วันจันทร์, กรกฎาคม 02, 2550

หนังไทยในตลาดโลก


ความสำเร็จอย่างล้นหลามเมื่อหลายปีก่อนของหนังจีนกำลังภายในกรุ่นกลิ่นอายตะวันตกอย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon ซึ่งสามารถโกยเงินในอเมริกามากกว่า 100 ล้านเหรียญ ถึงแม้คนอเมริกันจะขึ้นชื่อว่าชิงชังการอ่านซับไตเติลยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับนักทำหนังในประเภทแถบเอเชียและสตูดิโอจัดจำหน่ายในฮอลลีวู้ด โดยฝ่ายแรกเริ่มมองเห็นโอกาสหาเงินพิเศษเข้ากระเป๋านอกเหนือจากการเปิดฉายหนังในประเทศบ้านเกิด ส่วนฝ่ายหลังก็พลันเกิดความหวังสว่างวูบที่จะขยายความสนใจของผู้คนต่อหนังต่างประเทศไปไกลกว่าโรงอาร์ตเฮาส์จำนวนหยิบมือ

หลังจากนั้น เอเชียได้กลายเป็นเหมือนบ่อขุดทองของฮอลลีวู้ดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และถึงแม้จะมีหนังเอเชียอีกเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในระดับใกล้เคียงกับปรากฏการณ์ Crouching Tiger, Hidden Dragon (นั่นคือ Hero ซึ่งทำรายได้ขึ้นอันดับหนึ่งบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ ก่อนจะปิดบัญชีไปพร้อมกับตัวเลขรวมประมาณ 54 ล้านเหรียญ) แต่กระแสรีเมคหนังเอเชียก็เริ่มครอบงำฮอลลีวู้ดดุจพลังด้านมืด จนนำไปสู่ผลงานโด่งดังและเกือบจะดัง (ทว่าส่วนใหญ่ล้วนดีไม่เท่าต้นฉบับ) อย่าง The Ring, The Grudge, The Lake House, Dark Water และ The Departed

แต่ตลอดช่วงเวลาสี่ห้าปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากหนังญี่ปุ่นและหนังจีน (ซึ่งกินความรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน) แล้ว สองประเทศแห่งภูมิภาคเอเชียที่ธุรกิจภาพยนตร์โดยรวมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลาย จนตลาดโลกต้องหันมาจับตามองด้วยความสนใจ ได้แก่ เกาหลีและไทย โดยความรุ่งเรืองของหนังเกาหลีนั้น คงไม่ต้องสาธยายสรรพคุณให้มากความ เพราะมันได้แพร่กระจายความนิยมเข้ามาในประเทศไทยจนเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว และถึงแม้ธุรกิจหนังไทยจะยังก้าวไกลไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ทิศทาง ณ ปัจจุบันก็เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งในแง่การยอมรับจากตลาดภายในประเทศ (ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยสามารถทำรายได้รวมมากกว่าภาพยนตร์ต่างประเทศไปแบบก้าวกระโดด) และนอกประเทศ

รสชาติแปลกใหม่ในวงกว้าง


ไม่น่าแปลกใจว่าคุณสมบัติหลักของภาพยนตร์ไทยส่งออกระลอกแรก คือ ความแปลก (exotic) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัดสินจากมาตรฐานทางทัศนคติของคนผิวขาว ด้วยเหตุนี้ หนังตลกสุดฮิตอย่าง สตรีเหล็ก หรือ The Iron Ladies จึงถือว่าเข้าข่าย เนื่องจากมันเล่าถึง “เรื่องจริง” ของทีมวอลเลย์บอลกะเทย ที่ต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะบนสนามแข่งและการยอมรับของสังคมไปพร้อมๆ กัน หนังเดินสายเปิดตัวตามเทศกาลภาพยนตร์มากมาย และด้วยความที่มันเป็นหนังสนุก เข้าถึงง่าย และให้ความรู้สึกแปลกใหม่ The Iron Ladies จึงกลายเป็นขวัญใจมวลชนได้อย่างไม่ยากเย็น จนถูกติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดจำหน่ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งอังกฤษ อเมริกา นอร์เวย์ สเปน เยอรมัน ญี่ปุ่น และอิตาลี

สามปีต่อมา อเมริกันชนก็มีโอกาสได้ยลโฉมภาพยนตร์อลังการงานสร้างแห่งสยามประเทศเรื่อง สุริโยไท แต่เป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ความยาวถูกลดทอนลงประมาณ 40 นาที ภายใต้การควบคุมของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า เพื่อนร่วมชั้นเรียนของท่านมุ้ยสมัยเรียนอยู่ UCLA (ชื่อเต็มๆ คือ Francis Ford Coppola Presents: The Legend of Suriyothai) หนังดูจะได้รับความสนใจพอควรในแง่รายละเอียดงานสร้าง รวมทั้งการแจกแจงขนบประเพณีอันแปลกแตกต่างจากโลกตะวันตก แต่ล้มเหลวในการสร้างกระแสฟีเวอร์วงกว้าง ทั้งนี้เนื่องจากฝรั่งส่วนใหญ่หาได้ “อิน” กับประวัติศาสตร์ไทย หรือมีข้อมูลภูมิหลังแน่นพอจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร และที่สำคัญตัวหนังเองก็ไม่ได้ “ย่อย” ให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้นด้วย ส่งผลให้นักดูหนังจำนวนมาก (แม้กระทั่งคนไทยด้วยกันเอง) รู้สึกเหมือนหลงทางท่ามกลางเขาวงกต

โดยเปลือกนอกแล้ว องค์บาก (Ong Bak: The Thai Warrior) ถือเป็นขั้วตรงกันข้ามของ สุริโยไท เนื่องจากเรื่องราวของหนังค่อนข้างเรียบง่าย เบาบาง และตัวละครหลักๆ ก็มีอยู่แค่ไม่กี่คน แต่แก่นหลักของมันยังคงขายความแปลก แตกต่างอยู่ดี โดยคราวนี้อาจเปลี่ยนจากฉากหลังย้อนยุค ราชวัง และการชนช้าง มาเป็นมวยไทย ศิลปะป้องกันตัว และฉากแอ็กชั่นประเภทไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน และไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟฟิก

หนังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เปิดตัวในอันดับ Top 20 บนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ของอเมริกาจากการทำเงินได้มากกว่า 1.3 ล้านเหรียญในช่วงสามวันแรก ก่อนสถิติดังกล่าวจะถูกทำลายลงโดย ต้มยำกุ้ง (The Protector) ซึ่งเปิดตัวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในอันดับ Top 10 ด้วยรายได้กว่า 5 ล้านเหรียญ จากจำนวนโรงฉายมากกว่า 1500 โรง จนกล่าวได้ว่านี่คือภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เปิดฉายแบบวงกว้างในอเมริกา แต่ดูเหมือนหนังจะไม่สามารถยืนโรงได้ยาวนานนัก เมื่อบรรดาผู้ชมและนักวิจารณ์จำนวนมากค้นพบว่านอกจากจะไม่ใช้ลวดสลิงหรือตัวแสดงแทนแล้ว หนังยังปราศจากบทภาพยนตร์ การเล่าเรื่องที่ปะติดปะต่อเป็นเหตุผลกัน ตลอดจนพล็อตเรื่องให้จับต้องเป็นชิ้นเป็นอันอีกด้วย

กระนั้น ความสำเร็จของ องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ได้ส่งผลให้ พนม ยีรัมย์ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ส่งออกคนแรกของไทย และอาจก้าวขึ้นเทียบชั้น บรูซ ลี หรือ เฉินหลง ได้ในอนาคต นิตยสารชั้นนำหลายเล่มในอเมริกา เช่น GQ และ Entertainment Weekly ได้นำเรื่องราวของเขาไปตีพิมพ์ พร้อมกับยกย่องให้เขาเป็นดาวเด่นดวงใหม่แห่งวงการ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว กระทั่งดาราจากแดนกิมจิก็ยังเอื้อมไปไม่ถึง

ขวัญใจเทศกาลภาพยนตร์


อาจกล่าวได้ว่าคลื่นลูกแรกของหนังไทยในตลาดโลกเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ฟ้าทะลายโจร หรือ Tears of the Black Tiger ผลงานกำกับของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เปิดตัวอย่างเอิกเกริก ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ (หนึ่งปีหลังจาก Crouching Tiger, Hidden Dragon) และสร้างความประทับใจให้กับนักวิจารณ์ฝรั่งตาน้ำข้าวจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานด้านภาพสไตล์โพสต์โมเดิร์น ที่เน้นสีสันฉูดฉาด เหนือจริง แต่อิงอารมณ์ถวิลหาอดีต จน ชัค สตีเฟนส์ นักวิจารณ์แห่ง Film Comment ซึ่งเป็นนิตยสารภาพยนตร์ชั้นนำในอเมริกา ขนานนามมันว่า “คาวบอยผัดไทย” ซึ่งเกิดจากส่วนผสมระหว่างภาพยนตร์แอ็กชั่นของไทยยุค 1970 กับหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้ของ เซอร์จิโอ ลีโอเน (Once Upon a Time in the West) ขณะที่อีกหลายคนกล่าวอ้างถึงอิทธิพลของผู้กำกับคนอื่นๆ อย่าง จอห์น วู, แซม เพ็คกินพาห์, ดั๊กลาส เซิร์ก และเควนติน ตารันติโน

อนาคตของหนังยิ่งดูสดใสขึ้น เมื่อสตูดิโออิสระขนาดใหญ่อย่างมิราแม็กซ์ เจ้าของภาพยนตร์รางวัลออสการ์อย่าง Shakespeare in Love และ The English Patient ได้ลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังในอเมริกาไปครอง แต่แล้วไม่นานทุกอย่างกลับกลายเป็นฝันร้ายไม่รู้จบ เมื่อ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตล์ บอสใหญ่แห่งมิราแม็กซ์ (ในขณะนั้น) เริ่มแผลงฤทธิ์ด้วยการยืนกรานว่าหนังจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มันสามารถ “ขายได้” ในอเมริกา วิศิษฏ์พยายามจะยื่นข้อเสนอขอตัดหนังเองให้สั้นลงกว่าฉบับอินเตอร์ (เวอร์ชั่นดั้งเดิมของหนังยาวประมาณ 110 นาที ส่วนเวอร์ชั่นฉายต่างประเทศมีความยาวประมาณ 101 นาที) แต่ทางมิราแม็กซ์กลับปฏิเสธ

“ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดหนัง” วิศิษฏ์กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times “พวกเขาทำกันเองแล้วส่งเทปมาให้ผมดู นอกจากนี้ พวกเขายังเปลี่ยนตอนจบเป็นแบบ แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง ด้วย พวกเขาบอกว่าหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่มีใครอยากดูหนังเศร้ากันหรอก”

พอรุมโทรมทางความคิดสร้างสรรค์กันจนหนำใจแล้ว มิราแม็กซ์ก็นำ Tears of the Black Tiger เวอร์ชั่นใหม่ไปฉายเปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2002 ก่อนจะตัดสินใจดองหนังขึ้นชั้นแบบไม่มีกำหนดด้วยความกลัวว่าหนังจะล้มเหลวในการเปิดฉายวงกว้าง หลายปีผ่านไป ลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายได้เปลี่ยนมือมายังสตูดิโออิสระขนาดเล็กลงอย่าง แม็กโนเลีย พิคเจอร์ส ซึ่งจัดฉายหนังแบบจำกัดโรงในอเมริกาไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หกปีหลังจากมิราแม็กซ์ได้ลิขสิทธิ์หนังมาครอง

อย่างไรก็ตาม หลังความล้มเหลวในบ้านเกิด (หนังทำเงินแบบกระมิดกระเมี้ยนเหลือทน) และหายนะแห่งการจัดจำหน่ายของค่ายมิราแม็กซ์ หนังเปี่ยมสไตล์หวือหวาของวิศิษฏ์เรื่องนี้ก็ได้ “เกิดใหม่” ตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั่วโลก มันคว้ารางวัล Dragons and Tigers มาครองจากเทศกาลหนังเมืองแวนคูเวอร์ และถูกนำเข้าฉายในประเทศต่างๆ มากมายรวมถึงฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ แต่ที่สำคัญสูงสุด คือ มันเป็นหนังที่ทำให้นักวิจารณ์และนักดูหนังเริ่มเบนสายตามาจับจ้องประเทศไทยในฐานะเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย

ในปีเดียวกับที่ ฟ้าทะลายโจร คว้ารางวัลจากเมืองแวนคูเวอร์มาครอง หนังสารคดีกึ่งทดลองเล็กๆ เรื่องหนึ่งก็ได้เปิดตัว ณ เทศกาลเดียวกันท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างอบอุ่น นั่นคือ ดอกฟ้าในมือมาร หรือ Mysterious Object at Noon ผลงานกำกับชิ้นแรกของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. ปราศจากรูปแบบการเล่าเรื่องแบบที่คนดูคุ้นเคย และอัดแน่นไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนทำให้มันไม่เป็นที่สนใจของนักดูหนังในวงกว้าง แต่กลับดึงดูดบรรดาคอหนังอาร์ต รวมไปถึงนักวิจารณ์จำนวนหนึ่งให้หลงใหลได้ปลื้ม

เอลวิส มิทเชลล์ นักวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ New York Times เขียนถึงผลงานชิ้นแรกของอภิชาติพงศ์ว่าเปรียบเหมือน “บทเพลงแชมเบอร์ที่ค่อยๆ ขยายขอบเขต ความลุ่มลึก จนกระทั่งกลายเป็นบทเพลงซิมโฟนี”

ผลงานลำดับถัดมาเรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ช่วยตอกย้ำคุณสมบัติ “ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน” ของหนังอภิชาติพงศ์ให้เด่นชัดขึ้น พร้อมกับผลักดันชื่อเสียงของเขาให้ยิ่งขจรขจาย เมื่อมันคว้ารางวัลสูงสุดในสาย Un Certain Regard จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครอง โดยโครงเรื่องคร่าวๆ ของหนังพูดถึงความรักระหว่างหญิงไทยกับชายพม่าที่เข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย และความพยายามของเธอที่จะรักษาผื่นประหลาดของเขา หนังได้เข้าฉายแบบจำกัดโรง (มากๆ) ในเมืองไทยหลังกองเซ็นเซอร์สั่งให้หั่นฉากเซ็กซ์ออกไปประมาณ 10 นาที ก่อนจะลาโรงไปอย่างเงียบเหงา ซึ่งนั่นแทบจะเป็นชะตากรรมแบบเดียวกับหนังดังกว่าเรื่องถัดมาของอภิชาติพงศ์ นั่นคือ สัตว์ประหลาด (Tropical Malady) ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้ฉายในสายการประกวดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ และลงเอยด้วยการคว้ารางวัล Jury Prize มาครอง

ถึงแม้จะเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ (ฝรั่ง) ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ในนิตยสารอย่าง Film Comment, Village Voice และ Cahiers du Cinema รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ New York Times แต่หนังส่วนใหญ่ของอภิชาติพงศ์อาจไม่ค่อยเหมาะกับตลาดวงกว้างเท่าใดนัก (Blissfully Yours ไม่มีผู้จัดจำหน่ายในอเมริกา ส่วน Tropical Malady และ Syndromes and a Century ผลงานชิ้นล่าสุดของเขา ได้เข้าฉายแบบจำกัดโรง) และพูดได้ว่าตลาดวงกว้างเองก็คง “เข้าไม่ถึง” หนังของเขาด้วย เนื่องจากพวกมันค่อนข้างดูยาก ไม่สนุก และ “อาร์ต” เกินไป ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการแช่ภาพอันอ้อยอิ่ง การแบ่งโครงสร้างหนังเป็นสองส่วน การเร้าอารมณ์ด้วยเทคนิคภาพยนตร์แบบน้อยมากถึงน้อยที่สุด หรือการไม่อธิบายพฤติกรรม ตลอดจนความคิดของตัวละคร

ถ้าผลงานของวิศิษฏ์เกิดจากการแตกหน่อของแนวทางภาพยนตร์ (genre) ที่ชัดเจน เช่น หนังคาวบอย ใน ฟ้าทะลายโจร หนังรักโรแมนติก ใน หมานคร (Citizen Dog) และหนังสยองขวัญ ใน เปนชู้กับผี (The Unseeable) ส่วนหนังของอภิชาติพงศ์เกิดจากความพยายามจะทำลายขนบดั้งเดิมของการเล่าเรื่อง หนังของ เป็นเอก รัตนเรือง ก็ดูเหมือนจะวางตัวอยู่ตรงกึ่งกลางอย่างพอเหมาะ

เป็นเอกอาจเริ่มต้นสร้างหนังมาก่อนผู้กำกับคลื่นลูกใหม่สองคนก่อนหน้า แต่เขาต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่งกว่าจะสร้างชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ หนังเรื่องแรกของเขา ฝัน บ้า คาราโอเกะ มีความเป็นหนังทดลองอยู่พอตัว แต่ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากหนังเรื่องอื่นๆ มากไปหน่อย เขาเริ่มพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเด่นชัดขึ้นใน เรื่องตลก 69 ผลงานกำกับชิ้นที่สอง ซึ่งลงตัวกว่าและได้เสียงตอบรับทางคำวิจารณ์ดีกว่า แต่ผลงาน “โกอินเตอร์” อย่างแท้จริงเรื่องแรกของเป็นเอก ได้แก่ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ที่ได้รับเชิญให้ไปฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก และคว้ารางวัลหนังเอเชียนยอดเยี่ยมาครองจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองซีแอตเติล

เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (Last Life in the Universe) ถือเป็นหนังที่มีความสำคัญยิ่งในหลายด้าน กล่าวคือ นอกจากมันจะสร้างชื่อเสียงให้เป็นเอกและประเทศไทยในระดับโลกแล้ว (คว้ารางวัล Upstream Prize ได้จากเทศกาลหนังเมืองเวนิซ) มันยังเป็นหนัง “สหชาติ” อีกด้วย จากการจับมือร่วมงานกันของผู้กำกับเลือดใหม่ชาวไทยกับตากล้องชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นขาประจำของหว่องกาไว (คริสโตเฟอร์ ดอยล์) และนักแสดงชาวญี่ปุ่น ที่ชื่นชอบความท้าทาย (ทาดาโนบุ อาซาโน่) หนังเป็นการร่วมทุนสร้างของหลายประเทศ พูดหลายภาษา ทั้งอังกฤษ ไทย และญี่ปุ่น แต่เนื้อหาของมันเกี่ยวกับแรงดึงดูดแห่งรัก ความโดดเดี่ยว และความไม่ต้องการจะอยู่คนเดียวในจักรวาลของมนุษย์กลับสื่อสารถึงคนดูทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติได้อย่างยอดเยี่ยม

ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Last Life in the Universe (เปิดฉายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบ 20 ประเทศรวมถึงอเมริกา อิตาลี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ญี่ปุ่น และฮ่องกง) ส่งผลให้กลุ่มสามทหารเสือ (เป็นเอก/ดอยล์/อาซาโน่) กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งใน คำพิพากษาของมหาสมุทร หรือ Invisible Waves ซึ่งได้รับเลือกให้เข้าประกวดในสายการแข่งขันของเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลิน

ด้วยประสบการณ์การทำงานข้ามชาติอันโชกโชนและสไตล์หนังโดยรวมซึ่งน่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนดูในวงกว้างได้มากกว่าหนังของอภิชาติพงศ์ มันคงไม่ใช่เรื่องแปลก หาก เป็นเอก รัตนเรือง จะกลายเป็นผู้กำกับโกอินเตอร์คนแรกในกลุ่มคลื่นลูกใหม่ของไทย (แม้ว่าวิศิษฏ์ดูจะเป็นผู้กำกับที่ยอมโอนอ่อนตามตลาดได้มากสุดก็ตาม สังเกตจากผลงานชิ้นล่าสุดของเขา) แล้วไม่นานเขาก็อาจค่อยๆ เจริญรอยตาม อั้งลี่ ในฐานะนักทำหนังโลก (world filmmaker) ผู้ไม่สังกัดสัญชาติใดแน่ชัดและสามารถทำหนังได้ทั่วทุกมุมโลก ถึงแม้ ณ ปัจจุบันนี้ หนังส่วนใหญ่ของเป็นเอกจะมีความเป็น “อาร์ต” อยู่ค่อนข้างสูง (เกินไป?) เมื่อเทียบกับหนังยุคแรกๆ ของอั้งลี่อย่าง The Wedding Banquet และ Eat Drink Man Woman

แต่ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกได้เปิดรับภาพยนตร์ไทยเข้าสู่อ้อมแขนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

I have tagged you as THE THINGKING BLOGGER. The details are in the link below:

http://celinejulie.blogspot.com/2007/07/five-blogs-that-make-me-think.html


:-)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ