระทำสิ่งหยาบช้าเพื่อความหวังที่จะรักษามันไว้ ตัวละครของบริดเจสเลือกจะยอมรับชะตากรรม แต่ไม่ใช่ตัวละครของไพน์

มองเช่นนี้แล้ว Hell or High Water ทำนายเส้นทางสู่อำนาจของทรัมป์ได้อย่างชัดเจน มันเป็นหนังที่วาดภาพพลังทำลายล้างของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยัดมั่นในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของพวกเขาโดยชอบธรรม ประเด็นเกี่ยวกับเชื้อชาติถูกวางไว้อย่างชัดเจน แม้จะไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ดังจะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วตัวละครที่เหลือรอดมาได้ คือ ชายผิวขาวสองคน บางทีความสำเร็จของหนัง (ซึ่งออกฉายตั้งแต่เดือนสิงหาคม) บนเวทีออสการ์ท่ามกลางภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลสาขาสูงสุดอีกแปดเรื่องที่ออกฉายช่วงปลายปีทั้งหมด อาจเป็นมาตรวัดได้ว่าเนื้อในของหนังบาดลึกเข้าถึงความรุนแรงของสถานการณ์ปัจจุบันในอเมริกามากแค่ไหน


Lion

เรื่องราวสุดเหลือเชื่อใน Lion เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และการบอกเล่ามันเป็นภาพยนตร์ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง “อันตรายอยู่ตรงที่มันอาจจะอ่านสนุกในรูปบทความ ดูดีเวลาอยู่บนหน้ากระดาษผู้กำกับ การ์ธ เดวิส กล่าว “แต่ถ้าจะสร้างเป็นหนังคุณจำเป็นต้องหารายละเอียดที่ลึกลงไป ต้องเพิ่มความซับซ้อนให้เรื่องราวและตัวละคร ซึ่งเราทุกคนต่างตระหนักในจุดนี้ดี

Lion ดัดแปลงจากหนังสือบันทึกชีวิตของ ซารู เบรียร์ลีย์ ซึ่งเกิดในอินเดีย แต่พลัดพรากจากครอบครัวขณะอายุได้ 5 ขวบ ก่อนต่อมาจะถูกรับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมโดยสองสามีภรรยาออสเตรเลีย จอห์น กับ ซู เบรียร์ลีย์ เวลาผ่านไป 25 ปี ซารูได้ใช้ กูเกิล เอิร์ธ และความทรงจำจากวัยเด็กในการตามหาเมืองบ้านเกิดจนกระทั่งได้พบกับแม่แท้ๆ ของเขาอีกครั้ง ทันทีที่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องจริงอันน่าอัศจรรย์นี้ สองผู้อำนวยการสร้าง เอียน แคนนิง และ อีมิล เชอร์แมน คิดว่ามันเหมาะจะนำมาสร้างเป็นหนังแล้วให้ การ์ธ เดวิส นั่งเก้าอี้ผู้กำกับ นี่อาจเป็นผลงานกำกับหนังขนาดยาวเรื่องแรกของเดวิสก็จริง แต่เขาได้พิสูจน์ฝีมือเป็นให้ที่ประจักษ์มาบ้างแล้วจากการทำหนังโฆษณาและร่วมกำกับซีรีย์ Top of the Lake กับ เจน แคมเปี้ยน จนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ผลงานในอดีตที่เดวิสภูมิใจที่สุด ได้แก่ Alice หนังสั้นเกี่ยวกับครอบครัวชาวออสเตรเลียซึ่งสูญเสียลูกไป “สงสัยจะเป็นรสนิยมส่วนตัวผมเวลาสร้างหนังเดวิสพูดถึงประเด็นสอดคล้องกันระหว่างหนังสั้นของเขากับหนังยาวเรื่องแรก

หลังจากได้ลิขสิทธิ์หนังสือของเบรียร์ลีย์ A Long Way Home เดวิสก็ตัดสินใจเดินทางไปอินเดียร่วมกับคนเขียนบท ลุค เดวีส์ เพื่อสัมผัสบรรยากาศในโลกของเบรียร์ลีย์ พวกเขาพูดคุย ปรึกษาหารือเกี่ยวกับโครงสร้างหนังและวิธีเล่าเรื่อง พร้อมกับใช้เวลาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ในสถานที่จริงตามท้องเรื่อง แล้วจินตนาการว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวละครเอก สำหรับเดวีส์ สิ่งสำคัญสุดที่เกิดขึ้นในทริปนี้ คือ การได้พบปะแม่แท้ๆ ของซารูเป็นเวลาสามชั่วโมง “ผมอ่านหนังสือจบแล้วและทึ่งจนพูดอะไรไม่ออก หัวใจหลักของหนังอยู่ตรงการกลับมาเจอกันอีกครั้งของสองแม่ลูก นั่นเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวผม แต่การได้มาเจอเธอช่วยให้ผมเข้าถึงอารมณ์ของเรื่องราวอย่างแท้จริง ผมเริ่มสัมผัสได้ถึงความโศกเศร้า ความทุกข์ทรมาน และความหวาดวิตกที่เธอต้องเผชิญตลอด 25 ปี

ผมอยากให้บทเกิดขึ้นจากมุมมองของการกำกับด้วยเดวิสกล่าว “มีแง่มุมด้านภาพและบรรยากาศ ผมคิดว่ามันจำเป็นที่เราต้องเห็นตรงกันก่อนจะเริ่มจรดปากกาลงบนกระดาษหนึ่งในข้อตกลงร่วมกันของทั้งสอง คือ เล่าเหตุการณ์โดยเรียงลำดับตามเวลา เปิดเรื่องด้วยการพลัดหลงของเบรียร์ลีย์แทนการใช้วิธีแฟลชแบ็ค และนั่นนำไปสู่การตัดสินใจว่าตลอดครึ่งแรกของหนังจะพูดภาษาฮินดู “นายทุนคงไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ ถ้าคุณทำหนังครึ่งแรกโดยใช้ภาษาต่างประเทศเกือบทั้งหมด” เดวิสกล่าว “แต่มันต้องเป็นแบบนั้น เพราะเราอยากให้คนดูสัมผัสถึงความขัดแย้งระหว่างชีวิตของซารูในอินเดียกับชีวิตในออสเตรเลีย

เรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กัน คือ การหาตัวเด็กชายมารับบทเป็นซารูวัย 5 ขวบ พวกเขาทดสอบหน้ากล้องเด็กนับพันกว่าจะพบ ซันนี พาวาร์ ซึ่งไม่เคยแสดงอะไรมาก่อนและไม่เคยดูหนังสักเรื่องจนกระทั่งเขามาร่วมงานรอบพรีเมียร์ของ Lion ในอเมริกา “เราใช้เวลาตามหาอยู่ 5 เดือน เรียกได้ว่าเป็นงานช้างเลยล่ะเดวิสกล่าว “เราคัดจนเหลือแค่สองสามร้อยคน แต่แล้ววันหนึ่งผมก็เห็นเด็กชายตัวเล็กๆ คนนี้มายืนอยู่ในห้อง ในใจผมคิดว่า ‘พระเจ้า นี่ไง ซารูผมใช้เวลาสร้างภาพตัวละครตัวนี้ในหัวมานาน จินตนาการว่าเขาต้องมีบุคลิก ความคิดความอ่านอย่างไรถึงเอาตัวรอดเรื่องเลวร้ายต่างๆ มาได้ และผมรู้สึกว่าซันนีตรงกับภาพในหัวผมทุกอย่าง” เทคนิคหนึ่งที่ทีมงานใช้เพื่อช่วยให้พาวาร์รู้สึกเชื่อมโยงทางอารมณ์ คือ ทำหนังสือเด็กที่เล่าเรื่องราวในหนังเป็นภาษาฮินดู พร้อมสรรพด้วยภาพประกอบ ภาพถ่ายของสถานที่ถ่ายทำ รวมไปถึงภาพจากขั้นตอนการซ้อม

เดวิสมองหนังเป็นสองส่วน “การเดินทางภายนอกในช่วงครึ่งแรกและการเดินทางภายในช่วงครึ่งหลัง แต่ในบางช่วงสองส่วนนี้จะซ้อนทับ เชื่อมโยงไปมาเขาอยากสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “สัมผัสคล้องจองเหมือนภาพสะท้อน โต้ตอบกันระหว่างหนังสองส่วน ซึ่งถ่ายทอดออกมาในลักษณะภาพแฟลชแบ็คที่วูบไหวในใจตัวละครเอก เมื่อบางอย่างกระทบใจเขาให้หวนนึกถึงชีวิตวัยเด็ก ซารูในวัยหนุ่มปรับตัวเป็นชาวออสเตรเลียนได้อย่างราบรื่น (อย่างน้อยก็โดยภายนอก) เขาลงเรียนวิชาการโรงแรม สร้างสัมพันธ์แนบแน่นกับพ่อแม่บุญธรรม แต่ลึกๆ แล้วเขายังไม่อาจตัดขาดจากอดีต “การที่คนดูได้เห็นก่อนว่าอะไรบ้างที่เขาต้องประสบ และแบกรับไว้ในรูปของความทรงจำย่อมช่วยเพิ่มพลัง ความหนักแน่นให้กับหนังเดวิสกล่าว “การออกเดินทางเพื่อตามหาครอบครัวของเขาในช่วงครึ่งหลังหาใช่การทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เขาคิดว่าแม่กับพี่ชายเขาก็คงต้องกำลังตามหาเขาอยู่เหมือนกัน

บทสรุปของ Lion พิสูจน์ให้เห็นถึงมหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยีและความรักอันไม่เสื่อมคลายของมารดา แต่เรื่องราวหลังตอนจบของหนังยังคงดำเนินต่อไป เดวิสอยู่ที่อินเดียในวันที่แม่ทั้งสองของซารูได้พบกันครั้งแรก และถูกถ่ายทอดผ่านรายการ 60 Minutes “มันเหลือเชื่อมากเดวิสกล่าว “ผมจะยืนอยู่หลังกล้องเพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาตลอดการสัมภาษณ์” Lion เปิดโอกาสให้คนดูได้จินตนาการต่อถึงปมปัญหาที่ยังไม่ได้รับการสะสาง แตกแขนงสู่ตัวละครอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น น้องชายบุญธรรมของซารู ซึ่งตอนนี้กำลังพยายามค้นหาพ่อแม่ที่แท้จริงของเขาเช่นกัน ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของครอบครัวเบรียร์ลีย์ “หนังสร้างจากเรื่องจริงเดวิสกล่าว “แต่ชีวิตจริงยังไม่ได้จบลงพร้อมกับหนัง”


Arrival

ผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ในยานอวกาศ มีเพียงแผงกั้นใสเหมือนกระจกคั่นกลางระหว่างเธอกับสัตว์ต่างดาวขนาดยักษ์ เธอถอดชุดป้องกันสารเคมีออก แล้วก้าวเดินเข้าไปใกล้สัตว์ต่างดาว ก่อนจะวางฝ่ามือบนแผงกั้น นั่นคือภาพของ “วีรกรรมและความกล้าหาญในหนังเรื่อง Arrival

เธอมีชื่อว่า ลูอิส แบงค์ส นักภาษาศาสตร์ซึ่งรับบทโดย เอมี อดัมส์ เธอได้ถูกคัดเลือกจากกองทัพสหรัฐอเมริกาให้พยายามสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวเพื่อค้นหาว่าพวกเขาเดินทางมาโลกเพื่ออะไร Arrival เป็นหนังไซไฟที่ตัวละครเอกไม่ใช้อาวุธ ขับยานอวกาศ หรือชนะสงคราม ตรงกันข้าม ดร.แบงค์สช่วยพิทักษ์โลกจากหายนะด้วยเทคโนโลยีเก่าแก่ แต่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง นั่นคือ การพูดคุย เอเลียนสื่อสารด้วยภาษาที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาษาพูดหรือภาษาเขียนบนโลก เพราะมันอ้างอิงกับหลักการที่ว่าเวลาหาได้เป็นเส้นตรงอย่างที่มนุษย์ส่วนใหญ่เข้าใจ ดร.แบงค์สถอดรหัสสัญลักษณ์ภาษาเขียนของเอเลียนได้ไม่ยาก แต่เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาเดินทางมายังโลกด้วยจุดประสงค์ใด พร้อมทั้งหยุดยั้งเหล่าผู้นำประเทศต่างๆ ไม่ให้ก่อสงครามกับเอเลียน เธอจำเป็นต้อง “เข้าถึงเวลาในแบบเดียวกับเอเลียน ภารกิจดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจและความเข้มแข็งทางอารมณ์ในระดับเหนือมนุษย์

ปกติความอ่อนไหวทางอารมณ์ถูกมองว่าเป็นคุณสมบัติหลักของเพศหญิง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเธอถึงไม่ค่อยถูกนำเสนอในฐานะวีรสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังแนวนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งครอบงำโดยเพศชายเป็นหลัก ในช่วงหลังๆ คนดูอาจได้เห็นผู้หญิงถือปืนลุยระห่ำมากขึ้น เช่น สตาร์บัค (เคที แซ็คออฟ) ใน Battlestar Galactica และ อิมเพอเรเตอร์ ฟูริโอซา (ชาร์ลิซ เธรอน) ใน Mad Max: Fury Road แต่สิ่งที่เราแทบจะไม่ได้เห็น คือ ตัวละครเอก ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ที่แก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่นนอกจากพะบู๊ ตัวละครในหนังแนวไซไฟยุคหลังเพียงคนเดียวที่หลุดจากกรอบข้างต้น คือ มาร์ค วัทนีย์ (แม็ท เดมอน) นักพฤกษศาสตร์ที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดบนดาวอังคารโดยใช้ความรู้และสติปัญญาไหวพริบใน The Martian

แต่เขาไม่ได้เป็นผู้นำในแบบ ดร.แบงค์ส ภารกิจกอบกู้โลกของเธอต้องพึ่งพาทักษะในการสื่อสารกับเอเลียนและกับมนุษย์ด้วยกันเอง เมื่อเผชิญสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เธอต้องเลือกใช้ข้อความที่เหมาะสมพูดกับบุคคลที่เหมาะสม แล้วช่วยโลกให้พ้นภัยโดยไม่จำเป็นต้องยิงปืนแม้แต่นัดเดียว เธอคือต้นแบบของฮีโร่ในชีวิตจริง เมื่อทักษะสำคัญสูงสุดของผู้นำ คือ เรียนรู้ รับฟัง และสื่อสาร นี่เป็นประเด็นที่ทำให้ Arrival สร้างอารมณ์ร่วมสมัย และอาจกระทบใจชาวอเมริกันในห้วงยามนี้เป็นพิเศษ หลังประเทศกำลังถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายผ่านความไม่สามารถที่จะสื่อสารถึงกันได้

Arrival เป็นหนังไซไฟสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ชื่นชอบหนังเกี่ยวกับเอเลียนเป็นพิเศษ เนื้อหาที่แตกต่างในบทของ อีริค ไฮสเซอเรอร์ (Light Out, The Thing) คือสิ่งที่ดึงดูดใจ เอมี อดัมส์ ให้มารับบทนำ “ตอนอ่านบทฉันคิดว่า ถ้าทำได้ตามนี้ มันจะต้องเป็นหนังที่พิเศษมากเธอกล่าว “แต่ถ้าไม่ มันจะกลายเป็นหายนะ

ไฮสเซอเรอร์ ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร บอกว่าการเดินทางของ Arrival จากหน้ากระดาษมาสู่จอเงินเป็นเหมือน “สงครามที่ยืดเยื้อ” เขาตกหลุมรักเรื่องสั้นของ เท็ด เชียง Story of Your Life และพยายามเข็นโครงการให้กลายเป็นหนังมาหลายปี “ผมประทับใจเรื่องสั้นมากเขากล่าว “มันเป็นเรื่องราวแสนวิเศษและประเทืองปัญญาแต่เมื่อเขานำไอเดียไปเสนอเหล่าโปรดิวเซอร์ พวกเขากลับหยุดชะงัก “พอผมพูดว่า ‘หนังมีตัวเอกเป็นผู้หญิง และพูดถึงประเด็นด้านภาษาศาสตร์ผมจะเห็นแววตาพวกเขาล่องลอยไปไกล” ไฮสเซอเรอร์กล่าว ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเสี่ยงด้วยการลงมือเขียนบทโดยไม่มีอะไรรับประกันว่ามันจะถูกสร้าง แต่ความดีงามของบทดึงดูดทุนสร้างจากบริษัทอิสระ และผู้กำกับ เดนิส วิลเนิฟ ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ 2014 เกิดการประมูลแย่งซื้อสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันระหว่างสตูดิโอห้าแห่ง ก่อนสุดท้ายพาราเมาท์จะคว้าชัยชนะไปด้วยยอด 20 ล้านเหรียญ

อดัมส์เป็นตัวเลือกแรกของไฮสเซอเรอร์ในการสวมบทบาทเป็นดร.แบงค์ส “เธอเป็นนักแสดงที่คนดูสามารถอ่านความคิดตัวละครได้จากดวงตาเธอ” เขากล่าว “นอกจากนั้นเธอยังเป็นคนที่น่าคบหา เพื่อนผมบอกว่าเธอทำตัวเหมือนไม่รู้ว่าตัวเองเป็น เอมี อดัมส์อดัมส์บอกว่าเธอเตรียมตัวสำหรับบทด้วยการเรียนรู้เรื่องภาษาศาสตร์และร่วมงานกับโค้ชการแสดงเพื่อถ่ายทอดแง่มุมจิตวิทยาของตัวละคร แต่เธอเป็นคนแรกที่ยอมรับว่าไม่ได้เข้าใจแง่มุมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และธรรมชาติของเวลาในหนังเท่าไหร่ “ตลกดีที่คนชอบถามฉันถึงประเด็นนี้” เธอกล่าวถึงตรรกะทางวิทยาศาสตร์ในหนัง “ถ้าฉันสามารถอธิบายได้ ฉันคงไม่มาเป็นนักแสดงหรอก

ความสำเร็จอันหาได้ยากยิ่งของ Arrival อยู่ตรงที่มันผสานสไตล์สุดล้ำลึก รวมถึงคำถามอันยิ่งใหญ่แบบหนังนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไปเข้ากับพลังทางอารมณ์อันหนักแน่น เปี่ยมล้น มันเป็นหนังที่ท้าทายคนดูให้มองไปข้างหน้า เปิดตัวเองรับความเปราะบาง การเสียสละ และกล้าเสี่ยงที่จะวิ่งเข้าหาความแตกต่างรอบตัวเรา แม้ว่าผลลัพธ์อันเลวร้ายอาจตามมาอย่างที่เราหวาดกลัวก็ได้ จุดนี้เองที่ทำให้มันก้าวข้ามแนวทางไซไฟ หรือกระทั่งความเป็นภาพยนตร์ นี่เป็นสารที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยซึ่งผู้คนพากันวาดฝันถึงอดีตอันไม่อาจเรียกคืนและยืนกรานที่จะสร้างกำแพงขึ้นล้อมรอบตัวเองเพื่อปลอบประโลมให้รู้สึกปลอดภัย


Hacksaw Ridge

ดูเหมือน Hacksaw Ridge ของ เมล กิ๊บสัน จะพยายามเดินตามรอยความสำเร็จของ American Sniper เมื่อสองปีก่อน ทั้งจากเนื้อในของหนังไปจนถึงวิธีการโปรโมต บนเวทีออสการ์หนังก้าวไปไกลกว่าหนึ่งขั้นด้วยการหลุดเข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมแบบสุดเซอร์ไพรส์ (กิ๊บสันหยุดสร้างหนังไป 10 ปี แม้จะมีงานแสดงอยู่บ้าง เช่น The Beaver และ Get the Gringo หลังพฤติกรรมอื้อฉาวของเขาถูกบันทึกภาพไว้) แต่ในแง่ของการทำเงิน มันไม่สามารถไต่ระดับไปเทียบผลงานกำกับของ คลินต์ อีสต์วู้ด ซึ่งโกยเงินทั่วโลกได้มากถึง 547 ล้านเหรียญ

หนังสร้างจากเรื่องจริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเช่นเดียวกับ American Sniper มุ่งเน้นศึกษาสภาพจิตใจของตัวละครและจำกัดประเด็นการเมืองให้เหลือเพียงน้อยนิด บางคนตีความ Hacksaw Ridge ว่าเป็นหนังต่อต้านสงคราม ขณะที่บางคนก็รู้สึกฮึกเหิมกับความยิ่งใหญ่ของกองทัพอเมริกา “มันเป็นหนังเกี่ยวกับคนรักสันติที่เลือดสาดที่สุดหนึ่งในนักวิจารณ์กล่าวถึงหนัง และความก้ำกึ่งตรงนี้เองที่จุดประกายให้ American Sniper กลายเป็นหนังฮิตในวงกว้าง กระนั้นตัวแปรที่อาจมีส่วนหยุดยั้ง Hacksaw Ridge ไม่ให้กลายเป็นหนังฮิตระดับเดียวกัน คือ ความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ แก่นเกี่ยวกับศาสนา และทัศนคติคนดูต่อพฤติกรรมในอดีตของกิ๊บสัน

แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ รับบท เดสมอนด์ ที. ดอส ชายหนุ่มที่นับถือคริสต์นิกายเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์อย่างเคร่งครัดและเคยมีประวัติชักชวนให้เหล่าสมาชิกร่วมนิกายยกเลิกการถือครองอาวุธ เมื่อดอสถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมรบในมหาสงคราม หลังเพิร์ลฮาร์เบอร์โดนทิ้งระเบิด เขายืนกรานตามความเชื่อด้วยการปฏิเสธที่จะพกอาวุธปืน หลังจากต้องทนโดนล้อจากคนรอบข้าง ดอสได้รับสถานะผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมและเข้าประจำกองแพทย์ไม่ติดอาวุธในระหว่างการรบหลายสมรภูมิ หนึ่งในนั้น คือ เหตุการณ์นองเลือดเพื่อบุกยึดเกาะโอกินาว่า ซึ่งเขาช่วยแบกนายทหารหลายนายที่ได้รับบาดเจ็บ ท่ามกลางห่ากระสุน ให้พ้นจากอันตราย “พลทหารดอสเป็นวีรบุรุษตัวจริงที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งบิล เมคานิก ผู้อำนวยการสร้างของหนังกล่าว “เราไม่ได้พยายามจะสะสางความขัดแย้งเหล่านั้นในหนัง

ในส่วนของกิ๊บสันเอง เขาไม่ได้ตั้งใจวางจุดยืนให้ก้ำกึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าคนดูแต่ละคนจะตีความตามความเชื่อของตนอย่างไร “ผมคิดว่าการรักษาสมดุลเป็นสิ่งสำคัญเขาพูดถึงการที่ Hacksaw Ridge ร้อยเรียงความโรแมนติกเข้ากับฉากสู้รบและประเด็นทางศาสนา “แต่ผมไม่ได้พุ่งเป้าหมายหลักไปยังการทำหนังเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มคนดูที่แตกต่าง ผมแค่อยากเล่าเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมจากนั้นเขาก็เสริมว่า “บางคนบอกว่าหนังเรื่องนี้ทำแบบเดียวกับที่หนังยุคก่อน นั่นคือ เล่าเรื่องราว แล้วปล่อยให้คนดูตีความตามต้องการ

เพื่อสร้างกระแสปากต่อปาก สตูดิโอ ไลออส์เกท ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังทุนสร้าง 40 ล้านเหรียญเรื่องนี้ ได้เปิดฉายรอบพิเศษตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อหวังกระแสปากต่อปาก เช่น ในเดือนสิงหาคม กิ๊บสันเดินทางเพื่อนำหนังไปฉายที่งานคอนเวนชันของเหล่าทหารผ่านศึกพิการในเมืองแอตแลนตา “คนพวกนี้หลีกเลี่ยงหนังสงคราม เพราะกลัวว่ามันจะทำออกมาไม่สมจริง หรืออาจไปกระตุ้นบาดแผลทางจิตใจแดน แคลร์ ซึ่งเคยรับใช้กองทัพอากาศในสงครามอิรัก แต่ตอนนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของกลุ่มทหารผ่านศึก กล่าว “พวกเขาเซอร์ไพรส์กับหนังมาก ส่วนใหญ่เห็นว่ามันสะท้อนภาพการสู้รบในสมรภูมิได้สมจริง เป็นหนึ่งในหนังสงครามไม่กี่เรื่องเลยก็ว่าได้ และเห็นชอบกับวิธีที่หนังถ่ายทอดภาวะความเครียดทางใจหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต กล่าวโดยสรุป คือ หนังเรื่องนี้นำเสนอประสบการณ์ของพวกเขาได้แม่นยำ ซึ่งแตกต่างจากหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่

แดน เวเบอร์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของคริสตจักรนิกายเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ในอเมริกาเหนือ ซึ่งมียอดสมาชิกทั้งสิ้น 1.2 ล้านคน ให้สัมภาษณ์ในลักษณะคล้ายกัน “ผมดูหนังเรื่องนี้สามรอบแล้ว และมันทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการนำเสนอมุมมองของพวกเราแน่นอน คริสตจักรยืนกรานว่าสมาชิกทุกคนรักความสงบ “บางคนที่ได้ดูหนังบอกว่าถึงแม้ความรุนแรงในหนังจะทำให้พวกเขาไม่สบายใจอยู่บ้าง แต่หนังก็สะท้อนให้เห็นว่าศรัทธาของ เดสมอนด์ ดอส ถูกทดสอบอย่างรุนแรงแค่ไหนก่อนจะสรุปปิดท้ายว่า “หนังเข้าถึงคนที่อยู่ข้างกองทัพ คนต่อต้านสงคราม คนยึดมั่นศาสนา คนไม่มีศาสนา มันเป็นหนังสำหรับทุกคน

Hacksaw Ridge ถือเป็นการคัมแบ็คอย่างสวยงามของ เมล กิ๊บสัน อดีตซูเปอร์สตาร์ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด และเคยคว้ารางวัลออสการ์ในสาขาผู้กำกับมาครองจาก Braveheart แต่ชื่อเสียงที่สั่งสมมาของเขากลับพังทลาย ถูกกัดกร่อนจากข่าวอื้อฉาวไม่เว้นแต่ละวัน โดยเหตุการณ์ขึ้นชื่อและสร้างความฮือฮาได้มากสุด คือ ปี 2006 เมื่อเขาถูกจับในข้อหาเมาแล้วขับ ตามมาด้วยปี 2011 เมื่อเขาถูกตั้งข้อหาว่าใช้กำลังกับอดีตแฟนสาว งานกำกับชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง Apocalypto หนังแอ็กชั่น/เขย่าขวัญเลือดท่วมเกี่ยวกับชนเผ่ามายา ออกฉายเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนผลงานกำกับอีกชิ้น คือ The Passion of the Christ สามารถทำเงินทั่วโลกได้มากถึง 612ล้านเหรียญ

หนังเปิดตัวที่เวนิซ และในรอบพรีเมียร์คนดูพากันลุกขึ้นยืนปรบมือนาน 10 นาที แต่ความแตกต่างจาก American Sniper ซึ่งดัดแปลงจากหนังสืออัตชีวประวัติขายดีชื่อเดียวกันของ คริส ไคลน์ วีรบุรุษจากสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานที่เสียชีวิตในรัฐเท็กซัสเมื่อปี 2012 อยู่ตรงที่ Hacksaw Ridge เป็นหนังพีเรียด และชื่อของพลทหารดอสไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปสักเท่าไหร่ และที่สำคัญ หนังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายศาสนา ทั้งภาพพิธีล้างบาป การคัดลอกคำพูดจากไบเบิล ในฉากหนึ่งพลทหารดอสถึงกับร้องตะโกนถามพระเจ้าว่า “พระองค์ต้องการอะไร ลูกไม่ได้ยิน

เดวิด เพอร์มัต อีกหนึ่งโปรดิวเซอร์ของหนังกล่าวว่า “การซื่อตรงต่อตัวละครเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับเราทุกคน และ เดสมอนด์ ดอส เป็นชายที่ยึดมั่นในศาสนา แต่ขณะเดียวกันนี่เป็นหนังเกี่ยวกับผู้ชายที่พยายามทำทุกอย่างตามความเชื่อของตนโดยไม่หวั่นเกรงผลลัพธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถอินได้ไม่ยาก ไม่ว่าคุณจะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับศาสนา


Fences

เมื่อปี 1991 เส้นทางสู่จอเงินของบทละครชนะรางวัลพูลิทเซอร์ของ ออกัสต์ วิลสัน ประสบอุปสรรคมากมาย แต่หลังจากความพยายามอยู่นาน 4 ปีในการเข็นโครงการ สุดท้ายก็เริ่มจะเห็นแสงแห่งความหวังรำไรอยู่ปลายอุโมงค์ ปรากฏว่าแสงดังกล่าวเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะต้องใช้เวลาอีก 25 ปีกว่าบทละครเรื่องนี้จะกลายเป็นภาพยนตร์

มหากาพย์เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1987 เมื่อ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นซูเปอร์สตาร์แถวหน้าของฮอลลีวู้ด ได้ดูละครบรอดเวย์เรื่อง Fences เกี่ยวกับอดีตนักเบสบอสบอลในลีกคนดำ (รับบทโดย เจมส์ เอิร์ล โจนส์) ที่ห้ามไม่ให้ลูกชายรับทุนนักกีฬาฟุตบอลเพราะปมขมขื่นจากอดีตของตนเอง เมอร์ฟีย์กำลังมองหาโอกาสที่จะพลิกบทบาทมาเล่นหนังดรามาจริงจัง และบทลูกชายใน Fences คือบทที่เขาหมายตา พาราเมาท์ซื้อลิขสิทธิ์ด้วยเงินมากกว่าหนึ่งล้านเหรียญ ซึ่ง ณ เวลานั้นถือเป็นค่าลิขสิทธิ์บทละครเวทีที่แพงที่สุดเรื่องหนึ่ง ภารกิจติดพันทำให้เวลาล่วงเลยมาถึงต้นปี 1989 เมื่อพาราเมาท์ยื่นข้อเสนอให้ แบร์รี เลวินสัน ซึ่งเพิ่งจะทำหนังดังสองเรื่องอย่าง Good Morning Vietnam และ Rain Man มาเป็นผู้กำกับ เลวินสันจริงจังกับโครงการนี้มากถึงขั้นบินไปพบวิลสันด้วยตัวเอง แต่ในเดือนมกราคม 1990 วิลสันได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากได้ผู้กำกับผิวสีมากกว่า “ถ้าฮอลลีวู้ดไม่เคยคิดจะจ้างผู้กำกับผิวดำมากำกับ เดอ นีโร หรือ เรดฟอร์ด อย่างน้อยคนผิวสีก็ควรได้สิทธิ์ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขานักเขียนบทละครกล่าว

ผมคิดว่าพาราเมาท์หวั่นเกรงคำเรียกร้องของออกัสต์ อาจหงุดหงิดบ้าง แต่ก็เคารพความคิดเห็นของเขาจอห์น เบรกีโอ ทนายความของวิลสันกล่าว “มันเป็นช่วงเวลาน่าอึดอัด แต่ไม่มีใครอยากขัดใจออกัสต์เบรกีโอได้ขอให้โปรดิวเซอร์ วอร์ริงตัน ฮัดลิน รวบรวมรายชื่อผู้กำกับผิวดำที่มีเครดิตพอจะทำโครงการนี้ และวิลสันก็ได้พบปะพูดคุยกับหลายคน สไปค์ ลี ติดงานและไม่สนใจ บิล ดุค นักแสดงที่กำลังจะผันตัวมาอยู่หลังกล้องครั้งแรกใน A Rage in Harlem กลายเป็นมือวางอันดับหนึ่ง เขานั่งรถไฟไปพบวิลสันที่พิทส์เบิร์ก บ้านเกิดนักเขียนที่ถูกใช้เป็นฉากหลังส่วนใหญ่ในบทละคร 10 เรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนผิวสีในศตวรรษที่ 20 ของเขา “ตอนนั้นการจะดัดแปลงบทละครของคนผิวสีให้เป็นหนังไม่ใช่เรื่องง่ายดุคกล่าว “เราคุยกันแล้ว พยายามกันแล้ว แต่ไม่สำเร็จ

หลังงานกำกับชิ้นแรกเรื่อง Boyz N the Hood จอห์น ซิงเกิลตัน ก็สนิทสนมกับวิลสัน ตลอดสองปีต่อมาทั้งสองได้นัดพบเพื่อพูดคุยว่าดัดแปลง Fences เป็นหนังอย่างไร แต่มันไม่เคยพัฒนาไปสู่พันธะผูกพันจริงจัง นอกจากนั้นหลายคนเชื่อว่าตัวผู้บริหารสตูดิโอเองก็ไม่กระตือรือร้นจะสร้างหนังเท่าไหร่ด้วย กาลเวลาผันผ่านจนเมอร์ฟีย์แก่เกินกว่าจะรับบทวัยรุ่นอายุ 17 ปี โครงการจึงถูกเก็บขึ้นชั้นไปโดยปริยาย “ต้องเข้าใจก่อนว่าสมัย สไปค์ ลี โด่งดังและผมเริ่มกำกับหนัง ผู้กำกับผิวสีถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ซิงเกิลตันกล่าว

จากนั้นในปี 1997 โปรดิวเซอร์ชื่อดัง สก็อต รูดิน ก็ซื้อลิขสิทธิ์ Fences ต่อจากบริษัทของเมอร์ฟีย์ บทหนังหลายร่างถูกแก้ไขดัดแปลงโดยวิลสัน แต่โครงการก็ไม่ขยับคืบหน้าและหาผู้กำกับไม่ได้ จนกระทั่งวิลสันเสียชีวิตในปี 2005 สี่ปีต่อมารูดินปัดฝุ่นโครงการด้วยการส่งบทไปให้ เดนเซล วอชิงตัน ซึ่งเคยได้ดูละครเวทีเวอร์ชั่นต้นฉบับในปี 1987 พร้อมกับขอให้เขารับหน้าที่กำกับและนำแสดง วอชิงตันตอบตกลง แต่ก่อนอื่นเขาอยากทำ Fences เวอร์ชั่นละครเวทีก่อน ฉะนั้นในปี 2010 รูดินจึงจัดสร้างโปรดักชั่นบรอดเวย์ละครเรื่องนี้โดยมีวอชิงตัน กับ ไวโอลา เดวิส นำแสดง กว่าโครงการหนังจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็ใช้เวลาอีก 5 ปี แต่ปัญหาอยู่ตรงที่บทหนังยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นในช่วงต้นปี 2016 รูดินจึงจ้าง โทนี คุชเนอร์ มาทำงานร่วมกับวอชิงตันเพื่อขัดเกลาบทหนังของวิลสัน

วอชิงตันบอกว่าทุกคำพูดในหนังเดินตามรอยบทพูดที่เขียนโดยวิลสันราวกับคำภีร์ไบเบิล “ถ้าหนังมีคำพูดทั้งหมด 25,000 คำ 24,900 คำเป็นฝีมือของออกัสต์ความท้าทายสำคัญ คือ จะดัดแปลงบทละครที่ดำเนินเหตุการณ์ตลอดทั้งเรื่องในสวนหน้าบ้านให้กลายเป็นหนังที่มีชีวิตชีวาได้อย่างไร “คำพูดอาจเป็นของวิลสันแทบทั้งหมด แต่วิธีที่เราถ่ายทอดคำพูดเหล่านั้นต่างหากที่แตกต่างวอชิงตันอธิบาย

ท่ามกลางกระแสนิยมของหนังซูเปอร์ฮีโร่และแฟรนไชส์หนังภาคต่อ การที่หนังเรื่อง Fences สามารถถือกำเนิดขึ้นได้ถือเป็นความมหัศจรรย์อยู่ในตัว “การจะดัดแปลงบทละครอย่าง Fences ให้กลายเป็นหนังต้องอาศัยพลังดาราของคนอย่างเดนเซลเบรกีโอกล่าว “มันเป็นเรื่องยากสำหรับตอนนั้น และที่มันเป็นไปได้ในตอนนี้ก็เพราะเดนเซลคนเดียวเลยสุดท้ายวิลสันก็สมหวังดังใจ เขาได้ผู้กำกับผิวดำมาดัดแปลงบทละครชิ้นเอกของเขา “ในความเห็นผมเจมส์ เอิร์ล โจนส์ กล่าว “ตอนนี้คือเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการดัดแปลงละครเรื่อง Fences มันจะให้ความรู้สึกร่วมสมัยรึเปล่าถ้าถูกสร้างในปี 1991 ไม่มีใครสามารถเดาได้


Moonlight

คงมีหนังแค่ไม่กี่เรื่องที่ทุกคนจะพร้อมใจลงความเห็นว่ามันสมบูรณ์แบบ และปีนี้ตำแหน่งดังกล่าวคงตกเป็นของ Moonlight ผลงานกำกับของ แบร์รี เจนกินส์ ที่ทุกคนพากันตกหลุมรัก เล่าถึงเรื่องราวการเติบใหญ่ของเด็กชายผิวดำคนหนึ่งในไมอามีชื่อว่าไชรอน เขาเติบโตมาในความยากจนข้นแค้น... และเขาเป็นเกย์ มหัศจรรย์ของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่มันหาได้สนใจวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่างๆ เหล่านั้น เพราะสิ่งเดียวที่มันสนใจคือธรรมชาติของมนุษย์ จะมีหนังเกี่ยวกับชายผิวดำสักกี่เรื่องกันเชียวเป็นแบบนี้

จริงอยู่นักดูหนังส่วนใหญ่อาจรู้สึกคุ้นตา หรือถึงขั้นเบื่อหน่ายบรรดาตัวละครผิวดำที่ซ้ำซาก ขายยา ติดยา ยากจน แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่เน้นย้ำความเป็นมนุษย์แบบที่เห็นในหนังเรื่องนี้ ทั้งแง่มุมที่งดงาม เช่นเดียวกับทุกข์ทรมาน ปัญหาและความล้มเหลวของพวกเขาถูกสะท้อนเด่นชัด แต่ด้วยสัมผัสอันนุ่มนวล

การอธิบายว่า Moonlight เป็นหนังเกี่ยวกับการเติบโตมาเป็นเกย์ผิวดำในครอบครัวยากจนมีความถูกต้องในระดับหนึ่ง และมันก็ไม่ผิดหากจะบอกว่าหนังพูดถึงปัญหายาเสพติดและความรุนแรงในโรงเรียน แต่คำอธิบายเหล่านั้นไม่พอที่จะนิยามความงามของหนัง อาจสอดคล้องกับอารมณ์และจิตวิญญาณของหนังมากกว่าถ้าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงการสอนเด็กว่ายน้ำ การปรุงอาหารให้เพื่อนสนิท สัมผัสของผืนทรายและเสียงคลื่นแห่งท้องทะเลยามค่ำคืน จูบแรก ตลอดจนความเสียใจที่ไม่เคยจางหายไป Moonlight ดัดแปลงจากบทละครเรื่อง In Moonlight Black Boys Look Blue ของ ทาเรล อัลวิน แม็คเครนีย์ แบ่งเรื่องราวตามสามช่วงชีวิตของไชรอน และความหมายของการเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว คือ หนึ่งในคำถามที่เจนกินส์ให้ความสนใจ คุณจำเป็นต้องแกร่งแค่ไหน โหดร้ายแค่ไหน อ่อนโยนแค่ไหน กล้าหาญแค่ไหน และคุณจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

ไชรอนเริ่มต้นเรียนรู้ผ่านความกลัวและความสับสน เขาปรากฏตัวครั้งแรกบนจอขณะวิ่งหนีจากกลุ่มเด็กเกเร เขาตัวเล็กกว่าคนอื่นๆ จึงถูกล้อเลียนด้วยสมญานามว่า ลิตเติล แต่ยังมีความแตกต่างอีกด้านของเขาด้วย และความพยายามที่จะทำความเข้าใจต่อ “ความแตกต่างดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อีกแง่มุมชีวิต ซึ่งเจ็บปวดและซับซ้อนไม่แพ้กันของไชรอน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ (นาโอมิ แฮร์ริส) ซึ่งค่อยๆ ปล่อยตัวถลำลึกสู่การครอบงำของยาเสพติดพ่อค้ายาที่คุมละแวกบ้านของไชรอน คือ ฮวน (มาเฮอร์ชาลา อาลี) ซึ่งต่อมากลายเป็นเหมือนพ่อที่ไชรอนไม่เคยมี เขาอาศัยอยู่กับแฟนสาว เทเรซา (เจเนล โมเน) ในบ้านหลังโต ซึ่งกลายเป็นเหมือนแหล่งพักพิงทางใจสำหรับไชรอน แต่เด็กชายหาได้มืดบอดต่อความยอกย้อนแห่งชะตากรรม 

แม่ผมติดยาใช่มั้ยเขาถามฮวนที่โต๊ะอาหาร “คุณขายยาใช่มั้ยใบหน้าของเด็กชายขณะเขาปะติดปะต่อเรื่องราวและปฏิกิริยาของฮวนอาจทำให้คุณหัวใจสลายได้ง่ายๆ  

มีเสียงต่อต้านจากคนบางกลุ่มซึ่งอ้างว่า Moonlight คุกคามภาพลักษณ์ความเป็นชายของคนผิวสี เสียงสะท้อนนี้ดูจะสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ก่อนหน้าของ เน็ด พาร์คเกอร์ นักแสดงนำ/ผู้กำกับ The Birth of a Nation หนังซึ่งถูกเก็งตั้งแต่ตอนต้นปีว่าจะเป็นตัวแทนคนผิวสีบนเวทีออสการ์ เขาบอกว่าเขาไม่คิดจะสวมบทเป็นตัวละครเกย์เพราะเขาอยาก อนุรักษ์ภาพลักษณ์ความเป็นชายของคนผิวดำไว้ ตอนเด็กๆ คุณจะพูดถูกกรอกหูเสมอว่าคนผิวดำจะต้องอยู่เหนือคนผิวขาวเทรแวนต์ โรเดส อดีตนักกีฬาที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงและทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในบทไชรอนวัยหนุ่ม กล่าว ต้องเข้มแข็งกว่า แมนกว่า และทรงพลังกว่าตลอดเวลา มันฝังหัวไปโดยอัตโนมัติว่าคุณไม่สามารถแสดงความอ่อนแอ หรือเปราะบางให้ใครเห็นได้เจนกินส์เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ผมคิดว่าสังคมอเมริกันผลักดันให้ชายผิวดำปลุกใจตัวเองให้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด และยิ่งคุณพยายามปลุกใจตัวเองให้เข้มแข็งเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเก็บกดความอ่อนแอเอาไว้ภายในให้ลึกลงไปอีก ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกันอยู่

ธีมดังกล่าวปรากฏให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง เมื่อเด็กชายที่ชอบเต้นรำเติบใหญ่กลายเป็นวัยรุ่นที่หวาดกลัวและผู้ชายที่พยายามวางมาดว่าเป็นอาชญากรใจหิน เราทุกคนล้วนมีทั้งความเป็นหญิงและชายอยู่ในตัวนาโอมิ แฮร์ริส กล่าว เราเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ฉันคิดว่านี่เป็นสารอันทรงพลังของหนัง เพราะสุดท้ายแล้วเราอยากให้คนพยายามดิ้นให้หลุดจากกรอบที่สังคมบีบบังคับ และการเป็นมนุษย์หมายความว่าคุณสามารถอ่อนแอและเข้มแข็งได้พร้อมๆ กัน

ทีมงานตระหนักดีว่าหนังเรื่องนี้ออกฉายในช่วงเวลาที่วิกฤติความรุนแรงของตำรวจต่อชายหนุ่มผิวดำในอเมริกากำลังเข้มข้นถึงขีดสุด ขับเคลื่อนจากอคติทางสีผิว และตอกย้ำด้วยภาพลักษณ์แบบเหมารวมที่มักจะเห็นตามสื่ออย่างทีวีและภาพยนตร์ ล่าสุดผมไปถ่ายหนังที่เวอร์จิเนีย และถูกตำรวจตามสอดส่องเพียงเพราะผมยกหมวกฮู้ดขึ้นมาคลุมหัวโรเดสเล่า มันเหลือเชื่อมาก และน่าเป็นห่วงที่เหตุการณ์แบบนี้ยังคงอยู่สำหรับเจนกินส์การทำให้ตัวละครอย่างไชรอนเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือสิ่งสำคัญสูงสุด เราไม่ค่อยได้เล่าเรื่องราวของคนเหล่านี้และไม่มีโอกาสมอบเลือดเนื้อให้กับพวกเขา สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

บางทีสิ่งที่สวยงามที่สุดเกี่ยวกับ Moonlight อาจอยู่ตรงคุณสมบัติแบบปลายเปิด ความยับยั้งชั่งใจที่จะตีตรา หรือแบ่งกลุ่ม เช่นเดียวกับหนังที่เปี่ยมเอกลักษณ์ ท้าทายคนดูเรื่องอื่นๆ ประเด็นเนื้อหาเป็นสิ่งที่ยากจะชี้ชัดลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่คนดูสามารถตระหนัก นอกเหนือจากวิบากกรรมสารพัดของไชรอน คือ เขาเป็นอิสระในท้ายที่สุด เด็กชายซึ่งถูกทอดทิ้ง กลั่นแกล้งได้เติบใหญ่กลายเป็นชายหนุ่มผู้เข้าใจตนเอง ตลอดจนโลกรอบข้าง ถึงแม้เราคนดูจะรู้สึกเจ็บปวดจากการเฝ้าสังเกตขั้นตอนการเติบใหญ่ของเขา แต่ในเวลาเดียวกันมันก็น่าตื่นเต้นมาก มีเพียงผลงานศิลปะชั้นยอดเท่านั้นที่คลุกเคล้าอารมณ์ทั้งสองได้อย่างกลมกลืนและเสียดแทง


Manchester by the Sea

Manchester by the Sea ไม่ใช่หนังที่รื่นรมย์ เปี่ยมสุขสักเท่าไหร่ คุณอาจรู้สึกอยากกอดใครสักคนหลังดูจบ หนังซึ่งนุ่มนวล ละเอียดอ่อนเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของ ลี แชนด์เลอร์ (เคซีย์ อัฟเฟล็ค) ชายหนุ่มที่เก็บตัวตามลำพังเนื่องจากบาดแผลทางใจ หลังพี่ชายเขา (ไคล์ แชนด์เลอร์) เสียชีวิตและระบุในพินัยกรรมให้เขาดูแลลูกชายวัยรุ่น (ลูคัส เฮดเจส) ความสัมพันธ์อันกระท่อนกระแท่นระหว่างน้าหลานก็เริ่มต้นขึ้น... ด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่ทุกข์ไม่ได้จบลงแค่นั้น ลีถูกบีบให้ต้องกลับมายังบ้านเกิดและหวนรำลึกโศกนาฏกรรมในอดีต เมื่อปมดังกล่าวถูกเปิดเผย อารมณ์ทั้งหลายก็พลันไหลทะลักส่งผ่านจากตัวละครมาถึงคนดู ผู้กำกับ เคนเน็ธ โลเนอร์แกน ไม่เคยกังวลว่าหนังของเขาจะสลดหดหู่เกินไป เราทุกคนล้วนเคยประสบเหตุการณ์บางอย่างที่เหลือจะทน ไม่ผิดอะไรถ้าเราจะจำลองเหตุการณ์แบบนั้นมาไว้ในหนังเขากล่าว

นักวิจารณ์ดูเหมือนจะเห็นด้วย เพราะหนังของเขาเดินหน้ากวาดรางวัลมากมายก่อนจะลงท้ายด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา โลเนอร์คุ้นเคยกับความสำเร็จเป็นอย่างดี ตอนอายุ 20 กว่าๆ เขาหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเขียนก็อปปี้โฆษณา ตามมาด้วยบทละครเวทีเรื่อง This Is Our Youth ในปี 1996 ซึ่งกวาดคำชมท่วมท้นเกี่ยวกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปวันๆ เขาเขียนบทหนังอยู่หลายเรื่อง (Analyze This, The Adventures of Rocky & Bullwinkle) และผันตัวมากำกับหนังเรื่องแรก You Can Count On Me ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์สองรางวัล หนึ่งในนั้น คือ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสำหรับโลเนอร์แกน

ความคิดในการสร้าง Manchester by the Sea เริ่มต้นจาก จอห์น คราซินสกี้ กับเพื่อนของเขา แม็ท เดมอน ทั้งสองมีไอเดียคร่าวๆ เกี่ยวกับหนังและต้องการให้โลเนอร์แกนเป็นคนเขียนบท แรกทีเดียวเดมอนตั้งใจว่าจะกำกับและนำแสดงเอง แต่เนื่องด้วยตารางเวลาไม่ลงตัว เขาจึงเสนอให้โลเนอร์แกนโดดมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับแทน เดมอนบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำแบบนั้นเพราะเขาและคนอื่นๆ ต่างเป็นห่วงโลเนอร์แกน (หลังเหตุหายนะที่ชื่อว่า Margaret ซึ่งลงเอยด้วยการโรงขึ้นศาล) เขาอยากให้โลเนอร์แกนกลับมาเขียนบทหารายได้ให้ตัวเองอีกครั้ง

ก็ใช่โลเนอร์แกนยอมรับ แม้จะเห็นว่ามันไม่จริงเสียทั้งหมดก็ตาม ผมรู้ว่าเขาเป็นห่วงผมและผมก็ดีใจ มันเป็นช่วงตกต่ำอย่างแท้จริง แต่ผมก็ยังเขียนบทละครเรื่อง The Starry Messenger ในปี 2009 แล้วก็เขียนบทและกำกับละครเรื่อง Medieval Play ในปี 2011 จริงอยู่ตอนนั้นผมร้อนเงินเพราะมีหนี้สินท่วมหัว และ Manchester by the Sea ก็เป็นงานที่ให้เงินดีมาก แต่จริงๆ แล้วผมก็ชอบไอเดียตั้งแต่แรก เพราะถ้าไม่ชอบผมคงไม่ตกลงใจทำ

เมื่อเดมอนไม่ว่างมาเล่น โลเนอร์แกนจึงเลือกอัฟเฟล็ค และงานแสดงอันลุ่มลึก แต่ทรงพลังของเขาในบทชายหนุ่มที่ปิดกั้นตัวเองจากทุกคนรอบข้างกวาดคำชมและรางวัลนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหลานชายมีช่วงเวลาที่อ่อนโยน แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากความมุ่งมั่นของลีที่จะเก็บงำความรู้สึกไว้ข้างใน โลเนอร์แกนรักษาความสมจริงของเรื่องราวเอาไว้โดยตลอด ไม่มีฉากจบแบบฮอลลีวู้ด ไม่มีการคลี่คลายที่ง่ายดาย แต่นำเสนอการปลดปล่อยทางอารมณ์ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ซึ่งรับบทเป็นอดีตภรรยาของลี บอกว่าโลเนอร์แกนร้องไห้หลังถ่ายฉากดรามาหนักๆ บางฉากจบ และเมื่อหนังเข้าฉาย หลายคนบอกว่ามันช่วยให้พวกเขาได้ปลดปล่อยพวกเขาพูดว่า นี่เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อฉันเลยหรือ เราก็เคยเจอกับอะไรแบบนี้โลเนอร์แกนกล่าว ผมถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยความระแวดระวังพอสมควร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังซีเรียสกว่าทุกอย่างที่ผมเคยเจอมา ผมต้องการเคารพในตัวเรื่อง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาก็ตาม แต่สำหรับหลายคนมันเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยเผชิญ ฉะนั้นผมจึงรู้สึกซาบซึ้งมากเวลามีคนบอกว่าพวกเขาเคยผ่านอะไรแบบนี้และรู้สึกดีกับหนัง

อะไรทำให้หนังเรื่องนี้เข้าถึงใจผู้คน ผมคิดว่าคงเพราะอย่างน้อยหนังจริงใจกับเรื่องราว ไม่เสแสร้งว่าเราสามารถทำใจลืมโศกนาฏกรรมแบบนี้ได้ ไม่มีคำโป้ปดแบบที่เห็นในหนังบีบน้ำตาทางทีวี คนมากมายเคยทนทุกข์แบบเดียวกันและไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร คงเป็นความรู้สึกอุ่นใจที่ได้เห็นภาวะแบบเดียวกันสะท้อนออกมาในหนัง เพราะมันทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวโลเนอร์แกนอธิบาย

แม้จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่ Manchester by the Sea ไม่ใช่หนังมืดหม่น อารมณ์ในหนังอาจดิบ เสียดแทง และเหลือจะทนได้ในบางครั้ง ฉากระหว่างอัฟเฟล็คกับ มิเชลล์ วิลเลียมส์ สามารถทำให้คนดูถึงกับร้องสะอื้นได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายแล้วหนังกลับให้ความรู้สึกอิ่มเอิบอย่างประหลาด โล่งใจเหมือนได้ปลดปล่อยบางอย่างลงจากบ่า ลีอาจมีปัญหาในการเผชิญชีวิต แต่เขาก็เป็นคนตลก ไอเดียของหนังคือคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เมื่อคุณเปิดโอกาสให้ใครสักคนเข้ามาในโลกของคุณ คุณก็ต้องรับมือกับคนๆ นั้น ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องดีหนังสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของจิตใจมนุษย์ ความสุขจากการได้อยู่ร่วมกัน และความพยายามที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า