วันพุธ, มีนาคม 13, 2556

Oscar 2013: Best Supporting Actor



โรเบิร์ต เดอ นีโร (Silver Linings Playbook)

สำหรับนักดูหนังที่เติบโตมาในยุค 70-80 นักแสดงเพียงคนเดียวที่ถูกยกย่องไว้บนหิ้งเหนือใคร คือ โรเบิร์ต เดอ นีโร ผลงานของเขากลายเป็นที่จดจำของคนในรุ่นต่อๆ มา เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และส่งอิทธิพลต่อศิลปะแห่งการแสดงโดยองค์รวม ในแต่ละบทบาทเขาจะแปลงโฉมไปตามตัวละครทั้งด้านร่างกาย การออกเสียง อิริยาบถ รวมเลยไปถึงสภาพจิตใจในเบื้องลึกจนคุณลืมไปว่ากำลังนั่งมอง โรเบิร์ต เดอ นีโร หากแต่เป็น เทรวิส บิคเคิล (Taxi Driver) เจค ลาม็อตตา(Raging Bull) จอห์นนี่ บอย (Mean Streets) และ วีโต คอร์ลีโอเน (The Godfather: Part II) แต่สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ พวกเขาอาจจดจำเดอ นีโร ได้จากบท แจ๊ค เบิร์นส์ พ่อตาสุดเฮี๊ยบของ เบน สติลเลอร์ ในหนังชุดสุดฮิต Meet the Parents โดยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาการหลวมตัวไปเล่นหนังตลาดที่ไม่น่าจดจำหลายเรื่องอาจทำให้บารมีของนักแสดงสองรางวัลออสการ์จืดจางลงไปบ้าง แต่ทั้งหมดกำลังจะเปลี่ยนไปพร้อมกับการมาถึงของหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ซึ่งหลายคนขนานนามให้เป็นการคัมแบ็คอันงดงาม และผลักดันเขาจนคืนสู่เวทีออสการ์อันคุ้นเคยอีกครั้ง หลังจากเข้าชิงล่าสุดไปเมื่อ 21 ปีก่อนจากหนังเรื่อง Cape Fear   

เขารับบทเป็น แพ็ท โซลิทาโน ซีเนียร์ คุณพ่อบ้าฟุตบอลและแฟนพันธุ์แท้ของทีม ฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ ซึ่งหมกมุ่นในเรื่องโชคลางขนาดเชื่อว่าตำแหน่งการวางรีโมททีวีสามารถส่งผลกระทบต่อผลการแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริง เดอ นีโรห่างไกลจากคำว่าแฟนกีฬาคนละโยชน์ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนทั้งหลายถึงรู้สึกตื่นเต้นเวลาดูบอลเขากล่าว ผมไม่เคยมีความสนใจอยากจะดูมันเลยฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่คนรอบข้างเขาเปิดโทรทัศน์ไปยังช่องถ่ายทอดสดกีฬา นักแสดงวัย 69 ปีผู้เคยรับบทเป็นนักมวย เจค ลาม็อตตา ได้น่าจดจำจนคว้ารางวัลออสการ์มาครอง จะเดินหนีไปหากิจกรรมอื่นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคงเป็นการลับคมทักษะการแสดง ซึ่งเขาได้ขุดมาโชว์ทุกกลเม็ดใน Silver Linings Playbook และทำให้คนดูหัวร่องอหายมากพอๆ กับซาบซึ้ง ประทับใจ

แพ็ท โซลิทาโน ซีเนียร์ เป็นบทที่ช่วยเตือนความทรงจำให้เราตระหนักว่า เดอ นีโรคือสุดยอดแห่งการสะท้อนอารมณ์คุกรุ่นจากภายในและนักแสดงตลกที่เชี่ยวชาญ ทำให้เขาลื่นไหลผ่านจังหวะตลกของหนังไปสู่อารมณ์จริงจัง ด้านมืด และนาทีซาบซึ้งได้อย่างกลมกลืน และอาจกล่าวได้ว่าสมดุลระหว่างคอมเมดี้กับดรามานี่เองที่ดึงดูดให้คุณพ่อลูก 5 (คนโตอายุ 41 คนเล็กอายุ 1 ขวบ) อยากร่วมงานกับผู้กำกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ นอกเหนือจากการได้กลับมาร่วมงานกับ แบรดลีย์ คูเปอร์ นักแสดงหนุ่มที่เขารู้จักและเข้าขากันดีระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Limitless

สำหรับเดอ นีโร เขาไม่ได้มองว่า Silver Linings Playbook เป็นการคัมแบ็ค เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาก็เคยนำแสดงในหนังดีๆ หลายเรื่อง แต่หลายคนอาจมองข้ามไปเพราะมันเป็นแค่หนังอินดี้เล็กๆ เข้าฉายเพียงไม่กี่โรงก่อนจะถูกถอดโปรแกรมไปอย่างเงียบเชียบ เช่น หนังดรามาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเรื่อง Everybody’s Fine อย่างไรก็ตาม เขาไม่ปฏิเสธว่าบทสมทบใน Silver Linings Playbook ช่วยชาร์ตพลังงานให้เขามองหาบทดีๆ ที่พอจะเหลืออยู่ให้คนวัยเขาได้แสดงฝีมือ จริงๆ แล้วผมอยากรับบทเป็นพระเอกมากกว่าเขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม แต่ทุกวันนี้มีแค่บทพ่อให้เลือกเล่น และอีกไม่นานก็คงกลายเป็นบทปู่... ถ้าโชคดี ผมอาจอายุยืนพอจะได้เล่นเป็นคุณทวด


ทอมมี ลี โจนส์ (Lincoln)

รูปร่างที่สูงใหญ่ราว 6 ฟุตและคำร่ำลือว่าเขาไม่ค่อยเต็มใจจะให้สัมภาษณ์นักข่าวเท่าใดนักทำให้ ทอมมี ลี โจนส์ ยิ่งดูน่าเกรงขามและน่ายำเกรง นอกเหนือจากเครดิตภาพยนตร์อันยาวเหยียดตลอดอาชีพการแสดงที่กินเวลามากกว่า 3 ทศวรรษอาทิ No Country for Old Men, Men in Black และ In the Valley of Elah แถมตบท้ายด้วยรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก The Fugitive เมื่อสองทศวรรษก่อน ถึงแม้โจนส์จะไม่อยากพูดถึงเรื่องรางวัลเท่าไหร่ แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ พฤติกรรมขโมยซีนของเขาในหนังเรื่อง Lincoln อาจทำให้โจนส์คว้าออสการ์ตัวที่สองมาครองในเร็ววันนี้จากบท แธดดีอุส สตีเวนส์ สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายเลิกทาส

ในสายตาของโจนส์ รายละเอียดสำคัญที่ช่วยให้เขาเข้าถึงตัวละครได้อย่างแม่นยำ คือ แบ็คกราวด์สภาพครอบครัวและความพิการทางร่างกายของสตีเวนส์ เขาเติบโตมาในฟาร์ม โรคเท้าปุกทำให้เขาไม่สามารถออกไปทำงานในไร่กับพ่อและพี่ๆ น้องๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองโจนส์อธิบาย แต่ถึงแม้จะต้องเผชิญกับภาวะยากจนข้นแค้นและบ้านแตก (พ่อทิ้งเขาไป) แต่ แธดดีอุส สตีเวนส์ ก็เอาชนะชะตากรรมได้ด้วยการไต่เต้าจนเรียนจบมหาวิทยาลัย กลายเป็นนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จ ตามมาด้วยตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาในเวลาต่อมา แบ็คกราวด์ดังกล่าวในแง่มุมหนึ่งเป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตจริงของโจนส์ ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวยากจนเช่นกัน แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนจบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะกลายมาเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ช่วงทศวรรษ 1860 สตีเวนส์ถือเป็นนักปฏิวัติหัวก้าวหน้าจนคนรอบข้างรู้สึกหวาดหวั่น ขณะที่หลายคนพยายามโต้เถียงว่ามันเป็นเรื่องดี และเหมาะสมสำหรับคนบางคนที่จะถูกตีตราให้เป็นเหมือนแค่ทรัพย์สิน หรือวัวควาย และคนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าระบบทาสไม่เพียงจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อเหล่าทาสทั้งหลายอีกด้วย การต่อสู้เพื่อล้มล้างระบบทาสของสตีเวนส์จึงถือเป็นประเด็นอื้อฉาวอย่างยิ่ง เพื่อให้เข้าใจตัวละครรอบด้าน โจนส์จึงเริ่มต้นอ่านหนังสือชีวประวัติ แธดดีอุส สตีเวนส์ โดยเล่มหนึ่งเขียนในยุค 1930 ส่วนอีกเล่มเขียนในยุค 1980 เพื่อเทียบมุมมองของนักประวัติศาสตร์ต่างสมัย พวกมันเต็มไปด้วยข้อมูลน่าสนใจ ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าจะแสดงพฤติกรรมเช่นไร คิดอย่างไร และรู้สึกอย่างไรตามเรื่องราวที่ปรากฏในบทภาพยนตร์ของ โทนี คุชเนอร์

มันน่าประหลาดอยู่ไม่น้อยที่โจนส์ ซึ่งโด่งดังในหมู่นักดูหนังกระแสหลักจากบทประเภทพูดน้อยต่อยหนักในหนังอย่าง Men in Black และ No Country for Old Men ได้รับเลือกให้มาแสดงเป็นนักการเมือง ที่โด่งดังจากบุคลิกโดดเด่น ความเฉียบคม และทักษะการพูดอันเป็นเลิศ แต่แน่นอนว่าโจนส์สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่าเขาเป็นตัวละครหลักที่ช่วยมอบความสนุกสนานให้กับ Lincoln เลยทีเดียว แต่ขณะเดียวกันโจนส์ก็ไม่ลืมจะใส่แง่มุมแบบ มนุษย์ตลอดจนด้านอ่อนโยนเข้าไปคลุกเคล้าด้วย วีรกรรมอันยิ่งใหญ่มักเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนธรรมดาสามัญนี่แหละ ไม่ใช่เทวดาที่มีวงแหวนอยู่บนหัวแต่อย่างใดโจนส์กล่าว บางครั้งพวกเขาอาจดูน่ารังเกียจ บางครั้งพวกเขาอาจดูน่านับถือ และบางครั้งเวลาพวกเขากินปูนึ่ง น้ำจากตัวปูอาจไหลย้อยมาเปื้อนเสื้อเชิ้ตของพวกเขาความเป็นปุถุชนของตัวละครถูกเน้นย้ำเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านวิกผมดำของสตีเวนส์ ซึ่งดูไม่เป็นธรรมชาติอย่างรุนแรง (เขาเป็นโรคผมร่วง) และวิกเจ้ากรรมดังกล่าวก็จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในฉากเด่นของหนังอีกด้วย ผมชอบใส่ความไร้สาระเอาไว้ในฉากที่เต็มไปด้วยน้ำหนักเข้มข้น มันเจ๋งดีนักแสดงวัย 66 ปีกล่าว


ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (The Master)

ถึงแม้ แลงแคสเตอร์ ด็อดด์ ตัวละครที่ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน ถ่ายทอดเป็นภาพบนจอได้อย่างดงาม ซับซ้อนจนส่งผลให้เข้าถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 4 หลังจาก Capote, Charlie Wilson’s War และ Doubt จะถูกออกแบบโดยมีร่างแรกเป็น แอล. รอน ฮับบาร์ด นักเขียนและผู้ก่อตั้งลัทธิ Scientology แต่ฮอฟฟ์แมนยืนกรานว่า The Master ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับ “ศาสนา” ดังกล่าว ซึ่งที่จริงเป็นแค่พื้นฐาน ไม่ใช่โครงสร้างหลัก ผมคงไม่แนะนำให้ใครไปดูหนังเรื่องนี้เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Scientology เขากล่าว แต่ไม่ว่ายังไง ข่าวลือก็ดูเหมือนจะไม่จางหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ เช่น ทอม ครูซ เดินออกจากการฉายรอบพิเศษบ้างล่ะ หรือบรรดาลูกศิษย์ของลัทธิวางแผนจะหาทางขัดขาไม่ให้หนังเข้าฉายในอเมริกาบ้างล่ะ ทั้งหลายเหล่านี้สร้างความรำคาญใจให้กับฮอฟฟ์แมนไม่น้อย ไม่ว่าเราจะพูดอะไร พวกคุณก็ยังเลือกจะพูดถึงแต่สิ่งเดิมๆ (ว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับ Scientology)

การรับบทเป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับฮอฟฟ์แมน โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นการสวมวิญญาณ ทรูแมน คาโปตี้ ซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์มาครอง แต่ด็อดด์ถือเป็นตัวละครที่ต่างออกไป ทั้งนี้เพราะฮอฟฟ์แมนไม่ได้พยายามจะเล่นเป็นฮับบาร์ด เขาเลือกจะศึกษาตัวละครผ่านประสบการณ์ส่วนตัวแทนการนั่งอ่านหนังสือชีวประวัติ ผมมีอิสระเต็มที่ ผมไม่สนใจที่จะเล่นเป็น รอน ฮับบาร์ด เพราะหนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเขา และผมไม่อยากให้คนดูสับสนเขากล่าว อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายละเอียดหลายอย่างของด็อดกับฮับบาร์ดสอดคล้องกัน เช่น ทั้งคู่ชื่นชอบมอเตอร์ไซค์และเรือ และไม่ไว้ใจในระบบประกันสุขภาพของอเมริกา ส่วนภรรยาพวกเขาก็มีชื่อว่า แมรี-ซู (ในบทร่างแรก ก่อนต่อมาชื่อภรรยาของด็อดจะถูกเปลี่ยนเป็นเพ็กกี้)

แต่ไม่ว่าด็อดด์กับฮับบาร์ดจะใกล้เคียงกันแค่ไหนอย่างไร สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ คือ นี่เป็นอีกหนึ่งบทบาทการแสดงชั้นยอดของฮอฟฟ์แมน เต็มไปด้วยพลังและน่าจดจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับคนที่พร้อมจะเสี่ยงกับบทท้าทาย เต็มไปด้วยสถานการณ์ล่อแหลมในแง่ที่ว่าหากเล่นไม่ดีก็อาจไม่ได้อารมณ์ตามความตั้งใจ เช่น ฉากโฟนเซ็กซ์ใน Happiness หรือฉากแต่งหญิงใน Flawless และอาจกล่าวได้ว่า The Master เป็นการร่วมงานที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดระหว่างเขากับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (หนังเรื่องเดียวของแอนเดอร์สันที่ฮอฟฟ์แมนไม่ได้ร่วมแสดง คือ There Will Be Blood) มิตรภาพของทั้งสองสืบย้อนไปไกลถึง Hard Eight (1996) หนังเรื่องแรกของแอนเดอร์สันที่ทำให้ฮอฟฟ์แมนกลายเป็นที่จับตามอง หลังจากต้องทนรับบทตัวประกอบจำเป็นมานานในหนังอย่าง Scent of a Woman และ Nobody’s Fool ก่อนจะโดดเด่นขึ้นอีกใน Boogie Nights กับบทตากล้องหนังโป๊

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานแสดงของฮอฟฟ์แมนดูจริงและเป็นธรรมชาติมากๆ เกิดจากการที่เขาเอาจริงเอาจังกับอาชีพนี้ เขาอธิบายว่าการแสดงจะทำให้ดีนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องอาศัยสมาธิและความมุ่งมั่นเกินร้อย โดยเขาหลงใหลในศิลปะการแสดง (รวมถึงกีฬา) ตั้งแต่วัยเด็กจากการปลูกฝังโดยแม่ของเขาเอง ผมเริ่มต้นดูละครเวทีตอน 10 หรือ 12 ขวบนี่ล่ะ ผมชอบดูละครเวที และได้เล่นละครเวทีสมัยเรียนมัธยมด้วย พอเข้ามหาวิทยาลัยผมก็รู้แล้วว่าตัวเองอยากเป็นอะไรชีวิตของฮอฟฟ์แมนเคยดำดิ่งลงสู่ก้นเหวอยู่พักหนึ่งจนต้องเข้ารับการบำบัดอาการติดยาและเหล้าเมื่อหลายปีมาแล้ว ก่อนเขาจะเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ปัจจุบันชีวิตของเขาราบรื่นและมีความสุขดี โดยลงหลักปักฐานตั้งแต่ปี 1999 กับ มีมี่ โอดอนเนลล์ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย และมีลูกด้วยกันสามคน นอกจากนี้อาชีพการงานของเขาก็กำลังก้าวหน้าถึงขีดสุด มีบทดีๆ มาเสนอให้เล่นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเขาเพิ่งปิดกล้องหนังเรื่อง A Most Wanted Man ของ แอนตัน คอร์บินจ์ ไป และกำลังจะสวมบทบาทสำคัญใน Catching Fire ตอนต่อของหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่อง The Hunger Games


คริสตอฟ วอลซ์ (Django Unchained)

พิสูจน์ได้จากบทบาทที่ทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์มาครองเมื่อสามปีก่อน คริสตอฟ วอลซ์ เป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่สามารถพล่ามบทพูดยียวน ยอกย้อนสไตล์ “ตารันติโน” แล้วทำให้ดูน่าเชื่อถือได้ว่าหลุดมาจากปากตัวละครที่เขาเล่นมากกว่าโดนยัดใส่ปากโดยผู้กำกับ/เขียนบท เควนติน ตารันติโน เช่นเดียวกับ Inglourious Basterds หนังเรื่อง Django Unchained เต็มไปด้วยบทสนทนาในทำนองนั้น มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เปี่ยมอารมณ์ขันร้ายๆ และแน่นอนว่าไม่มีใครลื่นไหลไปกับมันได้แนบเนียนเท่ากับวอลซ์ในบท ดร. คิง ชูลซ์ นักล่าเงินรางวัลจอมซาดิสต์ในคราบหมอฟันที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับแจงโก้ (รับบทโดย เจมี ฟ็อกซ์) ทาสผิวดำในเท็กซัสช่วงปี 1858

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะตารันติโนตั้งใจเขียนบทนี้ให้วอลซ์โดยเฉพาะ นี่เป็นครั้งแรกที่มีใครเขียนบทหนังให้ผมเล่นโดยเฉพาะ นักแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักในยุโรปก่อนจะโด่งดังระดับโลกหลังจาก Inglourious Basterds เข้าฉายกล่าว มันทำให้ผมรู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครและสามารถเข้าถึงความคิดของเขาได้ แต่มุมมองของเควนตินค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ มันจึงเปิดโอกาสให้ผมได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน

เมื่อตอบตกลงเล่นหนังของตารันติโน ความท้าทายหาใช่แค่การต้องรับมือกับโทนอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันทีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการท่องจำบทสนทนาเป็นหน้าๆ อีกด้วย ซึ่งในกรณีของวอลซ์มันอาจยิ่งยากเป็นพิเศษเนื่องจาก Django Unchained เกี่ยวพันถึงตำนานตะวันตกของอเมริกา ประสบการณ์หลายปีจากละครเวทีช่วยผมได้มากเวลาต้องท่องบทพูดของตารันติโน หรือเข้าฉากในหนังเขา เพราะถึงแม้เทคนิคการทำหนังจะเปิดโอกาสให้คุณสามารถแบ่งซอยเหตุการณ์เป็นช็อตย่อยๆ ซึ่งต่างกับละครเวที แต่บางครั้งเควนตินจะถ่ายทำฉากบางฉากแบบลองเทค ทั้งที่เขาจะไม่ได้ต้องการให้ฉากดังกล่าวแช่กล้องไว้มุมเดียวก็ตาม ดังนั้นถ้าคุณมีบทพูดยาวสามหน้า คุณก็ต้องซ้อมพูดให้คล่อง 20 ถึง 30 ครั้งต่อวัน เพราะนั่นเป็นงานของนักแสดง วอลซ์กล่าว

แง่มุมตะวันตกไม่ใช่เรื่องแปลกตาสำหรับนักแสดงชาวออสเตรียสักเท่าไหร่ เนื่องจากเขาเติบโตมาพร้อมๆ กับหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้ ซึ่งเป็นแนวหนังที่ตารันติโนต้องการแสดงความคาราวะใน Django Unchained ขณะเดียวกันวอลซ์ยังเตรียมพร้อมมาอย่างดีด้วยการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระบบทาสในอเมริกา แม้ว่าหนังของตารันติโนจะเป็นแฟนตาซีล้างแค้นที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงมากนักก็ตาม คุณจำเป็นต้องทราบรายละเอียดด้านประวัติศาสตร์เพื่อเป็นฐานรองรับเรื่องราว นักแสดงวัย 56 ปีกล่าว

ไม่ต้องสงสัยว่าชื่อเสียงและความสำเร็จจากการรับบทนาซีโรคจิตใน Inglourious Basterds ทำให้วอลท์ซได้รับข้อเสนอมากมายในอเมริกา แต่น่าประหลาดตรงที่ทุกอย่างกลับไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนักในโลกภาพยนตร์ที่ประเทศบ้านเกิดและเยอรมัน (เขาถือสองสัญชาติ แต่มักจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวออสเตรีย) ฉะนั้น สำหรับตอนนี้วอลซ์จึงเลือกปักหลักในฮอลลีวู้ด และร่วมงานกับผู้กำกับที่เขาสนใจ อาทิ มิเชล กอนดรี ใน The Green Hornet (“เพราะผมไม่เคยเล่นบทตลกมาก่อน”) โรมัน โปลันสกี้ (Carnage) และล่าสุดเขาเพิ่งปิดกล้องหนังเรื่อง The Zero Theorem ของผู้กำกับ เทอร์รี กิลเลียม ผมเลือกบทตามแต่ความสนใจจะพาไป ไม่ใช่เลือกโดยใช้สัญชาตญาณเท่านั้น ผมจะถามตัวเองว่า อยากทำอะไรต่อ มันเป็นบทที่เราเคยเล่นมาก่อนมั้ย เพราะผมไม่ชอบเดินซ้ำรอยตัวเอง เขากล่าว


อลัน อาร์กิน (Argo)

ขณะที่ตัวละครอื่นๆ ใน Argo หนังซึ่งดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับปฏิบัติการซีไอเอเพื่ออพยพชาวอเมริกันออกจากประเทศอิหร่าน โดยปลอมแปลงพวกเขาเป็นทีมงานกองถ่ายหนังฮอลลีวู้ด สร้างจากบุคคลที่มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ แต่ เลสเตอร์ ซีเกล ตัวละครที่ อลัน อาร์กิน สวมบทบาทได้อย่างน่าจดจำ กลับเป็นส่วนผสมของคนหลายคนเข้าด้วยกัน เชื่อผมเถอะ มันไม่ง่ายเลย ผมต้องเล่นเป็นคนสี่คนในเวลาเดียวกัน คุณเคยทำแบบนั้นไหม มันวุ่นวายอย่าบอกใคร อาร์กินกล่าวยิ้มๆ

เนื่องจาก Argo เป็นหนังของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาร์กิน ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาครองจาก Little Miss Sunshine ในปี 2007 จะค้นพบแรงบันดาลใจในการสวมบทเป็นโปรดิวเซอร์เขี้ยวลากดิน จากผู้ก่อตั้งและพลังผลักดันสำคัญของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส นั่นคือ แจ๊ค วอร์เนอร์ ผมสร้างตัวละครจากจินตนาการส่วนตัว โดยใช้ แจ๊ค วอร์เนอร์ เป็นรากฐาน เขาเป็นคนที่รู้จักตัวเองดี มั่นใจ และรู้ไส้รู้พุงทุกซอกหลืบของธุรกิจบันเทิงในฮอลลีวู้ด อาร์กินอธิบาย อาชีพในวงการภาพยนตร์ของวอร์เนอร์กินระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ ตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอในปี 1910 จนถึงเกษียณอายุในปี 1969 โดยหลังจากนั้นเขาก็ยังทำหน้าที่อำนวยการสร้างให้หนังอีกหลายเรื่อง แจ๊ครักธุรกิจนี้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักดีว่ามันบ้าคลั่งแค่ไหน

ตอนที่ผู้กำกับ เบน อัฟเฟล็ค เริ่มต้นแคสติ้งนักแสดง ชื่อแรกที่เขาตัดสินใจคัดเลือกให้มาร่วมงาน คือ อลัน อาร์กิน ซึ่งใครที่ได้ดูหนังคงไม่แปลกใจว่าทำไม เพราะทันทีที่นักแสดงวัย 78 ปีปรากฏตัวขึ้นบนจอในบท เลสเตอร์ ซีเกล Argo ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ความสนุกสนาน และเสียงหัวเราะ บทพูดเด็ดๆ หลุดออกมาจากปากเขาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถ้าฉันจะสร้างหนังหลอกๆ สักเรื่อง มันก็ต้องเป็นหนังฮิตหลอกๆ! อาร์กินยิงมุกตลกเสียดสีต่างๆ แบบหน้าตาย และนั่นยิ่งทำให้มันดูตลกมากขึ้นอีก เขาสะท้อนถึงประสบการณ์อันเชี่ยวกรากของตัวละครที่คลุกคลีอยู่ในวงการเป็นเวลานานจนตระหนักดีว่า ภาพลักษณ์ภายนอกถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด (เลสเตอร์ขับรถโรลสรอยซ์สีทอง!)

ที่เทศกาลหนังโตรอนโต ซึ่ง Argo เปิดตัวด้วยเสียงตอบรับอย่างอบอุ่น อัฟเฟล็คแนะนำนักแสดงสุดเก๋า ที่เคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Russians are Coming, The Russians are Coming และ The Heart is a Lonely Hunter ว่าเป็นผู้ชายที่อ่อนหวาน น่ารักที่สุดในโลก แม้เขาจะชอบรับบทเป็นผู้ชายขี้หงุดหงิดแต่จิตใจงดงามก็ตาม เวลาทำงานกับอลัน คุณอดไม่ได้ที่จะคิดถึงประวัติศาสตร์ของฮอลลีวู้ด เขาเคยเล่นหนังชั้นยอดมาแล้วมากมายหลายเรื่อง และที่สำคัญฝีมือการแสดงของเขายังคงเฉียบคมไม่เปลี่ยนแปลง ผู้กำกับหนุ่มกล่าว พร้อมกับยกเครดิตให้อาร์กินที่ช่วยเพิ่มความหรรษาเพื่อเบรกอารมณ์ตึงเครียด กดดันของหนัง ผมคิดว่าถ้า Argo ไม่มีอารมณ์ขัน มันคงตายสนิท เขาทำให้คุณเชื่อได้ว่าเลสเตอร์เป็นโปรดิวเซอร์ที่ผ่านยุคทองมาแล้ว เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อสัก 20 ปีก่อน เขาเชื่อมั่นในเครดิตและคำคุยโวของตนว่าสามารถช่วยผลักดันโครงการให้ดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันเขาก็เปี่ยมศีลธรรมจรรยาพอจะเอาชื่อเสียงของตนมาเสี่ยงเพื่อให้ภารกิจเสร็จสมบูรณ์

สำหรับวลีเด็ดในหนัง Argo f--- yourself อาร์กินรู้สึกดีใจและโล่งอกอย่างประหลาดที่มันเริ่มติดปาก ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมติดแหง็กอยู่กับคำว่า Serpentine! เขาหัวเราะ (มันเป็นคำพูดเด็ดจากหนังเรื่อง The In-Laws ซึ่งอาร์กินแสดงประกบ ปีเตอร์ ฟอล์ค) ผมดีใจที่สุดท้ายจะได้หลุดพ้นจากคำนั้นสักที และหวังว่าจะได้ยิน Argo f--- yourself ต่อไปอีกสักหลายๆ ปี

ไม่มีความคิดเห็น: