วันพุธ, กรกฎาคม 25, 2550

The Yards: ขบถครอบครัวในโลกวัตถุนิยม


อเมริกาเปรียบเสมือนเบ้าหลอมทางเชื้อชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อผู้คนจากทุกสารทิศทั่วโลกต่างพยายามขวนขวายเดินทางมายังดินแดนแห่งความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และลงหลักปักฐาน แต่บ่อยครั้งพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างคุณค่าดั้งเดิมภายใน กับระบบเมืองใหญ่ที่ผลักดันให้ผู้คนแสวงหาความร่ำรวยแห่งวัตถุเพื่อสร้างการยอมรับ

บุคคลหนึ่งผู้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวอยู่เสมอ คือ นักทำหนังวัยหนุ่ม เจมส์ เกรย์ - - “ผมคิดว่าชีวิตครอบครัวเป็นประเด็นน่าสนใจในประเทศนี้เพราะเราอยู่ภายใต้ระบบเมืองใหญ่ที่สั่งสอนว่าคุณค่าความร่ำรวยทางวัตถุนั้นสำคัญกว่าความสามารถในการสื่อสารกับคนรอบข้าง เป็นไปได้อย่างไรที่วัฒนธรรมซึ่งบีบให้คุณหาเงินอยู่ตลอดเวลา ยังมีหน้ามาบอกให้คุณใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นเพราะนั่นเป็นสิ่งสำคัญกว่าด้วย?”

เกรย์มีเชื้อสายผสมระหว่างรัสเซียกับยิว ถือกำเนิดในมหานครนิวยอร์ค ก่อนจะเริ่มเข้าสู่แวดวงมายาเมื่อหนังนักศึกษาขนาดสั้นเรื่อง Cowboys and Angels ที่เขาสร้างขณะกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเซ้าเธิร์นแคลิฟอร์เนียเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้อำนวยการสร้าง พอล เว็บสเตอร์ ซึ่งต่อมาช่วยผลักดันให้เกรย์เขียนบทภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก โดยเขารับหน้าที่เป็นฝ่ายหาทุน ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ Little Odessa (1994) หนังซึ่งพุ่งเป้าการวิพากษ์หลักไปยังความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมทางสายเลือดที่ยกย่องคุณค่า ความจงรักภักดีแห่งสถาบันครอบครัว กับวัฒนธรรมอเมริกันดรีม ผ่านเรื่องราวโศกนาฏกรรมในครอบครัวผู้อพยพชาวรัสเซีย

The Yards เป็นผลงานกำกับชิ้นที่สองซึ่งทิ้งระยะห่างถึง 6 ปี มีทีมดาราที่โด่งดังในวงกว้างมากกว่า แต่โดยภาพรวมแล้วยังคงสะท้อนประเด็นใกล้เคียงกับ Little Odessa ด้วยสไตล์คล้ายๆเดิม และกลิ่นไออันคละคลุ้งจากประสบการณ์จริงของตัวผู้กำกับ ซึ่งเกรย์เองก็ยอมรับว่าครั้งนี้ตนได้แรงบันดาลใจสำคัญมาจากคดีที่พ่อของเขาผู้ทำงานในบริษัทผลิตและซ่อมรถไฟใต้ดินของนิวยอร์ค เข้าไปพัวพันกับการคอรัปชั่นระดับท้องถิ่นจนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา

ลูกไม่มีพ่อกับแม่ที่ป่วยไข้

เกรย์รำลึกถึงช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งในชีวิตว่าเกิดขึ้นเมื่อตนอายุได้ 18 ปี เขาย้ายออกจากบ้านเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยก่อนจะกลับมาเยี่ยมบ้านในแอลเออีกไม่กี่เดือนต่อมา พบว่าแม่ของเขาได้เสียชีวิตไปอย่างกระทันหัน เหตุการณ์ดังกล่าวกัดกร่อนจิตวิญญาณ และพลังของทุกคนในบ้านโดยเฉพาะบิดาหัวหน้าครอบครัว แรงกระทบจากวิกฤติดังกล่าวยังคงส่งผลทางอารมณ์ต่อเกรย์ เป็นเหตุให้หนังทั้งสองเรื่องของเขาเริ่มต้นเดียวการหวนคืนสู่ครอบครัวของตัวเอกหลังหายหน้าไปพักใหญ่ (โจชัวร์ (ทิม ร็อธ) ใน Little Odessa ได้รับมอบหมายให้มาสังหารคนท้องถิ่นบ้านเกิด ส่วนลีโอ (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) ใน The Yards เพิ่งออกจากคุกมา) เพื่อรับรู้ว่าสุขภาพมารดาอันเป็นที่รักของตนกำลังทรุดหนักลงทุกทีด้วยโรคมะเร็ง (เรื่องแรก) และโรคหัวใจ (เรื่องหลัง)

ใน Little Odessa บทมารดา (วาเนสซ่า เรดเกรฟ) เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่เชื่อมทุกคนในครอบครัวเข้าหากัน ดังจะเห็นได้จากความรักอันเข้มข้นระหว่างลูกชายทั้งสอง - - โจชัวร์ และน้องชาย รูเบน (เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง) กับแม่ของพวกเขา ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับบทบาทผู้ชายหัวหน้าครอบครัวอย่าง อาร์คาดี้ (แม็กซิมิเลี่ยน เชลล์) ผู้เต็มไปด้วยภาพลักษณ์แง่ลบตั้งแต่การชอบตบตีลูก ไปจนถึงการคบชู้กับสาวอื่นขณะที่ภรรยากำลังทนทรมานอยู่กับโรคร้ายในบ้าน The Yards สานต่ออุดมการณ์เชิงเชิดชูเพศหญิงด้วยการวาดภาพวาล (เอลเลน เบิร์นสตีน) ในลักษณะมารดาผู้เข้าใจ ให้อภัย และหวังดีในตัวลูกชาย เธอ คือ พลังผลักดันสำคัญที่ทำให้ลีโออยากกลับตัวเป็นคนดีหลังพ้นโทษจากคุกออกมา

อย่างไรก็ตามผู้กำกับจงใจวางบทให้ตัวละคร ‘แม่’ ในเรื่องกำลังป่วยไข้ร้ายแรง เพื่อบ่งชี้อนาคตอันคลอนแคลนของสถาบันครอบครัวในโลกที่หมุนได้ด้วยเงิน ในขณะที่ Little Odessa ฉายภาพความเสื่อมโทรมในครอบครัวอย่างตรงไปตรงมาจากฉากความขัดแย้ง เหินห่าง จนกระทั่งถึงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างพ่อลูก The Yards กลับเลือกนำเสนอประเด็นเดียวกันผ่านภาพลักษณ์ของครอบครัวไม่สมประกอบตามระบบพ่อแม่ลูก โดยจุดร่วมสำคัญของสามตัวเอกใน The Yards ได้แก่ การเป็นลูกไม่มีพ่อเด่นชัดในกรณี ลีโอ และอีริคก้า (ชาร์ไลซ์ เธรอน) ส่วนวิลลี่ (โจควิน ฟีนิกซ์) นั้นเขากล่าวถึงมารดาในบทสนทนาฉากหนึ่ง แต่อิทธิพลเพศพ่อกลับถูกละเลยชนิดไม่ถูกอ้างอิงถึงแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับแบ็คกราวด์ทางสายเลือดของเขา คนดูได้เห็นเพียงวิลลี่เข้าๆออกๆบ้านอีริคก้าตลอดทั้งเรื่องและนับถือแฟรงค์ (เจมส์ คาน) ดังพ่อบุญธรรม (เขายังเป็นพ่อบุญธรรมจริงๆของอีริคก้าด้วย) อันที่จริงแล้วแฟรงค์เปรียบเสมือน ‘พ่อทูนหัว’ ของตัวละครหลักทั้งสาม ซึ่งหนังก็ไม่ปิดบังที่จะสร้างภาพดังกล่าวด้วยการจัดองค์ประกอบภาพในฉากรับประทานอาหารด้วยการให้แฟรงค์นั่งที่หัวโต๊ะ ตามด้วยอิทธิพลหลายๆส่วนจาก The Godfather ซึ่งจะกล่าวถึงในช่วงถัดไป

สิ่งที่ไม่แตกต่างจาก Little Odessa คือ พลังเพศพ่อยังคงน่าหวาดระแวง และไม่บริสุทธิ์ เมื่อลีโอหมดหนทางจนมาขอร้องให้แฟรงค์ช่วยเหลือ เขากลับตอบแทนด้วยการพยายามหาทางปิดปากลีโอเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เขาเลือกถือหางวิลลี่ (ในช่วงแรก) แม้ลีโอจะเกี่ยวพันเชิงสายสัมพันธ์กับเขา (ลูกชายของน้องสาวภรรยา) มากกว่าวิลลี่ซึ่งเป็นเพียงลูกน้องในแผนกผิดกฎหมายของบริษัท (และเป็นแฟนหนุ่มของลูกบุญธรรม) ตัวละครอย่างแฟรงค์ถูกนำเสนอในฐานะพ่อทดแทนแห่งสังคมวัตถุนิยมเมื่อตัวเอกปราศจากบิดาทางสายเลือด ซึ่งหนังก็ไม่ปิดบังที่จะวิพากษ์พ่อคนใหม่ในแง่ร้ายด้วยภาพนักธุรกิจผู้น่าเกรงขาม แลน่าเคารพยกย่อง แต่เช่นเดียวกับนักธุรกิจอีกหลายคนหนทางสู่ความสำเร็จของแฟรงค์นั้นไม่ได้สวยงามดังภาพที่ปรากฏแม้แต่น้อย สิ่งที่ลีโอเรียนรู้สามารถสรุปได้จากคำพูดของวาลผู้เคยฝันอยากให้ลูกตัวเองมีงานเป็นหลักแหล่ง แต่งสูทเหมือนพวกนักธุรกิจ “แต่ใครจะรู้ว่าจริงๆแล้วพวกเขาทำอะไรกันบ้าง?”

การดิ้นรนของครอบครัวในสังคมนิยมวัตถุ

ตามแนวทางของภาพยนตร์อาชญากรรม/มาเฟีย (gangster film) ตัวละครหลัก (หรืออาชญากร) ส่วนใหญ่มักถูกนำเสนอในรูปแบบปัจเจกชน หรือ คนไร้รากผู้ปราศจากการเชื่อมโยงทางสายเลือด โดย ‘ครอบครัวใหม่’ ของพวกเขา ก็คือ เพื่อนคู่หู ลูกสมุน และกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งล้วนถูกผลักดันให้เข้าสู่ระบบด้วยความหอมหวลของเงินตราอันได้มาอย่างไม่ยากลำบากภายในเวลาอันรวดเร็ว ความสดใหม่ของภาพยนตร์ชุด The Godfather ส่วนหนึ่งจึงอยู่ที่รายละเอียดเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมอิตาเลี่ยน (เน้นความสำคัญของสถาบันครอบครัว) และความฝันแบบอเมริกัน (ไต่เต้าขึ้นสู่สูงสุดในโลกวัตถุนิยม) โดยตัวเอกของเรื่องพยายามจะสร้างสมดุลระหว่าง ‘ธุรกิจ’ และ ‘ครอบครัว’ ก่อนจะประสบกับความล้มเหลวเมื่อเขาให้ความสำคัญกับสิ่งแรกมากจนกระทั่งการพังทะลายของสิ่งหลังกลายเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่น่าแปลกใจหากนักวิจารณ์หลายคนในอเมริกา จะมองเห็นสะพานเชื่อมโยงระหว่าง The Godfather กับผลงานกำกับชิ้นใหม่ของ เจมส์ เกรย์ เนื่องจากวิธีเสนอภาพองค์การอาชญากรรมในลักษณะครอบครัวขนาดใหญ่ ความคล้ายคลึงกันในบางซีน เช่น ฉากการลอบสังหารในโรงพยาบาล หรือภาพในลักษณะมองผ่านช่องประตูเห็นแฟรงค์นั่งเป็นประธานอยู่ในห้องทำงานสนทนากับกลุ่มผลประโยชน์ การจัดแสงแบบโลว์คีย์ที่เน้นความสว่างในบางจุด และความขัดแย้งระหว่างสองปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตามในขณะที่ The Godfather มองสถาบันครอบครัวในลักษณะหวนคำนึงถึงความงดงาม อบอุ่น ซึ่งดูจะสอดคล้องไปกับการสร้างภาพอันยิ่งใหญ่ ฟุ้งเฟ้อให้กับกลุ่มอาชญากรรม เกรย์กลับนำเสนอคุณค่าครอบครัวด้วยมุมมองอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความสิ้นหวังมากกว่า

ใน Little Odessa เกรย์ชี้นำว่าความรุนแรงภายในครอบครัวอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมระดับกว้าง โดยการถูกทุบตีจากบิดาอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โจชัวร์เติบใหญ่ขึ้นทำงานมือปืนรับจ้าง เพื่อโอกาส‘แก้คืน’ กับคนอื่น (ความเกลียดชังส่วนตัวนี้เองทำให้เขามองเห็นทุกอย่างที่พ่อทำหรือสั่งสอนเป็นสิ่งชั่วร้ายตามไปด้วย) รวมไปถึงการ ‘เอาคืน’ กับบิดาของตนเอง เช่น ในฉากหนึ่งที่เขาพาอาร์คาดี้ไปยังที่รกร้างเพื่อยิงทิ้ง แต่ลงท้ายเพียงแค่ ‘ริบ’ กางเกง เครื่องแต่งกายที่บ่งบอกความเป็นชาย เมื่อพ่อของเขาประกาศว่าตนไม่ต้องการปืนเพื่อพิสูจน์ความเป็นชาย… คำสั่งสอนซึ่งดูเหมือนจะมีเหตุผล รวมถึงหลักการอันถูกต้องของอาร์คาดี้ ถูกลดความน่าเชื่อถือลงอย่างมากจากรายละเอียดที่เขาแอบไปมีเมียน้อยขณะเมียกำลังป่วยหนัก และความเย็นชาต่อลูกคนเล็ก ทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์หลักของตัวละครส่วนใหญ่ในหนังของ เจมส์ เกรย์ ที่มักคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างสีดำกับขาว

อีกสาเหตุหนึ่งแห่งการผันตัวเข้าแวดวงอาชญากรรมของโจชัวร์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ แรงกดดันจากสังคมบูชาวัตถุซึ่งทำให้เขาตัดสินอาร์คาดี้ในฐานะผู้แพ้ในโลกทุนนิยม เนื่องจากพ่อของเขาเลือกทาง ‘สายสะอาด’ ปฏิเสธเงินสกปรกจากกลุ่มมาเฟียเพื่อมาเริ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่กว่า แล้วยอมจมปลักอยู่กับแผงขายหนังสือพิมพ์กระจอกข้างถนน กล่าวคือ อาร์คาดี้เลือกที่จะเสียสละความสำเร็จส่วนตัวเพื่อศีลธรรมในใจ และปกป้องครอบครัวเขาให้ห่างไกลจากโลกอาชญากรรม ขณะที่โจชัวร์ปฏิเสธทุกคุณค่าที่อาร์คาดี้เชื่อมั่น แล้วหันไปกอบโกยเงินตราซึ่งได้มาอย่างง่ายดาย แต่ราคาที่เขาต้องจ่ายสำหรับชีวิตที่มั่งคั่ง ก็คือ ความโดดเดี่ยว

Little Odessa ปิดฉาก (เช่นเดียวกับภาพเปิดเรื่อง) ด้วยภาพของโจชัวร์นั่งอยู่เดียวดายในรถหลังจากน้องชายและแฟนสาว (มอยร่า เคลลี่) ถูกฆ่าตาย ซึ่งให้อารมณ์ไม่ต่างกับฉากปิดเรื่องของ The Godfather Part II… การพังทลายของครอบครัวเพื่อแลกกับความสำเร็จทางวัตถุ

The Yards ยังคงโจมตีโลกทุนนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยการชี้ให้เห็นว่าความรัก ความปรารถนาดีของลีโอต่อแม่ของเขาเพียงอย่างเดียวนั้นมันไม่เพียงพอ เขายังต้องการเงินเพื่อจะมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับวาลด้วย ซึ่งการเข้าสู่ ‘ระบบ’ ด้วยการฝึกฝนเป็นวิศวกรช่างยนต์ตามคำแนะนำของแฟรงค์นั้นช้าเกินไป เขาอยากจะยืนได้ด้วยขาตัวเองทันทีโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินของแฟรงค์ ความกดดันของสังคมทุนนิยมส่งผลให้ลีโอถูกล่อหลอกเข้าสู่โลกแห่งอาชญากรรมอีกครั้ง แม้เขาจะตระหนักดีว่างานของวิลลี่นั้นไม่ใสสะอาด แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าร่วมคลุกโคลนด้วยความเย้ายวนแห่งเงินตราซึ่งไหลมาเทมาอย่างง่ายดาย โดยลืมที่คิดไปว่าไม่มีสิ่งใดที่จะได้มาเปล่าๆ โดยไม่ต้องเอาอะไรเข้าแลก ขณะเดียวกันแม่ของเขาก็ไม่ได้หวังจะให้ลีโอซื้อชุดสวยๆให้ ความสุขแท้จริงของเธออยู่ที่การได้เห็นลูกชายมีอาชีพสุจริต และเป็นคนดีในสังคม… การเติบโตมาในเมืองใหญ่ที่ยกย่องคนมีเงิน ทำให้ลีโอคิดว่าเขาสามารถซื้อความภาคภูมิใจจากแม่ได้ด้วยวัตถุ

หนังถ่ายทอดฐานะคนวงนอกของลีโอด้วยช็อตจำนวนมากแทนสายตาเขา ‘แอบมอง’ กิจกรรมอันน่าสนเท่ห์ของวิลลี่ หรือ มองผ่านช่องประตูเข้าไปยังห้องทำงานของแฟรงค์ ก่อนจะกลายเป็น ‘คนใน’ เต็มตัวจากฉากออกปฏิบัติการครั้งแรกยังลานซ่อมรถไฟฟ้าซึ่งก้าวข้ามล้ำเส้นจากแผนฉ้อฉลไปสู่การฆาตกรรมในชั่วพริบตา หลังจากนั้นหนังค่อยๆเผยให้เห็นความเหี้ยมเกรียมแห่งโลกอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เช่นเดียวกับระดับความอ่อนต่อโลกของลีโอซึ่งค่อยๆลดต่ำลงจนสุดท้ายเขาสามารถใช้ระบบให้เป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดของตนเองได้

ถึงจุดนี้พัฒนาการของลีโอทำให้เขาไม่ต่างกับรูเบนใน Little Odessa ตัวละครซึ่งค่อยๆถูกชักนำเข้าสู่โลกแห่งความรุนแรงอย่างช้าๆ จากหนูน้อยผู้เพิ่งเคยถือปืนจริงเป็นครั้งแรกสู่เด็กหนุ่มที่สามารถฆ่าคนได้เพื่อช่วยเหลือพี่ชาย บทสรุปอันหดหู่เมื่อรูเบนถูกยิงตายเพราะความเข้าใจผิดตอกย้ำให้เห็นว่าในโลกแห่งอาชญากรรมนั้นยากที่ความบริสุทธิ์จะเหลือรอดไปได้ แต่ลีโอก็ต่างกับรูเบนตรงที่เขาปราศจากเกราะกำบังจากเพศพ่อ และเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับความรุนแรงมาก่อนจากกลุ่มเพื่อนจนกระทั่งถูกจับเข้าคุกในข้อหาโขมยรถ เขาอาจดูเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อเทียบกับวิลลี่ แต่ก็ไม่ได้ใสสะอาดอย่างรูเบน หรือ อีริคก้า จึงไม่แปลกที่ผู้ชมจะเห็นเขาเป็นตัวละครเดียวที่เหลือรอดจากหายนะในโลกมืด เช่นเดียวกับแฟนสาวของโจชัวร์ และรูเบนใน Little Odessa อีริคก้าใน The Yards ก็ต้องพบกับจุดจบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเนื่องจากเธอเป็นตัวละครเพียงคนเดียวผู้ขาวสะอาด หมดจดในโลกอาชญากรรมของผู้ชาย

เจมส์ เกรย์ สรุป The Yards ด้วยภาพโคลสอัพลีโอนั่งอยู่บนรถไฟเหมือนกับฉากเปิดเรื่อง แต่เปี่ยมความหวังมากกว่าด้วยแสงอาทิตย์ที่สาดส่องเข้ามาในเฟรม (ตัดกับโทนส่วนใหญ่ของเรื่องซึ่งเน้นฉากกลางคืนและภายในตัวอาคาร) ลีโอตัดสินใจละทิ้งครอบครัวหลังจากแฟรงค์พยายามล่อและชักชวนเขาให้ปิดปากเงียบในการสอบสวนเพื่อแลกกับ ‘อะไรก็ตามที่เธอต้องการในอนาคต’ เพื่อคงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจส่วนตัวที่เขาจะสามารถ ‘มองย้อนกลับมาแล้วไม่รู้สึกเสียใจ’

สุดท้ายแล้วเกรย์ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า จริงอยู่ที่สถาบันครอบครัวกำลังสึกกร่อน และความเข้มข้นของระบบทุนนิยมก็เริ่มบีบให้ผู้คนแสวงหาความสุขทางวัตถุโดยมองข้ามคุณค่าภายใน หรือ การแบ่งปันเพื่ออยู่ร่วมกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จำเป็นต้องเสียสละจริยธรรม และปัจเจกภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จทางรูปธรรม… บางทีราคาที่ลีโอต้องจ่ายสำหรับการตัดสินใจในตอนท้ายอาจจะคุ้มค่ากับสิ่งที่เขาสามารถรักษาเอาไว้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: