วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 05, 2550

The Portrait of a Lady: สตรีและความชั่วร้ายในทัศนะ เฮนรี่ เจมส์


ถ้า เจน ออสเตน เป็นผู้บุกเบิกนิยายโรแมนติกเชิงสุขนาฏกรรม เน้นวิเคราะห์ตัวละครมากกว่าการสร้างพล็อตหรือบรรยากาศตามแนวทางงานเขียนสไตล์กอธิกซึ่งกำลังได้รับความนิยมสมัยนั้น เฮนรี่ เจมส์ ก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านวรรณกรรมซึ่งมีเนื้อหาผูกพันกับผู้หญิง สังคม และความรัก ถ่ายทอดผ่านลีลาหม่นเศร้า มืดมนจนยากจะหาใครเสมอเหมือนได้ เพราะสองนักประพันธ์ชายรุ่นน้องที่นิยมสร้างตัวเอกเป็นผู้หญิงเช่นกันอย่าง อี. เอ็ม ฟอร์สเตอร์ และ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ ล้วนมองโลกสดใสกว่าเจมส์หลายเท่านัก

นักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา เฮนรี่ เจมส์ ถือกำเนิด ณ เมืองนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1843 เป็นลูกคนที่สามในครอบครัวปัญญาชนผู้มั่งคั่ง โดยพ่อของเขาเป็นนักปรัชญาเลื่องชื่อ ส่วนพี่ชายนาม วิลเลี่ยม ก็ทำงานเป็นจิตแพทย์ เฮนรี่ใช้ชีวิตหรูหรา สุขสบายเต็มที่ เพราะปู่ได้ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานเป็นจำนวนมาก เขาเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ยังเป็นทารก เข้ารับการศึกษาหลายแห่งทั่วยุโรป เช่น อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ก่อนจะลงเรียนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดระหว่างปี 1862-1864

เจมส์เริ่มต้นเขียนงานจำพวกรีวิวและเรื่องสั้นในวารสารอเมริกันหลายฉบับ ผลงานเขียนช่วงแรกๆ ของเจมส์มักเน้นความสมจริงและนำเสนอค่อนข้างตรงไปตรงมา จากนั้นจึงค่อยๆ ทวีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ ผสานเข้ากับเนื้อหาอันคลุมเครือชวนให้ค้นหา ตีความ เฮนรี่ผ่านงานเขียนมาแล้วแทบทุกประเภทตั้งแต่นิทาน บทความท่องเที่ยว เรื่องสั้น บทวิจารณ์วรรณกรรม บทละคร หนังสืออัตชีวประวัติ และนิยายจำนวน 20 เรื่อง ธีมหลักในงานเขียนได้แก่ ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของโลกใหม่ที่ตัดกันกับโลกเก่าอันเต็มไปด้วยความชั่วร้าย เจ้าเล่ห์เพทุบาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ The Portrait of a Lady กับบทบาทของ มาดามแมร์ (บาร์บารา เฮอร์ชีย์) และ กิลเบิร์ต ออสมอนด์ (จอห์น มัลโควิช) ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าสีฉูดฉาดเพราะการพักพิงอยู่ในยุโรปเป็นเวลานาน ต่างกับผ้าขาวอันสะอาดสดใสอย่างอิสซาเบล (นิโคล คิดแมน) ซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาจากอเมริกา ส่วนผลงานอื่นของเจมส์นอกจากที่เอ่ยถึงไปแล้วก็เช่น The Turn of the Screw, The Golden Bowl, Daisy Miller, The Ambassadors, The Europeans, The Bostonians และ The Aspern Papers เฮนรี่ เจมส์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1916 ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองที่เขาได้ลงหลักปักฐานมาเกือบตลอดชีวิต

วิธีพิสูจน์ความเชื่อส่วนตัวว่าศิลปินควรเป็นอิสระจากการผูกมัดโดยชีวิตครอบครัวด้วยการไม่เคยสร้างสัมพันธ์โรแมนติกกับใครอย่างจริงจังเป็นเหตุให้ผลงานหลายเรื่องของ เฮนรี่ เจมส์ มักสะท้อนปัญหาจากความผิดพลาดล้มเหลวในชีวิตแต่งงาน เขาเห็นว่าการแต่งงานเป็นเพียงขบวนการสร้างความมั่นคงทางสถาบันเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ผูกมัดมนุษย์จากอิสรภาพทางความคิด จิตวิญญาณ ดังจะเห็นได้ว่าตัวเอกหญิงในนิยายของเขาหลายคน เช่น เดซี่ (Daisy Miller) และ เวเรนา (The Bostonians) ล้วนปรารถนาอิสระ มีความคิดต่อต้านการแต่งงาน แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการเติมเต็มอารมณ์โรแมนติกด้วย เช่นเดียวกับ อิสซาเบล อาร์เชอร์ ตัวเอกใน The Portrait of a Lady ซึ่งเป็นหนังสืออันสะท้อนถึงความเลวร้ายของการเลือกแต่งงานผิดพลาดได้ชวนรันทดหดหู่ เกี่ยวกับหญิงสาวอเมริกันหัวก้าวหน้าผู้เดินทางมาอาศัยอยู่กับคุณลุงคุณป้าในอังกฤษ หลังสูญเสียบิดามารดาไป เธอกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มมากหน้าหลายตา หนึ่งในนั้น คือ ลอร์ดวอร์เบอร์ตัน (ริชาร์ด อี. แกรนท์) ขุนนางชั้นสูง ฐานะดี แต่อิสซาเบลกลับทำตัวสวนกระแสสังคมด้วยการปฏิเสธคำขอแต่งงานของเขา (ตอนหนึ่งเธอถึงกับพูดว่า “ทำไมฉันจะต้องแต่งงานด้วย ฉันไม่อยากเป็นเหมือนลูกแกะทุกตัวในฝูง ถ้าคุณได้ยินข่าวลือว่าฉันกำลังจะแต่งงานละก็ จงอย่าเชื่อเด็ดขาด”) พร้อมให้เหตุผลว่าต้องการรู้จักชีวิตให้ดีขึ้น

แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากญาติฝ่ายชาย ราล์ฟ ทัชเช็ตต์ (มาร์ติน โดโนแวน) ผู้เกลี้ยกล่อมให้บิดามอบเงินก้อนโตแก่อิสซาเบลเป็นมรดกเพื่อจะดูวิธีที่เธอ “จัดการ” กับชีวิตยามที่การหาเลี้ยงปากท้องไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สุดท้ายผู้หญิงหัวรั้น เชื่อมั่นในตัวเองสูง และอ่อนต่อโลกอย่างอิสซาเบลก็พบว่าตนคิดผิด ด้วยการต้องตกเป็นเหยื่อของนักขุดทองชั้นสูง กิลเบิร์ต ออสมอนด์ ผู้ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีอาชีพ ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีเงิน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรเลย เธอพบว่าความต่ำต้อยของกิลเบิร์ตเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ช่างเป็นความเรียบง่าย งดงาม น่าหลงใหล เธอคิดว่าเขาจะช่วยเติมประสบการณ์ที่ขาดหายไป ทำให้เธอได้ค้นพบความสุขในชีวิต... แต่การตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียวด้วยการแต่งงานกับเขา กลับทำให้ชีวิตอิสซาเบลต้องตกต่ำทุกข์ทรมานอย่างคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เธอบรรลุจุดมุ่งหมายในตัว นั่นคือ การรู้จักชีวิตในแง่มุมที่ยังไม่เคยประสบ

อารมณ์มืดหม่นสิ้นหวังในภาพยนตร์ช่วงหลังจากอิสซาเบลตกลงใจแต่งงานกับออสมอนด์ถูกเสริมส่งอย่างมีประสิทธิภาพจากการใช้แสง สี และเสื้อผ้า อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากช่วงต้นเรื่องในฤดูร้อนอันสว่างสดใส ร่าเริง ซึ่งอิสซาเบลผู้กำลังมีเสรี เชื่อมั่น มักจะใส่ชุดสีอ่อน ลวดลายสดใสบ่อยครั้ง ตรงกันข้ามกับช่วงครึ่งหลัง ซึ่งเธอมักจะหันไปซ่อนตัวในชุดสีเข้มเป็นหลัก ขณะที่โทนสีของหนังเองก็เริ่มเน้นให้เห็นเพียงไม่กี่สี เช่น ดำ เทา น้ำเงิน ฉากภายในจะมีแสงลอดเข้ามาน้อยมาก ทำให้บ่อยครั้งตัวละครมักตกอยู่ในเงามืด หรือเดินหายไปสู่ความมืด ส่วนฉากภายนอกก็มักจะถ่ายทำในช่วงพลบค่ำ ท้องฟ้าคลึ้มฝน ประกอบกับการใช้ภาพย้อนแสงบ่อยครั้ง ทั้งหมดล้วนช่วยสะท้อนโทนและเนื้อหาหลักของหนังให้ชัดเจนขึ้น การปิดเรื่องซ้ำกับฉากเปิดเรื่องโดยให้อิสซาเบลมานั่งอยู่ ณ สถานที่เดิม แล้วถูกขอแต่งงานอีกครั้ง แต่ต่างกันตรงที่คราวนี้ ฉากหลังเป็นฤดูหนาว มีหิมะปกคลุมทั่วบริเวณ ส่วนตัวเธอเองก็อยู่ในชุดสีดำไว้ทุกข์ บ่งบอกพัฒนาการของอิสซาเบลได้เสียดสี ชวนให้เจ็บปวด

อิสซาเบล อาร์เชอร์ ถูกสร้างขึ้นมาไม่ต่างจากวีรสตรีทั่วไปในวรรณกรรมโรแมนติก เธอสวย เปี่ยมเสน่ห์ เด็ดเดี่ยว หัวรั้น เฉลียวฉลาดและเชื่อมั่น ต่างกันตรงเธอไม่ได้เติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ด้วยการแต่งงานกับชายที่คู่ควร ดังเช่นตอนจบในนิยายส่วนใหญ่ของ เจน ออสเตน เพราะการบรรลุเป้าหมายสูงสุดของตัวละครอย่างอิสซาเบลจากประสบการณ์ในยุโรป คือ การได้ค้นพบด้านมืดแห่งชีวิต เรียนรู้เกี่ยวกับความชั่วร้ายบนโลกใบนี้ ราคาและเงื่อนไขของอิสรภาพ อันส่งผลกระทบให้วัยบริสุทธิ์ของเธอต้องพบกับจุดจบที่น่าอนาถ

รูปธรรมของมารร้ายใน The Portrait of a Lady ก็คือ กิลเบิร์ต ออสมอนด์ นั่นเอง สะท้อนผ่านพฤติกรรมที่เขาปฏิบัติต่อผู้หญิงทั้งสี่รอบข้าง คือ พี่สาว เอมี่ ลูกสาว แพนซี (วาเลนตินา เซอร์วิ) ชู้รักและแม่ของแพนซี เซเรนา แมร์ และภรรยา อิสซาเบล บทบาทของคนแรกไม่ใคร่จะโดดเด่นนัก แต่เธอก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าหวาดกลัว ยำเกรงกิลเบิร์ต ส่วนคนที่สองนั้นเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นผู้ถูกกระทำ ซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างเต็มตัว แพนซีเติบโตขึ้นมาในคอนแวนต์ เปรียบเสมือนกระดาษขาวที่รอการจารึก ทั้งชีวิตเธอไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะของกิลเบิร์ต ไร้อารมณ์ ไม่โต้แย้ง บูชาเขาสุดหัวใจ เหตุนี้เขาจึงใช้เธอเป็นบันไดไต่เต้าทางสังคมได้อย่างง่ายดาย ครั้งแรกด้วยความพยายามจะขายเธอให้กับลอร์ดวอร์เบอร์ตัน แต่เมื่อไม่สำเร็จ และพบว่าแพนซีกำลังออกนอกลู่นอกทางเพราะดันไปหลงรักชายหนุ่มที่รวยไม่พอในสายตาของกิลเบิร์ตนาม เอ็ดเวิร์ด โรเซียร์ (คริสเตียน เบล) เขาก็ลงโทษเธอด้วยการส่งตัวกลับคอนแวนต์... เฮนรี่ เจมส์ เปรียบเทียบพฤติกรรมคลุมถุงชนแพนซีของกิลเบิร์ตว่าไม่ต่างอะไรกับ “การแต้มสีสุดท้ายในงานศิลปะอันจะต้องรอบคอบ ระมัดระวังเป็นพิเศษ” เนื่องจากเมื่อตกลงขายงานศิลปะทอดตลาดแล้ว งานชิ้นนั้นก็ไม่ใช่ของเขาอีกต่อไป เขาจึงต้องการให้มั่นใจในผลตอบแทนที่จะได้กลับมา

ส่วนตัวละครอย่าง เซเรนา แมร์ นั้นไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ตรงกันข้าม เธอเป็นนักวางแผนใจทมิฬมากกว่า เธอวางกับดักล่อให้อิสซาเบลแต่งงานกับออสมอนด์เพราะหวังว่ามันจะสร้างประโยชน์แก่ชีวิตแพนซี แบบที่เธอและออสมอนด์ไม่สามารถให้ได้เนื่องจากต่างก็ไม่มีเงิน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนิยายกับหนังล้วนบ่งชี้ชัดว่าเซเรนาเองก็ตกเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือให้กิลเบิร์ตย่ำยีเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ การอุทิศตนอันผิดที่ผิดทางเป็นเหตุให้เธอต้องถวายวิญญาณ สำนึกผิดชอบชั่วดี รวมไปถึงตัวตนภายในเพื่อสังเวยความทะเยอทะยานของอดีตคู่รักเก่า ผู้พร้อมจะสลัดเธอทิ้งได้ทุกขณะ เธอคือจอมทรยศที่ถูกหักหลัง ความแตกต่างระหว่างตัวละครทั้งสอง คือ เซเรนาพาตัวเองเข้าไปเล่นในละครที่เธอสร้างขึ้น ตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของอิสซาเบลในตอนท้าย และรู้สึกผิดต่อความชั่วที่ร่วมกระทำกับออสมอนด์ ประโยคที่เธอกล่าวหาเขาว่า “ไม่เพียงแต่น้ำตาเท่านั้น คุณยังทำให้จิตวิญญาณของฉันเหือดแห้งไปด้วย” สามารถเรียกร้องความเห็นใจจากคนดูได้ไม่น้อย

ความหวังในการแต่งงานกับอิสซาเบลของออสมอนด์ คือ ต้องการจะเป็นเจ้าของเธอทั้งภายนอก (ทรัพย์สิน) และภายใน (ความคิด จิตวิญญาณ) เขาไม่ปรารถนาให้เธอมีอะไรนอกจากหน้าตาที่สวยงาม และเมื่อกระทำไม่สำเร็จ ออสมอนด์จึงไม่เหลืออารมณ์ใดๆ ต่อเธอนอกจากความเกลียดชัง ขณะเดียวกันการค้นพบด้านมืดของสามีก็ค่อยๆ ทำให้โลกของอิสซาเบลมืดลงทุกขณะ กิลเบิร์ตสอนให้เธอได้ค้นพบความเลวร้ายสูงสุดเท่าที่บุคคลหนึ่งจะถูกกระทำได้ นั่นคือ การกักขังอิสรภาพของพวกเขาไว้

นามธรรมความชั่วร้ายของ The Portrait of a Lady คือ การบูชาตนเอง (egoism) อันปรากฏเด่นชัดในตัวละครสองคน คือ อิสซาเบลและออสมอนด์ คนหนึ่งได้บทเรียนจากการถือตนเองเป็นใหญ่ จนสุดท้ายทำให้เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจต่อการตัดสินปัญหาของตน ฉากจบอันคลุมเครือเมื่ออิสซาเบลวิ่งหนีคำขอผูกมัดของ แคสเปอร์ กูดวูด (วีโก มอร์เทนเซน) เช่นเดียวกับที่เคยทำต่อลอร์ดวอร์เบอร์ตันในช่วงต้นเรื่อง ช่วยสะท้อนความคิดดังกล่าวได้ดี เมื่อเธอกลับยืนลังเลอยู่หน้าประตูท่ามกลางบรรยากาศหนาวเหน็บ ไม่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่เหมือนก่อน เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เธอไม่อาจเชื่อมั่นสัญชาตญาณของตนเองได้อีกต่อไป ต่างกับออสมอนด์ผู้ยังคงเดินหน้าทำตามความต้องการของตนอย่างมืดบอดโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนรอบข้าง เขามีความเชื่อว่าคนเราควรจะต้องยอมรับผลแห่งการกระทำและศักดิ์ศรีของมัน ซึ่งเป็นการกระทบกระเทียบอิสซาเบลไปในตัว เมื่อเธอพยายามจะหลบหนีจากผลแห่งการตัดสินใจของตนเองด้วยการทอดทิ้งเขาไป

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เหตุใดอิสซาเบลจึงไม่สลัดออสมอนด์ทิ้ง แล้วหนีไปใช้ชีวิตอิสระเสียหลังจากเริ่มค้นพบว่าชีวิตแต่งงานเลวร้ายเกินแก้ไข ความรักหรือ? อาจจะใช่ แต่มันน่าจะเหือดแห้งไปนานแล้วนับแต่เธอรู้ความจริงที่ปกปิดอยู่ ฐานะทางสังคมหรือ? เป็นไปได้ เพราะแม่ม่ายหย่าสามีคงไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยนักในสังคมยุคนั้น ไม่มีคำตอบแน่ชัดในตัวนิยายหรือหนัง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ซึ่งในทางกลับกันก็ได้สะท้อนแง่มุมของผู้หญิงตามทัศนะ เฮนรี่ เจมส์ ไปในตัว... ผู้หญิงของ เฮนรี่ เจมส์ มักจะแข็งแกร่ง หัวก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนไหวในความเป็นหญิงด้วย เขาเป็นนักเขียนชายคนแรกๆ ที่เปิดเผยการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ ในยุคบุกเบิกหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง (ฉากหลังของ The Bostonians) ซึ่งคร่าชีวิตประชากรเพศชายไปเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้หญิงหลายคนเริ่มคิดว่าการแต่งงานไม่ใช่หนทางเดียวในการค้นพบตัวตน

การสร้างตัวละครแล้วตั้งชื่อหนังสือว่า “ภาพเหมือนของกุลสตรี” บ่งบอกถึงอิทธิพลทางสังคม ซึ่งกำหนดภาพลักษณ์ของกุลสตรีว่าไม่เกี่ยวกับการศึกษา หรือความเก่งกาจในอาชีพการงาน โดยผู้หญิงในยุคนั้นจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อได้แต่งงานกับผู้ชายชั้นสูงฐานะดีเท่านั้น การแต่งงานเพื่อรักแท้โดยไม่มีเงิน หรือการแต่งงานเพื่อเงินโดยไม่รัก หาใช่ทางออกที่เหมาะสมในนิยายยุคนั้น แต่อิสซาเบลกลับปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งนี้เธอมีสิทธิเลือกคนจนอย่างออสมอนด์เป็นสามีได้เพราะทรัพย์สินอันตกถึงมือชนิดคาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าของเงินหาได้สร้างแต้มต่อแก่เธอแต่อย่างใด หากพิจารณาแล้วจะพบว่าทางเลือกของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่นั้นตีบตันเหลือเกิน จะเป็นอย่างไรหากอิสซาเบลยากจนเหมือนมาดามแมร์ สุดท้ายคงไม่พ้นลักลอบเป็นชู้รักกับออสมอนด์เพื่อความรัก แล้วแต่งงานกับขุนนางอังกฤษเพื่อฐานะ

เฮนรี่ เจมส์ จงใจสร้างตัวละครอย่างอิสซาเบลให้เหนือกว่าผู้หญิงปรกติ ทั้งในเรื่องรูปร่างหน้าตา เสน่ห์ ฐานะทางการเงิน และความคิด ก่อนจะปล่อยให้เธอตกลงมาคลุกฝุ่น เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับกุลสตรีอีกมากมายในยุคนั้นที่เลือกแต่งงานกับชายผิดคนเพื่อชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ไม่วายตกเป็นฝ่ายถูกเลือก ถูกกระทำอยู่ดี ฉากหนึ่งที่ออสมอนด์จงใจเหยียบชายกระโปรงให้อิสซาเบลล้มลงบ่งชี้ชัดเจนว่า กระทั่งเสื้อผ้าก็ยังถูกออกแบบให้ผู้หญิงเป็นเบี้ยล่าง ผลคือ The Portrait of a Lady ไม่เพียงแต่เป็นภาพเหมือนของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพเหมือนของสังคม ประเพณี จารีต และสถาบันการแต่งงาน ซึ่งพยายามจะกักขัง ทำลายพวกเธอให้สูญเสียความเป็นปัจเจกอีกด้วย

ความแตกต่างระหว่าง The Portrait of a Lady กับหนังลิเกฝรั่งเรื่องอื่นๆ คือ ความพยายามเชื่อมโยงอารมณ์ร่วมสมัยกับผู้ชมในปัจจุบัน โดยเฉพาะฉากเปิดเรื่องด้วยการให้หญิงสาวมาพูดถึงรสจูบ ความรัก และสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชายหญิง ก่อนจะตัดภาพไปยังเรื่องราวตามตัวนิยาย ทั้งนี้เพื่อบ่งชี้ว่าผู้หญิงอย่างอิสซาเบล แท้จริงแล้วก็คือภาพสะท้อนของสาวร่วมสมัยนั่นเอง ขณะเดียวกัน ผู้กำกับหญิง เจน แคมเปี้ยน ยังจงใจใช้เทคนิคสมัยใหม่เข้ามาเพิ่มความเคลื่อนไหวด้านภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดอลลี่ หรือการใช้กล้องสเตดิแคมโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลัง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่ง ไม่มั่นคง กระวนกระวายใจ นับแต่อิสซาเบลแต่งงานไปกับออสมอนด์ เทคนิคพิเศษอีกอย่าง ซึ่งเป็นโมทีฟสำคัญ คือ การถ่ายตัวละครผ่านปริซึม หรือขอบกระจกใส ทำให้เกิดภาพซ้อนรูปทรงบิดเบี้ยว สื่อความหมายถึงการแปลกแยก สับสน และวิญญาณที่ถูกดึงออกจากจิตใจ โดดเด่นมากในตอนที่อิสซาเบลถูกออสมอนด์ยื่นคำขาดไม่ให้ไปเยี่ยมราล์ฟ แล้วเธอเดินออกจากห้องนั้นด้วยสีหน้าว่างเปล่า... ร่างกายกับตัวตนของหญิงสาวกำลังถูกแบ่งแยกออกจากกัน จนสุดท้ายสถานการณ์เริ่มบังคับให้เธอต้องเลือกเพียงอย่างเดียวระหว่างชีวิตสมรสกับอิสรภาพ

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ เจน แคมเปี้ยน สูงสุด คือ ฉากการเดินทางทัวร์ยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางของอิสซาเบลด้วยฟิล์มขาวดำ ถ่ายทำเหมือนหนังเงียบยุคบุกเบิก มีการใช้เทคนิคซ้อนภาพในหลายช็อต เช่นเดียวกับการเปลือยร่างหญิงสาวเพื่อแสดงความรู้สึกรัญจวนใจอันรุมเร้าอิสซาเบลเกี่ยวกับตัวออสมอนด์ (ก่อนหน้านี้หนังเคยแสดงให้เห็นความรู้สึกหวามไหวทางเพศของเธอที่ถูกปกปิดไว้อย่างมิดชิดมาแล้วในช่วงต้นเรื่อง เมื่ออิสซาเบลจินตนาการว่าเธอกำลังถูกเล้าโลมโดยผู้ชายสามคนพร้อมๆ กัน) เปรียบไปแล้ว การเดินทางรอบโลกของเธอก็จืดชืดไม่ต่างกับตัวหนังสารคดีดังกล่าว

ภาพรวมของ The Portrait of a Lady อาจน่าผิดหวังไปสักหน่อยสำหรับใครที่เคยประทับใจ The Piano แต่ เจน แคมเปี้ยน ยังคงเป็นเลิศในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ เปี่ยมความหมาย ขณะเดียวกันตัวเนื้อหาเองกลับไม่ได้ล้าสมัยลงตามกาลเวลาแต่อย่างใด เพราะถึงสภาพสังคมปัจจุบันจะแตกต่างจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมากมาย แต่พฤตกรรมของมนุษย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และนั่นเองเป็นจุดมุ่งหมายหลักของแคมเปี้ยน นั่นคือ การตีแผ่ความสลับซับซ้อนแห่งจิตใจมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น: