วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

The Irishman: สุสานคนเป็น

หากจะเทียบไปแล้วหนังแก๊งสเตอร์คงเปรียบเสมือนภาพจำของ มาร์ติน สกอร์เซซี ไม่ต่างจาก คลินต์ อีสต์วู้ด กับหนังคาวบอย เขาเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงจาก Mean Streets ซึ่งเข้าฉายตามหลัง The Godfather ราวหนึ่งปีครึ่ง นำเสนอโลกของมาเฟียในรูปแบบที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่เรื่องราวและสไตล์การทำหนัง มันดูดิบ สมจริง เรียบง่ายแต่อัดแน่นด้วยพลังหนุ่ม ปราศจากการปรุงแต่ง และมีความเป็นส่วนตัวจากประสบการณ์ของสกอร์เซซีเอง ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวชาวอิตาเลียนชนชั้นแรงงานย่าน โลเวอร์ อีสต์ไซด์ แทนความผึ่งผาย งามสง่าแบบหนังมหากาพย์ นำเสนอภาพรวมของการคอรัปชั่นในอเมริกา สังคมชายเป็นใหญ่ในครอบครัวอิตาเลียน-อเมริกัน-โรมันคาทอลิก หรือการดิ้นรนของเหล่าผู้อพยพในดินแดนแห่งโอกาสแบบ The Godfather สกอร์เซซีกลับเลือกจะย้อนกลับไปยังยุค 1930s เมื่อหนังแก๊งสเตอร์เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นครั้งแรก แล้วโฟกัสไปยังวิถีแห่งอาชญากรรมและชีวิตของอาชญากร ทำเช่นนั้นมาตลอดตั้งแต่ Goodfellas จนถึง Casino และอาจเหมารวมถึง The Wolf of Wall Street ซึ่งให้อารมณ์เหมือนหนังมาเฟียโดยจิตวิญญาณ แม้จะเปลี่ยนฉากหลังมาเป็นตลาดหุ้นก็ตาม

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะบอกว่า The Irishman เป็นเหมือนบทสรุปส่งท้ายของสกอร์เซซีต่อตำนานมาเฟียอิตาเลียนแบบเดียวกับ Unforgiven เป็นบทสรุปส่งท้ายของอีสต์วู้ดต่อตำนานคาวบอยตะวันตก ขณะเดียวกันหนังแก๊งสเตอร์ก็ดำเนินมาถึงกาลอวสานในแง่ความนิยมเช่นเดียวกับหนังคาวบอย กลายเป็นเพียงตำนานซึ่งรอวันสิ้นลมไม่ต่างจากสภาพของ แฟรงค์ เชียแรน (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ในบ้านพักคนชรา (การที่สกอร์เซซีไม่สามารถหาทุนสร้างจากสตูดิโอใดๆ ได้จนกระทั่งเน็ตฟลิกซ์อ้าแขนรับเป็นข้อพิสูจน์อยู่กลายๆ ว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงสูงในเชิงพาณิชย์)

ฉากลองเทคเปิดเรื่องของ The Irishman เมื่อกล้องค่อยๆ เคลื่อนไปสำรวจบ้านพักคนชรา ก่อนสุดท้ายจะเดินทางมาหยุดอยู่ตรงหน้าแฟรงค์ ซึ่งกำลังจะสาธยายถึงชีวิตอันโลดโผนของเขาในแวดวงอาชญากรรม ชวนให้นึกถึงลองเทคอันลือลั่นจาก Goodfellas เมื่อ เฮนรี ฮิล (เรย์ ลิออตตา) พาแฟนสาวไปโคปาคาบานา ไนท์คลับชื่อดังในนิวยอร์ก เพื่ออวดอ้างอภิสิทธิ์และเงินทองซึ่งมาพร้อมกับชีวิตแก๊งสเตอร์ เขาพาเธอลัดเลาะเข้าทางหลังร้านโดยไม่ต้องต่อคิวเฉกเช่นลูกค้าทั่วไป ก่อนผู้จัดการร้านจะกุลีกุจอจัดโต๊ะเสริมพิเศษให้หน้าเวที

ความแตกต่างของสองฉากดังกล่าวสะท้อนความแตกต่างทางด้านโทนอารมณ์ของหนังทั้งสองเรื่องไปในตัว ถ้า Goodfellas เป็นหนุ่มวัยคะนองที่หลงละเลิงกับความอู้ฟู่หรูหรา รวมถึงพลังพลุ่งพล่านแห่งอะดรีนาลีน The Irishman ก็คงเป็นชายแก่วัยชราที่กำลังทบทวนความผิดพลาดในอดีต หนังเรื่องแรกนำเสนอฉากการฆ่า ฉากความรุนแรงอย่างระห่ำ เถรตรง เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานและชีวิตชีวา ส่วนเรื่องหลังถ้าไม่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น เช่น ฉากลอบฆ่าในร้านตัดผม ซึ่งกล้องจับภาพไปแผงดอกไม้ของร้านติดกัน ก็มักจะถูกถ่ายทอดอย่างรวดเร็ว ฉับไว แต่ในเวลาเดียวกันกลับดูสมจริงอย่างมาก เช่น ฉากปลิดชีพ เครซี โจ (เซบาสเตียน มานิสคัลโค) และ จิมมี ฮอฟฟา (อัล ปาชิโน) ปราศจากเศษเสี้ยวของการเทิดทูน ยกย่อง ซึ่งบางครั้งอาจสัมผัสได้จางๆ ในหนังอย่าง Goodfellas หรือ Taxi Driver จุดนี้เองทำให้หนังสอดคล้องกับ Unforgiven ซึ่งถ่ายทอดความรุนแรงด้วยท่าทีตรงกันข้ามกับหนังคาวบอยยุครุ่งเรืองของอีสต์วู้ด โลกตะวันตกหาได้สิ่งสวยงาม ยิ่งใหญ่อีกต่อไป ไม่มีฮีโร่เก่งกาจ ชวนให้รู้สึกฮึกเหิม มีแต่ชายชราสังขารโรยรา ความป่าเถื่อน และการลอบยิงข้างหลัง ส่วนฉากการฆ่าก็หาได้เร้าใจ แต่กลับหดหู่ น่าสังเวช

ขณะที่ เฮนรี ฮิล ฝันอยากเป็นแก๊งสเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แฟรงค์ เชียแรน กลับก้าวเข้าสู่แวดวงอาชญากรรมในลักษณะจับพลัดจับผลู หลังจากได้เจอ รัสเซลล์ บูฟาลีโน (โจ เปสซี) โดยบังเอิญในปั๊มน้ำมัน ก่อนต่อมาจะได้รับการแนะนำให้รู้จักอย่างเป็นทางการโดย บิล บูฟาลีโน (เรย์ โรมาโน) ทนายความของสหภาพแรงงาน/ญาติของรัสเซลล์ที่ช่วยแฟรงค์ให้รอดพ้นจากข้อหาขโมยเนื้อวัวของบริษัทนายจ้างมาขายต่อให้ สกินนี เรเซอร์ (บ็อบบี คานนาวาลี) คุณสมบัติของแฟรงค์ที่ต้องตาต้องใจรัสเซลล์ คือ ความซื่อสัตย์ จากการที่เขาไม่คิดจะซัดทอดใครเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด รวมถึงทัศนคติในการปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทั้งภายนอกและภายใน ฉากที่รัสเซลล์สอบถามแฟรงค์ถึงประสบการณ์ในช่วงสงครามเปิดเผยแก่นแนวคิดของแฟรงค์ได้อย่างชัดเจน พอการประจันหน้าเริ่มต้นขึ้น คุณก็ลืมทุกอย่าง ทำได้แค่พยายามเอาตัวรอด อย่าตายไปซะก่อน และเมื่อผ่านสงครามมาได้ ผมก็บอกกับตัวเองว่าจากนี้ไปอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด การเอาตัวรอดและรับหน้าที่ตามคำสั่งอย่างมืดบอดทำให้เขาต้องทรยศเพื่อนรัก สูญเสียครอบครัว รวมถึงจิตวิญญาณ แต่ในเวลาเดียวกันก็กลายเป็นคนสุดท้ายที่เหลือรอด

ทั้งหมดมันคุ้มค่าไหม ช่วงยี่สิบนาทีสุดท้ายของหนังดูเหมือนจะมอบคำตอบอยู่ในที เมื่อคนดูต้องเฝ้ามองแฟรงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายตามลำพังในบ้านพักคนชรา ไม่สามารถปรับความเข้าใจกับลูกๆ ที่เหลืออยู่ได้ ออกไปช้อปปิ้งโลงศพและเลือกสถานที่เก็บศพด้วยตัวเอง ในช็อตสุดท้ายของหนังแฟรงค์ได้ขอให้บาทหลวงเปิดแง้มประตูห้องของเขาไว้ เหมือนเป็นความปรารถนาที่จะยื่นมือออกไปสัมผัสโลกภายนอก หรือใครสักคน แต่ก็ยังตั้งการ์ดระแวดระวังตามสัญชาตญาณของการใช้ชีวิตไต่เส้นด้ายในโลกแห่งมาเฟีย เมื่อสองเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเดินทางมาขอให้แฟรงค์เปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นกับฮอฟฟา เพื่อลูกๆ ของฮอฟฟาจะได้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เขากลับยืนกรานปฏิเสธ ไม่ยอมปริปากพูด แม้ว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องจะลาโลกกันไปหมดแล้ว หรือบางทีเขาอาจแค่ต้องการปกป้องตัวเองจากความจริงอันเจ็บปวด แฟรงค์อาจปากแข็งว่าตนไม่นึกเสียใจ หรือสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไป แต่การเลือกสารภาพบาปกับบาทหลวงก็บ่งบอกชัดแจ้งว่าเขาไม่ได้ด้านชาเสียทีเดียว คนประเภทไหนกันถึงโทรไปพูดแบบนั้นได้ เขารำพึง เมื่อนึกย้อนถึงการต้องปลอบขวัญภรรยาฮอฟฟาอย่างตะกุกตะกัก หลังจากเป็นคนลงมือสังหารสามีเธอกับมือ

ครั้งแรกที่ฮอฟฟานอนพักในโรงแรมห้องเดียวกับแฟรงค์ เราจะเห็นเขาแง้มประตูห้องนอนไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไว้ใจหนุ่มชาวไอริช ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นบอดี้การ์ด มากแค่ไหน ความยอกย้อนอันน่าขำขื่นของฉากดังกล่าวอยู่ตรงที่สุดท้ายแล้วกลับเป็นแฟรงค์ที่ลงมือปลิดชีพเขา ดังนั้นคำขอของแฟรงค์ในฉากสุดท้ายให้บาทหลวงแง้มประตูห้องเขาเอาไว้จึงอาจเป็นการสื่อนัยให้เห็นว่าเขาเสียใจต่อการกระทำของตน และในเวลาเดียวกันก็เชื้อเชิญให้การลงทัณฑ์ดำเนินมาถึงเฉกเช่นเหล่าอันธพาลทั้งหลายในเรื่อง ซึ่งหนังขึ้นคำบรรยายถึงชะตากรรมบั้นปลาย (ส่วนใหญ่ล้วนจบไม่ค่อยสวย) ตั้งแต่ช็อตเปิดตัว แต่น่าเศร้าตรงที่การลงทัณฑ์ไม่เคยมาถึง เช่นเดียวกับการคืนดีกับลูกสาว แฟรงค์ยังคงต้องใช้ชีวิตอันว่างเปล่าต่อไป ไม่ใช่เพราะเขานิสัยดี หรือน่าคบหาจนไม่โดนสั่งเก็บ แต่เพราะเขาปราศจากความสำคัญพอต่างหาก เป็นแค่ฟันเฟือง มดงานที่ทุกคนพากันมองข้าม เป็นมนุษย์ที่ถูกหลงลืม ถูกสาปให้ต้องจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิดและความเสียใจตลอดเวลาบนโลกที่เหลืออยู่

นอกจากนี้ ฉากจบดังกล่าวยังยั่วล้อช็อตสุดท้ายของ The Godfather อยู่ในที เมื่อ เคย์ (ไดแอน คีตัน) โดนปิดประตูใส่หน้าหลังแฟนหนุ่มของเธอได้สถาปนาขึ้นเป็นดอนคนใหม่แทนพ่อของเขา มันเป็นสัญลักษณ์แทนโลกแห่งอาชญากรรม ซึ่งจำกัดแวดวงในหมู่พวกพ้องและปกครองด้วยลัทธิชายเป็นใหญ่ กีดกันเพศหญิงให้อยู่นอกวงรัศมี The Irishman ดูจะสานต่อแนวทางดังกล่าว เมื่อตัวละครหญิงส่วนใหญ่ถูกจำกัดบทบาทเป็นเพียงตัวประกอบ แล้วมุ่งเน้นถ่ายทอดมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างเพศชาย จนบางครั้งก็คาบเกี่ยวนัยยะโฮโมอีโรติก (นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในหนังสกอร์เซซีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Raging Bull) เช่น การได้เห็นฮอฟฟานอนโรงแรมร่วมห้องเดียวกับแฟรงค์เหมือนเป็นคู่ผัวตัวเมีย หรือเมื่อแฟรงค์เล่าถึงการได้เจอรัสเซลล์เป็นครั้งแรกว่า แล้วผมก็ได้พบชีวิตที่เหลือทั้งหมดของผม

แต่ผู้หญิงใน The Irishman ไม่ได้สวมบทเป็นแค่ภรรยาผู้อยู่เคียงข้างสามี หรือนางมารอันตรายแบบใน Goodfellas และ Casino หากแต่ยังเป็นตัวแทนของจิตสำนึกที่เปิดโปงให้เห็นความล่มสลายทางด้านศีลธรรมของแฟรงค์อีกด้วย ผ่านตัวละครอย่างเพ็กกี้ ซึ่งรับบทโดย ลูซี กัลป์ลินา ในวัยเด็ก และ แอนนา พาควิน ในวัยสาว นับจากเห็นพ่อตัวเองกระทืบเจ้าของร้านเบเกอรี่กลางถนน เพ็กกี้พยายามจะหลีกเลี่ยงแฟรงค์กับรัสเซลล์ และเฝ้ามองด้วยสายตาหวาดระแวงและตัดสิน เมื่อได้รับรู้ข่าวการตายอย่างปริศนาตามหน้าสื่อ หรือเมื่อเห็นพ่อของเธอออกไป ทำงาน กลางดึกกลางดื่น ฟางเส้นสุดท้าย คือ เมื่อเธอจับได้ (จากคำถามเพียงประโยคเดียว) ว่าพ่อน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของฮอฟฟา ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับเธอยิ่งกว่าพ่อแท้ๆ เพ็กกี้อาจมีประโยคพูดเพียงหกคำในหนัง แต่ความเงียบและสายตาของเธอสื่อสารได้มากเกินถ้อยคำ สำหรับเพ็กกี้ แฟรงค์ได้ตายจากเธอไปแล้วในวันนั้น และฉากที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเพ็กกี้เลือดเย็นไม่แพ้พ่อของเธอเป็นตอนที่เธอเดินหนีอย่างไม่แยแส เมื่อแฟรงค์ในวัยแก่ชราเดินยักแย่ยักยันมาต่อคิวในธนาคารเพียงเพื่อจะขอพูดคุย สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนถือว่าหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าโทษประหารเสียอีก

เรื่องราวของ แฟรงค์ เชียแรน ไม่เพียงนำเสนอให้เห็นโศกนาฏกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังวิพากษ์ไปถึงภาพรวมของอำนาจซึ่งสามารถล่อลวงผู้คนไปสู่หายนะได้ไม่ยาก แฟรงค์เป็นตัวละครในรูปแบบเดียวกับ Zelig หรือ Forrest Gump ตรงที่เขาได้เข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์อเมริกาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งอาวุธสงครามให้พวกซีไอเอเพื่อขับไล่ ฟิเดล คาสโตร ออกจากคิวบา (เหล่ามาเฟียหนุนหลังเพื่อหวังจะทวงคืนบ่อนกาสิโนในฮาวานา) หรือเป็นคนลงมือสังหาร จิมมี ฮอฟฟา (ซึ่งคำอ้างดังกล่าวถูกถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าไม่เป็นความจริง) ท่ามกลางเรื่องราวที่กินวงกว้าง เกี่ยวโยงไปถึงบุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย สกอร์เซซีได้เปิดเผยให้เห็นว่า (เช่นเดียวกับหนังอย่าง Casino และ The Wolf of Wall Street) ภายใต้เปลือกนอกที่ดูศิวิไลซ์ของการเมืองและธุรกิจขนาดใหญ่ ภายในล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเงินสกปรก การฉ้อฉล และความรุนแรง เหล่ามาเฟียช่วยผลักดัน (และโกงคะแนน) ให้เคนเนดีชนะการเลือกตั้งเพื่อหวังให้เขาช่วยขับไล่คาสโตร สหภาพแรงงานกลายเป็นแหล่งเงินกู้ขนาดใหญ่ของพวกมาเฟียสำหรับสร้างลาสเวกัส ทั้งหมดดำเนินไปอย่างราบรื่นภายใต้กฎ บุญคุญต้องตอบแทนแต่เมื่อใดก็ตามที่กฎดังกล่าวถูกละเมิด การนองเลือดย่อมตามมา ดังกรณีของทั้งฮอฟฟาและเคนเนดี ซึ่งต่างหลงผิดคิดว่าตนอยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร พวกเขาไม่กล้าหรอกฮอฟฟาพูดกับแฟรงค์ เมื่อฝ่ายหลังตักเตือนถึงอันตรายที่คืบคลานเข้ามา ความหัวรั้นและหยิ่งผยองชักนำเขาไปสู่จุดจบ

ความเชี่ยวชาญของสกอร์เซซีในการเล่าเรื่องช่วยให้ช่วงเวลาสามชั่วโมงกว่าผ่านไปอย่างรวดเร็วและเพลิดเพลิน (โครงสร้างของหนังเป็นแฟลชแบ็คซ้อนแฟลชแบ็ค แฟรงค์เล่าเรื่องจากบ้านพักคนชราโดยโฟกัสหลักอยู่ตรงการเดินทางไปร่วมงานแต่งของแฟรงค์กับรัสเซลล์และเมียทั้งสองของพวกเขา ซึ่งระหว่างทางก็มีภารกิจสำคัญให้ต้องสะสาง) เทคนิคภาพยนตร์หลากหลายถูกนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับเรื่องเล่า เช่นเดียวกับอารมณ์ขันร้ายๆ ซึ่งสอดแทรกมาได้อย่างถูกจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นฉากถกเถียงกันเรื่องปลาในรถ หรือสงครามประสาทระหว่างฟลิทซ์ (แกรี บาซาราบา) กับฮอฟฟา ช่วยเบรกอารมณ์ตึงเครียดและเนื้อหาอันหนักอึ้งได้อย่างชะงัก แต่อารมณ์ขันที่ร้ายกาจที่สุดได้แก่ ช่วงท้ายเรื่อง เมื่อสกอร์เซซีลากยาวมาถึงบั้นปลายชีวิตของแฟรงค์กับรัสเซลล์ ทำให้คนดูได้เห็นสภาพสังขารอันน่าสังเวชของชายที่เคยเปี่ยมไปด้วยอำนาจ สั่งเป็นสั่งตายคนได้

ในฉากหนึ่งพยาบาลสาวถามแฟรงค์ว่าผู้ชายในรูปเป็นใคร เขาตอบว่า จิมมี ฮอฟฟา เธอไม่รู้จัก หรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อเขาเสียด้วยซ้ำ ผู้ชายซึ่งเคยโด่งดังระดับ เอลวิส เพรสลีย์ และ The Beatles ในยุค 50-60 ผู้ชายซึ่งเคยทรงอิทธิพลสูงสุดในประเทศอเมริกา เป็นรองก็เพียงประธานาธิบดีเท่านั้น ผู้ชายซึ่งยืนกรานว่าสหภาพแรงงานเป็นของเขาเพราะเขาสร้างมันมากับมือและไม่ยินยอมจะสละอำนาจให้ใครอื่น ตอนนี้เขากลับกลายเป็นแค่บุคคลนิรนามที่สูญหายไปพร้อมกับยุคสมัย... สุดท้ายแล้วผู้ชนะที่แท้จริงก็คือกาลเวลา

ไม่มีความคิดเห็น: