วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

The Twilight Saga: New Moon: ลูกหลานแห่งเมืองสเตปฟอร์ด!?


ถ้าหนังสือชุด Twilight ของ สเตฟานี เมเยอร์ ไม่เกิดขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในระดับลูกๆ พ่อมดน้อย แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ แล้วละก็ มันคงถูกหลงลืมไปพร้อมๆ กับนิยายโรแมนซ์อีกจำนวนมาก ที่วาดฝันให้ตัวละครเพศหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนอ่านหลักของนิยายประเภทนี้ ได้ประสบพบเจอกับเทพบุตรที่สมบูรณ์แบบแสนเลอเลิศ แล้วได้ครองรักกับเขาแบบชั่วนิรันดร หลังฟันฝ่าผ่านอุปสรรคนานัปการ ตรงกันข้าม ยอดขายแบบถล่มทลายมากกว่า 85 ล้านเล่มทั่วโลกได้ส่งผลให้มันตกเป็นเป้าสายตาของทุกคนรอบข้าง ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แม็ก คาบ็อต ผู้แต่งนิยายเรื่อง The Princess Diaries เคยตอบคำถามของแฟนหนังสือ ซึ่งเขียนมาถามความเห็นเธอต่อนิยายชุดนี้ว่า “ตอนแต่งงานฉันยังไม่ยอมเปลี่ยนนามสกุลตามสามีเลย คุณคิดจริงๆ หรือว่าฉันจะชอบเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวที่อยากจะเปลี่ยนสายพันธุ์ตัวเองตามผู้ชาย อย่าหาว่าดูถูกกันเลยนะ แต่ในฐานะเฟมินิสต์ฉันยอมรับไม่ได้จริงๆ”

ไม่เพียงเท่านั้น บางคนยังตั้งข้อสังเกตถึงรากเหง้าแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเบลลา (คริสเตน สจ๊วต) กับ เอ็ดเวิร์ด (โรเบิร์ต แพ็ททิสัน) ว่ามีส่วนคล้ายคลึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มักจะนำไปสู่ความรุนแรงภายในครอบครัว (1) เด่นชัดสุดจากวิธีที่เอ็ดเวิร์ดพยายามควบคุมบงการทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่กีดกันเธอไม่ให้คบหาเจค็อบ (เทเลอร์ เลาท์เนอร์) จนเบลลาค่อยๆ เหินห่างจากพ่อและเพื่อนฝูง ปฏิเสธที่จะแปลงเธอเป็นแวมไพร์ (ซึ่งจะทำให้เธอเป็นอมตะและมีพลังวิเศษ) ด้วยเหตุผลว่าต้องการ “ปกป้อง” เธอ ไปจนถึงสะกดรอยเธอตลอดเวลา คอยสอดส่องแม้กระทั่งเวลาเธอหลับ (ใน The Twilight Saga: New Moon เขาถึงขั้นสั่งให้น้องสาวใช้พลังวิเศษเฝ้าตรวจสอบความเป็นไปของหญิงคนรัก) สุดท้ายแล้ว เบลลาจึงต้องหวังพึ่งพิงเอ็ดเวิร์ด และเมื่อเขาจากไป เธอก็ไม่อาจดำเนินชีวิตตามปกติได้

อย่างไรก็ตาม สเตฟานี เมเยอร์ ไม่ได้ยอมโดนรุมถล่มอยู่ฝ่ายเดียว เธอออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของกลุ่มเฟมินิสต์ว่า นิยายชุด Twilight โฟกัสไปยัง “ทางเลือก” ของเบลลา ซึ่งเธอมองว่าเป็นรากฐานสำคัญของเฟมินิสต์ยุคใหม่ ส่วนภาวะ “ผู้หญิงตกอยู่ในอันตราย ต้องรอให้ผู้ชายวิ่งมาช่วยเหลือ” ก็มีสาเหตุมาจากความเป็นมนุษย์ของเบลลา ส่งผลให้เธอปราศจากพลังที่จะต่อกรกับเหล่าแวมไพร์ พร้อมทั้งตบท้ายว่า “เพียงเพราะเบลลาไม่ได้เป็นกังฟูและชอบทำอาหารให้พ่อทานก็ไม่ได้หมายความว่าเธอสมควรจะถูกต่อว่าต่อขานแบบนั้น” บางทีประโยคดังกล่าวอาจสื่อนัยยะซ้อนทับอีกชั้นหนึ่งว่า เพียงเพราะเมเยอร์แต่งนิยายโดยวางสถานะทางเพศของตัวละครหญิงชายในรูปแบบ “อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง” ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะยกย่องชายเป็นใหญ่เสมอไป

ข้อแก้ต่างข้างต้นอาจลดแรงกระแทกในแง่ เบลลา = แอนตี้เฟมินิสต์ ลงได้บ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่นิยายและหนังแนวโรแมนซ์-แฟนตาซี ซึ่งมีผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่อง (แม้ภายในจะสอดแทรกการเทิดทูนตัวละครเพศชายเอาไว้ไม่น้อย) สามารถทำเงินถล่มทลายท่ามกลางตลาดที่ถูกถือครองโดยการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่และหนังแอ็กชั่น ย่อมถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่สำคัญ ถ้าใครสักคนจะเลือกรักโรแมนติกเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (ครอบครัว การศึกษา เพื่อน ฯลฯ) มันคงไม่ได้หมายความว่าเธอคนนั้นต่อต้านการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศเสมอไป กล่าวอีกอย่าง คือ ผู้หญิงที่เลือกจะสร้างครอบครัว เป็นแม่ศรีเรือน กับผู้หญิงที่ก้มหน้าไต่เต้าในอาชีพการงานจนประสบความสำเร็จล้วนอ้างสิทธิ์ความเป็น “เฟมินิสต์” ได้มากพอๆ กัน ตราบใดที่พวกเธอ “เลือก” เส้นทางนั้น

จริงอยู่สำหรับบางคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองผ่านบริบทร่วมสมัย) การตัดสินใจของเบลลาอาจดู “ไม่ฉลาด” สักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยเธอก็ใช้สิทธิ์ที่จะเลือกอย่างเต็มที่ และกล่าวได้ว่าทางเลือกของเธอนั้นค่อนข้างกล้าหาญ เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันรอบข้างที่ย่อมต้องการให้เธอดำเนินชีวิตแบบมนุษย์ปกติทั่วไป (เรียนจบ ทำงาน คบหาผู้ชายดีๆ สักคนที่ไม่ใช่สัตว์ประหลาด แต่งงาน แล้วสร้างครอบครัวจนกระทั่งแก่เฒ่า) การกำหนดขอบเขตว่าเฟมินิสต์ต้องทำอย่างนี้ ห้ามทำอย่างนั้น ออกจะเป็นการเดินย้ำซ้ำรอยกลยุทธ์ดั้งเดิมของสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งพยายามเลือกสิ่งต่างๆ แทนผู้หญิง โดยขีดข้อจำกัดว่าพวกเธอสามารถทำอะไรได้บ้าง ตั้งแต่เรื่องอาชีพการงาน (ผู้หญิงเป็นนักบินอวกาศไม่ได้หรอก) ไปจนถึงวิถีชีวิตประจำวัน (ผู้หญิงไม่ควรแสดงกิริยาอาการแบบนั้น)

กระนั้นข้อกล่าวหาของกลุ่มเฟมินิสต์ก็ใช่ว่าจะหลักลอยเสียทีเดียว เพราะคำอธิบายของเมเยอร์ยังไม่อาจสร้างความกระจ่างต่อสถานะ “ถูกกระทำ” และบุคลิกปวกเปียก เปราะบางของเบลลา (ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงความอ่อนแอเชิงกายภาพจากการที่เบลลาต้องรอคอยความช่วยเหลือของแวมไพร์หน้าหล่อ/มนุษย์หมาป่าซิกแพ็คตลอดศก เนื่องจากนิยายมีข้ออ้างไว้แล้วว่าเธอเป็นแค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ปราศจากทักษะป้องกันตัว) เธอมุ่งมั่น แน่วแน่ในทางเลือกของตน แต่น่าประหลาดว่าคนที่จะชี้ชาดสุดท้ายกลับเป็นผู้ชายวันยันค่ำ เช่น เธออยากเข้าพวกแวมไพร์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเอ็ดเวิร์ดต้องการปกป้อง “จิตวิญญาณ” ของเธอ เธออยากมีเซ็กซ์กับเขา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะฝ่ายชายกลัวจะเผลอทำร้ายเธอ เธออยากยืนหยัดเคียงข้างชายคนรักโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายใดๆ แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ (อีกเช่นเคย) เมื่อเขาตัดสินใจทิ้งเธอไปโดยอ้างว่าเพื่อสวัสดิภาพของเธอเอง สรุป คือ เบลลามีโอกาสได้เลือกจริง แต่กลับไม่สามารถบรรลุทางเลือกใดๆ เลย นอกเสียจากจะได้รับความเห็นชอบจากเพศชายก่อน... ถ้านี่ถือเป็นเฟมินิสต์ยุคใหม่ มันก็คงเป็นการก้าวถอยหลัง (บางทีอาจไปไกลถึงยุค 1950 โน่นเลย) มากกว่าเดินหน้า

ภาวะง่อยเปลี้ยของเบลลายิ่งปรากฏเด่นชัดใน The Twilight Saga: New Moon โดยหลังจากโดนเอ็ดเวิร์ดทอดทิ้ง เธอก็ไม่เป็นอันกินอันนอน แปลกแยกจากครอบครัว เพื่อนฝูง ไม่พูดจา หรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับใคร แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่หมกตัวอยู่ในห้องนอน ยิ่งไปกว่านั้น เธอสามารถก้าวข้ามอารมณ์หดหู่และสภาพแบบศพตายซากก็ต่อเมื่อค้นพบความรักจากผู้ชายแสนดีอย่างเจค็อบ ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าเบลลาไม่อาจยืนบนลำแข้งของตัวเองได้เลย เธอต้องการความช่วยเหลือทั้งทางกายและทางใจจากตัวช่วยภายนอก (ซึ่งแน่นอนว่ามักจะเป็นผู้ชาย) ตลอดเวลา จนพาลให้นึกสงสัยว่าเบลลาในช่วงต้นเรื่องของ Twilight หายหัวไปไหน (เด็กสาวที่แข็งแกร่งขนาดตัดสินใจเดินทางข้ามรัฐตามลำพังมาอยู่กับพ่อที่ห่างเหินกันไปหลายปีเพื่อแม่จะได้มีเวลาอยู่กับคนรักใหม่) หรือบางทีการได้เจอผู้ชาย “เพอร์เฟ็กต์” สักคนก็อาจเปลี่ยนแปลงผู้หญิงได้ขนาดนี้

อันที่จริง ภาพลักษณ์ “ผู้หญิงทำครัว ผู้ชายกินเบียร์ ล่าสัตว์” ในนิยายชุด Twilight ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สเตฟานี เมเยอร์ เป็นมอร์มอนที่เคร่งศาสนา และคงเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เก็บรักษาบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่นราวสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์ สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือ กระแสความนิยมชนิดทะลักจุดแตกของนิยายชุดนี้ในยุคสมัยที่ผู้หญิงสามารถฝันจะทำอาชีพอะไรก็ได้ แม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ในบทความ Twilight Sinks Its Teeth Into Feminism ลีโอนาร์ด แซ็กซ์ พยายามหาคำตอบโดยบอกว่าสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ Twilight ผสานฉากหลังที่ร่วมสมัย (เบลลาชอบดู The Simpsons) เข้ากับแนวคิดอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับบทบาททางเพศได้อย่างกลมกลืน (ผู้ชายกล้าหาญ เป็นสุภาพบุรุษ ผู้หญิงชอบทำงานบ้านและบอบบาง) ซึ่งหาได้ยากในหนังสือสำหรับเด็ก หรือวรรณกรรมเยาวชนยุคใหม่ นอกจากนี้ เขายังนำเสนอแนวคิดว่าบางทีบทบาททางเพศอาจไม่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมมากเท่ายีนบางอย่างในร่างกาย (2)

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเมเยอร์เข้าใจกลุ่มคนอ่านว่าต้องการอะไร นิยายของเธอจึงอัดแน่นไปด้วยหลากหลายแฟนตาซีเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองปม Cinderella Complex (3) (ความสัมพันธ์ของเบลลากับชายหนุ่มสองคนในเรื่อง) หรือการให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณ รักโรแมนติก เหนือกิเลสตัณหาและโลกแห่งความเป็นจริง ใน The Twilight Saga: New Moon เจค็อบเปรียบเสมือนตัวแทนของเนื้อหนังมังสา ส่วนเอ็ดเวิร์ดเป็นตัวแทนของความงามในอุดมคติ เมื่อเขาถอดเสื้อ คนดูจะไม่ได้เห็นกล้ามท้องได้รูป หากแต่เป็นประกายเพชรยามต้องแสงแดด ซึ่งให้ความรู้สึกเหนือจริงดุจพระเจ้า เมื่อเทียบกับเจค็อบแล้ว เอ็ดเวิร์ดจึงสร้างความรู้สึกคุกคามน้อยกว่า เพราะเขาเป็นเทพบุตรที่จะทะนุถนอมผู้หญิง และช่วยรักษาพรหมจรรย์ของหล่อนไว้จนกว่าจะถึงวันวิวาห์ (อิทธิพลจากมอร์มอน?) ดังนั้นคุณจึงสามารถลุ่มหลงและเปิดเผยความรู้สึกได้ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงการถูกข่มขืน หรือท้องก่อนแต่ง สำหรับเด็กสาววัยรุ่น คุณจะขออะไรไปมากกว่านี้ได้อีกล่ะ

ในยุคสมัยของ Buffy the Vampire Slayer มุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายจากนิยายของเมเยอร์ออกจะล้าสมัยและน่าเป็นห่วง (ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อทัศนคติของเด็กสาวรุ่นไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน) อยู่บ้าง ทว่ามองในแง่ดี The Twilight Saga: New Moon จบลงด้วยการผูกปมเกี่ยวกับความสามารถพิเศษบางอย่างของเบลลา (แวมไพร์กลุ่มโวลตูรีไม่อาจใช้พลังจิตทำร้ายเธอได้) บางทีการเดินทางของเบลลาอาจมุ่งหน้าไปในรูปแบบเดียวกับการเรียกร้องสิทธิ์ของผู้หญิง นั่นคือ เริ่มต้นด้วยการถูกจำกัด กีดกันรอบด้าน ก่อนสุดท้ายจะได้แต่งงานกับชายคนรัก เข้าร่วมในครอบครัวที่ร่ำรวย ทรงอำนาจ พร้อมค้นพบพลังวิเศษที่จะทำให้เธอเก่งกาจไม่แพ้ (หรืออาจจะเหนือกว่า) แวมไพร์ตนใด... ทีนี้ ถ้าเพียงแต่เธอจะใช้พลังวิเศษสยบผู้ชายทุกคน แล้วบังคับพวกเขา (โดยเฉพาะฝูงหมาป่าซิกแพ็ค) มาเป็นทาสรักในฮาเร็ม มันคงจะสาสมไม่น้อยกับการกดขี่เพศหญิงมาตลอดเวลาหลายร้อยหลายพันปี แต่อย่างว่านั่นคงไม่ใช่ Twilight แบบที่ผู้หญิงนับล้านหลงใหลมาตลอดหลายปีเป็นแน่

หมายเหตุ

(1) ตามสถิติจะพบว่าสามีที่ชอบใช้กำลังมักมีรูปแบบหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยหลายคนในช่วงแรกจะแลดู “สมบูรณ์แบบ” มาก ทั้งโรแมนติก ทั้งแสนดี แถมยังอยากใช้เวลาอยู่กับคุณให้มากที่สุด แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการสร้างฉากเพื่อให้ตนสามารถ “กุมบังเหียน” ความสัมพันธ์ได้แบบเต็มร้อย จนเขากลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ทำให้คุณไม่คิดหลบหนีเพราะหวาดหวั่นต่ออนาคตข้างหน้า โดยลางบอกเหตุร้ายก็เช่น เขาไม่อยากให้คุณใช้เวลาอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว เพราะเขาอยากอยู่กับคุณตลอดเวลา เพื่อค่อยๆ ตัดขาดคุณจากโลกภายนอก แต่กุญแจสำคัญ คือ การควบคุม โดยเขาจะเป็นคนตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่าง

(2) “จากผลการค้นคว้าวิจัยพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ผมสัมภาษณ์ทั้งในสหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เชื่อว่าธรรมชาติทางเพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด พวกเขาโหยหาหนังสือที่จะสะท้อนแนวคิดข้างต้น ตลอดสามทศวรรษของความเชื่อฝังหัวในหมู่ผู้ใหญ่ว่าเพศไม่ใช่เรื่องสำคัญ และชายหญิงล้วนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันหาได้ผลิตเฟมินิสต์ที่ไม่ต้องการผู้ชาย แต่กลับกลายเป็นเด็กสาวที่หลงใหลผู้ชายยุคเก่าและบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมของผู้หญิง เช่นเดียวกัน การเพิกเฉยความแตกต่างทางเพศไม่ได้ทำให้เด็กผู้ชายยุคใหม่ชอบเปิดเผยอารมณ์ หรือหันมาทำงานบ้านมากขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม จำนวนเด็กหนุ่มที่ชอบใช้เวลาว่างเล่นเกม Grand Theft Auto หรือเล่นเน็ตเพื่อหาหนังโป๊ดูกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” จากบทความ Twilight Sinks It’s Teeth Into Feminism โดย ลีโอนาร์ด แซ็กซ์

(3) ในทางจิตวิทยา ได้มีการคิดค้นคำว่า Cinderella Complex ขึ้นมาสำหรับอธิบายแรงปรารถนาที่จะพึ่งพิง หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่น และหวาดกลัวการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่เพศหญิง แถมยังจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จุดกำเนิด คือ ตัวเอกในนิทานเรื่อง Cinderella ซึ่งเป็นผู้หญิงสวย ฉลาด และสุภาพอ่อนโยน แต่กลับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องรอคอยความช่วยเหลือจากพลังภายนอก (เจ้าชาย) มาทำให้เธอได้พบกับความสุข สมหวัง ส่วนตัวละครผู้หญิงที่ทรงพลังและเข้มแข็งกลับถูกวาดภาพให้เป็นนางมารร้ายที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง (แม่เลี้ยง)