วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2550

จาก The Supremes สู่ The Dreams



ในช่วงทศวรรษ 1960 The Supremes ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มนักร้องแอฟริกัน-อเมริกันที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มีแผ่นซิลเกิลขึ้นอันดับหนึ่งบิลบอร์ดถึง 12 เพลงด้วยกันระหว่างปี 1964 ถึง 1969 และที่สำคัญสูงสุด คือ สมาชิกทั้งหมดของวงนี้ยังเป็นผู้หญิงล้วน! ซึ่งนั่นถือเป็นความมหัศจรรย์เล็กๆ ในยุคที่ผู้หญิงและคนผิวดำยังเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ปราศจากสิทธิเสรีภาพในสังคมชาย (ผิวขาว) เป็นใหญ่ ความโด่งดังของ The Supremes หนึ่งในทรัพย์สินทรงคุณค่าสูงสุดของ โมทาวน์ เรคคอร์ด (นอกจาก The Temptations, สตีวี่ วันเดอร์, มาร์วิน เกย์, The Jackson 5 และ The Miracles) ส่งผลให้ดนตรีโซลและอาร์แอนด์บีได้รับการบุกเบิกสู่ตลาดวงกว้างทั้งในอเมริกาและทั่วโลก แม้หลายคนจะกระแนะกระแหนว่าดนตรีของพวกเธอห่างไกลจากรากเหง้าของคนผิวดำไปมากก็ตาม

ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด เริ่มก่อตั้งวง The Primettes ขึ้นในปี 1958 เมื่อเธอได้พบและรู้จักกับ มิลตัน เจนกิ้นส์ ผู้จัดการวงบอยแบนด์แห่งเมืองดีทรอยท์ชื่อ The Primes ซึ่งแนะนำให้เธอจัดตั้งวงเกิร์ลกรุ๊ปขึ้นบ้าง ด้วยเหตุนี้ บัลลาร์ดผู้มีความสามารถในการร้องเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเรียกเพื่อนซี้ แมรี่ วิลสัน มาร่วมปีนบันไดฝัน จากนั้นวิลสันก็ชักชวนเพื่อนสาวร่วมชั้นเรียน ไดอาน่า รอส มาเข้าร่วมกลุ่ม ก่อนเจนกิ้นส์จะเสนอให้ แบตตี้ แม็คโกลว แฟนสาวของ พอล วิลเลี่ยมส์ สมาชิกวง The Primes มาเติมเต็มจนครบสี่ดรุณี แต่หลังจากเวลาผ่านไปเพียงสองปี บาร์บาร่า มาร์ติน ก็ต้องเข้ามาแทนที่แม็คโกลว ซึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาต่อ

เป้าหมายหลักของ The Primettes คือ การได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัด โมทาวน์ เรคคอร์ด พวกเธอเคยไปทดสอบอัดเสียงกับ เบอร์รี่ กอร์ดี้ หัวหน้าค่ายเพลง อยู่หลายครั้ง แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากเขาเห็นว่าพวกเธอยังเด็กเกินไปและขาดประสบการณ์ แต่แล้วในปี 1961 กอร์ดี้ก็ทบทวนความคิดใหม่ และตัดสินใจเซ็นสัญญาให้พวกเธอเข้าสังกัดโมทาวน์ด้วยข้อแม้ว่าวงจะต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ (ในตอนนั้นวง The Primes ก็เซ็นสัญญากับโมทาวน์แล้ว และเปลี่ยนชื่อวงเป็น The Temptations) บัลลาร์ดเลือกชื่อ The Supremes ซึ่งวิลสันกับรอสไม่ค่อยชอบใจนักในตอนแรกเพราะเห็นว่ามันฟังดู “แมนๆ” เกินไป แต่กอร์ดี้กลับชอบและชื่อก็ติดหู แต่เพียงไม่กี่เดือนหลังจาก The Supremes เซ็นสัญญาเข้าสังกัดโมทาวน์ บาร์บาร่า มาร์ติน ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อไปเริ่มต้นสร้างครอบครัว ทำให้วงเหลือสมาชิกทั้งหมดเพียง 3 คน

ระหว่างช่วงปี 1961 ถึง 1963 The Supremes ออกซิงเกิล 8 แผ่น แต่พวกมันกลับไต่ขึ้นไม่ถึงชาร์ต Top 20 เลยสักแผ่น จนถูกตั้งสมญานามว่า “no-hit Supremes” ด้วยเหตุนี้ สามสาวจึงพยายามรับจ็อบทุกอย่างที่พอจะหาได้ตลอดช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นงานร้องเสียงประสาน หรือเสียงปรบมือให้นักร้องดังในค่ายคนอื่นๆ อย่าง มาร์วิน เกย์ และ The Temptations ระหว่างช่วงต้นๆ ของอาชีพนักร้องในสังกัด สามสาวจะสลับกันทำหน้าร้องนำ โดย แมรี่ วิลสัน จะเน้นร้องเพลงช้า ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด จะเน้นร้องเพลงจังหวะคึกคัก ออกแนวดนตรีโซล ส่วน ไดอาน่า รอส จะเน้นร้องเพลงป็อปเอาใจตลาด

โชคเริ่มเข้าข้าง The Supremes เมื่อวง The Marvelettes ปฏิเสธไม่ยอมร้องเพลง Where Did Our Love Go ของ ฮอลแลนด์-ดูเซียร์-ฮอลแลนด์ (ทีมแต่งเพลงอันประกอบไปด้วย ลามอนท์ ดูเซียร์ และสองพี่น้อง ไบรอัน ฮอลแลนด์ กับ เอ็ดเวิร์ด ฮอลแลนด์ จูเนียร์) โดยปรกติแล้ว The Supremes ไม่นิยมร้องเพลง “มือสอง” ของใคร แต่เนื่องจากสถานการณ์ “อดอยากปากแห้ง” ในตอนนั้น พวกเธอจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ผลปรากฏว่าเพลงดังกล่าวกลับพุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งในเดือนสิงหาคมปี 1964 นับเป็นซิงเกิลฮิตอันดับหนึ่งซิงเกิลแรกของวง The Supremes ก่อนจะตามมาอีกเป็นกระบุงโกย เช่น Baby Love, Stop! In the Name of Love, Back in My Arms Again และ You Can’t Hurry Love

แต่เฉกเช่นตัวอย่างอีกนับล้าน ชื่อเสียงเงินทองย่อมนำไปสู่ปัญหาและความขัดแย้ง เมื่อ เบอร์รี่ กอร์ดี้ เริ่มสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ ไดอาน่า รอส พร้อมทั้งยกตำแหน่งนักร้องนำให้เธอ จนทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างรอสกับอีกสองสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด ผู้ถูกผลักไปเป็นแค่นักร้องแบ็คอัพเพื่อหลีกทางให้รอส ซึ่งมีน้ำเสียง “ตลาด” เหมาะกับเพลงป็อป ได้ฉายแสงเพียงลำพัง (ไม่นานต่อมาวงก็ถูกตั้งชื่อใหม่เป็น Diana Ross & the Supremes) ความหดหู่จากการถูกลดคุณค่าในวงที่เธอเป็นคนเริ่มก่อตั้งขึ้นทำให้บัลลาร์ดเริ่มดื่มเหล้าอย่างหนัก ส่งผลให้น้ำหนักของเธอเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถสวมชุดหลายชุดขึ้นแสดงบนเวทีได้

ระหว่างช่วงต้นปี 1967 บัลลาร์ดมักจะมาแสดงสายหลายครั้งหรือไม่ก็ไม่โผล่หน้ามาเลย เธอถูกแทนที่ (ในการแสดงสด) โดย มาร์ลีน บาร์โรว์ หนึ่งในสมาชิกวง The Andantes ของโมทาวน์ ก่อนกอร์ดี้จะเซ็นสัญญาให้ ซินดี้ เบิร์ดซอง สมาชิกวง Patti LaBelle & the Blue Belles ซึ่งมีใบหน้าละม้ายคล้ายบัลลาร์ด มาเป็นนักร้องหลักแทนบัลลาร์ด ผู้ถูกไล่ออกจากวงหลังการแสดงที่ลาสเวกัสในเดือนมิถุนายน 1967 พร้อมเงินก้อนจำนวน 139,804 ดอลลาร์เป็นค่าปลอบขวัญ บัลลาร์ดพยายามจะบินเดี่ยวกับค่าย เอบีซี เรคคอร์ด แต่ประสบความล้มเหลว (ตรงกันข้าม รอสกลับกลายเป็นนักร้องหญิงเดี่ยวชื่อดังหลังแยกตัวออกจาก The Supremes ในปี 1970 เธอเป็นเจ้าของเพลงฮิตมากมายอย่าง Touch Me in the Morning และ Endless Love) เช่นเดียวกับความพยายามของเธอที่จะฟ้องร้อง โมทาวน์ เรคคอร์ด เพื่อเรียกค่าเสียหาย 8.7 ล้านเหรียญ โดยอ้างว่ากอร์ดี้กับรอสวางแผนกันบีบเธอออกจากวง สุดท้ายบัลลาร์ดก็เริ่มดำดิ่งสู่ความยากจนข้นแค้น ก่อนจะจบชีวิตลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1976 ด้วยวัยเพียง 32 ปี

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Dreamgirls คือ การแก้แค้นของ ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด เมื่อตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตเธอ ทั้งในเวอร์ชั่นบรอดเวย์และฮอลลีวู้ด กลายเป็นโฟกัสหลักของเรื่องราว แถมนักแสดงที่มารับบทดังกล่าวยังขโมยซีนไปครองแบบหมดจด (ละครเพลงเปิดแสดงทั้งหมด 1522 รอบ ได้รับเสียงชื่นชมจาก แมรี่ วิลสัน แต่ ไดอาน่า รอส กลับไม่ชอบใจและปฏิเสธที่จะไปดูการแสดง) เจนนิเฟอร์ ฮอลลิเดย์ คว้ารางวัลโทนี่มาได้จากบท เอฟฟี่ ไวท์ ในเวอร์ชั่นละครเวที ส่วน เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (ฟ้าลิขิตให้พวกเธอสองคนมีชื่อเดียวกัน) ผู้รับบทเอฟฟี่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ก็กำลังกรุยทางสู่เวทีออสการ์อย่างสง่างาม

ไม่มีความคิดเห็น: