วันพฤหัสบดี, มีนาคม 14, 2556

Oscar 2013: Best Director



เดวิด โอ. รัสเซลล์ (Silver Linings Playbook)

มีความเชื่อกันว่าหากต้องการผลลัพธ์ที่น่าพอใจ นักเขียนควรเลือกเขียนในสิ่งที่พวกเขารู้ แนวคิดดังกล่าวอาจนำมาใช้กับการสร้างหนังได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณต้องการนำเสนอประเด็นที่ซับซ้อนอย่างอาการป่วยทางจิต ถึงแม้ Silver Linings Playbook จะดัดแปลงจากนิยายของ แม็ทธิว ควิค แต่มันกลับมีความเป็นส่วนตัวอย่างมากสำหรับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ เพราะลูกชายของเขามีอาการของโรคอารมณ์สองขั้วแบบเดียวกับตัวละครเอกในหนัง (รับบทโดย แบรดลีย์ คูเปอร์) นั่นคือเหตุผลที่ผมตัดสินใจสร้างหนังเรื่องนี้” รัสเซลล์กล่าว พร้อมกับหันไปมองลูกชายวัยรุ่น ซึ่งเล่นบทเล็กๆ ในหนังด้วย “คุณจะตระหนักดีว่ากำลังมาถูกทาง หากคุณแชร์ความรู้สึกส่วนตัวกับเรื่องราวในหนังที่คุณสร้าง ผมอยู่กับเด็กชายคนนี้มา 18 ปี และรู้สึกผูกพันกับเขาและเพื่อนๆ ของเขาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง”

ทฤษฎีหลากหลายถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ จากผู้กำกับอารมณ์ร้อนที่สร้างอาการเข็ดขยาดให้กับนักแสดงจำนวนมาก (เขาบีบคอ จอร์จ คลูนีย์ ระหว่างถ่ายทำ Three Kings และมีปากเสียงรุนแรงกับ ลิลี ทอมลิน และถึงขั้นอาละวาดลงไม้ลงมือทำลายฉากกลางกองถ่าย I Heart Huckabees) มาเป็นผู้กำกับที่ “น่ารัก ตลก และอ่อนโยนที่สุดในโลก” ตามคำบอกเล่าของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ แต่หลายคนดูเหมือนจะไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อวิวัฒนาการของรัสเซลล์ในแง่การทำหนังมากนัก โดยภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี เขาผันตัวเองจากขวัญใจวงการหนังอินดี้ผ่านผลงานดิบๆ แรงๆ อย่าง Spanking the Monkey และ Flirting With Disaster มาเป็นขวัญใจออสการ์ด้วยผลงานที่นิ่งขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น รวมถึงถูกใจกลุ่มคนดูในวงกว้างขึ้นอย่างThe Fighter และ Silver Linings Playbook กระนั้นเอกลักษณ์ที่ไม่เคยห่างหายจากหนังของเขา ได้แก่ ปัญหาในครอบครัว และตัวละครที่มีปมผิดปกติ ซึ่งพบเห็นตั้งแต่ Flirting With Disaster เกี่ยวกับการเดินทางตามหาพ่อแม่แท้ๆ ของชายคนหนึ่ง

“หากมองในแง่ขบวนการสร้างสรรค์ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมมากนัก” ผู้อำนวยการสร้าง โจนาธาน กอร์ดอน ที่ร่วมงานกับรัสเซลล์ใน Flirting With Disaster และ Silver Linings Playbook กล่าว “เขายังมีพรสวรรค์ชั้นยอดในการกำกับนักแสดง แต่อาจกล่าวได้ว่าขบวนการสร้างสรรค์ของเขาถูกจัดระเบียบให้เป็นระบบมากขึ้น” สมมุติฐานดังกล่าวพิสูจน์ได้จากประสิทธิภาพในการถ่ายทำ โดย Silver Linings Playbook สามารถปิดกล้องได้ภายในเวลาเพียง33 วัน เร็วกว่า Flirting With Disaster 2 วัน ถึงแม้จะมีทุนสร้างมากกว่าถึงสามเท่าตัว (22 ล้านเหรียญ vs. 7 ล้านเหรียญ) ขณะเดียวกัน Flirting With Disaster ยังถ่ายทำแบบง่ายๆ โดยใช้กล้องแฮนด์เฮลโดยตลอด ขณะที่หนังเรื่องล่าสุดของเขาผสมผสานแฮนด์เฮลด์เข้ากับสเตดิแคมอย่างกลมกลืน รัสเซลล์อธิบายว่าเป็นเพราะเขาต้องการจับความรู้สึกและพลังของนักแสดงในระยะประชิด นอกจากนี้การใช้สเตดิแคมยังจะช่วยสานต่อความลื่นไหลของบทสนทนาอีกด้วย มันสำคัญมากสำหรับผมที่จะบีบเค้นอารมณ์นักแสดง ให้พวกเขาคงความเข้มข้นทางด้านอารมณ์ไว้ได้ตลอด และส่งต่อมายังคนดูในที่สุด”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงบทในนาทีสุดท้ายของเขา แม้กระทั่งระหว่างถ่ายทำฉากนั้นอยู่ เดวิดก็จะแก้บทไปเรื่อยๆ” กอร์ดอนกล่าว “เขาเกือบเป็นเหมือนนักแสดงอีกคน คอยป้อนบทพูดใหม่ๆ ใส่เข้าไปในฉาก ซึ่งเขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ตอนสร้าง Flirting With Disaster แล้ว” แต่หากคุณถามรัสเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงเดียวที่เขาสังเกตเห็นกลับไม่ใช่ในแง่สไตล์ เทคนิค หรือเนื้อหา แต่เป็นความขยันและกระตือรือร้นที่จะทำงาน เมื่อก่อนเขามักจะทิ้งช่วงค่อนข้างนานระหว่างหนังแต่ละเรื่อง (Three Kings ห่างจาก I Heart Huckabees 5 ปี จากนั้นเขาก็เว้นช่วงอีก6 ปีกว่าจะสร้าง The Fighter) แต่ The Fighter กับ Silver Linings Playbook กลับทิ้งช่วงห่างเพียง 18 เดือน แถมตอนนี้เขายังเริ่มเตรียมงานสร้างหนังเรื่องใหม่แล้ว ซึ่งจะนำแสดงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์ และ คริสเตียน เบล ผู้กำกับวัย 54 ปีกล่าวถึงเขาวางแผนจะสร้างหนังให้ได้ปีละเรื่อง “เวลาไม่เคยรอใคร และตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนกำลังมือขึ้น”... ไม่แน่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า รัสเซลล์อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าเขากำลังมือขึ้นจริงๆ เกินกว่าที่ใครจะคาดคิดก็ได้


สตีเวน สปีลเบิร์ก (Lincoln)

ความฝันในการสร้างหนังมหากาพย์ประวัติศาสตร์เรื่อง Lincoln ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ต้องพบอุปสรรคมากมายหลายครั้งจนเกือบมองไม่เห็นหนทางสำเร็จลุล่วง ในปี 2003 เมื่อ เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ ตอบปฏิเสธไม่รับบทเป็นลินคอล์น สปีลเบิร์กคิดในใจว่าโครงการนี้คงต้องพับเก็บไปตลอดกาล จนกระทั่งได้แรงผลักดันเล็กๆ จากเพื่อนสนิท มีอยู่คืนหนึ่ง ลีโอ ดิคาปริโอ แวะมากินข้าวเย็นที่บ้านผม จู่ๆ เขาก็ถามขึ้นว่าโครงการสร้างหนังเรื่อง Lincoln ไปถึงไหนแล้ว ผมเลยเล่าว่าเดเนียลตอบปฏิเสธ และในเมื่อไม่มีเดเนียล ผมคงต้องยอมล้มเลิกโครงการ ลีโอได้แต่รับฟังอย่างเงียบๆ จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นเขาก็โทรมาหาผมที่ออฟฟิศ บอกว่าเดเนียลกำลังรอให้คุณโทรไปหา ลีโอไม่เคยเล่าให้ผมฟังว่าเขาพูดอะไรกับเดเนียลผู้กำกับเจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Saving Private Ryan และ Schindler’s List รำลึกความหลังพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสุดวิเศษ

หลายปีต่อมาการเดินทางดังกล่างลงเอยด้วยการเข้าชิงออสการ์ 12 สาขา สองในนั้น คือ ของตาย อย่างนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม สำหรับสปีลเบิร์ก หนังเรื่องนี้ถือเป็นการถอยห่างจากสไตล์การทำหนังแบบโชว์ออฟ เร้าอารมณ์อย่างโจ่งแจ้งแบบที่เราคุ้นเคย ในทางตรงกันข้าม มันค่อนข้างนิ่ง ลุ่มลึก และเต็มไปด้วยบทสนทนาอันเฉียบคม ทั้งนี้เพราะสปีลเบิร์กไม่ได้เลือกโฟกัสเรื่องราวไปยังสงครามกลางเมืองอันยิ่งใหญ่ หากแต่เป็นวิบากกรรมอันยอกย้อนของความพยายามจะผลักดันกฎหมายเลิกทาสในช่วงโค้งสุดท้ายของสงคราม มันค่อนข้างแตกต่างจากหนังเรื่องก่อนๆ ของผมสปีลเบิร์กกล่าว ดรามาส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังสอดแทรกอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึก และมุกตลกขบขันในหลายๆ ฉาก

Lincoln นำเสนอภาพลักษณ์ที่ซับซ้อน หลากหลายมิติของประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของชาวอเมริกัน เขาเก่งกาจในแง่มุมการเมือง และยินดีจะปล่อยวางความเชื่อส่วนตัวเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลสำเร็จ มันแตกต่างจากภาพวาดแรกในหัวของสปีลเบิร์ก เมื่อเขาเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ลินคอล์นตอนอายุ 5ขวบ “เขาเป็นผู้นำชั้นยอด” ผู้กำกับวัย 66 ปีกล่าว “เขามั่นคงและเชื่อมั่นในระบบศีลธรรม อิสรภาพ ความดีงาม และสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เขาไม่เคยหักเหจากความเชื่อมั่นเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเล่นการเมืองได้เก่งเท่าลินคอล์น มันเป็นเรื่องของการรักษาสมดุล ผมไม่เคยต้องการจะสร้างหนังเพื่อเชิดชูเขา แต่อยากสร้างหนังเพื่อให้คนนำประเด็นไปถกเถียงกันต่อ”

หลังจากเดย์-ลูว์อิสต์ตอบปฏิเสธ สปีลเบิร์กพยายามจะสานต่อโครงการกับ เลียม นีสัน แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกความตั้งใจเพราะทั้งสองเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของลินคอล์น สปีลเบิร์กหันเหความสนใจไปยังโครงการหนังเรื่องอื่นๆ จนกระทั่งดิคาปริโอยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ข้อแม้เพียงอย่างเดียวของ เดย์-ลูว์อิสต์ คือ เขาขอเวลา 1 ปีเพื่อทำความรู้จักกับ อับราฮัม ลินคอล์น สปีลเบิร์กช่วยเหลือเขาอีกทางหนึ่งด้วยการส่งเทปสัมภาษณ์ชาวไร่ในแถบที่ลินคอล์นถือกำเนิดและเติบโต เพื่อใช้ศึกษาสำเนียงและการออกเสียง สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเห็นตรงกัน คือ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว เสียงของลินคอล์นจะสูงกว่าที่ทุกคนคุ้นชิน มันอาจฟังดูไม่ค่อยนุ่มหู ไม่ใช่ อับราฮัม ลินคอล์น แบบใน ดิสนีย์ เวิลด์ แต่มีความถูกต้องตามประวัติศาสตร์สปีลเบิร์กกล่าว 

ในหนังลินคอล์นจะต้องดูแก่ลงอย่างเห็นได้ชัดตลอดช่วงสี่เดือนตามท้องเรื่อง เพราะต้องรับมือกับความเครียดจากภาวะสงครามอันยืดเยื้อจนทำให้เขานอนไม่หลับ ระหว่างการถ่ายทำสปีลเบิร์กและเดย์-ลูว์อิสต์ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่อาจจะแตกต่างกัน (สำหรับคนหลัง มันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการแสดงแบบเมธ็อด) พวกเขาจึงมักจะส่งข้อความหากันตอนตีสามเกี่ยวกับรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากๆ จนนอนไม่ค่อยหลับ สปีลเบิร์กกล่าว และพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เขาต้องนอนซมด้วยพิษไข้เป็นเวลานานถึง 10 วัน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผมป่วยระหว่างการถ่ายทำแต่ใครๆ ก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นถือได้ว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยยากและการรอคอยที่ยาวนาน


เบน ไซท์ลิน (Beasts of the Southern Wild)

หนังอินดี้เล็กๆ เรื่อง Beasts of the Southern Wild ผลงานกำกับชิ้นแรกของ เบน ไซท์ลิน พัดกระหน่ำแวดวงหนังอินดี้ได้รุนแรงไม่แพ้พายุเฮอร์ริเคนคาทรินา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่องราวอันประหลาดล้ำของดินแดนที่ถูกน้ำท่วม โดยมีศูนย์กลางเรื่องราวเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวคู่หนึ่ง ที่ต้องต่อสู้เพื่อบ้านเกิด หนังเปิดตัวที่ซันแดนซ์และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง เดินทางไปยังเทศกาลหนังเมืองคานส์และกวาดเสียงตอบรับอย่างอบอุ่น ก่อนจะตบท้ายความสำเร็จอันงดงามด้วยการเข้าชิงออสการ์ในสาขาหลักๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม

ไซท์ลินสร้างหนังด้วยทุนอันน้อยนิด (1.8 ล้านเหรียญ) ถ่ายทำตามสถานที่จริงในรัฐลุยเซียนาด้วยกล้อง 16 มม. และชาวบ้านในท้องถิ่นที่ไม่เคยผ่านงานแสดงมาก่อน พลังในหนังของเขาเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะแหกกฎ โดยผสมผสานความเหมือนจริงเข้ากับตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านของเมืองบาธทับ ซึ่งเปรียบเสมือนยูโทเปียที่ไม่ถูกรุกรานโดยการเมือง ศาสนา หรือวิถีชีวิตแบบทุนนิยม มันเป็นดินแดนที่ยากแค้น ไซท์ลินกล่าว ชาวบ้านยอมเสียสละความศิวิไลซ์ โดยสิ่งที่พวกเขาได้รับตอบแทน คือ อิสรภาพและความกลมเกลียว ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ในโลกนอกกำแพงที่พวกเขาสร้างขึ้น

ความสมจริง คือ สิ่งที่ไซท์ลินปรารถนา เขาเลือกชาวบ้านในท้องถิ่นมาเป็นดารานำแทนนักแสดงมืออาชีพ และเปลี่ยนบทหลายครั้งหลังคัดเลือกคนที่จะมารับบทพ่อกับลูกได้แล้วโดยเก็บข้อมูลจากปฏิกิริยาระหว่างกันของพวกเขา ในแง่การออกแบบฉาก แทบทุกอย่างที่ปรากฏล้วนมีอยู่ตรงนั้นแล้ว การประดิษฐ์เพิ่มเรียกได้ว่าเกือบจะเป็นศูนย์ คุณอยากจะเล่าเรื่องราวจึงเริ่มต้นเขียนบท แต่เมื่อถึงเวลาถ่ายทำ คุณต้องยอมให้องค์ประกอบต่างๆ รอบข้างมีส่วนเปลี่ยนแปลง หรือแทรกรายละเอียดที่แตกต่าง การถ่ายหนังไม่ใช่การดำเนินตามบทอย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่เหลือช่องเพื่อยืดหยุ่น หรือไหลลื่นไปกับสถานการณ์ ผู้กำกับหนุ่มอธิบายลักษณะการทำงานของเขา และหนึ่งในความพยายามไหลลื่นไปกับสถานการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดกล้อง เมื่อไซท์ลินซื้อรถปิคอัพเก่าๆ คันหนึ่งมาในราคา 500 เหรียญ ใช้ขับไปนิวออร์ลีนส์ จู่ๆ ก็มีควันดำลอยโขมงจากฝากระโปรงรถ ตามมาด้วยเสียงระเบิดดังสนั่นไซท์ลินเล่า ทีมงานของเขาในออฟฟิศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นชั่วคราวที่ปั๊มน้ำมันร้างแห่งหนึ่ง รีบโทรตามรถดับเพลิง และในเวลาต่อมาซากรถปิคอัพเจ้ากรรมก็กลายมาเป็นเรือที่สองตัวละครเอกในหนังใช้ล่องไปตามลำธาร  

กระแสความสำเร็จของ Beasts of the Southern Wild สร้างความประหลาดใจให้ไซท์ลินได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นหนังที่ห่างไกลจากระบบสตูดิโอของฮอลลีวู้ดราวกับมาจากคนละโลก ผมหลงรักภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก เขากล่าว แต่ผมไม่เคยอยากมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะรู้สึกว่าระบบการทำงานมันดูน่ากลัว ความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อไซท์ลิน ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นคนฉายหนัง บรรลุสัจธรรมจากการดูหนัง 4 เรื่องนี้ติดต่อกัน นั่นคือ Badlands (เทอร์เรนซ์ มาลิก) Aguirre: Wrath of God (แวร์เนอร์ แฮร์ซอก) Down By Law (จิม จาร์มุช) และ Undergroud (อีเมียร์ คุสตาริกา) “หนังเหล่านี้ทำให้ผมคิดได้ว่า ยังมีหนทางอื่นๆ อีกในการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ ได้เห็นคนเดินทางเข้าป่า หรือดินแดนรกร้างว่างเปล่าเพื่อไปถ่ายหนัง ล่องเรือไปยังสถานที่อันห่างไกลและบอกเล่าเรื่องราว และตอนนั้นเองที่ผมเริ่มคิดอยากจะทำหนังกับเขาบ้าง


อังลี (Life of Pi)

แม้เครดิตหนังที่ผ่านมาจะเต็มไปด้วยความท้าทายหลากหลายรูปแบบ บางครั้งแตกต่างกันมากจนไม่น่าเชื่อว่าพวกมันเหล่านั้นเป็นผลงานของผู้กำกับคนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังพีเรียดโรแมนติกดำเนินเรื่องในประเทศอังกฤษ หนังจีนกำลังภายใน หรือหนังรักระหว่างคาวบอยชายสองคนในยุค 60 แต่อังลีกลับไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะเดินหน้าสู่ความท้าทายรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ล่าสุด คือ การสร้างหนังจากนิยายของ ยาน มาร์เทล ที่หลายคนนิยามว่า ไม่สามารถทำเป็นหนังได้เรื่อง Life of Pie เพราะมีฉากหลักเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มกับเสือโคร่งบนเรือเล็กๆ กลางทะเล ในวงการภาพยนตร์มีคติเตือนใจอยู่อย่างว่า อย่าทำหนังกับเด็ก สัตว์ หรือน้ำ แต่คุณจะเห็นทั้งหมดรวมกันอยู่ในหนังเรื่องนี้ผู้กำกับชาวไต้หวันกล่าว (เอ็มมา ธอมป์สัน เล่าว่าหลังจากความยุ่งยากอันเกิดจากแกะฝูงหนึ่งระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Sense and Sensibility อังลีก็ประกาศกร้าวว่าเขาจะไม่ทำหนังโดยใช้สัตว์ใดๆ อีกเลย แต่สุดท้ายก็ละเมิดคำสาบานกับ Brokeback Mountain ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ของสองคาวบอยหนุ่มที่ต้องขึ้นไปเลี้ยงแกะด้วยกันบนภูเขา) นอกจากนี้ ความท้าทายอีกอย่างซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับอังลี คือ การถ่ายทำทุกฉากในระบบ 3 มิติ

Life of Pi เล่าถึงรื่องราวชีวิตของ พาย พาเทล เด็กชายชาวอินเดียที่เติบโตมาในสวนสัตว์ของพ่อ จนกระทั่งครอบครัวเขาตัดสินใจอพยพไปยังประเทศแคนาดา และออกเดินทางโดยอาศัยเรือขนาดใหญ่เพื่อขนย้ายสัตว์ทั้งหลายไปพร้อมกัน ระหว่างทางพายุลูกใหญ่ได้จมเรือลงสู่ก้นบึ้งของมหาสมุทรพร้อมกับพ่อแม่และสัตว์ส่วนใหญ่ เหลือรอดแค่พายกับเสือโคร่งนาม ริชาร์ด พาร์คเกอร์ บนเรือชูชีพ พวกเขาเริ่มต้นดิ้นรนเอาชีวิตรอดในฐานะศัตรูคู่อาฆาต แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับค่อยๆ พัฒนาไปเป็นมิตรภาพและความรู้สึกผูกพัน ขณะต่างคนต่างก็พยายามจะเอาชีวิตรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย

อาจกล่าวได้ว่าการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ถือเป็นมหากาพย์ในตัวเองได้เช่นกัน อังลีต้องการความสมจริงในทุกรายละเอียด และเขายินดีทำทุกวิถีทางเพื่อให้ฉากที่ต้องอาศัยคอมพิเตอร์กราฟฟิก และถ่ายทำในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ดูน่าหวาดกลัวและสมจริง กล่าวคือ ถึงแม้สัตว์ทั้งหลายในหนังจะเป็นผลจากเทคนิคพิเศษด้านภาพ แต่อังลีต้องใช้เวลาหลายเดือนทำงานร่วมกับสัตว์จริงๆ และคนฝึกสัตว์เพื่อศึกษาพฤติกรรมท่าทาง ความเคลื่อนไหว แล้วจับภาพพวกมันในทุกช่วงจังหวะอารมณ์ พวกเขามี ริชาร์ด พาร์คเกอร์ จริงๆ ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน เพื่อใช้เป็นแบบในการถ่ายทอดแต่ละช่วงชีวิตที่แตกต่างของตัวละคร ขณะเดียวกัน อังลีก็ไม่อาจปล่อยให้ความถี่ถ้วนเข้ามาขัดขวางตารางการทำงานอันบีบรัดได้เพื่อควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลาย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เสียทีเดียวสำหรับผู้กำกับที่เคยสร้างหนังซัมเมอร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Hulk มาแล้ว ขณะเดียวกันสัมผัสอันอ่อนโยน ลุ่มลึกของอังลีจากการสร้างหนังเกี่ยวกับผู้คนและความสัมพันธ์อย่าง Brokeback Mountain และ Sense and Sensibility ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ Life of Pi ไม่กลายเป็นงานโชว์เทคนิคที่ว่างเปล่า  หรือภาพวาดอันงดงามตระการตาแต่ปราศจากความหมาย

อลิซาเบ็ธ เกเบลอร์ ผู้บริหารของ Fox 2000 ซึ่งพยายามผลักดัน Life of Pi มาตลอด นับแต่มันยังเป็นโครงการที่จะกำกับโดย เอ็ม. ไนท์ ชามาลาน กล่าวว่าเธอตระหนักอยู่เสมอถึงความท้าทายในการสร้างหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะการรักษาอารมณ์หลักของหนังสือเอาไว้โดยไม่ให้มันกลายเป็นหนังราคาแพงเกินไป (มันลงเอยด้วยการใช้ทุนสร้างทั้งหมด 120 ล้าน) “มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ตลอดเวลาหลายปี เราคิดว่าคงไม่สามารถทำมันสำเร็จได้เธอกล่าว พร้อมทั้งเสริมว่าการโปรโมตหนังเรื่องนี้ก็ท้าทายไม่แพ้การถ่ายทำ เพราะหนังสามารถครอบคลุมความสนใจในวงกว้างได้ ตั้งแต่ตลาดหนังกระแสหลักสำหรับทุกคนในครอบครัว จนถึงตลาดหนังอาร์ตของนักดูหนังวัยผู้ใหญ่ และหากเผลอหนักมือไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำทำร้ายโอกาสในการเข้าถึงคนดูอีกฟากหนึ่ง แต่สุดท้าย ทั้งหมดก็ลงเอยอย่างมีความสุข เมื่อหนังได้เสียงตอบรับอย่างงดงามจากนักวิจารณ์ รวมถึงทำเงินในตลาดโลกได้มากมายเกินคาด


ไมเคิล ฮาเนเก้ (Amour)

ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา เมื่อผู้กำกับชาวออสเตรีย ไมเคิล ฮาเนเก้ คว้ารางวัลสูงสุดมาครองเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 ปีกับผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง Amour นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่ามันเป็นสัญญาณสื่อถึงภาพลักษณ์ที่อ่อนโยนขึ้นของเขา ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงสำหรับนักทำหนังที่ถูกตีตรามาตลอด 25 ปีว่าเป็นปรมาจารย์แห่ง ภาพยนตร์ของการทรมานสมมุติฐานดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากฮาเนเก้สักเท่าไหร่ ผมนำเสนอเรื่องราวอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพและความจริงจังเสมอ นั่นหมายความว่า ถ้าผมทำหนังเกี่ยวกับความรัก มันย่อมจำเป็นต้องอ่อนโยน นุ่มนวลกว่าเวลาผมทำหนังเกี่ยวกับการนำเสนอความรุนแรงในสื่อ เช่น Funny Gamesเขากล่าว

นอกเหนือจาก Funny Games ซึ่งถือเป็นผลงานสุดอื้อฉาวทั้งเวอร์ชั่นดั้งเดิมในปี 1997 และเวอร์ชั่นรีเมค (โดยฮาเนเก้เอง) ในปี 2008 แล้ว ฮาเนเก้ยังนำเสนอเรื่องราว ไม่น่ารักผ่านสื่อภาพยนตร์อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นแรกของเขา The Seventh Continent เกี่ยวกับครอบครัวที่ฆ่าตัวตายหมู่ หรือหนังคว้ารางวัลปาล์มทองคำเรื่องก่อนหน้า The White Ribbon ที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่แบบสังคมชายเป็นใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของเยอรมันก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกมันอาจไม่ใช่หนังทำเงินอันดับต้นๆ แต่ก็ได้รับคำชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์ นักศึกษาภาพยนตร์จำนวนมาก หนึ่งในแฟนพันธุ์แท้ของฮาเนเก้ คือ ฌอง-หลุยส์ แตรงติญอง อดีตซูเปอร์สตาร์จาก And God Created Woman ที่ตัดสินใจเกษียณตัวเองจากวงการบันเทิงมาพักใหญ่ โดยนอกเหนือจากบทเล็กๆ ในหนังของลูกสาวเขาเรื่อง Janis et John แล้ว บทบาทการแสดงล่าสุดของเขาต้องนับย้อนไปไกลถึงปี 1998 แต่ทันทีที่ได้อ่านบทของฮาเนเก้ ซึ่งเขียนขึ้นให้แตรงติญองโดยเฉพาะ เขาก็รีบตอบตกลง

ผมแสดงหนังมากว่า 135 เรื่อง และในความคิดของผม ไมเคิล ฮาเนเก้ เป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมไม่ได้เลือกเล่นหนังจากบท แต่จากตัวผู้กำกับ และเขาเป็นผู้กำกับที่เชี่ยวชาญทักษะด้านภาพยนตร์สูงสุด ไม่ว่าจะในแง่เทคนิค เช่น การบันทึกเสียง การถ่ายภาพ หรือวิธีกำกับนักแสดง หนังเรื่องนี้พูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างมืดหม่น แต่ผมไม่เคยสนุกกับการทำงานให้ผู้กำกับคนไหนมากเท่าฮาเนเก้นักแสดงวัย 81 ปีกล่าว พร้อมกับเสริมว่าผู้กำกับชาวออสเตรียยังมีปรัชญาการทำงานสอดคล้องกับเขาด้วย (ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศว่า นักแสดงที่ดีที่สุดในโลก คือ นักแสดงที่รู้สึกมากที่สุดและแสดงออกน้อยที่สุด”) “ก่อนเริ่มถ่ายทำเราปรึกษาหารือกันนานสองหรือสามเดือน เกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างหนังของเขาและสิ่งที่เขาต้องการจากนักแสดง เขามักจะบอกนักแสดงอยู่เสมอว่าอย่าแสดงออก แต่ให้รู้สึกลึกๆ ไว้ข้างในมันเป็นหน้าที่ของเขากับกล้องที่จะบันทึกความรู้สึกเหล่านั้น

สำหรับนักดูหนัง ฮาเนเก้เป็นเหมือนปริศนาที่ยากจะถอดรหัส เขาชอบเล่นสนุกกับความคาดหวังของผู้ชม เช่น ฉากรีโมทมหัศจรรย์ในหนังเรื่อง Funny Games “สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในหนังทุกเรื่องของเขา คือ ความคลุมเครือโอลิเวอร์ ซี. สเปค ผู้เขียนหนังสือ Funny Frames: The Filmic Concepts of Michael Haneke กล่าว เราคนดูต้องการบทสรุป ซึ่งเชื่อมโยงทุกส่วนเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน ไม่ใช่คำถามที่ปราศจากคำตอบ แต่ฮาเนเก้กลับยืนกรานให้เราตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง และใครก็ตามที่บอกว่ามันมีอยู่จริง ถ้าไม่โกหกก็เป็นพวกเผด็จการไม่เพียงคนดูเท่านั้นที่ไม่แน่ใจ กระทั่งนักแสดงของเขาเองก็ประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อ จูเลียต บิโนช ถามเขาระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Cache (aka Hidden) ว่าตกลงตัวละครที่เธอแสดงแอบคบชู้อยู่หรือเปล่า คำตอบที่เธอได้จากฮาเนเก้ คือ ในฉากที่เธอต้องเผชิญหน้ากับลูกชายในเรื่อง ให้เล่นเหมือนกับตัวเองไม่ได้คบชู้ ส่วนในฉากที่เธอต้องพูดคุยกับสามีในร้านกาแฟ ให้เล่นเหมือนว่าตัวเองคบชู้อยู่

อีกหนึ่งรายละเอียดที่พบเห็นบ่อยๆ ในหนังของฮาเนเก้ คือ ตัวละครผู้ชายของเขามักจะชื่อจอร์จ ส่วนผู้หญิงจะชื่อแอนน์ และถ้าพวกเขามีลูกสาว ก็มักจะชื่อเอวา ตอนแรกฮาเนเก้อธิบายสาเหตุว่าเกิดจากความขี้เกียจ หาได้มีความหมายอื่นใดแอบแฝง แต่เมื่อตระหนักว่าคำอธิบายดังกล่าวดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ เขาจึงนำเสนออีกคำตอบว่า มันคงเกี่ยวโยงไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าหนังทุกเรื่องของผมมักจะสำรวจกลุ่มคนและชนชั้นเดิมๆ โดยตลอด นั่นคือ ชนชั้นกลางของยุโรป ซึ่งเป็นพื้นเพของผมเองเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: