วันพฤหัสบดี, กันยายน 08, 2559

Short Comment: Everybody Wants Some


หนังของผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ โดดเด่นในการจับห้วงเวลาของตัวละครได้อย่างแม่นยำ ปลุกอารมณ์ถวิลหาอดีตโดยไม่จำเป็นต้องฟูมฟาย หรือบีบคั้นอารมณ์ พร้อมกับตั้งคำถามถึงประเด็นยิ่งใหญ่อย่างลุ่มลึกเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ความรัก ความสัมพันธ์ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านของเวลา ผลงานชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง Everybody Wants Some!! ก็ไม่ถือเป็นข้อยกเว้น แม้เปลือกนอกจะดูเหมือนหนังตลกสัปดนเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นหื่นเซ็กซ์ในโหมดใกล้เคียงกับ American Pie ก็ตาม แต่เนื้อแท้จริงๆ มันกลับพูดถึงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างสนุกสนาน อ่อนหวาน และเศร้าสร้อยในเวลาเดียวกัน

ลิงค์เลเตอร์เคยให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งว่า Everybody Wants Some!! เป็นเสมือนภาคต่อทางจิตวิญญาณของ Dazed and Confused หนังที่พูดถึงวันสุดท้ายในชีวิตมัธยมของตัวละครกลุ่มหนึ่ง ดำเนินเหตุการณ์ในปี 1976 ส่วนผลงานชิ้นล่าสุดของเขาดำเนินเหตุการณ์ในปี 1980 สองสามวันก่อนมหาวิทยาลัยจะเปิดเทอม เล่าผ่านสายตาของ เจค (เบลค เจนเนอร์) เด็กหนุ่มที่ต้องย้ายมาอยู่หอเดียวกับเพื่อนร่วมทีมเบสบอล ซึ่งมีหลากหลายบุคลิกตั้งแต่หนุ่มหื่นช่างจ้อ (เกล็น พาเวลล์) นักพี้กัญชาเคล้าปรัชญา (ไวแอ็ต รัสเซลล์) ไปจนถึงหมาบ้าจอมยโส (จัสตัน สตรีท) ตลอดช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พวกเขาหยอกล้อ กลั่นแกล้งกัน ออกไปตะลอนล่าหญิงตามผับ ดูคอนเสิร์ต แข่งปิงปอง และฝึกซ้อมเบสบอล โดยระหว่างนั้นเจคยังได้รู้จักกับนักศึกษาการละคร (โซอี้ ดอยช์) ซึ่งเขาปรารถนาจะสานสัมพันธ์ลึกซึ้ง

นั่นเป็นสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่า “พล็อต” ซึ่งแทบไม่เคยเป็นจุดเด่น หรือกระทั่ง (ในบางกรณี) มีตัวตน เสน่ห์ของหนังลิงค์เลเตอร์ไม่ได้อยู่ตรงการวางปมขัดแย้ง หรือบีบคั้นอารมณ์คนดู ตรงกันข้าม มันอยู่ตรงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับอารมณ์แห่งยุคสมัย (ก่อนมาการถึงของโรคเอดส์) ความน่าตื่นเต้นของรักแรกแย้ม ตลอดจนการสอดแทรกประเด็นน่าสนใจเอาไว้ในเหตุการณ์สามัญ ธรรมดา ซึ่งมักจะพบเห็นได้ในหนังวัยรุ่นทั่วไป แต่ไม่เคยถูกสานต่อไปสู่สารัตถะยิ่งใหญ่ เช่น เมื่อหนังตั้งข้อสังเกตว่าความจริงเจคกับกลุ่มเพื่อนเปลี่ยนตัวตนไปตามรูปแบบเพลง ตั้งแต่ดิสโก้ ไปจนถึงคันทรี และพังก์ร็อกเพียงเพื่อโอกาสที่จะแอ้มสาวเพราะพวกเขาปราศจากกระดูกสันหลัง หรือมันเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนค้นหาตัวเอง… และจะมีช่วงเวลาไหนเหมาะสำหรับค้นหาตัวเองยิ่งไปกว่าช่วงวัยรุ่นอีกเล่า

แต่ท่ามกลางความสนุกสนาน บ้าระห่ำ หนังก็ยังแฝงอารมณ์หม่นเศร้าเกี่ยวกับช่วงเวลาอันแสนสั้นของวัยรุ่นเอาไว้ด้วย ผ่านรายละเอียดของตัวละครหนึ่ง ซึ่งอายุ 30 แต่แอบแฝงมากินนอนอยู่ในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัย เพราะอยากซึมซับความรุ่งโรจน์เอาไว้ให้นานที่สุด ลิงค์เลเตอร์ไม่ได้อ้อยอิ่งกับรายละเอียดนี้ หรือเน้นย้ำเพื่อบีบอารมณ์อย่างที่สามารถทำได้ แต่มันก็โดดเด่นพอจะสร้างอารมณ์ร่วมสากล เพราะแม้ว่าเราอาจไม่เคยอยากเป็นนักเบสบอล แต่ทุกคนล้วนเคยผ่านช่วงวัยรุ่นไร้เดียงสา ซึ่งทุกอย่างดูเป็นไปได้ ไม่ไกลเกินเอื้อม ก่อนสุดท้ายจะค้นพบโลกความจริงอันโหดร้าย

ในฉากสุดท้ายของหนัง อาจารย์สอนประวัติศาสตร์เขียนหัวข้อบนกระดานดำว่า พรมแดนเป็นจุดที่พบเห็นพวกเขา” ซึ่งหากทำความเข้าใจตามตัวอักษรแล้ว นี่อาจเป็นแค่ความพยายามเกริ่นนำเข้าสู่ประเด็นดินแดนตะวันตก หรือยุคสมัยบุกเบิกประเทศ หรือวิถีชีวิตของคาวบอย (ฉากหลังของหนังคือมหาวิทยาลัยเท็กซัส) แต่ประโยคดังกล่าวยังสะท้อนความนัยถึงเหล่าตัวละครหลักในหนังอีกด้วย เพราะชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เปรียบได้กับการก้าวข้ามพรมแดนไปสู่อิสรภาพ พวกเขาต้องย้ายออกจากบ้านไปอยู่หอพัก แล้วใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นนอกเหนือจากพ่อแม่พี่น้อง มันเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะไม่มีใครมาคอยบังคับให้เข้าคลาสเรียน คุณจะต้องค้นหาความรู้ ค้นหาตัวตน และศึกษาชีวิตตามลำพัง

การที่เจคกับเพื่อน (เทมเพิล เบกอร์) งีบหลับในคลาสแรกเป็นเหมือนอารมณ์ขันเล็กๆ และสัญลักษณ์สื่อความหมาย เนื่องจากหนังทั้งเรื่องดำเนินเหตุการณ์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนเปิดเทอม ถึงขั้นมีข้อความนับถอยหลังเป็นเวลา ซึ่งโดยปกติแล้วการนับถอยหลังมักจะนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญ หรือไคล์แม็กซ์ แต่หนังเรื่องนี้กลับจบเมื่อการนับเวลาถอยหลังสิ้นสุดลง ก่อนอาจารย์จะทันได้อ้าปากพูดอะไรด้วยซ้ำ   มันเป็นการบอกกล่าวโดยนัยของลิงค์เลเตอร์ว่าแก่นชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยบางทีอาจไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงช่วงเวลาระหว่างคาบอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: