วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: เดวิด โครเนนเบิร์ก


ว่ากันว่าในการพบกันครั้งแรก มาร์ติน สกอร์เซซี หวาดกลัวเดวิด โครเนนเบิร์ก อยู่ไม่น้อย เพราะภาพลักษณ์อันติดตาจากหนังสยองขวัญอย่าง Rabid หรือหนังชวนสะพรึงผ่านเนื้อหาอันท้าทาย คาบเกี่ยวเส้นศีลธรรมจนเกือบจะอยู่ในขั้นวิปริตอย่าง Crash และ Videodrome (นั่นยังไม่รวมถึงหน้าตาภายนอกของโครเนนเบิร์กเองที่ดู โรคจิตไม่แพ้หนังที่เขาสร้างสักเท่าไหร่) ปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก และอาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ หากคุณนิยมทำหนังเกี่ยวกับรักแร้กัดคนให้กลายเป็นซอมบี้ มนุษย์ที่ค่อยๆ กลายร่างเป็นแมลงวันยักษ์ หรือกลุ่มคนที่เกิดอารมณ์ทางเพศจากการขับรถชนกัน เมื่อสกอร์เซซีสารภาพความจริงว่าเขารู้สึกหวาดกลัวกับการต้องมาเจอโครเนนเบิร์กตัวเป็นๆ คนหลังก็ตอบกลับไปว่า คุณกำกับหนังอย่าง Taxi Driver แต่คุณกลับมากลัวผมเนี่ยนะ

หลังเริ่มต้นสั่งสมชื่อเสียงจากหนังสยองขวัญเกรดบีอย่าง Rabid และ They Came from Within โครเนนเบิร์กก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการกำกับหนังกระแสหลักอย่าง Scanners, The Fly และ The Dead Zone แต่การยอมรับนับถือในหมู่นักวิจารณ์ เฉพาะกลุ่มดูจะไล่ตามมาอย่างเชื่องช้าในอีกหลายปีต่อมา ผ่านการหยิบยกหนัง ตลาดอย่างเช่น Videodrome ซึ่งอาจไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านรายได้สักเท่าไหร่ตอนเข้าฉายครั้งแรก ขึ้นมาตีความใหม่ แล้วพิสูจน์ให้เห็นว่ามันนำเสนอเนื้อหาที่ก้ำกึ่ง ท้าทาย และทะเยอทะยานมากแค่ไหน ขณะเดียวกันผลงานในกลุ่ม หนังอาร์ตของเขา สร้างจากนิยายซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกตีตราว่า ไม่สามารถทำเป็นหนังได้อย่างเช่น Crash และ Naked Lunch ก็เริ่มยกระดับโครเนนเบิร์กจากสถานะ ผู้กำกับหนังสยองสำหรับปัญญาชนให้กลายเป็นผู้กำกับมือรางวัลแบบเต็มตัว โดยทุกเรื่องล้วนยังคงเอกลักษณ์อันโดดเด่น นั่นคือ ความหมกมุ่นในเรือนร่างและเนื้อหนังมังสา ซึ่ง จากปากคำของโครเนนเบิร์กเอง เป็น ข้อเท็จจริงแรกเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์หลายครั้งหนังของเขาจะนำเสนอให้เห็นความขัดแย้งระหว่างร่างกายกับจิตใจ ร่างกายกับจิตวิญญาณ การปฏิวัติทางด้านร่างกาย การปรับเปลี่ยนทางด้านร่างกาย และการกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะโดยขบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือเชื้อโรคจนหลายคนขนานนามให้เขาเป็นบิดาแห่งหนังตระกูล Body Horror ด้วยเหตุนี้ภาพที่คนดูมักจะได้เห็นในของโครเนนเบิร์กก็เช่น คนสอดวิดีโอเข้าไปในช่องท้อง คนร่วมรักกับบาดแผลตามร่างกาย และคน เชื่อมต่อระบบเพื่อเล่นเกมโดยการเสียบสายเข้าไปในร่างกาย

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครเนนเบิร์กเริ่มถอยห่างจากรูปธรรมของการล่วงละเมิดทางร่างกาย (แม้ว่าหน้าตา ตลอดจนกิริยาอาการอันบิดเบี้ยวของ คีรา ไนท์ลีย์ ใน A Dangerous Method จะมีความใกล้เคียงกับการเป็น Body Horror อยู่ไม่น้อย) แล้วหันมาสำรวจนามธรรมของสิ่งที่เรียกว่าจิตใจ/จิตวิญญาณมากขึ้น พร้อมตั้งคำถามถึงเส้นกั้นบางๆ ระหว่างความดีกับความชั่วผ่านผลงาน คู่ขนานที่กวาดเสียงสรรเสริญมาแบบถ้วนทั่วอย่าง A History of Violence และ Eastern Promises เรื่องหนึ่งเล่าถึงอดีตอาชญากรที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ส่วนอีกเรื่องเล่าถึงตำรวจที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในหมู่อาชญากร ความสนใจในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ดึงดูดโครเนนเบิร์กให้มากำกับหนังดรามาย้อนยุคอย่าง A Dangerous Method ซึ่งพูดถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ กับ คาร์ล ยุง ส่วน Cosmopolis ก็เป็นการย้อนกลับมาสำรวจสังคมยุคใหม่อีกครั้ง ตลอดจนสะท้อนผลกระทบที่มันมีต่อมนุษย์ เช่นเดียวกับหนังอย่าง Videodrome, Crash และ eXistenZ ก่อนหน้านี้ (การที่ตัวละครเอกใน Cosmopolis ใช้เวลาเกือบตลอดทั้งเรื่องในรถลีมูซีน ตั้งแต่ติดต่อธุรกิจ ขับถ่าย ไปจนถึงมีเซ็กซ์ ชวนให้หวนระลึกถึงความผูกพันระหว่างคนกับรถยนต์ใน Crash)

ผลงานในยุคหลังของโครเนนเบิร์กอาจแตกต่างกันไปในแง่โทนอารมณ์ หรือกระทั่งแนวทาง มีทั้งหนังแอ็กชั่น หนังดรามา หนังแก๊งสเตอร์ และล่าสุด Maps to the Stars จะเป็นผลงานในแนวล้อเลียน/ตลกร้ายเกี่ยวกับความดำมืดของวงการบันเทิงและชื่อเสียง แต่เขาก็หาได้หันหลังให้กับประเด็น หรือรูปแบบเดิมๆ ที่เคยสนใจเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้จากหนังสั้นชิ้นล่าสุดที่ชื่อ The Nest เล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวซึ่งต้องการจะผ่าตัดเอาเต้านมข้างซ้ายออกเนื่องจากเชื่อว่ามีตัวต่อทำรังอยู่ข้างใน! มันเป็นความจริง หรือหญิงสาวเพียงแค่ชื่นชอบการเฉือนชิ้นส่วนในร่างกาย? แล้วตัวละครอีกคนในเรื่องเป็นหมอผ่าตัด หรือจิตแพทย์กันแน่? เหล่านี้เป็นคำถามที่โครเนนเบิร์กไม่ปรารถนาจะตอบ แต่ก็สนุกกับการปล่อยให้คนดูจินตนาการกันไปต่างๆ นานา 

ไม่มีความคิดเห็น: