วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 30, 2551

ดูแลฉัน! ปกป้องฉัน! และอย่ามีเซ็กซ์กับฉัน!


เป็นเรื่องบังเอิญอันน่าประหลาดในบ้านเรา ที่หนังเรื่อง Teeth (2007) เข้าฉายสัปดาห์เดียวกับ Twilight (2008) เพราะถึงแม้โดยเนื้อหาภายนอก หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะไม่สามารถเชื่อมโยงใดๆ ถึงกันได้ แต่หากมองทะลุเปลือกเข้าไปแล้ว คุณจะพบว่าพวกมันล้วนสะท้อนให้เห็นแฟนตาซีของเพศหญิง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนตาซี “ขั้วตรงข้าม” ของกันและกันก็ได้ (ความบังเอิญอีกอย่าง คือ ตัวเอกใน Teeth มีชื่อว่า ดอว์น หรือ รุ่งอรุณ ซึ่งตรงกันข้ามกับชื่อหนังเรื่อง Twilight ที่หมายถึงแสงสุดท้ายก่อนความมืดมิดแห่งรัตติกาลจะมาเยือน)

สเตฟานี ไมเออร์ ผู้แต่งนิยายชุดนี้เป็นมอร์มอนที่เคร่งศาสนา (จะว่าไปก็คงไม่แตกต่างจากดอว์นในช่วงต้นเรื่องของ Teeth สักเท่าไหร่) ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Twilight ถึงนำเสนอ “อารมณ์ทางเพศของผู้หญิง” ในฐานะสิ่งของต้องห้าม และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจุดพลิกผันเล็กๆ อยู่ตรง คนที่หลีกเลี่ยงไม่อยากมีเซ็กซ์กลับกลายเป็นเพศชาย (เอ็ดเวิร์ด) เพราะเขากลัวว่าจะเผลอทำร้ายเธอด้วยพลังเหนือธรรมชาติ หรือดูดเลือดเธอด้วยความกระหายตามสัญชาตญาณแวมไพร์ (ครอบครัวเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์มังสวิรัติ พวกเขาฝึกฝนตนให้ดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารและไม่ทำร้ายมนุษย์) “ความปลอดภัย” ของเบลล่าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทน “พรหมจรรย์” ซึ่งเอ็ดเวิร์ดพยายามปกป้องคุ้มครองด้วยความทุ่มเทเต็มร้อย

นี่มันโลกแฟนตาซียิ่งกว่า มิดเดิล เอิร์ธ ซะอีก! โลกที่หญิงสาวสามารถเปิดเผยความต้องการได้อย่างอิสระ แล้วปล่อยใจให้ชายหนุ่มได้โดยไม่ต้องรู้สึกละอาย เพราะเขาจะเป็นคนคอย “ปกป้อง” พรหมจรรย์ของเธอเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร

ในโลกของมอร์มอน เป้าหมายของผู้หญิง คือ รักษาความบริสุทธิ์เอาไว้จนกระทั่งวันวิวาห์ ปกป้องตัวเองจากเหล่าผู้ชายหื่นกระหายทั้งหลายและควบคุมอารมณ์อันพลุ่งพล่านของตนเอง แม้จะพลิกผัน “หน้าที่เฝ้าประตู” จากผู้หญิงมาเป็นผู้ชาย (และโชคดีเหลือเกินที่ผู้ชายคนดังกล่าวช่างเต็มไปด้วยความรับผิดชอบและเก็บกดอารมณ์ได้เป็นเลิศ) แต่ Twilight ยังคงมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้ชาย หรือแวมไพร์ ยังคงเป็นตัวแปรอันตรายและคุกคามความบริสุทธิ์ ส่วนผู้หญิงยังคงเปราะบาง อ่อนแอ การมีเพศสัมพันธ์อาจนำมาซึ่ง “ความตาย” (ความหมายแบบตรงตัวใน Twilight และความหมายเชิงนัยยะ นั่นคือ ความตายของสถานภาพทางสังคม ในโลกแห่งมอร์มอน)

การเปลี่ยนบทบาทให้ผู้หญิงไม่ต้องเป็นคนรับหน้าที่ปกป้องพรหมจรรย์ของตนเองจากเหล่าชายหนุ่มกลัดมันนำไปสู่อีกแฟนตาซีเพศหญิง ซึ่งดำรงอยู่คู่วัฒนธรรมของเรามาช้านาน (ในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่)

เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของผมเล่าให้ฟังว่า ฉากที่เธอชอบมากที่สุดของหนัง คือ ตอนท้ายเรื่องเมื่อเอ็ดเวิร์ดอุ้มเบลล่า (ใส่เฝือก) ข้ามธรณีประตูเข้าสู่งานพรอม พอผมถามเหตุผล เธอกลับตอบเรียบๆ แค่ว่า “ดูน่ารักดี” อย่างไรก็ตาม ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงชอบฉากนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอผมร่ายรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้เพิ่มเติมสักเล็กน้อย (อย่าหาว่าเอาเพื่อนมาเมาท์เลยนะ) เธอชื่นชอบละครและหนังเกาหลีโรแมนติกเป็นชีวิตจิตใจ (และไม่น่าจะรู้จักผลงานของผู้กำกับอย่าง คิมคีด็อค) บุคลิกโดยรวมค่อนข้างห้าว พูดจาโผงผางในบางเวลา จนหลายคนมองว่าเธอเป็นทอม เธอจะชื่นชมผู้ชายที่เปิดประตูให้ ช่วยถือของ ฯลฯ และด่าว่าผู้ชายที่ไม่แสดงคุณสมบัติทางอุดมคติว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษเอาซะเลย” ปัจจุบันเธอยังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน แต่อยากมีมาก จนต้องไปบนบานศาลกล่าวก็เคย โดยเวลาถามถึงหนุ่มในสเป็ค เธอมักจะตอบว่าต้องมีฐานะดีกว่า สูงกว่า ฉลาดกว่า แต่ห้ามผอมกว่า!?!

แม้จะมีงานทำ หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่สุดท้ายเธอก็ยังใฝ่ฝันอยากมีผู้ชายสักคนที่เข้มแข็งมาดูแล ปกป้อง เหมือนคนใส่เฝือกที่เดินไม่ถนัด แล้วมี “สุภาพบุรุษ” มาคอยอุ้มข้ามอุปสรรคทั้งหลายอยู่นั่นเอง

ในทางจิตวิทยา ได้มีการคิดค้นคำว่า Cinderella Complex ขึ้นมาสำหรับอธิบายแรงปรารถนาที่จะพึ่งพิง หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่น และหวาดกลัวการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่เพศหญิง แถมยังจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จุดกำเนิดของคำดังกล่าว คือ ตัวเอกในนิทานเรื่อง Cinderella ซึ่งเป็นผู้หญิงสวย ฉลาด และสุภาพอ่อนโยน แต่กลับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องรอคอยความช่วยเหลือจากพลังภายนอก (เจ้าชาย) มาทำให้เธอได้พบกับความสุข สมหวัง ส่วนตัวละครผู้หญิงที่ทรงพลังและเข้มแข็งกลับถูกวาดภาพให้เป็นนังวายร้ายที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง (แม่เลี้ยง)

“การเดินทาง” ของเบลล่า (Twilight) กับดอว์น (Teeth) พลิกตาลปัตรกันอย่างสิ้นเชิง ดอว์นเริ่มต้นเรื่องด้วยการมีทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงพรหมจรรย์ เธอไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก พยายามเก็บกดความต้องการทางเพศเอาไว้ภายใน แต่พอถึงตอนจบดอว์นสูญเสียแม่ (ครอบครัวทางสายเลือดเพียงคนเดียว) ตัดขาดจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ (ลูกพี่ลูกน้องและพ่อเลี้ยง) สูญเสียพรหมจรรย์ (แต่ได้รู้จักความหรรษาทางเพศ) ไม่เหลือมนุษย์เพศชายคอยปกป้อง (ชายหนุ่มที่เธอรักดันพยายามจะข่มขืนเธอ ส่วนผู้ชายอีกคนเห็นเธอเป็นแค่ตุ๊กตายางมีชีวิต) แต่ได้เรียนรู้ที่จะยืนหยัดบนขาของตัวเอง (พร้อมสรรพด้วยอาวุธลับทีเด็ดอย่าง “กลีบเขมือบ”) รอยยิ้มสุดท้ายของดอว์นก่อนจอหนังจะขึ้นเครดิตหนังสะท้อนให้คนดูตระหนักว่าเธอหาใช่เด็กสาวอ่อนเปลี้ย ไร้เดียงสาเหมือนในตอนต้นเรื่องอีกต่อไป

ตรงกันข้าม เบลล่าเริ่มต้นเรื่องด้วยภาพลักษณ์ของเด็กสาวที่แข็งแกร่ง เธอตัดสินใจเดินทางมาอยู่กับพ่อในเมืองต่างถิ่น เพื่อให้แม่ได้อยู่กับคนรัก เธอขับรถกระบะคันยักษ์ไปโรงเรียน (พาหนะหลักของดอว์น คือ รถจักรยาน) และไม่สนใจพวกเด็กหนุ่มที่มาคลอเคลียเธอตั้งแต่วันแรก เธอไม่ตื่นเต้นเรื่องงานพรอม การเลือกซื้อชุด หรือหาคู่เดท เหมือนเด็กสาวมัธยมทั่วไป แต่พอถึงตอนจบ เบลล่ากลับกลายเป็นหญิงสาวที่ต้องพึ่งพิงเอ็ดเวิร์ดอย่างสิ้นเชิง (สุภาพบุรุษแวมไพร์ตนนี้ได้ “ช่วยชีวิต” เธอไว้ถึงสามครั้ง แถมยังคอยวิ่งมาเปิดประตูรถให้ และอุ้มเธอข้ามธรณีประตู) แม่อยากให้เธอไปอยู่ด้วย เธอปรับความเข้าใจกับพ่อได้ และลงรอยกับครอบครัวของเอ็ดเวิร์ด สรุปว่าสุดท้ายเธอมีครอบครัวให้เลือกถึงสามครอบครัวด้วยกัน หลังจากช่วงต้นเรื่องจำเป็นต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง เธอลงเอยด้วยการมาร่วมงานพรอม แต่ต้องเต้นรำบนเท้าของเอ็ดเวิร์ด ความอ่อนแอ เปราะบางของเธอถูกเน้นย้ำบ่อยครั้ง... ที่สำคัญ นอกจากไม่ต้องสูญเสียอะไรแล้ว เธอยังรักษาพรหมจรรย์เอาไว้ได้ในตอนจบ และไม่มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความหรรษาทางเพศ

ถึงตอนนี้ Twilight ให้ความรู้สึกเหมือนการนำเอา Thelma & Louise มาเล่าย้อนหลังยังไงพิกล

ไม่มีความคิดเห็น: