วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 23, 2551

ทุนเขมือบ


หลังจากพูดถึงประเด็นชาย-หญิงใน Teeth ไปเมื่อบทความก่อน คราวนี้ผมอยากจะลองหันมาพิจารณาอีกประเด็นซึ่งปรากฏควบคู่ในหนัง แต่อาจจะไม่เด่นชัดเท่า และให้ความรู้สึกเชิง “นัยยะ” มากกว่า แต่ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับภาพรวมของหนัง

ใครก็ตามที่ได้ดู Teeth คงอดแปลกใจไม่ได้กับภาพปล่องโรงงานพลังนิวเคลียร์ ซึ่งถูกสอดแทรกเข้ามา (คิดว่าน่าจะผ่านเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิก) ในหนังอย่างน้อยสี่ครั้งโดยปราศจากคำอธิบายเพิ่มเติมใดๆ มองโดยผิวเผิน นี่คงเป็นความพยายามอันเรียบง่ายของทีมสร้างหนังที่จะอธิบายสาเหตุแห่ง “กลีบเขมือบ” (แม่ของดอว์นเองก็ป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งไม่ถูกระบุแน่ชัด แต่ตีความได้ว่าอาจเป็นผลมาจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี) ว่าเกิดจากการแปลงพันธุ์ หรือการบิดเบือนทางโครโมโซม

การ์ตูน The Simpsons เคยเล่นแก๊กตลกเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบนโลกกลายพันธุ์เป็นสัตว์ประหลาด เช่น ปลามีขา หรือกบมีสิบตา อะไรทำนองนี้อยู่หลายครั้ง และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในเมืองนอกคนหนึ่งก็ได้เปรียบเทียบปล่องโรงงานใน Teeth ว่าให้อารมณ์คล้ายกับปล่องโรงงานนิวเคลียร์ที่ โฮเมอร์ ซิมป์สัน ทำงานอยู่



ฉากหลังของ Teeth แทบจะไม่แตกต่างจากสปริงฟิลด์ใน The Simpsons ตรงที่มันเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่ยังเต็มไปด้วยธรรมชาติ เช่น ป่าเขา น้ำตก และทะเลสาบ ด้วยเหตุนี้ปล่องโรงงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันจำนวนมหาศาลจึงเป็นสิ่งเดียวที่ดู “ไม่เข้าพวก” และขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกคุกคาม คล้ายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ถูกยัดเยียด สอดใส่เข้ามาทำลายบรรยากาศอันเงียบสงบ ร่มรื่น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มันไม่ต่างจากภาพสัญลักษณ์ของการ “ข่มขืน” สังคมชนบทโดยชาวเมืองและทุนนิยม

การแบ่งแยก/ขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทถือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ ซึ่งมักเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยการให้ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งย้ายบ้าน หรือแวะไปพักผ่อนยังชนบทอันห่างไกล (บรรดาบ้านผีสิงทั้งหลายถ้าไม่ตั้งอยู่กลางป่าเขา ก็มักจะเป็นเขตชานเมืองรอบนอก ส่วนแคมป์พักร้อน ซึ่งใช้เป็นฉากหลังในหนังแนว slasher films หลายเรื่องก็มักจะอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นกัน นิยายของ สตีเฟ่น คิง นิยมใช้พล็อตประเภทนี้เช่นกัน อาทิ Misery และ The Shining) จุดแรกเริ่มของมันคงได้แรงบันดาลใจมาจากพวกนิทานพื้นบ้านทั้งหลาย การเดินทางจากเมืองไปสู่ชนบทในหนังสยองขวัญก็คล้ายการเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังป่าเขาในนิทานเก่าแก่ เช่น ตำนานหนูน้อยหมวกแดง โดยหากคุณเปลี่ยนหมาป่าเป็นชายกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนฉาก “กิน” มาเป็น “ข่มขืน” ตัดบทนายพรานออก แล้วเปลี่ยนเป็นให้หนูน้อยหมวกแดงช่วยชีวิตตัวเธอเอง คุณก็จะได้หนังอย่าง I Spit on Your Grave (นักเขียนสาวชาวเมืองไปพักร้อนในชนบทแล้วถูกหนุ่มบ้านนอกกลุ่มหนึ่งรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาเธอจึงตามล่า แล้วฆ่าพวกมันทิ้งทีละคน)

รูปแบบของสังคมเมือง “ข่มขืน” สังคมชนบทพบเห็นอยู่เนืองๆ ในหนังสยองขวัญ The Hiils Have Eyes มีฉากหลังเป็นทะเลทราย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักด้วยชุมชนเหมือง แต่พอแร่ธาตุถูกสูบออกไปจนหมดแล้ว พื้นที่โล่งร้างดังกล่าวก็กลายเป็นแหล่งทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และกัมมันตภาพรังสีก็ส่งผลกระทบให้เกิดการบิดเบือนทางพันธุกรรม ในฉากเปิดเรื่องของ Deliverance ซึ่งมีพล็อตคล้าย I Spit on Your Grave แต่หลายคนอาจไม่จัดมันเข้าหมวดหนังสยองขวัญ คนดูจะได้เห็นภาพการสร้างเขื่อน การถมทับทะเลสาบ พร้อมเสียงพูดคุยของหนุ่มๆ ชาวเมืองเกี่ยวกับการจากไปของแม่น้ำอันเชี่ยวกรากและคงสภาพดั้งเดิมสูงสุดทางธรรมชาติ เพื่อหลีกทางให้กับโรงงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนมีแอร์ใช้กันมากขึ้น ตามมาด้วยเสียงสมทบว่า “เราจะข่มขืนไอ้ทัศนีภาพห่าเหวนี่ให้หมด”

ขณะที่ปมการเอาเปรียบและข่มเหงทางเพศใน Teeth ถูกสะสางและเอาคืนอย่างสนุกสนานในระดับหนึ่ง ปมการเอาเปรียบและข่มเหงทางเศรษฐกิจ/ชนชั้นกลับยังไม่ถูกระบุ หรือคลี่คลาย ตรงกันข้าม ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังแทบจะไม่สังเกตเห็นปล่องควันขนาดยักษ์ดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่มันตั้งตระหง่านตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาการป่วยของแม่ดอว์น หรือ “ความผิดปกติ” ของดอว์นไม่เคยถูกคิดเชื่อมโยงไปถึงปล่องโรงงานดังกล่าวเลย

พวกเขายังไม่ทันตระหนักถึงการล่วงละเมิด หรือ เช่นเดียวกับคำอ้างของพวกผู้ชายเวลากระทำชำเราเพศหญิง พวกเขา “ร้องขอมันเอง”?!?

ไม่มีความคิดเห็น: