วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 17, 2550

ฉัน... อัตลักษณ์ทางเพศของฉัน


พอได้ข่าวการประท้วงของกลุ่มรักร่วมเพศต่อหนังเรื่อง Me… Myself ผมก็ไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใด และออกจะเข้าใจ “ข้อขัดแย้ง” ของพวกเขาด้วยซ้ำ (แต่นั่นหาได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำหรือจุดยืนของพวกเขาเสมอไป) ทั้งนี้เพราะผมคาดเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พล็อตเรื่องอัน “พิลึกพิลั่น” จนเกือบถึงขั้นชวนหัวของหนัง (ถ้ามันไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยลีลาและโทนอารมณ์จริงจัง ขึงขังขนาดนี้) อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับชาวรักร่วมเพศจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักกิจกรรมที่พยายามเรียกร้องสิทธิ์ในเชิงกฎหมาย ตลอดจนการยอมรับของสังคมให้กับเกย์และเลสเบี้ยน

Me… Myself เล่าถึงเรื่องราวชีวิตอันพลิกผันของเด็กชายคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางเมคอัพ วิกผม แสงไฟ ชุดกระโปรง และรองเท้าส้นสูง จนกระทั่งในที่สุดค่อยๆ แปรเปลี่ยนตัวเองเป็นนางโชว์แสนสวยนามว่า ทันย่า (ซึ่งสันนิษฐานจากรูปร่างของเธอ/เขาแล้ว คงจะพิสมัยการยกเวทเล่นกล้ามมากกว่ากินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพศหญิง) เธอ/เขาเดินทางมากรุงเทพเพื่อตามหาคนรักหนุ่ม ก่อนจะค้นพบความจริงว่าเขาแต่งงานมีลูกมีเมียแล้ว ซ้ำร้ายเธอ/เขายังโดนโจรกระจอกปล้นชิงทรัพย์และทำร้ายจนสูญเสียความทรงจำอีกด้วย แต่หลังจากนั้น ทันย่าก็ได้ “เกิดใหม่” (ย้ำผ่านฉากแทน/ทันย่านั่งเปลือยกายในห้อง) เป็นชายหนุ่มรูปงามนามว่า แทน แล้วค่อยๆ สร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอุ้ม สาวทำงานที่บังเอิญขับรถชนเขาในค่ำคืนแห่งชะตากรรม

ต่อประเด็นต้นกำเนิดแห่งรสนิยมทางเพศ ไม่ต้องสงสัยว่าหนังเรื่องนี้เอนเอียงเข้าฝ่าย “การเลี้ยงดู” (nurture) อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นฟากแนวคิดที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากงานค้นคว้าของฟรอยด์ ผู้ตั้งข้อสังเกตว่าชายชาวรักร่วมเพศมักเติบโตขึ้นมาในบ้านที่แม่คุมเข้ม ขณะพ่อทำตัวเหินห่าง เย็นชา หรืออ่อนแอ ส่งผลให้เด็กชายเลียนแบบพฤติกรรมของแม่แทน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ความ “นิยม” เริ่มเอนเอียงเข้าหาฝ่าย “ธรรมชาติ” (nature) เมื่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากบ่งชี้ไปในทิศทางว่ารสนิยมทางเพศของมนุษย์นั้นเกิดจากปัจจัยทางเคมีตั้งแต่กำเนิด

ดูเหมือนหนังเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าความเป็นรักร่วมเพศของแทนนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และหากทุกอย่างได้รับการเริ่มต้นใหม่ ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบใหม่ เขาก็อาจเติบโตมาเป็นผู้ชาย “ปกติ” ได้ นั่นคือ โหยหาเพศหญิงและขยะแขยงเพศชาย ด้วยเหตุนี้ ช่วงชีวิตของแทนระหว่างภาวะความจำเสื่อมจึงเปรียบเสมือน “ภาพจำลองความเป็นไปได้” ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากแทนไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยเหล่ากะเทยนางโชว์ และเมื่อความทรงจำของแทนหวนคืนมา ภาพจำลองดังกล่าวเลยพลอยพังทลายลงด้วย (แม้ว่าความรักของเขากับอุ้มจะหาได้แตกสลายตามไปไม่) ส่งผลให้แทนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบนางโชว์ดังเดิม เพราะนั่นคืออัตลักษณ์ของเขา

สมมุติฐานของหนังทำให้ผมนึกถึงเรื่องจริงในมุมกลับของ เดวิด ไรเมอร์ ซึ่งสูญเสียอวัยวะเพศไปในระหว่างขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลายขณะเขาอายุได้เพียงแปดเดือน และเนื่องจากความร้ายแรงของบาดแผล ที่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปรกติได้ พ่อแม่ของเดวิดจึงนำเขาไปเข้าพบผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านงานวิจัยเพศศึกษาที่โรงพยาบาลชั้นนำ จอห์นส์ ฮ็อบกิ้นส์ ในเมืองบัลติมอร์ ที่นั่น บรรดานายแพทย์ได้โน้มน้าวให้พวกเขายอมนำลูกชายเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนการเฉือนอวัยวะเพศชายทิ้ง ผ่าตัดเปลี่ยนเพศใหม่ให้เขา และปิดท้ายด้วยโปรแกรมติดตามผลนานสิบสองปีสำหรับปรับแต่งทางฮอร์โมน สังคม และจิตวิทยา เพื่อให้การแปลงสภาพคงทนถาวรเข้าไปในจิตใจของเดวิด รายงานในวารสารทางการแพทย์ระบุว่าการผ่าตัดครั้งนั้นประสบความสำเร็จดีเยี่ยม เดวิดกลายเป็นคนไข้ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง (แม้ชื่อจริงของเขาจะไม่ถูกบันทึกไว้) ในประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่

ความโด่งดังไม่ได้เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงเพียงว่า เดวิดคือทารกปรกติรายแรกที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น หากแต่โอกาสที่โครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จยังค่อนข้างริบหรี่อีกด้วย เนื่องจากเดวิดถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับแฝดแท้อีกคน ซึ่งเป็นพี่น้องเพียงคนเดียวของเขาและตัวแปรเปรียบเทียบของการทดลอง เขามีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนเดวิดทุกประการ แต่มีองคชาตและอัณฑะที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และถูกเลี้ยงดูให้เป็นผู้ชายปรกติ

การรายงานผลว่า ฝาแฝดทั้งสองเติบโตขึ้นมาในฐานะเด็กหญิงและเด็กชายที่มีความสุขเปรียบเสมือนหลักฐานชิ้นสำคัญ ยืนยันสมมุติฐานที่ว่า สภาพแวดล้อมมีผลต่อการกำหนดเพศของมนุษย์มากกว่าลักษณะทางกรรมพันธุ์ ตำราการแพทย์และสังคมวิทยาถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อรวมกรณีดังกล่าวเข้าไป การผ่าตัดแปลงเพศกลายเป็นขบวนการรักษาขั้นพื้นฐานสำหรับทารกที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ผิดปรกติ หรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้น กรณีดังกล่าวยังถูกใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของกลุ่มเฟมินิสต์ช่วงยุค 1970 อีกด้วยว่า ช่องว่างระหว่างเพศเป็นผลมาจากตัวแปรทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการทางชีววิทยา สำหรับ ดร. จอห์น มันนี่ นายแพทย์หัวหน้าโครงการผ่าตัดแปลงเพศ ผลทดลอง “กรณีคู่แฝด” กลายเป็นชัยชนะที่โด่งดังและได้รับการยกย่องสูงสุดตลอดอาชีพการทำงานกว่าสี่สิบปี จนเขาถูกขนานนามให้เป็น “หนึ่งในนักวิจัยเรื่องเพศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ”

แต่แล้วข้อเท็จจริงที่ว่าการทดลองครั้งนั้นถือเป็นความล้มเหลวครั้งสำคัญก็ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในวารสารทางการแพทย์โดย ดร. มิลตัน ไดมอนด์ นักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮาวาย และ ดร. คีท ซิกมันด์สัน จิตแพทย์จากเมืองวิกตอเรีย ซึ่งรายงานถึงการต่อสู้ดิ้นรนตั้งแต่แรกเริ่มของเดวิดกับเพศหญิงที่แพทย์ยัดเยียดให้เขา ก่อนสุดท้ายจะหวนกลับไปใช้ชีวิตตามเพศดั้งเดิมที่กำหนดไว้แล้วในยีนและโครโมโซมเมื่ออายุได้สิบสี่ปี

“มันเหมือนการถูกล้างสมอง” เดวิดกล่าว “ผมยอมสูญเสียทุกอย่าง หากนักสะกดจิตสามารถลบอดีตทั้งหมดของผมได้ มันเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส สิ่งที่พวกเขาทำกับร่างกายคุณบางครั้งก็ไม่เจ็บปวดเท่าสิ่งที่พวกเขาทำกับจิตใจคุณเลย มันคล้ายสงครามประสาทในหัวสมอง”

เรื่องราวของ เดวิด ไรเมอร์ ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่ามนุษย์เราสามารถ “เลือก” ที่จะเป็นได้จริงๆ หรือเมื่อพูดถึงประเด็นทางเพศ

หมายเหตุ: ข้อมูลเกี่ยวกับ เดวิด ไรเมอร์ แปลจากหนังสือ As Nature Made Him เขียนโดย จอห์น โคลาพินโต

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนเก่งจังงงง.... ชอบอ่าน แต่แสดงความเห็นไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

ขอถามนิดเดียวละกานว่าเมื่อไหร่ หนังสือ As Nature Made Him ถึงจะแปลออกมาซะทีง่ะ อ่านแค่นิดเดียวยังรู้สึกเรยว่าเป็นหนังสือที่ดี...

Riverdale กล่าวว่า...

หนังสือคงไม่ได้ออกแล้วครับ เพราะสำนักพิมพ์เปลี่ยนนโยบาย ทั้งๆ ที่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ไปแล้วด้วย จริงๆ มันเป็นหนังสือที่ดีมาก อ่านสนุกและให้ความรู้ ถ้าอยากอ่านบางส่วน (ผมแก้ต้นฉบับเอาไว้ส่วนหนึ่ง จากฝีมือการแปลของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร... จริงๆ ถ้าต้นฉบับงานแปลดีกว่านี้ ไม่ต้องแก้มาก หนังสือคงได้ตีพิมพ์ไปแล้ว) ได้ที่

http://xq28.net/wow/viewtopic.php?f=7&t=2069