วันอังคาร, ตุลาคม 30, 2550

สั่น ส่าย สไตล์สารคดี


ลักษณะการเคลื่อนกล้องแบบมือถือถ่าย หรือ handheld camera เริ่มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อบริษัทอีแคลร์ผลิตกล้องน้ำหนักเบาขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับถ่ายทำหนังสารคดี โดยตัวอย่างที่โดดเด่นในยุคแรกๆ คือ หนังสารคดีเรื่อง Primary เมื่อตากล้องติดตาม จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เดินฝ่าฝูงชนรอบข้างในระหว่างช่วงที่เขากำลังแคมเปญหาเสียงแข่งกับ ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ เพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี การเคลื่อนกล้องแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่นุ่มนวล กระตุกขึ้นลง และสั่นส่ายไปมา เนื่องจากตากล้องจะต้องแบกรับน้ำหนักกล้องเอาไว้บนร่างกายเขา แทนการติดตั้งมันบนขาตั้งกล้อง

นับจากนั้นเป็นต้นมา handheld camera ก็กลายเป็นเรื่องปกติและอาจถึงขั้นจำเป็นในการถ่ายทำหนังสารคดี หรือรายงานข่าวทางโทรทัศน์ เนื่องจากการตระเตรียมพื้นที่สำหรับตั้งกล้องถือเป็นเรื่องยากในสถานการณ์ที่ปราศจากการวางแผน หรือต้องตอบโต้กับเหตุการณ์อย่างฉับพลันทันที

กลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส ซึ่งถือกำเนิดในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ได้นำเอาเทคนิคมือถือถ่ายมาใช้กับภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง (fiction film) อย่างกว้างขวาง เนื่องจากพวกเขาต้องการความคล่องตัวในการถ่ายทำนอกสตูดิโอโดยอาศัยแสงธรรมชาติเป็นหลัก ความรู้สึกเหมือนจริง และความมีชีวิตชีวา ในหนังเรื่อง The 400 Blows ของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ กล้องแบบมือถือถ่ายได้สำรวจอพาร์ตเมนต์รังหนู และร่วมสนุกในเครื่องเล่นไปกับตัวละครอย่างใกล้ชิด ส่วนใน Breathless ฌอง ลุค โกดาร์ด ก็ติดตามตัวละครไปตามเส้นทางอันซับซ้อนสู่สำนักงานของบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง โดยใช้วิธีให้ตากล้องนั่งแบกกล้องบนเก้าอี้เข็น

ด้วยเหตุที่เทคนิคดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในวงการหนังสารคดี จนคนดูนึกเชื่อมโยงรูปแบบการเคลื่อนกล้อง handheld กับ “ความจริง” มันจึงสามารถสร้างบรรยากาศน่าเชื่อถือ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ “เหมือนจริง” ได้มากโขให้กับหนังสารคดีเลียนแบบ (mockumantary) อย่าง The Blair Witch Project ซึ่งอารมณ์ชวนสยองส่วนใหญ่มีรากฐานอยู่บนความเชื่อของคนดูที่ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเกิดขึ้นจริง


ในบรรดานักทำหนังร่วมสมัยรุ่นใหม่ พอล กรีนกราส (United 93, The Bourne Ultimatum, The Bourne Supremacy) และ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ (Dancer in the Dark, Breaking the Waves, Dogville) ดูจะเป็นสองผู้กำกับที่โอบกอดเทคนิคแบบมือถือถ่ายอย่างต่อเนื่องและทุ่มเท คนแรกเพราะต้องการสร้างความสมจริงให้กับเรื่องราว ส่วนคนหลังนั้นเพราะต้องการก่อกบฏต่อสไตล์การทำหนังของฮอลลีวู้ด แต่น่าตลกตรงที่ปัจจุบันการใช้กล้องแบบ handheld กลับได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ทั้งในแวดวงหนังโฆษณา มิวสิกวีดีโอ และกระทั่งหนังสตูดิโอ (ตัวอย่างของผู้กำกับ “ตลาด” ที่ไม่ลังเลกับการใช้มือถือถ่าย คือ โทนี่ สก็อตต์) จนความเชื่อที่ว่าหนังกระแสหลักของฮอลลีวู้ดจะต้องตั้งกล้องบนไทรพ็อด รางดอลลี่ หรือเครนกลายเป็นเพียงอดีต

ผู้กำกับ แอนดรูว์ เดวิส (The Fugitive, Holes) เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อสมัยก่อนในยุคเริ่มแรก ทุกสิ่งทุกอย่างดูเป็นการเป็นงาน กล้องถูกตั้งไว้ตามตำแหน่งเพื่อให้สอดรับกับการเคลื่อนไหวของนักแสดง แต่หลายสิบปีต่อมา ผู้คนเริ่มพูดกันว่าเราต้องการภาพสั่นๆ และหลุดโฟกัส มันจะได้ให้พลังเหมือนจริง ดูซื่อตรง จากนั้นไม่นานมันก็กลายเป็นพลังจอมปลอม เพราะขนาดโฆษณาน้ำหอมยังเลียนแบบสไตล์หนังสารคดี” (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสไตล์การทำหนังแบบ พอล กรีนกราส ได้ใน The Bourne Ultimatum: เมื่อสไตล์ทำลายประสาท)

ภาพสั่นส่ายและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วแบบ handheld ส่งผลให้มันเหมาะสำหรับถ่ายทอดความวุ่นวาย สับสนของสถานการณ์ เช่น ฉากผู้คนในกรุงพนมเปญพากันเร่งอพยพหนีตายอย่างแตกตื่น เมื่อกองกำลังเขมรแดงกำลังบุกประชิดเมืองในหนังเรื่อง The Killing Field ตัวละครวิ่งเข้าวิ่งออกเฟรมกันอลหม่าน ขณะกล้องพยายามตามติดเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกัน ในหนังเรื่อง Children of Men ผู้กำกับ อัลฟองโซ คัวรอง ใช้กล้องแบบ handheld เพื่อสะท้อนภาวะสับสนวุ่นวายของโลกแห่งอนาคต เมื่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ต้องเผชิญวิกฤติจากการไม่สามารถผลิตลูกได้ โดดเด่นมากๆ ในฉากตอนท้าย เมื่อกล้องตามติด ธีโอ (ไคลฟ โอเวน) ขณะเขาวิ่งฝ่าห่ากระสุนและความตายในสงครามระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มกบฏเพื่อไปช่วยเหลือ คี (แคลร์-โฮป อาชิเตย์) หนังถ่ายทำแบบลองเทคและใช้กล้อง handheld ตลอดทั้งฉากเพื่อสร้างความสมจริงในลักษณะของสารคดีข่าว จนคนดูรู้สึกเหมือนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ (ชั่วขณะหนึ่ง ทีมงานถึงขนาดปล่อยให้หน้ากล้องเปื้อนหยดเลือด หรือเศษดินที่กระเด็นมาติดเลนส์โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ลบออก)


ภาพแบบ handheld ค่อนข้างเรียกร้องความสนใจ เนื่องจากทุกจังหวะสั่นไหวจะยิ่งปรากฏชัดบนจอขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าช็อตดังกล่าวถ่ายทำในระยะใกล้ ด้วยเหตุนี้เอง นักทำหนังจึงนิยมใช้กล้องแบบ handheld เป็นช็อตแทนสายตาตัวละคร เช่น ในฉากตอนต้นของหนังเรื่อง The Graduate เมื่อผู้กำกับ ไมค์ นิโคลส์ เลือกใช้กล้องแบบ handheld เพื่อกระตุ้นคนดูให้ตระหนักถึงความพยายามที่จะแหวกผ่านฝูงชนแออัดของตัวละครเอก (ดัสติน ฮอฟฟ์แมน)

ภาพยนตร์แนวเขย่าขวัญนิยมใช้กล้อง handheld ในฉากไล่ล่าเพื่อสร้างอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึก เนื่องจากลักษณะการเคลื่อนไหวแบบสั่นส่าย ไม่มั่นคง และสุ่มเดา สอดคล้องกับอารมณ์โดยรวมของฉาก ในหนังเรื่อง Seven ซึ่งลักษณะภาพค่อนข้างนิ่งมาโดยตลอด อารมณ์คนดูถูกปลุกเร้าจนถึงขีดสุด เมื่อกล้องเปลี่ยนมาใช้เทคนิค handheld อย่างฉับพลันในฉากที่ เดวิด (แบรด พิทท์) ตามมาพบฆาตกร (เควิน สเปซี่ย์) ที่หน้าห้องอพาร์ตเมนต์ แล้วต้องวิ่งไล่เขาออกมานอกตัวอาคารท่ามกลางสายฝน หลายช็อตเป็นการใช้กล้อง handheld แทนสายตาของเดวิด ซึ่งทำให้คนดูรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังวิ่งไล่ฆาตกรอยู่

อย่างไรก็ตาม กล้องแบบ handheld ยังสามารถสื่อความหมายในเชิงลึกได้ด้วย ผู้กำกับ จอห์น คาสซาเว็ทส์ ถ่ายหนังเรื่อง Faces โดยใช้กล้องแบบมือถือถ่ายอยู่หลายช็อต เพื่อสื่อถึงการรุกล้ำของกล้องเข้ามาในชีวิตตัวละครที่ดูเหมือนจริงและปราศจากการวางบท เช่นเดียวกัน ผู้กำกับ วู้ดดี้ อัลเลน ซึ่งไม่เคยหวือหวาในเรื่องการเคลื่อนกล้องมาก่อน กลับระบุชัดเจนให้ตากล้อง คาร์โล ดิ พัลมา ถ่ายทำ Husbands and Wives ด้วยเทคนิค handheld แทบทั้งเรื่องเพราะหนังเล่าถึงประเด็นความเปราะบางในชีวิตสมรส เมื่อตัวละครเอกคนหนึ่ง (ซิดนีย์ พอลแล็ค) กำลังจะหย่าขาดจากภรรยา (จูดี้ เดวิส) ขณะที่อีกคนหนึ่ง (อัลเลน) กำลังหลงใหลได้ปลื้มกับนักศึกษาสาวคราวลูก (จูเลียต ลูว์อิส) จนทำให้เขาเหินห่างจากภรรยา (มีอา ฟาร์โรว์) ความรู้สึกสับสน ไม่มั่นคงของตัวละครถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมผ่านงานด้านภาพอันกระตุกและสั่นส่าย

ในหนังเรื่อง แฝด (Alone) กล้องแบบ handheld ถูกนำมาใช้ช่วงท้ายเรื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาวะทางจิตอันบิดเบี้ยว ไร้สมดุลของตัวละครเอก (มาช่า วัฒนพานิช) ขณะที่หนังเรื่อง Thirteen ผู้กำกับหญิง แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค เลือกจะถ่ายทอดเรื่องราวการหล่นลงเหวของสาววัยทีน ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและเลือกคบคนผิด ด้วยกล้องแบบมือถือถ่ายตลอดทั้งเรื่อง เพื่อสะท้อนภาวะ “พลุ่งพล่านทางฮอร์โมน” ของตัวละครเอก ซึ่งพยายามจะเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากคนรอบข้าง


ราวทศวรรษ 1970 อุปกรณ์ที่เรียกว่าสเตดิแคม (steadicam) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ตากล้องสามารถติดตามเหตุการณ์ หรือตัวละครได้อย่างราบรื่น อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีแขนเชื่อมต่อกล้องถ่ายภาพยนตร์เข้ากับลำตัวของตากล้อง ซึ่งสามารถปรับเฟรมภาพผ่านทางจอมอนิเตอร์ โดยเขาอาจมีผู้ช่วยอีกคนคอยปรับโฟกัสผ่านรีโมทคอนโทรล ส่งผลให้ภาพที่ออกมาแทบจะปราศจากการสั่นไหว สร้างความรู้สึกนุ่มนวล แนบเนียน ขณะกล้องตามติดนักแสดงเดินขึ้นบันได หรือเดินเข้าห้อง เช่น ในช็อตความยาวสามนาทีจากหนังเรื่อง Goodfellas ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ เฮนรี่ (เรย์ ลิอ็อตต้า) ให้เงินพนักงานจอดรถที่ฝั่งตรงข้ามไนท์คลับ จากนั้นเขากับ คาเรน (ลอร์เรน แบรคโค) ก็เดินข้ามถนน ตัดผ่านกลุ่มคนที่กำลังเข้ารอคิวอยู่ตรงทางเข้าไนท์คลับไปยังประตูข้าง ก้าวลงบันได แล้วเดินทะลุห้องครัวไปยังไนท์คลับ ซึ่งมีโต๊ะพิเศษตั้งรอพวกเขาอยู่ เมื่อเขากับคาเรนนั่งลงที่โต๊ะ ไวน์ก็ถูกนำมาเสิร์ฟ ขณะเฮนรี่พูดคุยกับแขกโต๊ะข้างๆ ก่อนจะเริ่มชมการแสดงบนเวที ผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ถ่ายฉากดังกล่าวโดยไม่ตัดภาพเลย และกล้องสเตดิแคมก็เปิดโอกาสให้คนดูเห็น (และมีอารมณ์ร่วมกับ) สิทธิพิเศษที่เฮนรี่ได้รับจากการทำงานให้มาเฟียได้อย่างราบรื่น นุ่มนวล ซึ่งกล้องแบบมือถือถ่ายไม่สามารถทำได้

สเตดิแคมถูกนำมาใช้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในฉากไคล์แม็กซ์ตอนท้ายของ The Shining เมื่อตัวละครเอกที่กำลังเสียสติ (แจ๊ค นิโคลสัน) ไล่ล่าลูกชายเข้าไปในสวนวงกต ซึ่งปกคลุมด้วยหิมะ สเตดิแคมทำให้คนดูสามารถติดตามทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าได้อย่างราบรื่นโดยไม่รู้สึกเมาความเคลื่อนไหว

ในหนังเรื่อง Reversal of Fortune สเตดิแคมถูกนำมาใช้ถ่ายทำฉาก ซึ่งเล่าโดย ซันนี่ (เกลนน์ โคลส) เศรษฐีนีที่กำลังนอนโคม่า โดยผู้กำกับ บาร์เบ็ท ชโรเดอร์ อธิบายว่าสาเหตุที่เขาเลือกใช้สเตดิแคมเป็นเพราะมัน “ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังล่องลอย ไม่สั่นไหว และไม่ใช่การเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งแบบตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าคุณสมบัติดังกล่าวของภาพจากการใช้สเตดิแคมเป็นประโยชน์ต่อการเล่าเรื่อง เพราะทุกครั้งที่ซันนี่เล่าเรื่อง กล้องจะล่องลอยไปตามห้อง เหมือนจิตวิญญาณของซันนี่หลุดออกมาจากร่าง”

ด้วยเหตุนี้เอง สเตดิแคมเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมยิ่งในการถ่ายทำหนังอย่าง Russian Ark ซึ่งเล่าประวัติศาสตร์ของรัสเซียในแต่ละยุคสมัยผ่านการถ่ายทำที่ไม่ตัดภาพเลยตลอดทั้งเรื่อง! สเตดิแคมและกล้องดิจิตอล เปิดโอกาสให้ตากล้องสามารถเดินไปทั่วพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ (คิดเป็นระยะทางทั้งสิ้นกว่าสองกิโลเมตร) เพื่อจับภาพเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นต่างกาลเวลากันในอดีตพระราชวังฤดูหนาวแห่งนี้ ลองเทคและภาพจากสเตดิแคมทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งความฝัน โดยมี มาร์ควิส (เซอร์ไก ไดรเดน) ตัวละครเอก ทำหน้าที่เหมือนวิญญาณในอดีตที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเพื่อเป็นไกด์นำเราไปแนะนำให้รู้จักกับประวัติศาสตร์ของรัสเซีย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ