วันอาทิตย์, มีนาคม 16, 2557

Oscar 2014: บทสรุปที่คาดเดาได้ในปีแห่งประวัติศาสตร์


ต้องยอมรับว่าผลรางวัลออสการ์ในปีนี้ไม่มีอะไรน่าแปลกใจเลยแม้แต่สาขาเดียว ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามความคาดหมาย และเดินหน้าตามแนวโน้มของบรรดารางวัลต่างๆ ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้อย่างซื่อตรง ตั้งแต่ Critic Choice จนถึงลูกโลกทองคำ และ BAFTAโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งรางวัลใหญ่กันระหว่าง Gravity และ 12 Years a Slave ส่งผลให้คณะกรรมการ ดูดีในสายตาของหมู่มวลมหาชน ไม่มีใครสามารถหงุดหงิดกับคำตัดสินดังกล่าวได้ อาจจะยกเว้นเพียงกลุ่มคนซึ่งชื่นชอบหนังเรื่อง American Hustle เพราะมันเป็นหนังตัวเก็งที่ต้องกลับบ้านมือเปล่า แม้จะได้เข้าชิงสูงสุดถึง 10 สาขา แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

ความสำเร็จของ Gravity ในสาขาที่การแข่งขันค่อนข้างเข้มข้นอย่างลำดับภาพ ซึ่งมีคู่แข่งอย่าง Captain Phillips และ American Hustle หายใจรดต้นคอ (อันที่จริง Gravity อาจถือเป็นเต็งสองด้วยซ้ำหลังจาก Captain Phillips คว้ารางวัลจากสมาคมนักตัดต่อแห่งอเมริกามาครอง นอกจากนี้หากสังเกตจากผู้ชนะในอดีต ข้อเท็จจริงที่ว่าหนังซึ่งตัดต่อ เยอะมักเป็นผู้คว้าชัยในสาขานี้ก็ถือเป็นลางหายนะสำหรับผลงานที่อุดมไปด้วย long take อย่าง Gravity) กลายเป็นสัญญาณอันดีที่บ่งบอกว่าหนังอาจพลิกมาคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ได้ แต่สุดท้าย 12 Years a Slave ซึ่งนั่งหงอยมาตลอดทั้งงาน (แม้จะได้รางวัลที่ควรได้แบบไม่ขาดตกบกพร่องอย่างบทดัดแปลงยอดเยี่ยมและสมทบหญิงยอดเยี่ยม) กลับคว้าออสการ์ไปครองตามความคาดหมาย

เป็นเวลาหลายสิบปีที่รางวัลหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมมักจะเดินคู่กันไปบนเวทีออสการ์ แต่นี่ถือเป็นปีที่สองติดต่อกันที่พวกมันถูกแบ่งให้กับหนังสองเรื่อง

รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมของ สไปค์ จอนซ์ จาก Her เรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของกรรมการออสการ์ไปในตัว เพราะถึงแม้จอนซ์จะเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งจากการเดินหน้ากวาดรางวัลมาแล้วมากมาย แต่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าหนังอาจ พิลึกเกินไปสำหรับเหล่ากรรมการหัวโบราณ (เช่นเดียวกับผลงานในอดีตของเขาอย่าง Being John Malkovich) และนี่อาจเป็นสาขาที่พวกเขาเลือกจะมอบรางวัลชดเชยให้กับ American Hustle จากการเข้าชิงถึง 10 รางวัล แต่สุดท้าย สามัญสำนึกก็เป็นฝ่ายมีชัย

เมื่อผลรางวัลปราศจากเซอร์ไพรซ์ ภาระหนักอึ้งจึงตกอยู่บนบ่าของ เอลเลน ดีเจเนอเรส ในการสร้างชีวิตชีวาให้กับงาน ซึ่งเธอก็สอบผ่านแบบฉิวเฉียด ไม่ใช่เพราะอารมณ์ขันของเธอเท่านั้น แต่ยังเป็นความกล้าที่จะคิด นอกกรอบ ด้วยแก๊กประเภทโทรสั่งพิซซาให้กับแขกเหรื่อในงาน หรือถ่ายรูป selfie กับดารา ซึ่งเป็นการรีไซเคิลมุกเก่า เพราะตอนเธอรับหน้าที่พิธีกรในปี 2007 เธอก็เคยขอให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก ถ่ายรูปเธอกับ คลินต์ อีสต์วู้ด ระหว่างถ่ายทอดสดมาแล้ว โดยบอกว่าจะนำไปโพสต์ใน Myspace (ชะตากรรมของ Myspace ในตอนนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกของสังคมออนไลน์นั้นเปลี่ยนเทรนด์ไปมาอยู่ตลอดเวลา และไม่แน่ Twitter ก็อาจประสบชะตากรรมเดียวกันในอีก 10 ปีข้างหน้า) ทั้งสองไอเดียถือว่าประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ทั้งนี้เนื่องจากเหล่าดาราเอลิสต์ต่างให้ความร่วมมือกันอย่างคับคั่ง (เมอรีล สตรีพ คว้าพิซซามากินอย่างไม่หวาดหวั่น แม้เธอจะสวมชุดเดรสสีขาว) ทำให้สองปรากฏการณ์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในโลกของโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านพิซซา Big Mama’s & Papa’s Pizzaria ได้มหาศาล

(หมายเหตุ: เด็กส่งพิซซามีชื่อว่า เอ็ดการ์ มาร์ทริรอยแซน เอลเลนบอกกับเขาว่าจะนำพิซซาไปมอบให้ทีมนักเขียนหลังเวที ก่อนชายหนุ่มจะช็อกสุดขีดเมื่อเธอหลอกเขาให้เดินออกมาหน้าเวทีระหว่างการถ่ายทอดสด ในรายการ The Ellen DeGeneres Show วันรุ่งขึ้น เอลเลนได้มอบค่าทิป ซึ่งเธอรวบรวมมาได้จาก ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน, จอห์น ทราโวลต้า, เควิน สเปซีย์ และ แบรด พิทท์ ให้กับเด็กส่งพิซซา มันตกอยู่ที่ประมาณ 600 ดอลลาร์ จากนั้นเธอก็เพิ่มทิปให้เขาอีก 400 เพื่อจะได้ลงตัวที่ 1000 ดอลลาร์พอดีมันบ้ามากๆเอ็ดการ์พูดถึงประสบการณ์ดังกล่าว ก่อนจะเปิดเผยว่าดาราที่เขาตื่นเต้นที่ได้เจอตัวเป็นๆ มากที่สุด คือ จูเลีย โรเบิร์ตส์ เธอเป็นเหมือนผู้หญิงในฝันของผม ผมติดตามดูหนังที่เธอเล่นมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ที่มอสโคว์”)

ผู้ชมในอเมริกาเปิดมาดูงานออสการ์ปีนี้มากกว่า 40 ล้านคน สูงกว่าสถิติจากปีก่อนประมาณ 7% และสูงที่สุดนับจาก Lords of the Rings: The Return of the King ได้รางวัลออสการ์มาครอง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่หนังมหาฮิตอย่าง Gravity เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ชมดังกล่าวยังเทียบไม่ได้กับปี 1998 เมื่อ Titanic คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมมาครอง โดยในปีนั้นมีชาวอเมริกันมากกว่า 55 ล้านคนเปิดมาชมงานประกาศผล


Memorable Quotes

·   “คืนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ มีความเป็นไปได้มากมาย ความเป็นไปได้ข้อที่ 1 หนังเรื่อง 12 Years a Slave ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยม ความเป็นไปได้ข้อที่ 2 พวกคุณทุกคนเป็นพวกเหยียดผิว... กรุณาปรบมือต้อนรับผู้ประกาศรางวัลผิวขาวคนแรกของเรา แอนน์ แฮทธาเวย์เอลเลน ดีเจเนอเรส

·   “(และขอบคุณ) บรรดามาเฟีย (wise guys) แห่ง วอร์เนอร์ บราเธอร์ส... เอ่อ บรรดาคนฉลาด (wise people) แห่ง วอร์เนอร์ บราเธอร์สอัลฟอนโซ คัวรอน (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Gravity)

·   “เมื่อใดก็ตามที่ฉันมองดูตุ๊กตาสีทองตัวนี้ มันจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ฉัน และเด็กๆ ทุกคนตระหนักว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากไหน ความฝันของคุณสามารถเป็นจริงได้เสมอลูพีตา นียังโก (นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก 12 Years a Slave)

·   “ฉันภูมิใจมากที่หนังเรื่อง Blue Jasmine ยืนโรงฉายได้นานขนาดนี้ ขอบคุณ โซนี คลาสสิก ไมเคิลและทอม ที่จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ด้วยความกล้าหาญและชาญฉลาด และขอบคุณคนดูที่ไปอุดหนุน สำหรับใครก็ตามในวงการที่ยังคงยึดติดอยู่กับความคิดคร่ำครึว่าหนังที่มีผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่องคือประสบการณ์สำหรับคนกลุ่มน้อย พวกคุณคิดผิด ผู้ชมอยากดูหนังเหล่านี้ และความจริง คือ พวกมันเป็นหนังทำเงิน โลกนี้กลม รู้ไว้ซะด้วยเคท แบลนเช็ตต์ (นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Blue Jasmine)

·   “ฉันไม่อยากให้พวกคุณคิดว่านี่คือการแข่งขัน มันเป็นการเฉลิมฉลองมากกว่า... แต่ใครจะเชื่อ นี่มัน The Hunger Games ชัดๆ มีกล้องติดตั้งอยู่ทั่วทุกมุม ทุกคนหิวโหย และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เป็นผู้ชนะจากปีก่อน นี่แหละ The Hunger Gamesเอลเลน ดีเจเนอเรส

·   “เมื่อปี 1971 ที่เมืองบอสเซียร์ รัฐลุยเซียนา มีเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งตั้งท้องลูกคนที่สอง เธอเรียนไม่จบชั้นมัธยมและต้องเลี้ยงดูลูกๆ เพียงลำพัง แต่เธอก็กัดฟันสร้างชีวิตดีๆ ให้กับตัวเองและลูกๆ ได้สำเร็จ เธอสนับสนุนให้พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์และทำงานหนัก เด็กสาวคนนั้นคือแม่ของผม และเธอก็อยู่ที่นี่ในคืนนี้ ผมแค่อยากจะบอกว่า ผมรักแม่ครับ ขอบคุณที่สอนให้ผมมีความฝัน... และผมขออุทิศรางวัลนี้ให้กับผู้คน 36 ล้านคนที่พ่ายแพ้ต่อโรคเอดส์ และทุกคนที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมเพียงเพราะตัวตนที่คุณเป็นและบุคคลที่คุณเลือกจะรัก คืนนี้ผมขอยืนหยัดต่อหน้าคนทั้งโลกเคียงข้างคุณและเพื่อคุณ ขอบคุณมากครับและราตรีสวัสดิ์แจเร็ด เลโต (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Dallas Buyers Club)

·   เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ฮอลลีวู้ดต้องพึ่งพาเวทมนต์พิเศษบางอย่างในการสร้างวีรบุรุษแห่งโลกภาพยนตร์ที่มีรูปลักษณ์และขนาดแตกต่างกันไป จากยักษ์ในตะเกียงวิเศษ ไปจนถึงของเล่นพูดได้ ช้างบินได้ และเพนกวินเต้นได้ แน่นอน เวทมนต์ที่ผมกำลังพูดถึงก็คือ แอลเอสดี... (หยิบแว่นขึ้นมาใส่) สงสัยผมจะอ่านผิด ก็คือ แอนิเมชั่น ว้าว คนละเรื่องกันเลย จิม แคร์รี ขณะขึ้นมากล่าวแนะนำคลิปฮีโร่ในหนังการ์ตูน



And the Oscar Goes to... Samsung

ผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของงานออสการ์ปีนี้ ไม่ใช่ Gravity ซึ่งคว้าออสการ์มาครอง 7 ตัว หรือ 12 Years a Slave ซึ่งคว้ารางวัลสูงสุดมาครอง แต่เป็น บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของงาน และทุ่มงบไปกว่า 20 ล้านเพื่อลงโฆษณาระหว่างช่วงพักเบรก แต่กลับได้ประโยชน์สูงสุดจากกลยุทธ์ product placement ขั้นเทพด้วยการให้พิธีกร เอลเลน ดีเจเนอเรส ใช้โทรศัพท์ซัมซุงรุ่น Galaxy Note 3 เพื่อถ่ายรูป selfie แห่งประวัติศาสตร์ โดยบุคคลภายในรูปประกอบด้วย แจเร็ด เลโต, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, เมอรีล สตรีพ, เอลเลน, แบรดลีย์ คูเปอร์, ปีเตอร์ นียังโก (น้องชายของลูพีตา), แชนนิง ตาตัม, จูเลีย โรเบิร์ตส์, เควิน สเปซีย์, แบรด พิทท์, ลูพีตา นียังโก และ แองเจลินา โจลี นาทีดังกล่าวอาจดูเป็นธรรมชาติ แต่จริงๆ ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว (เป็นหนึ่งในข้อตกลงของดีล 20 ล้านเหรียญที่ซัมซุงทำไว้กับสถานี ABC) โดยในวันซ้อม ผู้บริหารของซัมซุงต้องมาเปิดคอร์สฝึกฝนเอลเลนให้สามารถใช้ Samsung Galaxy ได้อย่างคล่องแคล่ว (มีคนแอบถ่ายภาพเบื้องหลังเวทีได้ว่าโทรศัพท์จริงๆ ของเอลเลน คือ ไอโฟน) “มันเป็นเทคนิคประชาสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมของซัมซุงนักวิเคราะห์การตลาดกล่าว ภาพ selfie ของเอลเลนจะทรงอิทธิพลมากกว่าโฆษณาหลายเท่า เงินอย่างเดียวไม่อาจเนรมิตปรากฏการณ์ไวรอลแบบนี้ได้” (ซัมซุงเป็นผู้นำทางด้านยอดขายสมาร์ทโฟนในตลาดโลก แต่ยังคงตามหลังไอโฟนในตลาดอเมริกา)


Simply the Best

·   เสน่ห์อย่างหนึ่งของงานออสการ์ครั้งนี้ คือ ความพยายามจะลดทอนบรรยากาศตึงเครียดและเป็นทางการของงาน ซึ่งคงไม่มีใครเชี่ยวชาญ (หรือกล้าบ้าบิ่น) มากเท่า เอลเลน ดีเจเนอเรส ตั้งแต่การเนรมิตงานออสการ์ให้กลายเป็นปาร์ตี้พิซซา หรือการถ่ายรูป selfie ลง Twitter ร่วมกับเหล่าซูเปอร์สตาร์ทั้งหลาย พร้อมคำบรรยายว่า คงจะดีถ้าแขน แบรดลีย์ คูเปอร์ ยาวกว่านี้ ภาพถ่ายที่ดีที่สุดตลอดกาลนำไปสู่การทุบสถิติรูปที่ถูก retweet มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจนถึงตอนบ่ายของวันจันทร์ รูปดังกล่าวถูก retweet มากถึง 2.8 ล้านครั้ง ทิ้งห่างเจ้าของสถิติเดิม นั่นคือ รูปประธานาธิบดี บารัค โอบามา กอดกับภรรยาหลังชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2012 ซึ่งถูก retweet ทั้งหมด 810,000 ครั้ง

·   หลังการบีบบังคับให้คนได้รางวัลรีบพูดและรีบลงไปจากเวทีก้าวไกลไปถึงจุดก้ำกึ่งระหว่างหยาบคายและหยอกเอินในปีก่อนด้วยการเล่นเพลงธีมจากหนังเรื่อง Jaws ไล่ผู้ชนะที่พล่ามเกินเวลาที่กำหนด มาปีนี้ทีมงานได้แก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวได้อย่างสวยงามด้วยการ ไม่เล่นดนตรีไล่ใครลงจากเวที

·   ถ้าใครก็ตามคิดว่า แบรด พิทท์ ยังไม่ตรงกับสเปคผู้ชายในฝันมากพอ งานออสการ์ครั้งนี้จะช่วยลบข้อสงสัยใดๆ ที่อาจหลงเหลืออยู่ในใจคุณ ขณะเห็นเขาจุมพิตหน้าผากภรรรยา หลังจบคลิปจากงาน Governors Awards ซึ่ง แองเจลินา โจลี ได้รางวัล Jean Hersholt Humanitarian Award (อันที่จริง ออสการ์ควรนำเอาช่วงรางวัลเกียรติยศกลับมาผนวกในรายการถ่ายทอดสดได้แล้ว และปีที่ผ่านมาก็ถือเป็นหลักฐานที่จะช่วยสนับสนุนข้อเสนอแนะนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะสุนทรพจน์ขณะขึ้นรับรางวัลของ แองเจลินา โจลี ถือว่าสุดยอดมาก เช่นเดียวกับสุนทรพจน์ของ สตีฟ มาร์ติน และ แองเจลา แลนส์เบอรี) จากนั้น เมื่อพิซซาถูกนำมาส่ง เขาก็แสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการช่วยเหลือเอลเลนกับเด็กส่งพิซซาแจกจ่ายจานกระดาษให้กับเหล่าดาราผู้หิวโหยทั้งหลาย # แองเจลินา โจลี หล่อนโชคดีมาก

·   ในเบรกหนึ่งก่อนหน้าจะตัดเข้าโฆษณา เอลเลน ดีเจเนอเรส ย่องมาโผล่มาข้างหลัง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ แซนดร้า บูลล็อค เพื่อพูดกับกล้องว่า เตรียมพบกับเซอร์ไพรซ์อีกมากในช่วงถัดไปเล่นเอาสองซูเปอร์สตาร์ตกใจจนหน้าเหวอ (โดยเฉพาะลีโอนาร์โด) มันเป็นจังหวะเรียกเสียงฮาแบบง่ายๆ และขณะเดียวกันก็น่าประหลาดใจไม่น้อยที่แก๊กดังกล่าวได้ผล เพราะกล้องน่าจะต้องตามติดพิธีกรอย่างเอลเลนอยู่ตลอดเวลาจนไม่น่าเชื่อว่าเธอจะสามารถโผล่ไปด้านหลังเก้าอี้ใครโดยไม่ให้คนๆ นั้นรู้ตัวได้ แต่อย่างว่า ซูเปอร์สตาร์แบบบูลล็อคกับดิคาปริโอคงเคยชินกับการมีกล้องเวียนว่ายไปมารอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา (ใครที่เป็นแฟนประจำของรายการทอล์คโชว์ The Ellen DeGeneres Show จะรู้ดีว่าการแกล้งดาราเป็นเหมือนของหวานสำหรับดีเจเนอเรส)

·   ความโก๊ะของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กำลังจะกลายเป็นธรรมเนียมออสการ์ไปแล้ว เมื่อปีก่อน เธอสะดุดชุดตัวเองตอนเดินขึ้นบันไดไปรับรางวัล มาปีนี้เธอรีบขโมยซีนก่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน ด้วยการสะดุดโคนกั้นสีส้มระหว่างลงจากรถมาเดินบนพรมแดง จนโดนเอลเลนหยิบมาใช้เป็นมุกล้อเลียนในช่วงเปิดงานว่า ถ้าคืนนี้คุณชนะรางวัล ฉันคิดว่าเราควรเอาออสการ์ไปมอบให้คุณ

·   ถึงแม้ Happy จะพลาดรางวัลเพลงยอดเยี่ยมให้กับ Let It Go แต่โชว์ของ ฟาร์เรล วิลเลียมส์ ถือเป็นโชว์ที่ดีที่สุดในบรรดา 4 เพลงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าเขากระโดดลงมาจากเวทีเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ชมให้สนุกไปกับเพลง ส่งผลให้พวกเรามีโอกาสเห็น ลูพีตา นียังโก, เมอรีล สตรีพ และ เอมี อดัมส์ โชว์ลีลาการเต้นแบบที่คงไม่มีให้เห็นได้บ่อยๆ

·   เซอร์ไพรซ์ที่น่าประทับใจเกิดขึ้นตอน ดาร์ลีน เลิฟ ร้องเพลง His Eye Is on the Sparrow ขณะขึ้นรับรางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยมพร้อมกับทีมงาน 20 Feet from Stardom ซึ่งเล่าถึงชีวิตของเหล่านักร้องแบ็คอัพทั้งหลาย และเลิฟคือหนึ่งในนั้น เธอเคยร้องแบ็คอัพให้กับน้องร้องชื่อดังมากมาย อาทิ เอลวิส เพรสลีย์, แฟรงค์ ซินาตรา, อาเรธา แฟรงคลิน และ บรูซ สปริงส์ทีน แน่นอนว่าเสียงตอบรับต่อเซอร์ไพรซ์ดังกล่าว คือ การที่คนทั้งฮอลลุกขึ้นยืนปรบมือเป็นเกียรติให้เธอ (เมื่อ U2 เล่นเพลง Ordinary Love จากหนังเรื่อง Mandela: Long Walk to Freedom จบ โบโนตบท้ายการแสดงด้วยการตะโกนชื่อ ดาร์ลีน เลิฟ”) มนต์เสน่ห์ดังกล่าวทำให้หลายคนกล้ำกลืนความช้ำใจได้ง่ายขึ้น เมื่อ The Act of Killing พลาดรางวัลที่สมควรได้รับไปอย่างน่าเสียดาย


WTF Moments

·   วัยชราทำท่าจะไล่ตาม จอห์น ทราโวลต้า มาติดๆ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมองจอป้อนบทไม่ชัด หรือจู่ๆ สมองเกิดเบลอขึ้นมากะทันหัน เขาถึงลงเอยด้วยการอ่านชื่อของ เอดีนา เมนเซล ผิดไปเป็นคนละคน ทั้งที่ชื่อเธอก็ไม่ได้ออกเสียงยากเย็นในระดับเดียวกับสองนักแสดงนำจาก 12 Years A Slave สักหน่อย สุดท้ายเขากล่าวแนะนำนักแสดงจากละครเพลงสุดฮิตเรื่อง Wicked ที่กำลังจะโชว์พลังแปดหลอดบนเวทีเพื่อร้องเพลง Let It Go ว่าชื่อ อเดล ดาซีมหรืออะไรทำนองนั้น ที่สำคัญ เมื่อพูดผิดไปแล้ว ทราโวลต้าก็ไม่ได้พยายามจะพูดใหม่ให้ถูกต้อง (กรณีที่ลิ้นของเขาเกิดพันกันจนพูดผิดไปโดยไม่ตั้งใจ) แต่กลับปล่อยผ่านไปเฉยๆ... โชคดีที่ เอลเลน ดีเจเนอเรส เข้ามาช่วยแก้ไขความผิดพลาดด้วยการกล่าวขอบคุณเมนเซลหลังจากเธอร้องเพลงจบแล้ว

·   รางวัลนักแสดง หน้าใหม่แห่งค่ำคืนนี้ตกเป็นของ โกลดี้ ฮอว์น , ไลซา มินเนลลี, จอห์น ทราโวลต้า และ คิม โนแว็ค พวกเขาดูเหมือนอดีตซูเปอร์สตาร์ที่สร้างชื่อเสียงจากหนังอย่าง Private Benjamin, Cabaret, Pulp Fiction และ Vertigo ตามลำดับ แต่ปัจจุบันกลับเหมาะจะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ซึ่งทุกอย่างดูคล้ายจริง แต่ไม่ใช่ของจริงเสียทีเดียว งานนี้คนที่โดนเมาท์หนักสุดคงหนีไม้พ้นนักแสดงหญิงจากหนังที่เพิ่งได้รับการโหวตว่าดีที่สุดในโลก เช่น Time ยกให้เธอเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการประกาศรางวัลหนังการ์ตูนยอดเยี่ยม เพราะมันตกเป็นของหนังเรื่อง “Frozen” ส่วนในโลกของทวิตเตอร์ก็โหดร้ายไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่น ฉันนึกว่า คิม โนแว็ค ออกมาแนะนำหนังเรื่อง Mask ซะอีก... บางทีแก๊กตลกของเอลเลนในช่วงเปิดงานอาจใกล้เคียงความจริงเกินกว่าจะขำออกเมื่อเธอพูดว่า ภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจให้เรา ฉันไม่ได้หมายความว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลกนี้ คือ วัยเยาว์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด ไลซา มินเนลลี จึงไม่ค่อยฮาไปกับมุกตลกที่เอลเลนล้อเลียนว่าเธอเป็นกะเทยแปลงเพศที่แต่งตัวเลียนแบบ ไลซา มินเนลลี สักเท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะมุกดังกล่าวมัน จริงเกินไป

·   บางทีก็น่าสงสัยว่าคนตัดคลิปสำหรับนำมาใช้งานออสการ์ซัดกระทิงแดงไปกี่ขวดระหว่างเร่งงานให้ทันเส้นตาย พวกเขาชอบสร้างปริศนาน่าฉงนเป็นประจำ กับหลักตรรกะแปลกๆ โดยคลิปชุดแรกที่ แซลลี ฟิลด์ ออกมาแนะนำพอจะเมกเซนส์อยู่บ้าง เพราะเป็นการรวบรวมบรรดาหนังชีวประวัติบุคคลที่สร้าง วีรกรรมเอาไว้ให้โลกจารึก ตามธีมของงานในปีนี้ นั่นคือ วีรบุรุษ/สตรี อาทิ Gandhi, Norma Rae, Lincoln, Lawrence of Arabia และ Captain Phillips ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่น แม้จะน่าเบื่ออยู่สักหน่อย (หรือถ้าจะพูดตรงๆ คือ คลิปเหล่านี้ไม่มีประโยชน์โพดผล นอกเหนือจากทำให้งานยืดยาดเกินจำเป็น มันไม่ตลก ฉลาด หรือสร้างอารมณ์ฮึกเหิม ซาบซึ้งใดๆ) แต่เรื่องชวนพิศวงปรากฏขึ้นในคลิปชุดที่สอง ซึ่งได้กัปตันอเมริกา คริส อีแวนส์ ออกมาแนะนำ โดยหลักการแล้ว มันน่าจะเป็นคลิปของบรรดา ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย  ซึ่งหนังอย่าง Iron Man, The Amazing Spider-Man, Captain America, Man of Steel และ The Avengers ถือว่าเข้าพวก ส่วนหนังอย่าง The Hunger Games, Star Wars, Harry Potter, Die Hard ก็พอจะกล้อมแกล้มจับยัดเข้ามาได้ (อีกหนึ่งความพยายามของผู้จัดงานที่จะเอาใจเหล่านักดูหนังตลาดทั้งหลาย?) แต่คำถามที่เกิดขึ้น คือ คลิปจาก Footloose และ Beasts of the Southern Wild มันเข้าพวกกับเรื่องอื่นๆ ตรงไหนเหรอ #ดื่มวีต้าแล้วไปนอนก่อนดีมั้ย

·   แน่นอนว่า เบ็ตต์ มิดเลอร์ สามารถครวญเพลง Wind Beneath My Wings ได้แบบไม่มีหลงโน้ตแม้กระทั่งในยามหลับ และครั้งนี้เสียงร้องของเธอก็ยังน่าฟังเช่นเคย แม้ว่าเพลงที่นำมาร้องจะถูกใช้ซ้ำไปซ้ำมาบ่อยครั้งในหลายๆ โอกาสจนเกร่อไปแล้วก็ตาม แต่เหตุใดโปรดิวเซอร์จึงเลือกให้เธอมาร้องเพลง หลังจาก คลิปไว้อาลัยผู้จากไปเล่นเสร็จแล้ว (พร้อมกับเสียงดนตรีซาวด์แทร็กแสนหวานปนเศร้าจากหนังเรื่อง Somewhere in Time ประพันธ์โดย จอห์น แบร์รี) แทนที่จะให้เธอร้อง ควบคู่ไปกับคลิป หรือพวกเขาคิดว่าแค่ 3 ชั่วโมงยังถือว่ายาวไม่พอ ควรจะลากงานให้ยืดยาวเป็น 4 ชั่วโมงไปเลยจะดีกว่า

·   ไม่ใช่ว่าหนังคลาสสิกอย่าง The Wizard of OZ ไม่สมควรได้รับการเชิดชู หรือคาราวะ แต่อะไรเป็นเหตุผลให้มันกลายเป็นหนังเรื่องเดียวที่ถูกพูดถึงจากปีนั้น (หากเหตุผล คือ การฉลองครบรอบ 75 ปี) หรือว่าหนังอย่าง Gone with the Wind, Stagecoach และ Only Angels Have Wings ไม่มีคุณค่าพอให้เฉลิมฉลอง (โอเค หนังอย่าง Gone with the Wind อาจไม่เหมาะสำหรับเวทีออสการ์ในปีที่หนังอย่าง 12 Years a Slave เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งเท่าใดนัก) เหตุผลสำหรับจัดพิธีสดุดีดังกล่าวน่ากังขาพอๆ กับการสดุดีหนังเพลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของงานออสการ์ปีก่อน และที่สำคัญ ถ้าออสการ์อยากจะให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ รากเหง้า และความสำเร็จในเชิงศิลปะอย่างแท้จริงละก็ ทำไมถึงไม่เอาเวลาอันมีค่าเหล่านั้นไปอุทิศให้กับการมอบรางวัลเกียรติยศแก่บรรดาศิลปินระดับตำนานในวงการภาพยนตร์ แทนการตัดต่อคลิปของหนังทำเงินมากมาย หรือสดุดีหนังเก่าคลาสสิกเพียงหนึ่งเรื่องโดยปราศจากความจำเป็นใดๆ นอกจากนี้ ไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้ผู้จัดงานเลือกพิงค์มาร้องเพลง Over the Rainbow จริงอยู่เธอทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คำถาม คือ เธอมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับหนังเรื่องนี้ หรือนี่ก็แค่อีกหนึ่งความพยายามที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น ส่วนดาราดังที่เกี่ยวพันกับหนังเรื่องนี้โดยตรงอย่าง ไลซา มินเนลลี ซึ่งมีพรสวรรค์ในการร้องเพลงไม่แพ้ จูดี้ การ์แลนด์ ต้นตำรับเสียงร้องของเพลงอมตะดังกล่าว กลับถูกเชิญให้มานั่งเฉยๆ โดยไม่ได้ขึ้นมากล่าวแนะนำหนังด้วยซ้ำ (คนทำหน้าที่นั้นกลายเป็น วูปปี้ โกลด์เบิร์ก ซึ่งก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าเกี่ยวพันกับหนังเรื่องนี้อย่างไร)... บางทีสิ่งเดียวที่เมกเซนส์สำหรับช่วงสดุดีดังกล่าว คือ การได้เห็นเอลเลนสวมชุด แม่มดใจดี กลินดา แบบเต็มยศ

·   ถ้าคุณยังไม่หลับไปเสียก่อน คุณอาจสัมผัสได้ถึงพลังมาคุบางอย่างหลังจาก เพเนโลปี ครูซ ประกาศว่าหนังเรื่อง 12 Years a Slave เป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ทั้งนี้เพราะขณะที่ จอห์น ริดลีย์  ขึ้นไปรับรางวัล เขาต้องเดินผ่านผู้กำกับ สตีฟ แม็คควีน แบบเต็มๆ แต่ทั้งสองกลับไม่แม้แต่จะหันมาสบตากันด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่กอด หรือจับมือแสดงความยินดีเลย และริดลีย์ก็ไม่ได้เอ่ยชื่อแม็คควีนในคำกล่าวขอบคุณบนเวทีด้วย (ซึ่งแม็คควีนก็ตอบแทนด้วยการไม่เอ่ยถึงริดลีย์เช่นกันตอนเขาขึ้นไปรับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) รอยบาดหมางดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่แม็คควีนอ้างว่าเขามีส่วนร่วมในการแก้ไขบทหนัง และเรียกร้องขอเครดิตเขียนบทร่วม แต่ถูกริดลีย์ปฏิเสธ ฟ็อกซ์ เซิร์ชไลท์ เข้าข้างริดลีย์ ส่วนคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะลดทอนความร้อนแรงของประเด็นดังกล่าวด้วยการหุบปากเงียบ เพื่อไม่ให้มันส่งผลร้ายต่อโอกาสคว้ารางวัลออสการ์ของหนัง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ริดลีย์มีปัญหากับผู้กำกับ เพราะเมื่อ 15 ปีก่อนเขาก็เคยงัดข้อแบบเดียวกันกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ มาแล้วเกี่ยวกับเครดิตของหนังเรื่อง Three Kings แต่ครั้งนั้น WGA ได้ตัดสินให้ริดลีย์ได้เครดิต เรื่องโดยส่วนรัสเซลล์ได้เครดิต บทภาพยนตร์โดยอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรอยร้าวแต่เก่าก่อนจะหายสนิทแล้ว เพราะระหว่างเดินไปรับรางวัลริดลีย์ได้แวะกอดกับรัสเซลล์ ส่วนในกรณีของแม็คควีนนั้น เราคงต้องรอดูผลกันต่อไป... บางทีคราวนี้อาจจะใช้เวลาแค่ 10 ปี


Fun Facts

·   American Hustle เป็นหนังเรื่องแรกนับจาก Sunset Boulevard (1950) ที่ได้เข้าชิงสาขานักแสดงครบทั้งสี่สาขา แต่พลาดรางวัลไปหมด และเป็นหนังเรื่องที่ 3 จากทั้งหมด 15 เรื่องที่ไม่ได้รางวัลการแสดงกลับบ้านจากการเข้าชิงใน 4 สาขา (อีกเรื่อง คือ My Man Godfrey ในปี 1936) นอกจากนี้ สถิติชีช้ำยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น นี่ยังถือเป็นหนังเรื่องที่สามนับจาก Gangs of New York และ True Grit ที่ได้เข้าชิง 10 รางวัล แล้วไม่มีอะไรติดมือกลับไปเลย โดยสถิติสูงสุดยังคงเป็นของ The Color Purple และ The Turning Point ที่เข้าชิง 11 รางวัล แต่ได้ 0

·   12 Years a Slave กลายเป็นหนังที่กำกับโดยผู้กำกับผิวดำเรื่องแรกที่คว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์มาครอง ส่วน สตีฟ แม็คควีน ก็เป็นผู้กำกับผิวดำคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์เท่านั้นที่ได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ต่อจาก จอห์น ซิงเกิลตัน (Boyz n the Hood) และ ลี เดเนียลส์ (Precious) ขณะที่ อัลฟอนโซ คัวรอน สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้กำกับเชื้อสายละตินคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครอง

·   ชัยชนะจากการแต่งเพลง Let It Go ทำให้ บ็อบบี้ โลเปซ กลายเป็นบุคคลที่ 12 ในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดจาก 4 วงการมาครองได้แบบหมดจด ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า EGOT (Emmy, Grammy, Oscar, Tony) แถมเขายังเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุด (39 ปี) ที่บรรลุสุดยอดปรารถนาดังกล่าวอีกด้วย โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยได้รางวัลโทนีจาก Avenue Q และ The Book of Mormon ได้รางวัลแกรมมีจาก The Book of Mormon และได้รางวัลเอ็มมีจาก Wonder Pets ส่วนบุคคลที่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกันในอดีตก็เช่น ออเดรย์ เฮปเบิร์น, เมล บรู้กส์, วูปปี้ โกลด์เบิร์ก, ไมค์ นิโคลส์ และ ริชาร์ด ร็อดเจอร์ส

·   เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ซึ่งทำสถิติเป็นนักแสดงหญิงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้เข้าชิงออสการ์สามครั้ง (23 ปี) ทำลายสถิติเดิมของ เทเรซา ไรท์ ซึ่งอายุ 24 ปีตอนถูกเสนอชื่อเข้าชิงเป็นครั้งที่สาม กลายเป็นนักแสดงหญิงคนแรกในรอบ 13 ปีนับแต่รางวัล BAFTA ย้ายมาประกาศก่อนหน้ารางวัลออสการ์ ที่สามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำและ BAFTA มาครอง (สมทบหญิงจาก American Hustle) แต่กลับพลาดรางวัลบนเวทีออสการ์ให้กับ ลูพีตา นียังโก (12 Years a Slave) ซึ่งเป็นผู้ชนะบนเวที SAG ตัวอย่างของผู้ชนะควบสองเวทีข้างต้น แล้วเดินหน้าคว้ารางวัลออสการ์มาครองก็เช่น เมอรีล สตรีพ (The Iron Lady) ที่มีชัยเหนือเจ้าของรางวัล SAG วีโอลา เดวิส (The Help) และ มาริยง โกติญาร์ (La Vie En Rose) ที่มีชัยเหนือเจ้าของรางวัล SAG จูลี คริสตี้ (Away From Her)

·   หนังที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองมากสุด แต่พลาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ Cabaret ซึ่งถือครองสถิติจากการคว้าออสการ์มาครอง 8 ตัว รวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่พลาดรางวัลสูงสุดให้กับ The Godfather ที่ได้สามรางวัลเหมือน 12 Years a Slave นั่นคือ หนัง นำชาย และบทดัดแปลง อันดับที่สองได้แก่ Gravity ซึ่งได้ 7 รางวัลออสการ์ รวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยม อันดับสามได้แก่ A Place in the Sun ซึ่งได้ 6 ออสการ์ รวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่พ่ายแพ้ในสาขาหนังยอดเยี่ยมให้กับ An American in Paris

รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

Best Picture: 12 Years a Slave
Best Director: Alfonso Cuaron (Gravity)
Best Actress: Cate Blanchett (Blue Jasmine)
Best Actor: Matthew McConaughey (Dallas Buyers Club)
Best Supporting Actress: Lupita Nyong’o (12 Years a Slave)
Best Supporting Actor: Jared Leto (Dallas Buyers Club)
Best Foreign Language Film: The Great Beauty (Italy)
Best Animated Feature: Frozen
Best Documentary Feature: 20 Feet from Stardom
Best Adapted Screenplay: 12 Years a Slave
Best Original Screenplay: Her
Best Cinematography: Gravity
Best Film Editing: Gravity
Best Original Score: Gravity
Best Production Design: The Great Gatsby
Best Costume Design: The Great Gatsby
Best Sound Editing: Gravity
Best Sound Mixing: Gravity
Best Visual Effects: Gravity
Best Makeup and Hair: Dallas Buyers Club
Best Original Song: Let It Go (Frozen)
Best Documentary Short: The Lady in Number 6
Best Animated Short: Mr. Hublot
Best Live Action Short: Helium

ไม่มีความคิดเห็น: