วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2560

หนังแห่งความประทับใจ


Tangerine - โลกนี้อยู่ยาก น่าจะเป็นนิยามที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้ที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะชะตากรรมน่ารันทดของเหล่าตัวละครชายขอบเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงความลื่นไหลทางเพศจนยากจะตีตรา หรือจัดแยกประเภทอีกต่อไป (กะเทยแต่งหญิงขายตัวด้วยการให้ลูกค้า ซึ่งเป็นชายที่แต่งงานมีเมียแล้ว อมของลับ??!!) หนังตลกเฮฮา ทำให้หัวเราะสลับเหวอได้อย่างน่าทึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ขาดแคลนช่วงเวลาร้าวราน หรือบาดลึกกินใจแบบไม่ต้องบีบเค้น หนึ่งในนั้นคือฉากจบอันงดงาม ลงตัว

Carol - พูดถึงภาวะตกหลุมรักได้วาบหวาม ละเอียดอ่อน เปี่ยมอารมณ์ ทั้งในส่วนของความอิ่มเอิมและเจ็บปวดรวดร้าว มองจากภายนอกอาจแลดูเหมือนหนังหัวโบราณ แต่เนื้อแท้แล้วกลับพูดถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศได้หัวก้าวหน้าไม่น้อย แม้ว่าจะดัดแปลงมาจากนิยายที่เก่าเกินครึ่งศตวรรษ เคท แบลนเช็ตต์ สวยสง่างามมาก ฉากที่เธอตัดสินใจเลือก ตัวเองแทนที่จะยอมตามสามีใจแคบซึ่งจับลูกเป็นตัวประกันถือเป็นความกล้าหาญอย่างเหลือเชื่อ เมื่อพิจารณาจากบริบทแห่งยุคสมัย

Embrace of the Serpent - พูดถึงประเด็นใหญ่โตเกี่ยวกับการสูญหายของอารยธรรมและอิทธิพลอาณานิคมด้วยท่าทีซึ่งปราศจากการสั่งสอน แต่ให้ความรู้สึกถึงสโคปของหนังผจญภัยคลาสสิก ต่างกันแค่คราวนี้พระเอกไม่ใช่คนขาวที่เข้าไปชื่นชม กลมกลืนกับอารยธรรมต่างแดน แต่เป็นคนพื้นเมืองซึ่งมองดูคนขาวด้วยสายตาไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ

After the Stormความเจ็บปวดของหนังเรื่องนี้ คือ ทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อให้โลกจดจำ มีพรสวรรค์พิเศษ หรือกระทั่งเป็นที่รักของคนรอบข้าง บางคนก็เกิดมาเป็นแค่นักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นสามี/ลูก/พ่อที่ไม่เอาไหน แล้วก็ไม่มีศักยภาพพอจะพัฒนา ไต่เต้าให้เป็นอะไรได้มากกว่านั้น แม้จะพยายามแค่ไหนแล้วก็ตาม มันไม่ใช่ความผิด มันก็แค่ชีวิต

La La Land - เพลิดเพลินเจริญใจ ชอบการออกแบบฉากเพลง/เต้นรำแต่ละฉากที่ไม่ใช้การตัดต่อเป็นหัวใจหลัก (ส่วนใหญ่จะเป็น long take เช่น ฉากเปิดเรื่องและฉากเต้นแท็ปแต่ใช้การเคลื่อนไหวของนักแสดง การออกแบบท่าเต้นให้เข้าจังหวะเพลง ส่วนเนื้อหาก็รักษาสมดุลระหว่างความเจ็บปวดกับความโรแมนติกได้อย่างกลมกล่อม ทำให้ไม่รู้สึกว่ามันเป็นหนังเพลงโลกสวยระดับ The Sound of Music แต่ก็ไม่ได้มืดหม่นหดหู่ในระดับ Cabaret เสียทีเดียว

นักแสดงชาย

ไมเคิล คีตัน (Spotlight) ชอบการแสดงของเขาในเรื่องนี้มากกว่าใน Birdman ซะอีก อาจไม่มีฉากโชว์แบบ มาร์ค รัฟฟาโล แต่ลุ่มลึก หนักแน่น และน่าเชื่อถือมากๆ

ไรอัน กอสลิง (The Nice Guys) ถ้าได้ดูพวกคลิปสัมภาษณ์เวลาออกรายการต่างๆ จะเห็นว่ากอสลิงเป็นคนตลก แต่ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด เขากลับสร้างชื่อเสียงบนจอเงินจากบทดาร์คๆ ฆาตกรโรคจิต หรือไม่ก็ผู้ชายมีปมเป็นหลัก หนังเรื่องนี้ (และอาจรวมถึง La La Land ด้วยก็ได้) ใกล้เคียงกับบุคลิกจริงของกอสลิงมากขึ้น โดยอัพดีกรีความบ้าบอคอแตกขึ้นไปอีกขั้น และเขาก็ลื่นไหลกับบทได้อย่างเป็นธรรมชาติ

เจค็อบ เทรมเบลย์ (Room) น้องควรจะได้เข้าชิงออสการ์ เล่นดีกว่าแม่ (ในเรื่อง) ที่ได้ออสการ์ไปอีก

เบลค เจนเนอร์ (Everybody Wants Some!!) อาจไม่ได้โชว์ฝีมืออะไรมาก แต่ผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เลือกเขามาได้เหมาะกับบทดีจัง ส่วนผสมระหว่างความหื่น ความห่าม และความอ่อนหวาน อินโนเซนต์ เขาดูน่าเชื่อถือทั้งในฉากบ้าๆ บอๆ เวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อนผู้ชายและในฉากโรแมนติกเปี่ยมมนตร์เสน่ห์ตามสไตล์ลิงค์เลเตอร์

เจค จิลเลนฮาล (Demolition) รางวัลเล่นดีเกินหน้าหนังฝ่ายชาย

นักแสดงหญิง

ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) ฉากงานเลี้ยงตอนท้ายนี่ถือเป็นไฮไลท์ทางการแสดงเลยทีเดียว เริ่มต้นด้วยการพยายามปั้นหน้ายิ้มแย้ม มีความสุขท่ามกลางแขกเหรื่อ ก่อนน้ำแข็งจะเริ่มค่อยๆ ละลาย ปริแตก และพังทลายจนไม่เหลือซากในช็อตสุดท้าย

คริสเตน สจ๊วต (Equals) ติดใจเธอมานานตั้งแต่ Into the Wild รู้สึกมาตลอดว่าผู้หญิงคนนี้ มีของแม้เธอจะโดนล้อเลียนจากคนทั่วไปว่ามีหน้าเดียวหลังไปเล่นหนังชุด Twilight ก็ตาม ดีใจที่เธอกลับมาได้ แล้วกลับมาแบบสวยสดงดงามซะด้วย

อันยา เทย์เลอร์-จอย (The Witch) บทหนักหนาสาหัสไม่น้อยสำหรับนักแสดงหน้าใหม่ แต่น้องทำได้และทำได้ดีเกินคาด

ลอรา ลินนีย์ (Nocturnal Animals) ออกมาฉากเดียว แต่ติดตราตรึงใจมาก ไม่ใช่แค่เพราะทรงผมหม่อมหญิงแม่เท่านั้น แต่จากการจับบุคลิกตัวละครได้อย่างแม่นยำ เธอดูตื้นเขิน ปลอมเปลือก แต่ในเวลาเดียวกันก็เข้าใจลูกสาวตัวเองอย่างถึงแก่น

เอมิลี บลันท์ (The Girl on the Train) รางวัลเล่นดีเกินหน้าหนังฝ่ายหญิง

ความคิดเห็น

ช่วงปลายปีผมรู้สึกเศร้าใจเมื่อได้เห็นรอบฉายหนังเรื่อง ถึงคน...ไม่คิดถึงกับ ปั๊มน้ำมันซึ่งกระปริบกระปรอยอยู่แค่ไม่กี่โรง แถมแต่ละโรงก็ฉายอยู่ราวสองสามรอบเห็นจะได้ จากนั้นพอถึงสัปดาห์ที่สองก็แทบจะถูกถอดออกจากโปรแกรมจนหมด ทั้งสองเรื่องผมสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นหนังไทย (กระแสหลัก) น้ำดีไม่กี่เรื่องของปีนี้ ที่ผู้สร้างตั้งใจ พิถีพิถัน และกลั่นกรองจากความรัก ความเชื่อในสิ่งที่พวกเขาเล่ามากกว่าแค่เพื่อหวังโกยเงิน (ส่วนในแง่คุณภาพนั้นก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้) พวกมันไม่ควรถูกกระทำย่ำยีในลักษณะนี้ ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะให้พวกมันต้องเข้าฉายถึงขั้นปูพรมทั่วประเทศ แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีที่ทางให้พวกมันได้เจริญงอกงามบ้าง

ทุกวันนี้เรามีโรงหนังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดนับร้อยนับพัน กระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง แต่ดูเหมือนทางเลือกของคนดูนับวันจะน้อยลงๆ ทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ได้อาศัยอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ หลายครั้งผมนึกสงสัยว่าเราจำเป็นต้องฉายหนังจำพวก The Avengers หรือ Fast and Furious กันทุก 15 นาทีเลยเหรอ มีกี่คนที่ตัดสินใจดูเพียงเพราะปราศจากตัวเลือกที่ดีกว่า หรือหนังเรื่องอื่นที่อยากดูไม่มีรอบเวลาที่สะดวก

ผมรู้สึกเศร้าใจหนักยิ่งกว่าเมื่อมีคนออกมาเรียกร้องพื้นที่ให้หนังไทย รวมถึงหนังต่างประเทศจากค่ายหนังอิสระในโรงภาพยนตร์ ซึ่ง เช่นเดียวกับแวดวงธุรกิจอื่นๆ อีกหลายอย่างในประเทศนี้ เต็มไปด้วยการผูกขาด เนื่องจากรัฐปล่อยให้กระทำการได้อย่างเสรีโดยปราศจากกฎข้อบังคับใดๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรม หรือเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การที่เจ้าของร้านหนังสือก็สามารถทำหนังสือมาขายเองได้ หรือ เจ้าของโรงหนังก็สามารถสั่งหนัง ทำหนังมาฉายเองได้ตามสะดวก (ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าหนังอย่าง หลวงพี่แจ๊สจะประสบปัญหาหาโรงฉายไม่เจอแบบหนังสองเรื่องข้างต้น) กระแสของผู้คนส่วนใหญ่กลับรุมก่นด่าคนเรียกร้องราวกับพวกเขากำลังจะมาปล้นสิทธิเสรีภาพในการดูหนังจาก มาร์เวล สตูดิโอ

บ้างก็บอกว่าหนังไทยห่วยแตก ใครจะยอมเสียเงินไปดู ปล่อยให้มันตายๆ ไปเถอะ (พร้อมกับยอมรับว่าตัวเองเลิกดูหนังไทยมาตั้งแต่ แฟนฉัน”) ราวกับว่าเมืองไทยมีแต่หนังอย่าง หลวงพี่แจ๊สบ้างก็บอกว่าโรงหนังเป็นธุรกิจ สินค้าอะไรวางขายไม่ได้ จะเอามาตั้งโชว์ให้เปลืองพื้นที่ เสียโอกาสการขายทำไม ราวกับว่าตอนนี้โรงหนังกำลังเสี่ยงต่อการล่มจมเพราะพวกเขาไม่สามารถทำกำไรใดๆ หรือหาหนทางอื่นในการปัดภาระค่าใช้จ่ายได้เลย ราวกับว่าภาพยนตร์ไม่มีคุณค่าอื่นใดอีกเลยนอกเหนือจากสร้างขึ้นเพื่อหาทางทำกำไรกลับคืน

แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจที่สุด คือ ก่อนหน้านั้นไม่นานมีคนออกมาวิจารณ์ร้านสะดวกซื้อซึ่งมีสาขามากที่สุดในประเทศว่าจงใจกำจัดคู่แข่ง (บริษัทผลิตขนมปังแห่งหนึ่ง) ด้วยการผลิตสินค้าเลียนแบบแล้วนำมาวางขายในตำแหน่งที่ดีกว่า พร้อมกับผลักสินค้าคู่แข่งไปอยู่ในจุดอับ หรือไม่ก็สั่งของเข้าร้านแบบกระปริบกระปรอย กระแสของผู้คนส่วนใหญ่กลับมุ่งโจมตีร้านสะดวกซื้อกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่เห็นมีใครแก้ต่างว่าถ้าคุณทำขนมปังออกมาอร่อย ยังไงก็ต้องมีคนซื้อกินอยู่แล้ว การผูกขาดและทุนนิยมกลายเป็นความเลวร้ายขึ้นมาในฉับพลัน


ก็นั่นแหละครับท่านผู้ชม เราอยู่ในสังคมที่ภาพยนตร์ไม่มีค่าพอจะต่อสู้เพื่อให้มันอยู่รอดมากเท่าขนมปัง 

ไม่มีความคิดเห็น: