วันอังคาร, ตุลาคม 09, 2550

ประโยชน์ของโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์

หลังจากได้เกริ่นนำไปบ้างแล้วเล็กน้อยในบทความเกี่ยวกับภาพแบบชัดตื้น คราวนี้เราจะลองหันมาสำรวจแบบละเอียดและเจาะลึกถึงกลวิธีการเลือกใช้แบ็คกราวด์ หรือโฟร์กราวด์ในภาพยนตร์เพื่อสื่อความหมาย ชักนำสายตา และสร้างความรู้สึกร่วมในเชิงจิตวิทยา

โดยทั่วไปผู้กำกับจะแบ่งองค์ประกอบภาพออกเป็นสามส่วน คือ โฟร์กราวด์ มิดเดิลกราวด์ และ แบ็คกราวด์เพื่อหลีกเลี่ยงความแบนราบแบบสองมิติ ส่วนแต่ละคนจะเลือกวางตัวละครหรือวัตถุไว้ตรงส่วนใดของภาพนั้นถือเป็นอิสระทางความคิด ตามปรกติแล้ว ผู้ชมมักจะมองข้ามแบ็คกราวด์ไปเนื่องจากมันไม่ชัดเจน (out of focus) มืดทึบ หรือถูกบดบังความสนใจโดยเหตุการณ์ หรือความเคลื่อนไหวที่กำลังดำเนินอยู่ในส่วนของมิดเดิลกราวด์ อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะหนังสยองขวัญ เมื่อดนตรีประกอบร่วมผสมโรงเพื่อเร้าอารมณ์หวาดหวั่นสั่นประสาท แบ็คกราวด์ที่ดำมืด หรือไม่ชัดเจนอาจสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ เนื่องจากมันทำให้พวกเขาเริ่มวิตกกังวลว่าอาจมีบางอย่างหลบซ่อนอยู่

บางครั้งผู้กำกับจะใช้แบ็คกราวด์เพื่อช่วยเล่าเรื่อง เช่น ในช็อตหนึ่งของ Sex, Lies and Videotape เมื่อกล้องเริ่มต้นด้วยภาพโคลสอัพโต๊ะทำงานของ จอห์น (ปีเตอร์ กัลแล็กเกอร์) ซึ่งกำลังคุยโทรศัพท์อยู่ ก่อนมันจะค่อยๆ ถอยออกมาจนเป็นภาพมุมกว้างของห้องทำงานบนตึกสูง ติดกระจกล้อมรอบ ทำให้เห็นวิวทิวทัศน์อันงดงาม แบ็คกราวด์ช่วยบอกคนดูว่าจอห์นประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แล้วสถาปนาสถานะ “ยับปี้” ของเขาให้โดดเด่นโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบทพูดใดๆ พร้อมกันนั้นการที่กล้องค่อยๆ เคลื่อนออกมาแทนการตัดภาพยังช่วยสร้างความรู้สึกตื่นตะลึงให้กับคนดู เหมือนการค่อยๆ เปิดเผยภาพรวมอันยิ่งใหญ่แบบเดียวกับฉากสุดคลาสสิกใน Gone With the Wind เมื่อกล้องถอยห่างจาก สการ์เล็ต (วิเวียน ลีห์) เพื่อแสดงให้เห็นจำนวนอันมหาศาลของทหารบาดเจ็บที่กำลังนอนรอความช่วยเหลืออยู่ในแทบทุกพื้นที่


นอกจากนี้ในหนังเรื่องเดียวกัน ผู้กำกับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ยังใช้แบ็คกราวด์เพื่อสื่อนัยยะถึงความแตกต่างระหว่าง แอนน์ (แอนดี้ แม็คดาวล์) กับน้องสาว ซินเธีย (ลอรา แซน จิอาโคโม) อีกด้วย โดยคนแรกเป็นผู้หญิงเรียบร้อย หัวโบราณ และเก็บกดอารมณ์ ความรู้สึก (เธอมีอาชีพเป็นภรรยาควบตำแหน่งแม่บ้านให้จอห์น) ส่วนคนหลังเป็นสาวเปรี้ยว ร้อนแรง และเปิดเผย (เธอมีอาชีพเป็นบาร์เทนดี้ควบตำแหน่งชู้รักของจอห์น) หากเปรียบไปแล้วพวกเธอคงไม่ต่างจาก superego กับ id ที่ต้องปะทะกันบ่อยครั้งโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเพศ ซึ่งเป็นโฟกัสหลักของหนัง สังเกตได้จากชื่อเรื่อง มีอยู่สองฉากที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างในการนำแบ็คกราวด์มาช่วยบอกเล่าความแตกต่างของพี่น้องสองขั้ว (แต่มีผัวคนเดียวกัน) ฉากแรก คือ ตอนที่แอนน์คุยโทรศัพท์กับซินเธีย จะเห็นได้ว่าในส่วนของแอนน์ หนังจัดภาพเธอ (ในชุดสีขาว) อย่างเป็นระเบียบ พร้อมแบ็คกราวด์เป็นกรอบหน้าต่างคอย “ล้อมกั้น” เธอ โดยมีต้นไม้เขียวชะอุ่มเป็นวิวด้านนอก สะท้อนถึงบุคลิกสงบ เยือกเย็น (ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการเก็บกด) ส่วนแบ็คกราวด์ของซินเธีย (ในชุดเสื้อสีเข้ม) นั้นกลับขาดระเบียบอย่างเห็นได้ชัด มีเศษกระดาษ ข้าวของวางเกะกะเรี่ยราดโดยรอบ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกอิสระ ไม่ปิดกั้น ซึ่งช่วยสะท้อนทัศนคติของเธอเกี่ยวกับเรื่องเพศ


ฉากที่สอง คือ ตอนที่แอนน์แวะมาคุยกับซินเธียที่บ้าน คราวนี้หนังเปลี่ยนมาใช้โทนสีในการแยกแยะสองพี่น้อง โดยแอนน์ (ในชุดสีขาว) จะอยู่ในโซนสะอาด สว่าง ให้อารมณ์เย็นชา ส่วนซินเธีย (ในชุดสีแสบสันต์ขลิบดำ) จะอยู่ในโซนมืดทะมึน อบอวลไปด้วยแสงไฟสีแดง ให้อารมณ์อบอุ่น ร้อนแรง


แบ็คกราวด์อาจถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอารมณ์ความรู้สึกภายในของตัวละคร ดังจะเห็นได้จากช็อตหนึ่งในหนังเรื่อง The Field กำกับโดย จิม เชอริแดน ซึ่งเล่าถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อพิทักษ์แผ่นดินของชายชราชาวไอริช แต่การต่อสู้ดังกล่าวกลับนำไปสู่ฆาตกรรมอันโหดร้าย ภาพน้ำตกที่เชี่ยวกรากรุนแรงในแบ็คกราวด์ช่วยสะท้อนให้เห็นความคับแค้น ตลอดจนอารมณ์ขึ้งเครียดของ บูล แม็คเคบ (ริชาร์ด แฮร์ริส) เมื่อตระหนักว่าท้องทุ่ง ซึ่งเขาใช้เลี้ยงปศุสัตว์มายาวนานหลายชั่วอายุคนกำลังจะกลายเป็นเพียงอดีต


หนังรักโรแมนติกนิยมใช้แบ็คกราวด์เพื่อโน้มนำผู้ชมให้เคลิบเคลิ้มไปกับเหตุการณ์ความรักหวานชื่นบนจอ โดยหนึ่งในเทคนิคที่แพร่หลายอย่างยิ่งจนปัจจุบันแทบจะกลายเป็น cliché ไปแล้ว คือ ภาพของดอกไม้ไฟบนท้องฟ้าเป็นสัญลักษณ์แทนการเฉลิมฉลองความรักอันสุขสมหวังของตัวเอก (กรณีล่าสุดเชิญพิสูจน์ได้ในหนังไทยเรื่อง รักนะ 24 ชั่วโมง) เช่นเดียวกัน ในหนังเรื่อง Pride and Prejudice เวอร์ชั่นล่าสุด ผู้กำกับ โจ ไรท์ ได้หาข้ออ้างสารพัดให้คู่รักคู่รสของเรื่อง คือ อลิซาเบ็ธ (คีร่า ไนท์ลีย์) กับ มิสเตอร์ดาร์ซี (แม็ทธิว แม็คเฟด์เยน) มาลงเอยกันในตอนท้าย ณ ท้องทุ่งงดงามยามตะวันรุ่ง (คนหนึ่งนอนไม่หลับจนต้องออกมาเดินเล่น ส่วนอีกคนก็ร้อนรนจนไม่อาจรอเวลาให้ถึงตอนเช้าได้) เพื่อใช้แบ็คกราวด์เสริมส่งอารมณ์สุขสันต์ของคนดูให้พุ่งทะยานถึงขีดสุด นอกจากนี้ แสงตะวันที่เพิ่งจะโผล่พ้นเส้นขอบฟ้ายังช่วยสะท้อนให้เห็นการเริ่มต้นใหม่ของตัวละครทั้งสอง หลังจากต่างฝ่ายยินยอมที่จะลดทิฐิมานะ อคติ ตลอดจนความหยิ่งทะนงของตนลง และหลังจากความเข้าใจผิดทั้งหลายถูกคลี่คลายจนสิ้น


ในทางกลับกัน หนังรักบางเรื่องอาจใช้โฟร์กราวด์เพื่อแต่งเติมอารมณ์ของเหตุการณ์ในแบ็คกราวด์ให้โดดเด่น เช่น ช็อตสุดท้ายของ Annie Hall ซึ่งบอกเล่าถึงการจูบลาระหว่าง อัลวี่ (วู้ดดี้ อัลเลน) กับ แอนนี่ (ไดแอน คีตัน) เพื่อปิดฉากความสัมพันธ์ของพวกเขา ความจริงผู้กำกับสามารถถ่ายทำช็อตดังกล่าวด้านนอกได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องมีอะไรมาขวางกั้นระหว่างตัวละครกับกล้อง แต่ห้วงอารมณ์ทำนองหวานปนเศร้าปนเหงาหงอยกลับถูกถ่ายทอดได้อย่างเด่นชัด เปี่ยมประสิทธิภาพมากกว่าผ่านโฟร์กราวด์อันแห้งแล้งของโต๊ะไม้ในร้านอาหารที่ว่างเปล่า ปราศจากผู้คน พื้นผิวที่อ่อนนุ่ม หรือต้นไม้


ตามธรรมชาติแล้วสายตาของมนุษย์ย่อมถูกดึงดูดเข้าหาวัตถุที่มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้กว่า แต่ขณะเดียวกัน สายตาของมนุษย์ก็มักจะเลือกสนใจเฉพาะสิ่งที่มันสามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ดังนั้น หากวัตถุในโฟร์กราวด์ ซึ่งใกล้กว่าและมีขนาดใหญ่กว่า ค่อนข้างพร่าเลือน (out of focus) ตัวละครหรือวัตถุในแบ็คกราวด์ ซึ่งอาจอยู่ห่างออกไปและมีขนาดเล็กกว่า แต่ชัดเจน ย่อมสามารถดึงดูดสายตาของคนดูได้มากกว่า ดังจะเห็นได้จากภาพตัวอย่างของหนังเรื่อง The Graduate นอกจากนี้ การจัดองค์ประกอบภาพของผู้กำกับ ไมค์ นิโคลส์ ยังสามารถทำให้คนดูรู้สึกอึดอัด ไม่มั่นคง เมื่อโฟร์กราวด์ที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตร (แอนน์ แบนครอฟท์) บุกรุกเข้ามากั้นกลางระหว่างคนดูกับตัวละครเอก ในฉากดังกล่าว เบนจามิน (ดัสติน ฮอฟฟ์แมน) รู้สึกเหมือนถูกคุกคาม เมื่อคุณนายโรบินสัน เพื่อนของพ่อแม่เขา พยายามจะยั่วยวนเขา ความรู้สึกเหมือนติดกับและจวนตัวหาได้สะท้อนผ่านคำพูดของเด็กหนุ่ม ซึ่งเจืออารมณ์ร้อนรนปนเขินอาย แต่ผ่านการจัดองค์ประกอบภาพแบบปิด เพราะด้านหน้าของเขาถูกขวางกั้นโดยร่างกึ่งเปลือยของหญิงวัยกลางคนในโฟร์กราวด์ ส่วนด้านหลังของเขาก็ถูกตีกรอบโดยหน้าต่างในแบ็คกราวด์


เช่นเดียวกัน สายตาของคนดูย่อมถูกดึงดูดเข้าหา ซาร่าห์ (เคท วินสเล็ท) โดยอัตโนมัติในช็อตหนึ่งของหนังเรื่อง Little Children แม้ว่าใบหน้าเธอจะกินพื้นที่เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของภาพเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากเธออยู่ใกล้จอสุดและอยู่ในโฟกัสเพียงคนเดียว การถ่ายภาพแบบชัดตื้นดังกล่าวช่วยเสริมสร้างความ “แปลกแยก” ระหว่างซาร่าห์กับชีวิตแม่บ้าน พร้อมกันนั้นน้ำหนักของแบ็คกราวด์ (แม่บ้านอีกสามคน) ก็ทำให้คนดูพึงตระหนักความรู้สึกของตัวละครต่อภาระกดทับและหนักอึ้งของชีวิตแม่บ้านที่น่าเบื่อหน่ายและปราศจากสีสัน


บ่อยครั้งหนังตลกนิยมดึงดูดสายตาของคนดูไปยังแบ็คกราวด์ผ่านการเคลื่อนไหว แล้วจำกัดโฟร์กราวด์ให้มีความเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย (ในกรณีนี้ทั้งแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์สามารถอยู่ในโฟกัสได้ แต่คนดูจะไม่สับสนว่าควรจับจ้องสิ่งใด เพราะธรรมชาติของสายตามนุษย์ย่อมพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เคลื่อนไหวเป็นธรรมดา) เพื่อนำเสนออารมณ์ขันในลักษณะอาหารจานประกอบ ดังจะเห็นได้จากสามฉากของหนังเรื่อง Airplane! เมื่อแอร์ฯ สาวถูกนักบินออโต้ลวนลาม เมื่อศูนย์ควบคุมการบินดันมีเครื่องซักผ้าซุกซ่อนอยู่ และเมื่อเครื่องบินต้องผ่านการตรวจซ่อมพร้อมทำความสะอาดเหมือนรถยนต์


ในตอนหนึ่งของการ์ตูนชุด The Simpsons (A Streetcar Named Marge) นอกจากความเคลื่อนไหวในแบ็คกราวด์จะดึงดูดสายตาคนดูแล้ว (โฮเมอร์ประทุษร้ายเครื่องขายขนมอัตโนมัติ) การจัดวางตัวละครในโฟร์กราวด์ยังเป็นเหมือนกรอบภาพเพื่อให้คนดูพุ่งความสนใจไปยังแบ็คกราวด์อีกด้วย อารมณ์ขันของฉากนี้อยู่ตรงที่ผู้กำกับ (ซ้ายมือ) กำลังพยายามสอนมาร์ช (ขวามือ) ให้เข้าใจความรู้สึกขยะแขยงของ บลานช์ (ตัวละครที่มาร์ชรับเล่นใน A Streetcar Named Desire เวอร์ชั่นละครเพลง) ต่อน้องเขย สแตนลีย์ ผู้ขาดแคลนความอ่อนไหว แถมยังชอบใช้กำลัง และเสียงดัง ซึ่งบุคลิกทุกอย่างข้างต้นล้วนสอดคล้องกับพฤติกรรมของสามีมาร์ชในแบ็คกราวด์


หากนักทำหนังเลือกถ่ายตัวละครผ่านโฟร์กราวด์ซึ่งมีลักษณะของลูกกรง โดยส่วนมากนัยยะเชิงจิตวิทยาที่ส่งผ่านมายังคนดู คือ ความรู้สึกติดกับ หรือถูกจองจำ ซึ่งบางครั้งปรากฏชัดเจนในเรื่องราว เช่น ในหนังเรื่อง The 400 Blows (เด็กชายที่ใครๆ ก็ไม่รักในสถานดัดสันดาน) และ The Others (แม่ของลูกๆ ที่เป็นโรคแพ้แสงแดดและภรรยาที่รอการกลับมาของสามีจากสมรภูมิรบ) แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดความหมายในเชิงลึก เช่น ฉากสุดท้ายของ Sex, Lies and Videotape เมื่อแอนน์และ เกรแฮม (เจมส์ สเปเดอร์) ทำลาย “กรงขัง” ทางจิตใจลงได้ หลังเธอขอหย่าขาดจากสามีจอมกะล่อน และเขาสามารถกล้ำกลืนความเจ็บปวด ผิดหวังในอดีต แล้วหันมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ร่วมกัน ผู้กำกับเลือกถ่ายเกรแฮมในช่วงต้นช็อตผ่านซี่ลูกกรงตรงบันไดหน้าบ้าน ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนกล้องอ้อมมาด้านหน้าพร้อมกับการเดินมาสมทบของแอนน์ (คราวนี้เธอสวมชุดสีเข้ม) ฉากดังกล่าวสามารถสรุปเรื่องราวทั้งหมดของหนังได้อย่างน่าทึ่งโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำพูดใดๆ

ไม่มีความคิดเห็น: