วันพฤหัสบดี, มีนาคม 01, 2550

Oscar 2007 (6): ความฝันที่กลายเป็นจริง


และแล้ว มาร์ติน สกอร์เซซี่ ก็พลาดโอกาสที่จะถูกจัดรวมให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้กำกับระดับตำนานอย่าง โฮเวิร์ด ฮอว์ค, อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก, สแตนลีย์ คูบริค, ออร์สัน เวลส์ และ โรเบิร์ต อัลท์แมน เมื่อเขาได้รับการตีตราเป็นผู้กำกับรางวัลออสการ์ หรือ Academy Award-Winning Director แบบเดียวกับ จอห์น จี. เอวิลด์สัน, รอน โฮเวิร์ด, เมล กิ๊บสัน และ เควิน คอสเนอร์ ในค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แน่นอนสำหรับแฟนหนังส่วนใหญ่ รวมไปถึงบรรดาคนบันเทิงในวงการฮอลลีวู้ดทั้งหลาย นี่เปรียบเสมือนค่ำคืนแห่ง “ฝันที่เป็นจริง” สังเกตได้จากการลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างพร้อมเพรียงกันของเหล่าแขกเหรื่อในงานตอนที่สกอร์เซซี่ก้าวขึ้นไปรับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวที (แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้ไม่ใช่หรือที่เคยโหวตให้ Dances with Wolves มีชัยเหนือ Goodfellas?) ถึงแม้โดยลึกๆ แล้ว เราทุกคนล้วนตระหนักกันดีว่า The Departed ไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุด ลุ่มลึกที่สุด หรือซับซ้อนที่สุดของสกอร์เซซี่ และหนังคลาสสิกอย่าง Taxi Driver, Raging Bull, The King of Comedy และ Goodfellas ก็ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลออสการ์มารับประกันคุณภาพ... นั่นรวมไปถึงตัว มาร์ติน สกอร์เซซี่ เองด้วย

จะว่าไปแล้วมันดูคล้ายการเล่นตลกของชะตากรรม เมื่อบุคคลที่ขึ้นมามอบรางวัลดังกล่าวให้กับสกอร์เซซี่ คือ สองเพื่อนผู้กำกับร่วมรุ่นอย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า และ สตีเวน สปีลเบิร์ก ซึ่งต่างก็เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครองจากผลงานชั้นยอดอย่าง The Godfather Part 2 และ Schindler’s List ส่วนสกอร์เซซี่กลับต้องทำใจยอมรับข้อเท็จจริงว่าเขาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The Departed ผลงานรีเมคจากหนังฮ่องกง (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหนังฮอลลีวู้ดอีกทอดหนึ่ง) ไม่ใช่จาก Raging Bull หรือ Goodfellas แบบเดียวกับที่ จอห์น ฟอร์ด ได้ออสการ์สี่ตัวมาครอง แต่ไม่ใช่จากหนังคลาสสิกอย่าง Stagecoach หรือ The Searchers

อย่างไรก็ตาม การเป็นที่ยอมรับย่อมดีกว่าการถูกคัดชื่อออก และที่สำคัญ ทุกอย่างอาจเลวร้ายกว่านี้มาก เช่น สกอร์เซซี่อาจได้รางวัลออสการ์จาก Gangs of New York เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งนั่นคงกลายเป็นรอยด่างของทั้งออสการ์และตัวสกอร์เซซี่เอง งานนี้คงต้องขอบคุณ โรมัน โปลันสกี้ (The Pianist) ที่มาช่วยกอบกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ทัน The Departed เป็นหนังที่ลงตัวกว่าและเปี่ยมพลังกว่าผลงานหลายเรื่องในยุคหลังๆ ของสกอร์เซซี่ และเขาก็ดูจะมีความสุขมากที่ได้ออสการ์เป็นตัวแรกหลังจากเคยเข้าชิงมาแล้ว 6 ครั้ง (นอกจากนั้น The Departed ยังเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อีกด้วย)

“ใครช่วยเช็คชื่อในซองรางวัลอีกรอบได้ไหม” สกอร์เซซี่ปล่อยมุกบนเวที ขณะผู้คนใน โกดัก เธียร์เตอร์ พร้อมใจกันลุกขึ้นยืนปรบมือเป็นเกียรติให้เขา “ผมตื้นตันใจมาก ตลอดระยะเวลาหลายปีผู้คนต่างคาดหวังให้ผมได้มายืน ณ จุดนี้ แม้กระทั่งคนแปลกหน้าที่ผมไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นตอนผมเดินเข้าลิฟต์ ไปหาหมอ หรือเข้ารับการเอกซเรย์ พวกเขาพูดว่า คุณน่าจะได้ออสการ์มาครองสักตัว”

ความจริง การคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของสกอร์เซซี่ไม่ใช่เรื่อง “เซอร์ไพรซ์” เพราะใครๆ ต่างก็คาดเดากันไว้แล้ว แต่การที่ The Departed สามารถฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามและคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองได้ด้วยนั้นถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจไม่น้อย พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นหนังรีเมค มุ่งเน้นความบันเทิง มีโทนอารมณ์ค่อนข้างมืดหม่น และปราศจากเนื้อหาจรรโลงสังคมแบบเด่นชัด

จริงอยู่ มันคือหนังตัวเก็งอันดับหนึ่ง แต่ช่องว่างของมันกับคู่แข่งสำคัญอีกสองเรื่อง คือ Babel และ Little Miss Sunshine นั้นถือว่าน้อยมาก จนเรียกได้ว่าแทบจะหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว กระนั้นหลังจาก เธลมา ชูนเมคเกอร์ (The Departed) คว้าของสมาพันธ์นักลำดับภาพมาครอง (ได้คะแนนเท่ากันกับ Babel) ข้อกังขาว่า The Departed จะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหรือไม่นั้นก็พลันหมดไป เพราะตามสถิติแล้วหนังที่ได้รางวัล DGA (สมาพันธ์ผู้กำกับ) และ ACE (สมาพันธ์นักลำดับภาพ) จะเดินหน้าคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง 18 จาก 19 ครั้งตลอดช่วง 46 ปีที่ผ่านมา (คิดเป็น 85%) ได้แก่ The Departed, The Return of the King, Chicago, Titanic, The English Patient, Forrest Gump, Schindler’s List, Unforgiven, Dances With Wolves, The Last Emperor, Platoon, Amadeus, Gandhi, The Deer Hunter, Rocky, The Sting, Patton และ The Sound of Music

ข้อยกเว้นเดียว คือ ตอนที่ Saving Private Ryan คว้ารางวัล DGA และ ACE มาครอง แต่กลับพลาดรางวัลหนังยอดเยี่ยมออสการ์ให้กับ Shakespeare in Love

ที่สำคัญ ถ้านับรวมรางวัล WGA (สมาพันธ์นักเขียนบท) เข้าไปด้วย คุณจะพบว่าหนังที่ได้รับรางวัลครบทั้งสามสมาพันธ์จะเดินหน้าคว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแบบ 100% หรือ 6 จาก 6 ครั้ง นั่นคือ The Departed, Forrest Gump, Schindler’s List, Dances With Wolves, Patton และ The Sound of Music

นอกจากรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมแล้ว อีกรางวัลหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนรางวัลเกียรติคุณความสำเร็จตลอดอาชีพการทำงาน คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งเต็งสอง อลัน อาร์กินส์ (Little Miss Sunshine) พลิกคว่ำเต็งหนึ่ง เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ (Dreamgirls) ไปอย่างฉิวเฉียด ส่งผลให้ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ กลายเป็นนักแสดงคนที่สองที่ชนะรางวัลของทั้งสมาพันธ์นักแสดง (SAG) และลูกโลกทองคำ แต่กลับไปพลาดท่าบนเวทีออสการ์ หลังจาก ลอเรน เบคอล (The Mirror Has Two Faces) เคยถูก จูเลียต บิโนช (The English Patient) ยัดเยียดให้กินแห้วเมื่อ 10 ปีก่อน

อีกหนึ่งรางวัลที่ค่อนข้างพลิกล็อก คือ ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม เมื่อ Pan’s Labyrinth ซึ่งเข้าชิงรางวัลยิบย่อยมากมาย พลาดท่าให้กับหนังเยอรมันเรื่อง The Lives of Others ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งตัดหน้า Volver ของ เปโดร อัลโมโดวาร์ ด้วยการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที ยูโรเปียน ฟิล์ม อวอร์ด มาครอง เหตุผลสำคัญที่หนังเล็กๆ อย่าง The Lives of Others สามารถมีชัยเหนือหนังฟอร์มใหญ่ (กว่า) ที่เปิดฉายในวงกว้างอย่าง Pan’s Labyrinth เป็นเพราะการตัดสินในสาขานี้บีบบังคับให้คณะกรรมการทุกคนต้องดูหนังที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงให้ครบทุกเรื่อง ส่งผลให้มีสมาชิกร่วมโหวตเพียง 500 กว่าคนเท่านั้น แทนที่จะเป็น 5800 กว่าคนเหมือนในสาขาอื่นๆ และนักวิเคราะห์หลายคนก็ไม่แปลกใจที่หนังเยอรมัน ซึ่งมีเนื้อหาหนักแน่น น่าประทับใจเรื่องนี้คว้าชัยไปครอง เพราะในการฉายรอบพิเศษให้คณะกรรมการหลายครั้งหลายครา ผลงานของ ฟลอเรียน เฮนเคล ฟอน ดอนเนอร์สมาร์ค ได้รับเสียงชื่นชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยบางคนถึงกับยกย่องให้มันเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี และเชื่อว่ามันอาจได้เข้าชิงสาขาใหญ่ๆ อย่าง บท หรือกระทั่งกำกับ หากมีการเปิดฉายในวงกว้าง

ฮอลลีวู้ดประกาศจุดยืนว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วยการมอบรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมให้กับ An Inconvenient Truth (ตามคาด) ก่อนจะตบหน้า Dreamgirls ฉาดใหญ่ด้วยการมอบรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยมให้กับ I Need to Wake Up จากหนังเรื่องเดียวกัน (ไม่ค่อยตามคาด เพราะหลายคนเชื่อว่าเพลง Listen จะคว้าชัยไปครอง) ทั้งที่ภาพยนตร์เพลงฟอร์มยักษ์ของ บิล คอนดอน มีเพลงถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานี้ถึงสามเพลงด้วยกัน (เมื่อผนวกเข้ากับความพ่ายแพ้ในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย นักแสดงสมทบชาย และกำกับศิลป์ ซึ่ง Dreamgirls ล้วนเป็นหนึ่งในตัวเก็งแล้ว หลายคนชักไม่แปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงไม่เห็นชื่อของ Dreamgirls ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) นอกจากนั้น หนังการ์ตูนเพนกวินอนุรักษ์ธรรมชาติอย่าง Happy Feet ยังหักปากกาเซียนด้วยการคว้าชัยเหนือหนังการ์ตูนสุดฮิตจากค่ายพิกซาร์เรื่อง Cars ได้อีกด้วย เชื่อกันว่าการที่หนังการ์ตูนเพลงเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ จอร์จ มิลเลอร์ (Mad Max Trilogy, Babe: Pig in the City, The Witches of Eastwick, Lorenzo’s Oil) ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในวงการและเป็นที่ยอมรับมานาน น่าจะส่งผลกับการให้รางวัลไม่น้อย

โดยรวมแล้วผลรางวัลในปีนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับแบบถ้วนทั่ว ไม่มีเสียงบ่น คร่ำครวญ หรือก่นด่าตามมามากนัก รางวัลเดียวที่ให้ความรู้สึก “อยุติธรรม” สูงสุด (วัดจากเสียงของเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลาย) คือ ในสาขากำกับภาพยอดเยี่ยม เมื่อผลงานสุดมหัศจรรย์ของ เอ็มมานูเอล ลูเบสกี้ (Children of Men) พ่ายให้กับ Pan’s Labyrinth โดยก่อนหน้านี้ เคยมีบางคนแสดงความกังวลไว้แล้วว่างานกำกับภาพที่เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ ล้ำลึก และชวนตระการตา แต่ผสมความดิบเอาไว้พอควรของลูเบสกี้อาจไม่ “สวย” พอในสายตาของคณะกรรมการ และผลที่ออกมาก็ดูเหมือนจะช่วยยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว

เอลเลน ดีเจเนอเรส ในฐานะพิธีกร ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี (สื่อมวลชนดูจะยกให้เธอเหนือชั้นกว่า คริส ร็อค และ จอน สจ๊วต เล็กน้อย) แม้ว่าจะยังห่างไกลจาก บิลลี่ คริสตัล อยู่มากก็ตาม เธอรักษาบรรยากาศสบายๆ และผ่อนคลายเอาไว้ได้ตลอดงาน แต่ก็ปล่อยมุกให้คนดูยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ได้เป็นระยะ เช่น “ถ้าไม่มีคนดำ คนยิว และรักร่วมเพศ เราคงไม่มีงานออสการ์... หรือคนชื่อออสการ์” หรือ ตอนที่เธอขอให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก ช่วยถ่ายรูปเธอคู่กับ คลินท์ อีสต์วู้ด เพื่อเอาไปลง My Space ให้หน่อย

รางวัลออสการ์เกียรติยศในปีนี้ตกเป็นของนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ชาวอิตาเลียน เอนนิโอ มอร์ริโคเน ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์ 5 ครั้งจาก Days of Heaven, The Mission, The Untouchables, Bugsy และ Malena แต่ยังไม่เคยคว้าชัยมาครองเลยสักครั้ง นอกจากนี้ มอร์ริโคเนยังเป็นคนแต่งสกอร์เพลงชั้นยอดที่นักดูหนังแทบทุกคนคงคุ้นหูกันดีของหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้อย่าง The Good, the Bad and the Ugly, A Fistful of Dollars, For a Few Dollars More (ทั้งหมดล้วนนำแสดงโดย คลินท์ อีสต์วู้ด) และหนังสำหรับคนรักหนังอย่าง Cinema Paradiso อีกด้วย

And The Oscar Goes To…

Best Picture: The Departed
Best Director: Martin Scorsese (The Departed)
Best Actor: Forest Whitaker (The Last King of Scotland)
Best Actress: Helen Mirren (The Queen)
Best Supporting Actor: Alan Arkin (Little Miss Sunshine)
Best Supporting Actress: Jennifer Hudson (Dreamgirls)
Foreign Language Film: The Lives of Others (Germany)
Best Animated Feature: Happy FeetBest
Adapted Screenplay: The Departed Best
Original Screenplay: Little Miss Sunshine
Documentary: An Inconvenient Truth
Documentary Short: The Blood of Yingzhou District
Best Cinematography: Pan's Labyrinth
Best Editing: The Departed Best
Original Score: Babel
Best Original Song - I Need to Wake Up (An Inconvenient Truth)
Art Direction: Pan's Labyrinth
Best Costume Design: Marie Antoinette
Sound Mixing: Dreamgirls
Sound Editing: Letters from Iwo Jima
Makeup: Pan's Labyrinth
Visuals Effects: Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest
Live Action Short: West Bank Story
Best Animated Short: The Danish Poet

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จะว่าไปใช่ว่าจะไม่ชิบ the departed นะครับ
แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งยังคงชอบสไตล์ของหนังฮ่องกงมากกว่าเพราะ"ครั้งแรก"ก็ถือว่าดีมากแล้ว

ลำพังตัวเองก็ไม่ค่อยชอบอะไรที่เป็น รีเมค อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นเลยแอบลุ้นให้หนังน่ารัก หรือที่คิดว่าน่ารัก อย่าง little miss sunshine ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมไป แต่อนิจจา อะไรก็เกิดขึ้นได้จริงๆ T_T

Minkyblue_eye กล่าวว่า...

พี่พสุครับ...ผมลอง search ชื่อตัวเองเล่นๆใน google แล้วมาเจอชื่อพี่เขียนอยู่ที่ blogspot เหมือนกัน เลยลองเข้ามาทักทายครับ

ผมมิ้งค์นะครับหลานของใต้ดินสโตร์สุขุมวิทอ่ะครับ ^^