วันจันทร์, เมษายน 03, 2560

Oscar: Can't Fight the Moonlight


Manchester by the Sea

Manchester by the Sea ไม่ใช่หนังที่รื่นรมย์ เปี่ยมสุขสักเท่าไหร่ คุณอาจรู้สึกอยากกอดใครสักคนหลังดูจบ หนังซึ่งนุ่มนวล ละเอียดอ่อนเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของ ลี แชนด์เลอร์ (เคซีย์ อัฟเฟล็ค) ชายหนุ่มที่เก็บตัวตามลำพังเนื่องจากบาดแผลทางใจ หลังพี่ชายเขา (ไคล์ แชนด์เลอร์) เสียชีวิตและระบุในพินัยกรรมให้เขาดูแลลูกชายวัยรุ่น (ลูคัส เฮดเจส) ความสัมพันธ์อันกระท่อนกระแท่นระหว่างน้าหลานก็เริ่มต้นขึ้น... ด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่ทุกข์ไม่ได้จบลงแค่นั้น ลีถูกบีบให้ต้องกลับมายังบ้านเกิดและหวนรำลึกโศกนาฏกรรมในอดีต เมื่อปมดังกล่าวถูกเปิดเผย อารมณ์ทั้งหลายก็พลันไหลทะลักส่งผ่านจากตัวละครมาถึงคนดู ผู้กำกับ เคนเน็ธ โลเนอร์แกน ไม่เคยกังวลว่าหนังของเขาจะสลดหดหู่เกินไป เราทุกคนล้วนเคยประสบเหตุการณ์บางอย่างที่เหลือจะทน ไม่ผิดอะไรถ้าเราจะจำลองเหตุการณ์แบบนั้นมาไว้ในหนังเขากล่าว

นักวิจารณ์ดูเหมือนจะเห็นด้วย เพราะหนังของเขาเดินหน้ากวาดรางวัลมากมายก่อนจะลงท้ายด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา โลเนอร์คุ้นเคยกับความสำเร็จเป็นอย่างดี ตอนอายุ 20 กว่าๆ เขาหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเขียนก็อปปี้โฆษณา ตามมาด้วยบทละครเวทีเรื่อง This Is Our Youth ในปี 1996 ซึ่งกวาดคำชมท่วมท้นเกี่ยวกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตล่องลอยไปวันๆ เขาเขียนบทหนังอยู่หลายเรื่อง (Analyze This, The Adventures of Rocky & Bullwinkle) และผันตัวมากำกับหนังเรื่องแรก You Can Count On Me ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์สองรางวัล หนึ่งในนั้น คือ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสำหรับโลเนอร์แกน

ความคิดในการสร้าง Manchester by the Sea เริ่มต้นจาก จอห์น คราซินสกี้ กับเพื่อนของเขา แม็ท เดมอน ทั้งสองมีไอเดียคร่าวๆ เกี่ยวกับหนังและต้องการให้โลเนอร์แกนเป็นคนเขียนบท แรกทีเดียวเดมอนตั้งใจว่าจะกำกับและนำแสดงเอง แต่เนื่องด้วยตารางเวลาไม่ลงตัว เขาจึงเสนอให้โลเนอร์แกนโดดมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับแทน เดมอนบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำแบบนั้นเพราะเขาและคนอื่นๆ ต่างเป็นห่วงโลเนอร์แกน (หลังเหตุหายนะที่ชื่อว่า Margaret ซึ่งลงเอยด้วยการโรงขึ้นศาล) เขาอยากให้โลเนอร์แกนกลับมาเขียนบทหารายได้ให้ตัวเองอีกครั้ง

ก็ใช่โลเนอร์แกนยอมรับ แม้จะเห็นว่ามันไม่จริงเสียทั้งหมดก็ตาม ผมรู้ว่าเขาเป็นห่วงผมและผมก็ดีใจ มันเป็นช่วงตกต่ำอย่างแท้จริง แต่ผมก็ยังเขียนบทละครเรื่อง The Starry Messenger ในปี 2009 แล้วก็เขียนบทและกำกับละครเรื่อง Medieval Play ในปี 2011 จริงอยู่ตอนนั้นผมร้อนเงินเพราะมีหนี้สินท่วมหัว และ Manchester by the Sea ก็เป็นงานที่ให้เงินดีมาก แต่จริงๆ แล้วผมก็ชอบไอเดียตั้งแต่แรก เพราะถ้าไม่ชอบผมคงไม่ตกลงใจทำ

เมื่อเดมอนไม่ว่างมาเล่น โลเนอร์แกนจึงเลือกอัฟเฟล็ค และงานแสดงอันลุ่มลึก แต่ทรงพลังของเขาในบทชายหนุ่มที่ปิดกั้นตัวเองจากทุกคนรอบข้างกวาดคำชมและรางวัลนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหลานชายมีช่วงเวลาที่อ่อนโยน แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากความมุ่งมั่นของลีที่จะเก็บงำความรู้สึกไว้ข้างใน โลเนอร์แกนรักษาความสมจริงของเรื่องราวเอาไว้โดยตลอด ไม่มีฉากจบแบบฮอลลีวู้ด ไม่มีการคลี่คลายที่ง่ายดาย แต่นำเสนอการปลดปล่อยทางอารมณ์ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ซึ่งรับบทเป็นอดีตภรรยาของลี บอกว่าโลเนอร์แกนร้องไห้หลังถ่ายฉากดรามาหนักๆ บางฉากจบ และเมื่อหนังเข้าฉาย หลายคนบอกว่ามันช่วยให้พวกเขาได้ปลดปล่อยพวกเขาพูดว่า นี่เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อฉันเลยหรือ เราก็เคยเจอกับอะไรแบบนี้โลเนอร์แกนกล่าว ผมถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยความระแวดระวังพอสมควร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังซีเรียสกว่าทุกอย่างที่ผมเคยเจอมา ผมต้องการเคารพในตัวเรื่อง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาก็ตาม แต่สำหรับหลายคนมันเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยเผชิญ ฉะนั้นผมจึงรู้สึกซาบซึ้งมากเวลามีคนบอกว่าพวกเขาเคยผ่านอะไรแบบนี้และรู้สึกดีกับหนัง

อะไรทำให้หนังเรื่องนี้เข้าถึงใจผู้คน ผมคิดว่าคงเพราะอย่างน้อยหนังจริงใจกับเรื่องราว ไม่เสแสร้งว่าเราสามารถทำใจลืมโศกนาฏกรรมแบบนี้ได้ ไม่มีคำโป้ปดแบบที่เห็นในหนังบีบน้ำตาทางทีวี คนมากมายเคยทนทุกข์แบบเดียวกันและไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร คงเป็นความรู้สึกอุ่นใจที่ได้เห็นภาวะแบบเดียวกันสะท้อนออกมาในหนัง เพราะมันทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวโลเนอร์แกนอธิบาย

แม้จะเต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่ Manchester by the Sea ไม่ใช่หนังมืดหม่น อารมณ์ในหนังอาจดิบ เสียดแทง และเหลือจะทนได้ในบางครั้ง ฉากระหว่างอัฟเฟล็คกับ มิเชลล์ วิลเลียมส์ สามารถทำให้คนดูถึงกับร้องสะอื้นได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายแล้วหนังกลับให้ความรู้สึกอิ่มเอิบอย่างประหลาด โล่งใจเหมือนได้ปลดปล่อยบางอย่างลงจากบ่า ลีอาจมีปัญหาในการเผชิญชีวิต แต่เขาก็เป็นคนตลก ไอเดียของหนังคือคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เมื่อคุณเปิดโอกาสให้ใครสักคนเข้ามาในโลกของคุณ คุณก็ต้องรับมือกับคนๆ นั้น ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องดีหนังสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของจิตใจมนุษย์ ความสุขจากการได้อยู่ร่วมกัน และความพยายามที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า


The Good

·   คำกล่าวขอบคุณของ ไวโอลา เดวิส หลังได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Fences เป็นคำกล่าวขอบคุณที่ทรงพลังที่สุดในงาน (ที่ทรงพลังไม่แพ้กัน คือ แถลงการณ์ของ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ซึ่งได้รางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) จิมมี คิมเมล อดไม่ได้ที่จะแซวตบท้ายว่า ไวโอลา เดวิส เพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมีจากคำกล่าวเมื่อสักครู่นี้

·   คนดูคาดหวังไว้แล้วว่า คู่กัดของคิมเมลอย่าง แม็ท เดมอน จะต้องโดนกระทำการย่ำยีสารพัดอย่างแน่นอน แก๊กนี้แม้จะถูกเล่นต่อเนื่องมายาวนานในรายการ Jimmy Kimmel Live! แต่ยังได้ผลน่าพอใจ คิมเมลเริ่มต้นด้วยการกัดเดมอน ซึ่งทิ้งบทนำใน Manchester by the Sea ไปเล่นหนังจีนและไว้ผมทรงหางม้า The Great Wall ลงเอยด้วยการสูญเงิน 80 ล้านเหรียญ ฉลาดเลือกมากไอ้ซื่อบื้อตามมาด้วยการล้อเลียน We Bought a Zoo หนังซึ่งล้มเหลวทั้งเงินและกล่องของ คาเมรอน โครว พร้อมกับแนะนำเดมอนขณะขึ้นมาบนเวทีเพื่อประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมในฐานะ แขกของ เบน อัฟเฟล็ค (เมื่อเดมอนบอกว่าเขาค่อนข้างพอใจกับการแสดงของตัวเองใน We Bought a Zoo อัฟเฟล็คก็ช่วยตบมุกให้คิมเมลด้วยการถามแบบไม่เชื่อว่า จริงดิ”) ก่อนจะตบท้ายกับการแกล้งเล่นดนตรีเพื่อกลบเสียงพูดของเดมอน


·   ฉากหลังบนเวทีออสการ์ในปีนี้ถือเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความอลังการน่าตื่นตากับงานออกแบบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสกายไลน์ในสไตล์เรโทร หรือม่านคริสตัลที่จัดทรงเป็นรูปออสการ์ขนาดยักษ์ส่องประกายระยิบระยับ มันเป็นแหล่งพักสายตาชั้นดีเวลาผู้ชนะกำลังร่ายรายชื่อบุคคลที่พวกเขาอยากขอบคุณตั้งแต่เอเย่นต์ไปยันคนขับรถ


The Bad

·   ระหว่างให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังเวที เห็นได้ชัดว่า เอ็มมา สโตน เผลอเล่นใหญ่เกินไปในความพยายามจะทำตัวเป็นผู้แพ้ที่ทรงเกียรติ ขณะกล่าวชื่นชมผู้ชนะจนชวนให้รู้สึกขนลุก ฉันโคตรรักหนังเรื่อง Moonlight พระเจ้า ฉันรักหนังเรื่อง Moonlight เหลือเกิน ฉันตื่นเต้นแทน Moonlight สุดๆ แน่นอน มันวิเศษสุดที่ได้ยินเสียงประกาศว่า La La Land เราทุกคนอยากชนะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่เราดีใจกับ Moonlight มากกก ฉันว่ามันคือหนึ่งในหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลถ้านี่เป็นการออดิชั่นบท คนที่ชื่นชอบและปลาบปลื้มกับชัยชนะของ Moonlight แบบหมดใจก็อาจพูดได้ว่าเธอสอบตก เพราะเธอดูเหมือน คนที่เชียร์ La La Land แต่ต้องพยายามปั้นหน้ายิ้มแย้มเพื่อปิดซ่อนความผิดหวัง หรือกระทั่งคับแค้นไว้ภายในมากกว่า ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นใครก็ต้องเชียร์หนังตัวเองอยู่แล้ว เสียงหัวเราะฝืนๆ กับการเน้นเสียงกระแทกกระทั้นทำให้คำชื่นชมของเธอดูออกตัวแรงจนเกือบจะเป็นการประชดแทนที่จะฟังดูจริงใจ เป็นธรรมชาติ

·   ท่าปรบมือสุดประหลาดของ นิโคล คิดแมน กลายเป็นโจ๊กสุดฮิตในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง (“นิโคล คิดแมน ปรบมือไม่เป็นเหรอมีคนตั้งคำถามในทวิตเตอร์) ตามมาด้วยข้อสันนิษฐานต่างๆ ว่าเธอเพิ่งทาเล็บมา หรือกลัวแหวนจะกระทบกันแล้วเจ็บนิ้ว แต่ไม่ว่ายังไงมันได้กลายเป็นภาพติดตาที่จะตามหลอกหลอนคุณไปอีกหลายวัน

·   ในแวบแรกการหลอกนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพบกับเหล่าดาราชื่อดังของฮอลลีวู้ดอาจดูตลก หรือเรียกรอยยิ้มได้บ้าง จนกระทั่งมันเริ่มลากยาวและสร้างความอึดอัดให้กับทั้งคนดู นักท่องเที่ยว (ซึ่งบางคนอาจไม่ได้บ้าดารา หรืออยากมาอยู่ต่อหน้ากล้องสักเท่าไหร่) และเหล่าดาราที่นั่งอยู่แถวหน้า แม้ว่าบางคน เช่น เดนเซล วอชิงตัน จะคล่องแคล่ว รู้งาน แล้วแกล้งทำพิธีแต่งงานปลอมๆ ให้กับสองคู่หมั้นจากชิคาโก แต่สุดท้ายมันกลับให้ความรู้สึกเหมือนการพามาเที่ยวสวนสัตว์เสียมากกว่า 


The Ugly

·   ถึงตอนนี้ความผิดพลาดของการประกาศชื่อหนังยอดเยี่ยมผิดเรื่อง ซึ่งคงจะกลายเป็นคลิปอมตะ และถูกล้อเลียนไปอีกนานหลายปี ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่ามีต้นตอมาจากการที่ ไบรอัน คัลลิแนน ผู้ดำรงตำแหน่งหุ้นส่วนของบริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ยื่นซองรางวัล นำหญิงยอดเยี่ยมให้กับ วอร์เรน บีตตี้ แทนที่จะเป็นซอง หนังยอดเยี่ยมเขากับเพื่อนร่วมงาน มาร์ธา รูซ เป็นแค่สองคนในงานที่รู้ผลรางวัล โดยทั้งสองจะคอยดูแลซองผู้ชนะคนละเซ็ต และยืนอยู่คนละฟากเวทีเพื่อรับประกันความลื่นไหลของการจัดงาน (ผู้ประกาศรางวัลเดินออกจากฝั่งไหนของเวทีก็จะมีคนยื่นซองประกาศผลให้) รวมไปถึงยังเป็นมาตรการความปลอดภัยเผื่อเกิดเหตุผิดพลาดก็ยังมีซองสำรอง มีความเป็นไปได้สูงว่าคัลลิแนนอาจเพลิดเพลินกับการเล่น โซเชียล มีเดีย ไปหน่อยจนทำให้เสียสมาธิ แล้วยื่นซองรางวัลที่เพิ่งถูกประกาศจบไปแทนที่จะเป็นซองรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เขาทวีตภาพ เอ็มมา สโตน หลังเวทีขณะถือรางวัลออสการ์ ก่อนจะลบทวีตดังกล่าวออกหลังเกิดเหตุผิดพลาดในการประกาศผล แต่มีคนแคปภาพไว้ทัน) อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า วอร์เรน บีตตี้ รับมือกับสถานการณ์ได้ไม่ดีเท่าไหร่ เห็นได้ชัด เขาน่าจะรู้ว่าเกิดความผิดพลาดขึ้น สังเกตจากอาการลังเลอยู่นาน ไม่อ่านชื่อผู้ชนะ และทำท่าเหมือนจะมองหาบัตรอีกใบในซอง แต่แทนที่จะเช็คกับทีมงาน หรือคนที่ยื่นซองให้เขา (หรือถ้าเขาพลิกซองไปด้านหน้าก็จะเห็นทันทีว่ามันเป็นรางวัลสำหรับนำหญิง ไม่ใช่หนังเยี่ยม) เขากลับยื่นบัตรไปให้ เฟย์ ดันนาเวย์ (พูดอีกอย่างคือไคลด์ผลักบอนนีไปรับห่ากระสุน) โดยไม่กระซิบบอกความสงสัยกับเธอ เช่น คุณช่วยดูหน่อยสิ ผมว่าบัตรมันผิดนะส่วนคนหลังก็คงคิดว่าบีตตี้เล่นมุกถ่วงเวลาให้คนตื่นเต้นหรืออย่างไร จึงอ่านชื่อหนังที่เห็นบนแผ่นกระดาษไปโดยไม่สังเกตว่ามีชื่อ เอ็มมา สโตน โชว์หราอยู่ (หรือเธอคิดว่า เอ็มมา สโตน เป็นโปรดิวเซอร์ของ La La Land?) ท้ายที่สุด ต้องบอกว่าทีมงานหลังเวทีแก้ไขปัญหาค่อนข้างเชื่องช้า เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันที่เคยเกิดขึ้น 53 ปีก่อน พวกเขาปล่อยให้ทีมโปรดิวเซอร์ของ La La Land กล่าวขอบคุณไปจนเกือบจะเสร็จแล้วแทนที่จะรีบแก้ไขโดยเร็วที่สุดตั้งแต่มีการประกาศชื่อผิด นำไปสู่สถานการณ์ที่ชวนให้น่าอึดอัดสำหรับทีมงานหนังทั้งสองเรื่อง โชคดีที่ทั้งฝ่าย Moonlight และ La La Land ต่างพูดจาให้เกียรติกันและกันได้อย่างน่ายกย่อง 

·   นอกเหนือจากหายนะ จดหมายผิดซองแล้ว งานออสการ์ครั้งนี้ยังปรากฏความผิดพลาดครั้งใหญ่อีกอย่าง โดยในคลิปรำลึกผู้จากไป รูปของโปรดิวเซอร์สาวชาวออสเตรเลีย เจน แชปแมน (ซึ่งยังมีชีวิตอยู่) ถูกใส่เข้ามาอย่างสะเพร่า ไม่ตรงกับชื่อผู้เสียชีวิต นั่นคือ เจเน็ท แพทเทอร์สัน ซึ่งเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่เคยร่วมงานกับแชปแมนในหนังอย่าง The Portrait of a Lady และ The Piano... การได้เห็นภาพตัวเองในคลิปผู้วายชนม์ถือเป็นฝันร้ายขนานแท้ จนอาจนำไปสู่การตั้งคำถามเชิงอัตถิภาวนิยม เช่น เรา ใช้ชีวิตอยู่จริงๆ ใช่ไหม หรือคำถามที่ชวนสะพรึงกว่านั้น เช่น เราเป็นวิญญาณที่ไม่รู้ตัวว่าตายไปแล้วหรือเปล่า (aka The Sixth Sense)


Records Broken

·   พญานกตัวจริง (ชนิดที่ เอมี อดัมส์ ยังต้องคาราวะ) เควิน โอคอนเนลล์ ได้พบกับความสมหวังในที่สุด หลังเขาก้าวขึ้นรับรางวัลออสการ์ตัวแรกพร้อมทีมงานอีก 3 คนในสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (sound mixing) จากหนังเรื่อง Hacksaw Ridge หลังเคยเข้าชิงครั้งแรกในสาขานี้เมื่อปี 1983 จาก Terms of Endearment และพ่ายให้กับทีมบันทึกเสียงจาก The Right Stuff จากนั้น 33 ปีต่อมา สถิติชวดรางวัลสูงสุดตลอดกาล (20 ครั้ง) ในประวัติศาสตร์ออสการ์ก็สิ้นสุดลงจนได้จากความสำเร็จในครั้งที่ 21 ตอนนี้คนที่ครองสถิติเข้าชิงมากสุดโดยยังไม่เคยได้รางวัล ได้แก่ เกร็ก พี. รัสเซลล์ อดีตหุ้นส่วนของโอคอนเนลล์ ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 16 ครั้งในสาขาบันทึกเสียง และเพิ่งจะถูกตัดสิทธิ์การเข้าชิงครั้งที่ 17 จากหนังเรื่อง 13 Hours: The Secret Soldiers of Benghazi เนื่องจากเขากระทำผิดกฎด้วยการโทรศัพท์ล็อบบี้ให้ผลงานตัวเอง อันดับสองคือ โธมัส นิวแมน ซึ่งเข้าชิง 14 ครั้ง ล่าสุดจาก Passengers ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม อันดับสามคือ โรเจอร์ ดีกินส์ ตากล้องในตำนานที่เข้าชิงทั้งหมด 13 ครั้ง และชวดรางวัลทุกครั้ง

·   เดเมียน ชาเซลล์ (La La Land) กลายเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุดที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง ทำลายสถิติที่ นอร์แมน ทอรอก (Skippy) สร้างไว้เมื่อปี 1931 คนแรกอายุ 32 ปีกับ 38 วันตอนได้ออสการ์ ขณะที่คนหลังอายุ 32 ปีกับ 260 ตอนได้ออสการ์

·   O.J.: Made in America กลายเป็นหนังชนะรางวัลออสการ์ (สารคดียอดเยี่ยม) ที่มีความยาวมากที่สุด (467 นาที) เอาชนะเจ้าของสถิติเดิม War and Peace (หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) เมื่อปี 1969 ซึ่งมีความยาว 431 นาที สารคดีเรื่องนี้สร้างขึ้นในโครงการ 30 for 30 Series ของช่อง ESPN แบ่งออกเป็น 5 ตอน แต่ถูกนำมาฉายในโรงหนังช่วงเดือนพฤษภาคมเพื่อสิทธิ์ในการเข้าชิง

·   หลังคว้าออสการ์จากหนังเรื่อง Fences ไปครอง ไวโอลา เดวิส กลายเป็นนักแสดงผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสามเวทีหลัก นั่นคือ ออสการ์, เอ็มมี และ โทนี โดยก่อนหน้านี้มีนักแสดงหญิง 13 คน และนักแสดงชาย 9 คนเท่านั้นที่ทำสำเร็จ อาทิ เฮเลน เมียร์เรน และ คริสเตอร์เฟอร์ พลัมเมอร์ เป็นต้น นอกจากนี้เดวิสยังเป็นนักแสดงคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลโทนีและออสการ์จากการเล่นบทเดียวกัน (แต่ต่างสาขา) เธอได้โทนีนำหญิงจากการรับบท โรสใน Fences เวอร์ชั่นบรอดเวย์ ก่อนจะได้ออสการ์สมทบหญิงจากบทเดียวกัน ส่วนคนแรกที่ทำสำเร็จ คือ ยูล บรินเนอร์ ซึ่งได้ออสการ์และโทนีในสาขานำชายจาก The King & I

·   โปรดิวเซอร์ ดีดี การ์ดเนอร์ (Moonlight) กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสองตัว ก่อนหน้านี้สามปีเธอเพิ่งได้รางวัลเดียวกันจากหนังเรื่อง Twelve Years a Slave

·   Moonlight เป็นหนังเกี่ยวกับ LGBT เรื่องแรกที่คว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ และหนังเรื่องที่สองที่ได้รางวัลออสการ์หนังเยี่ยมโดยไม่เคยชนะรางวัลของสมาพันธ์สำคัญสามแห่ง นั่นคือ PGA (ผู้อำนวยการสร้าง), DGA (ผู้กำกับ) และ SAG (นักแสดง) โดยเรื่องแรกที่ทำได้ คือ Braveheart ในปีแรกที่มีการแจกรางวัล SAG

·   ชัยชนะของ คอลลีน แอตวู้ด จากการออกแบบเสื้อผ้าให้กับหนังเรื่อง Fantastic Beasts and Where to Find Them (ตัวที่ 4 ของเธอหลังจาก Chicago, Memoirs of a Geisha และ Alice in Wonderland) ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกบนเวทีออสการ์ของหนังในจักรวาล Harry Potter โดยก่อนหน้านี้หนังทั้ง 8 เรื่องถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาเทคนิคต่างๆ รวม 12 รางวัล แต่ชวดหมด

·   มาเฮอร์ชาลา อาลี เป็นชาวมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง เขาเข้ารีตเป็นอิสลามเมื่อ 17 ปีก่อน

·   La La Land เป็นหนังเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสูงสุด 14 รางวัล แต่พลาดรางวัลหนังยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ All About Eve และ Titanic ล้วนคว้ารางวัลสูงสุดมาครองได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้มันกลายเป็นหนังเข้าชิงสูงสุดที่พลาดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการถือครองสถิติร่วมกันโดย The Curious Case of Benjamin Button, The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring และ Who’s Afraid of Virginia Woolf ซึ่งต่างได้เข้าชิงเรื่องละ 13 รางวัล 

ไม่มีความคิดเห็น: