วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: เดวิด โอ. รัสเซลล์


ศิลปะของการอยู่รอดเป็นเรื่องราวที่ไม่มีวันจบ” คำพูดของนักต้มตุ๋นในหนังเรื่อง American Hustle อาจสามารถนำมาใช้สรุปพัฒนาการขึ้นๆ ลงๆ ดุจรถไฟเหาะในอาชีพสายผู้กำกับของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ได้เช่นกัน เขาเริ่มต้นด้วยอนาคตสุกสว่างสดใส หลังจากผลงานขนาดยาวชิ้นแรกเรื่อง Spanking the Monkey เกี่ยวกับเด็กหนุ่มขี้อายที่ต้องมาอยู่โยงคอยเฝ้าดูแลแม่ซึ่งได้รับบาดเจ็บจนเดินไม่ได้ ก่อนทั้งสองจะค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่จุดที่เกินเลยระดับศีลธรรมอันดี กลายเป็นหนึ่งในหนังสุดฮิตที่เทศกาลซันแดนซ์ ขณะเดียวกันตัวหนังยังเป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อหา ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในหนังอีกหลายเรื่องต่อมาของเขา นั่นคือ การเดินทางของชยหนุ่มผู้กำลังสับสนเพื่อจะกลับมาควบคุมชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น จากนั้นในผลงานแนว road movie ผสมผสานกับ screwball comedy ชิ้นต่อมาเรื่อง Flirting With Disaster  รัสเซลล์ก็เริ่มวางรากฐานทางด้านสไตล์การทำหนัง ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา ได้แก่ การใช้กล้องแบบแฮนด์เฮลด์ รวมถึงอารมณ์บ้าระห่ำแบบเดียวกับหนังตลก หลุดโลกอีกหลายเรื่องในยุค 1990 แต่จะแตกต่างอยู่บ้างตรงที่ Flirting With Disaster สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการจะเข้าใจตัวเองของมนุษย์เอาไว้อย่างแนบเนียน สามปีต่อมาความสำเร็จอันล้นหลามของ Three Kings หนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่ซึ่งประณามการบุกรุกดินแดนตะวันออกกลางของประเทศอเมริกาอย่างตรงไปตรงมา ก็ทำให้รัสเซลล์กลายเป็นผู้กำกับ คลื่นลูกใหม่ไฟแรง” ที่ใครๆ พากันจับตามอง

แต่แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ดิ่งลงเหวนับจากนั้น ข่าวเกี่ยวกับการทะเลาะเบาแว้งระหว่างรัสเซลล์กับ จอร์จ คลูนีย์ ในกองถ่าย Three Kings เริ่มหนาหู ตามมาด้วยคลิปหลุดสุดอื้อฉาวจากเบื้องหลังกองถ่าย I Heart Huckabees ซึ่งฉายภาพให้เห็นความเป็นคนอารมณ์ร้าย ควบคุมสติไม่ได้ของผู้กำกับหนุ่มดาวรุ่ง (ในคลิปเขาตะโกนด่าทอนักแสดง ลิลี ทอมลิน ด้วยภาษาหยาบคาย ก่อนจะตรงเข้ามาทำลายฉากจนพังพินาศ) ทั้งหมดอาจถูกมองข้ามไปได้โดยอาศัยข้ออ้างว่าเป็น “อารมณ์ศิลปิน” หากหนังตลกเกี่ยวกับความเชื่ออัตถิภาวนิยมเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ แต่ผลปรากฏว่ามันกลับเจ๊งไม่เป็นท่า

สุดท้ายรัสเซลล์ต้องกลับไปนอนเลียแผลอยู่นานถึง 6 ปี โดยระหว่างนั้นเขาได้ถ่ายทำหนังตลกล้อเลียนเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพเรื่อง Nailed แต่ต้องประกาศถอนตัวกลางคันเนื่องจากปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ก่อนจะคัมแบ็คอย่างยิ่งใหญ่ด้วยโครงการหนังที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึงเรื่อง The Fighter เกี่ยวกับชีวประวัตินักมวยนาม มิคกี้ วอร์ด (ในหนังรับบทโดย มาร์ก วอห์ลเบิร์ก ดาราขาประจำของรัสเซลล์จาก Three Kings และ I Heart Huckabees) ทั้งนี้เพราะภาพยนตร์กีฬาที่มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจในสไตล์ Rocky นั้นช่างห่างไกลจากแนวทางการทำหนังในยุคแรกองเขาอย่างสิ้นเชิง และคงด้วยเหตุนี้กระมัง The Fighter ถึงได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นบนเวทีออสการ์ (คว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายและหญิงมาครอง) รวมถึงกลุ่มคนดูหนังกระแสหลัก เช่นเดียวกับหนังฮิตอีกสองเรื่องถัดมาของเขาอย่าง Silver Lining Playbook และ American Hustle พร้อมปิดฉากไตรภาคเกี่ยวกับชายตกอับที่พยายามดิ้นรน เอาตัวรอดจนกระทั่งประสบชัยชนะในที่สุด หนังทั้งสามเรื่องลงเอยแบบแฮปปี้ด้วยฉากไคล์แม็กซ์เร้าอารมณ์ ซึ่งจะทำให้คนดูเดินออกจากโรงหนังพร้อมรอยยิ้ม

นักแสดงในหนังของรัสเซลล์มักถูกกระตุ้นให้ด้นสดระหว่างถ่ายทำเสมอ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมหนังของเขาจึงเต็มไปด้วยการแสดงอันน่าจดจำ เปี่ยมชีวิตชีวา และพลังงาน หลายครั้งความพยายามขับเน้นอารมณ์ที่หนักแน่น สมจริง หรือสร้างบรรยากาศแห่งยุคสมัยอย่างแม่นยำ ทำให้ผลงานของรัสเซลล์สามารถก้าวข้ามสูตรสำเร็จเดิมๆ ตามแนวทางหนังที่คนดูส่วนใหญ่คุ้นเคย เช่น การยืนกรานที่จะรักษาภาพลักษณ์แบบชนชั้นล่างของครอบครัว มิคกี้ วอร์ด ใน The Fighter หรือการเลือกถ่ายทำฉากรถระเบิดใน Three Kings โดยใช้กล้องตัวเดียว แทนที่จะใช้กล้องอย่างน้อยสามตัวเพื่อจับภาพจากหลากหลายมุมเฉกเช่นหนังฟอร์มใหญ่ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะเขาต้องการอารมณ์ดิบๆ สมจริงเหมือนหนังสารคดี ดังนั้นเมื่อโปรดิวเซอร์ทักท้วงวิธีการทำงานของเขา รัสเซลล์ก็ตอบกลับแบบเรียบๆ ว่า ถ้าผมตัดภาพจากสามมุมกล้อง มันก็จะกลายเป็นหนังแอ็กชั่นดาษๆ ทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น: