วันจันทร์, เมษายน 11, 2559

Knight of Cups: กระทงหลงทาง


นอกจากความคล้ายคลึงกันในเชิงเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤติทางจิตวิญญาณของชายหนุ่มวัยกลางคน รวมถึงเทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างเดิมๆ แล้ว ดูเหมือนผลงานกำกับสามชิ้นหลังของ เทอร์เรนซ์ มาลิค ยังผสมความเป็นอัตชีวประวัติเอาไว้ค่อนข้างสูงอีกด้วย โดย Knight of Cups อาจเรียกได้ว่าเป็นภาคขยายของเรื่องราว ฌอน เพนน์ (ตัวแทนของมาลิค) ใน The Tree of Life ที่ปรากฏตัวให้เห็นบนจอไม่มากนักและปราศจากคำอธิบายถึงที่มาที่ไป ผู้ชมจะเห็นแค่ว่าเขาดูไม่มีความสุข ใช้ชีวิตล่องลอยไร้จุดหมาย โดยในผลงานชิ้นล่าสุด แจ๊คถูกเปลี่ยนชื่อเป็นริค (คริสเตียน เบล) ส่วนอาชีพเขาก็ถูกเปลี่ยนจากสถาปนิกมาเป็นนักเขียนบทในฮอลลีวู้ด ซึ่งยิ่งใกล้เคียงกับชีวิตจริงของมาลิคมากขึ้นอีก แต่ทั้งแจ๊คกับริคต่างมีพื้นเพเดียวกัน นั่นคือ มีพ่อที่เข้มงวด และน้องชายสองคน คนหนึ่งฆ่าตัวตาย ซึ่งนั่นกลายเป็นปมบาดหมางที่สร้างความเจ็บปวดยาวนาน

หลังจาก The Tree of Life เน้นถ่ายทอดชีวิตครอบครัวในวัยเด็ก To the Wonder ก็หันมาสำรวจชีวิตรักในวัยหนุ่มของมาลิค (ตามเครดิตชายหนุ่มชื่อนีล แต่ในหนังชื่อของเขาไม่ถูกเอ่ยถึงเลยสักครั้ง) โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เขาตกหลุมรักหญิงสาวในปารีส ก่อนทุกอย่างจะล่มสลายเมื่อทั้งสองย้ายกลับมายังอเมริกา มาลิคเป็นชายที่ลุ่มหลงความรัก ความโรแมนติก ดังจะเห็นได้ว่าเขาผ่านการแต่งงานมาทั้งหมดสามครั้ง และมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิงอีกหลายคน แง่มุมนี้สะท้อนชัดในตัวละครเอกของ Knight of Cups เช่นกัน ผู้หญิงสาวสวยผ่านเข้ามาในชีวิตของริคหลายคน แต่ไม่มีใครอยู่เคียงข้างเขาไปได้ตลอดรอดฝั่ง ในช่วงต้นเรื่องเสียงบรรยายของเดลลา (อีโมเจน พูตส์) หญิงสาวคนหนึ่งของริค บอกว่า คุณไม่ต้องการความรัก คุณต้องการประสบการณ์ของความรัก ซึ่งนั่นดูจะตรงกับคำนิยามของไพ่อัศวินถ้วยอย่างเหมาะเจาะ

เพราะไพ่อัศวินถ้วยถือเป็นไพ่อัศวินที่มี ความเป็นหญิง สูงสุดในบรรดาไพ่อัศวินทั้งหลาย สื่อความหมายว่าบุคคลนั้นมีเสน่ห์ดึงดูด แต่ขณะเดียวกันก็อาจหลงใหลในความรัก แล้วใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือชี้นำทางชีวิต ดังนั้นเขาจะเป็นคนที่เชื่อในหัวใจมากกว่าสมอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจ เขาจะทำตามที่ใจเรียกร้อง ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้มันยังเป็นไพ่ที่เชื่อมโยงกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการยึดติดอยู่กับแฟนตาซี หรือความโรแมนติกก็อาจทำให้คุณล่องลอยจากโลกแห่งความเป็นจริง และปฏิเสธการผูกมัด... ในฉากหนึ่ง แคเรน (เทเรซา พัลเมอร์) นักเต้นระบำเปลื้องผ้าชาวออสซีถามริคว่า คุณอาศัยอยู่ในโลกของจินตนาการใช่ไหม ซึ่งนั่นไม่เพียงสอดคล้องกับไพ่อัศวินถ้วย แต่ยังสะท้อนเรื่องเล่าของอัศวินในฉากเปิดของหนังอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ชื่อหนังเท่านั้นที่เชื่อมโยงไปยังไพ่ทาโรต์ แต่มาลิคยังแบ่งหนังเป็นบทตามไพ่ทาโรต์อีกด้วย ซึ่งมองเผินๆ อาจปราศจากความหมายเชื่อมโยงโดดเด่น เหมือนไวยากรณ์ภาพยนตร์ของมาลิคที่ดูกระจัดกระจาย ปราศจากระบบระเบียบ แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นความแม่นยำบางอย่าง เช่น ในบทฤาษี (The Hermit) หนังสะท้อนความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ฟู่ฟ่าของฮอลลีวู้ดผ่านฉากงานปาร์ตี้ในคฤหาสน์หลังโต ซึ่งเจ้าภาพ โทนีโอ (แอนโตนีโอ แบนเดอรัส) เปรียบเทียบผู้หญิงว่าเหมือนรสชาติไอศกรีม บางทีคุณก็อยากกินรสราสเบอร์รี แต่ผ่านไปสักพักก็อาจจะอยากกินรสสตรอว์เบอร์รีบ้าง เราจะเห็นภาพสระว่ายน้ำกว้างขวาง เพดานสูง เสาโรมัน สาวสวยไฮโซ คนดังในวงการ (หรือกำลังพยายามไต่เต้าบันไดดารา) เครื่องเพชร โคมระย้า น้ำแข็งแกะสลัก ผู้ชายถูกสวมปลอกคอจูงเป็นหมา ฯลฯ จากนั้นเสียงบรรยายช่วงหนึ่งของโจเซฟ (ไบรอัน เดนเนฮีย์) พ่อของริค ก็ดังขึ้นว่า หิวโหย ปรารถนาในสิ่งอื่น แต่ไม่รู้ว่าอะไรกันแน่

ประเด็นของซีแควนซ์นี้ดูจะสรุปเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนจากช็อตสุนัขที่พยายามจะงับลูกเทนนิสในสระน้ำ แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน มันก็ทำไม่สำเร็จ ไม่ต่างจากมนุษย์ที่ไล่ล่าหาความสุขจากวัตถุภายนอก จากเนื้อหนังมังสา เปลี่ยนผู้หญิงเหมือนเปลี่ยนรสชาติไอศกรีม แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ค้นพบความพอใจที่แท้จริง หลายครั้งกล้องจะพาคนดูเข้าไปลอบฟังบทสนทนาในบางช่วง แต่มันขาดหายเป็นห้วงๆ หรือจับแก่นสารไม่ได้ ราวกับหนังไม่เห็นความสำคัญของบทสนทนาเหล่านั้น เช่น เมื่อแขกผู้หญิงในงานพูดถึงยาทาเล็บสีชมพู ริคอาจแตกต่างจากโทนีโอตรงที่เขา ตระหนัก ความจอมปลอมเหล่านี้ แล้วมองสำรวจความฟุ้งเฟ้อด้วยท่าทีถอยห่าง เย็นชา เขาไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ไล่ล่า ไขว่คว้าสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่พวกโจรจะไม่พบทรัพย์สินมีค่าใดๆ ให้น่าขโมยเลยสักชิ้นในอพาร์ตเมนต์ของริค

โลกนี้เป็นเหมือนหนองบึง เราต้องโบยบินข้ามมันไป บินให้สูงจนทุกอย่างกลายเป็นจุดเล็กๆ โทนีโอพูดถึงปรัชญาการดำรงชีวิตของเขา ซึ่งช็อตหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวได้อย่างงดงาม คือ ภาพรถวิ่งในยามค่ำคืน แต่ถูกเร่งความเร็วจนแสงไฟหน้ารถ หรือบนท้องถนนกลายเป็นแค่จุดเรืองแสง... คำถามที่ตามมา คือ เรากำลังแข่งขัน วิ่งไล่กวดเพื่อกอบโกยสิ่งต่างๆ จนมืดบอดต่อสิ่งรอบข้าง หรือความสำคัญอันแท้จริงของชีวิตหรือไม่

ไพ่ฤาษีสื่อความหมายถึงความไม่ปรารถนาในชื่อเสียง เงินทอง มีอยู่สองสามครั้งที่คนดูจะเห็นเอเยนต์พยายามล่อลวงริคด้วยเงินก้อนโต หรือข้อเสนอที่จะได้ทำงานกับดาวตลกชื่อดัง แต่เขากลับไม่แสดงท่าทีสนใจแต่อย่างใด (“ห้าปีก่อนนายมาหาฉัน บอกว่าอยากเขียนบทหนังฟอร์มใหญ่ให้ฮอลลีวู้ด”) มาลิคก็เช่นเดียวกับริค เขาเริ่มต้นอาชีพในฮอลลีวู้ดด้วยการเป็นนักเขียนบท แต่ชื่อเสียง เงินทองดูจะไม่สามารถเติมเต็มชีวิตเขาได้ และขณะก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพการงานหลังความสำเร็จของ Days of Heaven (1978) ข้อเสนอมากมายก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา นายทำงานหนักเพื่อมาถึงจุดนี้ อากาศสดชื่นบนยอดเขา อิสรภาพ แล้วยังไง จะคลานกลับลงไปเพราะไม่ชอบความสูงงั้นเหรอ เฮิร์บ (ไมเคิล วินค็อต) กล่าวกับริค และนั่นล่ะคือสิ่งที่มาลิคทำ เขาคลานกลับลงไป เขาตัดสินใจหันหลังให้สตูดิโอฮอลลีวู้ด เงินก้อนโต โอกาสต่างๆ นานา หนีไปอยู่ปารีส แล้วเก็บตัวสันโดษอยู่นานสองทศวรรษ ก่อนจะหวนคืนสู่วงการอีกครั้งด้วยการกำกับ The Thin Red Line (1998)

การจำศีลเปรียบเหมือนช่วงเวลาของสำรวจจิตวิญญาณ ก่อนจะกลับมาในฐานะ คนใหม่ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพการงานก็ดูจะช่วยเติมเต็มเขาได้มากขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากความกระตือรือร้นสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีหลัง การทำหนังเป็นเหมือนขั้นตอนจิตบำบัดสำหรับมาลิค เมื่อพิจารณาว่าพวกมันมีความใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเขามากแค่ไหน (โดยเฉพาะสามเรื่องหลังนับจาก The New World) เขาค้นพบอิสรภาพที่แท้จริงจากการทำหนังในแบบที่เขาต้องการ ไม่ใช่ที่คนดู หรือสตูดิโอต้องการ นอกจากนี้เขายังปลดแอกจากหลักเกณฑ์การเล่าเรื่องของภาพยนตร์อีกด้วย บางคนอาจโจมตีมาลิคว่าขาดแคลนวินัย หรือความทุ่มเทที่จะเรียงร้อยแต่ละช็อต แต่ละเหตุการณ์ให้เป็นเหตุผล เป็นเรื่องราวที่ก้าวหน้า สามารถเข้าใจได้ และนำไปสู่จุดหมายชัดเจน (แน่นอนเขาไม่ได้ขาดทักษะพื้นฐานเสียทีเดียว ดูตัวอย่างได้จากหนังสองเรื่องแรกอย่าง Badlands และ Days of Heaven) แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างในหนังของมาลิคจะถูกใส่เข้ามาอย่างสุ่มเดา หรือปราศจากหลักเกณฑ์ เพียงแต่พวกมันเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ ไม่ใช่ในรูปของเส้นตรง แต่เป็นใยแมงมุม ซึ่งเต็มไปด้วยทางเลือกสำหรับการตีความหรือความเป็นไปได้อันหลากหลาย

Knight of Cups เป็นหนังที่พูดถึงการเดินทางภายในจิตใจ ขณะภาพบนจอตอกย้ำหลายครั้งด้วยฉากตัวละครนั่งอยู่บนรถที่กำลังวิ่ง หรือมองไปยังเครื่องบินบนท้องฟ้า หรือกระทั่งขบวนรถไฟในฉากหลัง หนังเปิดเรื่องด้วยการยกคำพูดจากบทเกริ่นของ The Pilgrim’s Progress อุปมานิทัศน์ (allegory) หรือนิทานชาดก เขียนโดย จอห์น บันยัน ซึ่งเล่าเรื่องราวในรูปของความฝันเกี่ยวกับการเดินทางสู่ สวรรค์ ของชายหนุ่มชื่อว่า คริสเตียน บนเส้นทางอันเต็มไปด้วยการล่อหลอกและบททดสอบให้พลัดหลง มัวเมา แต่ท่ามกลางความยากลำบาก เต็มไปด้วยกับดัก พระเจ้ายังคงเฝ้ามอง คอยช่วยเหลืออยู่ตลอด และขับเน้นพลังศรัทธาในตัวคริสเตียนให้เพิ่มทวีขึ้น

หลังจากปูโครงเรื่องคร่าวๆ ว่านี่น่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับการเดินทาง หรือการค้นหาเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว เสียงบรรยายของโจเซฟก็พูดถึงนิทานที่เขาเล่าให้ลูกชายฟังสมัยยังเด็ก เกี่ยวกับอัศวินที่เดินทางไปค้นหาไข่มุกจากทะเลลึกตามคำสั่งของบิดา แต่เมื่อเขาเดินทางไปถึงอียิปต์ ผู้คนได้รินน้ำใส่ถ้วยให้เขาดื่ม มันลบความทรงจำของเขาจนสิ้น เขาลืมว่าตนเป็นลูกชายกษัตริย์ ลืมเรื่องไข่มุก และตกสู่ห้วงนิทรา แต่พระราชาไม่ได้หลงลืมลูกชาย เขายังส่งข้อความ ผู้นำสานส์ และเบาะแสให้ลูกชายอย่างต่อเนื่อง กระนั้นเจ้าชายก็ยังไม่ตื่นจากการหลับใหล เรื่องราวดังกล่าวเป็นอีกด้านหนึ่งของ The Pilgrim’s Progress การเดินทางของคริสเตียนก็เปรียบได้กับภารกิจของอัศวิน ส่วนพระราชาก็ไม่ต่างจากพระเจ้าที่คอยส่งสัญญาณให้มนุษย์ได้ค้นพบเส้นทางกลับคืนสู่สวรรค์ ซึ่งในที่นี้คือไข่มุก ไม่กี่ช็อตถัดมาหลังจบเรื่องเล่า คนดูก็จะได้เห็นริคสะดุ้งตื่นจากเหตุแผ่นดินไหว แต่นั่นคงเป็นแค่ร่างกายเท่านั้น เพราะจิตวิญญาณของเขายังคงหลับใหลไม่ต่างจากอัศวิน

ลูกพ่อ เจ้าก็เหมือนพ่อ สับสนในชีวิต ไม่อาจเชื่อมต่อชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน... นักเดินทางบนโลก คนแปลกหน้า มนุษย์ที่แตกสลาย เสียงบรรยายของโจเซฟดังขึ้น ต่อด้วยเสียงบรรยายของริคว่า ผมก้าวผิดที่ตรงไหน จากนั้นหนังก็ตัดไปยังภาพใต้น้ำตามติดหญิงสาวที่กำลังก้าวขึ้นจากสระ ก่อนหนังจะเปิดตัวบทแรกด้วย The Moon ไพ่ซึ่งเป็นตัวแทนของค่ำคืน การหลับใหล และจิตใต้สำนึก น้ำดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่มาลิคใช้สำหรับอธิบายต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกจากภาพจำเกี่ยวกับสัตว์เซลล์เดียวในท้องทะเลตามสมมุติฐานของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นช็อตตัวละครเดินชายหาด เล่นน้ำทะเล เดินเล่นในสระซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งเพื่อตอกย้ำให้เห็นที่มาของมนุษย์ ขณะเดียวกันท้องฟ้า (อีกหนึ่งช็อตโปรดของมาลิค) ก็อาจเทียบได้กับสวรรค์ที่มนุษย์พยายามจะหวนกลับคืน ดังเช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับจิตวิญญาณปีกหักในหนังเรื่องนี้ หรือตำนานของอดัมกับอีฟ (ถูกขับไล่ลงจากสวรรค์เพราะขัดคำสั่งพระเจ้า) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังของมาลิคหลายครั้งทั้งทางตรงและทางอ้อมตั้งแต่ Days of Heaven มาจนถึง The Thin Red Line, The New World และ The Tree of Life

ดังเช่นจิตวิญญาณตกสวรรค์ ซึ่งจำต้องถือครองร่างของมนุษย์เดินดิน ทั้งที่โหยหาความงามเบื้องบนและปรารถนาจะโบยบิน แต่ไร้ปีก ริคสูญสิ้นความสนใจในโลกรอบข้าง ขณะที่คริสเตียนใน The Pilgrim’s Progress ต้องเผชิญการล่อลวงของปีศาจให้ออกนอกเส้นทาง แต่ชื่อเสียง เงินทอง กลับไม่ใช่กิเลสเย้ายวนสำหรับริค เขาก็เหมือนกับอัศวิน ทั้งสองไม่ตระหนักถึงภารกิจ หรือเส้นทางข้างหน้าด้วยซ้ำ ฉันควรจะไปทางไหน เสียงบรรยายของริคดังขึ้นในฉากหนึ่ง เขาไม่ตื่นเต้นกับข้อเสนอของเอเยนต์ ไม่ได้อิ่มเอม เปี่ยมสุขกับความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อรอบตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความจริงจำลอง เช่นเดียวกับโลกประดิษฐ์ในโรงถ่ายภาพยนตร์ที่แอลเอ หรือพีระมิดปลอม หอไอเฟลปลอม และกระทั่งท้องฟ้าปลอมที่ลาสเวกัส

ภาษาหนังของมาลิคสะท้อนภาวะข้างต้นของตัวละครเอกได้อย่างงดงาม ทั้งจากบทสนทนาที่ขาดห้วง ถูกกลบด้วยเสียงดนตรี เสียงประกอบรอบข้าง และจากกล้องที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งในระยะประชิดจนเกือบจะเหมือนบุกรุกความเป็นส่วนตัว แต่ในเวลาเดียวกันกลับไม่ใส่ใจตัวละคร เพราะหลายครั้งกล้องจะเบี่ยงเบนจากใบหน้าพวกเขาไปโฟกัสยังอากัปกิริยา หรือองค์ประกอบเจาะจง เช่น สเวตเตอร์ไหมพรมของอลิซาเบ็ธ (นาตาลี พอร์ตแมน) หรือเท้าเปลือยเปล่าของแนนซี (เคท แบลนเช็ตต์) นอกจากนั้น การออกแบบงานสร้าง รวมถึงภูมิทัศน์ ยังทำหน้าที่อธิบายตัวละครและสถานการณ์ของพวกเขาได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งภาพทะเลทรายเวิ้งว้าง แยกทิศทางไม่ออก ห้องร้างในอาคาร ซากบ้านโดนทุบทำลาย และอพาร์ตเมนต์แบบมินิมอลลิสม์ขนาดโจรยังต้องตัดพ้อ

ชีวิตจริงหาได้ยากยิ่ง มันอยู่ไหน จะค้นพบได้อย่างไร แคเรน หญิงสาวคนหนึ่งของริค เอื้อนเอ่ยในห้วงคำนึง หลังปล่อยตัวจมดิ่งอยู่กับโลกของการใช้เงินซื้อหาความสุขมาเนิ่นนาน ไม่ต่างจากผลงานสองชิ้นก่อนหน้า Knight of Cups ยังคงกรุ่นกลิ่นอายเข้มข้นของคริสตศาสนา มันพูดถึงการงัดข้อระหว่างวิถีแห่งธรรมชาติและวิถีแห่งพระเจ้า กิเลส ตัณหา เงินทอง ความสุขสบาย โรงแรมห้าดาว เหล่านี้เป็นเพียงสิ่งล่อใจให้คุณหักเหออกนอกวิถีของพระเจ้า และหนทางเดียวที่จะหวนคืนสู่สรวงสวรรค์ หรือค้นพบไข่มุกแห่งท้องทะเล คือ ยึดมั่นในศรัทธา (“แม้ฉันจะอยู่ในความมืดมิด ฉันก็เชื่อในแสงสว่าง”) ดังคำสอนของบาทหลวง (อาร์มิน มูลเลอร์-สตาห์ล) ที่ว่าความทุกข์หาใช่การลงโทษของพระเจ้า แต่เป็นของขวัญเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปนอกจากเราและความพยายามขวนขวายหาความสุขใส่ตัว เช่นเดียวกับ The Tree of Life มาลิคไม่เพียงย้ำเตือนผู้ชมถึงความงดงามของสิ่งสามัญรอบตัว แต่ยังสะท้อนให้เห็นความทุกข์ทรมานอีกด้วยจากภาพคนจรจัด คนไข้โรคผิวหนังของแนนซี ทั้งนี้เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์หลงทางอยู่ในจักรวาลแห่งตน กอบโกยความสุขจนลืมวิถีแห่งพระเจ้า ซึ่งนำทางโดย แสงสว่างในดวงตาของคนอื่น... บางทีการรื้อถอนไวยากรณ์ทางภาพยนตร์เพื่อปลุกเร้าความแปลกใหม่ ไม่คุ้นเคยอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการนำเสนอสานส์อันเก่าแก่อย่างเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ

ไม่มีความคิดเห็น: