วันพฤหัสบดี, กันยายน 08, 2559

The Sound of Music: ดื่มด่ำความรักและเสียงเพลง




เมื่อพูดถึงความสำเร็จระดับตำนานของ The Sound of Music (1965) ภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอเมริกาเป็นอันดับ 3 (หลังปรับค่าเงินเฟ้อ) รองจาก Gone with the Wind (1939) และ Star Wars (1977) สองปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ จูลี แอนดรูว์ส และทีมนักแต่งเพลงละครบรอดเวย์ ริชาร์ด ร็อดเจอร์ส กับ ออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ คนแรกเป็นนักแสดงนำหญิงที่สวมบทบาทตัวละครมาเรียได้อย่างมีชีวิตชีวา น่าเชื่อถือ ทำให้คนดูสามารถกล้ำกลืนพล็อตเรื่องซึ่งค่อนไปทางคลองแสนแสบและทุ่งดอกทิวลิปได้คล่องคอขึ้น ขณะที่สองคนหลังเป็นผู้รังสรรค์เพลงฮิตติดหูในหนัง ซึ่งคนทั่วโลกหลงรักและสามารถร้องตามได้อย่างขึ้นใจ

ภาพจำของ The Sound of Music สำหรับเด็กรุ่นใหม่น่าจะเป็นฉากเปิดเรื่องที่มาเรียหมุนตัว ผายมือร้องเพลงอยู่บนทุ่งหญ้าเขียวชะอุ่มบนเนินเขา โดยภาพนิ่งของฉากดังกล่าวถูกนำมาใช้แทนนิยามของคำว่า โลกสวย ในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากมองจากพล็อตหลักของหนังที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย (แม่ชีได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็กในคฤหาสน์ของนายทหารหนุ่มใหญ่รูปหล่อ ร่ำรวย เธอกลายเป็นที่รักของเด็กๆ สอนพวกเขาร้องเพลง พร้อมกับขโมยหัวใจของพ่อหม้ายหนุ่มมาครองในที่สุด) นิยามดังกล่าวก็อาจถือว่าไม่ห่างไกลจากความจริงมากนัก

แต่นั่นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของหนังเท่านั้น แม้จะเป็นครึ่งที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบและจดจำได้เป็นหลักก็ตาม ทั้งนี้เพราะ The Sound of Music หาได้จบลงตรงงานแต่งของมาเรียกับ เกออร์ก ฟอน แทรป (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) แต่ยังคืบคลานไปยังซอกหลืบที่ขมขื่น มืดหม่นอีกด้วย เมื่อลัทธินาซีเริ่มแผ่อิทธิพลครอบงำประเทศออสเตรีย คนดูตระหนักถึงโทนอารมณ์โดยรวมที่แปรเปลี่ยนเป็นเคร่งขรึม ตึงเครียด ไม่เพียงจากจำนวนเพลงที่ลดน้อยลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฉากกลางคืนที่เพิ่มขึ้น และถ่ายทำโดยเน้นแสงเงาเด่นชัด ส่งผลให้งานเทศกาลดนตรีในตอนท้ายขาดสีสัน ชีวิตชีวาเหมือนฉากร้องเพลงในช่วงครึ่งแรก (การที่ตัวละครร้องซ้ำเพลงเดิมยิ่งเทียบให้เห็นความแตกต่างเด่นชัด) ตรงข้ามกับฉากกลางคืนในช่วงครึ่งแรก (เพลง Sixteen Going On Seventeen และ Something Good) ที่มักจะถูกลดทอนคอนทราสต์ผ่านการใช้ ซอฟต์ โฟกัส ซึ่งสะท้อนอารมณ์ฟุ้งฝัน โรแมนติกได้ดีกว่า

ครึ่งแรกมาเรียคือตัวละครหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องราว เธอเป็นเหมือนตัวแทนของปัจเจกนิยม ใฝ่หาอิสรภาพ ปฏิเสธที่จะถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่เธอจะกลายเป็นตัวปัญหาเมื่อต้องมาอยู่ในคอนแวนต์ ซึ่งเต็มไปด้วยกฎระเบียบ จนสร้างอาการปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเหล่าแม่ชีทั้งหลาย (“เราจะไขว่คว้าเมฆให้หยุดนิ่งได้อย่างไร”) เช่นเดียวกัน บ้านตระกูล ฟอน แทรป ก็ขับเคลื่อนอย่างเคร่งครัดด้วยวินัยและข้อห้ามไม่ต่างจากในกองทัพ หรือคอนแวนต์ จึงไม่แปลกที่มาเรียจะประสบปัญหาในการเดินตามคำสั่ง เธอท้าทายกฎของกัปตันฟอน แทรปตั้งแต่นาทีแรกด้วยการปฏิเสธที่จะใช้นกหวีดเป่าเรียกเด็กๆ ก่อนจะแหกกฎอีกหลายข้อ ซึ่งเธอเห็นว่าไม่สมเหตุสมผลในเวลาต่อมา แต่ปัญหาของมาเรีย คือ เธอปรารถนาและดิ้นรนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน (แม่ชี) แม้ว่ามันจะขัดกับความต้องการลึกๆ ภายใน นั่นเป็นเพราะเธอเติบโตมาในโลกที่ปิดแคบ และมองไม่เห็นทางเลือกอื่นใด

ชัยชนะของมาเรียหาใช่แค่การชนะใจเด็กๆ ด้วยเสียงเพลง ความรัก ความเอาใจใส่ แล้วหลอมละลายความแข็งกระด้างของกัปตันฟอน แทรป ช่วยให้เขากลับมาเป็นพ่อของลูกๆ อีกครั้ง แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะอ้าแขนต้อนรับความฝัน/ตัวตนที่แท้จริง (Climb Every Mountain) อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ในฉากงานแต่งเพลง Maria จึงถูกร้องบรรเลงขึ้นอีกครั้ง เพราะนี่ไม่ใช่แค่บทสรุปความรักที่สมหวังเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองปัจเจกภาพอีกด้วย

แต่หากจะมีเพลงใดที่เปี่ยมความสำคัญสูงสุดในหนัง เพลงนั้นคงหนีไม่พ้น Edelweiss เพราะมันช่วยเชื่อมโยงครึ่งแรกกับครึ่งหลังของหนังได้อย่างหมดจด และถือเป็นความชาญฉลาดของคนเขียนบท เออร์เนส เลห์แมน ที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนจากเวอร์ชั่นละครเพลงด้วยการนำเพลงนี้มาใส่ไว้ครั้งแรกช่วงกลางเรื่อง มันเป็นเพลงที่ทำให้กัปตันฟอน แทรปรำลึกได้ว่าครอบครัวเขาเคยมีความสุขแค่ไหน มาเรียนำเสียงเพลงกลับมายังครอบครัวฟอน แทรปอีกครั้ง และช่วยทลายกำแพงที่กัปตันฟอน แทรปสร้างขึ้นหลังจากเขาสูญเสียภรรยาผู้เป็นที่รักไป กำแพงที่ปิดกั้นเขาจากลูกๆ เรื่องราวในครึ่งแรกของหนังจึงลงเอยด้วยความสุขสมหวัง เมื่อครอบครัวฟอน แทรปกลับมาครบถ้วน สมบูรณ์อีกครั้ง

กระนั้น Edelweiss กลับเป็นเพลงที่อบอวลด้วยอารมณ์หวานปนเศร้า สาเหตุสำคัญก็เพราะมันสะท้อนให้เห็นบทสรุปของหนังในช่วงครึ่งหลังไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นดอกเอเดลไวส์ในเพลงจึงไม่เพียงเป็นการหวนรำลึกถึงอดีตครอบครัวแสนหวาน แต่ยังหมายความถึงประเทศออสเตรียที่กำลังจะกลายเป็นอดีตจากภัยคุกคามของนาซีอีกด้วย โดยในช่วงครึ่งหลังมาเรียถูกผลักให้หลบไปอยู่เบื้องหลัง ขณะที่กัปตันฟอน แทรปก้าวขึ้นมาเป็นตัวละครที่ขับเคลื่อนเรื่องราวแทน ทัศนคติของเขาต่อลัทธินาซีได้รับการสนับสนุนจากมาเรีย แต่ความพยายามของเขาที่จะหยุดยั้งเพื่อนร่วมชาติไม่ให้อ้าแขนต้อนรับนาซีกลับต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ดังนั้นความหมายของ Edelweiss ในฉากเทศกาลเพลงจึงแตกต่างจากในช่วงกลางเรื่อง มันสื่อแทนประเทศบ้านเกิดที่เขากำลังจะสูญเสีย และสุดท้ายก็ต้องโบกมือลาในที่สุด

ถ้าชัยชนะของมาเรียปิดท้ายด้วยความยิ่งใหญ่ของพิธีแต่งงานในโบสถ์ ความพ่ายแพ้ของเกออร์กก็ได้รับการตอกย้ำด้วยบทสรุปอันน่าเศร้าของสัมพันธ์รักระหว่างวัยรุ่นหนุ่มสาว ลีเซล (ชาร์เมียน คาร์) กับ รอล์ฟ (เดเนียล ทรูฮิตต์) ซึ่งยั่วล้อเป็นคู่ขนานกับโรแมนซ์ของผู้ใหญ่ทั้งสองคน

อย่างไรก็ตาม หนังเลือกจะไม่รุมเร้าคนดูด้วยความขมขื่น มืดหม่นจนเกินไป ประกายความหวังปรากฏให้เห็นในรูปของการประสานเสียงร้องเพลง Edelweiss ของผู้ชมในโรงละคร ความช่วยเหลือที่ครอบครัวฟอน แทรปได้รับในการหลบหนี ก่อนหนังจะปิดท้ายด้วยความสดใส สุกสว่างขณะครอบครัวฟอน แทรปเดินขึ้นเขาเพื่อหนีไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์พร้อมเสียงเพลง Climb Every Mountain ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง มันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เนื้อเพลงกลายเป็นรูปธรรมและยังสะท้อนความหวัง ความรื่นรมย์ของฉากเปิดเรื่องไปในตัว (ในชีวิตจริงครอบครัวฟอน แทรปนั่งรถไฟไปยังอิตาลีโดยไม่มีใครพยายามขัดขวาง หรือตามล่า)

มองในแง่นี้จะพบว่าบางทีอีกหนึ่งสาเหตุที่ The Sound of Music ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ผู้คนทั่วโลกซาบซึ้ง ประทับใจ อาจไม่ใช่แค่เรื่องเปลือกนอกอย่างบทเพลงแสนไพเราะ หรือวิวทิวทัศน์อันงดงามเท่านั้น แต่เป็นสารแห่งความหวังตรงแก่นกึ่งกลางของหนัง จากการฟันฝ่าอุปสรรคจนค้นพบและยอมรับในตัวเอง ไปจนถึงพลังของเสียงเพลงและความรักที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในชีวิต

การนั่งดู The Sound of Music ในปี 2016 ปลุกอารมณ์ถวิลหาอดีตได้ไม่น้อย (ตัวหนังเองก็สะท้อนอารมณ์ดังกล่าวอยู่แล้วจากฉากหลังของหนังซึ่งดำเนินเหตุการณ์ ตามคำบรรยายต้นเรื่อง ในช่วง วันชื่นคืนสุขสุดท้ายของทศวรรษ 1930”) ภาษาหนัง ตลอดจนเทคนิคบางอย่างอาจดูเชย หรือพ้นยุคพ้นสมัยไปบ้างเมื่อเทียบกับรสนิยมการทำหนังในปัจจุบัน แต่น่าสนใจว่าเนื้อหาบางอย่างกลับคงความ ร่วมสมัยได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะความรักบนความแตกต่างระหว่างมาเรียกับกัปตันฟอน แทรป แม้หลายคนจะวิพากษ์ว่าหนังสะท้อนอุดมคติอนุรักษ์นิยมแบบอเมริกันในยุคสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นการเชิดชูวิถีชีวิตชนบท อิทธิพลของศาสนา ความสำคัญของสถาบันครอบครัว รวมถึงตำนานความสำเร็จของเหล่าผู้อพยพผ่านเรื่องราวในรูปแบบของนิทานซินเดอเรลลา

กัปตันฟอน แทรปถูกนำเสนอในฐานะตัวแทนจากอดีต เขาดำรงสถานะเจ้าขุนมูลนายในประเทศที่ปราศจากราชวงศ์ มีตำแหน่งทหารเรือในประเทศซึ่งปราศจากพื้นที่ติดทะเล (หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) เขาเป็นตัวแทนเศษเสี้ยวอนุรักษ์นิยมจากยุคอาณาจักรรุ่งเรือง อารมณ์โหยหาภรรยาที่จากไปและความรุ่งโรจน์ของออสเตรียในอดีตทำให้ เกออร์ก ฟอน แทรป หลบหนีไปอยู่ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของบารอนเนส เอลซา (เอเลนอร์ พาร์คเกอร์) สาวสังคมร่วมชนชั้นสูงจากเวียนนา ซึ่งไม่แยแสลูกๆ ของเขา แต่ดูจะหลงรักเขาด้วยความจริงใจ การจับคู่กันของทั้งสองปลุกกระตุ้นความคุ้นเคย ดำรงรักษาความต่อเนื่องทั้งด้านไลฟ์สไตล์และตัวตนทางสังคม

ในทางตรงกันข้าม มาเรียเปรียบได้กับตัวแทนชาวบ้านระดับล่าง ซึ่งใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ ขุนเขา ทุ่งหญ้า และศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เธอผูกติดกับดนตรีโฟล์กพื้นบ้าน (กีตาร์โปร่งเป็นเครื่องดนตรีประจำตัวเธอ) หาใช่ดนตรีชั้นสูง ซึ่งแทนสัญลักษณ์ด้วยเปียโนกับวงออร์เคสตราแบบในยุคโมสาร์ทครองซาลซ์บูร์ก (ในฉากหนึ่งบารอนเนสแอบประชดเมื่อเห็นเกออร์กร้องเพลงโฟล์กให้ลูกๆ ฟังว่า ทำไมไม่บอกกันก่อน ฉันจะได้พกหีบเพลงมาด้วย”)

เกออร์กตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตร่วมกับมาเรียในท้ายที่สุด เพราะเธอฉุดรั้งเขาให้อยู่กับปัจจุบัน กับความเป็นจริง แทนที่จะหลุดลอยเข้าสู่อดีตซึ่งไม่อาจเรียกคืนมาได้ มันอาจไม่ใช่การปฏิวัติ แต่ก็สามารถเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ที่สำคัญ การผสมผสานระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูง ระหว่างชนบทกับเมืองใหญ่ยังเปรียบเสมือนการ “หลอมรวม” แทนการ แบ่งแยกซึ่งสอดคล้องและเน้นย้ำแก่นต่อต้านลัทธินาซี ซึ่งเชิดชูความยิ่งใหญ่ของชนชาติอารยัน พร้อมกำจัดความแตกต่างทุกชนิด ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ฉากร้องเพลง Edelweiss ในช่วงท้ายเรื่องจึงเปี่ยมความนัย ตลอดจนอารมณ์ยิ่งใหญ่หลายระดับด้วยกัน ทั้งจากเนื้อเพลงเกี่ยวกับดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ ที่มักจะขึ้นอยู่ตามเทือกเขาสูง และจากการร้องคู่กับกีตาร์โปร่งตัวเดียวต่อหน้าวงออร์เคสตราขนาดใหญ่

ความพยายามจะสร้างตัวตนของสาธารณรัฐออสเตรีย ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่ามันคือส่วนหนึ่งของเยอรมนี เป็นจุดก่อกำเนิดแนวคิดชาตินิยมในระหว่างช่วงปี 1934-1938 โดยมีแก่นหลักว่าออสเตรียเป็น เยอรมันที่ดีกว่าต่อต้านลัทธินาซี และสนับสนุนให้มีการหลอมรวมวัฒนธรรมมวลชน เข้ากับรากเหง้าแห่งราชวงศ์ รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ออสเตรียในอดีตแตกต่างจากเยอรมนี เกออร์ก ฟอน แทรปเปรียบดังตัวแทนแนวคิดดังกล่าว (เขาแขวนธงชาติออสเตรียในห้องบอลรูม ก่อนต่อมาจะฉีกธงสัญลักษณ์สวัสติกะทิ้ง) พันธมิตรของเขาหาใช่แค่มาเรียเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแม็กซ์ (ริชาร์ด ไฮดิน) เพื่อนนักฉวยโอกาสและค่อนข้างโลภ ซึ่งรูปลักษณ์และคุณลักษณะดังกล่าวทำให้เขาสามารถเทียบเคียงได้กับชาวยิวในออสเตรีย แต่เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ แนวคิดดังกล่าวล่มสลายไปพร้อมกับการบุกรุกของนาซี ซึ่งชาวออสเตรียหลายคนอ้าแขนต้อนรับ ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของ เซลเลอร์ (เบน ไรท์) รอล์ฟ หรือพ่อบ้าน ฟรานซ์ (กิล สจ๊วต)

ท่ามกลางกระแส Brexit ปัญหาผู้อพยพ และความนิยมชมชอบในตัว โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนเราจะกลับมาเผชิญหน้าวิกฤติเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า อังกฤษเริ่มต้นด้วยการก้าวเท้าข้างหนึ่งไปสู่การแบ่งแยกแทนที่จะหลอมรวม พวกเขายึดติดกับอดีตอันรุ่งเรืองแทนที่จะดำรงอยู่กับปัจจุบัน อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรามารอดูกันว่าอเมริกาจะเลือกเดินไปทางไหน

ไม่มีความคิดเห็น: