วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: เทอร์เรนซ์ มาลิค


แทบไม่น่าเชื่อว่าผู้กำกับที่เคยพุ่งทะยานถึงจุดสูงสุดทางด้านความคิดสร้างสรรค์จาก Days of Heaven เมื่อ 36 ปีที่แล้วก่อนอำลาวงการแบบฉับพลันไปนานถึง 2 ทศวรรษ จะกลับมาคร่ำเคร่งผลิตผลงานในช่วง 10 ปีหลังด้วยอัตราความเร็วระดับ 2 ปีต่อ 1 เรื่อง โดยจนถึงขณะนี้ เทอร์เรนซ์ มาลิค ปิดกล้องหนังใหม่ไปแล้ว 3 เรื่อง ทั้งหมดล้วนอยู่ในขั้นตอน post-production ซึ่งสำหรับมาลิคนั่นอาจกินเวลาตั้งแต่ 1 ปีไปจนถึง 3 ปี เนื่องจากเขาขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างหนัง (เรื่องใหม่) ในห้องตัดต่อ ส่งผลให้นักแสดงบางคนที่มีบทบาทค่อนข้างมากระหว่างขั้นตอนการถ่ายทำอาจถูกตัดบททิ้งจนแทบไม่เหลือความสำคัญในหนังเวอร์ชั่นสุดท้าย ดังจะเห็นได้จากชะตากรรมของ เอเดรียน โบรดี้ ใน The Thin Red Line คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ใน The New World และ ฌอน เพนน์ ใน The Tree of Life

หนังสองเรื่องแรกของมาลิคก่อนเขาจะปลีกสันโดษยังดำเนินตามขนบการเล่าเรื่องแบบคลาสสิก หรือพูดอีกอย่างคือยังพอจะมีพล็อตให้จับต้องได้พอสมควร โดยสองสิ่งที่โดดเด่นและต่อมากลายเป็น เอกลักษณ์ในหนังมาลิคทุกๆ เรื่อง ได้แก่ การใช้เสียงบรรยาย (voice over) และงานด้านภาพอันวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จาก magic hour (ช่วงเวลาหลังตะวันตกดินแต่ท้องฟ้ายังมีแสงรำไรอยู่) ได้เต็มประสิทธิภาพใน Days of Heaven จนทำให้มันถูกยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ที่สวยงามที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อมาลิคหวนกลับมาสร้างหนังอีกครั้งด้วยการดัดแปลงนิยายเรื่อง The Thin Red Line ของ เจมส์ โจนส์ เขาก็เริ่มล่องลอยออกจากธรรมเนียมปฏิบัติในการเล่าเรื่องมากขึ้น คราวนี้เสียงบรรยายไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเติมเต็มเรื่องราว หรือความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอีกต่อไป และบางครั้งก็อาจฟังดูเหมือนเสียงสวดภาวนาเสียมากกว่าดังจะเห็นได้จากฉากเปิดเรื่องของ The New World ความทะเยอทะยานที่จะทดลองการเล่าเรื่องแบบใหม่ของมาลิคนำไปสู่ผลงานลือลั่น ซึ่งเรียกเสียงชื่นชมยกย่องได้มากพอๆ กับเสียงก่นด่า กระแนะกระแหนอย่าง The Tree of Life หนังที่นำเสนอเหตุการณ์ในลักษณะห้วงคำนึงจากกระแสสำนึก และเรียกร้องให้คนดูปะติดปะต่อ หรือพยายามเชื่อมโยงเหตุผลตามแต่จินตนาการส่วนตัวจะพาไป   

คริสต์ศาสนาถือว่าค่อนข้างทรงอิทธิพลต่อมาลิค หนังหลายเรื่องของเขาปลุกเร้าบรรยากาศของตำนานในคัมภีร์ไบเบิล ไม่ว่าจะเป็นการปลีกตัวจากสังคมไปใช้ชีวิตเพียงลำพังในป่าราวกับเป็นมนุษย์เพียงสองคนบนโลกใบนี้ของคู่รักนอกกฎหมายใน Badlands หรือฉากฝูงตั๊กแตนบุกโจมตีทุ่งข้าวสาลีใน Days of Heaven ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณของภาวะสวรรค์ล่มหลังจากอดัมกับอีฟพ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหา ขณะที่ The Tree of Life และ To the Wonder อาจเทียบได้กับบทสวดอ้อนวอนของมนุษย์ต่อพระเจ้า พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าเหตุใดโลกโดยรอบจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ความไม่เท่าเทียมกัน The Tree of Life ไม่เพียงจะเปิดเรื่องด้วยคำตอบของพระเจ้าโดยอ้างอิงจาก The Book of Job เท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เห็นภาพการกำเนิดโลกและสรรพสิ่งทั้งหลายเพื่อย้ำเตือนว่ามนุษย์นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของภาพรวมอันยิ่งใหญ่ พระเจ้าอาจไม่เคยปรากฏตัวให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่จะสะท้อนผ่านธรรมชาติรอบตัว ซึ่งหลายครั้งมักถูกขับเน้นให้มีความสำคัญเหนือวิกฤติของเหล่าตัวละคร เพราะในหนังของมาลิคนั้นกล้องพร้อมจะผละจากเรื่องราว หรือตัวละครไปโฟกัสฝูงนกบนท้องฟ้า ยอดหญ้าที่เขียวชอุ่ม หรือผีเสื้อที่กำลังบินว่อนได้ตลอดเวลา

หนังของมาลิคมีลักษณะเฉพาะตัวตรงที่พวกมันไม่เพียงพยายามนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอภิปรัชญา พลางครุ่นคิด วิเคราะห์ถึงชีวิต รวมไปถึงแก่นสารแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการกระตุ้นอารมณ์ สัญชาตญาณ และความทรงจำบางอย่างโดยอาศัยพลังของภาพและดนตรีประกอบ (ซึ่งมาลิคจะเลือกใช้ดนตรีคลาสสิกเป็นหลัก) เฉกเช่นหนังเงียบในยุคกำเนิดภาพยนตร์ ไม่มีการผูกพล็อตซับซ้อน สร้างปมปัญหาที่รอการคลี่คลาย ในผลงานชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง To the Wonder บทสนทนาระหว่างตัวละครแทบจะไม่ปรากฏ หรือมีความสลักสำคัญใดๆ จริงอยู่ว่าคนดูยังสามารถตระหนักเรื่องราวคร่าวๆ ได้ไม่ยากนัก (อย่างน้อยมันก็ไม่ถึงขั้นเป็นหนังทดลองเต็มรูปแบบ) แต่ในเวลาเดียวกันมาลิคก็เว้นช่องว่างเอาไว้ให้แต่ละคนเติมเต็มรายละเอียด หรือตีความกันเองตามสะดวก ส่งผลให้มันเต็มเปี่ยมไปด้วยความท้าทาย ความแปลกใหม่ และอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกที่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ 

ไม่มีความคิดเห็น: