วันจันทร์, กันยายน 29, 2551

ชีวิตย่อมมีทางเลือก


“ใครยัดเยียดคำโป้ปดใส่หัวเธอ ฉันรู้จักเธอดี เธอเป็นปกติทุกอย่าง! เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้กันอีก ไม่ ฉันจะไม่พูดถึงมันอีก สิ่งเลวร้ายที่สุดที่ฉันจะทำได้ คือ พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้”

“ผมต้องการคำแนะนำ มันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นชีวิตของผม”

“ไร้สาระ”

“ผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่จำความได้โดยไม่รู้ว่าทำไม มันคืออะไร ผมเป็นโรคใช่ไหม ถ้าใช่ ผมอยากให้คุณช่วยรักษา ผมไม่อาจทนความเหงาได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะบอกให้ทำอะไร ผมจะทำมัน คุณต้องช่วยผม”

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างมอริซกับคุณหมอในนิยายเรื่อง Maurice ของ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ ซึ่งพูดถึงชีวิตอันยากลำบากของชายรักร่วมเพศในยุคเอ็ดเวิร์ดเดียน (1901-1910) มองภายนอก มอริซก็เหมือนชายหนุ่มปกติธรรมดา แต่ภายในเขากลับทนทุกข์ทรมานจากความรู้สึกแบบ “ออสการ์ ไวลด์” สัมพันธ์รักโรแมนติก (ไร้เซ็กซ์) ระหว่างเขากับไคลฟ เพื่อนร่วมชนชั้นกลางระดับสูง จบลงอย่างกะทันหัน เมื่อไคลฟตัดสินใจดำเนินชีวิตตามที่สังคมคาดหวังด้วยการแต่งงานกับหญิงสาวที่เหมาะสม แต่มอริซไม่อาจทำใจเก็บกดแรงปรารถนาในเบื้องลึกได้ เช่นเดียวกับรักร่วมเพศส่วนใหญ่ เขาต้องดิ้นรนต่อสู้กับความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง พยายามจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

มอริซเริ่มเรียนรู้ที่จะยอมรับสภาพ เมื่อเขาได้พบกับคนสวนชื่อ อเล็ก ความสัมพันธ์ของทั้งสองอิ่มเอมจากการเติมเต็มทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ประเทศอังกฤษในยุคสมัยนั้นยังไม่ยอมรับรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางพฤตินัยหรือนิตินัย (รักร่วมเพศถือเป็นความผิดทางอาญา) ซ้ำร้าย ทั้งสองยังเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย เปรียบไปแล้วความรักของพวกเขามีกรอบกำแพงล้อมรอบถึงสองชั้น

ฟอร์สเตอร์เขียน Maurice เสร็จเมื่อปี 1931 ก่อนสงครามโลกครั้งแรกจะเริ่มต้น แต่ความคับแคบของสังคมในยุคนั้นทำให้เขามั่นใจว่ามันไม่มีทางจะถูกตีพิมพ์จนกว่าเขาจะตายจากไปพร้อมๆ กับประเทศอังกฤษ เขาเสนอให้เพื่อนและคนสนิทจำนวนหนึ่งอ่าน ก่อนจะทำการแก้ไขทั้งหมดสามครั้ง โดยล่าสุดเกิดขึ้นระหว่างปี 1959 กับ 1960 จากนั้นอีก 12 ปีต่อมา Maurice ก็ถูกตีพิมพ์หลังฟอร์สเตอร์เสียชีวิตได้ไม่นาน

“ใน Maurice ผมพยายามสร้างตัวละครที่แตกต่างจากผมอย่างสิ้นเชิง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ตัวละครที่ผมอยากจะเป็น เขารูปหล่อ สุขภาพแข็งแรง มีเสน่ห์ทางเพศ เป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ และค่อนข้างยกตนเหนือผู้อื่น จากนั้นผมก็เติมส่วนผสมบางอย่างลงไปให้เขาสับสน ปลุกเขาให้ลืมตาตื่น ทรมานเขา และสุดท้ายก็ช่วยชีวิตเขา” ฟอร์สเตอร์กล่าว

ข้อเท็จจริงว่าฟอร์สเตอร์เป็นรักร่วมเพศไม่ค่อยแพร่หลายจนกระทั่ง Maurice ถูกตีพิมพ์ อาจกล่าวได้ว่าตัวละครอย่างไคลฟ ผู้ยอมจำนนต่อกรอบจำกัดของสังคม เปรียบดังชีวิตจริงของฟอร์สเตอร์ ส่วนตัวละครอย่างมอริซ คือ อุดมคติที่เขาปรารถนา ด้วยเหตุนี้กระมัง ฟอร์สเตอร์จึงตัดสินใจจบนิยายแบบสุขสันต์ท่ามกลางความไม่น่าจะเป็นไปได้ มอริซสามารถลงเอยกับอเล็กและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนไคลฟ (ในตอนท้ายเรื่อง มอริซได้เดินทางมาหารักแรกของเขาเพื่อบอกลา) กลับไม่อาจทำความเข้าใจในสิ่งที่มอริซพยายามจะอธิบายได้

มากกว่าครึ่งศตวรรษผันผ่าน รักร่วมเพศหาใช่เชื้อโรค หาใช่ความวิปริตทางจิต หาใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่ดูเหมือนมนุษย์หลายคนก็ยังคงศิโรราบต่อกรอบจำกัดแห่งอคติด้วยความยินดี ราวกับไม่ได้เรียนรู้อะไรจากอดีตที่ผ่านมาเลย... หรือบางทีพวกเขาอาจมืดบอดเกินกว่าจะมองเห็นกรอบจำกัดนั้น แล้วเข้าใจว่าขอบกะลาคือเส้นขอบฟ้า

วันพฤหัสบดี, กันยายน 25, 2551

Short Replay: Raise the Red Lantern


หลังพ่อเสียชีวิตพร้อมทิ้งหนี้สินก้อนโตไว้ให้ จนแม่ต้องบังคับให้เธอหยุดเรียนหนังสือ แล้ว “ขายตัว” ไปเป็นภรรยาคนที่สี่ของมหาเศรษฐีนายหนึ่ง ซ่งเหลียน (ก่งลี่) คิดว่าตนเองอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งบรรดาเมียคนอื่นๆ ในโลกใบใหม่ เธอวางมาดปัญญาชนและปฏิเสธที่จะเล่นตามเกมแห่งอำนาจ เพื่อแย่งชิงความสนใจจาก “นายใหญ่” แต่แล้วสภาพแวดล้อมก็ค่อยๆ กัดกร่อนจิตวิญญาณซ่งเหลียนทีละน้อย จนเธอต้องเข้ามาคลุกคลีตีวงในกับกลเกมการเมืองภายในบ้านและถูกมันทำลายความเป็นมนุษย์จนไม่เหลือซาก

ฉากหลังเป็นประเทศจีนในช่วงทศวรรษ 1920 เหตุการณ์แทบทั้งหมดเกิดขึ้นในอาณาจักรของนายใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ประเพณีปฏิบัติ และธรรมเนียมพิลึกพิลั่น เช่น การแขวนโคมแดงหน้าบ้านภรรยาคนที่นายใหญ่จะแวะไปค้างคืนด้วย แต่โลกใบนี้แตกต่าง ห่างไกลจากโลกอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยจริงหรือ? การดิ้นรนต่อสู้ของซ่งเหลียนคล้ายคลึงกับการดิ้นรนต่อสู้ของปัจเจกชนร่วมสมัยภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจในหลายๆ ประเทศ ที่ชื่นชอบการจำกัดลิดรอนสิทธิความเป็นคนมากน้อยแค่ไหน? และที่สำคัญ เรายินยอมตกเป็นเบี้ยล่าง (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) ของสังคม “ชายเป็นใหญ่” มาเนิ่นนานเกินไปแล้วหรือไม่?

นักดูหนังรุ่นใหม่อาจหลงใหลชื่นชม จางอี้โหมว จากหนังอย่าง Not One Less, The Road Home หรือ Hero แต่ยุคทองอันแท้จริงของเขา (หรืออาจกล่าวว่าเป็นยุคทองของผู้กำกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นที่ห้าโดยรวมก็ได้) อยู่ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อเปลวไฟของการถ่ายทอดเนื้อหาอันรุนแรง ซับซ้อน ไร้การประนีประนอม สอดคล้องกับสไตล์ทำหนังอันโดดเด่นยังคงโชติช่วง ใครก็ตามที่ได้ชมผลงานทรงพลังที่ตีแสกหน้าคนดู (และบางกรณีอาจหมายรวมถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีน) อย่าง Red Sorghum, Ju Dou, Raise the Red Lantern, The Story of Qiu Ju และ To Live ย่อมอดไม่ได้ที่จะหวนไห้ เมื่อได้ชมผลงานในยุคหลังของจางอี้โหมว

วันจันทร์, กันยายน 22, 2551

ฝ่าขีดจำกัด


ระหว่างนั่งดูหนังเรื่อง Dive!! ซึ่งโดยรวมดัดแปลงมาจากนิยายของ โมริ เอโตะ ได้ค่อนข้างซื่อสัตย์ ผมรู้สึกสะดุดใจกับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่าง นั่นคือ ในหนังโทโมะกิไม่มีสายเลือดนักกีฬาอยู่เลยสักนิด แต่ในนิยายต้นฉบับ พ่อของเขาเล่นเบสบอล ฟุตบอล ฮ็อกกี้น้ำแข็ง โปโลน้ำ และยูโด ส่วนแม่ของเขาก็เต้นบัลเลต์มาตลอดจนกระทั่งข้อเท้าเจ็บ

แรกทีเดียว ผมคิดว่าคงเป็นเพราะผู้สร้างอยากเน้นย้ำภาพลักษณ์ “คนธรรมดา” ของพระเอกให้เด่นชัด เพราะสุดท้ายเขาก็อาศัยการเพียรฝึกซ้อมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เอาชนะนักกีฬาที่สืบทอดพรสวรรค์มาทางสายเลือดอย่างโยอิจิ (พ่อเป็นนักกีฬาโอลิมปิก/โคชสอนกระโดดน้ำ) และชิบุกิ (ปู่เป็นนักกระโดดน้ำระดับตำนาน) ได้

แต่จริงหรือว่าคนเราสามารถประสบความสำเร็จโดยอาศัยพรแสวงเพียงอย่างเดียว? ต้องไม่ลืมว่าโทโมะกิเองใช่จะสิ้นไร้พรแต่กำเนิดเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยคุณสมบัติตัวอ่อน กับ “ดวงตาเพชร” ก็ทำให้เขาได้เปรียบนักกระโดดน้ำอีกหลายคน แน่นอน ความอุตสาหะช่วยผลักดันให้เขาพัฒนาฝีมือขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าโทโมะกิปราศจากพรสวรรค์ดิบภายใน เขาจะประสบความสำเร็จได้เท่านี้หรือ?

พอผนวกเข้ากับฉากที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเวอร์ชั่นหนัง เมื่อโทโมะกิถามพ่อกับแม่ว่าคาดหวังอะไรในตัวเขา (คำตอบ คือ ไม่เลย แม่ของเขาพูดในทำนองว่าลูกชายทำได้เท่านี้ก็ดีใจแล้วด้วยซ้ำ) ผมจึงเริ่มคิดว่าบางทีการตัดรายละเอียดข้างต้นออกอาจไม่ใช่เพื่อเน้นย้ำภาพลักษณ์ “คนธรรมดา” ของพระเอก แต่เป็นการปลดปล่อยตัวละครให้หลุดพ้นจากกรอบของปัจจัยภายนอกรอบข้างต่างหาก

โทโมะกิไม่ได้มีพ่อมีปู่เป็นนักกีฬาระดับโลก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นเงาทะมึนที่คอยกดดันให้พวกเขาต้องพัฒนาศักยภาพ ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องวัดรอยเท้า และนั่นส่งผลให้ความเพียรพยายามฝึกซ้อมของโทโมะกิยิ่งชวนตื่นตะลึงมากขึ้นอีก

เด็กหนุ่มเสียสละหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ได้กินของที่อยากกิน ไม่ได้เที่ยวสนุกกับเพื่อนฝูง แต่ชื่อเสียง การยอมรับ หรือกระทั่งชัยชนะเหนือคู่แข่งกลับหาใช่สิ่งที่เขาแสวงหาเหนืออื่นใด ตรงกันข้าม แรงใจส่วนใหญ่ผุดมาจากปัจจัยภายในทั้งสิ้น จากความต้องการจะเอาชนะตัวเอง ทำลายกรอบจำกัดของตัวเอง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมโทโมะกิถึงยังคงก้มหน้าซ้อมหนักต่อไป แม้จะพลาดการเป็นตัวแทนไปแข่งโอลิมปิก กระตุ้นตัวเองให้มุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดทางศักยภาพ จากลังกาหน้าสองรอบครึ่ง เป็นสามรอบครึ่ง และสี่รอบครึ่ง จนสุดท้ายเมื่อเขาทำสำเร็จ ความปลาบปลื้ม ยินดีจึงหาได้เกิดจากการเห็นชื่อตัวเองปรากฏบนสกอร์บอร์ดเป็นอันดับแรก แต่เป็นเพราะเขาได้ค้นพบ “อิสรภาพ” ที่ค้นหามานานแล้วต่างหาก

สำหรับโทโมะกิ จะมีอะไรน่าภูมิใจไปกว่านั้นอีกหรือ

วันพุธ, กันยายน 10, 2551

ประวัติย่อของรักร่วมเพศ

รักร่วมเพศถือว่าดำรงอยู่คู่วัฒนธรรมของมนุษย์มาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคแรก แต่โดยทั่วไปแล้ว มันเริ่มปรากฏร่องรอยเด่นชัดในช่วงอารยธรรมกรีกโบราณ เมื่อความอิ่มเอิบทางเพศ ความรัก ความผูกพันระหว่างชายสองคนถือเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไป และกระทั่งเป็นที่ยอมรับ จากนั้น แนวโน้มดังกล่าวยังคงสืบทอดต่อมายังอาณาจักรโรมัน เมื่อปรากฏหลักฐานชิ้นแรกยืนยันการจัดพิธีแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเริ่มดิ่งลงเหวพร้อมกับยุคเรืองอำนาจของคริสตจักร ซึ่งโหมกระพือภาวะเกลียดกลัวรักร่วมเพศให้แพร่กระจายไปทั่ว รวมถึงการออกกฎหมายห้ามการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน และบทลงโทษสำหรับรักร่วมเพศ คือ เผาทั้งเป็นต่อหน้าฝูงชน นับแต่นั้นเป็นต้นมา รักร่วมเพศก็จำต้องหลบเข้ามุมมืด ถูกเหยียบย่ำดุจพลเมืองชั้นสอง ก่อนประกายความหวังจะเริ่มถูกจุดขึ้นในศตวรรษที่ 19

เราจะมาดูกันว่าอะไรบ้างเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรักร่วมเพศ

1867 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ประเทศเยอรมัน เมื่อ คาร์ล-ไฮน์ริช อูลริช ปัจจุบันได้รับขนานนามเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศรุ่นบุกเบิก เริ่มต้นเขียนบทความแก้ต่างให้กลุ่มนักโทษที่โดนจับข้อหารักร่วมเพศ ทั้งในแง่มุมกฎหมายและเชิงศีลธรรม บทความของเขาตีพิมพ์โดยใช้ชื่อจริง (อาจกล่าวได้ว่านี่คือการ coming out ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของรักร่วมเพศ) นอกจากนี้ ในวันที่ 29 สิงหาคม 1867 เขายังเรียกร้องให้สภาศาลในมิวนิกยกเลิกกฎหมายลงโทษรักร่วมเพศท่ามกลางเสียงโห่ขับไล่ด้วย สองปีถัดมา นักเขียนชาวออสเตรีย คาร์ล-มาเรีย เคิร์ทเบนีย์ ได้คิดค้นและใช้คำว่า “Homosexual” และ “Heterosexual” เป็นครั้งแรก

1895 กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ ออสการ์ ไวลด์ กำลังโด่งดังถึงขีดสุดจากความสำเร็จของผลงานอมตะอย่าง The Importance of Being Earnest และ The Picture of Dorian Gray (นิยายเพียงเรื่องเดียวของเขา) เมื่อ จอห์น ชอลโต ดั๊กลาส ฟ้องร้องเขาในข้อหาเสพสังวาสทางทวารหนัก ซึ่งขณะนั้นถือเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอังกฤษ จอห์นเป็นพ่อของ ลอร์ด อัลเฟร็ด ดั๊กลาส คนรักซึ่งอายุอ่อนกว่า 16 ปีของไวลด์ ก่อนหน้านี้จอห์นพยายามสั่งห้ามทั้งสองติดต่อกัน แต่ไม่สำเร็จ เขาจึงสั่งทีมทนายไปค้นหาชายหนุ่มกว่าสิบคนที่ยินดีจะขึ้นให้การในศาลว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับไวลด์ ซึ่งขณะนั้นแต่งงานและมีลูกชายสองคนกับ คอนสแตนซ์ ลอยด์ ไวลด์ถูกจับ แต่ปฏิเสธการประกันตัว มันกลายเป็นข่าวดัง สร้างกระแสตื่นตระหนกไปทั่ว ลอร์ด อัลเฟร็ด กับชายรักร่วมเพศอีกหลายร้อยคนได้หลบหนีไปยังประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตามกฎหมายไม่มีบทลงโทษกิจกรรมรักร่วมเพศ

ระหว่างการไต่สวนคดีครั้งแรก ไวลด์ก้าวขึ้นแก้ต่างในศาล เมื่อถูกถามว่า “อะไรคือความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม” (นับเป็นครั้งแรกของการออกหน้าปกป้องรักร่วมเพศต่อสาธารณชนในประเทศอังกฤษ) ดังนี้

“สำหรับศตวรรษนี้ ความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม คือ แรงเสน่หาอันยิ่งใหญ่ของชายอายุมากกว่าต่อชายอายุน้อยกว่า เฉกเช่นความสัมพันธ์ระหว่างเดวิดกับโจนาธาน (สองวีรบุรุษในตำนานชาวยิว) มันเป็นรากฐานให้ทุกหลักการทางปรัชญาของพลาโต เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในโคลงของไมเคิลแองเจโลและเช็คสเปียร์ มันคือความรักลึกซึ้ง ดื่มด่ำถึงจิตวิญญาณ และผุดผ่อง ไร้รอยมลทิน... มันเป็นรักที่สวยงาม ดีงาม และสง่างามสูงสุด หาใช่สิ่งผิดธรรมชาติแม้แต่น้อย มันปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง เมื่อชายอายุมากกว่าเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา ส่วนชายอายุน้อยกว่าเปี่ยมไปด้วยความสุขสันต์ ความหวัง และความเย้ายวนแห่งชีวิตที่รอคอยเขาอยู่เบื้องหน้า มันควรดำเนินไปตามครรลองนั้น แต่โลกไม่เข้าใจ กลับเยาะหยัน และบางครั้งก็จับความรักนั้นใส่ขื่อคาประจาน”

เมื่อพูดจบ คนฟังในศาลพากันปรบมือให้เขาอย่างกึกก้อง คณะลูกขุนไม่อาจหาข้อสรุปได้ (สาเหตุใหญ่คงเป็นผลจากการเล่นสำบัดสำนวนอย่างคล่องแคล่วของไวลด์) ศาลจึงนัดสืบสวนคดีใหม่ โดยในระหว่างช่วงเวลานั้น ไวลด์ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกไป เพื่อนหลายคนเสนอให้เขาหลบหนีไปยังฝรั่งเศส แต่ไวลด์ตอบปฏิเสธ การไต่สวนคดีครั้งที่สองจบลงด้วยคำตัดสินว่าไวลด์ผิดจริงตามข้อกล่าวหา แล้วถูกลงโทษให้จำคุกและใช้แรงงานหนักในเรือนจำเป็นเวลาสองปี

1920 ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดได้ว่า “เกย์” ถูกใช้เป็นคำแทนรักร่วมเพศตั้งแต่เมื่อไหร่ (ความหมายดั้งเดิมของคำนี้ คือ ร่าเริง สดใส มีความสุข) แต่เหล่าจิตแพทย์ให้ความเห็นว่าคนไข้ของพวกเขาเริ่มใช้ศัพท์นี้อธิบายตัวตนตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1920 แล้ว แม้ระยะแรกจะเป็นการใช้กันเฉพาะกลุ่มมากกว่า ก่อนจะค่อยๆ แพร่หลายในเวลาต่อมา

1948 หนังสือรวบรวมผลการวิจัยของ ดร.อัลเฟร็ด คินซีย์ และเพื่อนร่วมงานถูกตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ Sexual Behavior in the Human Male เน้นอธิบายพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย โดยกระแสอื้อฉาวและเสียงต่อต้านเกิดจากผลลัพธ์อันชวนช็อกของการวิจัย นอกจากนี้ หลายคนยังโจมตีคินซีย์ว่าได้ข้อมูลมาจากการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เขาตอบปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ชายหลายคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมเพศกับเด็กมาก่อน ประเด็นดังของหนังสือ คือ มาตรวัดพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ (หรือที่รู้จักกันในนาม Kinsey Scale) ซึ่งแบ่งระดับเป็น 0-6 โดย 0 หมายถึง รักต่างเพศอย่างแท้จริง ส่วน 6 หมายถึง รักร่วมเพศอย่างแท้จริง ผลการสำรวจพบว่า 11.6% ของชายผิวขาวอายุระหว่าง 20-35 จัดอยู่ในระดับ 3 และเคยมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายมาก่อน

1956 งานค้นคว้าวิจัยของของคินซีย์อาจพิสูจน์ให้เห็นว่ารักร่วมเพศ หรือคนที่เคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศมีจำนวนมากกว่าที่คนอเมริกันคาดคิดไว้ แต่เป็น เอเวอลีน ฮุกเกอร์ ต่างหากที่ท้าทายแนวคิดว่ารักร่วมเพศเป็น “อาการป่วยทางจิต” โดยใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นข้อพิสูจน์ เธอแบ่งกลุ่มสำรวจออกเป็นชายรักร่วมเพศและชายรักต่างเพศจำนวนกลุ่มละ 30 คน พวกเขาล้วนมีระดับอายุ ไอคิว และการศึกษาใกล้เคียงกัน ทั้งหมดต้องทำแบบทดสอบทางจิต ก่อนนำผลมาเสนอต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญทาง โดยไม่บอกว่าพวกเขาเป็นเกย์หรือชายแท้ ผลปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างใดๆ ปรากฏให้เห็นระหว่างบุคคลสองกลุ่ม

ฮุกเกอร์นำเสนอผลงานในการประชุมจิตแพทย์ที่เมืองชิคาโกเมื่อปี 1956 โดยข้อสรุปของเธอ คือ ชายรักร่วมเพศมีระดับความสามารถในการปรับตัวทางสังคมเท่าเทียมกับชายรักต่างเพศ และในบางกรณีอาจ “สูงกว่า” ด้วยซ้ำ แม้งานวิจัยของเธอจะไม่สร้างแรงกระเพื่อมมากนักในแวดวงจิตวิเคราะห์ แต่มันส่งผลรุนแรงต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์ ฮุกเกอร์เล่าว่าเคยมีเลสเบี้ยนคนหนึ่งตรงมาขอบคุณเธอ พร้อมเล่าทั้งน้ำตาว่าตอนเธอบอกแม่ว่าเป็นเลสเบี้ยน แม่ส่งเธอไปโรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งขณะนั้นนิยมใช้การบำบัดแบบช็อตสมอง โชคดีที่จิตแพทย์ของเธอคุ้นเคยกับงานวิจัยของฮุกเกอร์ เธอจึงรอดจากการถูกช็อตสมองมาได้

1969 สโตนวอล อินน์ เป็นบาร์เกย์ระดับล่างบนถนนคริสโตเฟอร์ ย่าน กรินนิช วิลเลจ มีเจ้าของเป็นมาเฟีย และเปรียบดังสถานพักผ่อนหย่อนใจของเหล่ากะเทยแต่งหญิงกับโสเภณีชาย เวลาตีหนึ่งยี่สิบนาทีของเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจนิวยอร์กสี่นายได้บุกเข้าตรวจค้นและจับผู้จัดการร้านในข้อหาขายเหล้าโดยไม่มีใบอนุญาต ส่วนใครที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือแต่งตัวตรงข้ามกับเพศสถานะต้องถูกลำเลียงไปสอบประวัติยังสถานีตำรวจ โดยปกติของการตรวจจับเหล่านี้ (ตลอดช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้าบาร์เกย์ในย่าน กรีนนิช วิลเลจ ถูกตำรวจบุกค้นไปแล้วถึงสี่แห่ง) กลุ่มลูกค้าที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านจะแยกย้ายกันไป แต่ในคืนแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว พวกเขากลับเลือกจะวนเวียนอยู่แถวหน้าบาร์ ไม่นานบรรยากาศโดยรอบก็เริ่มร้อนระอุ เสียงโห่ร้องดังขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นไม่นานเหล่าตำรวจก็ต้องหลบเข้าไปลี้ภัยในบาร์ ขณะฝูงชนก่อหวอดเป็นจราจล ต้องใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมงพร้อมกำลังเสริมอีกจำนวนหนึ่ง กว่าตำรวจจะสามารถสลายม็อบได้ พร้อมจับผู้ต้องหาไป 14 ราย

คืนถัดมา ตำรวจหวนกลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประท้วง คราวนี้พร้อมสรรพด้วยป้ายประกาศ “พวกมันย่ำยีสิทธิของเรา ออกกฎหมายรับรองบาร์เกย์ สนับสนุนพลังของเกย์” แล้วการปะทะกันก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยผู้ประท้วงใช้ก้อนอิฐและขวดเหล้าเป็นอาวุธ

Stonewall Riots กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์เกย์และเลสเบี้ยน มันนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของรักร่วมเพศทั่วโลก นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังประจวบเหมาะกับการเสียชีวิตของ จูดี้ การ์แลนด์ เกย์ ไอคอน ระดับหัวแถว อย่างประหลาด (การ์แลนด์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนจากการเสพยาเกินขนาด และคืนการประท้วงที่สโตนวอลก็เป็นคืนเดียวกับพิธีศพของการ์แลนด์) หนึ่งปีต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน ขบวนพาเหรดเกย์และเลสเบี้ยนก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอเมริกา เพื่อรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงหน้า สโตนวอล อินน์

1973 สมาพันธ์จิตแพทย์แห่งอเมริกาได้ตัด “รักร่วมเพศ” ออกจากหมวดหมู่ของความผิดปกติทางจิต โดยยึดงานค้นคว้าวิจัยของ เอเวอลีน ฮุกเกอร์ เป็นข้อมูลหลัก นับจากนั้น รักร่วมเพศก็ไม่ถือเป็นอาการป่วยไข้อีกต่อไป แม้จิตแพทย์จำนวนไม่น้อยจะคัดค้านการตัดสินใจดังกล่าวของสมาพันธ์

1978 ธงสีรุ้งถูกนำมาใช้แทนความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกสิทธิเท่าเทียมกันของเกย์และเลสเบี้ยน ความหลากหลายของสีสันเป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายทางเพศสถานะของชุมชนรักร่วมเพศ ธงดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในประเทศอเมริกา แต่ถูกนำไปใช้ในขบวนพาเหรดของเกย์และเลสเบี้ยนทั่วโลก ศิลปินชาวซานฟรานซิสโก กิลเบิร์ต เบเกอร์ เป็นคนออกแบบ

1978 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1978 สมาชิกประจำคณะผู้ตรวจการแห่งเมืองซานฟรานซิสโก ฮาร์วีย์ มิลค์ ถูกคู่แข่งทางการเมือง แดน ไวท์ ยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนสี่นัด ก่อนเขาจะนำปืนไปจ่อกะโหลกมิลค์ แล้วยิงนัดที่ห้าเป็นการปิดท้าย (ก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งสังหารนายกเทศมนตรี จอร์จ มอสโคน ในห้องทำงาน) มิลค์ประกาศตนว่าเป็นเกย์ โด่งดังจากบุคลิกกล้าพูด กล้าทำ และการต่อสู้เพื่อขจัดอคติต่อรักร่วมเพศ ส่วนไวท์เป็นคาทอลิกหัวอนุรักษ์นิยมที่เติบโตมาในชุมชนแรงงาน ความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่ค่อยราบรื่นนัก โดย 10 วันหลังลาออกอย่างกะทันหัน โดยอ้างปัญหาการเงิน ไวท์ได้ขอร้องให้มอสโคนเลือกเขากลับมาประจำคณะผู้ตรวจการ แรกทีเดียวมอสโคนตั้งใจจะยินยอมตามคำขอ แต่แรงกดดันจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามไวท์ (หนึ่งในนั้นคือมิลค์) ทำให้มอสโคนเปลี่ยนใจ

แดน ไวท์ ถูกนำตัวขึ้นศาลในอีกหกเดือนต่อมา ทนายของเขาคัดเลือกคณะลูกขุนอย่างระมัดระวังเพื่อให้ทั้งหมดเป็นคาทอลิกผิวขาวจากชนชั้นแรงงาน ไม่มีคนผิวสี คนเอเชีย หรือเกย์ปะปนมาเลย จากนั้นก็พยายามแก้ต่างโดยยกข้ออ้างเรื่องความเครียดและความเปลี่ยนแปลงของเคมีในร่างกาย (จากการกินอาหารขยะเป็นจำนวนมากก่อนวันเกิดเหตุ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “Twinkie defence” ) ทางด้านอัยการเองก็ทำหน้าที่ของตนอย่างทุลักทุเล เขาไม่ย้ำเตือนคณะลูกขุนให้ตระหนักถึงแรงจูงใจของไวท์ ตลอดจนรอยบาดหมางระหว่างบุคคลทั้งสอง สุดท้ายไวท์จึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาแค่ 7 ปี 8 เดือน ซึ่งนั่นสร้างความโกรธแค้นให้คนกลุ่มใหญ่จนพากันมารวมตัวล้อมศาลากลางจังหวัดเป็นเวลาหลายชั่วโมงและเผารถตำรวจไปหลายคัน ต่อมาตำรวจก็แก้แค้นด้วยการบุกเข้าบาร์เกย์แห่งหนึ่งบนถนนคาสโตร แล้วรุมทำร้ายทุกคนในนั้น ผลจากเหตุการณ์ White Night Riots ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 61 นายและเกย์จำนวน 100 คนได้รับบาดเจ็บจนต้องนำส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้ มันยังเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าความพยายามจะสร้างตัวตนให้ปรากฏของรักร่วมเพศได้ก่อให้เกิดกระแสโต้กลับค่อนข้างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพราะไวท์วาดภาพตัวเองเป็นคนที่พยายามจะปกป้องค่านิยมดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ และเขาก็ได้รับเสียงสนับสนุนลึกๆ จากชาวเมืองซานฟรานซิสโกจำนวนไม่น้อย

1981 ลางหายนะแรกแสดงตัวในเดือนมกราคม 1981 เมื่อชายเกย์อายุ 31 ปีถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในลำคอ ก่อนต่อมามันจะพัฒนาเป็นการติดเชื้อในปอด ซึ่งมักพบเห็นเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือปลูกถ่ายอวัยวะเท่านั้น พัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้นายแพทย์ทั้งหลายงุนงง และเมื่อโรคร้ายเริ่มแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนถูกขนานนามให้เป็น “มะเร็งชาวเกย์” ข้อเท็จจริงก็ค่อยๆ ปรากฏว่า ไม่ใช่เพียงเกย์เท่านั้นที่เป็นโรคนี้ แต่ยังรวมถึงคนไข้ถ่ายเลือด ขี้ยา และชายจริงหญิงแท้อีกนับร้อยในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ดังนั้นชื่ออย่างเป็นทางการของมันถูกตั้งขึ้นในปี 1982 ว่าโรคเอดส์

ช่วงแรกของการระบาด โรงอาบน้ำชาวเกย์ตกเป็นเป้าโจมตีหลัก เกย์บางคนเห็นชอบให้ปิดโรงอาบน้ำเพื่อช่วยชีวิตคน แต่อีกหลายคนไม่อยากให้ปิด เพราะพวกมันเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพทางเพศและรักร่วมเพศ ซึ่งชาวเกย์พยายามต่อสู้เรียกร้องมาตลอดนับแต่เหตุการณ์สโตนวอล หากสั่งปิดโรงอาบน้ำ บาร์เกย์อาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป จากนั้นใครจะรู้? แต่สุดท้าย เมอวิน ซิลเวอร์แมน ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขของเมืองก็ประกาศปิดโรงอาบน้ำโดยให้เหตุผลว่า “โรงอาบน้ำสิบสี่แห่งที่ถูกสั่งปิดไม่ใช่สัญลักษณ์แทนอิสรภาพของรักร่วมเพศ แต่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเชื้อโรคและความตายต่างหาก”

โรคเอดส์ ตลอดจนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งจับมือแนบแน่นกับกลุ่มฝ่ายขวาเคร่งศาสนา ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกาต้องหยุดชะงักลงกลางคัน กลุ่มต่อต้านเกย์มักจะหยิบยกโรคเอดส์มาเป็นข้ออ้างในการเปรียบเทียบรักร่วมเพศกับเชื้อโรค ขณะเดียวกัน โรคเอดส์ยังถือเป็นตะปูตอกปิดยุคสมัยแห่งเสรีภาพทางเพศอีกด้วย

1982 การแข่งขัน Gay Games หรือโอลิมปิกสำหรับชาวเกย์และเลสเบี้ยน (ความจริงคณะกรรมการไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วม โดยจุดหมายหลัก คือ ดึงดูดกลุ่มคนจากประเทศที่รักร่วมเพศยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และต้องหลบๆ ซ่อนๆ) เริ่มต้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซานฟรานซิสโก ภายใต้การควบคุมดูแลของ ทอม แวดเดลล์ เดิมทีใช้ชื่อ Gay Olympics แต่ถูกฟ้องร้องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา หลายคนเชื่อว่าการฟ้องร้องมีรากฐานมาจากอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศ (Homophobia) ของเหล่าผู้บริหารระดับสูง เพราะพวกเขาต่างเคยยินยอมให้ใช้คำว่าโอลิมปิก สำหรับการแข่งขันอื่นมาแล้ว เช่น Special Olympics เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน Gay Games ถูกจัดมาทั้งหมด 7 ครั้ง มีอเมริกาเป็นเจ้าภาพ 4 ครั้ง ส่วนเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดาเคยเป็นเจ้าภาพคนละครั้ง Gay Games ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นในปี 2010 ณ เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมัน

1988 หลังเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้กะเทยผ่าตัดแปลงเพศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 1972 สวีเดนก็ตอกย้ำสถานะ “หัวก้าวหน้า” ต่อประเด็นทางเพศ ด้วยการออกกฎหมายพิทักษ์สิทธิทางด้านสังคมสงเคราะห์ ภาษี และมรดกให้กับรักร่วมเพศเป็นประเทศแรก

1990 ปีแห่งการถือกำเนิดของ Queer Theory (คำว่า Queer ถูกนำมาใช้แทนเกย์เพื่อให้ครอบคลุมทุกพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนออกจากรักต่างเพศ) ซึ่งเน้นศึกษาประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพโดยรับอิทธิพลมาจากทั้งฝั่งสตรีศึกษาและฝั่งเกย์และเลสเบี้ยนศึกษา เป้าหมายของ Queer Theory ไม่ใช่เพื่อระบุให้แน่ชัดว่า เพศสภาพเกิดจากกรรมพันธุ์ หรืออิทธิพลของสภาพแวดล้อมซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็นการวิพากษ์ความซับซ้อนของการแยกแยะมนุษย์แต่ละคนเป็นกลุ่มเป็นเหล่าผ่านเพศสภาพของเขา เทเรซา เดอ ลอเรติส คิดค้นคำนี้ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1990 ระหว่างเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับประเด็นทางเพศของเกย์และเลสเบี้ยนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ความลับหลังแท่นบูชาสีม่วง

เกย์ ไอคอน หมายถึง คนดังที่เหล่ารักร่วมเพศชื่นชอบ หลงใหล และเทิดทูนบูชา ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นดารา/นักร้องหญิง แถมเกือบทั้งหมดยังไม่ใช่เลสเบี้ยนเสียด้วย เราไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไม บางทีอาจเป็นเพราะพวกเธอร้องเพลง “แทนใจ” ชายรักร่วมเพศ (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกระบอกเสียงหลักของรักร่วมเพศ เพราะพวกเขา “ตะโกน” ดังสุด เมื่อเทียบกับเลสเบี้ยน หรือไบเซ็กช่วล ที่ถูกผลักดันเข้ามุมมืด) ผู้นิยมแทนตัวเองในตำแหน่ง “เพศเมีย” จากการที่พวกเขาปรารถนาเพศชายเช่นเดียวกัน

มาตรวัด เกย์ ไอคอน แบบง่ายๆ คือ สังเกตดูว่าใครถูกกะเทยแต่งหญิงนำไปแสดงเลียนแบบบนเวทีอยู่บ่อยๆ และด้วยเหตุนี้กระมัง ดาราที่ควบอาชีพนักร้องไปด้วยจึงได้เปรียบอยู่หน่อยๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ แชร์, บาร์บรา สตรัยแซนด์ และ เบ็ตต์ มิดเลอร์

แต่อะไรล่ะที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของ เกย์ ไอคอน?

เรียนรู้จาก “ตัวแม่”

เกย์รู้สึกเหมือนเป็น “คนนอก” ในสังคม “รักไม้ต่างป่า” และชายเป็นใหญ่ ฉะนั้น พวกเขาจึงถูกดึงดูดเข้าหาดาราสาวที่มีภาพลักษณ์ของคนนอก ไม่ว่าจะโดยรูปร่างหน้าตา เพศสถานะ หรือความเปราะบางทางอารมณ์ คุณสมบัติดังกล่าวปรากฏชัดในตัว จูดี้ การ์แลนด์ อภิมหึมามหา เกย์ ไอคอน แห่งศตวรรษ ซึ่งพิสูจน์ได้จากศัพท์แสลง “เพื่อนของโดโรธี” (หมายถึงเป็นเกย์) ซึ่งอ้างอิงไปยังบทแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับการ์แลนด์ในหนังเพลงคลาสสิกเรื่อง The Wizard of Oz (1939)

มีหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการ์แลนด์ที่ผลักดันให้เธอได้รับความสนใจจากชายรักร่วมเพศ หนึ่งในนั้น คือ เธอถูกสตูดิโอโปรโมตด้วยภาพลักษณ์ผู้หญิง “ธรรมดาสามัญ” เหมือนเด็กสาวข้างบ้าน แต่ตัวตน “จริง” ของเธอกลับแตกต่างจากภาพลักษณ์ดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง มัน “โดนใจ” รักร่วมเพศ เพราะ เช่นเดียวกัน เกย์ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตเป็นผู้ชาย “ธรรมดาสามัญ” แต่พวกเขากลับตระหนักในเบื้องลึกถึงความ “แตกต่าง” ภายใน

ชีวิตจริงของการ์แลนด์เต็มไปด้วยความซับซ้อน หม่นเศร้า เคล้าความหวือหวาฟู่ฟ่า เธอเคยพยายามฆ่าตัวตาย หลังจากโดนเอ็มจีเอ็มตัดหางปล่อยวัด แต่ความเข้มแข็ง สู้ชีวิตช่วยให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นยืดหยัดได้อีกครั้ง (ส่วนผสมระหว่างความทุกข์ทรมานและความเด็ดเดี่ยวที่จะกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งดึงดูดใจชาวเกย์ เหมือนเนื้อเพลง I Will Survive ซึ่งกลายเป็นเพลงชาติของชาวเราไปแล้ว) ไม่เพียงเท่านั้น บทบาทของเธอในหนังก็สอดคล้องไปตามแนวทางเดียวกันอีกด้วย ในภาพยนตร์เพลง Meet Me in St. Louis (1944) การ์แลนด์รับบทเด็กสาวข้างบ้านที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ความร่าเริง และแก่นแก้ว แต่บ่อยครั้งบุคลิกดังกล่าวทำให้เธอต้องเผชิญความอับอายขายหน้า ฉะนั้น หากเธอต้องการเอาชนะใจชายหนุ่มและได้เขามาเป็นสามี (แล้วดำเนินชีวิตครอบครัวอันอบอุ่นแบบเดียวกับแม่ของเธอ) เธอจะต้อง “แต๊บ” พลังร่าเริงแห่งวัยสาวเหล่านั้นเอาไว้

การ์แลนด์เข้าถึงกลุ่มชาวเกย์เพราะเธอเลือกจะร้องเพลง ซึ่งสะท้อนความคิดและวิบากกรรมของเกย์ในสังคมรักต่างเพศ The Man That Got Away แทบจะเป็นเพลงชาติของชาวเราได้เลย ส่วนเพลงอื่นๆ ก็ถ่ายทอดความปรารถนาของรักร่วมเพศในฐานะชนกลุ่มน้อยได้อย่างกินใจ เช่น Over the Rainbow ซึ่งนำเสนอโลกใหม่อันสมบูรณ์แบบ ที่ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากอคติ ไม่ว่าพวกเขาจะมีไลฟ์สไตล์แบบใด หรือ Get Happy ก็อาจสื่อนัยยะถึงความสามารถของชาวเกย์ที่จะรับมือกับปัญหาได้ด้วยกำลังใจของ “เพื่อนพ้อง”

เมื่อเปรียบเทียบกับดาราสาวสวยคนอื่นๆ ในยุคนั้นอย่าง ลาน่า เทอร์เนอร์ และ มาริลีน มอนโร อาจกล่าวได้ว่า จูดี้ การ์แลนด์ ขาดแคลนความเซ็กซี่ เสน่ห์เย้ายวน ซึ่งนั่นเปรียบดังความล้มเหลวในเพศหญิง เธออาจทรงคุณค่าจากทักษะการร้องเพลงอันร่าเริง เปี่ยมชีวิตชีวา แต่โดยรวมแล้ว เธอดูเหมือนสมาชิกในกลุ่มเด็กผู้ชายมากกว่า การขาดพลังดึงดูดทางเพศย่อมจุดประกายความรู้สึกต่ำต้อย และมันย่อมเชื่อมโยงไปยังอารมณ์คับแค้นของชาวเกย์ (ในยุคสมัยนั้น) ซึ่งมักจะมองตนเอง (ผ่านบรรทัดฐานทางสังคม) ว่ามีความวิปริตผิดเพศ ไร้เสน่ห์ดึงดูด และผิดปกติ แน่นอนว่าในหนัง สุดท้ายแล้วการ์แลนด์ก็ลงเอยด้วยการได้พระเอกของเรื่องมาครอง ซึ่งนั่นเป็นส่วนเติมเต็มความฝันให้กับชาวเกย์ว่าแม้พวกเขาจะแตกต่าง แต่สุดท้ายก็สามารถครอบครองสิ่งที่หัวใจปรารถนาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ แง่มุมสำคัญอีกประการของ จูดี้ การ์แลนด์ ซึ่งเกี่ยวพันถึงภาพลักษณ์ผู้หญิงธรรมดาสามัญ ก็คือ สถานะ “แฟนหนัง” ของเธอ ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์หลายเรื่องที่เธอต้องแสดงประกบ มิคกี้ รูนีย์ โดยเขามักรับบทดาวเด่นประจำเมือง หนุ่มป็อปปูล่าที่เหล่าสาวๆ ตามกรี๊ด และหัวหน้าแก๊งวัยรุ่น ส่วนการ์แลนด์จะแสดงเป็นหญิงสาวหน้าตาเรียบง่าย ที่แอบหลงใหลเขา เหมือนเด็กสาวคลั่งไคล้ดาราหนุ่ม ก่อนสุดท้ายจะได้เขามาครองดังหวัง หนังเพลงของเอ็มจีเอ็มยุคสตูดิโอรุ่งเรืองมักเฉลิมฉลองความธรรมดาสามัญไปพร้อมๆ กับความหรูหรา ฟู่ฟ่า อลังการดาวล้านดวงในสไตล์ฮอลลีวู้ด การ์แลนด์คือนักแสดงที่เชื่อมโยงสองขั้วตรงข้ามเข้าด้วยกัน เธอทำให้ความเฉิดฉายเกินเอื้อมกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับชาวบ้านทั่วไป

โรงภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงอันทรงอิทธิพลสำหรับชาวเกย์ เพราะมันแยกคุณโดดเดี่ยวจากกรอบสังคมรักต่างเพศที่บีบรัด เปิดโอกาสให้คุณมีโลกส่วนตัว ส่งผลให้การดูหนังกลายเป็นประสบการณ์สำคัญของชาวเกย์ และการ์แลนด์ คือ ตัวแทนของแรงปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในโลกภาพยนตร์ของชาวเกย์ เพราะเธอเป็นสาวน้อยธรรมดาสามัญ ที่หลบหนีเข้าไปยังดินแดนมหัศจรรย์แห่งโลกภาพยนตร์

เล่นหนังห่วยช่วยได้

เกย์ยินดีจะอ้าแขนรับและค้นพบคุณค่าในหนังหรือตัวละครที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นตัวประหลาด คนนอก หรือน่าขยะแขยง สถานะ เกย์ ไอคอน ของ โจน ครอว์ฟอร์ด ยิ่งลอยทะลุฟ้าจากหนังเสียสติอย่าง Mommie Dearest (1981) ดัดแปลงจากบันทึกชีวิตด่าแม่ตัวเองของ คริสติน่า ครอว์ฟอร์ด ซึ่งเต็มไปด้วยแง่มุมเจ็บแสบ ร้ายกาจ เหมือนการสาดน้ำกรดใส่ทุกๆ เหตุการณ์ หนังโดนสาบส่งจากเหล่านักวิจารณ์ คนดูส่วนใหญ่ก็ชิงชังตัวละครในเรื่อง (มันชนะรางวัลราซซี่ถึงห้าสาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดแย่) แต่แฟนหนังชาวเกย์กลับคลั่งไคล้ นำบางฉากในหนังมาสร้างเลียนแบบจนกระทั่งมันกลายเป็นภาพยนตร์ cult classic

ความฮิตของ Mommie Dearest ส่งผลให้ เฟย์ ดันนาเวย์ กลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าชาวเกย์ไปด้วย จากการสวมวิญญาณ โจน ครอว์ฟอร์ด ได้โอเวอร์ เหนือจริงทุกฉากทุกตอน ทุกท่วงท่า ที่สำคัญ สไตล์เสื้อผ้าหน้าผมของเธอในหนัง (แต่งหน้าหนาเป็นคาบูกิ มือไม้กวัดแกว่งเหมือนกำลังเล่นละครเวที และสวมเสื้อหนุนไหล่หนา) ยังเหมาะต่อการนำมาล้อเลียนตามโชว์กะเทยทั่วอเมริกาอีกด้วย

ด้วยมาตรฐานเดียวกัน Showgirls (1995) วางรากฐานให้ จินา เกอร์ชอน กับ อลิซาเบ็ธ เบิร์กลีย์ เริ่มกลายเป็นที่สนใจของชาวเกย์ (การหันมาโชว์เนื้อนมไข่แบบไม่อายสายตาใครของคนหลังได้บดขยี้ภาพลักษณ์สาวใสจาก Saved by the Bell ลงอย่างราบคาบ ส่วนคนแรกก็ตอกย้ำสถานะ เกย์ ไอคอน ด้วยการรับบทเป็นเลสเบี้ยนในหนังเรื่อง Bound อีกหนึ่งปีต่อมา)

โทรี่ สเปลลิ่ง โดนวิพากษ์แบบสาดเสียเทเสียจากการแสดงอันไร้ซึ่งความเป็นธรรมชาติในซีรีย์ทางโทรทัศน์เรื่อง Beverly Hills 90210 แต่ชาวเกย์กลับชื่นชอบ แม้เธอจะโดนวัยรุ่นและเหล่านักวิจารณ์รุมขับไล่ จากนั้น เธอก็ตอกย้ำความนิยมด้วยการรับบทเพื่อนสาวของเกย์หนุ่มหน้าละอ่อนในหนังฮิตอย่าง Trick (1999) และออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวรักร่วมเพศอย่างต่อเนื่อง

เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ สิดี

“ใหญ่” ในที่นี้หมายถึงความมั่นใจ หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การแต่งชุดที่ออกแบบมาไม่เหมือนใคร ใช้เนื้อผ้าซีทรู ปักเลื่อมระยิบระยับจนเหล่าอนุรักษ์นิยมหัวโบราณต้องออกมาต่อต้าน สิ่งแปลกปลอม สิ่งที่ดูประดิษฐ์ ไม่เป็นธรรมชาติเรียกร้องเสียงชื่นชมจากชาวเกย์ รวมถึงการเลียนแบบ เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องดารา/นักร้อง เกย์ไม่ต้องการเทิดทูน บูชาจากระยะไกล พวกเขาชื่นชอบสไตล์อันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง น้ำเสียง การแต่งตัว หรือใบหน้า ดังจะเห็นได้จาก แชร์ ซึ่งไม่เคยอยู่ในสายตาของชาวเกย์สมัยยังร้องเพลงคู่กับ ซอนนี่ โบโน แต่พอเธอเริ่มแต่งตัวแรงๆ ในลักษณะกะเทยเรียกพี่มาปรากฏตัวตามงานเปิดตัวหนัง คอนเสิร์ต หรือกระทั่งในพิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ เหล่าเกย์ทั้งหลายก็เริ่มตั้งแท่นบูชากันยกใหญ่ (พวกเขาไม่ได้เพราะอยาก “ได้” เธอ แต่ค่อนไปทางอยาก “เป็น” เธอเสียมากกว่า) สไตล์การแต่งตัวของแชร์สะท้อนทัศนคติ ซึ่งถูกใจเกย์ ในทำนอง “ทุกคนต้องมองฉัน และฉันก็ไม่แคร์ว่าพวกเขาจะคิดอย่างไร” ไม่นานต่อมา โชว์กะเทยจึงเริ่มแสดงเลียนแบบแชร์กันเป็นทิวแถว

บาร์บรา สตรัยแซนด์ คือ อีกหนึ่ง เกย์ ไอคอน ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่ากะเทยโชว์ทั่วโลก ความมั่นใจของเธอส่อแววเด่นชัด ตั้งแต่สมัยเธอไปปรากฏตัวในรายการทางโทรทัศน์ของ จูดี้ การ์แลนด์ ชื่อ The Judy Garland Show เมื่อปี 1963 ทั้งสองชิงดีชิงเด่นกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางความแตกต่างที่สวนทางทั้งด้านบุคลิก สไตล์ น้ำเสียง และทัศนคติ (ขณะนั้นสตรัยแซนด์อายุเพียง 21 ปี แต่สามารถร้องเพลง Happy Days Are Here Again และ There’s No Business Like Show Business ประกบการ์แลนด์ได้อย่างไม่เกรงกลัวรัศมี)

คงไม่มีผู้หญิงถ่อมตัวคนไหนจะร้องเพลง Don’t Rain On My Parade แล้วทำให้คนดูตื่นตะลึงจนไม่อาจละสายตาจากจอหนังได้ เหมือนอย่างที่บาร์บราทำใน Funny Girl (1968) ภาพยนตร์เพลงซึ่งผลักดันเธอให้โด่งดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน ถ้าเสียงร้องของการ์แลนด์เจือกลิ่นอายความเศร้าและความขัดแย้ง ซับซ้อน เสียงร้องของบาร์บราก็ท่วมทะลักด้วยความเชื่อมั่น พลังของคนที่พยายามจะทำลายกรอบกีดขวางรอบข้าง เพื่อเป็นตัวของตัวเอง... ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชายรักร่วมเพศจะคลั่งไคล้เธออย่างออกนอกหน้า

ดูเหมือนลูกสาวของ จูดี้ การ์แลนด์ อย่าง ไลซา มินเนลลี จะได้ส่วนผสมของทั้งสองมาแบบเต็มๆ นั่นคือ พลังเสียงเป็นเอกลักษณ์จากบาร์บราและความเปราะบางในบุคลิกจากแม่ ไม่นานต่อมา เธอจึงเจริญรอยตามการ์แลนด์ด้วยการดำรงสถานะของ เกย์ ไอคอน

แม้เสียงร้องของ เบ็ตต์ มิดเลอร์ จะน่าฟังไม่แพ้ใคร แต่ชาวเกย์ถูกดึงดูดเข้าหาเธอเนื่องจากบุคลิกอันโดดเด่นเสียมากกว่า แก๊กตลกของเธอเวลาอยู่บนเวที หรือท่ามกลางสป็อตไลท์ค่อนข้างเถรตรง ทะลึ่งปนทะเล้น หรือบางครั้งอาจถึงขั้นหยาบโลน เช่น เธอเคยปล่อยมุกเกี่ยวกับหนังโป๊เรื่อง Deep Throat (1972) อย่างไม่ขัดเขิน ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยนามหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เธออาจหาญพูดในสิ่งที่ผู้หญิง “ดีๆ” ส่วนใหญ่เขาไม่พูดกัน และนั่นโดนใจชาวเกย์ ซึ่งชอบเมาท์เรื่องเซ็กซ์และสรีระของผู้ชายเป็นหลัก สองหัวข้อที่กระทั่งดาวตลกชายบางคนยังไม่กล้าย่างกรายเข้าใกล้ คุณสมบัติ “ฮาปนห่าม” ข้างต้นถูกส่งผ่านไปยังดาวตลกรุ่นหลังอย่าง มาร์กาเร็ต โช และ แคธี่ กริฟฟิน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในหมู่รักร่วมเพศมากขึ้นเรื่อยๆ

สองเพศในร่างเดียว

ในหนังเรื่อง A Star Is Born (1954) จูดี้ การ์แลนด์ ดูเซ็กซี่ สวยสง่า และเป็นหนึ่งเดียวกับพวกผู้ชายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะฉากร้องเพลง Gotta Have Me Go With You เช่นเดียวกับฉากร้องเพลง Get Happy ในหนังเรื่อง Summer Stock (1950) ซึ่งเธอดูเหมือนมนุษย์สองเพศ หรือกระทั่งไร้เพศ คล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของ มาร์ลีน ดีทริช และ เกรตา การ์โบ นอกจากนี้ การ์แลนด์ยังสานต่อส่วนผสมระหว่างความเป็นชายกับความเป็นหญิงไปยังการแสดงคอนเสิร์ตหลายๆ ครั้งด้วย โดยการสวมเสื้อเชิ้ตผู้ชายหลวมๆ ของเธอเปรียบเสมือนวิธีอำพรางรูปร่าง ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกเพศสถานะ

ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ชาวเกย์จึงชื่นชอบผู้หญิงที่พูดหรือทำตัวเหมือนผู้ชาย อย่างน้อยก็เกี่ยวกับเรื่องบนเตียง ตัวละครใน Sex and the City กลายเป็นขวัญใจรักร่วมเพศ เพราะพวกเธอใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนัดเพื่อนออกมานั่งเมาท์ กิน เที่ยวตระเวนราตรี และแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกายกับผู้ชายแปลกหน้า ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับวัฒนธรรมเกย์ในเมืองใหญ่อยู่ไม่น้อย แต่ประเด็นที่ซ่อนลึกลงไปกว่านั้น คือ ชาวเกย์ชื่นชอบสาวแรดร่านเหล่านี้เพราะพวกเธอไม่ยินยอมจะประพฤติตนตามกฎเกณฑ์ที่สังคมขีดเส้นไว้ว่า อะไร “เหมาะสม” อะไร “ไม่เหมาะสม” พวกเธอจึงเป็นเหมือนขบถ หรือคนนอก และนั่นถูกใจรักร่วมเพศยิ่งนัก

ถึงแม้ซีรีย์ Sex and the City จะฮิตถล่มทลายในชุมชนรักร่วมเพศ แต่นักแสดงที่รับบทเด่น น่าจะมีเพียง ซาราห์ เจสซิก้า พาร์คเกอร์ คนเดียวเท่านั้นที่สามารถบุกฝ่ามายืนอยู่แนวหน้าได้ เพราะเธอเริ่มแผ้วถางเส้นทางไว้ตั้งแต่ปี 1995 แล้ว เมื่อให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายในอาชีพนักแสดงของเธอ คือ การเป็น เกย์ ไอคอน และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอก็มักระบุขอบคุณบรรดาแฟนๆ ชาวเกย์ทั้งหลายที่คอยให้การสนับสนุนอยู่เสมอ

เจ้าหญิงไม่เอา เราชอบ “bitches”

เวลา จูดี้ การ์แลนด์ ร้องเพลง Over the Rainbow ความเศร้าในน้ำเสียงของเธอสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน แม้ขณะกำลังบรรยายถึงความสวยงามของสายรุ้ง หรือฝูงนกบลูเบิร์ด มันสื่อนัยถึงความซับซ้อนเบื้องหลังภาพลักษณ์ผิวเผินอันบริสุทธิ์ สดใสที่ปรากฏให้เห็นบนจอ แง่มุมดังกล่าวจี้ใจชาวเกย์ ซึ่งต้องคอยปั้นหน้าเพื่อรักษาภาพลักษณ์ในสังคม ขณะพยายามปกปิดตัวตนที่แท้จริง สองด้านอันขัดแย้ง (ร่าเริงภายนอก ขมขื่นภายใน) ถูกตอกย้ำผ่านข่าวอื้อฉาวตลอดอาชีพนักแสดงของการ์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมติดเหล้า ติดยา หรือการเป็นลมกลางกองถ่าย ทั้งหมดนั้นส่งผลให้เกย์อดไม่ได้ที่จะนึกสงสารเห็นใจเธอในฐานะผู้หญิง ซึ่งชีวิตถูกบังคับควบคุมโดยเหล่าผู้บริหารสตูดิโอที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพศชาย

โศกนาฏกรรมของการ์แลนด์อาจสะท้อนถึงความรู้สึกเบื้องลึกของรักร่วมเพศในการต้องหลบซ่อนรสนิยมทางเพศ (in the closet) แต่ยังมี เกย์ ไอคอน บางคนเหมือนกันที่แสดงบุคลิกตรงกันข้ามและเป็นที่ชื่นชอบของชาวเกย์ผ่านท่าทีอันเด็ดเดี่ยว ที่จะปลดแอกตนเองจากความคาดหวังและมาตรฐานทางสังคม สองตัวอย่างเด่นชัด คือ เบตตี้ เดวิส และ โจน ครอว์ฟอร์ด จากหนังคลาสสิกอย่าง Jezebel (1938) และ Mildred Pierce (1945) โดยตัวละครเอกในหนังทั้งสองเรื่องล้วนเป็นผู้หญิงที่ห่างไกลจากภาพลักษณ์ “นางเอกแสนดี” ซึ่งคนดูคุ้นเคย

ขณะเดียวกันในชีวิตจริง ผู้หญิงทั้งสองล้วนถูกขนานนามว่า “หัวแข็ง” ทำงานด้วยยาก และห้าวพอจะต่อกรกับเหล่าผู้บริหารสตูดิโอ เมื่อเห็นว่าอาชีพการงานของพวกเธอกำลังก้าวไปผิดทาง โดยทั้งเดวิสและครอว์ฟอร์ดต่างไม่ยินยอมจะถูกกักขังในกรอบของชีวิตแม่บ้าน (คนแรกผ่านการแต่งงานมาสี่ครั้ง ส่วนคนหลังห้าครั้ง) บุคลิกดื้อดึง และปฏิเสธการตีกรอบของพวกเธอสะท้อนให้เห็นความรู้สึกเบื้องลึกของเกย์ต่อสังคมรักต่างเพศ ที่พยายามจะกักขังพวกเขาให้ต้องอาศัยอยู่ในเงามืด ในกรอบแห่งความ “ปกติ”

คุณสมบัติดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำให้หนักแน่นขึ้นเมื่อทั้งสองยิ่งแก่ตัว ในหนังเรื่อง Whatever Happened to Baby Jane? (1962) พวกเธอรับบทสองพี่น้องสาวแก่ ไร้สามี ที่ปฏิบัติต่อกันการอย่างโหดร้าย ทารุณ อันเป็นผลมาจากการแก่งแย่งชิงดีในแง่ชื่อเสียงและความสำเร็จทางด้านการงาน นอกเหนือจากหนังเรื่องนี้แล้ว ดาราทั้งสองยังมักถูกบีบให้ต้องรับบท “มนุษย์ไร้หัวใจ” หรือไม่ก็ “ปีศาจร้าย” อีกหลายเรื่องเมื่อพวกเธอเริ่มแก่ตัว (ดู Berserk! เป็นตัวอย่างเสริมในกรณีของครอว์ฟอร์ด) ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนมุมมองของฮอลลีวู้ดต่อผู้หญิงสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้หญิงคนนั้นเย้ยหยันสถานะแม่ หรือเมีย เพื่อวิ่งตามหาความสำเร็จทางอาชีพและอิสระทางสถานภาพ แง่มุมนี้โดนใจเกย์ไม่น้อยเช่นกัน เพราะฮอลลีวู้ดก็มักจะมองรักร่วมเพศเป็นตัวประหลาด หรือไม่ก็ฆาตกร ขณะสังคมโดยรวมก็มองการเบี่ยงเบนออกจาก “มาตรฐาน” ทางเพศ ตลอดจนอุดมคติแห่งเพศชายของชาวเกย์เป็นเรื่องเลวร้าย ชวนให้ประณามหยามเหยียด

ลูกหลานของโดโรธี

แชร์: โด่งดังจากการจับคู่ร้องเพลงกับ ซอนนี่ โบโน ในนาม Sonny & Cher ก่อนจะแยกมาฉายเดี่ยว แล้วขุดเจอขุมทองอย่างจังกับอัลบั้ม Believe ซึ่งอัดแน่นด้วยเพลงแดนซ์อมตะที่เกย์คลั่งไคล้ (ขณะนั้นเธอมีอายุ 52 ปี) แชร์เป็นหนึ่งในศิลปินเพียงไม่กี่คนที่กะเทยทั่วโลกชอบนำไปแสดงเลียนแบบบนเวที นอกจากนี้ กลุ่มรักร่วมเพศยังถูกอกถูกใจ เมื่อเธอออกมาสนับสนุนลูกสาวเลสเบี้ยน เชสติตี้ โบโน อย่างหมดใจ และเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนชาวเกย์มาตลอด ในซิทคอมสุดฮิต Will & Grace แชร์เป็นศิลปินในดวงใจของตัวละครเกย์สาวแตกอย่าง แจ๊ค แม็คฟาร์แลนด์ (ฌอน เฮย์ส) หนังโดนใจเกย์: Silkwood (1983) แชร์รับบทเพื่อนเลสเบี้ยนของ คาเรน ซิลค์วูด (เมอรีล สตรีพ) สาวโรงงานนิวเคลียร์ที่พยายามจะเตือนทุกคนถึงอันตรายของกัมมันตภาพรังสี แต่เสียชีวิตอย่างลึกลับระหว่างขับรถนำเอกสารไปเปิดโปงกับหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ บทดังกล่าวส่งผลให้เธอเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ก่อนสี่ปีต่อมาจะได้ออสการ์นำหญิงจาก Moonstruck (1987) แฝดสยาม: สินจัย เปล่งพานิช ได้ใจเกย์ไปเต็มๆ จากการร้องเพลงและนำแสดงในหนังเรื่อง ฉันรักผัวเขา ก่อนจะตอกย้ำสถานะ เกย์ ไอคอน ด้วย รักแห่งสยาม ตลอดจนการให้สัมภาษณ์สนับสนุนลูกชายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเขาจะเลือก “ตุ๊กตาชาย” หรือ “ตุ๊กตาหญิง”

มาดอนนา: คลุกคลีกับชาวรักร่วมเพศมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เมื่อครูสอนบัลเลต์พาเธอตะลอนบาร์เกย์ แล้วโน้มน้าวให้เธอย้ายไปแมนฮัตตันเพื่อเดินตามฝันของการเป็นแดนเซอร์ เมื่อมาถึงเมืองใหญ่ เพื่อนกลุ่มแรกของเธอประกอบด้วยกะเทยสาวและเด็กขายน้ำ ในช่วงทศวรรษ 1980 หลังชื่อเสียงโด่งดังทะลุฟ้า เธอเป็นคนดังคนแรกที่สนับสนุนกองทุนค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเอดส์ เพราะเพื่อนหลายคนของเธอเสียชีวิตด้วยโรคนี้ (เธอแต่งเพลง In This Life อุทิศแด่พวกเขา) เพลงสุดฮิตอย่าง Vogue ตลอดจนท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์ ได้อิทธิพลจากกลุ่มนักเต้นใต้ดิน ซึ่งเป็นที่นิยมตามบาร์เกย์และดิสโก้ในกรุงนิวยอร์ก นิตยสาร The Advocate เคยโหวตให้เธอเป็น เกย์ ไอคอน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือ จูดี้ การ์แลนด์ หนังโดนใจเกย์: Evita (1996) เสียงร้องและฝีมือการแสดงของราชินีเพลงป็อปพัฒนาถึงขีดสุดในหนังเพลงเรื่องนี้ เธอรับบทเป็นสาวชาวบ้านที่ผลักดันตัวเองจนกลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศอาเจนติน่า แฝดสยาม: คริสติน่า อากิล่าร์ กลายเป็นขวัญใจเกย์ตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกแล้วดังระเบิดเถิดเทิง จนกระทั่งปัจจุบันเพลงแดนซ์อมตะตลอดกาลของเธออย่าง นินจา และ พลิกล็อก ยังคงถูกเปิดตามผับบาร์ชาวเกย์อย่างต่อเนื่อง ควรค่ากับสมญานามราชินีสีลมเป็นอย่างยิ่ง

เบ็ตต์ มิดเลอร์: ตั้งชื่อตาม เกย์ ไอคอน อีกคน นั่นคือ เบ็ตตี้ เดวิส แต่ถึงจะเขียนเหมือนกัน มิดเลอร์เลือกออกเสียงชื่อแรกแค่พยางค์เดียว เธอเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงจากการร้องเพลงที่ คอนติเนนตัล บาธ ซึ่งเป็นโรงอาบน้ำสำหรับชาวเกย์ในนิวยอร์ก งานดังกล่าวทำให้เธอสนิทสนมกับนักเปียโน แบร์รี่ แมนิโลว์ ผู้ต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มแรก The Divine Miss M ที่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เธอเคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงสองครั้งจาก The Rose (1979) และ For the Boys (1991) “แม้ผลลัพธ์ที่ตามมาจะไม่น่าพิสมัย (โรคเอดส์ระบาด) แต่ฉันยังคงภูมิใจกับยุคสมัยของการร้องเพลงในโรงอาบน้ำ ฉันรู้สึกเหมือนยืนอยู่แถวหน้าในการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับรักร่วมเพศ ฉันหวังว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยผลักดันความเคลื่อนไหวนั้นไปข้างหน้า” เบ็ตต์กล่าว หนังโดนใจเกย์: Beaches (1988) ผลงานบีบน้ำตาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองสาวเพื่อนรัก จุดเด่นอยู่ตรงเพลง Wind Beneath My Wings ซึ่งคว้าแกรมมี่สาขา Record of the Year มาครอง แฝดสยาม: เจนนิเฟอร์ คิ้ม อาจหน้าไม่สวย หุ่นไม่เร้าใจ แต่เธอมากอารมณ์ขัน โดยเฉพาะมุกประเภทใต้สะดือ และร้องเพลงเจ็บปวดได้สะเทือนหัวใจ นอกจากนี้ เกย์ยังอินกับความล้มเหลวของเธอในการหาผู้ชายดีๆ สักคนมาครองจนเคยคิดฆ่าตัวตาย

ไลซา มินเนลลี: สืบทอดสายเลือด เกย์ ไอคอน มาจาก “ตัวแม่” (เธอเป็นลูกสาวของ จูดี้ การ์แลนด์ กับสามีคนที่สอง วินเซนต์ มินเนลลี) เริ่มเล่นหนังตั้งแต่อายุสามขวบใน In the Good Old Summertime (1949) ซึ่งนำแสดงโดยแม่ของเธอกับ แวน จอห์นสัน แต่ดูเหมือนชะตากรรมจะโยงใยไลซากับละครบรอดเวย์มากกว่า ชาวเกย์ชื่นชอบภาพลักษณ์ของเธอจาก Cabaret และนิยมนำมาเลียนแบบ (แต่งหน้าเข้ม เน้นขนตายาวสลวย ผมทรงหมวกกันน็อกสีดำขลับ ซึ่งให้อารมณ์ผสมผสานระหว่างความเปราะบาง ความเด็ดเดี่ยว โหยหารัก และการปลดปล่อยตัวเองจากโลกแห่งความจริง) นอกจากนี้ เธอยังเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นจากประวัติเรื้อรังเรื่องยาเสพติด และความล้มเหลวในชีวิตสมรส (เธอแต่งงานทั้งหมดสี่ครั้ง) หนังโดนใจเกย์: Cabaret (1972) รับบทเป็นนักร้องคาบาเรต์ที่ไปหลงรักหนุ่มหล่อ แต่เขาดันไปติดผู้ชายอีกคน ไลซาทุ่มเทหมดตัวให้กับการสวมวิญญาณ แซลลี่ บาวเลส จนคว้าออสการ์นำหญิงมาครองแบบไร้ข้อกังขา แฝดสยาม: เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ลูกสาวนักร้อง ฉันทนา กิตติยพันธ์ แต่งเพลงอกหักรักคุดออกมาเป็นกุรุสหลังโดนผู้ชายทิ้ง ชาวเกย์เลยเริ่มหันมาสนใจ ต่อมาเมื่อเธอเลือกครองตัวเป็นโสด ดำรงสถานะสาวห้าว ก๋ากั่น และมีความสุขกับการใช้ชีวิตขัดกับค่านิยมความเป็นหญิง พวกเกย์ยิ่งเทใจให้

ซาราห์ เจสซิก้า พาร์คเกอร์: แรกเริ่มก็เป็นแค่ดาราธรรมดา ไม่โดนใจเกย์เท่าไหร่ จนกระทั่งมารับบทนำในซีรีย์สุดฮิตวัดความสั่นสะเทือนในย่านชาวเกย์ได้ประมาณ 8 ริกเตอร์เรื่อง Sex and the City (1998-2004) เนื่องจากพฤติกรรมของสี่สาวในซีรีย์ถูกมองว่าห่างไกลจากผู้หญิงจริงๆ แต่ใกล้เคียงกับเกย์มากกว่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนคู่ขาไม่ซ้ำหน้า แถมยังเก็บเอาประสบกามสุดสวิงมาเมาท์กันในกลุ่มเพื่อนแบบไม่มีเขินอายอีกด้วย รายละเอียดที่เกย์แอบกรี๊ดอีกอย่างของซีรีย์ชุดนี้ คือ ขบวนพาเหรดเสื้อผ้าสุดเก๋ รองเท้าสุดหรู และเครื่องประดับสุดไฮโซ จนแทบจะเรียกว่าเป็นสวรรค์สีรุ้งได้เลย หนังโดนใจเกย์: Sex and the City (2008) แครี่ แบรดชอว์ ดูเหมือนจะสะกิดใจเกย์มากกว่าตัวละครอื่นในเรื่องตรงที่เธอยังคงเชื่อมั่นในรักโรแมนติก และแม้ภายนอกจะแสดงตัวเป็นสาวมั่นประเภทสวยเริดเชิดหยิ่ง แต่ภายในกลับเก็บซ่อนความเปราะบางและอ่อนไหวทางอารมณ์เอาไว้ แฝดสยาม: มาช่า วัฒนพานิช อาจไม่ใช่ขวัญใจชาวเกย์ในช่วงแรกของอาชีพนักแสดง แต่ระยะหลังเธอเริ่มหันทำเพลงแดนซ์เอาใจกลุ่มเด็กอตก. มากขึ้น ความแกร่งในการยืนบนลำแข้งตัวเอง เลี้ยงดูลูกชายเพียงลำพังยังดึงดูดใจชาวเกย์ได้ไม่น้อย รวมถึงการบรรลุความฝันอันสูงสุดของชาวเกย์ นั่นคือ มีสามีเด็กกว่า

บาร์บรา สตรัยแซนด์: เป็นหนึ่งในดารา/นักร้องเพียงไม่กี่คนที่คว้าออสการ์ เอ็มมี่ และแกรมมี่มาครองอย่างครบถ้วน เธอเริ่มต้นอาชีพด้วยการร้องเพลงตามไนท์คลับ ก่อนจะโด่งดังจากการแสดงในบาร์เกย์และย่อชื่อบาร์บาราให้เหลือแค่บาร์บราเพื่อความโดดเด่น นอกจากร้องเพลง เล่นหนัง เล่นละครแล้ว เธอยังเคยกำกับ The Prince of Tides (1991) จนเข้าชิงออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว ในหนังตลกเรื่อง In & Out (1997) คาลวิน ไคลน์ รับบทชายหนุ่มที่สารภาพกลางงานแต่งว่าเขาเป็นเกย์ ส่งผลให้ว่าที่เจ้าสาวผู้โชคร้าย (โจน คูแซ็ค) ต้องระบายความอัดอั้นออกมา “คุณรู้ไหมว่าฉันต้องทนดู Funny Lady (ภาคต่อของ Funny Girl) ไปตั้งกี่รอบ” มันพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวเกย์รักบาร์บรามากแค่ไหน หนังโดนใจเกย์: Funny Girl (1968) เรื่องราวของดาวตลกหญิงที่ไต่เต้าจากสลัมชาวยิวจนมามีชื่อเสียงระดับประเทศ บาร์บราร้อง เต้น เล่นสเกต ปล่อยมุกตลก และเหวี่ยงหมัดเด็ดน็อกหัวใจคนดูอย่างทรงพลังจนคว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครอง แฝดสยาม: ใหม่ เจริญปุระ เป็นหนึ่งในนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่ร้องเพลงได้อย่างทรงพลัง เธอยืนหยัดผ่านข่าวร้ายๆ จากฝีมือป้ายสีของคนอื่นอย่างไม่ย่อท้อ แถมยังส่งกลิ่นอายจางๆ ของมนุษย์สองเพศ... แบบนี้เกย์ชอบ

คนดังนอกตู้


“ผมสนับสนุนสิทธิของรักร่วมเพศ และไม่ได้แค่สนับสนุนแบบเงียบๆ อยู่หลังฉากเท่านั้น ตั้งแต่ตอนยังเด็ก ผมไม่เคยเข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงชอบโจมตีสังคมชาวเกย์ มีคุณสมบัติมากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นมนุษย์... และเมื่อไล่เรียงทุกคุณสมบัติซึ่งทำให้ผมนึกชื่นชมในตัวมนุษย์สักคนจนครบแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผมจะนึกถึง คือ เรื่องบนเตียงนอนของเขา”

คำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า พอล นิวแมน หาได้เป็นเพียงซูเปอร์สตาร์ระดับตำนานและนักแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่เขายังเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจเปิดกว้างอีกด้วย (แถมยังเปี่ยมเมตตา โดยในช่วงเวลาแค่สองปีจาก 2005 ถึง 2006 บริษัท Newman’s Own ของเขาซึ่งผลิตน้ำสลัด ซอสพาสต้า และคุกกี้สูตรพิเศษสามารถหาเงินเข้าองค์กรการกุศลได้มากถึง 120 ล้านดอลลาร์)

ถ้าโลกของเรามีคนแบบเขามากกว่านี้ มันคงน่าอยู่ขึ้นอีกหลายเท่าตัว ถ้าฮอลลีวู้ดมีคนแบบเขามากกว่านี้ บางทีอาจจะมีคนดังกล้าออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์/เลสเบี้ยนมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่โลกแห่งความเป็นจริงดูจะเต็มไปด้วยคนแบบ เออร์เนส บอร์กไนน์, โทนี่ เคอร์ติส และ อิไซอาห์ วอชิงตัน สองคนแรกโด่งดังจากการให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาขยะแขยง Brokeback Mountain และปฏิเสธไม่ยอมดูหนังเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์ ส่วนคนหลังสุดโด่งดังจากการเรียกนักแสดงเพื่อนร่วมงานในซีรีย์ทางทีวีชุด Grey’s Anatomy ที.อาร์. ไนท์ ว่า “อีตุ๊ด” แล้วกลับยืนกรานปฏิเสธต่อหน้านักข่าวในงานลูกโลกทองคำว่าเขาไม่เคยใช้คำเช่นนั้น

เหตุอื้อฉาวได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยเมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าว แคทเธอรีน ไฮเกล นักแสดงร่วมทีม Grey’s Anatomy และเพื่อนสนิทของไนท์ ก็ตอบโต้ด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า “เขา (วอชิงตัน) จำเป็นต้องเลิกพูดต่อหน้าสาธารณชนอย่างเด็ดขาด” ขณะเดียวกัน มันยังส่งผลให้ไนท์ตัดสินใจออกมาเปิดเผยตัวกับนิตยสาร People อีกด้วย “ผมไม่ได้กำลังหลอกตัวเอง” ไนท์ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Ellen DeGeneres Show “เพื่อนๆ ในกองถ่ายต่างก็รู้ว่าผมเป็นเกย์ เราคุยกันได้อย่างเปิดอก โดยธรรมชาติแล้วผมไม่ใช่คนประเภทที่จะโทรไปหานิตยสาร People แล้วพูดว่า ‘รู้อะไรมั้ย มีบางเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับผม’ ผมสามารถปล่อยมันผ่านไปก็ได้ แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งสำคัญ ผมจึงต้องออกมาประกาศตัว”

สุดท้ายเมื่อจำนนต่อหลักฐาน วอชิงตันจึงออกแถลงการณ์ดังนี้ “ผมขอโทษที.อาร์ เพื่อนร่วมงาน แฟนๆ ซีรีย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยนสำหรับการใช้คำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม การพูดซ้ำคำดังกล่าวในคืนวันจันทร์ (งานลูกโลกทองคำ หลัง Grey’s Anatomy คว้ารางวัลซีรีย์ดรามายอดเยี่ยมมาครอง) ทำให้ค่ำคืนที่ทุกคนในทีมงาน Grey’s Anatomy ควรจะมีความสุขต้องมีอันด่างพร้อย ผมปราศจากข้อแก้ตัว หรือคำอธิบายใดๆ ผมไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไปว่ามีประเด็นบางอย่างภายในจิตวิญญาณผมที่ต้องได้รับการตรวจสอบแก้ไข และผมก็ยินดีจะขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ ผมรู้ว่าคำพูดมีพลังมากแค่ไหน โดยเฉพาะคำพูดในทางดูหมิ่น เหยียดหยาม ผมตระหนักว่าการใช้คำแบบนั้นจะทำให้หลายคนต้องเจ็บปวด นอกเหนือจากที.อาร์.และเพื่อนร่วมงานทั้งหลายแล้ว ด้วยคำเพียงคำเดียว ผมได้ทำร้ายทุกคนที่พยายามจะเรียกร้องความเคารพนับถือจากสังคม ซึ่งพวกเราบางคนคุ้นชินจนมองไม่เห็นคุณค่า ผมยินดีจะเดินทางไปพบกลุ่มผู้นำชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อกล่าวขอโทษต่อหน้าและค้นหาหนทางเยียวยาบาดแผลที่ผมเป็นคนสร้างขึ้น ความกล้าหาญของที.อาร์.ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นแก่นแท้ในตัวเขา ผมนับถือพรสวรรค์และความเป็นมนุษย์ของเขาเหนืออื่นใด ผมรู้ว่าแค่คำขอโทษไม่สามารถช่วยแก้ไขอะไรได้ แต่ผมตั้งใจจะให้การกระทำในอนาคตเป็นสิ่งพิสูจน์ความจริงใจของผม”

[หมายเหตุ: ในเวลาต่อมา สถานี ABC ไม่ยอมต่อสัญญากับวอชิงตัน ส่งผลให้เขาถูกตัดออกจากซีรีย์ Grey’s Anatomy ด้วยความโกรธแค้น เขาจึงขู่จะฟ้องร้องสถานี พร้อมทั้งกล่าวหาไนท์ว่าใช้ประโยชน์จากเรื่องราวทั้งหมดเพื่อเพิ่มเรตติ้งให้ตัวเอง... ดูเหมือนกระทำของวอชิงตันจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แถลงการณ์ข้างต้นของเขามีความ “จริงใจ” มากแค่ไหน]

ทั้งหมดคงพอทำให้คุณเข้าใจได้ว่าการเป็นดาราเกย์/เลสเบี้ยนในฮอลลีวู้ดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยถ้าคุณเลือกจะปกปิดตัวตน คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับการถูกจู่โจมด้วยข่าวลือสารพัด ทั้งจากสถานีอย่าง E! และบรรดาหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ทั้งหลาย จนสุดท้ายเมื่อไม่เหลือทางเลือกอื่น เขาหรือเธอก็อาจ “ถูกบีบ” ให้ต้องเปิดเผยตัวดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ที.อาร์ ไนท์ และ แลนซ์ บาส อดีตสมาชิกวง ’N Sync (ผู้ตัดสินใจออกมาสารภาพว่าเขาเป็นเกย์หลังจากภาพข่าวความใกล้ชิดระหว่างเขากับแฟนหนุ่มในขณะนั้น ไรเชน เลห์มคูห์ล นายแบบ/ผู้ชนะการแข่งขัน Amazing Race ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว นั่นไม่ใช่ทางเลือกในอุดมคติแม้แต่น้อย การเปิดเผยเพศสถานะของใครสักคนถือเป็นประสบการณ์ส่วนตัวยิ่ง มันควรเริ่มต้นจากการยอมรับตนเอง เคารพตนเอง ตลอดจนความต้องการจะใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย เติมเต็ม โดยไม่ต้องปิดบัง หาใช่ตั้งอยู่บนรากฐานของความหวาดกลัว หรือถูกสถานการณ์บีบบังคับ

ขณะเดียวกัน หากคุณเลือกจะเปิดเผยตัวตน คุณก็ต้องเตรียมพร้อมรับกระแสต่อต้านจากทั่วสารทิศ ไม่เชื่อลองถาม เอลเลน ดีเจเนอเรส ดูได้ เมื่อซีรีย์ของเธอ Ellen ถูกกลุ่มเคร่งศาสนาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังมีการเขียนบทให้ตัวเอกสารภาพความจริงว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน (สอดคล้องกับชีวิตจริงของดีเจเนอเรส ดาราผู้รับบทดังกล่าว ซึ่งเริ่ม coming out ในช่วงเวลาเดียวกัน) จนส่งผลให้สถานี ABC ต้องตัดสินใจถอดปลั๊กช่วยหายใจ แล้วจบซีรีย์ลงในปีที่ห้า อย่างไรก็ตาม การซุ่มโจมตียังคงดำเนินต่อไป เช่น เมื่อดีเจเนอเรสได้รับเลือกให้พากย์เสียงตัวละครในหนังการ์ตูนเรื่อง Finding Nemo ก็ยังอุตส่าห์มีพ่อแม่สติแตกกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านว่า พิกซาร์ไม่ควรมอบงานให้นักแสดง ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ “ไม่เหมาะสม” ต่อเยาวชนของชาติ (ใครว่าไดโนเสาร์แพร่พันธุ์เฉพาะในเมืองไทย)

อย่าว่าแต่การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์เลย ลำพังแค่การรับบทเกย์บนจอหนังก็แทบจะกลายเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อภาวะตกงานในวงการบันเทิงไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่ ฮีธ เลดเจอร์ และ เจค จิลเลนฮาล ตัดสินใจเล่นบทเกย์คาวบอยในหนังเรื่อง Brokeback Mountain ตอนนั้นเอเย่นต์ของพวกเขา รวมถึงคนรู้จักรอบข้างล้วนไม่เห็นด้วย และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันจะทำให้อนาคตที่กำลังเบ่งบานของพวกเขาถึงกาลดับสูญ แต่แล้วเมื่อหนังออกฉายและประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ หลายคนก็เปลี่ยนมาสรรเสริญ “ความกล้าหาญ” ของพวกเขา ราวกับทั้งสองเพิ่งบุกเข้าไปช่วยชีวิตคนในตึก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ยังไงยังงั้น ราวกับการสวมบทบาทตัวละครไม่ใช่งานปกติของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีดารา/นักแสดงเพียงน้อยคนที่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์/เลสเบี้ยนอย่างเต็มปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบจำนวนกับผู้กำกับ หรือคนทำงานเบื้องหลังทั้งหลาย แลนซ์ บาส ยอมรับว่าสาเหตุที่เขาจำใจ “หลบอยู่ในตู้” มาตลอดหลายปีก็เพราะเขากลัวว่าความจริงดังกล่าวจะสั่นคลอนภาพลักษณ์ “ขวัญใจวัยรุ่น” (โดยเฉพาะกลุ่มเด็กสาว) และความนิยมของวง ’N Sync ระหว่างยุครุ่งเรือง... ความกลัวซึ่งพบเห็นได้ในรักร่วมเพศทุกคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะแก่หง่อมหรือยังหนุ่มยังสาว กลัวถูกล้อเลียน กลัวตกงาน กลัวไม่มีคนยอมรับ กลัวถูกกลั่นแกล้ง กลัวการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ความกลัวอันเกิดจากแรงบีบของสังคม ซึ่งเจ้ากี้เจ้าการขีดเส้นบรรทัดฐานว่าอะไร “ปกติ” อะไร “ไม่ปกติ” พร้อมทั้งกีดกัน “เขา” ออกจาก “เรา”

เนื่องในโอกาสที่ National Coming Out Day ของอเมริกากำลังจะมาถึง เราจะมาทำความรู้จักกับ 10 คนดังที่เปิดเผยตัวว่านิยมชมชอบไม้ป่าเดียวกัน (พวกเขาเป็นเพียงตัวอย่างกลุ่มหนึ่ง) โดยหวังว่าการตัดสินใจยืดหยัดต่อสู้กับอคติทางสังคม ซึ่งฝังรากลึกมายาวนาน ของพวกเขาจะช่วยแผ้วถางหนทางไปสู่การยอมรับที่แท้จริงของเกย์และเลสเบี้ยน... บางทีอาจกล่าวได้ว่านี่ต่างหาก คือ “ความกล้าหาญ” ที่แท้จริง

เปโดร อัลโมโดวาร์: เจ้าป้าเริ่มเปิดเผยตัวมาตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว หนังของเขาในยุคแรกมักไม่เขินอายที่จะสำรวจประเด็นเรื่องเพศ ตลอดจนความคลุมเครือทางเพศ (คุณลักษณะดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นในผลงานยุคหลังของเขาด้วย เช่น เมื่อปรากฏว่า “พ่อ” ของเด็กหนุ่มในหนังเรื่อง All About My Mother ปัจจุบันกลายเป็นผู้หญิงไปเสียแล้ว) หนังเกย์เรื่องแรกที่สร้างชื่อระดับนานาชาติให้อัลโมโดวาร์ คือ Law of Desire ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า แอนโตนีโอ แบนเดอรัส ไม่เขินอายที่จะเข้าฉากเซ็กซ์ร้อนแรงกับผู้ชาย (งั้นคงเป็น ทอม แฮงค์ กระมังที่ทำให้ Philadelphia กลายเป็นหนังเกย์พาสเจอร์ไรส์) แต่บรรดาโฮโมรุ่นเด็กอาจรู้จักอัลโมโดวาร์จากหนัง “กะเทยนัวร์” เรื่อง Bad Education ซึ่งขายเสน่ห์แห่งเรือนร่างของ กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล มากพอๆ กับฝีมือการแสดงของเขา

บิล คอนดอน: แม้จะเติบโตมาในครอบครัวคาทอลิก แต่ดูเหมือนคอนดอนจะไม่ประสบปัญหาในการยอมรับเพศสภาพอันแตกต่างของตนเท่าใด เขาเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับด้วยผลงานสยองขวัญที่ไม่น่าจดจำอย่าง Candyman: Farewell to the Flesh ก่อนจะสร้างชื่อเสียงด้วยการทำหนังเล่าชีวิตของผู้กำกับเกย์ซึ่งโด่งดังจากการทำหนังสยองขวัญเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดหัวเหลี่ยมเรื่อง Gods and Monsters หลังจากนั้น ผลงานส่วนใหญ่ของคอนดอนล้วนเคลือบแฝงภาวะ “สีรุ้ง” ของตนเองไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงอย่าง Kinsey (เล่าถึงชีวิตของนักวิจัยเรื่องเพศนามกระเดื่องที่เคยลิ้มลองการขับรถมาแล้วทั้ง “สองเลน”) ก็ทางอ้อมอย่าง Dreamgirls (ตอนนี้โชว์กะเทยทั่วโลกได้บรรจุ And I’m Telling You I’m Not Going ให้กลายเป็นเพลงภาคบังคับไปเรียบร้อยแล้ว)

เอลเลน ดีเจเนอเรส: คงไม่มีใครจะเปิดเผยเพศสภาพของตนได้เอิกเกริกกว่าเธอคนนี้อีกแล้ว โดยหลังจากขึ้นปก Time และให้สัมภาษณ์ออกทีวีกับ โอปรา วินฟรีย์ แล้ว ตัวละครที่เธอรับเล่นในซิทคอม Ellen ก็ออกมายอมรับกับจิตแพทย์ (รับบทโดยวินฟรีย์) ว่าเป็นเลสเบี้ยนอีกด้วย ซิทคอมตอนดังกล่าว (The Puppy Episode) ทำเรตติ้งทะลุเพดานจนกลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางทีวีพอๆ กับตอนจบของ Friends และ Seinfeld เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม อาชีพการแสดงภาพยนตร์ของดีเจเนอเรสกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใร โดยแฟนหนังส่วนใหญ่น่าจะจดจำเธอได้จากการพากย์เสียงเป็นปลาความจำสั้น ดอรี่ ใน Finding Nemo และรับหน้าที่พิธีกรรายการออสการ์เมื่อปี 2007 ล่าสุดเธอเพิ่งเข้าพิธีแต่งงานกับแฟนสาว พอร์เทีย เดอ รอสซี่

รูเพิร์ต เอเวอเร็ตต์: เขาเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนตั้งแต่อายุยังน้อย (30 ปี) หลังจากเพิ่งเริ่มโด่งดังจากบทเกย์ใน Another Country หลายคนมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจ “ทำลาย” อนาคตในวงการบันเทิงของเขา ซึ่งมันก็เหมือนจะเป็นจริงอยู่พักหนึ่ง ก่อนเอเวอเร็ตต์จะกลับมาอินเทรนด์อีกครั้งจากบทเพื่อนสาวสุดฮาของ จูเลีย โรเบิร์ตส์ ใน My Best Friend’s Wedding แต่การพยายามย้อนรอยความสำเร็จของเขาในอีกสองปีต่อมากับ The Next Best Thing กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เขาขึ้นชื่อในบุคลิก “ปากกล้า” เมื่อออกมายอมรับว่าเคยขายตัวเพื่อประทังชีพ และวิจารณ์การเปิดเผยตัวของ โจดี้ ฟอสเตอร์ ว่าคงไม่ส่งอิทธิพลใดๆ ต่อเหล่า “ดาวแอบ” คนอื่นเพราะ “พออายุมากแล้ว คุณก็สามารถเป็นเกย์ในฮอลลีวู้ดได้ แต่ก่อนหน้านั้น มันไม่ใช่เรื่องดีและแทบจะเป็นไปไม่ได้”

โจดี้ ฟอสเตอร์: น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว (แบบอ้อมๆ) ไปเมื่อปลายปีก่อน แม้คนส่วนใหญ่จะทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมานานแล้ว หลังเธอให้กำเนิดลูกสองคนโดยปราศจาก “พ่อ” เป็นตัวเป็นตน และมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับโปรดิวเซอร์สาว ซิดนีย์ เบอร์นาร์ด เมื่อทั้งคู่พบกันในกองถ่าย Sommersby (นี่หรือเปล่าที่เป็นสาเหตุให้ฉากรักของเธอกับ ริชาร์ด เกียร์ ดู “แข็งขืน” พอๆ กับฉากวาบหวามระหว่างสองดารานำใน “ด้วยรักคือรัก”) ฟอสเตอร์ไม่เคยรับบทเป็นเลสเบี้ยน แต่บ่อยครั้งมักเลือกแสดงในหนังเชิดชูแนวคิดแบบเฟมินิสต์ ซึ่งวาดภาพพวกผู้ชายว่าถ้าไม่เลวกว่าหมา ก็แอบกดขี่ผู้หญิงอยู่ลึกๆ ผ่านลักษณะสังคมแบบชายเป็นใหญ่อย่าง The Accused และ The Silence of the Lambs ซึ่งล้วนทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครอง

ท็อดด์ เฮย์นส์: สมัยเด็กๆ เฮย์นส์ชอบเล่นตุ๊กตา ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาผลิตหนังสั้นเรื่อง Superstar: The Karen Carpenter Story ซึ่งดำเนินเหตุการณ์โดยใช้ตุ๊กตาบาร์บี้แทนคนจริงๆ และถูกยกย่องให้เป็นสารคดีเกี่ยวกับนักดนตรีที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าต่อมามันจะถูกสั่งห้ามเผยแพร่ เพราะ ริชาร์ด คาร์เพนเตอร์ ไม่อนุญาตให้ใช้เพลงของ The Carpenters มาประกอบหนัง หลังจากนั้น เฮย์นส์ก็กลายเป็นหนึ่งในหัวขบวนของปรากฏการณ์ New Queer Cinema จากผลงานชนะรางวัลเทศกาลหนังซันแดนซ์อย่าง Poison ก่อนจะเริ่มผันตัวมาสร้างผลงานในวงกว้างขึ้น แต่ยังคงกลิ่นอายเกย์ๆ เอาไว้ครบถ้วนอย่าง Velvet Goldmine, Far from Heaven และ I’m Not There

เอียน แม็คเคลเลน: ถือเป็นขาใหญ่ของวงการที่เปิดตัวอย่างภาคภูมิใจตั้งแต่ปี 1988 และต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับชาวเกย์และเลสเบี้ยนอย่างต่อเนื่อง แฟนหนังส่วนใหญ่อาจรู้จักท่านเซอร์แม็คเคลเลนจากบท แกนดอล์ฟ ในไตรภาค The Lord of the Rings และ แม็กนีโต ในไตรภาค X-Men แต่หนึ่งในบทบาทการแสดงที่ยอดเยี่ยม เด็ดขาดที่สุดของเขากลับเป็นการสวมวิญญาณ เจมส์ เวล ผู้กำกับเกย์ที่โด่งดังจากผลงานสยองขวัญคลาสสิกยุคแรกอย่าง Frankenstein และ Bride of Frankenstein ในหนังเรื่อง Gods and Monsters เขา “สมควร” ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำชายมาครอง แต่คณะกรรมการกลับโดนผีห่าซาตานเข้าสิง แล้วเลือก โรเบอร์โต เบนิกญี่ จาก Life is Beautiful แทน หลังหายนะครั้งนั้น เซอร์แม็คเคลเลนยังได้เข้าชิงออสการ์อีกจาก The Fellowship of the Ring ส่วนเบนิกญี่ก็หันไปแสดงหนังอย่าง Pinocchio!?!

โจเอล ชูมัคเกอร์: แม้ชูมัคเกอร์จะเปิดตัวว่าเป็นเกย์มาเกือบตลอดชีวิตผู้กำกับในฮอลลีวู้ด แต่นักดูหนังบางคนอาจคาดไม่ถึง จนกระทั่งเมื่อ Batman Forever เข้าฉาย อย่างที่ทราบกันดีว่าการ์ตูน Batman กรุ่นกลิ่นอายรักร่วมเพศอยู่ลึกๆ จนกระทั่งชูมัคเกอร์ตัดสินใจเปลี่ยนเสียงกระซิบให้กลายเป็นเสียงตะโกนผ่านงานออกแบบชุดแบทแมน (ติดหัวนม) การเลือกมุมกล้อง (โคลสอัพก้นกลมกลึงของแบทแมน) บทสนทนา ฯลฯ นับจากนั้นผลงานของเขาก็มักจะเลี้ยวหลบเข้าสีลมซอย 2 อยู่เนืองๆ เช่น Flawless (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน แต่งหญิง) หนังเพลง The Phantom of the Opera รวมถึงการค้นพบ/ผลักดันหนุ่มหล่ออย่าง แม็ทธิว แม็คโคนอฮีย์ และ โคลิน ฟาร์เรลล์ ให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ผ่านหนังอย่าง A Time to Kill และ Tigerland

ไบรอัน ซิงเกอร์: กลายเป็นผู้กำกับขวัญใจคอการ์ตูนหลังความสำเร็จอันงดงามของ X-Men, X2 และเกือบๆ จะงดงามของ Superman Returns แต่คออินดี้อาจจดจำเขาได้จาก The Usual Suspects ผลงานที่ทำให้ทุกคนตื่นตะลึงกับการหักมุมอันชาญฉลาด(ก่อนการมาถึงของ The Sixth Sense) และแผ่บารมีจน เควิน สเปซีย์ คว้าออสการ์ตัวแรกมาครอง ซิงเกอร์บอกว่าการเป็นเกย์และชาวยิวทำให้เขามีประสบการณ์ในฐานะ “ชนกลุ่มน้อย” แบบสองเด้ง โดยอิทธิพลข้างต้นได้ปริ่มล้นออกมาในหนังฟอร์มยักษ์อย่าง X2 (ฉากไอซ์แมนเปิดเผยตัวตนกับพ่อแม่) อย่างไรก็ตาม ซิงเกอร์วางแผนจะสร้างหนังเกย์เต็มตัวในเร็ววันนี้เรื่อง The Mayor of Castro Street ซึ่งเล่าเกี่ยวกับชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวเกย์ในซานฟรานซิสโกที่เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเมื่อปี 1978

กัส แวน แซนท์: เริ่มต้นอาชีพด้วยการทำหนังเกย์อย่าง Mala Noche ก่อนจะก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าในขบวน New Queer Cinema ด้วยผลงานชั้นเยี่ยมอย่าง My Own Private Idaho แวน แซนท์เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้าวงการใหม่ๆ แต่หนังของเขากลับไม่เคยพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดี หรือเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มรักร่วมเพศแม้เพียงนิด (เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่นในกลุ่ม New Queer Cinema ยุคต้นทศวรรษ 1990) หลังความสำเร็จในวงกว้างของ Good Will Hunting และความสำเร็จตามเทศกาลหนังของ Elephant แวน แซนท์ก็ตัดสินใจหวนคืนสู่รากเหง้าอีกครั้งใน Milk ผลงานล่าสุดที่จะเข้าฉายปลายปีนี้ เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ (ไม่รู้เวอร์ชั่นไหนจะเป็น Capote เวอร์ชั่นไหนจะเป็น Infamous)