วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

The Color Purple: อหังการของดอกไม้

ผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก เคยให้สัมภาษณ์ว่า The Color Purple เป็นหนัง จริงจังเรื่องแรกของเขา ถ้าไม่ได้ผ่านด่านนี้มาก่อน เขาก็คงไม่มีทางเดินหน้าทำหนังอย่าง Empire of the Sun และ Schindler’s List ได้ ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นโปรเจ็กต์ที่ท้าทายพ่อมดแห่งฮอลลีวู้ดในหลายๆ ด้านด้วยกัน อย่างแรกเลย คือ มันเป็นหนังดรามาสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แนวที่เขาถนัด หรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป มันเหมือนกับผมว่ายน้ำสูงระดับเอวมาตลอดชีวิต และทุกอย่างก็ไปได้สวย แต่ตอนนี้ผมต้องเปลี่ยนไปว่ายตรงด้านน้ำลึกของสระแล้ว

อีกหนึ่งความกดดันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงอยู่ตรงที่ The Color Purple ดัดแปลงจากนิยายชนะรางวัลพูลิทเซอร์ ซึ่งเป็นที่รักและยกย่องเทิดทูนในหมู่คนผิวสีอย่างกว้างขวาง เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของหญิงสาวผิวดำในรัฐทางตอนใต้ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะตั้งข้อกังขากับการเลือกผู้กำกับผิวขาวมาถ่ายทอดเรื่องราวที่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ทางสีผิว นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นผลงานเรื่องแรกและอาจกล่าวได้ว่าเป็นแค่เรื่องเดียวของสปีลเบิร์กที่เน้นตัวละครผู้หญิงเป็นหลัก (หนังอย่าง The Sugarland Express, Always และ The Post อาจจะมีผู้หญิงเป็นตัวเอก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีตัวละครชายโดดเด่นควบคู่ไปด้วย)

ผู้หญิงสามคนใน The Color Purple ล้วนตกเป็นเหยื่อในหลากหลายระดับและต่างกรรมต่างวาระกันไป คนแรกที่เห็นภาพชัดเจน เป็นรูปธรรมสุด คือ ซีลี (วูปปี้ โกลด์เบิร์ก) เด็กสาวที่ถูกพ่อของตัวเองขืนใจจนมีลูกด้วยกันสองคน พวกเขาถูกขายต่อให้เป็นลูกบุญธรรมของนักบวชตั้งแต่แบเบาะ เมื่อพ่อของเธอหันมาหมายปองน้องสาวเธอเป็นรายต่อไป ซีลีก็ถูกยกต่อให้กับ อัลเบิร์ท จอห์นสัน หรือ มิสเตอร์” (แดนนี โกลเวอร์) พ่อม่ายลูกติด ซึ่งเห็นซีลีเป็นทาสในเรือนเบี้ยมากกว่าจะเป็นภรรยา นอกจากกำปั้นและคำดุด่า ขู่ฆ่าแล้ว เขาไม่เคยหยิบยื่นสิ่งอื่นให้เธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอ่อนโยน ความรัก หรือแม้แต่ความเอาใจใส่ ซีลีบรรยายเซ็กซ์กับอัลเบิร์ทว่าเหมือนเขามา ทำธุระแบบเดียวกับการขับถ่าย พอเสร็จกิจแล้วก็ไปโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึก ความต้องการใดๆ ของอีกฝ่าย ผู้ชายรอบตัวเธอคอยกดขี่ ตีกรอบให้ซีลีไม่มีปากเสียง และยอมจำนนต่อชะตากรรม แม้กระทั่งจะยิ้ม หรือหัวเราะ เธอยังต้องยกมือขึ้นปิดปาก กิริยาท่าทางของเธอชวนให้นึกถึงภาพสัตว์ที่ถูกทารุณด้วยความรุนแรงจนหวาดกลัว ระแวดระวังกับทุกอย่าง เธอเรียนรู้ที่จะสงบปากสงบคำ แล้วเก็บความต้องการของตนเอาไว้ลึกสุดข้างใน นั่นคือวิธีเอาตัวรอดของเธอ

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น ความจำยอมค่อยๆ แปรสภาพเป็นการยอมรับ ยอมจำนน จนสุดท้ายกลายเป็นความเข้าใจว่านั่นคือวิถีแห่งธรรมชาติ เมื่อฮาร์โป (วิลลาร์ด พัก) ลูกชายของอัลเบิร์ท มาขอความเห็นจากซีลีว่าจะรับมือกับภรรยาหัวดื้อที่ไม่เคยเชื่อฟังคำสั่งของเขาอย่างไรดี เธอแนะนำให้เขาใช้กำลัง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เธอเจอมาตลอดชีวิต แต่โซเฟีย (โอปราห์ วินฟรีย์) ต่างจากซีลีตรงที่เธอไม่ยอมจำนน เมื่อฮาร์โปลงไม้ลงมือ เธอเลือกจะสู้กลับ จนสุดท้ายเมื่อไม่อาจทนความบอบช้ำทั้งทางกายและใจได้อีกต่อไป โซเฟียก็ตัดสินใจหอบผ้าหอบผ่อนหนีไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ คำประกาศของเธอสะท้อนถึงความอึดอัดคับข้องใจของผู้หญิงในยุคนั้น โดยเฉพาะผู้หญิงผิวดำที่เติบโตมาในชนชั้นล่าง ฉันต้องสู้รบปรบมือมาตลอดชีวิต ฉันต้องสู้กับพ่อ สู้กับลุง สู้กับพี่ชาย เด็กผู้หญิงไม่เคยปลอดภัยในบ้านที่มีแต่ผู้ชาย แต่ฉันไม่เคยคิดว่าจะต้องมาสู้รบปรบมือในบ้านของตัวเอง

นักสู้อย่างโซเฟียอาจประสบชัยชนะในสนามประลองเล็กๆ อย่างสถาบันครอบครัว แต่ความโหดเหี้ยมแห่งโลกของความจริง คือ ผู้หญิงอย่างเธอไม่ได้ถูกตีกรอบแค่จากลัทธิชายเป็นใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงลัทธิคนขาวเป็นใหญ่อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงผิวดำจึงถูกกดขี่แบบสองชั้นซ้อน ดังจะเห็นได้จากชะตากรรมของโซเฟีย เมื่อเธอนำความแกร่งกร้าว แข็งกระด้างที่เคยช่วยให้เธอรอดพ้นจากเงื้อมมือของเพศชายในบ้านผิวดำมาใช้กับสังคมของคนขาว มิสมิลลี (ดานา ไอวี) ภรรยานายกเทศมนตรี เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นอคติทางสีผิวในยุคนั้นอย่างชัดเจน ภายนอกเธอแสดงท่าทีเอ็นดูเด็กๆ ผิวสี แต่ภายในยังคงมองคนพวกนี้ว่าต่ำต้อยกว่า อันตราย และป่าเถื่อน ความคิดดังกล่าวทำให้เธอยื่นข้อเสนอให้โซเฟียมาเป็นคนรับใช้ที่บ้าน ขณะเดียวกันก็หวาดกลัวเหล่าชายผิวดำที่พยายามจะช่วยเธอเข้าเกียร์รถ

อาการขัดขืน แข็งข้อส่งผลให้โซเฟียถูกลงโทษอย่างโหดร้าย เธอต้องทนทรมานในเรือนจำอยู่หลายปี ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมกับวิญญาณที่แตกสลาย ไฟในร่างกายมอดดับดุจราชสีห์ที่โดนเฆี่ยนจนเชื่อง ชะตากรรมของโซเฟียพิสูจน์ให้เห็นว่าบางทีการยอมจำนนแบบเดียวกับซีลีอาจเป็นหนทางเดียวที่จะอยู่รอด แต่คำถามที่ตามมาคือชีวิตแบบนั้นมันคุ้มค่าแล้วหรือ ชีวิตที่ปราศจากความรัก ความเคารพนับถือแม้กระทั่งในตัวเอง

เมื่อเทียบกับสองตัวละครข้างต้น อาจดูเหมือน ชูก เอเวอรี (มาร์กาเร็ต เอเวอรี) จะโชคดีกว่าใครเขา ความงามและพรสวรรค์ในการร้องเพลงที่พระเจ้าประทานมาทำให้เธอถือไพ่เหนือผู้ชายจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือ อัลเบิร์ท จอห์นสัน ซึ่งเป็นเหมือนลูกไก่ในกำมือเวลาอยู่กับชูก เขาคอยเอาอกเอาใจและยอมตามสารพัด แตกต่างจากวิธีที่เขาปฏิบัติกับซีลีราวฟ้ากับเหว แต่เช่นเดียวกับตัวละครผู้หญิงคนอื่นๆ ชูกถูกตัดสินจากอคติทางเพศ ซึ่งมาในรูปของคุณพ่อบาทหลวง ผู้ไม่เคยให้อภัยพฤติกรรม รักอิสระของลูกสาว ฉากที่น่าเศร้าฉากหนึ่งเป็นตอนที่ชูกพยายามจะอวดแหวนแต่งงานให้พ่อเธอดูเพื่อเรียกร้องการยอมรับ แต่เขากลับควบรถม้าผ่านไปโดยไม่คิดแม้แต่จะเหลือบมอง

พูดในแง่ภาพรวม The Color Purple เล่าถึงการเรียนรู้ที่จะเติบโต ยืนหยัดด้วยตัวเองของซีลี เริ่มต้นจากบทเรียนเป็นรูปธรรมอย่างการอ่านออกเขียนได้ หนังสะท้อนให้เห็นความแตกต่างทางบุคลิกระหว่างซีลีกับน้องสาว เน็ตตี้ คนแรกเป็น เด็กดียอมตามคำสั่ง ก้มหัวให้กับอำนาจแห่งชายเป็นใหญ่ ขณะที่ซีลีเลือกจะหนีออกจากบ้านเมื่อถูกพ่อคุกคามทางเพศ และต่อสู้ขัดขืนเมื่อถูกอัลเบิร์ทหาเศษหาเลย แต่ผลจากความหัวแข็งทำให้เธอต้องระหกระเหินเร่ร่อนไปไกล แม้ใจจะยังคงผูกพันกับพี่สาวผู้เป็นที่รักอยู่ไม่เสื่อมคลาย เธอเป็นคนแรกที่มอบบทเรียนให้กับซีลี สอนเธอให้รู้จักอ่านหนังสือ ซึ่งกลายเป็นก้าวแรกแห่งเส้นทางสู่อิสรภาพ

จากนั้นชูกก็รับช่วงต่อในการสอนให้ซีลีรู้จักรักตัวเองด้วยการหยิบยื่นความรัก ความอ่อนโยนให้เธออย่างที่เธอสมควรจะได้รับ ช่วยให้เธอได้ค้นพบความงดงามของชีวิตอย่างที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน จนนำไปสู่ความกล้าที่จะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อตัวเอง ฉันคิดว่าพระเจ้าคงโมโหถ้าเราเดินผ่านสีม่วงในท้องทุ่งไปโดยไม่คิดจะหยุดชื่นชมมันชูกกล่าวกับซีลีในช่วงท้ายเรื่องก่อนจะสรุปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต้องการเป็นที่รักสีม่วงในชื่อหนังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนสิ่งดีงามในโลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นให้ชายและหญิงได้ชื่นชม ตลอดชีวิตที่ผ่านมาซีลีไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสความงามแห่งสีม่วง วิบากกรรมที่ต้องเผชิญทำให้เธอได้แต่ดิ้นรน เอาตัวรอดทางร่างกาย แต่กลับตายด้านทางอารมณ์ ความรู้สึก เมื่อซีลีสารภาพว่าเธอไม่เคยพึงพอใจเวลาต้องหลับนอนกับอัลเบิร์ท ส่วนเขาเองก็ไม่เคยถามว่าเธอรู้สึกอย่างไร แค่กระโดดขึ้นคร่อมร่างเธอแล้ว ทำธุระ ให้เสร็จๆ ไป ชูกจึงได้แต่สรุปว่า งั้นเธอก็ยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่ ชูกเป็นคนแรกที่ชี้ให้ซีลีได้เห็นว่าพระเจ้าสร้างสรรค์สิ่งงดงามเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น สีม่วง หรือเซ็กซ์ ให้มนุษย์ได้อิ่มเอม และมีความสุขกับชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่ซีลีได้ค้นพบในท้ายที่สุด

นอกเหนือจากการเข้าพิธีแต่งงานกับ เอมี เออร์วิง และมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อ แม็กซ์ แล้ว The Color Purple ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในชีวิตของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ในคืนฉายรอบปฐมทัศน์ช่วงเทศกาลคริสต์มาส เขายอมรับว่ามีอาการประหม่าอย่างหนัก สำหรับผมความเสี่ยงขั้นสุดคือการทำหนังเกี่ยวกับผู้คนเป็นครั้งแรกและล้มเหลว ความเสี่ยงต่อการถูกตัดสิน เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าขาดความลึกซึ้งพอจะสร้างหนังในแนวศึกษาตัวละครแต่ความกลัวของสปีลเบิร์กถูกปัดเป่าอย่างรวดเร็วเมื่อหนังได้เสียงตอบรับในแง่ดีทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชม อาร์เธอร์ คิง แห่ง The Hollywood Reporter บอกว่า ใครก็ตามที่คิดว่า สตีเวน สปีลเบิร์ก เหมาะจะทำแต่หนังผจญภัยเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ หรือหนังสยองขวัญไฮเทคเท่านั้น จะต้องประหลาดใจเมื่อได้ชม The Color Purpleก่อนสรุปว่า ถึงหนังจะเต็มไปด้วยด้านมืดหม่น แต่แก่นแท้ของมันยังคงเป็นการสดุดีแด่ความดีงามของมนุษย์

กระนั้นการยืนกรานที่จะมองโลกอย่างมีความหวังของสปีลเบิร์กกลับกลายเป็นปัญหาในสายตาของอีกหลายคน มันอาจอิงแอบได้อย่างแนบเนียนในหนังไซไฟดรามาสำหรับทุกคนในครอบครัวอย่าง E.T. The Extra-Terrestrial แต่อาจไม่ใช่ในหนังดรามาหนักอึ้งเกี่ยวกับความทุกข์ตรมของเพศหญิงและอคติทางสีผิว นักวิจารณ์บางคนกล่าวหาสปีลเบิร์กว่าพยายามลบแง่มุมหมิ่นเหม่ หรือความหยาบกระด้างจากนิยายออกจนหมดสิ้น นิตยสาร Variety ขนานนามให้เป็น นิทานก่อนนอนส่วน New York Daily News เขียนว่า เหมือนหนังกำกับโดย วอลท์ ดีสนีย์ ผู้ล่วงลับข้อวิพากษ์เหล่านั้นมีมูลอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากการคลี่คลายทุกปมปัญหาอย่างสุขสันต์ ลงตัว อัลเบิร์ทมีโอกาสได้ไถ่บาป กลับตัวกลับใจเป็นครั้งสุดท้าย ชูกคืนดีกับพ่อผ่านเสียงเพลง ส่วนเน็ตตี้และซีลีก็ได้กลับมาเจอกันในที่สุด พร้อมหน้าด้วยลูกๆ ที่ถูกพรากจากอกเธอตั้งแต่เกิด โดยมีตัวละครหลักๆ ยืนแสดงความยินดีกับการรียูเนียนอันแสนสุขสันต์

นอกจากนี้เลือดฮอลลีวู้ดอันเข้มข้นในตัวสปีลเบิร์กยังทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะมอบความบันเทิงครบรสให้กับคนดูผ่านฉากตลกโปกฮาที่ค่อนข้างโฉ่งฉ่างและไม่ค่อยกลมกลืน รวมถึงความพยายามจะกระตุ้นอารมณ์ลุ้นระทึกแบบในหนังเขย่าขวัญกับฉากซีลีเตรียมจะโกนหนวดให้อัลเบิร์ท ตัดสลับกับภาพชูกรีบวิ่งมาห้ามเธอไม่ให้ก่อเหตุหุนหันพลันแล่น ข้อกล่าวหาลักษณะนี้จะตามติดสปีลเบิร์กไปจนถึง Schindler’s List เมื่อเขาล่อหลอกคนดูในฉากหนึ่งให้เข้าใจผิดว่าเหล่าตัวละครชาวยิวในค่ายกักกันกำลังจะโดนจับไปรมแก๊สเพื่อกระตุ้นอารมณ์ลุ้นระทึก บางคนที่รับไม่ได้ถึงขั้นโจมตีสปีลเบิร์กว่าเขานำเอาโศกนาฏกรรมแห่งมวลมนุษยชาติมานำเสนอเพื่อความบันเทิง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะปรากฏรอยแผลให้เห็นอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ The Color Purple ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ การสร้างอารมณ์ร่วมกับคนดู รวมถึงทักษะภาพยนตร์อันแพรวพราวของสปีลเบิร์ก ซึ่งช่วยเนรมิตสีสันและความตื่นตาได้ไม่น้อย แม้บางคนอาจมองว่ามันหวือหวาเกินไปจนดึงความสนใจออกจากเรื่องราวก็ตาม เช่น การตัดต่อเชื่อมโยงสองเหตุการณ์ในอเมริกากับแอฟริกา ขณะซีลีนั่งอ่านจดหมายของน้องสาว สิ่งเดียวที่คุณไม่อาจโจมตี The Color Purple ได้ คือ ข้อหาว่ามันน่าเบื่อ หรือแห้งแล้ง นอกจากนี้หากเรียนรู้ที่จะปล่อยใจให้ลื่นไหลไปกับเรื่องราว ตัวละคร ตลอดจนงานแสดงอันน่าเชื่อถือและทรงพลัง ไม่ต้องสงสัยว่าท้ายที่สุดแล้วคุณจะเดินออกจากโรงหนังด้วยความอิ่มเอม ประทับใจ หรืออย่างน้อยก็มองเห็นสีม่วงรอบตัวได้ชัดเจนขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: