วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: อัลฟองโซ คัวรอง


ความคิดแรกที่มักจะแวบเข้าในหัวเมื่อพูดถึงผลงานกำกับของ อัลฟองโซ คัวรอง คือ ช็อตลองเทคยาวนานนับ 10 นาที ซึ่งแทบจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาและผู้กำกับภาพคู่บุญ เอ็มมานูเอล ลูเบซกี้ ไปแล้ว โดยเทรนด์ดังกล่าวเริ่มต้นจากหนังเล็กๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ช่วงสั้นๆ ระหว่างชายหนุ่ม (วัยรุ่น) สองคนกับหญิงสาว (ใหญ่) หนึ่งคนอย่าง Y Tu Mama Tambien ก่อนจะพัฒนาความซับซ้อนและท้าทายไปหลายระดับสู่หนังที่สโคปใหญ่ขึ้นทั้งในแง่เนื้อหา การลงทุน ตลอดจนความยุ่งยากในการถ่ายทำอย่าง Children of Men และ Gravity โดยเรื่องหลังส่งผลให้ทั้งคัวรองและลูเบซสกี้คว้ารางวัลออสการ์มาครองเป็นครั้งแรก กล่าวคือ ลองเทคใน Gravity นั้นไม่ใช่การแช่กล้องนิ่งๆ นาน 10 นาที หรือสามารถใช้สเตดิแคมช่วยอำนวยความสะดวกได้ (ฉากหลังของหนังเป็นอวกาศซึ่งปราศจากแรงโน้มถ่วง) ดังนั้นเพื่อความลื่นไหล ต่อเนื่องของเหตุการณ์ในช็อต พวกเขาจำเป็นต้องคิดค้นอุปกรณ์กล้องขึ้นใหม่ แล้วใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเพื่อสร้างภาพให้ออกมาสมบูรณ์ สมจริงมากที่สุด

ความทุ่มเทของคัวรองไม่เพียงทำให้ Gravity ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน ว่าเป็น หนังเกี่ยวกับอวกาศที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่มันยังถือเป็นหลักไมล์สำคัญในประวัติศาสตร์การสร้างหนังและการถ่ายทำแบบลองเทคอีกด้วยแบบเดียวกับฉากเปิดเรื่องสุดคลาสสิกของ Touch of Evil ทั้งนี้เนื่องจากใน Gravity กล้องไม่เพียงจะเปลี่ยนขนาดภาพจากใกล้ไปสู่ไกลได้อย่างราบรื่นเหมือนหนังของ ออร์สัน เวลส์ เท่านั้น แต่ยังก้าวไปถึงขั้นเปลี่ยนมุมมองจากภาพแทนสายตาคนดูมาสู่ภาพแทนสายตาตัวละครที่สวมชุดนักบินอวกาศอยู่ (ในความพยายามโน้มนำคนดูให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวละคร) ฉะนั้นถ้าเวลส์ได้รับการยกย่องจากการถ่ายทำช็อตมหัศจรรย์ โดยทำให้กล้องดูเหมือน เคลื่อนทะลุกระจกบนหลังคาใน Citizen Kane คัวรองก็สมควรจะได้รับการยกย่องในระดับเดียวกันกับช็อตมหัศจรรย์ที่กล้องดูเหมือนสามารถเคลื่อนทะลุผ่านหมวกเข้าไปแทนสายตาของนักบินอวกาศ

น่าแปลกที่ อัลฟองโซ คัวรอง ถูกขนานนามให้เป็น ผู้กำกับเม็กซิกันแม้ในความเป็นจริงแล้วจากหนังที่เขาสร้างทั้งหมด 7 เรื่อง มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่ถ่ายทำในประเทศเม็กซิโกและพูดภาษาสเปน คัวรองเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงจาก A Little Princess ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก และด้วยงานสร้างอันประณีต งดงามเกินหน้าหนังฟอร์มใหญ่ที่ลงทุนสูงกว่า (เข้าชิงออสการ์สาขากำกับภาพและออกแบบงานสร้าง) เขาจึงได้รับข้อเสนอจากผู้บริหารสตูดิโอในฮอลลีวู้ดให้มากำกับหนังเรื่อง Great Expectations ที่ดัดแปลงโครงเรื่องจากวรรณกรรมคลาสสิก แต่เปลี่ยนฉากหลังเป็นยุคปัจจุบัน คัวรองไม่สนใจอยากกำกับสักเท่าไหร่ เขาจึงตั้งข้อแม้ว่าจะตอบตกลงก็ต่อเมื่อจิตรกรชาวอิตาเลียน ฟรานเชสโก เคลเมนเต้ ยอมวาดภาพที่จะนำมาใช้ประกอบในหนัง และอย่างที่ทราบกันดีเคลเมนเต้ตอบตกลง แต่หนังกลับล้มเหลวทั้งในแง่คำวิจารณ์และบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ แม้จะได้เสียงชื่นชมประปรายจากความงามด้านภาพ การใช้ประโยชน์จากดอลลีและแสงได้อย่างงดงามจนช่วยกลบเกลื่อนข้อบกพร่องอื่นๆ ได้บ้าง

หนึ่งทศวรรษหลังกลับไปเลียแผลที่ประเทศบ้านเกิดด้วยการทำ Y Tu Mama Tambien และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น คัวรองก็หันมารับงานบล็อกบัสเตอร์อีกครั้งด้วยการกำกับ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban ซึ่งหลายคนยกย่องว่าเป็นตอนที่ดีที่สุด ตามด้วยหนังไซไฟสองเรื่องควบ นั่นคือ Children of Men และ Gravity จุดเด่นในผลงานของคัวรอง นอกเหนือไปจากความน่าตื่นตาด้านภาพ คือ ไม่ว่าหนังจะมีสโคปใหญ่แค่ไหน ตัวละคร ตลอดจนความเป็นมนุษย์ของตัวละครไม่เคยถูกทอดทิ้งให้สูญเปล่า นั่นอาจเป็นรากเหง้ามาจากการทำหนังเล็กๆ ที่เน้นวิเคราะห์ตัวละครมากกว่าการผลักดันพล็อตเรื่องไปข้างหน้า ในแง่เทคนิคผลงานอย่าง Gravity อาจมีความสำคัญระดับเดียวกับ 2001: A Space Odyssey แต่คัวรองแตกต่างจาก สแตนลีย์ คูบริค ตรงที่เขาเชื่อมั่นและศรัทธาในมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าหนังแทบจะปราศจากพล็อตเรื่องให้จับต้องเป็นชิ้นเป็นอันราวกับเป็นหนังทดลองราคา 100 ล้านเหรียญ แต่ Gravity กลับสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้ไม่แพ้หนังบล็อกบัสเตอร์ทั้งหลาย เพราะนอกจากเทคนิคพิเศษอันชวนตะลึงแล้ว หนังยังมีแก่นอารมณ์ที่หนักแน่น จับต้องได้เกี่ยวกับมนุษย์ที่ยืนกรานจะมีชีวิตต่อไปท่ามกลางอุปสรรคและบาดแผลทางจิตใจ 

ไม่มีความคิดเห็น: