วันเสาร์, มิถุนายน 24, 2560

T2 Trainspotting: กอบกู้เศษซากที่หลงเหลือ


ในระหว่างการกลับมาเยี่ยมเพื่อนซี้ที่โดนเขาหักหลัง เรนตัน (ยวน แม็กเกรเกอร์) พยายามจะไถ่ถอนความผิดเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยการนำเงินส่วนแบ่ง 4,000 ปอนด์ที่เขาขโมยไปมาคืนให้ ไซมอน (จอนนี ลี มิลเลอร์) แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ฝ่ายหลังหายเดือดดาลแม้แต่น้อย 4,000 ปอนด์ ดอกเบี้ยก็ไม่มี จะเอาไปทำอะไรได้ ซื้อเครื่องย้อนเวลางั้นเหรอขณะเดียวกัน เพื่อนคนที่เขายกส่วนแบ่งให้เมื่อ 20 ปีก่อนอย่าง สปัด (อีเวน เบรมเนอร์) ก็ไม่ได้ดีใจที่ได้เห็นหน้าเพื่อนเท่าไหร่ แม้เรนตันจะเพิ่งช่วยชีวิตเขาได้ทันจากความพยายามฆ่าตัวตาย แกคิดว่าขี้ยาอย่างฉันจะเอาเงิน 4,000 ปอนด์ไปทำอะไรนี่ยังไม่ต้องพูดถึงหมาบ้าอย่าง เบ็กบี (โรเบิร์ต คาร์ไลล์) ซึ่งเฝ้าฝันอยากเชือดคอเรนตันไม่เว้นแต่ละวัน และตั้งแต่ฉากแรกคนดูจะเห็นว่าการใช้เวลา 20 ปีในคุกไม่ได้ช่วยให้เบ็กบีจิตใจสงบ หรือเย็นลงสักนิด

แต่ละคนเลือกจะโทษความเส็งเคร็งของชีวิตในปัจจุบันว่าเป็นผลจากการหักหลังของเรนตันเมื่อ 20 ปีก่อน โดยไม่ทันตระหนักว่าแม้กระทั่งคนที่ขโมยเงินพวกเขาไปเสวยสุขที่อัมสเตอร์ดัมก็หาได้ลงเอยอย่างสุขสันต์ ชีวิตแต่งงานของเรนตันจบลงด้วยการหย่าร้าง ไม่มีลูก ไม่มีงาน ไม่มีเพื่อน ไม่มีแม้กระทั่งที่พักขณะอายุล่วงเลยมา 46 ปี แถมสุขภาพยังเริ่มดิ่งลงเหวอีกต่างหาก แต่ปัญหาของเรนตันไม่ได้อยู่ตรงความเป็นไปได้ว่าตัวเองอาจอายุสั้น หรือตายก่อนวัยอันควร ตรงกันข้ามเมื่อหมอผ่าตัดหัวใจแก้ไขข้อผิดพลาดได้สำเร็จ พร้อมกับแจ้งข่าวดีว่าหัวใจเขาจะแข็งแรงเหมือนใหม่ ใช้ต่อไปได้อีก 30 ปี คำถามที่ตะโกนก้องในหัวเรนตันคือ กูจะอยู่ทำอะไรอีกตั้ง 30 ปี

ถ้าฉากจบของ Trainspotting อาจมีนัยยะคลุมเครือในจุดมุ่งหมาย เนื่องจากมันผสมปนเประหว่างความรู้สึก แฮปปี้ เอ็นดิ้ง (ตัวเอกหลบหนีจากชีวิตติดยา/อาชญากรรมได้สำเร็จด้วยการขโมยเงินสกปรกจากเพื่อนๆ) กับความเยาะหยัน (เขาได้หวนกลับไปสู่ชีวิตแบบที่เขาเคยปฏิเสธ/แปลกแยก) ฉากเปิดเรื่องของ T2 Trainspotting ดูจะช่วยเคลียร์ความเข้าใจได้ทันทีว่ามันโน้มเอียงมาทางอย่างหลังมากกว่า เพราะการ เลือกชีวิตของ มาร์ค เรนตัน หาได้หมายถึงความสุขตลอดไป และที่น่าขำขื่นยิ่งขึ้น คือ เขาหัวใจวายขณะกำลังวิ่งอยู่บนสายพายในฟิตเนส ขณะกำลังใช้ชีวิตในแบบพิมพ์นิยมของชนชั้นกลาง แตกต่างจากชีวิต ขบถขี้ยาอย่างที่เขาเป็นมาในช่วงวัยรุ่น (การตัดสลับช็อตสุดท้ายของหนังภาคแรกเข้ามาไม่เพียงจะช่วยเชื่อมโยงตัวละครหลังเวลาผันผ่านไป 20 ปีเท่านั้น แต่ยังช่วยสานต่อเรื่องราวด้วยว่ามาร์คลงเอยใช้ชีวิตตามที่เสียงวอยซ์โอเวอร์ของเขาบอกคนดูเอาไว้ในตอนจบของ Trainspotting จริง)

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามาร์คจะมีชีวิตที่ดีกว่า หากเขาไม่ได้เลือกหักหลังเพื่อนแล้วกลับตัวกลับใจเป็นคนดี มีงานมีการทำ มีทีวีจอใหญ่ เครื่องซักผ้า รถยนต์ ฯลฯ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในกรณีของสปัด ซึ่งไม่อาจสลัดหลุดจากอำนาจของยาเสพติด จนสุดท้ายก็ต้องเสียงาน ลูกเมีย และกำลังมุ่งหน้าสู่ความตายก่อนเรนตันจะโผล่มาทำลายแผน ดูเหมือนไม่ว่าคุณจะเลือกชีวิต หรือเลือกผลาญชีวิต สุดท้ายหายนะและความผิดหวังย่อมหาคุณจนเจอในที่สุด

T2 Trainspotting ดัดแปลงคร่าวๆ จากนิยายของ เออร์วิน เวลช์ เรื่อง Porno ซึ่งเป็นภาคต่อของ Trainspotting เล่าถึงชีวิตของตัวละครต่างๆ หลังเวลาผ่านไป 10 ปี แต่ในเวอร์ชั่นหนังของ แดนนี บอยล์ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังภาคแรกถึง 20 ปีตามเวลาจริง (Trainspotting ออกฉายเมื่อ 21 ปีที่แล้ว) ฉะนั้นมาร์คกับผองเพื่อนจึงก้าวย่างเข้าสู่วัยกลางคนเต็มตัว และต่างพบว่าชีวิตไม่ได้ดำเนินไปตามที่คาดหวังไว้ ความบ้าดีเดือด อิสรภาพแห่งวัยหนุ่มพลุ่งพล่านที่ไม่สนใจกฎ หรือธรรมเนียมปฏิบัติถูกแทนที่ด้วยความเศร้า อาการติดแหง็กอยู่กับอดีตดังจะเห็นได้จากการยืนกรานให้ลูกชายเจริญรอยตามเส้นทางโจรของเบ็กบี โดยไม่สนใจว่าเด็กหนุ่มวางแผนจะลงเรียนการโรงแรมในวิทยาลัย และไม่อยากสืบทอด กิจการครอบครัว แต่แน่นอนว่าเบ็กบีไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านใดๆ และสุดท้ายภารกิจยกเค้าครั้งแรกของสองพ่อลูกก็จบลงอย่างน่าผิดหวัง ไม่ต่างจากความพยายามจะมีเซ็กซ์ระหว่างเบ็กบีกับภรรยา

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคนที่ใช้เวลาอยู่ในคุกนานสองทศวรรษจะยึดมั่นอยู่กับอดีต แต่ในแง่หนึ่งมาร์คเองก็ไม่ต่างจากเบ็กบีสักเท่าไหร่ เขาไม่อาจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อัมสเตอร์ดัมได้ และสุดท้ายก็ต้องกลับมาเผชิญหน้าภูติผีแห่งอดีตที่เอดินบะระ โดยภูติผีเชิงสัญลักษณ์ถูก แดนนี บอยล์ ถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากที่เงาของแม่มาร์คทาบทับผนังบ้านเหมือนเธอกำลังนั่งร่วมโต๊ะอาหาร ขณะพ่อเขาเล่าว่าทุกอย่างในห้องนอนมาร์คถูกแช่แข็งไว้เหมือนเดิมเพราะคุณนายเรนตันเชื่อว่าสักวันลูกชายจะต้องกลับมา ซึ่งก็เป็นจริง เพียงแต่เธอไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นวันนั้น

ในฉากหนึ่ง มาร์คพาสปัดไปวิ่ง พร้อมกับเสนอแนะให้เขาเปลี่ยนถ่ายอาการเสพติดจากโคเคน หรือเฮโรอีนไปยังสิ่งอื่น เพราะขี้ยาระดับฮาร์ดคอร์อย่างพวกเขาไม่มีวันหยุดไปดื้อๆ โดยไม่มีสิ่งอื่นให้ยึดเหนี่ยว ให้เสพติดแทนและควบคุมมันได้ หลายคนเลือกที่จะวิ่งออกกำลังกาย หรือชกมวย หรืออย่างอื่นแล้วแต่ต้องการ เมื่อสปัดถามว่าเขาเลือกอะไร คำตอบของเขาคือ หลบหนีแต่หลบหนีจากอะไร เขาไม่ได้อธิบายต่อ สภาพแวดล้อมอันหดหู่? ชีวิตขี้ยา? ความผิด/รู้สึกผิด? ถ้าเหล่าโปรเตสแตนต์ที่ถูกมาร์คกับไซมอนขโมยบัตรเครดิตไปรูดลุ่มหลงอยู่กับชัยชนะแสนหวานเมื่อหลายร้อยปีก่อน จนไม่อยากตื่นมาเผชิญความจริงในโลกสมัยใหม่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร มาร์คเองก็ติดแหง็กไม่ต่างกัน แต่ในวังวนของการพยายามวิ่งหนีจากฝันร้าย จากอดีตอันขมขื่น

กระนั้นท่ามกลางประสบการณ์เลวร้าย เช่น การตายของทอมมี ซึ่งมาร์คก็มีส่วนรับผิดชอบ ในระหว่างช่วงเวลาแห่งการเผาผลาญวัยเยาว์ไปกับพฤติกรรมไร้แก่นสาร เช่น เสพเฮโรอีน ชีวิตของมาร์คในเอดินบะระกลับเปี่ยมความหมาย หยั่งรากลึกกว่า 20 ปีในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งท้ายที่สุดปลดเปลื้องเขาให้เหลือเพียงกระเป๋าเล็กๆ หนึ่งใบ ไม่แตกต่างจากตอนที่เดินทางไปพร้อมกระเป๋าใส่เงิน 12,000 ปอนด์ และความหวังที่จะลงหลักปักฐาน สร้างชีวิตใหม่ เขาไม่ได้ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้ที่นั่น ไม่มีเยื่อใยหลงเหลือ ตรงข้ามกับมิตรภาพและความรักของครอบครัวที่ยังรอคอยเขาอยู่เสมอในเอดินบะระ แม้ว่าเพื่อนบางคนอาจต้อนรับด้วยกำปั้นแทนอ้อมกอดในช่วงแรก เนื่องจากเคยถูกมาร์คหักหลัง แต่จนแล้วจนเล่าสายสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาแน่นแฟ้นเกินกว่าจะตัดขาด

ภาพเปรียบเทียบระหว่างประสบการณ์เฉียดตายของมาร์ค (ในฟิตเนสท่ามกลางคนแปลกหน้า) กับสปัด (ในอ้อมแขนของเพื่อนที่คอยรับเขาไว้ไม่ให้ร่วงหล่น) พิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมมาร์คถึงตัดสินใจอยู่ช่วยไซมอนปั้นฝันในการดัดแปลงบาร์ร้างคนให้กลายเป็นซ่องชั้นสูง (หรือที่เขาเรียกว่า ซาวน่า”) มันไม่ใช่เพราะเขาไม่เหลือทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเท่านั้น แต่เป็นเพราะเขาอยากจะทำเพื่อเพื่อนที่สนิทที่สุดเพียงคนเดียวของเขา

หนังไม่เพียงเป็นการทบทวนความหลังระหว่างมาร์คกับไซมอนเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาสำหรับนักดูหนังในยุค 90 อีกด้วย อารมณ์ ถวิลหาอดีตที่ไซมอนกล่าวหามาร์คตอนพวกเขาเดินทางไปไว้อาลัยให้กับทอมมี อาจใช้อธิบายตัวหนัง T2 Trainspotting ควบคู่ไปด้วยในคราวเดียวกัน แดนนี บอยล์ พยายามปลุกวิญญาณของหนังภาคแรกด้วยวิธีหลากหลาย ตั้งแต่แบบตรงไปตรงมาอย่างการหยิบหลายฉากจำสุดคลาสสิกมาฉายซ้ำ เปรียบเทียบ นำเพลง ซึ่งเป็นนิยามของหนังภาคแรกอย่าง Lust for Life ของ อิกกี้ ป็อป มาเปิดซ้ำ ไปจนถึงวิธีที่ยอกย้อนขึ้นหน่อยอย่างการใช้เทคนิคภาพคุ้นตา (ฟรีซ เฟรม, กล้องมุมเอียง) หรือการเลือกให้เบ็กบีเผชิญหน้ากับมาร์คในห้องน้ำ ซึ่งทำให้คนดูย้อนนึกไปถึงฉากมุดโถส้วมอันลือลั่นในภาคแรก

แน่นอนอายุที่เพิ่มมากขึ้นของทีมงาน ของตัวละครย่อมทำให้อารมณ์โดยรวมของหนังย่างเข้าใกล้ความหม่นเศร้า หดหู่มากกว่าจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังคึกคัก หรือวิญญาณขบถเหมือนในภาคแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังจะแร้นแค้นอารมณ์ขันเสียทีเดียว (ส่วนใหญ่มักตกอยู่บนบ่าของสปัดกับเบ็กบีเป็นหลัก) ขณะเดียวกัน บอยล์ก็พยายามพิสูจน์อย่างเต็มที่ว่าเขาไม่ใช่ตาแก่ที่หลงลืมความกระฉับกระเฉงแห่งวัยเยาว์ ผ่านมุมกล้องหวือหวาและการตัดภาพแบบฉับไว ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามานานนม (เขาคงเป็นผู้กำกับคนเดียวที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายที่ตกลงไปติดอยู่ในซอกหินจนต้องเลื่อยแขนตัวเองทิ้งเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยการเคลื่อนกล้อง ตัดภาพสุดสวิงสวายยิ่งกว่าหนังแข่งรถ) แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ หรือน่าตื่นตาเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนอีกต่อไป

แง่มุมวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ หรือระบบทุนนิยมที่เคยเข้มข้น ให้อารมณ์เสียดสีเยาะหยันในภาคแรกถูกลดทอนลงจนเกือบจะเป็นศูนย์ (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันเพราะคนเราเมื่อเริ่มแก่ตัว อายุมากขึ้น อุดมการณ์ที่เคยร้อนแรงเดือดพล่านก็มักจะค่อยๆ ดับลง) แม้จะยังหลงเหลือกลิ่นอายอยู่บ้างเมื่อมาร์คอธิบายความหมายของวลี เลือกชีวิตให้ เวโรนิกา (แอนเจลา เนดยัลโควา) ฟัง (“เลือกเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สแนปแชต อินสตาแกรม และอีกหลายพันวิธีเพื่อก่นด่าคนที่คุณไม่เคยรู้จัก เลือกอัพเดทโปรไฟล์ บอกให้โลกรู้ว่าคุณกินอะไรมื้อเช้าและหวังว่าจะมีใครสักคน ณ ที่ไหนสักแห่งสนใจ...ปฏิสัมพันธ์ถูกลดค่าให้เหลือเพียงแค่ข้อมูล”)

โดยรวมแล้ว T2 Trainspotting มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาขึ้นทั้งในแง่เนื้อหาและอารมณ์ น่าสนใจว่าบอยล์กับแม็กเกรเกอร์อาจจะอินเรื่องราวในหนังเป็นพิเศษ ซึ่งโฟกัสไปยังการปรองดอง การหันกลับมาเผชิญหน้าอดีตอันขมขื่น เพราะเพิ่งจะผ่านประสบการณ์ในทำนองเดียวกับมาร์คและไซมอน ทั้งสองเป็นคู่หูดารา-ผู้กำกับที่สนิทสนมกลมเกลียวกันตลอดหนังสามเรื่อง (Shallow Grave, Trainspotting, A Life Less Ordinary) จนกระทั่ง The Beach สร้างรอยร้าวที่กินเวลายาวนานนับ 10 ปี (แม็กเกรเกอร์ถูกหลอกล่อให้เชื่อว่าเขาจะได้รับบทนำ แต่สุดท้ายบอยล์กลับมอบบทนี้ให้กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกหาก T2 Trainspotting จะเดินหน้าไปสู่ตอนจบแบบ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง (เช่นเดียวกับชีวิตจริงของบอยล์และแม็กเกรเกอร์) โดยไม่แฝงนัยยะเยาะหยันใดๆ เวโรนิกาได้กลับไปหาลูกน้อย สปัดเลือกวิธีเลิกยาด้วยการถ่ายทอดชีวิตลงในงานเขียนแทนการชกมวย เบ็กบีถูกส่งกลับคุกซึ่งเหมาะกับเขา และมาร์คย้ายไปอยู่ในห้องเดิม ล้อมรอบด้วยวอลเปเปอร์ลายรถไฟเดิมๆ และเปิดเพลงเดิมๆ ฟังอีกครั้ง ขณะภาพอดีตถูกตัดแวบเข้ามาเปรียบเทียบ... ชีวิตของ มาร์ค เรนตัน อาจวนกลับมายังจุดเดิม แต่อย่างน้อยเขาก็หยุดวิ่งหนีแล้ว

วันอังคาร, มิถุนายน 06, 2560

I Am Not Madame Bovary: เธอผิดหรือไม่ผิด


ระหว่างนั่งดู I Am Not Madame Bovary ไปได้เกือบสองชั่วโมง ผมได้แต่นึกตั้งคำถามกับตัวเองในใจว่า เหตุใดเราถึงไม่ค่อยรู้สึกสงสาร หรือเห็นอกเห็นใจตัวละครเอกอย่าง หลีสั่งเหลียน (ฟ่านปิงปิง) สักเท่าไหร่ แม้เธอจะต้องประสบกับสารพัดความเลวร้าย เฮงซวยของเหล่าผู้มีอำนาจในระบบราชการ ซึ่งสักแต่แก้ปัญหาแบบขอไปที หรือกระทั่งมองเห็นชาวบ้านที่ทุกข์ร้อน เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมถึงหน้าหน่วยงาน และกระโดดมาขวางรถประจำตำแหน่งเป็นเหมือนแมลงหวี่แมลงวันที่น่ารำคาญจนต้องหาทางกำจัดให้พ้นสายตาโดยเร็ว พวกเขาพยายามทำทุกทาง ยกเว้นถามไถ่ถึงปัญหาที่แท้จริง แล้วพยายามช่วยเหลือ หรือหาทางคลี่คลายปมขัดแย้ง หนึ่งในกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้ คือ วางอำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่ให้ประชาชนตัวเล็กๆ หวาดกลัวด้วยการเชิญ ตัวการ ไปปรับทัศนคติในคุก (ฟังดูคุ้นๆ ไหม) แต่ไม่ว่าจะด้วยความแค้น หรือความหน้าด้านหน้าทนก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลกับหลีสั่งเหลียน ตรงกันข้าม มันกลายเป็นเหมือนการราดน้ำมันลงกองเพลิง จนสุดท้ายปัญหาเล็กๆ จากเรื่องไม่เป็นเรื่องในเมืองบ้านนอกกลับลุกลามบานปลายไปถึงคนใหญ่คนโตในพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการท้องถิ่นหลายคนก็ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่ง

เหตุผลแรกที่แวบเข้ามาในหัวคงเพราะหนังจงใจจะเสียดสี เยาะหยันระบบการทำงานอันไร้ประสิทธิภาพของรัฐ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครจึงถูกละทิ้งไป ทำให้เธอขาดมิติพอจะให้คนดูสามารถจับต้อง หรือเชื่อมโยงได้ ที่สำคัญ สไตล์ภาพของหนัง ซึ่งตีกรอบให้ตัวละครอยู่ในเฟรมวงกลม (น่าจะเพื่อสร้างสร้างอารมณ์เหมือนภาพวาดโบราณของชาวจีน) ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกห่างเหิน เข้าไม่ถึงตัวละครมากขึ้นไปอีก เพราะโดยธรรมชาติแล้วเวลาเห็นเฟรมวงกลมแบบนี้ปรากฏบนจอ เราก็มักจะนึกถึงช็อตแทนสายตาเวลาตัวละครใช้กล้องส่องทางไกล หรือกล้องจากเรือดำน้ำ ดังนั้นคนดูจึงได้อารมณ์ของผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ หนังยังตอกย้ำการรักษาระยะห่างด้วยเสียงเล่าเรื่องของบุคคลที่สามในแบบของการเล่าถึงนิทาน หรือตำนานอีกด้วย

พร้อมกันนี้หนังลดทอนช็อตโคลสอัพ ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับดึงอารมณ์ร่วมจากคนดู จนแทบจะเหลือศูนย์ จึงไม่แปลกถ้าคนดูจะไม่รู้สึก อินกับภารกิจ หรือความคับแค้นใจของหลีสั่งเหลียนมากเท่าที่ควร อันที่จริง การตัดสินใจดังกล่าวอาจถือได้ว่าสอดคล้องกับโทนอารมณ์โดยรวมของหนังซึ่งออกแนวเบาสมองมากกว่าจะจริงจัง แม้ว่าพล็อตที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดสุ่มเสี่ยงความเป็นเมโลดรามาอยู่บ้าง (สามีภรรยาวางแผนหย่าหลอกๆ เพื่อให้ได้ครอบครองห้องอพาร์ตเมนต์ในเมือง ซึ่งเป็นสิทธิสำหรับคนโสดเท่านั้น แล้วค่อยกลับมาแต่งงานกันใหม่ แต่สุดท้ายผู้ชายลงเอยด้วยการมีเมียใหม่ ส่งผลให้การหย่าหลอกๆ กลายเป็นจริงในที่สุด)

อีกหนึ่งเหตุผลที่มีส่วนไม่น้อยในการยับยั้งคนดูไม่ให้รู้สึกเข้าข้างหลีสั่งเหลียนอย่างหมดใจ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเธอเล่นไม่ซื่อด้วยการฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของระบบเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ใส่ตัว (อพาร์ตเมนต์ในเมือง) แต่สุดท้ายดันแค้นเคืองเมื่อพบว่าระบบไม่สามารถมอบความเป็นธรรมให้เธอได้ (โมฆะการหย่าปลอมๆ) จริงอยู่ อาจเป็นข้อจำกัดของระบบ (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือศาลก็ตาม) ในการเปิดโปงความจริงที่แท้ เพราะต่อให้นายทะเบียนอำเภอรู้ว่านี่เป็นการหย่าปลอมๆ เพื่อหวังฮุบห้องอพาร์ตเมนต์ เขาจะกล้ายอมรับต่อหน้าศาลหรือ การยอมรับย่อมหมายถึงเขาจะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในทันที ถ้าพวกเธอโกหกฉัน ก็หมายความว่าพวกเธอโกหกรัฐบาลน่ะสิเขาเถียงหลีสั่งเหลียนในศาล มองเช่นนี้แล้ว ถือเป็นความผิดของผู้พิพากษาหรือที่ตัดสินไปตามหลักฐานรูปธรรม นั่นคือ ลายเซ็นบนใบหย่าเป็นลายเซ็นของหลีสั่งเหลียนจริง ฉะนั้นการหย่าย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายไปแล้ว ไม่ว่าเบื้องหลังสองสามีภรรยาจะตกลงกันว่าอย่างไรก็ตาม หากจะเทียบง่ายๆ ก็คงเหมือนการที่เราทำข้อตกลงปากเปล่ากับใครสักคน แล้วจู่ๆ ถูกบุคคลดังกล่าวหักหลัง ผิดสัญญา เมื่อไม่มีหลักฐานพิสูจน์ในชั้นศาล เราก็จำเป็นต้องทำใจยอมรับว่าตัวเอง เสียเหลี่ยมให้กับนักต้มตุ๋นรายนั้น ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าระบบไม่อาจมอบความเป็นธรรมอย่างแท้จริงให้กับเราได้ก็ตาม เพราะเราถูกโกงจริง ถูกเบี้ยวสัญญาจริง แต่ขณะเดียวกันเราคงไม่อาจกล่าวโทษศาลที่ต้องตัดสินตามหลักฐาน ทำได้แต่เพียงโทษตัวเองที่ไว้ใจอีกฝ่าย แล้วไม่ยอมร่างสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่ดูเหมือนหลีสั่งเหลียนจะไม่เข้าใจในจุดนี้ เธอ เสียเหลี่ยมให้กับอดีตสามี (หนังไม่ได้เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ว่าเขาจงใจหลอกเธอแต่แรก หรือเพิ่งมาพบผู้หญิงใหม่ในช่วงการหย่า) เธอควรจะโทษคินอู๋เฮ (หลีซองฮาน) ซึ่งผิดสัญญา และโทษตัวเองที่โง่โดนหลอก ตรงกันข้าม เธอกลับหมายหัวบุคคลในระบบรัฐตั้งแต่นายอำเภอ ยันอัยการ ผู้พิพากษา และนายกเทศมนตรีที่ไม่ยอมให้ความเป็นธรรมกับเธอแบบเดียวกับ อาร์ยา สตาร์ค ในซีรีส์ Game of Thrones จดบัญชีดำของศัตรูเพื่อเตรียมชำระแค้น ต่างกันแค่ว่าคนดูสามารถเข้าข้างอาร์ยาได้อย่างเต็มใจมากกว่า

ที่จริงทุกอย่างคงไม่ลุกลามใหญ่โต หากคินอู๋เฮ จำเลยที่แท้จริง ยอมรับความผิด หรืออย่างน้อยก็แสดงท่าทีเสียใจสักนิดต่อสิ่งที่เขาทำลงไป แต่เมื่อหลีสั่งเหลียนเดินไปเผชิญหน้า เขากลับกล่าวหาว่าเธอเสียความบริสุทธิ์มาก่อนจะแต่งงานกับเขา ด่าว่าเธอเป็นพานจินเหลียน (ที่มาของชื่อหนัง) ทำให้ไฟแค้นของหลินสั่งเหลียนยิ่งโหมประโคม นำไปสู่ความดันทุรังที่กินเวลายาวนานนับสิบปี สร้างความเสียหายให้กับคนหลายคน (หนังดัดแปลงจากนิยาย ซึ่งแปลตรงตัวตามภาษาจีนได้ว่า ฉันไม่ใช่พานจินเหลียนพันจินเหลียนเป็นตัวละครจากนิยายอีโรติกที่คบชู้สู่ชายและวางแผนฆ่าสามีตัวเอง ต่อมาชื่อดังกล่าวกลายเป็นเหมือนคำด่าผู้หญิงแพศยาในลักษณะเดียวกับวันทอง หรือกากีของเมืองไทย และกลายเป็นมาดาม โบวารีเมื่อแปลงตามบริบทฝรั่ง)

หลายคนที่ได้ดู I Am Not Madame Bovary ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบไปถึงหนังรางวัลสิงโตทองคำของจางอี้โหมวเรื่อง The Story of Qiu Ju เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับฟ่านปิงปิงมาแปลงสภาพเป็นหญิงบ้านนอก (แบบเดียวกับที่จางอี้โหมวทำกับกงลี่) หรือพล็อตเกี่ยวกับการตามล่าหาความยุติธรรมของหญิงสาวในสังคมชายเป็นใหญ่ รวมไปถึงความคล้ายกันแม้กระทั่งในรายละเอียดของสไตล์ (หนังของเฝิงเสี่ยวกังอาจเอนเอียงไปทางตลกมากกว่า และไม่ได้เน้นความสมจริงในสไตล์นีโอเรียลลิสต์เท่าหนังของจางอี้โหมว แต่ทั้งสองเรื่องล้วนไม่พยายามเร้าอารมณ์ กันคนดูให้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และใช้ภาพโคลสอัพอย่างจำกัดจำเขี่ย) และจุดหักเหบางอย่างของหนัง (ใน The Story of Qiu Ju เหตุการณ์ที่ จุดไฟแค้นให้กับชิวจี้ คือ เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านไม่ยอมขอโทษ หรือนึกเสียใจสักนิดที่ทำร้ายร่างกายสามีเธอ แถมเมื่อถูกกฎหมายบังคับให้ต้องจ่ายค่าเสียหาย เขากลับขว้างเงินลงพื้นเพื่อหวังจะให้ชิวจี้ก้มลงเก็บ แต่เธอเลือกจะรักษาศักดิ์ศรีแล้วเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมแบบกัดไม่ปล่อย)

จุดร่วมของทั้งสองเรื่องไม่ได้อยู่แค่เปลือกนอกอย่างพล็อต หรือสไตล์การนำเสนอเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเด็นแก่นหลักของหนัง ซึ่งวิพากษ์กฎเกณฑ์และนโยบายของรัฐอย่างเจ็บแสบ แม้เฝิงเสี่ยวกังอาจเคลือบน้ำหวานไว้ชั้นหนึ่งจากการให้คนระดับบิ๊กในพรรคคอมมิวนิสต์มองเห็นข้อบกพร่องในการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นความไร้ประสิทธิภาพ หรือการมองข้ามความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน แต่ในแง่ภาพรวมวงกว้างแล้ว หนังยังคงส่องแสงแง่ลบไปยังรัฐ ซึ่งมีลักษณะแบบเผด็จการ ดำเนินนโยบายโดยไม่เห็นหัวประชาชน หรือตระหนักในความหลากหลายและความเป็นปัจเจก นั่นต่างหากที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งปวงในหนัง

อย่างที่บอกไปตอนต้นเหตุผลของหลีสั่งเหลียนในการแหกกฎระเบียบเพียงเพราะต้องการอพาร์ตเมนต์อาจฟังไม่ค่อยขึ้นสักเท่าไหร่ มันคุ้มเหรอกับการดันทุรังต่อสู้มานานนับสิบปี มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนคนอื่นหรือเปล่า (คนโสดจริงๆ ที่ต้องการห้องนั้น) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลผลักดันคนดูให้ถอยห่างจากตัวละคร... แต่แล้วในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ซึ่งหนังเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายทำจากเฟรมวงกลมมาเป็นภาพเต็มจอปกติ ราวกับกำลังจะบอกกล่าวคนดูอยู่กลายๆ ว่าคุณจะได้เห็นภาพในมุมกว้างขึ้นของเรื่องราว บทได้มอบแง่มุมมนุษย์ให้กับตัวละครอย่างหลีสั่งเหลียน เมื่อเธอเฉลยเหตุผลแท้จริงว่าสาเหตุของการหย่าปลอมๆ ก็เพราะทั้งสองอยากมีลูกอีกคน ซึ่งสมัยนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากฎหมาย ลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน (1979-2015) แต่แล้วเธอกลับแท้งลูกหลังทราบข่าวว่าสามีนอกใจ หักหลังเธอไปอยู่กินกับหญิงอื่น ฉันไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกที่ไม่ได้ลืมตามาดูโลกเธอกล่าว

แน่นอน เหตุผลดังกล่าวฟังขึ้นกว่า ดูน่าเห็นอกเห็นใจกว่า แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจไม่ได้ฟอกขาวให้กับความจงใจหลอกลวงรัฐและฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ทางกฎหมาย แต่ที่สำคัญกว่านั้น บทเฉลยทำให้คนดูตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐ ซึ่งเข้ามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป ปัญหาทั้งหมดคงไม่เกิด หากรัฐไม่เข้ามาบังคับขืนใจอิสรภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต

เช่นเดียวกัน รากเหง้าปัญหาใน The Story of Qiu Ju ก็เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับปัจเจกชน ชิวจี้กับสามีอยากจะสร้างโรงเก็บของในที่ดินของตัวเอง แต่หัวหน้าหมู่บ้านไม่อนุญาตบอกว่ากฎหมายระบุให้ปลูกพืชพันธุ์การเกษตรเท่านั้น สามีชิวจี้จึงไม่พอใจ ด่ากลับหัวหน้าหมู่บ้านว่าไม่มีน้ำยาทำลูกชาย เลยได้แต่ลูกสาวเต็มบ้าน จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย ข้อกล่าวหาของสามีชิวอี้ไม่เพียงสะท้อนความเชื่อของคนจีนที่กดขี่เพศหญิงเท่านั้น (ลูกชายย่อมดีกว่าลูกสาวเพราะพวกเขาสามารถสืบเชื้อสายของต้นตระกูลได้) แต่ยังบ่งบอกถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย เพราะเส้นสายในรัฐบาลทำให้หัวหน้าหมู่บ้านสามารถมีลูกสาวได้มากกว่าหนึ่งคน ขณะที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปอย่างชิวอี้กับสามีจำเป็นต้องเล่นตามกฎ

ด้วยเหตุนี้เมื่อเปรียบไปแล้วการต่อสู้ของทั้งชิวจี้และหลีสั่งเหลียนจึงไม่ใช่การต่อสู้ด้วยเหตุผลส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ของปัจเจกชนเพื่อปฏิเสธการเข้ามาควบคุมทุกแง่มุมในชีวิตส่วนตัว (ความต้องการจะมีลูก หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินตัวเอง) เพราะหากศักดิ์ศรีของความเป็นคนไม่ได้รับการเคารพ หรือเห็นคุณค่าแล้ว ก็ยากที่สังคมจีนจะก้าวเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง