วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: พอล โธมัส แอนเดอร์สัน


ถึงแม้หนังของเขาส่วนใหญ่จะมีการดึงเอาประสบการณ์ ความทรงจำ และรายละเอียดบางอย่างในอดีตมาใช้ จนบางครั้งก็มีลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติอยู่ไม่น้อย แต่ตัวตนที่แท้จริงในอดีตของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่ เขาตัดขาดจากเพื่อนๆ วัยเด็ก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัว หรืออาจเป็นแค่กาลเวลาบีบบังคับให้เขาก้าวไปข้างหน้าต่อโดยไม่หันหลังกลับ  หรือบางทีเขาอาจต้องการจะสร้างตัวตนใหม่แบบเดียวกับตัวละครมากมายในหนังของเขา บ้างเริ่มต้นฝึกฝนอาชีพนักพนัน (Hard Eight) บ้างจับพลัดจับผลูไปเป็นดาราหนังโป๊ (Boogie Nights) หรือไม่ก็เข้าร่วมลัทธิ (The Master) และบ้างก็พยายามจะหลบหนีชีวิตอันน่าอึดอัดด้วยการซื้อพุดดิ้งจำนวนมาก (Punch-Drunk Love) หนังอีกหลายเรื่องอาจมองชีวิตของคนเหล่านี้ด้วยท่าทีล้อเลียน หรือเยาะหยันอยู่ในที แต่ไม่ใช่แอนเดอร์สัน เพราะเขาเลือกจะวาดภาพนักฝันที่เปลี่ยวเหงา หลงทางด้วยความอ่อนโยน คนเหล่านี้ไม่ใช่ตัวประหลาด แต่เป็นเพื่อน เป็นสมาชิกครอบครัวที่เขาพร้อมจะให้กำลังใจ ตบหน้าสักสองสามฉาดเพื่อเตือนสติ หรือกระทั่งสาดฝนกบใส่หากนั่นจะทำให้พวกเขาตื่นมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง

นักดูหนังจำนวนไม่น้อยยกย่อง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ยังผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ในระยะหลังเขามีวี่แววว่าจะเว้นวรรคค่อนข้างนาน (5 ปีนับจาก Punch-Drunk Love มาถึง There Will Be Blood และอีก 5 ปีกว่าจะมาถึง The Master) สาเหตุหลักเป็นเพราะหนังของแอนเดอร์สันเต็มไปด้วยงานภาพสุดตระการตา (ใครที่ได้ดู Boogie Nights ย่อมไม่อาจลืมฉากลองเทคอันลือลั่นเมื่อกล้องตามติดตัวละครลงไปในสระว่ายน้ำ) ตัวละครที่น่าสนใจ บ้าคลั่ง และชวนให้ค้นหา ความทะเยอทะยานทางการเล่าเรื่อง (15 นาทีแรกของ There Will Be Blood ปราศจากบทพูด) ตลอดจนการแสดงอันทรงพลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพรสวรรค์เฉพาะตัวของนักแสดง เช่น เดเนียล เดย์ ลูว์อิสต์ และ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะแอนเดอร์สันเลือกจะหยิบเอา เอกลักษณ์ที่ติดตัวนักแสดงคนนั้นมาใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เช่น อดัม แซนด์เลอร์ และ ทอม ครูซ

ผลงานในยุคแรกของแอนเดอร์สันดูจะได้รับอิทธิพลชัดเจนจากผู้กำกับอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี และ โรเบิร์ต อัลท์แมน เนื่องจากพวกมันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงาน ทั้งด้านการใช้เทคนิคภาพยนตร์แบบจัดเต็มและการเล่าเรื่องตัวละครกลุ่มใหญ่สลับกันไปมา แต่เห็นได้ชัดว่างานในยุคหลังของแอนเดอร์สันเริ่มนิ่งขึ้นในแง่สไตล์ แล้วก้าวเข้าใกล้ผลงานของ สแตนลีย์ คูบริค ผู้กำกับในดวงใจเขา มากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่การผลักคนดูให้ถอยห่างออกจากเรื่องราวและตัวละคร รวมถึงโทนอารมณ์เย็นชา ไม่ยินดียินร้าย แตกต่างจากหนังยุคแรกของเขาอย่าง Magnolia และ Boogie Nights โดยตัวละครเอกในหนังสองเรื่องหลังของเขาถ้าไม่ใช่ปีศาจร้ายขนานแท้ ก็จะเต็มไปด้วยความลึกลับดำมืดจนยากจะหยั่งถึง แต่ในเวลาเดียวกัน เนื้อหาที่เคยจำกัดอยู่กับปัจเจกชน กับตัวละครที่คนดูเห็นอกเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็นึกสมเพชเวทนา กลับเริ่มขยายวงกว้างขึ้นเมื่อตัวละครกลายเป็นตัวแทนภาพรวมของสังคมยุคใหม่ ทุนนิยม และศาสนา   

ข่าวดี คือ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ไม่ได้คิดจะปิดตาย ตัวตนช่วงแรกของอาชีพนักทำหนังไปตลอดกาล และคราวนี้เขาใช้เวลาเพียง 2 ปีในการปิดจ๊อบผลงานกำกับชิ้นล่าสุด โดยเมื่อเทียบกับหนังสองเรื่องก่อนหน้า Inherent Vice ซึ่งดัดแปลงจากนิยายของ โธมัส พินชอน นักเขียนคนดังที่ขึ้นชื่อเรื่องไม่ชอบออกสื่อ แต่ก็ถูกเกลี้ยกล่อมให้มาเล่นบทรับเชิญในหนังจนได้ ก็ไม่ต่างจากการดริฟต์รถแบบ 180 องศา เพราะแอนเดอร์สันบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจสำคัญจากหนังตลกอย่าง Top Secret! และ Airplane! (การที่ผู้กำกับ There Will Be Blood ชื่นชอบหนังของทีม ZAZ ถือว่าเป็นเซอร์ไพรซ์ครั้งใหญ่พอๆ กับการได้รู้ว่า Zoolander คือ หนังในดวงใจของ เทอร์เรนซ์ มาลิค) ด้วยมีฉากหลังเป็นยุค 1970 แบบเดียวกัน (แต่คราวนี้พล็อตหลักกลายเป็นเรื่องราวการคลี่คลายปมปริศนาในลักษณะหนังสืบสวนสอบสวน หาใช่ภาพสะท้อนเบื้องหลังวงการหนังโป๊) จึงมีความเป็นไปได้มากว่า Inherent Vice จะเป็นภาพยนตร์ที่สนุกสนานครื้นเครงที่สุดของแอนเดอร์สันนับจาก Boogie Nights 

ไม่มีความคิดเห็น: