วันอาทิตย์, มีนาคม 02, 2557

Oscar 2014: Best Director


อัลฟอนโซ คัวรอน (Gravity)

ถึงแม้จะเป็นการเข้าชิงครั้งแรกในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ออสการ์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ อัลฟอนโซ คัวรอน เพราะเขาเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วสองครั้งในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Y Tu Mama Tambien เมื่อปี 2001และในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมกับบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Children of Men เมื่อปี 2006 คัวรอนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่เชี่ยวชาญทั้งการกุมบังเหียนภาพยนตร์กระแสหลักฟอร์มใหญ่ ลงทุนมหาศาลอย่าง Harry Potter and the Prisoner of Azkaban ซึ่งหลายคนยกย่องว่าเป็นตอนที่ดีที่สุดของซีรีย์ และหนังดรามาเล็กๆ ที่เน้นการศึกษาตัวละครมากกว่าคลี่คลายพล็อตอันสลับซับซ้อนอย่าง Y Tu Mama Tambien 

อาจกล่าวได้ว่า Gravity คือ ส่วนผสมอันลงตัวของสองแนวทางดังกล่าว เขาต้องรับมือกับงานเทคนิคพิเศษด้านภาพ ซึ่งปรากฏให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง ให้แนบเนียนกับช็อต live action ของนักแสดง คิดค้นเครื่องมือชนิดใหม่ขึ้นเพื่อรองรับวิสัยทัศน์อันทะเยอทะยาน และจัดสรรเงินทุนก้อนโตให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นหนังที่เรียกได้ว่าเกือบจะปราศจากพล็อตเรื่อง แต่เน้นสะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละครเอกเป็นหลัก ซึ่งหาได้ยากยิ่งในหนังทุนสร้างระดับบล็อกบัสเตอร์เช่นนี้ โดยสิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและปัจจุบันกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของคัวรอนที่ทุกคนจดจำได้ไปแล้ว คือ การถ่ายทำแบบลองเทค ซึ่งเริ่มปรากฏเด่นชัดใน Y Tu Mama Tambien ก่อนจะพัฒนามาเป็นไฮไลท์สำคัญในหนังเรื่อง Children of Men และ Gravity

หนังเกี่ยวกับการดิ้นรนเอาชีวิตรอดของนักบินอวกาศหญิงหลังสถานีอวกาศถูกทำลายโดยซากสะเก็ดดาวเทียมเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับหนังขนาดยาวเรื่องที่ 7 และจุดสูงสุดของการทำงานหลังกล้องมานานกว่า 30 ปี คัวรอนเลือกจะเปิดหนังด้วยช็อตลองเทคความยาว 17 นาที โดยระหว่างนั้นคนดูจะได้เห็นยานอวกาศฉีกขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากซากสะเก็ดดาวเทียม คร่าชีวิตนักบินอวกาศไปหนึ่งคน ส่วนอีกสองคนก็มีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ช็อตมหัศจรรย์อันน่าตื่นตานี้จบลงตรงที่ตัวละครซึ่งรับบทโดย แซนดร้า บูลล็อค หมุนคว้างและค่อยๆ หลุดหายเข้าไปในความมืดมิดของอวกาศ... ภาพนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียในการสร้างหนังเรื่อง Gravity

ผมบอกว่าเราจะตัดภาพเมื่อถึงตรงนี้คัวรอนรำลึกความหลัง แต่ทุกคนพากันคัดค้านและพูดว่า อย่าเพิ่งสิ มันต้องมีวิธีที่เราจะสามารถยืดช็อตนี้ให้ยาวออกไปได้อีกแต่ผมบอกว่า ไม่เอา นั่นจะเป็นจุดสิ้นสุดของช็อตเปิดเรื่องโชคดีที่ชิโว (ชื่อเล่นซึ่งคัวรอนใช้เรียกตากล้องคู่ใจของเขา เอ็มมานูเอล ลูเบสกี้) ก็อยู่ที่นั่นและเห็นด้วยกับผม ผมชอบช็อตลองเทคเพราะมันช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวละครกับสภาพแวดล้อม โดยให้น้ำหนักกับทั้งสองส่วนเท่าเทียมกัน ใน Y Tu Mama Tambien สภาพแวดล้อมคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเม็กซิโก ส่วนเรื่องนี้คนดูจะเห็นโลกกับชีวิตทางด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งคือความว่างเปล่า

คัวรอนบอกว่าเขาทุ่มเทเวลาเต็มที่ให้กับช็อตเปิดเรื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการวาดสเก็ตช์ ไปจนถึงขั้นตอนการถ่ายทำ และตบท้ายด้วยการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกตกแต่งช็อตให้สมบูรณ์แบบ นับเวลารวมทั้งหมดประมาณหกเดือน เห็นได้ชัดว่าเขาเป็นผู้กำกับที่ชอบงานเนี้ยบและคิดไตร่ตรองทุกอย่างจนรอบด้าน แน่นอนว่าเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากทั้งคนดู (หนังทำเงินทั่วโลกไปแล้วกว่า 680 ล้านเหรียญ) และนักวิจารณ์ทำให้ผู้กำกับชาวเม็กซิกันรู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง แต่ขณะเดียวกันเขาก็ตระหนักดีว่าเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าที่แท้จริง หนังหลายเรื่องได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม แต่พอผ่านไปเจ็ดหรือแปดปีกลับไม่มีใครจดจำมันได้ ขณะที่หนังซึ่งล้มเหลวตอนเข้าฉายครั้งแรกกลับกลายเป็นผลงานคลาสสิกคัวรอนกล่าว ตอนนี้ผมยังอยู่แค่ช่วงองก์สองของเรื่องราวเท่านั้น


สตีฟ แม็คควีน (12 Years a Slave)

ถึงแม้เขาจะรับรู้เกี่ยวกับระบบทาสและการค้าทาสมาตั้งแต่เด็ก สัมผัสได้ถึงประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นอยู่ในอก หรือกดทับอยู่บนบ่า แต่ สตีฟ แม็คควีน กลับจำไม่ได้ว่าเขาเคยรู้สึกโกรธแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มันน่าเจ็บปวดที่พบว่าใครบางคนกระทำสิ่งเลวร้ายแบบนั้น แต่ถ้าถามว่าโกรธหรือเปล่า คำตอบคือไม่เลย ผู้กำกับผิวดำที่ถือกำเนิดและเติบโตมาในลอนดอนกล่าว สำหรับแม็คควีนความโกรธแค้นต่อระบบทาสเป็นเรื่องแปลกประหลาดไม่แพ้การมองระบบทาสว่าเป็นเรื่องน่าตลกขบขัน เจ็บปวดมั้ย แน่นอน เศร้าหรือเปล่า ไม่ต้องสงสัย แต่ผมไม่รู้ว่าเราสามารถจะมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องน่าโกรธแค้นได้หรือเปล่า นั่นไม่ได้หมายความว่าผมไม่โกรธแค้นต่อความอยุติธรรม และระบบทาสก็เป็นความอยุติธรรมขั้นสูงสุด แต่ผมไม่เคยคิดถึงมันด้วยอารมณ์แบบนั้นเลย แม็คควีนพูดด้วยสีหน้าราวกับเขาไม่ตระหนักว่าความโกรธแค้นนั้นเป็นปฏิกิริยาที่พบเห็นได้ทั่วไปเมื่อคนพูดถึงระบบทาส

เช่นเดียวกับศิลปินทั้งหลาย แม็คควีนมักสะท้อนเรื่องราวผ่านมุมมองที่เปี่ยมเอกลักษณ์และปัจเจกภาพ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นแรงงานย่านชานเมืองในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งปราศจากนักทำหนังสำหรับให้เขานับถือเป็นแบบอย่าง อย่าว่าแต่นักทำหนังผิวดำสักคนเลย พ่อชอบกดดันเขาให้หางานทำเป็นหลักแหล่งในโลกธุรกิจ แม้กระทั่งหลังจากเขาเริ่มประสบความสำเร็จในแวดวงบันเทิง และสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตามเทศกาลหนังแล้วก็ตาม โดยผลงานกำกับแม็คควีนมีเป็นหนังสั้นความยาว 10 นาทีเรื่อง Bear ซึ่งปราศจากบทสนทนา หรือเรื่องราว เป็นเพียงภาพผู้ชายเปลือยกายสองคน (หนึ่งในนั้นคือตัวเขาเอง) เดินวนรอบกันไปมา

เขาเป็นผู้กำกับที่ไม่เคยแสดงท่าทีสนใจในรสนิยมกระแสหลัก ผลงานของเขามักจะสะท้อนอารมณ์หนักหน่วง รุนแรง และปราศจากการประนีประนอม แต่น่าประหลาดตรงที่พวกมันกลับได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขามีชื่อว่า Hunger เล่าถึงช่วงเวลาในคุกเมซของ บ็อบบี้ แซนด์ ก่อนเขาจะเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง ห่างไกลจากคำว่ารื่นรมย์ แต่นักวิจารณ์พากันยกย่องอย่างพร้อมเพรียง ส่งผลให้แม็คควีนคว้ารางวัล Camera d’Or (สำหรับหนังเรื่องแรก) ที่คานส์ และรางวัลบาฟต้าสาขานักทำหนังดาวรุ่งมาครอง ผลงานเรื่องถัดมาของเขา Shame เป็นการสะท้อนภาวะเสพติดเซ็กซ์ซึ่งห่างไกลจากคำว่าเซ็กซี่ แต่หนังกลับทำรายได้น่าพอใจบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ (สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ดาราคู่บุญของเขาจาก Hunger เริ่มเป็นที่รู้จักของนักดูหนังกระแสหลักจากการร่วมแสดงในหนังฮิตอย่าง Inglorious Basterds และ X-Men: First Class)

สำหรับผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง 12 Years a Slave แม็คควีนมีไอเดียที่จะสร้างหนังเกี่ยวกับทาสในอเมริกามาตั้งแต่ปี 2008 แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็นบทหนังที่น่าพอใจได้ จนกระทั่งภรรยาของเขาแนะนำให้เขาอ่านบันทึกชีวิตของ โซโลมอน นอร์ธับ เรื่อง Twelve Years a Slave “หลังอ่านหนังสือจบผมรู้สึกตะลึงจนพูดอะไรไม่ออก จากนั้นผมก็ตั้งปณิธานทันทีว่าจะต้องดัดแปลงมันเป็นหนังให้ได้แม็คควีนกล่าว เขาใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้นแค่ 35 วัน โดยใช้กล้องตัวเดียว และเงินลงทุนราว 20 ล้านเหรียญ แต่ตอนนี้สามารถทำเงินกลับมาได้เท่าตัว ติดหนึ่งใน 10 หนังดีแห่งปีของนักวิจารณ์แทบจะทุกสำนัก และอาจถึงขั้นผลักดันให้เขากลายเป็นผู้กำกับผิวดำคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง

ความสำเร็จจากรอบสารทิศเป็นสิ่งที่แม็คควีนคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปรับตัวกับสถานภาพ “คนดัง” ในชั่วข้ามคืน จากการถูกล้อมหน้าล้อมหลังด้วยซูเปอร์สตาร์ ตั้งแต่ แบรด พิทท์ ซึ่งร่วมแสดงในหนังและนั่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์ ไปจนถึงมาดอนนา อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่แม็คควีนไม่เคยคิดจะไขว่คว้า “ผมไม่สนใจเรื่องพวกนี้หรอก สิ่งเดียวที่ผมสนใจคือผลงาน ฉะนั้น การไปเจ๊าะแจ๊ะกับคนโน้นคนนี้ หรือขายวิญญาณให้กับเหล่านายทุนเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดจะทำ สำหรับผมการสร้างหนังเป็นสิ่งเดียวที่ผมสนใจ และมีความสามารถพอที่จะทำได้” ผู้กำกับหนุ่มวัย 44 ปีกล่าว 


เดวิด โอ. รัสเซลล์ (American Hustle)

นับแต่เริ่มสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากหนังเรื่อง Three Kings เมื่อปี 1999 เดวิด โอ. รัสเซลล์ ผลิตผลงานออกมาอีกเพียงเรื่องเดียวตลอดช่วงเวลา 11 ปี นั่นคือ I Heart Huckabees (2004) ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาระหว่างถ่ายทำและได้เสียงตอบรับที่ค่อนข้างเย็นชาจากนักวิจารณ์และคนดู แต่หลังจากหวนคืนสู่วงการอย่างงดงามกับ The Fighter (2010) เขาก็สร้างหนังอีกสองเรื่องภายในเวลา 24 เดือน และทำสถิติด้วยการพาตัวเองและตัวหนังเข้าชิงออสการ์อย่างครบถ้วน  บางทีเนื่องจากพวกมันถูกสร้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แถมยังมีประเด็นที่ใกล้เคียงกันเกี่ยวกับการไถ่บาป การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ หลายคนจึงมองว่า The Fighter, Silver Linings Playbook และล่าสุดคือ American Hustle เปรียบเสมือนหนังไตรภาคที่ไม่เพียงพูดถึงการสร้างชีวิตใหม่ของตัวละครเท่านั้น แต่ยังสะท้อนเส้นทางในวงการบันเทิงของผู้กำกับอีกด้วย

ตัวละครเอกแต่ละคนในหนังสามเรื่องนี้ล้วนกำลังประสบกับความยุ่งยากในชีวิตรัสเซลล์ให้สัมภาษณ์ พวกเขาไม่รู้ว่าอยากจะเป็นตัวของตัวเองแบบนี้ต่อไป และอยากจะให้ชีวิตดำเนินไปตามเส้นทางนี้หรือไม่ นั่นเป็นความรู้สึกเดียวกันกับผมก่อนจะสร้างหนังสามเรื่องนี้หลังชีวิตแต่งงานจบลงด้วยการหย่าร้าง ชีวิตรัสเซลล์ดูจะอัดแน่นไปด้วยความโกรธขึ้ง ความไม่แน่ใจ และความสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง I Heart Huckabees ซึ่งเขารู้สึกเหมือนกำลังหลงทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อไปดี

นอกจากจะมีประเด็นเนื้อหาใกล้เคียงกันแล้ว หนังทั้งสามเรื่องยังเรียกได้ว่าเป็นหนังรวมดารา เต็มไปด้วยฉากที่ตัวละครหลายคนต้องส่งต่อบท หรือสาดอารมณ์เข้าใส่กัน โดย American Hustle ถือเป็นเหมือนงานเลี้ยงรุ่น หลังจากรัสเซลล์ตัดสินใจเลือกศิษย์เก่าจาก The Fighter และ Silver Linings Playbook มามิกซ์แอนด์แม็ทช์กันอย่างลงตัว จนคณะกรรมการออสการ์อดไม่ได้ที่จะเสนอชื่อทุกคนเข้าชิงในสาขาการแสดงแบบถ้วนทั่วเป็นปีที่สองติดต่อกัน บางทีสาเหตุที่นักแสดงในหนังของรัสเซลล์มักจะเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาและปล่อยพลังกันอย่างสนุกสนานอาจเป็นผลจากสไตล์การกำกับ ซึ่งกระตุ้นให้พวกเขาเข้าถึงบทบาทด้วยวิธีอิมโพรไวส์ มีอยู่หลายครั้งที่เรามาถึงกองถ่ายในตอนเช้า และเดวิดจะพูดว่า ฉากที่ต้องถ่ายวันนี้มันดูไม่สมจริงยังไงพิกล ผมยังไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เรามาทำอะไรใหม่ๆ กันดีกว่าคริสเตียน เบล เล่าถึงวิธีทำงานของรัสเซลล์ บางทีเราอาจถกเถียงกันบ้าง เพราะทุกคนต่างก็อยากให้งานออกมาดีที่สุด เราเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้กันมาแล้ว ผู้กำกับแต่ละคนจะมีขั้นตอนแตกต่างกันไป สำหรับเดวิด ผมรู้ว่าหัวใจและสมองของเขามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จึงรับประกันได้เสมอว่าเราจะลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่น่าสนใจ

นอกจากงานแสดงอันทรงพลังแล้ว อีกสิ่งที่รัสเซลล์ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การเลือกสรรเพลงที่เหมาะสมมาใช้ประกอบหนัง ดังจะเห็นได้จากตอนที่เขาตามตื๊อขอลิขสิทธิ์เพลงจากวงร็อคเรื่องมาก เลด เซปปลิน จนประสบผลสำเร็จ Good Times, Bad Times เพลงแรกจากอัลบั้มที่ชื่อ Led Zeppelin ไม่เคยปรากฏอยู่ในหนังเรื่องใดมาก่อนจนกระทั่งรัสเซลล์นำมาใช้ใน The Fighter หลังจากนั้นเขาได้กลับมาใช้บริการของ เลด เซปปลิน อีกครั้งด้วยการเลือกเพลง What Is and What Should Never Be มาใส่ไว้ใน Silver Linings Playbook ธรรมเนียมปฏิบัติเกือบจะสานต่อมายัง American Hustle จนกระทั่งมีคนเสนอเพลง Long Black Road ของ Electric Light Orchestra ขึ้นมา (กระนั้นเพลง Good Times, Bad Times ก็ยังไปโผล่ในหนังตัวอย่างของ American Hustle จนได้)

ตอนนี้รัสเซลล์ยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับหนังเรื่องถัดไป โดยโครงการหนึ่งที่อยู่ในขั้นตอนพัฒนาบทจะเกี่ยวกับการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ซึ่งดูท่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวแบบหักศอก แต่สิ่งหนึ่งที่คนดูเรียนรู้จากฮอลลีวู้ด ได้แก่ ไตรภาคที่ประสบความสำเร็จ บ่อยครั้งมักถูกขยายผลจนกลายเป็นจตุรภาค


อเล็กซานเดอร์ เพย์น (Nebraska)

หลังจากเขียนบทหรือร่วมเขียนบทหนังทุกเรื่องที่เขากำกับ Nebraska ถือเป็นหนังเรื่องแรกที่ อเล็กซานเดอร์ เพย์น สร้างจากบทหนังของคนอื่น มันเล่าถึงเรื่องราวของ วู้ดดี้ แกรนท์ ชายชราที่อาศัยอยู่ในรัฐมอนทานา แต่ชอบหนีออกจากบ้านบ่อยครั้งเพื่อจะเดินทางไปยังรัฐเนบราสกาเพราะคิดว่าตัวเองชนะเงินรางวัลก้อนโต ครอบครัวเขาเหนื่อยหน่ายกับการรับมือตาแก่ที่สติเริ่มเลอะๆ เลือนๆ จึงวางแผนจะพาวู้ดดี้ไปอยู่บ้านพักคนชรา จนกระทั่งลูกชายคนหนึ่งของเขาอาสาที่จะพาพ่อไปเนบราสกาตามความประสงค์เพื่อเคลมเงินรางวัล (ที่ไม่มีอยู่จริง) และระหว่างทางพวกเขาก็ต้องแวะพักในเมืองบ้านเกิดของพ่อเขา ส่งผลให้วู้ดดี้ได้รำลึกอดีตพร้อมทั้งถ่ายทอดเรื่องราวให้คนรุ่นหลังรับรู้

เพย์นได้อ่านบทที่เขียนโดย บ็อบ เนลสัน ระหว่างถ่ายทำ Sideways และรู้สึกอินกับความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละครพ่อลูกอย่างมาก ลูกชายต้องการจะเรียกคืนศักดิ์ศรีให้กับพ่อของเขาเพย์นกล่าว พ่อแม่ของผมเองก็กำลังแก่ตัวลงทุกวัน ผมอยากให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะวัยชรามักจะทำให้เรารู้สึกด้อยค่า สูญเสียเกียรติและศักดิ์ศรี ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่เราพยายามจะดำรงรักษาไว้

Nebraska ถ่ายทำเป็นหนังขาวดำ ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนไร้กาลเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ส่งกลิ่นอายหม่นเศร้า ชวนให้หวนรำลึกความหลังในสไตล์เดียวกับหนังคลาสสิกของ ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช เรื่อง The Last Picture Show ซึ่งเป็นหนังที่เพย์นหยิบยกมาใช้เป็นแรงบันดาลใจหลัก มันเป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับหนังเรื่องนี้เพย์กล่าวถึงการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาพขาวดำ อีกอย่างคือผมฝันอยากจะถ่ายหนังขาวดำมาตลอดแน่นอน ผลลัพธ์ที่ออกมาถือได้ว่างดงาม น่าหลงใหล และเป็นหนังที่เพย์นแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ทางด้านภาพอันโดดเด่นสูงสุดอย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากผลงานในอดีตของเขามักจะให้ความสำคัญกับตัวละคร การแสดง และบทสนทนามากกว่า จริงอยู่ Nebraska ก็ยังคงเป็นเน้นการวิเคราะห์ตัวละครเฉกเช่นผลงานเรื่องอื่นๆ ของเพย์น แต่คราวนี้เราจะได้สัมผัสกับงานด้านภาพที่ชวนให้ตื่นตะลึงและน่าจดจำไปพร้อมๆ กันด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพวู้ดดี้เดินเตร่ไปตามถนนไฮเวย์ โรงนาเก่าซอมซ่อ หรือถนนสายหลักของเมืองฮอว์ธอร์นที่ว่างเปล่า จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมตากล้อง ฟาดอน ปาปาไมเคิล จึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์พร้อมกับเพย์น (นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 3 หลังจาก Sideways และ The Descendants)

การถ่ายหนังเป็นขาวดำจากบทภาพยนตร์ที่เพย์นไม่ได้เขียนเองหาใช่เซอร์ไพรซ์เดียวของ Nebraska แต่ยังรวมไปถึงการเลือกดาวตลกจากรายการ Saturday Night Live อย่าง วิล ฟอร์ท มาประกบกับนักแสดงมากประสบการณ์ที่เคยเข้าชิงออสการ์และผ่านงานแสดงหนังมากว่า 140 เรื่องอย่าง บรูซ เดิร์น (รวมถึงการเลือกเหล่าผู้คนจริงๆ ตามโลเกชั่นมาเล่นเป็นตัวเองแทนการใช้นักแสดง) ผมเองก็ไม่เคยคิดจะเลือกฟอร์ทมาก่อนเพย์นยอมรับ แต่ผลการทดสอบหน้ากล้องของเขาออกมาดี เขาดูจริงใจ อ่อนหวาน และมีแผลในใจบางอย่าง ซึ่งเป็นส่วนผสมแบบที่ผมอยากได้สำหรับตัวละครนี้ อีกอย่างผมต้องการคนที่หน้าตาคล้ายกับบรูซด้วยเพื่อให้ทั้งสองดูน่าเชื่อถือในบทพ่อลูก

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในหนังของเพย์น คือ การผสมผสานดรามาเข้ากับอารมณ์ขันได้อย่างกลมกลืนจนไม่อาจระบุให้แน่ชัดลงไปได้ว่าตกลงหนังอยู่ในแนวทางไหนกันแน่ คนส่วนใหญ่มักจะจริงจังกับหนังของผมมากเกินไป... สำหรับผม พวกมันเป็นหนังตลกทุกเรื่องเพย์นกล่าว แม้กระทั่งตัวละครที่มีเรื่องราวดรามาเป็นหลัก ผมก็ยังอยากได้ดาราที่มีเซนส์ด้านการแสดงตลก เพื่อพวกเขาจะได้ช่วยดึงอารมณ์หนังไม่ให้หดหู่จนเกินไป ผมชอบที่จะให้หนังดูมีเสน่ห์และกระชับฉับไว


มาร์ติน สกอร์เซซี (The Wolf of Wall Street)

หนังความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงที่เต็มไปด้วยคำสบถ ยาเสพติด เซ็กซ์ ความโลภโมโทสัน และพฤติกรรมที่ผุกร่อนทางศีลธรรมเรื่อง The Wolf of Wall Street ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเชิดชูแนวทางชีวิตอันคดโกงและฟุ้งเฟ้อของ จอร์แดน เบลฟอร์ท ซึ่งสุดท้ายไม่ได้ถูกลงโทษอย่างสาสมกับความผิดที่หลอกเงินผู้คนจำนวนมากในตลาดหุ้นมาบำรุงบำเรอชีวิตและไลฟ์สไตล์อันสุดโต่ง ผมโดนข้อหาแบบเดียวกันนี้มาตั้งแต่ตอนทำ Mean Streets แล้วผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี กล่าว พอมาถึง Goodfellas มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ผมรู้แค่ว่าถึงคุณจะไม่นำเสนอให้เห็นเป็นภาพบนจอ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้มันจะหายไปจากสังคม

The Wolf of Wall Street เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าถึงแม้อายุอานานจะล่วงเลยมาถึงวัย 71 ปีแล้ว แต่ มาร์ติน สกอร์เซซี ยังคงช็อกคนดู ท้าทายความคิด และกล้าที่จะเสี่ยงไม่ต่างจากตอนที่เขาผลิตผลงาน อื้อฉาวอย่าง Taxi Driver และ The Last Temptation of Christ เมื่อหลายสิบปีก่อน (แม้ว่าผลงานเรื่องก่อนหน้าของเขาจะเป็นภาพยนตร์เรท PG ที่เหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัวเรื่อง Hugo ซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องที่ช็อกคนดูได้ไม่แพ้กัน) ตัวหนังอาจถูกจัดเข้าพวกกับผลงานอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ออกฉายภายในปีเดียวกันอย่าง The Great Gatsby, The Bling Ring, The Counselor, Blue Jasmine, Captain Phillips, Spring Breaker และ Pain & Gain ในความพยายามที่จะสำรวจประเทศอเมริกา ตลอดจนความฟุ้งเฟ้อแห่งวิถีทุนนิยมและผลจากความแตกต่างทางชนชั้นวิถีความคิดแบบนี้ถูกหล่อเลี้ยงอยู่ในวัฒนธรรมเราสกอร์เซซีกล่าวถึงความโลภอันเลือดเย็นในหนังเรื่องใหม่ของเขา พร้อมทั้งตอกย้ำว่าความรู้สึกโกรธแค้นและคับข้องใจมีส่วนผลักดันให้เขาตกลงใจทำหนังเรื่องนี้ ตอนเด็กๆ ไม่เคยมีใครบอกผมว่าอเมริกาถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ร่ำรวย ผมจำได้เพียงว่ามันเป็นดินแดนแห่งโอกาส แต่ในช่วง 35 ปีหลัง ค่านิยมดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนเป็นการผลักดันให้ตัวเองร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

สกอร์เซซีปฏิเสธที่จะประณามการกระทำของเบลฟอร์ทอย่างเปิดเผย แล้วปล่อยให้คนดูแต่ละคนค้นหาบทสรุปเอาเองแทนการป้อนคำตอบใส่ปาก... ถ้าเรารู้สึกฮึกเหิมจากความร่ำรวยของเบลฟอร์ท นั่นหมายความว่าเราเป็นคนอย่างไร การนำเสนอตัวละครแบบนี้ในหนังแล้วให้เขาถูกลงโทษต่อความผิดที่ได้กระทำลงไปก็แค่ทำให้เราในฐานะคนดูรู้สึกอุ่นใจ คนดูคาดหวังว่าจะได้เห็นบทเรียนทางศีลธรรม หรืออย่างน้อยก็มีข้อความตอนท้ายเรื่องอธิบายให้เห็นว่าความยุติธรรมได้บังเกิดขึ้นแล้วในสังคม แต่ผมไม่อยากให้คนดูรู้สึกว่าปัญหาถูกแก้ไขเรียบร้อย จากนั้นก็ลืมเรื่องราวทั้งหมด ผมอยากให้คนดูรู้สึกเหมือนโดนตบหน้า ทำให้พวกเขาตระหนักว่าพฤติกรรมเหล่านี้ยังคงปรากฏให้เห็นในประเทศอเมริกา มันส่งผลกระทบต่อโลกของเรา ต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน พวกเขาจะใช้ชีวิตกันอย่างไร และมีค่านิยมแบบไหนในอนาคต เจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Departed กล่าว

หนึ่งในฉากสำคัญของหนังสำหรับสกอร์เซซีเป็นตอนที่เจ้าหน้าที่ FBI แพ็ทริค เดนแฮม (ไคล์ แชนด์เลอร์) นั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านหลังจากเขาเล่นงานเบลฟอร์ทได้อยู่หมัด มันเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ฉากของหนังที่เรียบง่าย เงียบสงบ พร้อมเสียงเพลง Mrs. Robinson ของ ไซมอนและการ์ฟังเคิล ที่ดังคลอกันไป ฉากดังกล่าวตั้งคำถามกับคนดูว่า นี่หรือคือผลของการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ ผมคิดว่ามันเป็นฉากที่น่าสนใจ จอร์แดนถูกจับ แล้วไงเหรอ มันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดเดนแฮมไม่ให้ทำหน้าที่ของเขาต่อไป ส่วนเขาจะตั้งคำถามต่อความสำคัญของงานที่ตัวเองทำอยู่หรือไม่นั้น ผมก็ไม่แน่ใจได้ ชีวิตมักจะเต็มไปด้วยการดิ้นรนหาคำตอบ มันก็เหมือนกับ Goodfellas นั่นแหละ คุณอยากจะมีชีวิตเหมือนอย่าง เฮนรี ฮิล หรือเปล่า แต่ทุกอย่างย่อมมีราคาที่คุณต้องจ่ายนะ ชีวิตนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: