วันเสาร์, กันยายน 26, 2552
Short Replay: Hedwig and the Angry Inch
ถ้าจะมีหนังเพลงสักเรื่องที่เหมาะกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษใหม่ หนังเรื่องนั้นคงได้แก่ Hedwig and the Angry Inch ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาวะร่วมสมัยของเพศสถานะและบทบาททางเพศอันลื่นไหล คลุมเครือได้อย่างชัดเจน ผ่านเรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวเยอรมันตะวันออก แฮนเซล (จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์) ที่ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศเพื่อจะได้แต่งงานไปกับนายทหารชาวอเมริกันและหลบหนีออกจากระบบคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายการผ่าตัดเกิดความผิดพลาดร้ายแรง ส่งผลให้ แฮนเซล (ผู้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเฮ็ดวิก) เหลือเศษเสี้ยวความเป็นชายอยู่หนึ่งนิ้ว (ที่มาของชื่อหนัง) และกลายสภาพเป็นมนุษย์ “กึ่งกลาง” จะหญิงก็ไม่ใช่ จะชายก็ไม่เชิง... หรือทั้งหญิงและชายในร่างเดียวกัน
ความสับสนทางเพศสภาวะในหนังค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสามีของเฮ็ดวิกหนีตามผู้ชายไป ส่วนเฮ็ดวิกกลับหันไปอยู่กินกับ ยิทซัค กะเทยแต่งหญิงและสมาชิกร่วมวงดนตรีร็อค (รับบทโดยนักแสดงหญิง มิเรียม ชอร์) หนังดูเหมือนจะสื่อเป็นนัยยะว่ายิทซัคต้องบิดเบือนตัวตนและรับบทเป็น “สามี” เพื่อเฮ็ดวิก ก่อนสุดท้ายจะถูกปลดปล่อยเป็นอิสระในฉากเพลง Midnight Radio เมื่อเฮ็ดวิคสลัด “เครื่องปรุงแต่ง” แห่งเพศหญิงของตนทิ้ง แล้วยื่นวิกผมให้ยิทซัค ซึ่งต่อมากลายสภาพเป็นกะเทยแต่งหญิงสุดเจิดจรัสแบบที่เขาต้องการและโหยหามาตลอดชีวิต
สภาพสังคมและระบบวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนขึ้นทำให้การแบ่งแยกอย่างชัดเจน (ขาว-ดำ ชาย-หญิง) ที่เคยใช้ได้ผลในยุคเก่าก่อนถูกพังทลายลงเฉกเช่นกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งเคยแบ่งตะวันออกจากตะวันตก คอมมิวนิสต์จากทุนนิยม รวมถึงแนวคิดของ “คู่แท้” หรือ soul mate (เพลง The Origin of Love) เมื่อชายต้องออกตามหาครึ่งแห่งหญิงที่หายไป ส่วนหญิงก็ต้องออกตามหาครึ่งของชายที่หายไป... แล้วมนุษย์ที่ชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่เชิงอย่างเฮ็ดวิกล่ะ? Hedwig and the Angry Inch ปิดฉากลงอย่างสอดคล้องด้วยบทสรุปแบบเปิดที่คลุมเครือและเซอร์เรียลเล็กๆ เป็นภาพการถือกำเนิดครั้งใหม่ของเฮ็ดวิกในสภาพเปลือยเปล่า ไม่แน่ชัดทางเพศ แต่เติมเต็ม (ผ่านรอยสักที่ก่อนหน้านี้มีเพียงครึ่งเดียว) ฉากจบดังกล่าวเหมือนจะเป็นการป่าวประกาศว่าบางทีพระเจ้าไม่ได้แบ่งแยกมนุษย์ แต่กลับหลอมรวมให้มนุษย์สมบูรณ์พร้อมในตัวเองแล้ว
วันพุธ, กันยายน 09, 2552
Bruno: เรากำลังหัวเราะอะไร?
ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หลังจากความสำเร็จอันล้นหลามและพูดได้เต็มปากว่าเหนือความคาดหมายของ Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan ทั้งในแง่รายได้รวมถึงเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ ดารา/ดาวตลก ซาชา บารอน โคเอน และผู้กำกับ แลร์รี่ ชาร์ลส์ จะเลือกเดินย้ำรอยเดิมตนเองใน Bruno ซึ่งกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับการเป็น “รีเมค” มากกว่า “ภาคต่อ” ไม่ว่าจะมองในแง่สไตล์ รูปแบบนำเสนอ หรือกระทั่ง “พล็อต” ซึ่งนั่นหมายถึง ถ้าคุณทราบว่าการเดินทางตามความฝันของโบรัตลงเอยอย่างไร คุณก็จะสามารถคาดเดาได้ไม่ยากเช่นกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างบรูโน่ (โคเอน) กับลุทซ์ (กุสตัฟ ฮัมมาร์สเตน) จะจบลงแบบไหน ความประหลาดใจเดียวคงอยู่ตรงฉากหลังของบทสรุปดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเรียกเสียงฮาได้สมประสงค์แล้ว ยังช่วยสรุปจุดมุ่งหมายของหนังทั้งเรื่องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเสียงตอบรับของ Bruno จะตรงกันข้ามกับ Borat อย่างสิ้นเชิง หนึ่งในสาเหตุสำคัญคงมาจากการที่ตัวละครเอกใน Bruno หยิบยื่นรสนิยมทางเพศของตน (ซึ่งยังถือเป็นรสนิยมของชนกลุ่มน้อย) ใส่หน้าคนดูในระยะประชิดราวกับหนังสามมิติ โดยถ้าจะเปรียบ บรูโน่คงเป็นเหมือนเบ้าหลอมของทุกภาพลักษณ์เหมารวมเกี่ยวกับรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นอาการหมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ คนดัง แฟชั่น ลุ่มหลงในเรื่องหน้าตา ชื่อเสียงเงินทอง รวมเลยไปถึงบุคลิก “มีนอ” ชนิดที่ใครเห็นก็ต้องหัวเราะ หรือเบือนหน้าหนี
และคงเป็นเพราะสาเหตุนี้กระมัง หนังจึงตกเป็นเป้าโจมตีของทั้งกลุ่มรักต่างเพศและรักร่วมเพศ โดยฝ่ายแรกไม่ชอบใจที่ถูกยัดเยียดสิ่งที่พวกเขาไม่พึงประสงค์จะรับชม หรือมากเกินกว่าทนรับไหว และบางคนอาจก้าวไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่ามันเป็นความพยายามจะล้างสมองคน ซึ่งนั่นถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระและขาดแคลนหลักตรรกะสิ้นดี ไม่ใช่เพียงเพราะประเด็น “เราสอนคนให้เป็นเกย์/หายจากการเป็นเกย์ได้หรือ” เท่านั้น แต่เพราะใครก็ตามที่ได้ดูหนังและอยากจะเลียนแบบคนอย่างบรูโน่นั้นคงสติไม่ค่อยเต็มสักเท่าไหร่ ส่วนฝ่ายหลังกลับเห็นว่าหนัง “ล้อเลียน” รักร่วมเพศด้วยการทำให้เกย์ดูน่ารังเกียจ น่าหัวเราะเยาะ และตอกย้ำอคติทุกอย่างต่อรักร่วมเพศ
ข้อกล่าวหาของกลุ่มรักร่วมเพศพอมีมูลอยู่บ้างตรงที่ เป้าหมายหลักของเสียงหัวเราะใน Bruno พุ่งเป้าไปยังตัวละครเอกจริง หาใช่เหล่า “คนจริง” ทั้งหลายอย่างที่เผลอเข้าใจกัน แต่คำถามที่ตามมา คือ เรากำลังหัวเราะในความเป็นเกย์ของบรูโน่ หรือพฤติกรรมอันร้ายกาจของเขากันแน่ และการปรากฏตัวของบรูโน่สามารถทำให้คนทั่วไปรังเกียจรักร่วมเพศมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือ ในเมื่อเห็นได้ชัดว่าเขาไม่ใช่ “ตัวแทน” ของเกย์จากโลกแห่งความเป็นจริงมากไปกว่าสี่สาวใน Sex and the City เป็นตัวแทนของหญิงโสดจากเมืองนิวยอร์ก
จะมีเกย์ (หรือมนุษย์) คนไหนบ้าพอไปเรียนศิลปะป้องกันตัว แล้วขอให้ครูฝึกสาธิตวิธีรับมือกับผู้ร้ายที่ใช้ดิลโด้เป็นอาวุธ หรือพยายามอ่อยพรานล่าสัตว์มาดแมนด้วยการแก้ผ้าไปยังเต็นท์ของเขาตอนกลางดึกพร้อมข้ออ้างว่า “หมีกินเสื้อผ้าไปหมด เหลือแต่ถุงยางอนามัยไว้ ขอนอนด้วยคนสิ” หรือทำรายการทีวีโชว์อวัยวะเพศตัวเองส่ายดุกดิกไปมาตามจังหวะเพลง พร้อมกับใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้มันขมิบปากพูด!?! ฯลฯ
แทนความสมจริง พูดได้ว่าบรูโน่เป็นเหมือนตัวละครที่สะท้อนอคติต่อรักร่วมเพศให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เขา “ใหญ่ เยอะ มาก และโอเวอร์” กว่าความเป็นจริงไปหลายขุม ดังจะเห็นได้จากฉากสารพัดกิจกามระหว่างเขากับแฟนหนุ่มชาวเอเชีย (คลิฟฟอร์ด บานาเกล) ซึ่งให้ความรู้สึกชวนอุจาดและน่าขนลุกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ในชีวิตจริง รักร่วมเพศหาได้วิตถารมากไปกว่ารักต่างเพศสักเท่าไหร่ (ส่วน “เครื่องจักร” ที่บรูโน่ใช้บริการแฟนหนุ่มก็ไม่ได้ต่างจากเครื่องจักรที่ จอร์จ คลูนีย์ สร้างให้ภรรยาเขาใน Burn After Reading มากนัก) เช่นเดียวกัน เกย์หลายคนอาจไม่พิสมัยการร่วมเพศทางทวารหนัก ขณะที่ชายหญิงหลายคู่ชื่นชอบกิจกรรมดังกล่าว แต่แน่นอน บรูโน่ในหนังหมกมุ่นกับประตูหลังถึงขนาดไป “เสริมสวย” ที่ร้าน นอกจากนี้ อีกหนึ่งอคติของรักต่างเพศ (โดยเฉพาะเพศผู้) ต่อรักร่วมเพศ คือ อาการวิตกจริตจากหลักคิดง่ายๆ ว่าในเมื่อเกย์ชอบไม้ป่าเดียวกัน ฉะนั้น ผู้ชายทุกคนจึงสามารถตกเป็นเหยื่อกามของเหล่าเกย์หื่นเพศรสได้หมด (ไม่ว่าหนังหน้าผู้นั้นจะเป็นเช่นใด) เช่นเคย บรูโน่ช่วยสะท้อนอคติดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านฉากที่เขาพยายามล่อหลอกผู้ชายแทบทุกคนขึ้นเตียงตั้งแต่พรานล่าสัตว์ ชายหนุ่มในกลุ่มสวิงกิ้ง ไปจนถึงนักการเมืองวัย 73 ปี!
นัยยะตรงนี้เองที่ช่วยพิสูจน์ให้เห็นความเข้าใจผิดของกลุ่มพิทักษ์สิทธิชาวเกย์ ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน Bruno ว่าจริงๆ แล้วคนดูไม่ได้กำลังหัวเราะความเป็นเกย์ของบรูโน่ (ยอมรับเถอะว่าทุกอย่างที่บรูโน่ทำไม่ได้อิงแอบโลกแห่งความจริงเลยสักนิด) แต่กำลังหัวเราะอคติเกี่ยวกับรักร่วมเพศทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นแค่ความคิด แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นภาพให้เห็นจะๆ แบบไม่มีมิดเมี้ยนอีกต่างหาก
เป็นไปได้ไหมที่จะมีคนดู Bruno จบ แล้วเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์ชิงชังรักร่วมเพศ
แน่นอน ทว่านั่นคงไม่ได้เกิดจากตัวหนังไปเบี่ยงเบนความคิดเขา แต่เป็นเพราะเขารู้สึกเช่นนั้นอยู่ก่อนแล้ว และ Bruno เพียงแค่ไปกระตุ้นต่อมดังกล่าวให้บวมเป่งขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติ มนุษย์มักเลือกจะเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ แล้วใช้เวลาค้นหาทุกอย่างมายืนยันความเชื่อนั้น แม้ว่าบางครั้งจะต้องลงทุนบิดเบือนขาวให้เป็นดำก็ตาม อันที่จริงสมมุติฐานนี้สามารถใช้อธิบายวิกฤติจากอคติได้แทบทุกประเภท ไม่เฉพาะแค่อคติต่อรักร่วมเพศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งบรูโน่แนะนำหนทางแก้ปัญหาง่ายๆ (ตามสไตล์เขา) ไว้ว่า “หันไปฆ่าคริสเตียนแทนดีกว่า”
การนำเสนอภาพรักร่วมเพศแบบสุดลิ่มทิ่มตา จนมันหาใช่ “ความรักที่ไม่อาจเอ่ยนาม” อีกต่อไป และฉีกกฎ “ไม่ถาม อย่าบอก” ชนิดไม่เหลือชิ้นดี (เมื่อบรูโน่ไปฝึกทหาร ทุกคนที่ไม่ได้หูหนวกตาบอดคงดูออกว่าเขาเป็นเกย์โดยไม่จำเป็นต้องถามให้เสียเวลา) ส่งผลให้ตัวหนังเรื่อง Bruno ไม่ต่างจากไคล์แม็กซ์ในช่วงท้าย (กระนั้นคนดูหนังคงไม่ช็อกเท่าคนดูมวยปล้ำในฉากดังกล่าว เพราะอย่างน้อยเราก็รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร) นั่นคือ เป็นแบบทดสอบว่าคุณพร้อมรับความแตกต่างมากแค่ไหน และด้วยเหตุนี้เอง Bruno จึงสมควรได้รับเสียงชื่นชมจากชุมชนชาวเกย์มากกว่าก้อนหิน เพราะมันเป็นการตบหน้าสังคมรักต่างเพศ ที่ยืนกรานจะให้เกย์อยู่แต่ในมุมมืด พร้อมประกาศการมาถึงของรักร่วมเพศแบบเอิกเกริก จริงอยู่บรูโน่อาจเลวร้าย น่ารำคาญ หลงตัวเอง และน่าหัวเราะเยาะ แต่อย่างน้อยเขาก็มั่นใจ ภูมิใจในความเป็นเกย์ถึงขั้นกล้าประกาศตนบนเวทีมวยปล้ำ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกลุ่มคนที่ตั้งตนเป็นอริกับเขา สุดท้ายแล้ว นี่ไม่ใช่หรือที่บรรดาเกย์หัวก้าวหน้าต้องการเรียกร้อง... สิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยและเท่าเทียม
นอกเหนือจากกลิ่นอายกะเทยที่รุนแรงเกินมาตรฐานหนังกระแสหลักและบุคลิกไม่น่าพิสมัยของตัวละครเอกแล้ว (โบรัตอาจเหยียดเพศหญิงและคนยิว แต่ท่าทางใสซื่อ บริสุทธิ์ และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ก็ทำให้เขาดู “น่ารัก” กว่าเกย์กวนบาทาอย่างบรูโน่) อีกหนึ่งสาเหตุที่อาจส่งอิทธิพลให้ Bruno ไม่ป็อปปูล่าในหมู่นักวิจารณ์และคนดูหนังมากเท่า Borat คือ ข้อกล่าวหาว่าหนัง “ไม่จริงใจ” จากการเตี๊ยมและซักซ้อมล่วงหน้า รวมถึงความรู้สึกว่าหนังกำลังดูแคลน “คนจริง” บางกลุ่มที่ถูกหลอกให้มาเป็นตัวตลก โดยหนึ่งในฉากที่สร้างปัญหาสูงสุดเห็นจะได้แก่ ตอนบรูโน่ไปออกรายการ The Richard Bey Show ซึ่งในความเป็นจริงรายการดังกล่าวเลิกผลิตมานานหลายปีแล้ว
สองคำถามที่แวบเข้ามาในหัวผมเกี่ยวกับข้อกล่าวหาข้างต้น คือ ฉากดังกล่าวจะตลกน้อยลงไหม ถ้ามีการใช้นักแสดงทั้งหมดเหมือนในหนัง Mockumentary ทั้งหลาย และ จริงหรือที่เรากำลังหัวเราะเหล่าคนดูผิวดำ ซึ่งแสดงท่าทีโกรธแค้น (อย่างมีเหตุผล) ต่อพฤติกรรมชั่วร้ายของบรูโน่ ปฏิกิริยาดังกล่าวสะท้อนแนวคิดเหยียดเกย์ หรือแค่สามัญสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่บรูโน่ขาดแคลน (แต่เหมือนจะไม่รู้ตัว) กันแน่
จริงอยู่ ผู้ชมในห้องส่งบางคนอาจส่งเสียงโห่ เมื่อบรูโน่บอกว่าลูกบุญธรรมของเขาเป็น “แม่เหล็กดึงดูดปิกาจู้” และเขากำลังมองหาผู้ชายสักคนมาครองคู่ (Homophobia? คงมีส่วน เซอร์ไพรซ์? ไม่เลย เมื่อพิจารณาจากประเภทของรายการทีวี) แต่ปฏิกิริยาไม่เป็นมิตรอย่างรุนแรง (“แกสมควรไปลงนรก”) ดูเหมือนจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อบรูโน่บอกว่าเขาแลกเด็กกับไอพ็อด ตั้งชื่อเด็กว่าโอเจ แล้วโชว์ภาพเขากับเด็กทารกในอ่างอาบน้ำโดยมีแบ็คกราวด์เป็นชายสองคนกำลังร่วมรักกัน ประการแรก ผมคิดว่าปฏิกิริยาสติหลุดของกลุ่มคนดูไม่ได้มีรากฐานมาจากอาการเกลียดกลัวเกย์มากไปกว่าอาการต่อมศีลธรรมแตกอันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบรูโน่ พวกเขาคงเกรี้ยวกราดมากพอๆ กันถ้าแบ็คกราวด์ในรูปถ่ายนั้นเป็นภาพชายหญิงร่วมรักกัน ที่สำคัญ รายการประเภทนี้คาดหวังให้คนดูแสดงปฏิกิริยารุนแรงอยู่แล้ว และคนดูที่มาออกรายการก็พร้อมเสมอที่จะเล่นตามบท (ถ้าคุณเคยดูรายการทีวีของ เจอร์รี่ สปริงเกอร์ คุณจะเข้าใจ) ราวกับในห้องส่งมีป้ายไฟกะพริบเขียนว่า “ตะโกนด่า” หรือ “ขว้างเก้าอี้” ควบคู่กับป้าย “ปรบมือ”
ประการต่อมา ผมคิดว่าหัวใจหลักของอารมณ์ขันในฉากนี้ไม่ได้อยู่ตรงปฏิกิริยาคนดูในห้องส่ง หากแต่เป็นท่าทีไม่อินังขังขอบของบรูโน่ต่างหาก เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพฤติกรรมต่างๆ ของตนนั้นชั่วร้ายแค่ไหน และตัวหนังเองก็สนับสนุนมุกดังกล่าวได้อย่างยอดเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากฉากที่เด็กทารกถูกพรากไปจากบรูโน่ แล้วหนังพยายามเค้นอารมณ์ “ดราม่า” ด้วยการตัดแฟลชแบ็คไปยังภาพ “ความทรงจำดีๆ” ของเขากับลูกบุญธรรม เช่น เมื่อเขานำเด็กออกมาจากกล่องกระดาษ ณ จุดรับกระเป๋าของสนามบิน หรือเมื่อเขาพาเด็กซ้อนมอเตอร์ไซค์ แล้วขี่ตัดหน้ารถบรรทุก ฯลฯ มันแสดงให้เห็นว่า “ตัวตลก” เอกของ Bruno ไม่ใช่กลุ่ม “คนจริง” ทั้งหลาย หากแต่เป็นบรูโน่ต่างหาก
เนื่องจากหนังพึ่งพิงปฏิกิริยาสดๆ น้อยยิ่งกว่า Borat ผมจึงไม่เห็นความแตกต่างว่าการ “เซ็ท” ฉาก หรือไม่ “เซ็ท” ฉากจะส่งผลต่อภาพรวมใดๆ ของหนัง ประสิทธิภาพของอารมณ์ขัน หรือกระทั่ง “ความจริงใจ” ของคนสร้าง ในเมื่อบรูโน่ล้วนเป็นคนแบกรับมุกตลกแทบทั้งหมดไว้บนบ่าเพียงคนเดียว (คนดูจะขำหรือไม่ขำก็ขึ้นอยู่กับทักษะการแสดงของโคเอน หรือไอเดียของเขาในการสรรหาพฤติกรรมแรงๆ มาให้บรูโน่ทำ) ไม่ว่าจะเป็นตอนเขาไปเรียนศิลปะการป้องกันตัว (ครูฝึกตีหน้าตาย) หรือตอนเขาทอดสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กให้ รอน พอล ด้วยกลเม็ดที่ลุ่มลึกพอๆ กับหนัง พจน์ อานนท์ (นักการเมืองวัยชราแสดงท่าทางโกรธขึ้ง) หรือตอนเขาร่วมรักทางปากกับวิญญาณ (คนทรงตีหน้าตาย) ตลอดเวลาเราหัวร่องอหายไปกับพฤติกรรมบ้าๆ บอๆ ของบรูโน่ หาใช่ปฏิกิริยาของเหยื่อที่โดนบรูโน่จู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว
Bruno อาจน่าผิดหวังในการฉีกหน้ากาก Homophobia (จุดที่สร้างเซอร์ไพรซ์เล็กๆ คือ การล้อเลียนวัฒนธรรมของดารา ตลอดจนอาการหลงใหลชื่อเสียง ผ่านฉากฮาๆ อย่างตอน พอลล่า อับดุล พูดถึงเรื่องมนุษยธรรม ขณะนั่งบน “เก้าอี้คนเม็กซิกัน” และตอนบรูโน่สัมภาษณ์เหล่าคุณแม่ทั้งหลายที่ยินยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกของตนได้เข้าวงการบันเทิง แม้กระทั่งศัลยกรรม!) แต่อย่างน้อยมันก็ยังประสบความสำเร็จในการเรียกเสียงหัวเราะอย่างต่อเนื่อง (แน่นอน แม้จะไม่มากเท่า Borat) และบางทีแค่นั้นอาจถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับหนังตลกสักเรื่อง
Short Replay: Five Easy Pieces
นี่เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ บ็อบ ราเฟลสัน อย่างไม่ต้องสงสัย และหนึ่งในบทบบาทการแสดงที่ดีที่สุดของ แจ๊ค นิโคลสัน ผู้สวมวิญญาณเป็น โรเบิร์ต ดูเปีย หนุ่มขบถที่สับสนหลงทาง ภายในอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ขุ่นเคือง โศกเศร้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ โรเบิร์ตมองตัวเองเป็นเหมือนแกะดำในครอบครัวศิลปินชนชั้นกลาง พร้อมกับหันหลังให้พรสวรรค์ทางด้านเปียโนเพื่อมาทำงานเป็นกรรมกรขุดเจาะบ่อน้ำมัน เร่ร่อน ไร้จุดหมาย และไม่คิดจะลงหลักปักฐาน แม้แต่กับสาวเสิร์ฟ (คาเรน แบล็ค) ที่รักเขามากจนพร้อมจะมองข้ามทุกข้อเสียของเขา
ฉากเด่นซึ่งทุกคนจดจำได้ไม่ลืมเป็นตอนที่โรเบิร์ตปะทะคารมกับพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร (เขาอยากได้ขนมปังปิ้งเปล่าๆ แต่สาวเสิร์ฟกลับยืนกรานให้เขาสั่งตามเมนู ซึ่งมีแต่แซนด์วิชสลัดไก่) หลายคนวิเคราะห์ว่าฉากดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณขบถในช่วงปลายทศวรรษ 1960 (หนึ่งปีก่อนหน้า แจ๊ค นิโคลสัน เริ่มสร้างชื่อเสียงจาก Easy Rider ซึ่งเป็นหนังตัวแทนยุคบุปผาชน) อย่างไรก็ตาม ฉากที่ติดตาผมมาจนทุกวันนี้กลับเป็นฉากที่โรเบิร์ต พยายามจะอธิบายความรู้สึก ตลอดจนเส้นทางชีวิตที่เขาเลือกกับพ่อ ผู้เป็นนักเปียโนชื่อดังและกำลังใกล้ตาย แต่ไม่อาจเรียบเรียงประโยคให้ปะติดปะต่อกันได้ ก่อนจะระเบิดอารมณ์เป็นน้ำตาและเสียงสะอื้นไห้ รวมไปถึงฉากจบ ซึ่งทำให้คนดูหัวใจสลาย
เกือบ 40 ปีผ่านไป Five Easy Pieces ได้รับยกย่องให้เป็นผลงานคลาสสิกตลอดกาล เนื่องจากมันอัดแน่นไปด้วยแง่มุมสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และสุนทรียศาสตร์แห่งภาพยนตร์ ถึงขนาดผู้กำกับหลายคนยังแสดงความชื่นชอบอย่างออกนอกหน้าตั้งแต่สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน, ลาร์ ฟอน เทรียร์ ไปจนถึง อิงมาร์ เบิร์กแมน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)