วันเสาร์, มกราคม 20, 2550

ด้วยเกล้า: เมล็ดพันธุ์แห่งศรัทธา


ก่อนหน้าจะมากำกับหนังเรื่องด้วยเกล้า บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เคยสร้างผลงานไว้ไม่มากนัก อาทิ คาดเชือก คนดีที่บ้านด่าน คู่วุ่นวัยหวาน และปัญญาชนก้นครัว ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าด้วยเกล้า คือ ภาพยนตร์เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิตการทำงานของคุณบัณฑิต

ความคิดในการสร้างหนังเรื่องนี้เกิดจากทางไฟว์สตาร์และตัวคุณบัณฑิตเองต้องการจะฉลองใหญ่เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุครบ 5 รอบ โดยผูกเรื่องราวเกี่ยวกับเกษตกรผู้ยากไร้ในชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ในหลวงให้ความสำคัญ และปรารถนาจะช่วยเหลือเสมอมา หนังเริ่มต้นขึ้นด้วยข้อความที่ว่า “ปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานจากแปลงสาธิตในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดาฯ ไปหว่านในพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง”

เสาคำ (จรัญ มโนเพชร) ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ กลับบ้านเกิดในภาคเหนือพร้อมกับเมล็ดข้าวที่แย่งมาได้จากท้องสนามหลวงเพียงไม่กี่เมล็ด โดยตั้งใจจะนำไปแยกปลูกในที่ดินของตนเพื่อเป็นสิริมงคล เวลาผ่านไปหลายปี หมู่บ้านของเสาคำประสบภัยแล้ง ทำให้ปลูกข้าวไม่ได้ติดต่อกันมานาน คนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพทำนาพากันเดือดร้อน จนหลายครอบครัวทนไม่ไหว ต้องพากันอพยพไปยังถิ่นอื่น น้ำกินน้ำดื่มต้องอาศัยซื้อหาเอาจากบ่อน้ำแห่งเดียวของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นของแม่เลี้ยงบัวเรียน (นฤมล นิลวรรณ) เศรษฐีบ้านนอกนักปล่อยเงินกู้หน้าเลือด ความพยายามแรกของชาวนาในการเสาะแสวงหาน้ำแหล่งใหม่ คือ พึ่งไสยศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

ลูกชายคนโตของเสาคำ (กฤษณ์ ศุกระมงคล) ที่ได้ทุนหลวงไปเรียนต่อเมืองนอก ได้กลับมาทำงานโครงการหลวงบนดอย เขาตกลงใจจะยื่นฎีกาขอฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพ่อและชาวนาในละแวกนั้น ทำให้หมู่บ้านอันแห้งแล้งสามารถกลับมาปลูกข้าวได้อีกครั้งในที่สุด แต่ขณะที่ทุกคนกำลังดีใจอยู่นั้น คำปั๋น (ไกรลาศ เกรียงไกร) และติ๊บ ภรรยา (ศศิวิมล ศรีสง่า) กลับต้องเศร้าใจ เมื่อถูกแม่เลี้ยงบัวเรียนยึดนากับบ้านเพราะไม่ยอมส่งเงินใช้หนี้ ทั้งสองจึงย้ายมาอยู่กับเสาคำ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทสนมกัน ตามคำชวนของฝ่ายหลัง

สำอาง (โรม อิศรา) ลูกชายคนเล็กของเสาคำ ไม่พอใจชีวิตชาวนาที่ยากจนแบบพ่อ เขาหนีไปอยู่กับพวกค้าฝิ่น ก่อนจะพบรักกับนาจา (จิราภัทร สารภีเพ็ชร) สาวชาวเขา แต่ยิ่งสำอางถลำตัวลึกลงไปเท่าใด เขาก็ยิ่งนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัวแบบไม่จบสิ้น โดยเฉพาะการทำให้คำนึง (สันติสุข พรหมศิริ) น้องชายของติ๊บที่เป็นตำรวจตระเวนชายแดนต้องออกจากราชการ เพราะพยายามจะช่วยสำอางตามคำขอของเสาแก้ว (จินตหรา สุขพัฒน์) ลูกสาวคนเดียวของเสาคำ เมื่อครั้งตำรวจบุกกวาดล้างพวกค้าฝิ่น

แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็คลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่สามารถปลูกพืชอื่นทดแทนข้าวได้ สำอางเลิกคบกับพวกค้าฝิ่น แล้วหันมาช่วยพ่อในการเพาะเห็ด ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างเสาแก้วกับคำนึง แม่เลี้ยงบัวเรียนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่มีใครมาใช้บริการเงินกู้ หรือซื้อของจากเธออีกต่อไป ส่วนเสาคำเอง ที่แม้จะหันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนแล้ว แต่เขาก็ยังกันที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกข้าวของในหลวงเพื่อใช้ถวายในวันที่พระองค์ท่านเสด็จมาเยือน

เสาคำโง่หรือที่ไม่ยอมขายนาแล้วเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นซึ่งมีรายได้ดีกว่า อพยพจากผืนดินแห้งแล้งนี้ไปอยู่ในเมืองตามคำแนะนำของสำอาง คำตอบที่หนังเรื่องด้วยเกล้ามอบให้คนดู คือ เงินหาใช่ตัวแปรสำคัญสูงสุดในการดำรงชีวิตให้มีความสุขและมีคุณค่า เพราะบุคคลที่ได้ชื่อว่าถึงพร้อมในเรื่องเงินทองอย่างแม่เลี้ยงบัวเรียนกลับไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในหมู่บ้านได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

สำหรับเสาคำ เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเขาพยายามจะรักษาที่ดินไว้ ช่วยเหลือคนรู้จัก และให้ลูกๆ ได้อยู่ดีกินดี แต่เมื่อเทียบกับผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษของเขาต่อสู้กันมานับสิบรุ่นแล้ว เงินไม่สามารถจูงใจให้เขาขายที่ดินได้ เช่นเดียวกับอาชีพเกษตรกร ซึ่งสืบทอดกันมาช้านาน สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือน “รากเหง้า” ของชีวิตเสาคำ เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างสำอางไม่อาจเข้าใจและเข้าถึงได้ แม้ตอนท้าย เสาคำจะเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทนข้าว แต่หลักปรัชญาในการดำรงชีพของเขาก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง มันเพียงแต่ปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น เขายังคงเป็นเกษตรกรผู้เมตตา ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ รักถิ่นฐาน และมอบความจงรักภักดีให้กับในหลวงอย่างจริงใจ

ได้มีการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาใช้ประกอบหนังมากมายหลายเพลงนับตั้งแต่เพลงสายฝน ลมหนาว ชะตาชีวิต แสงเทียน ใกล้รุ่ง อาทิตย์อับแสง ยิ้มสู้ ไปจนถึงเพลงแสงเดือน ซึ่งทั้งหมดล้วนกลมกลืนไปกับตัวหนังอย่างยอดเยี่ยม คุณบัณฑิตได้ตัดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริออกไปค่อนข้างมากเนื่องจากไม่อยากให้มันเป็นเหมือนสารคดี แต่เท่าที่เหลืออยู่ก็สามารถทำให้ผู้ชมตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเรื่องโครงการฝนหลวง การจัดตั้งสหกรณ์ หรือการหาพืชอื่นมาทดแทนการปลูกข้าว และทั้งหมดล้วนเป็นปัญหารากเหง้าที่ทำให้กระดูกสันหลังของชาติต้องการเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด

หนังบอกเล่าถึงโครงการในพระราชดำริว่าเกิดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรรู้จักหาอาชีพเสริมนอกฤดูทำนาเพื่อเพิ่มพูนรายได้ หาพืชอื่นมาปลูกทดแทนเมื่อราคาข้าวตก มอบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดปัญหาการถูกขูดรีดจากนายทุนหน้าเลือด จัดตั้งกองทุนสหกรณ์เพื่อหาซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการเกษตรอย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการโก่งราคาสินค้าของพ่อค้าคนกลาง ด้วยเกล้าได้สดุดีคุณงามความดีและพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ของในหลวงไว้ได้ครบถ้วน เช่นเดียวกับแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความเคารพเทิดทูนของประชาชนต่อพระองค์ เฉกเช่นในหนังสารคดีทั่วๆ ไป

แต่ที่เหนือไปกว่านั้น คือ ด้วยเกล้าได้แสดงให้เห็นว่าเราจะตอบแทนพระคุณของในหลวงได้อย่างไร เมล็ดข้าวในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเปรียบดังสัญลักษณ์สื่อถึงความแตกต่างของประชาชนที่รัก ศรัทธา และเทิดทูนในหลวง เสาคำเก็บมันไว้เพื่อใช้เพาะปลูกให้ออกดอกออกผลด้วยความภูมิใจว่าเขานั้นปลูกแต่ “ข้าวในหลวง” ส่วนแม่เลี้ยงบัวเรียนกลับใช้มันสำหรับเทิดทูนบูชา ทั้งที่ตลอดเวลาเธอยังคงเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ แล้งน้ำใจ และไม่เคยคิดจะทำอะไรให้เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตตัวเองเลย

ขณะที่คนหนึ่งมอบความรัก ศรัทธาอย่างสร้างสรรค์ จริงใจ อีกคนกลับภักดีแต่คำพูด

สารสำคัญของด้วยเกล้า คือ พวกเราทุกคนสามารถตอบแทนคุณในหลวงได้ด้วยการเจริญรอยตามพระองค์ท่าน รู้จักเสียสละ มีเมตตา และมุมานะ อุตสาหะเหมือนกับเสาคำ ซึ่งไม่มีอุปสรรคใดจะมาเปลี่ยนแปลงศรัทธาและคุณงามความดีอันมั่นคงในตัวเขาได้

แล้วคุณล่ะ รักในหลวงแบบใด

ไม่มีความคิดเห็น: