วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

God's Own Country: อาณาจักรของเราสอง


ถ้าเทียบกับหนัง LGBT ชื่อดังเรื่องอื่นๆ ของปี 2017 ด้วยกัน อาจพูดได้ว่า God’s Own Country ลดทอนแง่มุมความกดดัน ตลอดจนอคติในสังคมต่อเพศทางเลือกมากที่สุดจนแทบจะกลายเป็นศูนย์ เพราะแม้กระทั่งหนังซึ่งจงใจรีดบริบททางสังคมออกจนหมด เหลือไว้เพียงอารมณ์ความรู้สึกของการตกหลุมรักอย่าง Call Me by Your Name คนดูยังไม่วายตระหนักถึงแง่มุมส่วนนี้ได้จากการตัดสินใจในตอนท้ายของโอลิเวอร์ นี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึงหนังที่ตีแสกหน้าประเด็นดังกล่าวอย่าง Beach Rats, A Fantastic Woman และ BPM (Beats Per Minute) น่าสังเกตว่าถึงแม้ จอห์นนี จะใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อบอวลไปด้วยความเป็นชายระดับเข้มข้น (เช่นเดียวกับตัวเอกใน Beach Rats) แต่เขากลับไม่เคยพยายามจะปกปิดเพศวิถีของตนเองสักเท่าไหร่ กระทั่งเพื่อนสาวสมัยมัธยมก็ดูจะตระหนักดีว่าเขามีรสนิยมเช่นใด ส่วนพ่อกับย่าของเขาก็ไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่างเขากับจอร์จี้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับปฏิกิริยาของเหล่าตัวละครรอบข้างแจ็คและเอนนิสในหนังซึ่งมักจะถูกยกมาเปรียบเทียบอยู่เนืองๆ อย่าง Brokeback Mountain

ตอนที่หนังเรื่อง Brokeback Mountain เข้าฉาย บล็อกเกอร์บางคนวิจารณ์ความไม่สมจริงของเรื่องราวว่าเหตุใดตัวละครเอกจึงไม่ตัดสินใจย้ายเข้าเมือง แล้วใช้ชีวิตเกย์อย่างอิสระ มีความสุข เหมือนเกย์อีกจำนวนมากในยุค 70-80 ที่อพยพจากเขตรอบนอกเข้าสู่มหานคร อาทิ นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก พวกเขามองข้ามแก่นสำคัญจริงๆ ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ตรง สถานที่” เท่านั้น (ถ้าบ้านนอกใจแคบก็ย้ายเข้าเมืองซึ่งวัฒนธรรมรักร่วมเพศเจริญรุ่งเรืองสิ) หากแต่อยู่ตรงจิตใจภายใน เอนนิส เดลมาร์ ถูกเลี้ยงดูและปลูกฝังว่าความสัมพันธ์แบบชายรักชายเป็นความผิด เป็นเรื่องน่าละอาย และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความตาย ความหวาดกลัว สับสนในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่เชื่อให้ลองดูตัวละครเอกจาก Beach Rats เป็นตัวอย่าง เขาอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ริมชายฝั่ง สามารถหาเซ็กซ์ฉาบฉวยได้ตามเว็บไซต์สารพัด แต่ยังจำทนกับชีวิตกำมะลอไปวันๆ พยายามปกปิดความต้องการแท้จริงทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง ต่างจากจอห์นนี ผู้มีอาชีพใกล้เคียงกับตัวละครเอกใน Brokeback Mountain แต่จิตใจเขากลับปราศจากตราบาปแห่งรักร่วมเพศ

เช่นเดียวกับ Call Me by Your Name ปมของตัวละครอย่างจอห์นนีเป็นปมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่จำเพาะเจาะจงแต่กับรักร่วมเพศเท่านั้น (แต่อารมณ์รักร่วมเพศอาจทำให้ปมดังกล่าวมีความเข้มข้น ซับซ้อนมากขึ้น) ผู้กำกับ ฟรานซิส ลี เคยให้สัมภาษณ์ว่า “Brokeback Mountain พูดถึงฉากหลังและช่วงเวลาอันจำเพาะเจาะจง ตัวละครเอกทั้งสองไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะอคติทางสังคม ใน God’s Own Country ประเด็นคือการปิดกั้นตัวเอง” จอห์นนีเป็นชายหนุ่มที่เติบโตมาไม่แตกต่างจากสภาพภูมิประเทศรอบตัว แห้งแล้ง หนาวเหน็บ หยาบกร้าน แม่ทอดทิ้งเขาให้อยู่ตามลำพังกับพ่อและย่าในชนบทอันห่างไกล ที่ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ชีวิตเขาเต็มไปด้วยภาระหนักอึ้งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเขาต้องแบกรับเพียงลำพังหลังจากพ่อป่วยหนัก เขาถูกคาดหวังให้เป็นเหมือนพ่อ นั่นคือ ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงวัวฝูงแกะเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ เมื่อจอห์นนีบังเอิญเจอเพื่อนสมัยมัธยมในฉากหนึ่ง คนดูสามารถสัมผัสได้ถึงความขมขื่นของชายหนุ่มผู้ติดกับอยู่ในชีวิตที่เขาไม่ต้องการ ความจริงของชีวิตอันโหดร้ายทำให้จิตใจเขาพลอยหยาบกระด้าง เขาดื่มเหล้าเพียงเพื่อให้เมาหมดสติ มีเซ็กซ์เพียงเพื่อระบายความใคร่ และกินอาหารเพียงเพื่อไม่ให้อดตาย ความรัก ความอ่อนโยนเป็นสิ่งที่จอห์นนีไม่รู้จัก และในแง่หนึ่งพยายามปฏิเสธมาตลอดเพราะคิดว่ามันเป็นสิทธิพิเศษที่เขาไม่คู่ควร หรือไม่อาจเติบโต เบ่งบานได้ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ จนกระทั่งเขาได้พบกับจอร์จี้ คนงานชาวโรมาเนียที่พ่อจ้างมาช่วยงานจอห์นนี

ขณะที่จอห์นนีมองยอร์คเชอร์และฟาร์มปศุสัตว์เป็นเหมือนเรือนจำ กักขังเขาจากอิสรภาพ ต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งได้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วกลับมาเยี่ยมบ้านเหมือนเป็นการพักร้อนจากชีวิตเมืองกรุง จอร์จีกลับมองเห็นความงามของยอร์คเชอร์ และอาจเหมารวมถึงประเทศอังกฤษว่าเป็นเหมือนโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ เพราะประเทศบ้านเกิดเขา ตายไปแล้ว” จากความยากแค้นทั่วทุกหัวระแหง ถึงตรงนี้จึงอาจพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า God’s Own Country ปราศจากบริบททางสังคม การวางตัวละครอย่างจอร์จี้ให้เป็นคนงานชาวโรมาเนียสะท้อนถึงการไหลบ่าของผู้อพยพมายังประเทศอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่ความหวาดกลัว วิตกกังวลในหมู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดจนลงเอยด้วยปรากฏการณ์ Brexit น่าสนใจว่าในหนังจอห์นนีไม่ต้องเผชิญกับอคติทางเพศ แต่กลับเป็นจอร์จี้ที่โดนจอห์นนีทึกทักแบบเหมารวม (ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก) ว่าเป็นคนปากีฯ ก่อนต่อมาจะล้อเลียนเขาว่าเป็นพวกยิปซี ต่อมาในฉากหนึ่งช่วงท้ายเรื่อง ลูกค้าบาร์เหล้าก็เหมือนจงใจหาเรื่องจอร์จี้เพียงเพราะเขาพูดจาติดสำเนียง มองในแง่นี้อาจพูดได้ว่า จอห์นนี ตลอดจนเมืองยอร์คเชอร์ เป็นผลพวงตกค้างจากยุคเก่า เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งกำลังผุกร่อน ล่มสลายไม่ต่างจากสภาพร่างกายของพ่อจอห์นนี (ฟาร์มคงไม่มีทางไปรอดหากยังดื้อดึงจะทำตามรูปแบบเดิมๆ) ส่วนจอร์จี้เปรียบเสมือนตัวแทนยุคสมัยแห่งการผสมผสาน เป็นอนาคตที่เปี่ยมความหวัง

เช่นเดียวกับเหล่าผู้อพยพที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น หนีความยากไร้ ภัยสงครามมาหาความสงบสุข โอกาสในการอยู่รอด จอร์จี้ไม่เพียงจะมองเห็นและชื่นชมความงามของทิวทัศน์อันหนาวเหน็บ แห้งแล้งของยอร์คเชอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกๆ สิ่งรอบข้างอีกด้วย ความละเอียดอ่อนของเขาถูกสะท้อนผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหนังอาจนำเสนอแบบผ่านๆ โดยไม่เน้นย้ำ แต่นำไปสู่ภาพรวมอันเป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นฉากเขาถอดหลอดไฟเปลือยมาติดโคม ใส่เครื่องปรุงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เติมเกลือในพาสต้า จัดดอกไม้ใส่แจกันประดับโต๊ะอาหาร หรือทำชีสจากนมแกะ สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นบุคลิกที่แตกต่างกันราวน้ำกับไฟระหว่างจอห์นนีกับจอร์จี้  

เมื่อลูกแกะคลอดออกมาในสภาพอ่อนแอ จอห์นนีเลือกจะถอดใจ ขณะจอร์จี้กลับพยายามทำทุกทางจนช่วยชีวิตมันได้สำเร็จ เขามอบความเอาใจใส่ให้ลูกแกะ เหมือนที่เขาหยิบยื่นความอ่อนโยนให้จอห์นนีอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งสองช่วยกันซ่อมแซมกำแพงหินรอบฟาร์ม ขณะที่กำแพงในใจจอห์นนีก็ค่อยๆ พังทลายลงทีละชั้น ฉากเซ็กซ์ครั้งแรกเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รุนแรง แต่ความวาบหวามแท้จริงเริ่มต้นเมื่อจอห์นนีตระหนักถึงพลังแห่งสัมผัส ความใกล้ชิด และรสจูบอันดื่มด่ำ ดุจเดียวกับสัตว์ที่เพิ่งเรียนรู้อิสรภาพจากการหัดเดินเป็นครั้งแรก เขาค่อยๆ เปิดรับความรักเข้าสู่หัวใจ ปล่อยให้มันหลั่งไหลเข้าเติมเต็มพื้นที่ว่างแห่งความโดดเดี่ยว ทดแทนความขมขื่น คับแค้น หนังถ่ายทอดพัฒนาการในความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างงดงามโดยไม่ต้องอาศัยบทสนทนาใดๆ ในฉากรักครั้งที่สอง สายตาและภาษาท่าทางของทั้งสองนักแสดงบ่งบอกให้เห็นชัดเจนว่าขณะฝ่ายหนึ่งพยายามเร่งรีบเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย อีกฝ่ายกลับยืนกรานให้เขาค่อยๆ ดื่มด่ำกับช่วงเวลา กับรสสัมผัส เซ็กซ์หาใช่แค่แรงหื่นกระหายทางกายอีกต่อไป ในเช้าวันรุ่งขึ้นทั้งสองได้พูดจาเปิดใจกัน ก่อนจอร์จี้จะพาจอห์นนีไปชมทิวทัศน์บนยอดเขา ซึ่งเคยผ่านตามาแล้ว แต่ไม่เคยชื่นชม ซึมซับอย่างแท้จริง ความรักที่งอกงามทำให้จอห์นนีตระหนักเป็นครั้งแรกว่าเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ฟาร์มแห่งนี้ได้

ผมขอโทษ ผมทำอย่างที่พ่อต้องการไม่ได้ เราจะไปกันรอด แต่ต้องในแบบของผม ไม่ใช่ของพ่อ” ตามท้องเรื่องจอห์นนีหมายถึงการดูแลไร่ปศุสัตว์ แต่ในเชิงนัยยะมันอาจเหมารวมถึงชะตากรรมของประเทศอังกฤษ นี่เปรียบเสมือนคำประกาศกร้าวของคนรุ่นใหม่เพื่อคัดค้านแนวทางอันคับแคบของคนรุ่นเก่า ซึ่งดึงดันจะขีดเส้นทางอนาคตทั้งที่พวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่ต้องเผชิญผลพวงภายหลัง การที่พ่อของจอห์นนีตกอยู่ในสภาพพิการ ต้องนั่งรถเข็น สะท้อนให้เห็นว่ายุคสมัยเขากำลังสิ้นสุดลง และเขาควรส่งมอบอิสรภาพในการตัดสินใจให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสค้นหาหนทางในแบบของเขา ด้วยเหตุนี้เองฉากสุดท้ายของหนังจึงให้ความรู้สึกอิ่มเอมที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่ความรักอันสุขสมหวัง

A Fantastic Woman: ยืนหยัดท่ามกลางกระแสเชี่ยวกราก


ในช่วง 10 นาทีแรกของ A Fantastic Woman สาวประเภทสอง มารีนา (แดเนียลา เวกา) เหมือนจะอาศัยอยู่ในฟองอากาศ ล่องลอยเป็นเอกเทศจากโลกรอบข้าง ปลอดภัยจากความกดดันใดๆ เมื่อเธออยู่เคียงข้างชายคนรัก เจ้าของโรงงานสิ่งทอที่อายุมากกว่า ฐานะดีกว่าอย่าง ออร์ลันโด (ฟรานซิสโก เรเยส) เขาหลงรักเธออย่างจริงใจ สังเกตจากแววตาชื่นชมขณะเฝ้ามองเธอร้องเพลงบนเวทีในคลับแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นเขาได้พาเธอไปดินเนอร์ที่ภัตตาคารจีน พนักงานเสิร์ฟเข็นเค้กมาเซอร์ไพรส์พร้อมกับร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้เธอ เขาซื้อของขวัญเป็นตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวน้ำตกอีกวาซูกันสองคน แต่ดันจำไม่ได้ว่าไปลืมทิ้งไว้ที่ไหน ค่ำคืนสุดโรแมนติกลงเอยด้วยการที่ออร์ลันโดตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมอาการปวดหัวอย่างหนัก ก่อนสุดท้ายจะเสียชีวิตกะทันหันที่โรงพยาบาลเนื่องจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง

ทันใดนั้นฟองอากาศของมารีนาก็แตกดังโพละ กลายเป็นว่าเธอปราศจากสิทธิขาดใดๆ ในทุกการตัดสินใจเกี่ยวกับออร์ลันโด และกระทั่งตัวตนแบบที่เธอกล่าวอ้างก็มักจะถูกต้องข้อกังขา หมอแสดงทีท่าไม่แน่ใจเมื่อทราบว่าเธอชื่อมารีนา เป็นชื่อเล่นเหรอ เขาถาม จากนั้นเมื่อเธอดอดไปโทรบอกข่าวกับญาติของออร์ลันโด และหาพื้นที่ส่วนตัวเพื่อเลียแผลใจเพียงลำพัง โรงพยาบาลกลับปฏิบัติต่อเธอเหมือนอาชญากรด้วยการแจ้งตำรวจ ซึ่งยืนกรานให้เธอใช้ชื่อเดิม (ชื่อผู้ชาย) ตามบัตรประชาชนจนกว่าจะได้รับบัตรใหม่ที่ตรงกันเพศสภาพ เขาซักถามว่าทำไมมารีนาจึงเดินหนีจากโรงพยาบาลราวกับเธอเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งที่หมอเองก็สรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจากภาวะเส้นเลือดโป่งพอง แต่เพราะระหว่างทางมาโรงพยาบาล ออร์ลันโดเกิดพลัดตกบันได เนื้อตัวเขาจึงมีรอยฟกช้ำดำเขียว อันจะนำความยุ่งยากมาสู่มารีนาอีกมากมาย เมื่อกาโบ (หลุยส์ เก็กโค) น้องชายของออร์ลันโดเดินทางมาถึงโรงพยาบาล เขาทำท่าจะกอดทักทายมารีนา แต่กลับเปลี่ยนใจไปจับมือแทน ตำรวจพูดถึงมารีนาโดยใช้สรรพนาม “เขา ต่อหน้าเธอ แม้กาโบจะช่วยแก้ต่างว่า ผู้หญิงคนนี้ อยู่กับพี่ชายเขาในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แต่ขณะเดียวกันเขาก็ก้าวเข้ามาจัดการทุกอย่าง แล้วกันเธอออกจากการมีส่วนร่วมไปโดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่เพียงตัวตนของมารีนาเท่านั้นที่ถูกตั้งคำถาม ความรักระหว่างเธอกับออร์ลันโดก็เช่นกัน ตำรวจหญิงจากแผนกคดีล่วงละเมิดทางเพศเดินทางมาพบมารีนา คำถามแรกของเธอ คือ เขาจ่ายเงินให้คุณหรือเปล่าราวกับความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยวัยสาวกับผู้ชายแก่คราวพ่อไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากความสัมพันธ์ที่ผูกมัดกันโดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (ข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการ ส่วนเธอเป็นแค่พนักงานเสิร์ฟมีส่วนสนับสนุนอยู่บ้าง) เธออ้างประสบการณ์จากการทำงานด้านนี้มานานนับสิบปี เธอ เห็นมาหมดว่าเกิดอะไรขึ้นกับ ผู้หญิง” แบบมารีนา เธอเชื่อว่าบาดแผลตามตัวออร์ลันโดเป็นแค่ความพยายามป้องกันตัวเนื่องจากการถูกทารุณกรรมทางเพศ ทั้งที่มารีนาเองได้อธิบายทุกอย่างกับหมอที่โรงพยาบาลแล้ว และเมื่อมารีนาไม่ยอมให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ตำรวจหญิงก็บีบบังคับให้เธอต้องเปลื้องผ้าตรวจร่างกาย พร้อมถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ซ้ำร้ายเธอยังต้องมาทนฟังเสียงกระซิบกระซาบระหว่างตำรวจหญิงกับเจ้าหน้าที่ชายว่าควรจะเรียกเธอ เดเนียล” ตามชื่อจริงดีไหม ทำเหมือนเธอเป็นผู้หญิง เรียกชื่อผู้หญิงของเธอตำรวจหญิงแนะนำ

วิบากกรรมยังไม่จบสิ้นลงเพียงเท่านั้น ครอบครัวของออร์ลันโดตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับมารีนานับแต่เริ่มแรก และปฏิบัติกับเธอเหมือนเธอไม่มีตัวตน หรือเป็นตัวประหลาด ลูกชายเขา บรูโน (นิโคลัส ซาเวดรา) ขับไล่เธอออกจากคอนโดพ่อ ถามว่าเธอเป็นอะไร ผ่าตัดแปลงเพศหรือยัง ฉันก็เป็นเหมือนกับคุณเธอตอบ เมียเก่าเขา โซเนีย (แอรีน คุพเพนไฮม์) นิยามความสัมพันธ์ระหว่างมารีนากับออร์ลันโดว่าวิปริต พร้อมกับเน้นย้ำคำว่า ปกตินิยามชีวิตแต่งงานของเธอเวลาฉันเห็นเธอ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังมองอะไรอยู่เธอกล่าวกับมารีนา เหมือนหัวมังกุท้ายมังกร” (ซับไตเติลอังกฤษใช้คำว่า คิเมียรา ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานกรีก ส่วนหัวถึงหน้าอกเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ และบั้นท้ายเป็นมังกรหรืองู) พร้อมกันนั้นก็ได้สั่งห้ามเธอไม่ให้ไปร่วมงานศพ หรือพิธีกรรมใดๆ และเมื่อเธอไม่เชื่อฟัง ผลลัพธที่ตามมาจากน้ำมือของบรูโนถือว่าน่าตกใจไม่น้อย คนเดียวที่เหมือนจะเห็นใจมารีนาอยู่บ้าง คือ กาโบ แต่ก็ไม่มากพอจะลุกขึ้นมาทำอะไร เขาทำได้แต่เพียงนั่งมอง และขอร้องให้มารีนายินยอมรับชะตากรรมแต่โดยดี

ถึงแม้มารีนาจะต้องเผชิญหน้ากับความอับอาย การกีดกัน ดูถูกเหยียดหยามสารพัด ทั้งแบบรุนแรงตรงไปตรงมา เช่น กรณีครอบครัวของออร์ลันโด หรือแบบซุกซ่อนเป็นความนัย เช่น บรรดาหมอและตำรวจที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้กำกับ เซบาสเตียน เลลีโอ ไม่ได้อ้อยอิ่ง บีบคั้นเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจนเกินงาม หากมองโดยพล็อตเรื่องกับสถานการณ์แล้วหนังมีโอกาสจะเบี่ยงเบนเข้าหาแนวทางเมโลดรามาได้ง่ายมากในหลายๆ ฉาก (ตอนหนึ่งอดีตภรรยาของออร์ลันโดถึงกับเสนอเงินให้มารีนาหายตัวไป”) แต่เลลีโอมีรสนิยมพอจะนำเสนอแบบตรงไปตรงมา ไม่ตีโพยตีพายให้มากความ กล้องจับจ้องไปยังใบหน้าของ แดเนียลา เวกา ตลอดวิบากกรรมทั้งหลาย เธอไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ชัดเจน อาจมีประกายไม่พอใจ ตกใจ ขมขื่น หรือคับแค้นให้เห็นอยู่บ้าง แต่ปราศจากท่าทีโน้มน้าวคนดูให้เห็นอกเห็นใจแบบออกนอกหน้า ความนิ่งจนเกือบจะเรียกได้ว่าหน้าตายในแง่หนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่าอคติ ตลอดจนพฤติกรรมกดทับ มองเห็นเป็นอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเธอ มันเป็นสิ่งที่เธอต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ขณะที่ตัวละครทั้งหลายรอบข้างพยายามจะหา คำนิยามให้กับมารีนา ผู้กำกับเลลีโอกลับเลือกจะถ่ายทอดเธอออกมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งต้องสูญเสียคนรักไปอย่างกะทันหัน เพราะทันทีที่ออร์ลันโดเสียชีวิต ไม่มีใครคิดจะปลุกปลอบใจ หรือถามไถ่ถึงความรู้สึกเธอ ตรงกันข้าม มารีนากลับโดนตีตราแขวนป้ายให้กลายเป็นแค่บุคคลข้ามเพศ เธอถูกตั้งคำถาม ถูกไล่เบี้ย เพื่อจัดหมวดหมู่ให้เข้ากับมาตรฐานของความ ปกติทางสังคม (ชายหรือหญิง เดเนียลหรือมารีนา) จนเธอไม่มีเวลาที่จะทบทวน ซึมซาบ หรือรับมือกับความโศกเศร้าอย่างเป็นขั้นตอน หนังอาจยืนกรานที่จะมอบศักดิ์ศรี ความสง่างามให้กับตัวละครอย่างมารีนา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองข้ามแง่มุม เหนือจริงเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศ จริงอยู่มารีนาอาจไม่แตกต่างจากมนุษย์ปุถุชน เธอมีหัวจิตหัวใจ มีความรัก ความใฝ่ฝัน ต้องการความเคารพ การยอมรับเฉกเช่นคนทั่วไป และควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมเยี่ยงนั้น อย่างไรก็ตาม เหมือนที่ชื่อหนังบ่งบอกเป็นนัย เธอยัง ยอดเยี่ยมและ มหัศจรรย์อย่างเหลือเชื่ออีกด้วย (ไม่ใช่จากแค่การยืนหยัดต่อสู้กับปฏิปักษ์รอบด้านเท่านั้น) ดุจเดียวกับภาพน้ำตกอีกวาซูในช็อตเปิดเรื่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์สูงสุดทางธรรมชาติ

ฉากที่สะท้อนคุณลักษณะเหนือธรรมดาของตัวละครนี้ได้อย่างน่าทึ่ง เป็นตอนที่มารีนาเดินเข้าไปในซาวนาเพื่อค้นหาตู้ล็อกเกอร์ของออร์ลันโด เนื่องจากซาวนาแบ่งแยกสัดส่วนชายกับหญิงอย่างชัดเจน เธอจึงเดินเข้าไปในฐานะผู้หญิงก่อน (พันผ้าเช็ดตัวปิดหน้าอก ปล่อยผมยาว) ก่อนจะลอบผ่านประตูเข้าไปยังส่วนของผู้ชายได้อย่างแนบเนียนโดยไม่มีใครกระโตกกระตาก (มัดผม เลื่อนผ้าเช็ดตัวลงมาพันรอบเอว) หนังแสดงให้เห็นว่ามารีนาไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างหญิงกับชาย ไม่ใช่ตัวประหลาดที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเป็นอะไรกันแน่ หากแต่เป็นทั้งหญิงและชายในคนเดียวกัน (หนึ่งในเกมที่เธอชื่นชอบคือชกมวย) เธอไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และเลลิโอก็ไม่เกรงกลัวที่จะสอดแทรกฉากเหนือจริงในสไตล์สัจนิยมมหัศจรรย์เข้ามาเพื่ออธิบายความรู้สึก หรือสภาพการณ์ของตัวละเอก เช่น แทร็กกิ้งช็อตมารีนาขณะเดินไปตามถนน ฝ่าสายลมที่กรรโชกแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเธอต้องโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อต้านทานแรงลมและไม่อาจก้าวเท้าต่อไปได้ หรือเมื่อการเต้นรำในผับเกย์ถูกเปลี่ยนเป็นฉากในหนังเพลง

มองโดยเปลือกนอกแล้วอาจกล่าวได้ว่า A Fantastic Woman สะท้อนประเด็นปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับ LGBT ผ่านการเรียกร้องพื้นที่และความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้นเมื่อมารีนา ซึ่งถูกกระทำมาตลอด ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้โดยชอบธรรม (ทวงคืนสุนัขที่ออร์ลันโดยกให้เธอจากครอบครัวทรานส์โฟเบียของเขา) คนดูจึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกสะใจ ฮึกเหิม มารีนาไม่เคยคิดเอาเปรียบครอบครัวของออร์ลันโด เธอยินดีคืนรถ คืนอพาร์ตเมนต์ของเขาโดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน นอกจากโอกาสที่จะได้บอกลาคนรักของเธอเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไปที่เพิ่งประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต ชัยชนะของเธอ ทั้งการได้บอกลาคนรักเป็นครั้งสุดท้ายและทวงคืนสุนัขของเขากลับมาได้ ถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย ไม่ได้ตอกย้ำ หรือฟูมฟาย บางทีสาเหตุอาจเป็นเพราะนั่นไม่ใช่ชัยชนะอันแท้จริงของมารีนา

ปมลึกลับเล็กๆ อย่างหนึ่งของหนังเกี่ยวข้องกับตั๋วเครื่องบินที่ออร์ลันโดซื้อให้มารีนา แต่เขาจำไม่ได้ว่าไปลืมทิ้งไว้ตรงไหน เมื่อมารีนาเจอพวงกุญแจบอกหมายเลข 181 ตกอยู่ในรถ เธอไม่รู้ว่ามันเป็นกุญแจอะไรและจะนำไปสู่ความลับใด แต่เธอก็เลือกจะเก็บไว้ด้วยคิดว่ามันอาจนำไปสู่การคลี่คลายบางอย่าง จนกระทั่งในช่วงท้ายเรื่อง ปมลึกลับนี้กลับมาดึงความสนใจจากคนดูอีกครั้งเมื่อเห็นลูกค้าในร้านอาหารมีกุญแจแบบเดียวกัน ทำให้มารีนาพลันตระหนักว่ากุญแจที่เธอเจอในรถนั้นใช้สำหรับไขตู้ล็อกเกอร์ในซาวนา หนังล่อหลอกคนดูให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังจะนำไปสู่การเฉลยปริศนาบางอย่าง จนกระทั่งมารีนาไขกุญแจตู้ล็อกเกอร์แล้วพบแต่ความว่างเปล่า ไม่มีคำตอบ ไม่มีตั๋วเครื่องบินที่หายไป เบาะแสชักนำเธอให้มาพบกับทางตัน

เช่นเดียวกัน ชัยชนะอันแท้จริงของมารีนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก นี่ไม่ใช่เรื่องราวของการเอาชนะกรอบอันคับแคบของสังคม แต่เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง แล้วโอบกอดยอมรับตัวตนที่ค้นพบโดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่าใครจะมองเราว่าเป็นตัวอะไร หลายครั้งหลายคราหนังจะแสดงให้เห็นภาพสะท้อนของมารีนาในกระจก โดยตัวอย่างสองช็อตที่จัดวางจังหวะได้อย่างงดงามเป็นตอนที่เธอเดินข้ามถนนแล้วหยุดมองตัวเองในบานกระจกบานใหญ่ ซึ่งคนงานสองคนกำลังช่วยกันแบกลงจากรถ และในช่วงท้ายเรื่องเมื่อเธอวางกระจกส่องหน้าไว้ตรงหว่างขา ปิดบังอวัยวะเพศพอดิบพอดี คนดูจะเห็นใบหน้าเธอสะท้อนอยู่ตรงจุดสำคัญ ก่อนหนังจะสรุปการเดินทางของมารีนาได้อย่างหมดจดด้วยฉากเธอก้าวขึ้นร้องโอเปราบนเวที มันให้อารมณ์ตรงข้ามกับฉากเปิดตัวเธอ (ร้องเพลงบนเวทีไนท์คลับ) อย่างสิ้นเชิง ดุจดอกไม้ที่เพิ่งผลิบานเต็มที่ หรือดักแด้ซึ่งค่อยๆ แทรกตัวออกจากรังในรูปของผีเสื้อหลากสีสัน

Handsome Devil: คุณค่าแห่งปัจเจกภาพ


ตอนที่หนังเรื่อง Moonlight เข้าฉาย ผมบังเอิญไปอ่านเจอความเห็นของนักดูหนังชาวไทยคนหนึ่งที่บอกว่าหนังดูไม่ค่อย สมจริงเท่าไหร่ตรงที่ไชรอนถูกกลุ่มนักเลงล้อว่าเป็นตุ๊ด ทั้งที่ตัวละครในเรื่องไม่ได้ออกอาการกระตุ้งกระติ้งมากพอจะถูกกล่าวหาเช่นนั้น ถ้าเจ้าของความเห็นดังกล่าวได้มาชม Handsome Devil สุดท้ายเขาจะเข้าใจว่า ตุ๊ดไม่ใช่คำด่า/ล้อที่ใช้กับตุ๊ด/เกย์จริงๆ เท่านั้น แต่ยังถูกใช้เหมารวมไปยังคนที่ไม่อยู่ในกรอบ มาตรฐานความเป็นชายอีกด้วย เช่น คนไหนไม่ชอบเล่นกีฬา = ตุ๊ด คนไหนชอบดูละครเพลง = ตุ๊ด ซึ่งในบางกรณีคนเหล่านั้นอาจเป็นเกย์จริง แต่ก็ไม่เสมอไป ดังจะเห็นได้ว่าตัวละครเอกใน Billy Elliot ก็ถูกล้อว่าเป็นตุ๊ดเช่นกันทั้งที่ไม่ได้เป็นเกย์เพียงเพราะเขาเลือกเต้นบัลเล่ต์แทนการชกมวย บุคลิกกระตุ้งกระติ้งไม่ใช่ภาคบังคับของการถูกล้อด้วยคำว่าตุ๊ด ก็เหมือนที่ เน็ด (ฟีออน โอเชีย) อธิบายผ่านเสียงวอยซ์โอเวอร์ในช่วงต้นเรื่อง เกย์หมายถึงห่วยแตก ทุเรศ หรือไม่ก็แตกต่าง และความกลัวว่าตัวเองไม่เหมือนใครแผ่ปกคลุมไปทั่วโรงเรียนของเรา

เช่นเดียวกับไชรอน เน็ดตกเป็นเหยื่อโอชะของกลุ่มนักเลงเพียงเพราะเขา แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียนประจำชายล้วนที่หมกมุ่นอยู่กับกีฬารักบี้ รูปร่างที่ผอมแห้งกับหัวสีแดง เมื่อผนวกเข้ากับบุคลิกเรียบร้อย รักเสียงเพลง และไม่สู้คนยิ่งทำให้เขาโดนหมายหัวมาแต่ไกล ความจริงแล้วเน็ดไม่ได้เกลียดรักบี้ แต่มันแค่ไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งนั่นถือเป็นข้อห้ามร้ายแรงของโรงเรียนแห่งนี้

ในช่วงต้นเรื่อง เน็ดเปรียบโรงเรียนวู้ดฮิลว่ามีสภาพไม่ต่างจากคุก อาจไม่ใช่ในแง่รูปธรรมเสียทีเดียว (เพราะมันดูจะไม่แตกต่างจากโรงเรียนเอกชนสำหรับชนชั้นกลางระดับสูงสักเท่าไหร่) แต่เป็นในแง่นามธรรมตรงที่ทุกคนถูกบังคับให้ต้องทำอะไรเหมือนๆ กัน ไปจนถึงขั้นชอบอะไรเหมือนๆ กันด้วย เช่น การต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อไปเข้าห้องซ้อมเชียร์ก่อนการแข่งรักบี้ในรอบชิงชนะเลิศ สำหรับ วู้ดฮิล คอลเลจ ถ้วยแชมป์รักบี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญเหนือการศึกษา จึงไม่แปลกที่เด็กหนุ่มผู้รักเสียงเพลงอย่างเน็ดจะรู้สึกโดดเดี่ยว และพยายามเรียกร้องความสนใจด้วยการคัดลอกเนื้อเพลงมาส่งแทนเรียงความในวิชาภาษาอังกฤษ แต่อาจารย์แก่หง่อม ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ใดๆ เกี่ยวกับนักเรียนตัวเอง หรือความเป็นไปในโลกปัจจุบันกลับดูไม่ออกและให้เกรดเอเขา จากที่เริ่มต้นด้วยการเป็นมุกตลกประชดประชันกลับกลายเป็นความขมขื่น เมื่อเน็ดตระหนักว่าไม่มีใครรู้จักเพลงที่เขาชื่นชอบ และที่สำคัญดูเหมือนจะไม่มีใครแคร์มันด้วยซ้ำ

จนกระทั่งการมาถึงของคุณครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ แดน เชอร์รี (แอนดรูว์ สก็อตต์) ซึ่งไม่เพียงจะเก็ทมุกตลกของเน็ดเท่านั้น แต่ยังรู้สึกขุ่นเคืองอีกด้วย ไม่ใช่เพราะเด็กหนุ่มลอกผลงานของคนอื่นมาส่ง แต่เพราะเขาไม่เห็นความสำคัญของการเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเธอเสแสร้งเป็นคนอื่น แล้วใครจะเป็นเธอเขาตะโกนถามโดยไม่ได้เจาะจงแค่เน็ดเท่านั้น แต่ยังเหมารวมถึงเด็กทุกคนในชั้นเรียน และบางทีอาจเป็นคำถามสำหรับตัวเขาเองด้วย

น่าตลกตรงที่เน็ดไม่เคยเสแสร้งเป็นคนอื่น เขาเปิดเผยตัวตนชัดเจนว่าแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในโรงเรียน เขาไม่เคยแสดงความสนใจที่จะไปเชียร์กีฬา เขาติดโปสเตอร์อัลบั้มของวง Suede ไว้หราบนผนัง แม้ว่ามันจะยิ่งเข้าทางพวกนักเลง เขาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่มีความสุขกับโรงเรียนที่มองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาสนใจ หรือหลงใหล และใฝ่ฝันอยากจะหนีออกจากเรือนจำแห่งนี้ไปให้ไกล ตรงกันข้ามกับ คอเนอร์ (นิโคลัส กาลิทไซน์) เด็กใหม่ที่กลายมาเป็นดาวเด่นในทีมรักบี้ ซึ่งพยายามปกปิดรสนิยมทางเพศของตัวเองด้วยการใช้กำลัง ตลอดจนพรสวรรค์ทางกีฬาเพื่อหวังว่าจะสามารถกลมกลืนกับคนส่วนใหญ่ได้อย่างราบรื่น เขาพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ใช่ตุ๊ดด้วยการโชว์แมน ไล่กระทืบทุกคนที่พูดความจริง ก่อนจะย้ายโรงเรียนหนีเมื่อพบว่าตนไม่อาจปิดบังความลับไปได้ตลอด

ถ้ามองผ่านเลนส์ LGBT อาจกล่าวได้ว่าความคลั่งไคล้กีฬารักบี้ใน วู้ดฮิล คอลเลจ ก็คงไม่ต่างจากมาตรฐานของรักต่างเพศในสังคมโลก ซึ่งครอบงำ บงการความคิดทุกคนมาหลายชั่วอายุคนว่านี่เท่านั้นคือความ ปกติ นี่เท่านั้นคือครรลองที่ควรเป็น และใครก็ตามที่ไม่เข้าพวกจะถูกกีดกันให้เป็นคนนอก ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกระทั่งบีบให้ต้องปกปิดตัวเองเพื่อจะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด

เด็กผู้ชายบางคนก็ไม่เล่นรักบี้ เคยคิดถึงพวกเขาบ้างไหมเชอร์รีถามครูใหญ่ วอลเตอร์ (ไมเคิล แม็คเอลฮัตตัน) อย่างเหลืออด โดยคำถามดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเป็น เด็กผู้ชายบางคนก็ไม่ชอบผู้หญิงได้ไม่ยาก นี่เป็นคำถามที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปยังตัวละครวอลเตอร์เท่านั้น แต่ยังอาจมีนัยเหมารวมถึงคนดูรักต่างเพศอีกจำนวนมากด้วย เพราะความยากลำบากในชีวิตที่กลุ่ม LGBT ต้องเผชิญหาได้เกิดขึ้นจากภัยคุกคามในรูปอคติเด่นชัดอย่าง วีเซล (รอรี โอคอนเนอร์) และ ปาสคัล (โม ดันฟอร์ด) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมืดบอด ไม่ตระหนัก หรือสนใจจะให้พื้นที่กับความแตกต่างอย่างวอลเตอร์อีกด้วย บรรดาคนที่อ้างว่าไม่ได้รังเกียจ หรือดูถูกรักร่วมเพศ แต่ก็เห็นชอบให้มันถูกเก็บซ่อนอย่างมิดชิด อย่าได้เสนอหน้า หรือกู่ก้องตะโกนร้องหาสิทธิความเท่าเทียมใดๆ

Handsome Devil เชิดชูการเปิดเผยตัวเอง (coming out) เลิกที่จะใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เลิกที่จะวิ่งหนีความจริง ซึ่งไม่ใช่วิกฤติสำหรับเกย์วัยรุ่นอย่างคอเนอร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเกย์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วมากมายอย่างเชอร์รีด้วย เขาสั่งสอนคอเนอร์ว่าพอโตขึ้นแล้วทุกอย่างก็จะ ดีขึ้นเอง ซึ่งก็เป็นจริงในแง่ที่ว่าเราเริ่มเรียนรู้ที่จะไม่ใส่ใจคำพูด หรือการกระทำของคนบางคนมากเท่าตอนยังเป็นวัยรุ่นที่อ่อนไหวต่อความกดดันของสังคม แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ถูกผลักให้ต้องกลับเข้าตู้ (closet) อีกครั้ง ให้ต้องโกหก ให้เก็บทุกอย่างเป็นความลับ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรีเพียงเพื่อรักษาอาชีพการงาน พลางปลอบประโลมตัวเองว่าต้องจำทนเพราะมันเป็น สัจธรรมอันน่าเศร้าของชีวิตแน่นอนคำสอนของเชอร์รีในชั้นเรียนเกี่ยวกับการเลิกเสแสร้งเป็นคนอื่นได้ตามกลับมาหลอกหลอน สะท้อนให้เห็นความย้อนแย้งของสิ่งที่เขาพยายามเสนอแนะให้คอเนอร์ทำในช่วงท้ายเรื่อง แล้วครูไปถึงจุดนั้นหรือยังคอเนอร์ตอกกลับเชอร์รีอย่างเจ็บแสบเมื่อฝ่ายหลังบอกว่าพอเขาโตขึ้นกว่านี้เขาก็จะไม่ต้องโกหกอีกต่อไป

ในกรณีของคอเนอร์ วิกฤติของเขาหนักหนาสาหัสเป็นสองเท่าเพราะเขาเป็นนักกีฬารักบี้ ซึ่งคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายเทสโทสเตอโรนหลายเท่าเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทกระโดดน้ำ หรือวอลเลย์บอล เขาต้องก้าวข้ามอคติเกี่ยวกับเกย์ (อ่อนแอ หรือมีความเป็นหญิงมากกว่าชายทั่วไป) ในหมู่นักกีฬา ขณะเดียวกันก็ต้องก้าวข้ามอคติเกี่ยวกับนักกีฬาในหมู่เด็กเซ็นซิทีพแบบเน็ด (ไม่ค่อยฉลาด ชอบใช้กำลัง และขาดความอ่อนไหวทางอารมณ์) ดูเหมือนไม่ว่าจะมองไปทางไหนเขาก็ต้องพบเจอแต่กำแพงที่คอยขวางกั้นไม่ให้คนเข้าถึงกัน เหมือนสารพัดข้าวของและโต๊ะตู้ที่เน็ดจัดแจงนำมากั้นห้องเพื่อแบ่งเป็นสัดส่วนทันทีที่พบว่าเพื่อนร่วมห้องคนใหม่ของเขาเป็นนักรักบี้ดาวเด่น เขาด่วนตัดสินคอเนอร์แบบเดียวกับที่วีเซลด่วนตัดสินเขาว่าเป็นเกย์เพียงเพราะชอบฟังเพลงและไม่สนใจกีฬา

แต่กำแพงสร้างขึ้นได้ก็ถูกพังลงได้ หากเราเรียนรู้ที่จะเปิดใจเข้าหากัน ดังจะเห็นได้จากมิตรภาพระหว่างคอเนอร์กับเน็ดซึ่งเบ่งบานท่ามกลางความแตกต่างทางบุคลิก โดยทั้งสองมีจุดร่วมของความเป็นคนนอกเหมือนๆ กัน และความรักในเสียงเพลง มิตรภาพดังกล่าวทำให้คอเนอร์เลิกที่จะวิ่งหนี แล้วกล้าพอจะลุกขึ้นมาเผชิญหน้าความจริง กล้าพอจะเป็นตัวของตัวเองในตอนนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอ 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การที่หนังไม่ได้จำกัดรสนิยมทางเพศของเน็ดให้แน่ชัด แล้วโฟกัสไปยังมิตรภาพแทนการพัฒนาไปสู่อารมณ์โรแมนติก (เข้าใจได้ว่าเขาคงเป็นชายรักหญิงเพราะไม่มีจุดไหนของหนังที่บ่งชี้เป็นอื่น) ทำให้ประเด็นเนื้อหาของ Handsome Devil สื่อนัยยะไกลและกว้างกว่าการเป็นหนังเกย์ coming out ทั่วไป (ขณะเดียวกันกลุ่ม LGBT ก็อาจมองว่านี่เป็นหนึ่งในหนังที่พยายาม พาสเจอร์ไรซ์รักร่วมเพศสำหรับตลาดกระแสหลักไปพร้อมๆ กันจากการที่มันปราศจากแม้กระทั่งฉากจูบ และหลายครั้งก็แทนคำว่า เกย์ด้วยคำว่า “the thing” ราวกับจะพาเราย้อนไปสู่ยุคของความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม) นั่นคือ การเฉลิมฉลองปัจเจกภาพ ความแตกต่าง พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของการเดินตามรอยกันไม่ต่างจากฝูงแกะที่ถูกต้อนไปทุกทิศทางตามคำสั่ง สูญเสียเอกลักษณ์และตัวตนให้กับแรงกดดันทางสังคม

กีตาร์ของเน็ดเขียนประโยคว่า เครื่องมือนี้ใช้ฆ่าอำนาจนิยมและจุดมุ่งหมายของอำนาจนิยมคือล้างสมองให้ทุกคนคิดคล้ายกัน ปฏิบัติตัวตามกัน เพราะมันง่ายต่อการควบคุม บงการ แต่แนวคิดดังกล่าวได้ทำลายแก่นอันงดงามของความเป็นมนุษย์ลงอย่างราบคาบ ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะของคอเนอร์ในห้องล็อกเกอร์จึงถือเป็นชัยชนะของพหุสังคมและการยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริงแบบที่สังคมสมัยใหม่ควรจะเป็น ส่วนเผด็จการอย่างปาสคัล (“ฉันทำให้ทีมถูกปรับแพ้ได้”) ก็ต้องล่าถอยในที่สุด มันเป็นฉากจบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและการมองโลกแง่ดี แม้ว่าในโลกแห่งความจริง ท่ามกลางกระแสโต้กลับของฝ่ายขวาผ่านชัยชนะของ Brexit และ โดนัลด์ ทรัมป์ เราจะเห็นได้ชัดว่าการต่อสู้ไปสู่บทสรุปดังกล่าวยังมีหนทางอีกยาวไกล

The Beguiled: ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ


ใครก็ตามที่เคยชม The Beguiled ฉบับ ดอน ซีเกล เมื่อปี 1971 ย่อมตระหนักดีว่าถึงแม้พล็อตโดยรวมจะมีลักษณะคล้ายหนังตระกูล ผู้หญิงล้างแค้นผู้ชายเจ้าชู้แต่มันกลับไม่ได้สร้างความรู้สึกฮึกเหิมในหมู่เพศหญิง หรือเจืออารมณ์ของสตรีนิยมในสไตล์ The First Wives Club (เหล่าเมียหลวงร่วมกันวางแผนแก้เผ็ดสามีที่หนีไปมีเมียน้อย) สักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม หนังดูจะพุ่งเป้าไปยังการสะท้อนความหวาดกลัวของเพศชายมากกว่าในสไตล์ Fatal Attraction เกี่ยวกับสามีที่แอบคบชู้ มีเพศสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืนกับผู้หญิงผิดคนและโดนเธอตามเอาคืนอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับหญิงอย่าง โซเฟีย คอปโปลา จะสนใจดัดแปลงเรื่องราวดังกล่าว โดยบิดผันมานำเสนอผ่านมุมมองของเพศหญิงแทน ลดทอนอารมณ์เขย่าขวัญลงและเพิ่มสัมผัสนุ่มนวล ตลอดจนความรุ่มรวยอารมณ์ขัน

โครงเรื่องหลักๆ ของหนังยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งระหว่าง The Beguiled สองฉบับอยู่ตรงวิธีนำเสนอตัวละครครูใหญ่ ซึ่งในเวอร์ชั่นใหม่รับบทโดย นิโคล คิดแมน ส่วนในเวอร์ชั่นเก่ารับบทโดย เจอรัลดีน เพจ คุณมาร์ธาฉบับซีเกลเปิดไพ่ในมือให้คนดูรับทราบตั้งแต่ฉากแรกผ่านเสียงวอยซ์โอเวอร์ ขณะสั่งเด็กนักเรียนให้มาช่วยกันยกร่างของนายทหารหนุ่มแยงกี้ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างสู้รบในสงครามกลางเมือง “ถ้าสงครามยังดำเนินต่อไปแบบนี้ ฉันคงลืมว่าตัวเองเคยเป็นผู้หญิง” เสียงความคิดเธอดังขึ้น บ่งบอกชัดเจนถึงอารมณ์สั่นไหวจากการได้ใกล้ชิดกับเพศชาย หลังจากห่างหายไปนาน นอกจากนี้เธอยังมีลักษณะคุกคามที่ชัดเจนกว่าจากบุคลิกดุดัน ไม่ค่อยเป็นมิตร จนถึงขั้นชวนให้สะพรึงจากภาพย้อนอดีตที่แวบเข้ามาเพื่อบอกกล่าวให้คนดูทราบว่าเธอแอบมีสัมพันธ์ทางเพศกับพี่ชายตนเอง ที่สำคัญหนังบ่งบอกชัดเจนว่าเธอปรารถนาในตัวนายทหารหนุ่ม อยากให้เขามาทำหน้าที่แทนพี่ชายเธอทั้งในเรื่องบนเตียงและในการดูแลเรือกสวนไร่นา เธอเป็นคนปลดล็อกห้องนอน/ห้องขังของนายทหาร และเฝ้ารอเขาอย่างกระสับกระส่ายในค่ำคืนแห่งชะตากรรมนั้นไม่แตกต่างจากเอ็ดวีนา

เปรียบไปแล้วคอปโปลา (รวมถึงคิดแมน) เป็นนักเล่นโป๊กเกอร์ที่เหนือชั้นกว่า เธอตัดเสียงวอยซ์โอเวอร์ซึ่งเฉลยความนึกคิดของตัวละครออกจนหมด เช่นเดียวกับซับพล็อตการสมสู่ร่วมสายโลหิต คุณมาร์ธาของคอปโปลายากที่จะอ่านใจกว่ามาก แน่นอนเธอโหยหาสัมผัสแห่งเพศชาย รวมไปถึงร่างกายกำยำที่จะช่วยแบกรับภาระในเรือกสวนไร่นาได้ดีกว่าเหล่าเด็กนักเรียนหญิง แต่ขณะเดียวกันเธอก็ไม่เคยปล่อยปละให้ความต้องการภายในเอาชนะมารยาท หรือการถูกอบรมสั่งสอนให้เป็นกุลสตรีแห่งแดนใต้ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของโรงเรียนเธอ หนังไม่มีฉากใดที่บ่งบอกชัดแจ้งว่าเธอหื่นกระหายในตัวนายทหารหนุ่ม ฉะนั้นข้อกล่าวหาของแม็คเบอร์นีย์ว่าเธอจงใจตัดขาเขาเพื่อเป็นการแก้แค้นที่เขาไม่ยอมเข้าไปหาเธอในห้องจึงขาดน้ำหนักอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นของซีเกล

รายละเอียดหลายอย่างที่คอปโปลาตัดออกทำให้คนดูไม่อาจแน่ใจได้ว่าที่คุณมาร์ธาตัดสินใจเลื่อยขาแม็คเบอร์นีย์เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะช่วยชีวิตนายทหารหนุ่มจริงๆ หรือส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการลงโทษเขา ในเวอร์ชั่นของซีเกล เห็นได้ชัดว่าชื่อหนังมีความหมายทั้งสองด้าน กลุ่มผู้หญิงในโรงเรียนหลายรุ่นหลากอายุถูกแม็คเบอร์นีย์ “ล่อลวง” ให้หลงเสน่ห์ เขาสร้างภาพว่าตัวเองเป็นนายทหารกล้าผู้เสียสละ ไม่ทอดทิ้งเพื่อน แต่ภาพแฟลชแบ็คกลับสะท้อนข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำพูดของเขาอย่างชัดเจน (คอปโปลาเลือกจะตัดภาพแฟลชแบ็คออกทั้งหมด) นี่ยังไม่รวมถึงคำปลิ้นปล้อนที่เขาใช้กล่อมสาวๆ หล่อเลี้ยงความหวัง เพื่อพวกเธอจะได้ไม่ส่งตัวเขาให้กับทหารของฝ่ายใต้ แต่พร้อมๆ กันนั้นภาพลักษณ์ของโรงเรียนสตรีล้วน เต็มไปด้วยสาวสวยหลากวัยก็ ล่อลวง” ให้นายทหารหนุ่มเชื่อว่าตนเองเจอขุมทรัพย์ ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น เพราะไม่เพียงจะมีคนคอยดูแล เอาใจใส่ ประคบประหงมเท่านั้น แต่ยังอาจจะได้บำรุงบำเรอแรงกระหายทางเพศที่อัดอั้นมานานในช่วงสงครามอีกด้วย (หนังของซีเกลมีการแทรกภาพแฟนตาซีเพศชายเข้ามาในรูปของเซ็กซ์หมู่/เลสเบี้ยนในระหว่างช่วงที่แม็คเบอร์นีย์ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าห้องใครดี และฉากหนึ่งคนดูจะเห็นนายทหารชาวใต้กระหายอยากจะขอพักค้างคืนที่โรงเรียนด้วยความหวังว่าอาจ โชคดี”) แต่การณ์กลับปรากฏว่าสวรรค์ที่เขาฝันใฝ่กำลังจะกลายเป็นนรกภายในชั่วเวลาแค่ไม่กี่วัน จากการตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียว

นอกจากทอนความแรงในตัวคุณมาร์ธาลงแล้ว คอปโปลายังค่อนข้างผ่อนมือในการสะท้อนแง่มุมชั่วร้ายของแม็คเบอร์นีย์ด้วย (ต่างจากซีเกลซึ่งเปิดเผยความต่ำตมของตัวละครตั้งแต่ฉากแรก เมื่อเขาบอกกับเด็กสาววัย 12 ปีว่าเธอแก่พอจะจูบผู้ชายแล้ว พร้อมกับก้มลงขโมยจูบเธอ ในขณะที่เวอร์ชั่นคอปโปลา ความสัมพันธ์ระหว่างเอมีกับแม็คเบอร์นีย์ปราศจากนัยยะทางเพศชัดเจน) จริงอยู่เขาอาจโปรยคำหวานกรอกหูสาวๆ เพราะรู้ว่านั่นเป็นสิ่งที่พวกเธอต้องการจะได้ยิน แต่ก็ไม่ใช่การตอแหลซึ่งๆ หน้าเหมือนในเวอร์ชั่นเดิม ซึ่งใช้ภาพแฟลชแบ็คเปิดโปงเนื้อแท้ของตัวละครหนุ่มหล่อแบบทันควัน พร้อมกันนั้นคอปโปลายังเลือกจะลดความโจ่งแจ้งในสัมพันธภาพระหว่างทหารหนุ่มกับสาวร่านแรกรุ่นประจำโรงเรียนอย่าง อลิเซีย (แอล แฟนนิงให้เหลือเพียงการแอบขโมยจูบ การทิ้งสายตาชะม้อยชะม้าย ไม่ได้ออกตัวแรงชนิดเหยียบจนมิดคันเร่งดุจนางอิจฉาในละครหลังข่าวเหมือน แครอล (โจ แอนน์ แฮร์ริสในเวอร์ชั่นเก่า ซึ่งทำให้ฉากค้นพบความจริงของเอ็ดวีนาสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้รุนแรงกว่า อย่างไรก็ตาม คอปโปลาไม่ปิดบังที่จะเปิดเผยด้านที่ไม่ได้น่าชื่นชมสักเท่าไหร่ของตัวละครเช่นกัน เมื่อนายทหารหนุ่มชาวไอริชยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาเข้าร่วมสงครามเพราะเงิน ไม่ใช่เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ใดๆ

ผลลัพธ์จากทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นทำให้ The Beguiled ของคอปโปลาเต็มไปด้วยตัวละครสีเทาๆ ผู้ชายไม่ได้ปลิ้นปล้อน เลวร้ายสุดขั้ว ผู้หญิงไม่ได้เจ้าคิดเจ้าแค้น หรือเข้าขั้นวิปริต แต่ทุกคนต่างลงมือทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น ส่วนหายนะที่ตามมาหาได้เกิดจากความจงใจ แต่เป็นโชคชะตาอันพลิกผันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเรื่องราวถูกนำเสนอผ่านมุมมองผู้กำกับหญิง ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโรคจิตภายใต้รูปแบบหนังเขย่าขวัญเตือนใจเพศชายแบบในเวอร์ชั่นซีเกล หรือใน Play Misty for Me หนังเรื่องแรกที่ คลินต์ อีสตวู้ด กำกับและออกฉายในปีเดียวกับ The Beguiled ที่เขานำแสดง จะถูกตัดออกจนแทบไม่เหลือ ในมุมมองของคอปโปลาการวางแผนปรุงเห็ดพิษในตอนท้ายเป็นผลมาจากความกลัว ความต้องการเอาตัวรอดมากกว่าเพื่อแก้แค้น หรือเอาคืน

ไม่ใช่แค่ดัดแปลงเรื่องราว หรือรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครเท่านั้น คอปโปลายังตัดทอนมุมกล้องแทนสายตาของตัวละครชายในเวอร์ชั่นแรกออกจนหมดสิ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับภาพโป๊เปลือยของหน้าอกหน้าใจหญิงสาว ซึ่งถูกใส่เข้ามาในหนังของซีเกลเพียงเพื่อเอาใจกลุ่มคนดูหลัก จากนั้นก็จัดแจงเปลี่ยนการจ้องมองของเพศชายมาเป็นการจ้องมองของเพศหญิงด้วยการปล่อยให้กล้องโคลสอัพอย่างอ้อยอิ่งตามเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของแม็คเบอร์นีย์ ขณะคุณมาร์ธาค่อยๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเขา อันที่จริง อาจพูดได้ว่าคอปโปลาไม่สนใจที่จะพาคนดูเข้าไปลุ้นเอาใจช่วยตัวละครคนใดคนหนึ่ง แต่กันเราไว้ให้เป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ห่างๆ เมื่อหนังแทบจะปราศจากฉากโคลสอัพใบหน้า หรือดนตรีเร้าอารมณ์ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่หนังเวอร์ชั่นเก่าหยิบมาใช้แบบไม่เพลามือ

The Beguiled ของคอปโปลาให้ความรู้สึกบางเบา นุ่มนวล เหมือนนิทานที่สอดแทรกแง่มุมอัปลักษณ์ของมนุษย์เอาไว้ภายใน ไม่ได้เผ็ดร้อน รุนแรงในลักษณะเดียวกับหนังของซีเกล ซึ่งก้าวไปสัมผัสประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากสงครามระหว่างเพศ คอปโปลาถูกวิจารณ์อย่างหนักด้วยข้อหา “ฟอกขาว” จากการที่เธอเลือกตัดตัวละครทาสหญิงผิวดำออก แล้วรวบรัดประเด็นค้าทาสที่สอดแทรกไว้ในเวอร์ชั่นเก่าผ่านคำอธิบายสั้นๆ แค่ว่า “พวกทาสหนีไปกันหมดแล้ว” เธอบอกว่าเธอไม่อยากพูดถึงประเด็นหนักหน่วงอย่างฉาบฉวยและขณะเดียวกันก็ต้องการให้เหล่าตัวละครหญิงในเรื่องถูกทอดทิ้งให้ต้องกัดฟันสู้ชีวิตกันเองตามลำพัง การตัดสินใจดังกล่าวทำให้เธอต้องตัดฉากหนึ่งที่น่าสนใจจากหนังเวอร์ชั่นเก่า เมื่อทาสหญิงผิวดำ (เม เมอร์เซอร์ตั้งข้อสังเกตว่าพวกทหารก็ไม่ต่างอะไรกับทาส แม็คเบอร์นีย์ ซึ่งวางมาดสูงส่งในฐานะทหารฝ่ายเหนือที่จะมาช่วยปลดปล่อยทาสให้ได้รับอิสรภาพตอบว่า “ฉันไม่เคยเป็นทาสใคร” แต่คำอ้างของเขาถูกตอกกลับอย่างเจ็บแสบ แปลว่าคุณยินดีออกไปวิ่งหนีกระสุนเพราะชอบที่จะโดนไล่ยิงอย่างนั้นเหรอ” ฉากดังกล่าวปอกเปลือกความเป็นชายในช่วงสงครามได้อย่างโจ่งแจ้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าแม็คเบอร์นีย์ ซึ่งเย่อหยิ่งและจองหอง หาได้มีสิทธิ์ควบคุมชะตากรรมของตนเองมากไปกว่าทาสทางตอนใต้สักเท่าไหร่

ถึงที่สุดแล้วคอปโปลาไม่ได้สนใจที่จะกะเทาะเปลือกเพศชาย หรือการเมืองเรื่องเชื้อชาติ สีผิว แต่กลับพุ่งเป้าไปยังความโหยหา หื่นกระหายของเพศหญิงภายใต้กรอบของสังคมที่สั่งสอน บีบรัด (ไม่ต่างจากชุดคอร์เซ็ตที่พวกเธอต้องสวมใส่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันให้ต้องเก็บกดไว้ข้างในด้วยข้ออ้างของความเป็นกุลสตรี เช่นเดียวกับโรงแรมหรูใน Lost in Translation กับ Somewhere พระราชวังใน Marie Antoinette  หรือย่านชานเมืองใน The Virgin Suicides กับ The Bling Ring ตัวละครผู้หญิงของคอปโปลามักติดกับอยู่ในโลกที่แปลกแยก โดดเดี่ยว ซึ่งฉกฉวยผลประโยชน์จากคุณ แต่ไม่เห็นคุณค่า หรือเข้าใจคุณอย่างแท้จริง สถานที่เหล่านั้นกลายเป็นทั้งแหล่งหลบภัยและกรงขังในเวลาเดียวกัน

โรงเรียนสตรีใน The Beguiled ถูกล้อมรอบด้วยโลกแห่งชายเป็นใหญ่ ซึ่งนำเสนอผ่านเสียงปืนและระเบิดที่ดังแว่วมาเป็นพักๆ เหล่าครูและนักเรียนต้องใช้ชีวิตจำเจอยู่กับบทเรียน งานบ้าน ตลอดจนกิจวัตรซ้ำซาก มีอยู่สองสามครั้งที่คนดูจะเห็นตัวละครหยิบกล้องส่องทางไกลมาสำรวจสภาพโดยรอบ ราวกับเพื่อจะค้นหาบางอย่างที่น่าสนใจ แต่กลับพบเห็นเพียงทิวทัศน์เดิมๆ ของหมู่ไม้และม่านหมอก แรงปรารถนาที่จะหลบหนีจากสภาพน่าเบื่อหน่ายงอกเงย รกชัฏไม่ต่างจากวัชพืชและพุ่มไม้รอบบ้านที่ปราศจากการดูแลรักษา การปรากฏตัวขึ้นของนายทหารหนุ่มหล่อในแวบแรกดูเหมือนจะช่วยตอบโจทย์ เป็นทางออกต่อสภาพอันน่าเวทนาในปัจจุบันโดยเฉพาะกรณีของเอ็ดวีนา ซึ่งนั่นทำให้เธอตกเป็นเหยื่อที่ถูกล่อลวงได้อย่างง่ายดาย แต่สุดท้ายสวรรค์กลับเป็นเพียงภาพฝันลมๆ แล้งๆ และในที่สุดหนังปิดฉากลงด้วยการที่เหล่าสาวน้อยสาวใหญ่ในโรงเรียนต้องหวนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่เพศชายถูกกันไว้ให้อยู่นอกรั้ว


หนังแห่งความประทับใจ


Call Me by Your Name พังทลายทางอารมณ์อย่างแท้จริง เป็นหนังที่ดัดแปลงนิยายได้งดงาม เลือกตอนจบได้ลงตัว เจือความหวังเอาไว้จางๆ เพราะสุดท้ายเอลิโอยังอยู่ในวัยเยาว์ แม้ตอนนี้เขาจะปวดร้าว แต่ก็สามารถมองไปข้างหน้าแล้ววาดฝันความเป็นไปได้มากมาย ขณะที่ในนิยายเหตุการณ์ดำเนินต่อไปอีกสิบกว่าปี โดยที่บาดแผลไม่เคยจางหาย ส่วนชีวิตและหัวใจซึ่งเราได้รับมอบมาเพียงหนึ่งเดียวก็โดนบดขยี้จนแทบไม่เหลือซาก

Elle ถ้าหนังมาเข้าฉายในช่วงนี้ มันคงตกเป็นเป้าโจมตีอย่างไม่ต้องสงสัย เหล่าผู้อ้างตัวว่าเป็นเฟมินิสต์และหน่วยลาดตระเวน PC จะพากันรุมทึ้งการนำเสนอเหยื่อข่มขืนว่ามีท่าที “เอ็นจอย” เซ็กซ์กับความรุนแรง พวกเขาจะไม่ตลกไปกับอารมณ์ขันร้ายๆ ของ พอล เวอร์โฮเวน รวมถึงความพยายามตีแผ่ก้นบึ้งแห่งจิตใจมนุษย์ ซึ่งไม่เหลือพื้นที่สำหรับความถูกต้องทางการเมืองใดๆ

Manchester by the Sea บางครั้งมนุษย์ก็อ่อนแอเกินกว่าจะลุกขึ้นยืนแล้วก้าวข้ามความผิดพลาดในชีวิต เราทำได้เท่าที่ศักยภาพเอื้ออำนวย แล้วจำทนอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบนั้น

Moonlight ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย เต็มไปด้วยอคติ ความเกลียดชัง และมาตรฐานอันไม่เป็นธรรม ยังมีมุมเล็กๆ สำหรับความรัก ความเข้าอกเข้าใจให้ค้นพบ หากคุณกล้าพอจะเปิดรับมัน

Wind River เป็นหนังเพื่อความบันเทิงที่ฉลาดเล่าเรื่อง เร้าอารมณ์คนดูได้ถูกจังหวะและเปี่ยมประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งน้ำหนักทางด้านประเด็นเนื้อหา  

นักแสดงชาย

เคซีย์ อัฟเฟล็ก (Manchester by the Sea) ที่สุดของความหมดอาลัยตายอยาก

เจมส์ บอลด์วิน (I Am Not Your Negro) นอกจากเป็นนักเขียนชั้นยอดแล้ว เขายังเป็นนักพูดที่ทั้งน่าฟัง ได้อารมณ์ฮึกเหิม และเฉียบคมในเวลาเดียวกัน ฉากที่เขาตอบโต้ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลระหว่างออกรายการโทรทัศน์จนหน้าหงายเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของสารคดีทั้งเรื่อง

ทิโมธี ชาลาเมต์ (Call Me by Your Name) เปิดหัวใจให้คนดูเข้าไปสัมผัส เลยไม่แปลกที่เราจะพลอยหัวใจสลายไปพร้อมกับตัวละครเมื่อถึงฉากสุดท้าย

ออสติน แอบรัมส์ (Brad’s Status) เหมือนน้ำชะโลมใจทุกครั้งที่ตัวละครพ่อ (เบน สติลเลอร์เริ่มลำไยจนน่ากระโดดถีบ รักษาสมดุลระหว่างความไร้เดียงสากับวุฒิภาวะที่เกินตัวได้อย่างน่าทึ่ง

อาร์มี แฮมเมอร์ (Call Me by Your Name) รูปปั้นกรีกก็มีหัวจิตหัวใจนะ

นักแสดงหญิง

อิสซาเบลล์ อูแปต์ (Elle) ความยอดเยี่ยมของอูแปต์อยู่ตรงเธอกล้าจะปกปิดคนดูไม่ให้เข้าถึงตัวละครได้อย่างถ่องแท้ เธออาจหยิบยื่นเบาะแสให้บ้าง แต่แนบเนียนจนแทบไม่สังเกตเห็น แล้วจากนั้นก็อาจทำอะไรที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง นี่ทำให้ตัวละครของเธอมีความเป็นมนุษย์มากๆ ยากจะหยั่งถึง และเป็นแง่มุมที่มักจะถูกมองข้าม เมื่อเทียบกับความกล้าแบบเถรตรง เช่น เมื่อเธอส่องกล้องดูเพื่อนบ้านสุดหล่อไปพร้อมกับช่วยตัวเอง อย่าว่าแต่ เอ็มมา สโตน เลย แบบนี้ เมอรีล สตรีพ ก็ยังทำไม่ได้

เคียสเตน ดันส์ (The Beguiled)  หมดสภาพนางเอกสไปเดอร์แมน แต่ฝีมือการแสดงยังเชื่อขนมกินได้ ประกายความหวังในแววตาเมื่อเธอสัมผัสได้ถึงชีวิตชีวาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีทำให้คนดูอดไม่ได้ที่จะรู้สึกสมเพชและเศร้าใจเมื่อเธอพบว่าทั้งหมดเป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ

ทิฟฟานีย์ แฮดดิช (Girls Trip) แค่ฉากสาธิตการใช้เกรปฟลุตเพื่อให้ผัวรักผัวหลงฉากเดียวก็ชนะเลิศ มันเล่นโดยไม่เผลอหลุดขำออกมาได้ไง เป็นความจังไรแบบไร้เทียมทานขนานแท้

ทาเทียนา มาสเลนีย์ (Stronger) คาดหวังว่าจะได้ดู เจค จิลเลนฮาล ปล่อยพลัง แต่เขาดันโดนโขมยซีนเฉย

คริสเตน สจ๊วต (Personal Shopper) หนังมันบ้าบอเหนือการคาดเดาขนาดนี้ (คำชมนางก็ยังสามารถทำให้คนดูเชื่อและเจ็บไปกับตัวละครได้อย่างเหลือเชื่อ รู้สึกเหมือน โอลิเวียร์ อัสซายาส สร้างหนังเรื่องนี้มาเพื่อจะเปิดโอกาสให้สจ๊วตได้ฉายแสงเต็มที่ สังเกตจากผลลัพธ์ต้องถือว่าทำสำเร็จตามเป้า

ความคิดเห็น

รู้สึกหดหู่อย่างมากกับกระแสล่าแม่มดในอเมริกา อ่านข่าวแต่ละวันแล้วนึกว่าอยู่เราในยุคแม็คคาธีย์ ใครที่ตั้งข้อสงสัย หรือเตือนสติกระแส Me Too และ Time’s Up ล้วนถูกจับเผาประจานในทวิตเตอร์และตาม โซเชียล มีเดีย จนสุดท้ายบางคนก็ต้องยอมจำนน แล้วออกมาขอโทษทั้งที่ไม่ได้พูดอะไรผิดเลย เช่น แม็ท เดมอน บางคนถูกเหมารวมไปกับ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เพียงเพราะเขาไม่ เซนส์ซิทีฟมากพอระหว่างออกเดทกับผู้หญิง เช่น อาซิซ แอนซารี แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการตามรังควานเหล่านักแสดงที่เคยร่วมงานกับ วู้ดดี้ อัลเลน เพื่อกดดันให้พวกเขาสำนึกผิดแล้วสาบานว่าจะไม่ทำงานร่วมกับปีศาจร้ายตนนี้อีก บ้างก็ยอมตามกระแสเพื่อรักษาโอกาสบนเวทีออสการ์ เช่น เกรตา เกอร์วิก บ้างก็มองเห็นความไร้สาระ แล้วยืนหยัดตามข้อเท็จจริง เช่น อเล็ก บอลด์วิน

เราไม่อาจรู้แน่ได้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน (อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีใครยอมรับว่าโกหก) แต่ข้อเท็จจริง คือ วู้ดดี้ อัลเลน ไม่เคยถูกตั้งข้อหาหลังจากถูกสอบสวนโดยทีมอิสระสองทีม นี่ไม่ใช่กรณีของผู้ชายทรงอิทธิพล ซึ่งพยายามจะหุบปากผู้หญิงที่สิ้นไร้ทางสู้เพราะขาดกำลังหรือกองหนุน มีอา ฟาร์โรว์ มีชื่อเสียงและเงินทองพร้อมสรรพ ทนายความของเธอเป็นทนายความระดับแถวหน้า แต่สุดท้ายขบวนการสอบสวนสรุปว่าไม่ปรากฏหลักฐานตามข้อกล่าวอ้าง หลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ตราหน้าความผิดของอัลเลน คือ การแต่งงานกับซุนยี ซึ่งสำหรับกลุ่มม็อบแค่นั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และการที่ทั้งสองยังคงอยู่กินมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่อาจลบล้างความรู้สึกเลวร้ายใดๆ ได้

บ้านตระกูลฟาร์โรว์ ยกเว้นเพียง โมเสส ฟาร์โรว์ ที่ออกมายืนอยู่ฝั่งอัลเลน มองเห็นความพยาบาทเป็นของหวานมาตลอด พวกเขาพยายามจะเอาผิดกับเหล่านักแสดงหลายคน แต่ไม่เป็นผล (เคท แบลนเช็ตต์ เคยโดนกดดัน แต่เธอเลือกยืนอยู่ตรงกลางความขัดแย้งโดยบอกว่า เราได้แต่คาดเดาส่วน สการ์เล็ต โจแฮนสัน เอนเอียงเข้าข้างอัลเลนด้วยการตำหนิความพยายามล่าแม่มดของ ดีแลน ฟาร์โรว์) กระแส Time’s Up กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับใช้ทำลายล้างอาชีพของอัลเลน เมื่อดาราหญิงหลายคนออกมายืนข้างฟาร์โรว์ ไม่ว่าจะเป็น นาตาลี พอร์ตแมน, รีส วิทเธอร์สพูน, รีเบคก้า ฮอลล์ หรือแม้กระทั่ง มีรา ซอร์วีโน ซึ่งได้ออสการ์จากหนังของอัลเลนและเคยชื่นชมเขาเอาไว้อย่างสวยหรูในหนังสารคดี คนพวกนี้ไม่เคยได้ยินข้อกล่าวหาของฟาร์โรว์มาก่อนจะร่วมงานกับ วู้ดดี้ อัลเลน เลย? ตลอด 25 ปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏหลักฐานใหม่ใดๆ นอกจากข้อเขียนของ ดีแลน ฟาร์โรว์ เมื่อสี่ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้ยับยั้งใครไม่ให้มาเล่นหนังอัลเลน หรือแสดงความเสียใจที่เคยเล่นหนังของอัลเลน แต่พอมาวันนี้ หลังจาก ทิโมธี ชาลาเมต์ กระโดดลงเรือหนีตายตามไปอีกคน ดูเหมือนว่า A Rainy Day in New York อาจกลายเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของอัลเลน บางคนถึงกับบอกว่า อเมซอนอาจไม่จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในโรงด้วยซ้ำ หลังจาก Wonder Wheel ถูกฝังกลบจนไม่เหลือซาก

เรามาถึงยุคที่ข้อกล่าวหาเทียบเท่ากับบทพิสูจน์ความผิดกันแล้วหรือ อย่างน้อยในยุคแม็คคาธีย์ก็ยังมีการไต่สวน วู้ดดี้ อัลเลน แตกต่างจาก ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน และ บิล คอสบี เพราะนอกจากกรณีฟาร์โรว์แล้ว ยังไม่มีใครเคยกล่าวหาเขาในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศอีกเลย น่าสนใจดีที่ มีอา ฟาร์โรว์ ประณามอัลเลน แต่กลับเลือกจะปกป้อง โรมัน โปลันสกี้ ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ขณะเดียวกันนักแสดงที่ร่วมงานกับโปลันสกี้ก็ไม่เห็นจะถูกตามล้างตามเช็ดแบบเดียวกับนักแสดงในหนังของอัลเลน... แต่อย่างว่าแหละ ที่นี่มันฮอลลีวู้ด

Oscar 2018: สัตว์ประหลาด การเมือง และความหลากหลาย


สองสิ่งที่รับประกันได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในงานออสการ์ปีนี้ เชื่อขนมกินได้ไม่ต่างจากโอกาสคว้ารางวัลหนังอนิเมชั่นยอดเยี่ยมของ Coco คือ ประเด็น MeToo จะต้องถูกยกมาพูดถึง เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ประกาศรางวัลหนังยอดเยี่ยมผิดเรื่องเมื่อปีก่อน โดยในกรณีหลัง พิธีกร จิมมี คิมเมล แอบกัดตั้งแต่ช่วงต้นงานว่าใครที่ได้ยินชื่อตัวเองเป็นผู้ชนะ อย่าเพิ่งรีบลุกจากที่นั่ง ขอให้นั่งรอสักพักก่อนเพื่อความแน่ใจ (จากนั้นกล้องก็ตัดไปยังปฏิกิริยาของ เอ็มมา สโตน ทำหน้าเจ็บใจเล็กๆ) จากนั้นไม่พอในช่วงต่อมาเมื่อคิมเมลรำลึกถึงการจัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งแรก เขาบอกว่าปีนั้นหนังยอดเยี่ยมมีสองเรื่องด้วยกัน… เหมือนกับปีก่อน ก่อนกล้องจะตัดไปยังภาพโปรดิวเซอร์ La La Land จอร์แดน โฮโรวิทซ์ ยิ้มเจื่อนๆ ให้กับมุกดังกล่าว

นอกเหนือไปจากการพูดถึง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ในช่วงเปิดงาน มุกตลกเกี่ยวกับถ้วยรางวัลออสการ์ว่าเขาเป็นผู้ชายแบบที่เราอยากให้มีเยอะขึ้นในเมืองนี้ (“มือเขาไว้ในจุดที่เรามองเห็น ไม่เคยพูดคำหยาบ และที่สำคัญสุด ไม่มีกระจู๋) และมุกตลกที่แฝงความจริงอันเจ็บปวด (“ถ้าเราทำสำเร็จ จับมือร่วมกันหยุดยั้งการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานได้ ผู้หญิงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศแค่ในสถานที่อื่นๆ ที่พวกเธออยู่”) ประเด็น MeToo ได้รับการเน้นย้ำให้โดดเด่นขึ้น ด้วยน้ำเสียงที่จริงจังขึ้น เมื่อสามสาวที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด (แอชลีย์ จัดด์แอนนาเบลลา ชีออร์รา และ ซัลมา ฮาเย็คออกมาพูดแนะนำคลิปเพื่อโปรโมต/ผลักดันฮอลลีวู้ดให้เปิดรับความหลากหลาย โดยโฟกัสไปยังผลงานสำคัญๆ ของปีนี้อย่าง Lady Bird, Mudbound, The Big Sick, Get Out และ A Fantastic Woman ซึ่งนำเสนอ “เสียงแปลกใหม่” ให้กับวงการภาพยนตร์ คลิปดังกล่าวถือเป็นความตั้งใจดี แต่ค่อนข้างแข็งทื่อในการกระตุ้นวงการภาพยนตร์ให้นำเสนอมุมมองของชนกลุ่มน้อย (คนต่างชาติ/คนผิวดำ/ผู้หญิง/รักร่วมเพศ) คนที่ช่วยเพิ่มสีสันและลดทอน ความยิ่งใหญ่แต่ในเวลาเดียวกันก็พูดเข้าเป้ามากที่สุดจนเรียกเสียงปรบมือจากคนดูได้อย่างถ้วนทั่ว คือ คูเมล นานจีอานี (The Big Sick) โดยเขาบอกว่าหนังหลายเรื่องที่เขาชอบเป็นหนังเกี่ยวกับผู้ชายรักต่างเพศผิวขาว สร้างโดยผู้ชายรักต่างเพศผิวขาว แต่ตอนนี้พวกผู้ชายรักต่างเพศผิวขาวจะได้ทำแบบเดียวกันบ้าง (ดูหนังที่พวกเขาไม่ใช่ตัวละครเอก) “มันไม่ยากเลย เพราะผมทำมาตลอดชีวิตก่อนจะสรุปตบท้ายว่า มีหนังมากมายที่นำเสนอมุมมองที่แตกต่างแล้วทำเงินมหาศาล อย่าทำ (สร้างหนังเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย) เพียงเพราะมันเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่จงทำเพราะมันจะทำให้คุณร่ำรวย

กระแสเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันของผู้หญิงและคนผิวดำเป็นธีมหลักของงานปีนี้ จนแทบจะกลบจุดมุ่งหมายดั้งเดิมของงานออสการ์ นั่นคือ เฉลิมฉลองศิลปะแห่งภาพยนตร์ คิมเมลพูดถึงความสำเร็จของ Wonder Woman และ Black Panther ว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งและเหลือเชื่อ “เพราะผมจำได้ดีถึงยุคสมัยที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่ไม่เชื่อว่าผู้หญิง หรือชนกลุ่มน้อยจะสามารถเป็นตัวเอกในหนังซูเปอร์ฮีโร เหตุผลที่ผมจำได้ดีเพราะมันคือมีนาคมปีก่อนนี้เอง ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ เรียกร้องให้ผู้หญิงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงลุกขึ้นยืนพร้อมกัน (“เมอรีล ถ้าคุณทำ ทุกคนจะทำตาม”) เรียกร้องให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์หันมาฟังเสียงของผู้หญิง นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงให้มากขึ้น (“เรามีเรื่องจะเล่า มีโครงการที่อยากได้เงินทุนสนับสนุน เชิญเราไปที่ห้องทำงานคุณ หรือคุณจะมาหาเรา แบบไหนก็ได้แล้วแต่คุณสะดวก เราจะเล่าถึงโครงการพวกนั้นให้คุณฟัง”) ก่อนจะตบท้ายด้วยการพูดถึง “inclusion rider” ซึ่งหมายถึงข้อกำหนดที่นักแสดงสามารถระบุไว้ในสัญญาได้ว่าจำนวนนักแสดงและทีมงานในกองถ่ายจะต้องมีความหลากหลาย (คนผิวสี/ผู้หญิงถึงจุดที่กำหนดไว้ เช่น 50% เป็นต้น หรือตรงตามท้องเรื่องและสภาพความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน

นอกจากนี้ช่วงเวลาแห่งการแสดงจุดยืนทางการเมืองยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัวว่าเขาเป็น “ผู้อพยพ” ของ กิลเลอร์โม เดล โทโร ตอนขึ้นรับรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม หรือเนื้อร้องของ คอมมอน ตอนขึ้นแสดงเพลง Stand Up for Something (จากหนังเรื่อง Marshall) กับ แอนดรา เดย์ โดยมีนักต่อสู้ทางสังคม การเมืองที่โดดเด่น 10คนมายืนร่วมบนเวที รวมถึงเด็กชายวัย 8 ขวบชาวซีเรียที่โด่งดังจากทวิตเตอร์ บานา อลาเบด หรือตอนที่ โคบี ไบรอันท์ ก้าวขึ้นรับรางวัลหนังอนิเมชันขนาดสั้น (Dear Basketball) แล้วตอบโต้พิธีกรช่อง ฟ็อกซ์ นิวส์ ลอรา อินเกรแฮม ที่เคยบอกให้นักบาสเกตบอล เลอบรอน เจมส์ “หุบปากแล้วเล่นบาสไป” แทนการออกมาวิจารณ์ประธานาธิบดี หรือตอนที่ คริสเตน แอนเดอร์สัน-โลเปซ ขึ้นรับรางวัลเพลงประกอบ (Remember Me จากหนังเรื่อง Coco) แล้วพูดว่าผู้เข้าชิงในสาขาเธอไม่เพียงจะเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของชาย-หญิงแบบ 50-50 อีกด้วย และเธอตั้งตารอวันที่ “ทุกสาขาจะเป็นแบบเดียวกัน

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วถึงกรณีประเด็น OscarSoWhite การเรียกร้องให้ออสการ์นำเสนอความหลากหลายอาจเป็นการต่อสู้ที่ไม่ค่อยตรงจุด เพราะออสการ์เป็นแค่ภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวม ตราบใดที่วงการหนังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและคนกลุ่มน้อย เช่น คนผิวสี รักร่วมเพศ คนเอเชียเข้ามามีสุ้มมีเสียงมากขึ้น มีผลงานมากขึ้น มีคนทำงานมากขึ้น ออสการ์ก็จะเดินหน้าตามไปเอง แน่นอน การเปิดรับสมาชิกคนหนุ่มคนสาว คนผิวสี และผู้หญิงมากขึ้นอาจมีส่วนช่วยอยู่บ้าง (หนังอย่าง The Shape of Water คงยากจะคว้าชัยชนะมาครองหากเป็นเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อน) แต่ถ้าหนังส่วนใหญ่ยังคงผลิตโดยและนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ชายรักต่างเพศผิวขาว การเรียกร้องให้ออสการ์ทุกปีต้องมีปริมาณผู้เข้าชิงเป็นคนผิวดำ หรือผู้หญิงจำนวนเท่านั้นเท่านี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของ โควต้าและไม่ยุติธรรมกับศิลปินที่ผลิตผลงานสักเท่าไหร่ เพราะถึงยังไงสุนทรียะทางภาพยนตร์ควรเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าหนังเรื่องใด หรือคนทำงานคนใดควรได้รับรางวัล หรือถูกเสนอชื่อเข้าชิง

เช่นเดียวกับงานลูกโลกทองคำก่อนหน้า (เอ็มมา สโตน ถึงขนาดลอกมุกเดียวกับ นาตาลี พอร์ตแมน มาใช้ตอนออกมาประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมภาพรวมของงานออสการ์ปีนี้เต็มไปด้วยท่าทีเคร่งขรึม จริงจังจนเกินไปในความพยายามจะแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง ส่งผลให้บรรยากาศค่อนข้างจืดชืด ขาดพลังดารา ความโฉ่งฉ่าง ฟู่ฟ่า ความขำขันบ้าๆ บอๆ แบบที่เราสามารถคาดหวังได้จากออสการ์ปีก่อนๆ แถมผลรางวัลตามโผก็ยิ่งซ้ำเติมความน่าเบื่อเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น โดยหนึ่งในหลักฐานชัดเจน คือ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สาขานักแสดง 4 สาขาบนเวที SAG, BAFTA, ลูกโลกทองคำ, Critics’ Choice และออสการ์ออกมาตรงกันหมด เรียกได้ว่าไม่ต้องเหลืออะไรให้ลุ้นให้เซอร์ไพรส์กันอีกต่อไปแล้ว

สาขาเดียวที่อาจเรียกได้ว่าพลิกโผเล็กๆ คือ การคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมของ จอร์แดน พีล (Get Out) เพราะก่อนหน้านี้ มาร์ติน แม็คโดนาห์ (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri) ดูเหมือนจะมีภาษีดีกว่าเล็กน้อย เนื่องจากผลงานเขียนบทของพีลต้องเผชิญกับอคติทางด้านตระกูลหนัง แต่สุดท้ายแล้วความต้องการที่จะมอบรางวัลให้กับคนผิวสี หรือมอบรางวัลหนึ่งรางวัลใดให้กับ Get Out (ซึ่งไม่ใช่เต็งหนึ่งหรือเต็งสองในสาขาหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยม) ของเหล่ากรรมการได้ช่วยผลักดันให้พีลคว้าชัยชนะไปครองในที่สุด ท่ามกลางความพึงพอใจของทุกคนในงาน ดังจะเห็นได้จากการลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างพร้อมเพรียง

การเมือง นอกเหนือจากความนิยมชมชอบ กิลเลอร์โม เดล โทโร อย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงานในฮอลลีวู้ดแล้ว อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ The Shape of Water ได้รับชัยชนะ เพราะมันเป็นหนังที่นำเสนอชนกลุ่มน้อยเอาไว้อย่างครบถ้วน ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ ผู้หญิง (ตัวเอกหรือรักร่วมเพศ (ตัวละครสมทบชาย) ผ่านเนื้อเรื่องซึ่งสะท้อนการเฉลิมฉลองความแตกต่างอย่างชัดเจน นี่จึงเป็นหนังที่ไม่ “คุกคาม” ใครเหมือนกับ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นที่รักของเหล่าคนผิวสีมากนัก รวมไปถึงเหล่าตำรวจคลั่ง PC ที่เติบโตมาพร้อมกับปมความรู้สึกผิดของชนผิวขาว พวกเขาอึดอัดคับข้องใจเมื่อตำรวจที่เหยียดสีผิว ชื่นชอบความรุนแรง สามารถกลับตัวกลับใจจนกลายมาเป็น “วีรบุรุษได้ในตอนท้าย การโหวตให้หนังอย่าง The Shape of Water สร้างความรู้สึกดีๆ ได้มากกว่า ทำให้พวกเขาไม่ตะขิดตะขวงใจเท่ากับการโหวตให้หนังอย่าง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ชัยชนะเหนืออคติทางตระกูลหนังของ Get Out และ The Shape of Water ช่วยเปิดประตูใหม่ๆ ให้กับนิยามของ หนังออสการ์แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมอยู่ คือ หนังที่จะคว้ารางวัลสูงสุดมาครองได้จำเป็นต้องบอกกล่าว “ประเด็นสำคัญ” บางอย่างเกี่ยวกับสังคม ลำพังแค่ความยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะผลักดันมันให้คว้าชัยชนะ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Gravity จึงพ่ายให้กับ 12 Years a Slave ทำไม The Revenant จึงพ่ายให้กับ Spotlight และทำไม La La Land จึงพ่ายให้กับ Moonlight ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหนังอย่าง Lady Bird, Phantom Thread และ Call Me By Your Name ซึ่งเน้นศึกษาตัวละครมากกว่าจะนำเสนอ “ประเด็น” ทางสังคมอย่างโจ่งแจ้ง (รวมไปถึง Dunkirk ซึ่งเน้นหนักในการสร้างประสบการณ์ทางภาพยนตร์มากกว่าจะนำเสนอประเด็น) จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหนังอย่าง Get Out, The Shape of Water, Three Billboards Outside Ebbing, Missouri หรือกระทั่ง The Post 

อีกหนึ่งธรรมเนียมที่ยังคงดำเนินต่อไป คือ ถ้าคุณเป็นนักแสดงแล้วอยากได้รางวัลออสการ์ จงเดินหน้าเล่นหนังเกี่ยวกับคนจริงในประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของ แกรี โอลด์แมน และ อัลลิสัน แจนนีย์ จริงอยู่ บารมีที่ต่างสะสมกันไว้เนิ่นนานอาจมีส่วนช่วยผลักดันให้พวกเขาเอาชนะเหนือคู่แข่ง แต่ความจริงที่ต้องยอมรับ กรรมการออสการ์มักจะให้แต้มต่อการเลียนแบบเหนือการสร้างตัวละครขึ้นใหม่ พิสูจน์ให้เห็นปีแล้วปีเล่า ตั้งแต่ เรย์ ชาร์ลส์ จนถึง ทรูแมน คาโปตีอีดี อามินพระเจ้าจอร์จที่ 6อับราฮัม ลินคอล์นสตีเวน ฮอว์คิง และ วินสตัน เชอร์ชิล 

รางวัลออสการ์ถูกกระจายไปอย่างทั่วถึง โดยในบรรดาหนังยอดเยี่ยม 9 เรื่อง มีเพียง The Post และ Lady Bird ที่ต้องกลับบ้านมือเปล่า แต่ เกรต้า เกอร์วิก ยังมีโอกาสอีกมากมายในอนาคต ตราบใดที่เธอยังคงเดินหน้าผลิตผลงานคุณภาพต่อไป ไม่เชื่อก็ดูตัวอย่างได้จาก เจมส์ ไอวอรี ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 3 ครั้งในฐานะผู้กำกับ (A Room with a View, Howards End, The Remains of the Day) ก่อนจะประสบความสำเร็จในที่สุดจากรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม หรือ โรเจอร์ ดีกินส์ ที่คว้าออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งแรก หลังจากเคยสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซอย่าง The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford และ The Man Who Wasn’t There แต่กลับชวดรางวัลทุกครั้งไป

แง่มุมการเมืองยังตามมาหลอกหลอนงานออสการ์จนถึงเช้าวันจันทร์ เมื่อปรากฏว่าเรตติ้งของงานตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยสามารถดึงคนดูได้เฉลี่ย 26.5 ล้าน หล่นลงจากปีก่อน (33 ล้านถึง 20% และทำลายสถิติต่ำสุดก่อนหน้าเมื่อปี 2008 ตอนที่ จอน สจ๊วต เป็นพิธีกรและ No Country for Old Men คว้าหนังเยี่ยมไปครอง ซึ่งมีคนดูราว 32 ล้าน แน่นอน สาเหตุหนึ่ง นอกเหนือจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค (จากการถือกำเนิดของเน็ตฟลิกซ์คือ หนังที่เข้าชิงเป็นหนังฟอร์มเล็กที่ไม่ค่อยมีคนดูอย่าง Call Me by Your Name ซึ่ง จิมมี คิมเมล ก็อุตส่าห์โยงไปเข้ากับการเมืองในงานว่า “เราไม่ได้สร้างหนังอย่าง Call Me by Your Name เพื่อหวังเงิน แต่เพื่อยั่วโมโห (รองประธานาธิบดีที่มีแนวคิดเหยียดรักร่วมเพศไมค์ เพนซ์ ต่างหาก

กลุ่มคนที่เริงร่ามากสุดเมื่อเห็นเรตติ้งรายการออสการ์ ซึ่งเปรียบเสมือนงานเฉลิมฉลองของเหล่าลิเบอรัล/เดโมแครต คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมหัวเอียงขวาทั้งหลายนำโดย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทวีตว่า “งานออสการ์ที่เรตติ้งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ปัญหาคือสมัยนี้หาดาราไม่ได้อีกแล้ว ยกเว้นประธานาธิบดีคุณ (ล้อเล่นน่ะ)จิมมี คิมเมล ได้ตอบกลับด้วยการทวีตว่า “ขอบใจที่บอก ประธานาธิบดีที่ได้เรตติ้งต่ำสุดในประวัติศาสตร์

เชื่อแน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนส่วนใหญ่น่าจะจดจำงานออสการ์ปีนี้ได้จากแง่มุมการเมือง (MeToo, Inclusion Rider, Diversity) มากกว่าหนังที่คว้ารางวัลสูงสุดไปครอง


Best of the Best

* คู่หูประกาศรางวัลที่เรียกเสียงฮาได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น มายา รูดอล์ฟ กับ ทิฟฟานีย์ แฮดดิช ถึงขนาดหลายคนเรียกร้องให้พวกเธอมารับจ็อบเป็นพิธีกรคู่สไตล์เดียวกับ ทีนา เฟย์ กับ เอมี โพห์เลอร์ ทั้งสองเริ่มต้นด้วยการเดินเท้าเปล่าออกมาบนเวที บ่นเรื่องรองเท้าส้นเข็มที่ต้องทนทุกข์ใส่มาตั้งแต่งาน Critics’ Choice Awards จนนิ้วก้อยเท้าหลุด ก่อนจะตบท้ายด้วยการชมผลงานแสดงอันยอดเยี่ยมของอีกฝ่าย ทิฟฟานีย์ ขอบอกเลยว่าฉากที่คุณฉี่แตกกลางอากาศใน Girls Trip มันสุดยอดมากๆภรรยานักแสดงของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เริ่มก่อน จากนั้นดาวตลกหญิงผิวดำก็ชมเธอกลับว่า คุณพระช่วย มายา ตอนคุณขี้แตกกลางถนนใน Bridesmaids มันเปลี่ยนชีวิตฉันเลย เป็นแรงบันดาลใจขั้นสุด

* การแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป ไม่เชื่อก็ดูตัวอย่างได้จากการออกมาประกาศรางวัลออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมของ คูเมล นานจีอานี และ ลูปิตา นียองโก (12 Years a Slave) ซึ่งเริ่มต้นด้วยการล้อเลียนชื่อตัวเองที่ออกเสียงยาก (“ความจริง คูเมล นานจีอานี เป็นชื่อในวงการ ชื่อปากีสถานจริงๆ ของผม คือ คริส ไพน์”) ก่อนจะระบุสถานะ ผู้อพยพของตัวเอง คนหนึ่งมีรากเหง้าจากเคนยา อีกคนมีรากเหง้าจากปากีสถานและไอโอวา สองจุดบนโลกที่คนในฮอลลีวู้ดหาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหนของแผนที่จากนั้นก็ตามมาด้วยบทพูดโจมตี (แบบอ้อมๆ) นโยบายกีดกัน นักฝันหรือ dreamer (ลูกหลานของผู้อพยพที่อยู่ในอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย) ของ โดนัลด์ ทรัมป์ความฝันเป็นรากฐานของฮอลลีวู้ด และเป็นรากฐานของอเมริกา

* หลังจากหายนะเมื่อปีก่อน สมาพันธ์ภาพยนตร์ได้เปลี่ยนแปลงขั้นตอนเพื่อป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์ จดหมายผิดซองเกิดขึ้นซ้ำสอง เช่น ผู้ประกาศทุกคนจะต้องเช็คให้ดีก่อนว่าได้ซองที่ถูกต้อง ห้ามนักบัญชีจากไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์เล่น โซเชียล มีเดีย ระหว่างงาน และที่สำคัญที่สุด คือ ซองประกาศผลพิมพ์ชื่อสาขาไว้โดดเด่นเห็นชัดชนิดแทบจะทิ่มตาคนดู

* แก๊กตลกที่น่ารักและได้ผลของ จิมมี คิมเมล คือ เมื่อเขาประกาศว่าผู้ชนะที่กล่าวขอบคุณสั้นสุดจะได้เจ็ทสกีเป็นของรางวัล จากนั้นแบบเดียวกับรายการเกมโชว์ The Price Is Right เจ็ท สกี ถูกนำขึ้นมาบนเวทีโดยมี เฮเลน เมียร์เรน ยืนคู่ตามสไตล์สาวพริตตี้ มันกลายเป็นแก๊กที่ถูกนำไปเล่นต่อโดยผู้ชนะหลายคน (โรเจอร์ ดีกินส์ “ผมคงต้องพูดอะไรสักหน่อย ไม่งั้นเดี๋ยวได้เจ็ทสกี”) แม้ว่าจะไม่ช่วยให้คนพูดขอบคุณสั้นลง แต่ก็ถูกนำมาใช้ปิดงานได้อย่างสนุกสนาน เมื่อ มาร์ค บริดเจส นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (Phantom Thread) ขี่เจ็ทสกีออกมาในฐานะคนที่กล่าวขอบคุณสั้นสุดโดยมีเมียร์เรนนั่งซ้อนท้าย

* ราวกับรู้สึกผิดที่ตัดช่วงแจกรางวัลออสการ์เกียรติยศออก งานปีนี้จึงเปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นลายครามหลายคนที่เคยได้ออสการ์ในอดีตมาทำหน้าที่ประกาศรางวัล และสองคนที่ทำงานได้เกินค่าตัว คือ อีวา มารี เซนต์ (On the Waterfront, North by Northwest) ที่มาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก (เธอเรียกเขา “เฟร็ด”)ก่อนจะประกาศรางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และ ริต้า มอรีโน เจ้าของ EGOT (เอ็มมี/แกรมมี/ออสการ์/โทนี) ที่มาประกาศรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมในชุดที่เธอเคยใส่ออกงานออสการ์เมื่อปี 1962 ตอนคว้ารางวัลสมทบหญิงมาจาก West Side Story (พวกเราส่วนใหญ่แทบจะใส่กางเกงยีนที่ซื้อมาเมื่อปีที่แล้วไม่ได้ด้วยซ้ำ) ในความพยายามจะดึงดูดกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ ออสการ์ไม่ควรละทิ้งประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะนั่นคือเสน่ห์หลักอย่างหนึ่งของงาน


Not So Great

* ช่วงเวลาพิลึกพิลั่นที่สุดในงาน คือ ตอนที่นักแสดง/อดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม เวส สตูดี (Dances with Wolves, The Last of the Mohicans) ออกมากล่าวแนะนำคลิปรวมหนัง (หนึ่งในหลายคลิปตลอดงาน) พร้อมกล่าวสดุดีให้กับกองทัพอเมริกาและหนังสงคราม อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่างานออสการ์มักจะชอบเสียเวลากับคลิปรวมหนังที่เยอะเกินและส่วนใหญ่ไม่ค่อยนำพาไปสู่อะไร (ถ้าอยากให้งานสั้นลงก็ควรจะลดเลิกสิ่งเหล่านี้ไปบ้าง) นี่ถือเป็นหนึ่งในคลิปที่ไม่จำเป็น และชวนให้นึกพิศวงว่าทำไมเราถึงต้องมาสนับสนุนกองทัพ หรือทหารในงานแจกรางวัลภาพยนตร์ มีสถานที่อื่นและโอกาสอื่นที่เหมาะสมกว่านั้นไหม การนั่งชมคลิปสั้นๆ จากหนังอย่าง Saving Private Ryan, Zero Dark Thirty, The Deer Hunter และ American Sniper ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังชื่นชม หรือสร้างความโรแมนติกให้กับสงคราม แม้ตัวหนังเต็มๆ เหล่านั้นอาจพูดถึงประเด็นดังกล่าวได้อย่างซับซ้อน หรือชวนให้ตั้งคำถามมากกว่าแค่บิวด์อารมณ์ฮึกเหิมแบบคลิปนี้ก็ตาม

* ไม่ต่างจากหนังภาคต่อ อะไรที่เราเคยเห็นมาก่อนแล้ว ย่อมไม่อาจสร้างความตื่นเต้นได้เท่ากับครั้งแรก เมื่อปีก่อน จิมมี คิมเมล พานักท่องเที่ยวมาร่วมงานบนเวที พอมาปีนี้เขาก็เล่นมุกเดิมโดยหักมุมนิดหน่อย ด้วยการพาเหล่าคนดัง (กัล กาโดตอาร์มี แฮมเมอร์มาร์โกต์ ร็อบบีกิลเลอร์โม เดล โทโรไปขัดจังหวะการชม A Wrinkle in Time แล้วแจกของกินให้บรรดาคนดูหนังในโรง จริงอยู่ ปืนยิงฮ็อทด็อกอาจดูน่าประทับใจ แต่ไม่ใช่มุกตลกฝืดๆ เกี่ยวกับกัญชา และเมื่อคิมเมลขอให้นักดูหนังคนหนึ่งช่วยอ่านชื่อดาราที่จะมาประกาศรางวัลถัดไป เขาดูประหม่าอย่างเห็นได้ชัด แถมยังอ่านชื่อ ทิฟฟานี แฮดดิช ผิดอีกด้วย... นี่คือราคาที่คุณต้องจ่ายเวลาด้นสดแบบไม่มีบท


For the Record

* The Shape of Water เป็นหนังสัตว์ประหลาดเรื่องแรกที่คว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ และเป็นหนังที่ชนะรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซเรื่องแรกที่ได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยม (ก่อนหน้านี้เรื่องที่เกือบจะทำได้สำเร็จ คือ Brokeback Mountain แต่ดันพลิกล็อกพ่ายให้กับ Crash อย่างคาดไม่ถึง)

* เจมส์ ไอวอรี กลายเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ที่อายุมากสุดในประวัติศาสตร์ หลังเขาก้าวขึ้นรับรางวัลบทดัดแปลงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Call Me by Your Name) ขณะอายุ 89 ปี ทำลายสถิติเดิมของ เอ็นนิโอ มอร์ริโคเน ซึ่งได้ออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (The Hateful Eight) ขณะอายุ 87 ปี

* จอร์แดน พีล เป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้ออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้มีเพียงสามคนที่เคยเข้าชิงสาขานี้ ได้แก่ ซูซานน์ เดอ พาส (Lady Sings the Blues) สไปค์ ลี (Do the Right Thing) และ จอห์น ซิงเกิลตัน (Boyz n the Hood) นอกจากนี้ Get Out ยังเป็นหนังสยองขวัญเรื่องแรกที่ชนะออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (ยกเว้นคุณจะมองว่ามันเป็นหนังตลกแบบกรรมการลูกโลกทองคำ)

* A Fantastic Woman ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของประเทศชิลีในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม หลังจากเคยเข้าชิงมาแล้วครั้งหนึ่งจาก No ของผู้กำกับ พาโบล ลาร์เรน (ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้) ที่สำคัญ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่หนังซึ่งมีตัวเอกเป็น LGBT คว้ารางวัลในสาขาหนังต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ All About My Mother ของ เปรโด อัลโมโดวาร์ มีตัวละครสมทบเป็น LGBT

* ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ในวัย 60 ปี กลายเป็นผู้หญิงอายุมากที่สุดลำดับ 9 ที่ได้ออสการ์นำหญิง เบียด จูลีแอนน์ มัวร์ จาก Still Alice ตกอันดับลงไป (เธออายุ 54 ตอนได้รางวัลส่วนเจ้าของสถิติยังคงเป็น เจสซิก้า แทนดี้ จาก Driving Miss Daisy ซึ่งได้รางวัลขณะอายุ 80 ปี แม็คดอร์มานด์กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 14 ที่ได้ออสการ์นำหญิงสองตัวหรือมากกว่า ตามหลัง แคทเธอรีน เฮปเบิร์นอินกริด เบิร์กแมนเบ็ตตี้ เดวิสโอลิเวียร์ เดอ ฮาวิลแลนด์แซลลี ฟิลด์เจน ฟอนด้าโจดี้ ฟอสเตอร์เกล็นดา แจ็คสันวิเวียน ลีห์หลุยส์ ไรเนอร์เมอรีล สตรีพฮิลารี สแวงค์ และ อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์

* กิลเลอร์โม เดล โทโร กลายเป็นผู้กำกับชาวละตินคนที่สามที่ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมตามหลัง อัลฟอนโซ กัวรอน (Gravity) และ อเลฮานโดร อินาร์ริตู (Birdman, The Revenant) พวกเขาคว้ารางวัลออสการ์สาขานี้มาครอง 4 จาก 5 ปีล่าสุด (คนเดียวที่โผล่มาแทรกกลางความยิ่งใหญ่แห่งเม็กซิโก คือ เดเมียน ชาเชลล์ จาก La La Land เมื่อปีก่อน) นอกจากนี้ เดล โทโร ยังกลายเป็นผู้กำกับคนที่ 5 ที่ได้รางวัลนี้หลังจากหนังของเขา (Pan’s Labyrinth) เคยเข้าชิงในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ตามหลังอินาร์ริตู (Amores Perros, Biutiful) มิลอส ฟอร์แมน (The Firemen’s Ball) โรมัน โปลันสกี (Knife in the Water) และ อังลี (The Wedding Banquet, Eat Drink Man Woman, Crouching Tiger, Hidden Dragon) โดยคนหลังสุดเป็นคนเดียวที่สามารถคว้าออสการ์มาครองได้ทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Brokeback Mountain, Life of Pi) และหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม (Crouching Tiger, Hidden Dragon)

* ชัยชนะของ Coco ทำให้พิกซาร์ครองรางวัลในสาขาหนังอนิเมชันยอดเยี่ยมเกิน 50% พวกเขาคว้ามาได้ทั้งหมด 9 ครั้งจาก 17 ครั้ง

* โคบี ไบรอันท์ เป็นนักกีฬาอาชีพคนแรกที่ได้ออสการ์ (จากภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง Dear Basketball)

* หลังเข้าชิงมา 13 ครั้งและชวดรางวัลทุกครั้ง ในที่สุด โรเจอร์ ดีกินส์ ก็โชคดีกับเขาสักทีในการเข้าชิงครั้งที่ 14 เขาคว้าออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมไปครองจาก Blade Runner 2049 ส่งผลให้สถิตินกสูงสุดในสาขานี้ตกเป็นของ จอร์จ เจ. ฟอลซีย์ (Meet Me in St. Louis, Seven Brides for Seven Brothers) แต่เพียงผู้เดียว เขาเข้าชิง13 ครั้งและไม่เคยชนะเลยสักครั้ง

* ชัยชนะครั้งที่สองของ โรเบิร์ต โลเปซ ในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากเพลง Remember Me ใน Coco (ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รางวัลจากเพลง Let It Go ใน Frozen) ทำให้เขากลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ดับเบิลรางวัล EGOT (เอ็มมี/แกรมมี/ออสการ์/โทนี) ขณะที่เพิ่งจะมีอายุเพียง 43 ปี ก่อนหน้านี้เขาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้ชนะ EGOT ที่อายุน้อยสุด (จากทั้งหมด 12 คน) และได้ครบทั้งสี่รางวัลภายในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด (10 ปี) โดยเขาได้โทนีสามรางวัลจากผลงานใน The Book of Mormon กับ Avenue Q ได้แกรมมีสามรางวัลจาก Let It Go กับ The Book of Mormon และได้เอ็มมีสองรางวัล (เดย์ไทม์) จาก The Wonder Pets

* วอร์เรน เบ็ตตี้ กับ เฟย์ ดันนาเวย์ (2016-2017: Moonlight-The Shape of Water) เป็นผู้ประกาศรางวัลหนังยอดเยี่ยมติดต่อกันสองปีเป็นคนที่ 4 ตามหลัง อีริค จอห์นสัน (1945-1946: The Lost Weekend- The Best Years of Our Lives) ประธานสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งอเมริกา ณ เวลานั้น, เจมส์ แค็กนีย์ (1949-1950: All the King’s Men-All About Eve) และ แจ็ค นิโคลสัน (1976-1977: Rocky-Annie Hall, 2005-2006: Crash-The Departed) นิโคลสันเป็นคนที่ได้ประกาศรางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์บ่อยสุด นั่นคือ 8 ครั้ง ล่าสุดคือปี 2012 เมื่อ Argo คว้าหนังยอดเยี่ยมไปครอง

* ฟรานเซล แม็คดอร์มานด์ ได้ออสการ์นำหญิงตัวแรกกับตัวที่สองห่างกัน 21 ปี ถือเป็นสถิติที่น่าประทับใจ แต่อาจไม่ใช่สถิติสูงสุด เนื่องจาก แคทเธอรีน เฮปเบิร์น เคยได้ออสการ์นำหญิงตัวแรกกับตัวที่สองห่างกัน 34 ปีจาก Morning Glory ถึง Guess Who’s Coming to Dinner ขณะที่ เมอรีล สตรีพ ได้นำหญิงตัวที่สองจาก The Iron Lady ห่างจาก Sophie’s Choice ทั้งหมด 29 ปี แต่ถ้านับรวมสาขาสมทบหญิงเข้าไปด้วย สถิติสูงสุดยังคงเป็น เฮเลน เฮย์ส ที่ได้นำหญิงจาก The Sins of Madelon Claudet ก่อนหน้าจะได้สมทบหญิงจาก Airport ในอีก 38 ปีต่อมา