วันเสาร์, มกราคม 19, 2556

The Hobbit: An Unexpected Journey: การหวนคืนสู่ถิ่นกำเนิด


บางทีการนั่งดูหนังเรื่อง The Hobbit: An Unexpected Journey ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายปลายสุดของงานเลี้ยง เมื่อเหล่าแขกเหรื่อส่วนใหญ่ทยอยกันเดินทางกลับบ้านไปแล้ว เหลือเพียงกลุ่มเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนที่ยังคงอ้อยอิ่ง จับกลุ่มพูดคุยกันอย่างถูกคอ พร้อมกับรำลึกถึงความประทับใจสูงสุดในงาน ส่วนบรรดาข้าวปลาอาหารนั้นก็ยังคงหลงเหลือให้เก็บกินอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มากมาย หลากหลายเหมือนในช่วงเริ่มงาน เช่นเดียวกับบรรยากาศโดยรวม ซึ่งเซอร์ไพรซ์ หรือความตื่นเต้น สนุกสนานได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว 

นอกเหนือจากแก่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงว่า The Hobbit เป็นงานเขียนที่เบาบางกว่า ทะเยอทะยานน้อยกว่า และเดิมพันในแง่เรื่องราวไม่สูงเท่า The Lord of the Rings แล้ว (เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ตั้งใจเขียน The Hobbit ให้เป็นวรรณกรรมแฟนตาซีสำหรับเยาวชน) อุปสรรคสำคัญของหนังยังอยู่ตรงความรู้สึกเดจาวู เหมือนเราเคยประสบพบเห็น หรือสัมผัสลิ้มลองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง สไตล์การเล่าเรื่อง หรือความตระการตาของโลเคชั่น ฉาก และเทคนิคพิเศษ (ซึ่งจะว่าไปอาจเริ่มรู้สึกได้ตั้งแต่ The Return of the King แล้วด้วยซ้ำ) หลายตัวละครถูกเรียกกลับมาใช้งานอีกครั้ง แต่ไม่อาจเรียกความสดใหม่ ตื่นเต้น น่าสนใจได้มากเท่ากับเมื่อครั้งที่เรารู้จักพวกเขาเป็นครั้งแรก และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าไปนั้น คือ หลายฉากเด่นของหนังที่พอจะกระตุ้นคนดูให้รู้สึกตื่นเต้นอย่างแท้จริงกลับต้องอาศัยตัวละครเดิมๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่น กอลลัม (แอนดี้ เซอร์กิส) รวมไปถึงนัยยะเชื่อมโยงสู่ไตรภาคชุดก่อนถึงภยันตรายใหญ่หลวงที่กำลังคืบคลานเข้ามา และมีพลังทำลายล้างมากมายกว่ามังกร หรือออร์คหลายเท่าตัว เช่น ฉากการประชุมที่ริเวนเดลล์

แม้กระทั่งไคล์แม็กซ์ในถ้ำก็อบลิน ตามมาด้วยการปะทะกับกองทัพออร์ค ซึ่งโดยรวมแล้วทำออกได้อย่างหมดจด งดงามทั้งในแง่จังหวะและเทคนิคภาพยนตร์ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะทำให้หวนนึกถึงไคล์แม็กซ์คล้ายกันใน The Fellowship of the Ring ที่สุดท้ายเปี่ยมประสิทธิภาพกว่าในแง่พลังดรามา พูดอีกอย่าง คือ ตัวละคร ตลอดจนเรื่องราวใน An Unexpected Journey นั้นแทบจะเรียกร้องความสนใจในตัวของมันเองได้เพียงน้อยนิด... บางทีสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะพัฒนาขึ้นในภาคต่อ The Desolation of Smaug และ There And Back Again แต่ผลลัพธ์ที่เห็นและเป็นอยู่ในตอนนี้ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการซอยนิยายเล่มนี้เป็นหนังไตรภาค

แน่นอน ผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน พยายามจะฉีดกระตุ้นพลังแปลกใหม่ให้กับหนังด้วยระบบ 3 มิติ และเทคนิคการถ่ายทำแบบ 48 เฟรมต่อวินาที แต่เสียงตอบรับกลับไม่น่าชื่นใจเท่าไหร่โดยเฉพาะกรณีของนวัตกรรมหลัง ทั้งนี้เพราะความคมชัดแบบทีวี HD ไม่เพียงเปิดเผยให้เห็นรอยต่อที่ไม่แนบเนียนระหว่าง live action กับคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเท่านั้น แต่ยังทำลายอารมณ์โรแมนติกแห่งตำนานปรัมปราลงอีกด้วย เพื่อข้ออ้างแห่งความ “เหมือนจริง”

จะว่าไปแล้วแนวคิดดังกล่าวคงพัฒนามาจากเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องการให้ผู้เล่นได้เข้าไปมีประสบการณ์ในโลกเสมือนจริง แต่แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะเหมาะกับหนังที่เต็มไปด้วย “เรื่องเล่า” แบบ An Unexpected Journey ซึ่งเริ่มต้นด้วยประวัติเมืองคนแคระที่มั่งคั่งก่อนถูกมังกรบุกมายึดครอง ตามมาด้วยประวัติความแค้นส่วนตัวของธอริน (ริชาร์ด อาร์มิเทจ) ที่สั่งสมมาจากสงครามระหว่างคนแคระกับออร์ค ขณะเดียวกันแก่นหนังไตรภาค The Hobbit ก็เป็นเรื่องเล่าถึงการผจญภัยของบิลโบ (มาร์ติน ฟรีแมน) บันทึกไว้สำหรับให้โฟรโด (เอไลจาห์ วู้ด) ผู้ต่อมากลายเป็นตัวละครเอกในไตรภาค LOTR ได้รับรู้ ที่สำคัญ ความสำเร็จของ LOTR ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอารมณ์ถวิลหา หวนไห้ต่ออดีตที่ไม่อาจคืนกลับมา (โทลคีนเปรียบเทียบ มิดเดิล เอิร์ธ ว่าคือโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเวทมนตร์ค่อยๆ จางหายและเหล่าเผ่าพันธุ์ต่างๆ พากันถอยร่นออกไปเพื่อปล่อยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ปกครอง ดังจะสังเกตได้จากฉากจบของ The Return of the King) มันเป็นโลกที่เราไม่อาจเข้าไป “อาศัย” แต่สัมผัสได้จากเรื่องเล่า หรือตำนานที่สืบทอดกันมา ซึ่งในจุดนี้อารมณ์ฟุ้งฝันแบบฟิล์มตอบโจทย์ได้ชัดเจนกว่าความคมชัดของกล้องและเครื่องฉายดิจิตอลผ่านความละเอียดแบบ 48 เฟรมต่อวินาที

An Unexpected Journey เริ่มต้นแบบเดียวกับ The Fellowship of the Ring นั่นคือ ความลังเลของตัวละครเอกที่จะออกไปผจญภัยยังโลกภายนอก และอ้าแขนรับบทบาท “วีรบุรุษ” แต่ขอบเขตแห่งภารกิจได้ถูกลดทอนความสำคัญ ยิ่งใหญ่ลง กล่าวคือ ขณะโฟรโดต้องปกป้อง มิดเดิล เอิร์ธ จากหายนะ ซึ่งหมายรวมถึงถิ่นฐานบ้านเกิดของเขาจะต้องถูกทำลายจนมอดไหม้ไปด้วย และต้องร่วมมือกับหลายเผ่าพันธุ์เพื่อทำลายแหวนแห่งอำนาจ บิลโบกลับพยายามจะช่วยเหลือกลุ่มคนแค่เผ่าพันธุ์เดียวให้ทวงทรัพย์สมบัติและบ้านเกิดเมืองนอนกลับคืนมา

ในหนังสือพวกคนแคระต้องการแค่ทองที่มังกรจอมโลภบุกมายึดครอง แต่ ปีเตอร์ แจ๊คสัน กับทีมเขียนบทได้เพิ่มน้ำหนักให้ภารกิจครั้งนี้ด้วยการเปรียบเทียบกลุ่มคนแคระว่าเป็นเหมือนวณิพกพลัดถิ่น โหยหาแผ่นดินซึ่งพวกเขาผูกพัน ในจุดนี้มันสอดคล้องอย่างเหมาะเจาะกับจุดมุ่งหมายเดิมของโทลคีน ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่าคนแคระใน The Hobbit มีรากฐานมาจากชาวยิว (12 คนแคระ + ธอริน = ลูกชาย 12 คน ซึ่งเป็นที่มาของ 12 ชนเผ่าแห่งอิสราเอล + เจค็อบผู้เป็นพ่อ) พร้อมกันนั้น รายละเอียดดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปยังการตัดสินใจช่วยเหลือเหล่าคนแคระของบิลโบได้อย่างแนบเนียน เป็นเหตุเป็นผล เพราะสายเลือดรักบ้านของแบ็กกินส์ ทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกเบาหวิวของการเร่ร่อน ปราศจากถิ่นฐาน

ด้วยเหตุนี้เอง ฉากร้องเพลง Blunt the Knives เมื่อเหล่าคนแคระโยนจานชามไปมาท่ามกลางสีหน้าตื่นตระหนกของบิลโบ จึงไม่ได้มีเหตุผลเพื่อเรียกรอยยิ้มเท่านั้น แต่ยังแฝงความรู้สึกเศร้าสร้อยไว้ลึกๆ อีกด้วย เช่นเดียวกับเหล่าผู้พลัดถิ่นอื่นๆ อันสืบเนื่องมาจากสงครามและจักรวรรดินิยม (มังกรกอบโกยทรัพยากรและรุกรานแผ่นดินจนเหล่าชนพื้นเมืองต้องแตกกระสานซ่านเซ็น) การละเล่นหยอกล้อดังกล่าวเป็นเหมือนความพยายามจะรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือรากเหง้าของตนเองไว้ หลังจากพวกเขาไม่มีเหมืองให้ขุดแร่ทองและอัญมณีอีกต่อไป มันเปรียบดังการปรับตัว ดัดแปลง/พัฒนาวัฒนธรรมอันเปี่ยมเอกลักษณ์ไปตามสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ เพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับประเพณีโบราณที่ต้องจากมา พวกเขาไม่ใช่เหล่านักรบคนแคระผู้กล้าหาญอีกต่อไป แต่ได้พัฒนาไปสู่สถานะ ตามคำกล่าวของบาลิน (เคน สก็อตต์) “พ่อค้า คนงานเหมือง ช่างบัดกรี และคนผลิตของเล่น”

อย่างไรก็ตาม ตัวละครอย่างบิลโบและโฟรโดหาได้ตัดสินใจออกเดินทางไปเสี่ยงอันตรายในโลกกว้างด้วยเหตุผลอันทรงเกียรติเท่านั้น (บ่อยครั้งโฟรโดท้อแท้ และน้อยใจชะตากรรมว่าเหตุใดภารกิจอันหนักหน่วงถึงต้องตกมาอยู่บนบ่าของเขา ส่วนบิลโบก็มักจะหวนคิดถึงระบบระเบียบ ตลอดจนความสงบสุขและคุ้นเคยของหมู่บ้านฮ็อบบิท) แต่เป็นเพราะพวกเขามีทั้งสายเลือดของตระกูลแบ็กกินส์ บรรพบุรุษฝ่ายพ่อที่เป็นฮ็อบบิทรักษ์ถิ่น และตระกูลทุก บรรพบุรุษฝ่ายแม่ที่ชื่นชอบการผจญภัย ผสมผสานอยู่ในตัว

นิยายของโทลคีนมักถูกวิพากษ์มาตลอดว่าขาดแคลนตัวละครเพศหญิงที่เด่นชัด หรือมีความสำคัญต่อเรื่องราว ซึ่งเวอร์ชั่นหนังของแจ๊คสันพยายามแก้ไขด้วยการเพิ่มน้ำหนักให้เหล่าตัวละครหญิงที่มีอยู่น้อยนิดในไตรภาค LOTR และการเพิ่มบทของกาลาเดรียลเข้ามาใน An Unexpected Journey แต่ช่องว่างดังกล่าวส่วนหนึ่งสามารถชดเชยได้จากความนุ่มนวลแห่งมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างเพศชาย (แซม+โฟรโดใน LOTR) ที่หากมองด้วยทัศนคติแห่งยุคปัจจุบันเกือบจะอบอวลไปด้วยอารมณ์โฮโมอีโรติก และการสลับ “บทบาททางเพศ” ผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เลือดแม่ที่รักการผจญภัย กับเลือดพ่อที่รักการอยู่เหย้าเฝ้าเรือน ซึ่งตัวหนังอาจไม่ได้ นำมาขยาย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมจะสะท้อนแง่มุม “เพศหญิง” ของตัวละครเอกอย่างเด่นชัดตั้งแต่ฉากต้นเรื่อง เมื่อบิลโบต้องเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มคนแคระที่หยาบคาย เสียงดัง และบุกรุกเข้ามาเขมือบเสบียงในห้องครัวของเขาจนไม่เหลือซาก

แรกทีเดียว บิลโลยืนกรานว่าเขา “ไม่ใช่ทุก แต่เป็นแบ็กกินส์” และการผจญภัยรังแต่จะรบกวนความสะดวกสบาย ทำให้คุณ “มาทานข้าวเย็นไม่ทันเวลา” ภาพลักษณ์ของบิลโบให้ความรู้สึกเหมือนแม่บ้านทหารบกมากกว่าวีรบุรุษ เขาชอบถ้วยชามสวยงาม ความเป็นระเบียบ ชอบอยู่กับบ้าน ดูแลรักษาความสะอาด ในขณะที่เหล่าคนแคระบุกรุกเข้ามาพร้อมพลังแห่งเพศชาย ทั้งกักขฬะและป่าเถื่อน ทั้งรุนแรงและทำลายล้าง มันเป็นเรื่องน่าสนใจที่หนัง/หนังสือจงใจวางบิลโบให้รับบทวีรบุรุษ และถือเป็นการบดขยี้ภาพลักษณ์ดั้งเดิมของวีรบุรุษลงอย่างราบคาบ (ในแง่พล็อต พวกคนแคระต้องพึ่งพาฮ็อบบิท เพราะเขาว่องไว เท้าเบา และสามารถย่องเข้าใกล้มังกรได้เนื่องจากมังกรไม่คุ้นเคยกับกลิ่นของฮ็อบบิท) จริงอยู่ แม้ในเวลาต่อมาบิลโบจะเรียนรู้การต่อสู้ รวมถึงแสดงความกล้าหาญในแบบนักรบดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงบุคลิกอ่อนโยน เปี่ยมเมตตา และรักสงบเอาไว้เช่นเคย ส่วนผสมระหว่างความเป็นหญิงและชายในคนๆ เดียวกันทำให้บิลโบใกล้เคียงกับ แกนดัล์ฟ (เอียน แม็คเคนเลน) พ่อมดซึ่งสวมบททั้งนักรบผู้กล้าและผู้พิทักษ์สันติ โดยเขาเป็นคนสอนบิลโบว่า “ความกล้าหาญที่แท้จริงหาใช่การรู้ว่าเมื่อใดต้องลงมือสังหาร... แต่เป็นการรู้ว่าเมื่อใดควรจะไว้ชีวิตคนต่างหาก”

An Unexpected Journey จบลงด้วยการยอมรับบิลโบเข้ากลุ่มของเหล่าคนแคระ หลังจากฮ็อบบิทน้อยผู้ไม่เคยจับดาบมาก่อนเลยในชีวิต พิสูจน์ตัวเองด้วยการกระโจนเสี่ยงตายเข้าไปช่วยชีวิตธอรินจากศัตรูคู่อาฆาต เขาอ้าแขนรับการผจญภัยและความท้าทายอย่างหมดใจเพื่อให้บรรดาคนแคระได้มีโอกาสทวงแผ่นดินเกิดกลับคืนมา เพราะไม่มีใครจะเข้าใจความเจ็บปวดของการสูญเสียดังกล่าวได้ดีไปกว่าฮ็อบบิทที่รัก “บ้าน” มากพอจะเสี่ยงตายเพื่อมัน แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ถึงแม้เวลาบนจอจะผ่านไปแล้วเกือบสามชั่วโมง... สำหรับบิลโบ ความพลิกผันของสถานการณ์คงเป็นเรื่องที่เขาไม่เคยคาดฝันมาก่อน แต่สำหรับนักดูหนังที่คุ้นเคยกับไตรภาค LOTR เป็นอย่างดี ทิศทางของการเดินทางครั้งนี้ถือว่าไม่อยู่นอกเหนือความคาดคิดสักเท่าไหร่

ไม่มีความคิดเห็น: