วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

รักแห่งสยาม: สู่จุดจบเพื่อการเริ่มต้น

หลังจากพยายามนอนคิดอยู่นานสองนานเพื่อหาคำนิยามภาษาไทยเหมาะๆ ให้กับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า closure สุดท้ายผมก็ยอมแพ้ และขอเลือก “จุดจบ” เป็นคำตอบสุดท้าย ถึงแม้นัยยะของมันจะค่อนข้างโอนเอียงไปในทางลบก็ตาม ขณะที่คำว่า closure ในภาษาอังกฤษมีความหมายเชิงบวก ซึ่งตามพจนานุกรมจำกัดนิยามไว้ว่า “ความรู้สึก หรือการกระทำบางอย่างที่จะนำไปสู่บทสรุปสิ้นสุดของสถานการณ์ ช่วงเวลา หรือประสบการณ์อันเลวร้าย เพื่อคุณจะได้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้” สาเหตุที่ผมนึกถึงคำนี้ขึ้นมาก็เพราะ “จุดจบ” เป็นสิ่งที่ตัวละครหลายคนในหนังเรื่อง รักแห่งสยาม พยายามค้นหา แต่ไม่พบ และนั่นจึงนำไปสู่ความเจ็บปวดไม่สิ้นสุด

สำหรับ สุนีย์ (สินจัย เปล่งพานิช) และ กร (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) ความเศร้าโศกของพวกเขาจนนำไปสู่การล่มสลายแห่งศรัทธาในพระเจ้าหาได้เกิดจากการสูญเสีย แตง (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ลูกสาวอันเป็นที่รักไปเท่านั้น แต่ยังเป็นผลจากลักษณะของการสูญเสียนั้นด้วย แตงไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรม แต่เธอ “หายสาบสูญ” ไประหว่างการเดินป่า ส่งผลให้ครอบครัวเธอไม่อาจสัมผัสได้ถึงจุดจบเพื่อจะก้าวเดินหน้าต่อไป ตรงกันข้ามมันกลับกลายเป็นความตายที่ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีงานศพ หรือแม้กระทั่งศพเพื่อเป็นบทสรุปยืนยัน พวกเขายังคงรอคอยต่อไป และบางครั้งอาจถึงขั้นมองหาสมมุติฐานหลากหลาย แม้ว่ามันจะห่างไกลจากความเป็นไปได้มากเพียงใดก็ตาม แตงหนีตามใครไปหรือเปล่า? เราทำอะไรผิด เธอถึงไม่อยากอยู่กับเรา? หรือบางทีเธออาจประสบอุบัติเหตุจนความจำเสื่อม?

แต่ละคนแสดงปฏิกิริยาแตกต่างกันไปกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ คุณพ่อใจดีอย่างกร (เขาเป็นคนอนุญาตให้แตงไปเที่ยวต่อกับเพื่อน) ถูกความรู้สึกผิดกัดกร่อนครอบงำจิตวิญญาณ จนสุดท้ายต้องถอยกรูดเข้าหาขวดเหล้า แล้วจมปลักอยู่กับความทุกข์ระทม เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าอะไรกำลังทำร้ายเขามากกว่ากันระหว่างเหล้าที่ดื่มเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวัน หรือความโศกเศร้าที่เขาเสพติดไม่แพ้กันจนสติเริ่มหลุดลอย

เมื่อคุณแม่ผู้เข้มงวดอย่างสุนีย์เห็นว่าตนเองไม่อาจพึ่งพาสามีได้ เธอจึงต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัว พยายามประคับประคองภาระทุกอย่างไว้บนบ่าทั้งสองข้าง ขณะเดียวกันการหายตัวไปของแตงก็ดูเหมือนจะตอกย้ำความชอบธรรมให้กับปรัชญาการเลี้ยงลูกของสุนีย์ ส่งผลให้เธอคอยคุมเข้ม โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) ลูกชายคนเล็ก ทุกย่างก้าว หมั่นขับรถไปรับไปส่งและโทรตามตลอดเวลา แม้เขาจะเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้วก็ตาม เราสามารถรับรู้ได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวคงเป็นผลมาจากความรักมากพอๆ กับความหวาดกลัวการสูญเสีย

ขณะพ่อแม่ต่างวุ่นอยู่กับการเลียบาดแผลแห่งอดีตและค้นหาความสงบทางจิตใจอันยากยิ่ง โต้งก็ถูกทอดทิ้งให้ต้องรับมือกับความสูญเสียเพียงลำพัง ณ ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออันน่าสับสน ว้าวุ่นที่สุดในชีวิต โต้งมีแฟนสาวชื่อ โดนัท (อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์) ซึ่งหนุ่มๆ หลายคนในโรงเรียนหมายปอง แต่เขากลับรู้สึกเฉยชาต่อความต้องการและข้อเรียกร้องของเธอ การถูกบังคับให้ต้องเผชิญด้านมืดของชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ แล้วเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นในบ้านที่ความรื่นเริง อบอุ่น และชีวิตชีวาถูกดูดหายไปหมดจนเหือดแห้ง ทำให้โต้งเริ่มก่อกำแพงขึ้นล้อมตัวเอง เขาไม่พร้อมจะเปิดใจ แต่ลึกๆ กลับโหยหาการดูแลเอาใจใส่จากใครสักคน

มิว (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เป็นคนเดียวที่สามารถเข้าใจโต้งได้อย่างแท้จริง เพราะเขาเองก็เคยเผชิญความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่มาก่อน (การตายของอาม่า) เพียงแต่กรณีของมิวมีจุดจบที่ชัดเจน (งานศพ) ทำให้เขาสามารถก้าวข้ามวิกฤตินั้นมาได้ ทว่าขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เขาเริ่มหวาดกลัวการสูญเสีย (“ถ้าเรารักใครมากๆ เราจะทนได้เหรอ ถ้าวันหนึ่งต้องสูญเสียเขาไป”) จนปิดกั้นตัวเอง แล้วเลือกจมอยู่กับความเหงาตลอดเวลาห้าปี กระทั่งชะตากรรมชักนำให้เขาได้มาพบโต้งที่สยามสแควร์ ความผูกพันระหว่างมิวกับโต้งเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ มิวเป็นเด็กชายอารมณ์อ่อนไหวที่หลงรักเสียงดนตรี เขาขาดความรักจากผู้เป็น “พ่อ” ซึ่งทอดทิ้งเขาให้ต้องอยู่กับอาม่าตามลำพัง ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากมิวจะถูกดึงดูดเข้าหาโต้งอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฝ่ายหลังนอกจากจะสะท้อนบุคลิกเข้มแข็งในแบบเพศพ่อแล้ว (โต้งพยายามปกป้องมิวจากกลุ่มอันธพาล) ความอบอุ่นรักใคร่แบบพ่อแม่ลูกของครอบครัวโต้ง (ก่อนการหายตัวไปของแตง) ยังช่วยเติมเต็มสิ่งที่มิวขาดหายและโหยหาอีกด้วย

แต่ไม่นานวันคืนแห่งความสุขก็ต้องหยุดชะงักลงกลางคัน เมื่อครอบครัวโต้งสูญเสียแตงไปและตัดสินใจย้ายบ้านหนีความทรงจำ สำหรับมิว การต้องบอกลาโต้งอย่างกะทันหันกลายเป็นเหมือนช่องว่างที่คอยเกาะกินจิตใจของเขามาตลอด ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังคงมองหา “จุดจบ” ที่ชัดเจน เฝ้ารอการเติมเต็ม เช่นเดียวกับจมูกที่หายไปของตุ๊กตาไม้ที่โต้งมอบให้ มิวไม่เคยลืมช่องว่างนั้น (เขาจึงกระโจนเข้าใส่โอกาสที่จะสานสัมพันธ์ต่อ หลังบังเอิญเจอโต้งที่สยามสแควร์) และยังคงเก็บรักษาตุ๊กตาไม้กับรูปภาพเอาไว้อย่างดีแม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายปี

บทภาพยนตร์เริ่มเชื่อมโยงสองชิ้นส่วนสำคัญ (ชีวิตครอบครัวและชีวิตวัยรุ่น) เข้าด้วยกันผ่านตัวละครที่ชวนพิศวงสูงสุดอย่าง จูน (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) หญิงสาวเปี่ยมเสน่ห์น่าหลงใหล ที่ดูจะเข้าใจชีวิตได้ลึกซึ้งเกินตัวและมีใบหน้าละม้ายคล้ายแตงจนน่าประหลาด เธอก้าวเข้ามาในชีวิตของมิวในฐานะคนดูแลวงดนตรีออกัส ก้าวเข้ามาเติมเต็มครอบครัวโต้งโดยการสวมบทเป็นแตง ดลบันดาลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทางที่ดีขึ้น จากนั้นก็เดินทางจากไปเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์ มันเป็นแค่เหตุบังเอิญใช่ไหม ที่เธอสามารถคาดเดารายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับครอบครัวของโต้งได้อย่างแม่นยำ (รวมถึงฉากที่เธอเคี้ยวหมากฝรั่งแล้วทำหล่นจากปาก) เราจะสามารถเชื่อถือคำพูดของเธอได้แค่ไหนเกี่ยวกับประวัติในอดีต (มันสอดคล้องเหมาะเจาะกับสถานการณ์เสียจนสุนีย์เองยังอดสงสัยไม่ได้ว่ามันเป็นความจริงหรือไม่) และเมื่อโต้งถามถึงจูนในฉากช่วงท้ายเรื่อง สุนีย์กลับตอบราวกับเขาถามถึงแตงว่า “เขาจะไม่กลับมาอีกแล้ว จากนี้ไปจะเหลือแค่เรา (สามคน) เท่านั้น

หนังดูเหมือนจะรักษาออร่า “เหนือจริง” ของจูนเอาไว้ตลอด เธอเป็นคนแปลกหน้าที่เข้าขากับเด็กทุกคนได้อย่างสนิทใจ ปลอมตัวเข้าบ้านโต้งได้อย่างแนบเนียน แต่ก็ไม่เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของใครอย่างแท้จริง กล้องแม้จะตามเธอกลับไปยังอพาร์ตเมนต์หลายครั้ง แต่เรากลับไม่ทราบข้อมูลส่วนตัวใดๆ ของเธอเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากว่าเธอกำลังเก็บเงินเพื่อไปที่ไหนสักแห่ง เราไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางของเธอในตอนท้ายคือที่ใด เธอโกหกเรื่องพ่อแม่ตายและกำลังจะกลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีต? เธอเป็นนางฟ้าที่กำลังจะไปช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่กำลังทุกข์ร้อน? หรือเธอเป็นจิตวิญญาณของแตงที่เดินทางกลับมาเพื่อให้บุคคลที่เธอรักได้ค้นพบ “จุดจบ” ต่อการสูญเสียในอดีต แล้วเดินหน้าต่อไป?

ปริศนาของจูนก็เหมือนปริศนาของแตง มันไม่ถูกเฉลยอย่างชัดแจ้ง ประเด็นสำคัญอยู่ตรงผลลัพธ์กลับตาลปัตรที่เกิดขึ้นตามมา นั่นคือ การหายตัวไปของแตงเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานอันยาวนาน ส่วนการลาจากของจูนกลับนำมาซึ่งความสงบทางจิตใจ การเยียวยาบาดแผล และความพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่

นอกจากจะถ่ายทอดแง่มุมความรัก รวมถึงบาดแผลภายในครอบครัว ระหว่างแม่กับลูก ระหว่างภรรยากับสามี ได้อย่างกินใจแล้ว รักแห่งสยาม ยังจับแก่นอารมณ์แห่งช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อได้แม่นยำ ทั้งส่วนของมิตรภาพแน่นแฟ้น รักแรกในวัยเรียน และความสับสน กดดันจากการค้นหาตัวเอง หนังสามารถรักษาสมดุล แล้วถักทอเหตุการณ์ที่ขัดแย้งทางอารมณ์เข้าด้วยกันอย่างมั่นใจและกลมกลืน จากฉากรื่นเริงระหว่างกลุ่มเพื่อนร่วมวงดนตรี ไปยังฉากใสๆ (และค่อนข้างไร้สติ) ของ หญิง (กัญญา รัตนเพชร์) ไปยังฉากโรแมนติกวาบหวามระหว่างโต้งกับมิว ไปยังฉากกดดันทางอารมณ์ที่รุนแรงเมื่อโต้งถูกเพื่อนๆ คาดคั้นว่าเขาเป็นเกย์หรือไม่ จนเด็กหนุ่มต้องระเบิดอารมณ์เอากับหญิงด้วยความอัดอั้น แล้วหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความคับแค้นใจ คนดูจะสัมผัสได้ว่า ยิ่งเรื่องราวดำเนินไปมากเท่าไหร่ ตัวละครแต่ละตัวก็ยิ่งเริ่มถูกสถานการณ์บังคับให้ต้อง “เติบโต” และ “เรียนรู้” เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของชีวิต จนเมื่อทุกอย่างดำเนินมาถึงฉากสุดท้าย พวกเขาก็หาใช่เด็กๆ วัยบริสุทธิ์สดใสอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ผมเคยชมผลงานของผู้กำกับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล มาเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ 13 เกมสยอง ซึ่งฉายแววชัดเจนถึงพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องของเขาและความกล้าหาญที่จะวิพากษ์ประเด็นสังคมอย่างเจ็บแสบ กระนั้นมันกลับไม่อาจเตรียมผมให้พร้อมสำหรับผลงานที่รุนแรงทางอารมณ์ แต่ละเมียดละไมในการนำเสนอ ซับซ้อนในเชิงเรื่องราวและตัวละคร แต่พูดถึงประเด็นสากลอันเรียบง่ายได้อย่างเสียดแทง บาดลึก และสะเทือนใจอย่าง รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ไทยที่ละเอียดอ่อนที่สุดในรอบหลายปี

ยกตัวอย่างความละเมียดละไมของการนำเสนอ “นาทีแห่งความจริงแท้” โดยไม่จำเป็นต้องบีบคั้น หรือใช้คำพูดสาธยายให้มากความ แต่กลับสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ลุ่มลึก กินใจ และสมจริงจนเจ็บปวด มันเป็นหนึ่งในฉากแสนวิเศษของหนัง (นั่นหมายความว่าหนังเรื่องนี้มีฉากแสนวิเศษอยู่มากกว่าหนึ่ง) ซึ่งผู้กำกับได้มอบความไว้วางใจอย่างเต็มที่ให้นักแสดงเป็นคนถ่ายทอดสาร และพวกเขาก็ตอบสนองศรัทธาของผู้กำกับ แล้วส่งผ่านอารมณ์มายังคนดูจนรับกันแทบไม่หวาดไม่ไหว ฉากที่ผมพูดถึง คือ ตอนที่โต้งช่วยแม่ตกแต่งต้นคริสต์มาส มันเริ่มต้นด้วยบทสนทนาอันธรรมดาสามัญ ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่ความนัยที่ยิ่งใหญ่อย่างแนบเนียน เมื่อโต้งไม่แน่ใจว่าควรจะติดตุ๊กตาบนต้นไม้อย่างไรให้ “ถูกใจ” แม่

ดวงตาของ มาริโอ้ เมาเร่อ ฉายแววลังเลและประหม่า ขณะเผชิญหน้ากับนาทีสำคัญของชีวิต ส่วน สินจัย เปล่งพานิช ก็ถ่ายทอดอารมณ์ในฉากนี้ได้เฉียบขาด ไร้ที่ติ ตั้งแต่สีหน้าของเธอเมื่อตระหนักความหมายของลูกชาย แววตาของเธอที่เหลือบมองตุ๊กตา “ผู้ชาย” กับ “ผู้หญิง” ในมือ ก่อนจะเหลือบมองลูกชาย และยื่นพวกมันให้เขาเลือกในสิ่งที่เขาคิดว่า “ดีที่สุด” ไปจนถึงรอยยิ้มอย่างเข้าใจและยอมรับของเธอเมื่อเขาตัดสินใจเลือกอย่างแรก

มันเป็นฉาก coming out ที่เหนือชั้น ลุ่มลึก และอบอุ่นที่สุดเท่าที่ผมเคยชมมา ไม่ว่าจะเป็นหนังฝรั่งหรือหนังไทยก็ตาม (อันที่จริงอาจพูดได้ว่ารักแห่งสยาม คือ ผลงานแนว coming-out-of-age เรื่องแรกของไทย) ความหมายของมันนอกจากจะสะท้อนให้เห็นจุดจบแห่งวัยเยาว์ของโต้ง ผู้กำลังสับสน ไม่รู้ว่าตัวเอง “เป็นอะไร” กันแน่แล้ว มันยังบ่งบอกจุดจบแห่งปรัชญาการเลี้ยงลูกของสุนีย์อีกด้วย เธอพลันตระหนักในท้ายที่สุดว่า โต้งหาใช่ทารกน้อยที่ต้องพึ่งพาน้ำนมเธออีกต่อไป และไม่ว่าเธอจะพยายามตีกรอบขีดเส้นให้เขามากเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วมันก็ยังเป็นชีวิตของเขาที่เขาจะต้องตัดสินใจเลือกเอง หน้าที่เดียวของเธอที่เหลือ คือ มอบความรักความเข้าใจให้เขามากที่สุด ณ เวลานี้ ก่อนที่เธอจะไม่มีโอกาส... แบบเดียวกับแตง

เหนื่อยมั้ยแม่” คำถามสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงใจและเป็นห่วงเป็นใยของโต้งบ่งบอกว่าเด็กหนุ่มตระหนักดีถึงภาระหนักอึ้งที่สุนีย์ต้องแบกรับไว้ ทั้งการทำมาหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลสามีที่ป่วยไข้ แต่ขณะเดียวกันมันยังสื่อนัยไปถึงความดิ้นรนที่จะบังคับชีวิตให้ได้ดังใจของสุนีย์อีกด้วย จริงอยู่ทุกอย่างที่เธอทำส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีและความรัก แต่บางครั้งความรักที่ “ตึง” เกินไปก็อาจทำร้ายบุคคลที่เธอพยายามจะปกป้องมากที่สุดอย่างโหดร้ายโดยที่เธอเองอาจไม่ทันตระหนัก

หนังวาดภาพพัฒนาการทางจิตใจของสุนีย์เอาไว้อย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ เธอก้าวเฉียดเข้าใกล้สถานะ “จอมวางแผน” ในฉากที่เธอจ้องมองลูกชายนั่งส่งข้อความทางโทรศัพท์อย่างมีความสุขในรถ ก่อนจะถามเขาว่าอยากให้เธอขับรถมารับหรือไม่ เมื่อเขาตอบว่าเขาจะกลับบ้านเอง เธอก็รู้ในทันทีว่าตัวเอง “ต้อง” ทำอะไร และในเย็นวันนั้น ขณะลูกชายกำลังสับสน เปราะบางจากการที่มิวไม่ยอมรับสาย เธอก็โทรหาลูกชาย (หลังจากนั่งรอคอยอยู่ในรถด้วยใจจดจ่อ) เพื่อยื่นข้อเสนอที่จะไปรับเขากลับบ้าน แน่นอน กลเกมของเธอจบลงด้วยการทำร้ายความรู้สึกของทุกคนรอบข้างจนบอบช้ำ ไม่เว้นกระทั่งตัวเธอเอง แต่ในช่วงท้ายเรื่อง (หลังจากฉากตกแต่งต้นคริสต์มาส) สุนีย์กลับพูดกับลูกชาย ที่กำลังจะออกไปหาเพื่อนๆ นอกบ้านเพียงว่า “อย่ากลับดึกนะ” ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ใช่การยื่นคำขาด หรือวางกฎเกณฑ์ ตรงกันข้าม มันเป็นเพียงประโยคสำหรับถ่ายทอดความห่วงใยของคนเป็นแม่ต่อคนเป็นลูก... แม่ผู้ไว้ใจลูกว่าโตพอจะตัดสินใจได้เอง

หนึ่งในความละเอียดอ่อนของ รักแห่งสยาม อยู่ตรงที่บทและผู้กำกับหยิบยื่นโอกาสให้ตัวละครทุกตัวได้มีชีวิต มีเลือดเนื้อ แม้กระทั่งตัวละครที่ดูเหมือนจะเรียกร้องความรู้สึกชิงชังได้สูงสุดอย่างโดนัท เธอเองก็ต้องเผชิญกับความผิดหวังไม่ต่างจากหญิง แต่ปฏิกิริยาป้องกันตัวของเธอ คือ รีบโผไปซบอกชายคนใหม่ แม้หนังจะแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าผู้ชายที่เธอเลือกจริงๆ คือ โต้ง เมื่อมองในมุมกลับ เธอเองจึงน่าเห็นใจไม่ต่างจากตัวละครคนอื่นๆ ผู้ชายหลายคนตั้งฉายาให้เธอว่าสวยเลือกได้ แต่น่าตลกตรงที่ในเกมแห่งรักนั้น คุณไม่มีสิทธิ์เป็นผู้เลือก สิ่งเดียวที่คุณทำได้ คือ หวังว่าคนที่คุณเลือก เขาจะเลือกคุณด้วย จริงอยู่ ความรักอาจทำให้คุณสุขใจ อิ่มเอิบ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณสร้างสรรค์บทเพลงที่ไพเราะ หรืออดทนฟันฝ่าอุปสรรคอันยากลำบาก แต่ขณะเดียวกันมันก็จู่โจมคุณให้อ่อนแอ ไร้อำนาจควบคุม ไร้เกราะป้องกัน

คงไม่มีใครจะเข้าใจความรู้สึกหวานปนขมดังกล่าวได้ดีไปกว่ามิว เมื่อเขาตัดสินใจลดกำแพงเพื่อเปิดรับโต้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและหัวใจ ตักตวงความปีติมาเติมเต็มช่องว่างแห่งความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา (ช็อตที่มิวยกนิ้วสัมผัสริมฝีปากอย่างอ้อยอิ่ง หลังได้ลิ้มรสรอยจูบแรกถือเป็นอีกหนึ่งช็อตมหัศจรรย์ที่ตัดเข้ามาอย่างถูกจังหวะ) แต่สุดท้ายกลับต้องทนรับการสูญเสียอีกครั้งหนึ่ง

ในฉากจบที่งดงามและรวดร้าวอย่างยิ่ง ซึ่งนักแสดงหนุ่มหน้าใหม่อย่าง วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้สมจริงจนน่าตกใจ มิวพยายามจะสอดจมูก ซึ่งโต้งมอบให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาส เข้าประกอบกับตุ๊กตาไม้ แต่ไม่สำเร็จ มันไม่ “ลงตัว” เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโต้ง มิวอดไม่ได้ที่จะยิ้มให้กับภาพตุ๊กตาเบื้องหน้า ในที่สุดมันก็เติมเต็ม ปราศจากช่องว่าง แม้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะไม่พอเหมาะพอดีก็ตาม จากนั้นเขาก็เริ่มหลั่งน้ำตาอย่างไม่อาจหยุดยั้ง มันเป็นน้ำตาแห่งความสุขที่ได้รักและถูกรัก มันเป็นน้ำตาแห่งความเจ็บปวดที่ต้องสูญเสีย ที่ต้องจากพราก แต่อย่างน้อยโต้งก็ชัดเจนพอจะบอกกล่าวความรู้สึกของเขาอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้มิวสัมผัสได้ถึง “จุดจบ” แล้วพร้อมสำหรับการก้าวต่อไปข้างหน้า

ความรักและความเจ็บปวด... บางทีมนุษย์อาจต้องการทั้งสองอย่างมากพอๆ กันเพื่อจะได้รู้ว่าตนเองยังมีลมหายใจอยู่

 


ไม่มีความคิดเห็น: