วันศุกร์, กันยายน 03, 2553
ลุงบุญมีระลึกชาติ: คน สัตว์ สถานที่
แนวคิดเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมและการกลับชาติมาเกิดดูเหมือนจะสอดแทรกอยู่เนืองๆ ในหนังหลายเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก่อนสุดท้ายจะกลายมาเป็นแก่นหลักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในผลงานชิ้นล่าสุดซึ่งคว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้า แสงศตวรรษ เปรียบเสมือนบทเกริ่นในเชิงนามธรรมของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง (นอกจากจะหลุดพ้นสู่นิพพาน) ผ่านฉากปล่องดูดควัน/วิญญาณในช่วงท้ายเรื่อง หรือการแบ่งหนังออกเป็นสองส่วนที่ซ้ำซ้อน ยอกย้อนกันไปมา (1) ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็คงไม่ต่างจากภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมขึ้นของภาวะดังกล่าว
เช่นเดียวกับหลวงตาใน แสงศตวรรษ ที่เชื่อว่าตนมีอาการปวดเข่าเพราะสมัยเด็กๆ ชอบหักขาไก่ ลุงบุญมี (ธนภัทร สายเสมา) เชื่อว่าความทรมานทางกายของตนนั้น (โรคไตวายเรื้อรัง) เป็นผลกรรมจากการฆ่าคอมมิวนิสต์ไปหลายคน ขณะเดียวกัน หนังคล้ายจะฉายภาพให้เห็น “ชาติก่อน” ของลุงบุญมีผ่านลักษณะของเรื่องสั้นซึ่งตัดแทรกเข้ามาในโครงเรื่องหลักโดยปราศจากการเชื่อมโยงที่ชัดเจน นั่นคือ ฉากเปิดเรื่อง เมื่อควายตัวหนึ่งดิ้นหลุดจากต้นไม้ แล้ววิ่งหายเข้าไปในป่า ก่อนจะถูกชาวนาตามมาลากกลับไป และฉากช่วงกลางเรื่อง เมื่อเจ้าหญิงขี้เหร่ (วัลลภา มงคลประเสริฐ) ผู้โหยหารักแท้ยอมสละทรัพย์สินและเรือนร่างแด่ “เทพแห่งน้ำ” เพื่อแลกกับความงาม
อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสองฉากเป็นอดีตชาติของลุงบุญมี นอกเหนือจากนัยยะจางๆ ผ่านชื่อหนังและข้อความเปิดเรื่อง (“เวลาหันหน้าเข้าป่าเขาลำเนาไพรเมื่อใด ภาพอดีตชาติแต่ปางก่อนหนหลังคอยเตือนขึ้นในดวงจิตเสมอมิได้ขาด”) คนดูจึงต้องตีความเอาเองล้วนๆ ว่าลุงบุญมีเป็นใคร หรืออะไรในอดีตชาติโดยคาดเดาจาก “จุดศูนย์กลาง” ของเรื่องราว กระนั้นหากใครจะทึกทักว่าลุงบุญมีไม่ใช่ไอ้เขียว ไม่ใช่เจ้าหญิง หากแต่เป็นปลาดุก ชาวนา หรือหนุ่มรับใช้ก็คงไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด เพราะทั้งหมดล้วนเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่จะคงความคลุมเครือไว้ และเหลือช่องว่างให้ผู้ชมใช้จินตนาการอย่างอิสระ (2)
การก้าวกระโดดระหว่างเรื่องเล่า ฉากหลัง หรือกระทั่งระหว่างช็อตเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในหนังของอภิชาติพงศ์เนื่องจากพวกมันไม่ยึดเกาะหลักการเล่าเรื่องตามธรรมเนียม ที่ต้องมีจุดเริ่มต้น ปมขัดแย้ง และบทคลี่คลาย ตรงกันข้ามหนังของอภิชาติพงศ์นิยมถ่ายทอดห้วงแห่งความทรงจำของตัวศิลปิน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ถูกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ แล้วกล่อมผู้ชมให้รู้สึกเหมือนอยู่กึ่งกลางมิติระหว่างความจริงกับจินตนาการ ผ่านการคัดเลือกช็อตและทิ้งจังหวะอย่างพิถีพิถัน ด้วยเหตุนี้เอง ภาพสะท้อนชีวิตอันสมจริงของผู้คนจึงผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับตำนานพื้นบ้านอย่างน่าทึ่งในหนังของอภิชาติพงศ์ จนอาจกล่าวได้ว่าพวกมันสะท้อนคุณลักษณะของ “ความฝัน” ได้ชัดเจนกว่าหนังอย่าง Inception ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เสียอีก นั่นคือ กลุ่มก้อนความคิด จิตสำนึก ความทรงจำ ฯลฯ ที่บิดเบือน ผันแปร และเปลี่ยนรูปได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันกลับให้ความรู้สึกเหมือนจริงอย่างมาก
คำว่า “เหมือนจริง” ในที่นี้หาใช่ “สมจริง” (ซึ่งคงไม่ใช่เป้าหมายของอภิชาติพงศ์อย่างแน่นอนดังจะเห็นได้จากเทคนิคโบราณที่เขานำมาใช้สร้างภาพวิญญาณและลิงผีตาแดงโพลง) แต่หมายถึงความรู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เฉกเช่นเวลาเราฝัน โดยองค์ประกอบสำคัญที่อภิชาติพงศ์นำมาใช้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ เสียงประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงป่า เสียงน้ำตก เสียงลม ซึ่งให้ความรู้สึก “ชัดเจน” และ “สม่ำเสมอ” จนค่อยๆ ดึงคนดูให้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ หาใช่เพียงเฝ้าสังเกตอยู่รอบนอก
เทคนิคดังกล่าว (ผนวกกับมุมกล้องแทนสายตา) ปรากฏให้เห็นหลายครั้ง แม้กระทั่งฉากสั้นๆ ซึ่งดูไม่สลักสำคัญ เมื่อลุงบุญมีเดินทางกลับมาต่างจังหวัดพร้อมเจน (เจนจิรา จันทร์สุดา) และ โต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) ในช็อตหนึ่งที่กินเวลาพักใหญ่ กล้องถ่ายผ่านกระจกหน้ารถให้คนดูรู้สึกเหมือนร่วมเป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่มอย่างต่อเนื่องขณะรถหักเลี้ยวไปตามเส้นทาง (มันเป็นมุมกล้องสุดฮิตสำหรับฉากนั่งรถไฟเหาะ) ส่วนในฉาก “เสพสังวาสข้ามสายพันธุ์” กล้องก็พาคนดูเข้าไปสำรวจระยะประชิด (ซึ่งพบเห็นไม่บ่อยนักในหนังของอภิชาติพงศ์ที่นิยมถ่ายภาพระยะปานกลางและระยะไกล) จนได้ยินเสียงปลาดีดน้ำดังถนัด แถมบางคราวกล้องยังดำดิ่งลงใต้น้ำราวกับแทนสายตาของปลาในลำธารด้วย
คงเพราะเหตุนี้กระมัง นักวิจารณ์เมืองนอกบางคนจึงตั้งข้อสังเกตว่าการนั่งชม ลุงบุญมีระลึกชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “ประสบการณ์” มากกว่าภาพยนตร์ ทั้งนี้เพราะอภิชาติพงศ์ไม่เพียงต้องการเล่าเรื่องราวของลุงบุญมีเท่านั้น (หากเป้าหมายเขาหยุดอยู่แค่ “เล่าเรื่อง” การตัดส่วนที่เป็นจุดเชื่อมโยง หรือรายละเอียดต่างๆ ออกหมดจนเกิดความคลุมเครือในเรื่องเล่าก็คงถือว่าเป็นข้อผิดพลาด) แต่ยังต้องการพาคนดูไปไกลถึงขั้นสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับลุงบุญมี หรือที่เขาคิดว่าลุงบุญมีกำลังเผชิญระหว่างขั้นตอนการระลึกชาติอีกด้วย
จากคำบอกเล่าของอภิชาติพงศ์ ลุงบุญมีตัวจริงสามารถระลึกชาติก่อนๆ ของตนได้จากการฝึกนั่งสมาธิ ซึ่งนั่นถือเป็นขั้นตอนปกติของคนส่วนใหญ่ (ที่อ้างว่าระลึกชาติได้) แต่นอกจากการฝึก “จิต” จนเกิด “ญาณ” ในระดับสูงแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่เชื่อว่าสามารถทำให้คนสามารถระลึกชาติได้ คือ การสะกดจิต ซึ่งมีมานานและได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องจริง หาใช่ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด โดย อาจารย์ชนาธิป ศิริปัญญาวงศ์ ประธานชมรมนักสะกดจิตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงประเด็นข้างต้นว่า “การสะกดจิตถ้าเอาแบบฝรั่ง เขาบอกสะกดจิตมีมาพร้อมโลก เพราะในคัมภีร์ไบเบิ้ลเขียนว่า พระเจ้าสร้างอดัมกับอีฟ และตอนสร้างอดัมพระเจ้าสะกดจิตอดัมให้นอนเพื่อให้เรียนรู้จากวิธีการนอน ทีนี้ในศาสนาพุทธผมสังเกตว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สะกดจิตนะ โดยวิธีสวดมนต์นี่แหละ เสียงสวดมนต์เป็นเสียงสะกดจิต การสวดมนต์ในพุทธศาสนา การทำละหมาดในอิสลาม การร้องเพลงในโบสถ์ก็ถือเป็นการสะกดจิต” (3)
นอกจากเสียงและดนตรีประกอบใน ลุงบุญมีระลึกชาติ จะช่วย “สะกดจิต” คนดูแล้ว มันยังแว่วสะท้อนและล่องลอยจากฉากหนึ่งสู่อีกฉากหนึ่งดุจวิญญาณเร่ร่อนที่หลุดออกจากร่าง เช่น เมื่อโต้งนอนเอกเขนกบนเปลญวน คนดูจะได้ยินเสียงดนตรีต่างแดนดังแว่วมาล่วงหน้า ก่อนภาพจะตัดไปยังเรื่องราวของเจ้าหญิง หรือเมื่อลุงบุญมีนอนสิ้นใจอยู่ในถ้ำ เสียงของป่ายังคงดังก้องอย่างสม่ำเสมออีกพักใหญ่ แม้ภาพจะตัดมายังฉากงานศพแล้ว
หากเทียบกับ สัตว์ประหลาด! และ สุดเสน่หา จะเห็นว่าการเชื่อมโยงเรื่องราวใน ลุงบุญมีระลึกชาติ (และอาจรวมถึง แสงศตวรรษ) ค่อนข้างราบรื่น นุ่มนวล ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนดูมากเท่า (ผ่านการขึ้นเครดิตหนัง) ความลื่นไหลซ้อนทับกันของเรื่องเล่าสอดคล้องกับแนวคิดในพุทธศาสนาว่าทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุ ทุกความเป็นไปในปัจจุบันล้วนเป็นผลกรรมมาจากอดีต และทุกชีวิตล้วนเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ด้วยเหตุนี้ เพื่อตอกย้ำว่าวิญญาณสามารถผลัดเปลี่ยนไปมาระหว่างสิ่งมีชีวิต (กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ทรงเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานในชาติก่อนๆ) โดยปราศจากข้อจำกัด คนดูจึงได้เห็นการก้าวข้ามสายพันธุ์ไปมาในหนัง ตั้งแต่คนกับปลาดุก (เจ้าหญิง) ไปจนถึงคนกับลิง (บุญส่ง) และที่สำคัญ มันถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย เหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ราวกับจะบอกว่านี่คือธรรมดาแห่งชีวิต เป็นวงจรวิถีที่เราควรน้อมรับ การปรากฏตัวขึ้นของ ฮวย (ในสภาพวิญญาณ) และ บุญส่ง (ในสภาพครึ่งคนครึ่งลิง) อาจสร้างความตกใจ/แปลกใจให้ลุงบุญมีกับแขกเหรื่อบ้างเล็กน้อย แต่สุดท้ายอารมณ์ดังกล่าวก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยคนแรกถึงขั้นวนเวียนอยู่ไม่ห่างเพื่อคอยดูแลสามีในช่วงสุดท้ายของชีวิต และเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับการลาจากโลกด้วยซ้ำ
กฎแห่งการเวียนว่ายตายเกิดส่งผลให้วิญญาณไม่ต่างจากแก่นหลัก ส่วนร่างกายเปรียบเสมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ และความตายก็เพียงแค่พรากวิญญาณจากร่างหนึ่งเพื่อรอเวลาไปสิงสู่อีกร่างหนึ่ง (สะท้อนเป็นรูปธรรมผ่านฉากโต้งกับป้าเจน “หลุดออกจากร่าง” ในช่วงท้ายเรื่อง) เปลี่ยนจากสถานะหนึ่งสู่อีกสถานะหนึ่ง หรือกระทั่งจากสายพันธุ์หนึ่งสู่อีกสายพันธุ์หนึ่ง เฉกเช่นเมื่อโต้งพลิกผันตัวตนตามเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ จากหลวงพี่เป็นไอ้ลูกหมา จากพระสู่สามัญชน และจากการห้ามฉันหลังเที่ยงสู่การกินข้าวรอบดึกที่ร้านคาราโอเกะ
อีกฉากที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์บ่งชี้วงจรแห่งธรรมชาติ คือ เมื่อลุงบุญมีกับคณะพากันเดินทางเข้าไปในป่าลึก มุดเข้าถ้ำซึ่ง (ตามเสียงบอกเล่า) ให้ความรู้สึกคล้ายกลับมาอยู่ในครรภ์มารดา ก่อนทั้งหมดจะพากันหยุดพักในถ้ำ เพื่อให้ลุงบุญมีในสภาพเจ็บหนักใกล้ตาย ได้ขับถ่ายของเสียออกมาทางสายยาง จนกระทั่งเมื่อรุ่งอรุณมาเยือน วิญญาณของชายชราก็ผละออกจากร่างไปแล้ว และพร้อมกันนั้นคนดูก็จะได้เห็นโต้งค่อยๆ ปีนป่ายตามก้อนหินเพื่อขึ้นสู่ปากถ้ำเบื้องบน แล้วเกิดใหม่ในสภาพนุ่งเหลืองห่มเหลืองที่งานศพของลุงบุญมี
บทเกริ่นเปรียบเปรยเกี่ยวกับอาชีพหมอใน แสงศตวรรษ (หมอสูติฯ = การเกิด หมอมะเร็ง = ความตาย หมอโรคเลือด = ความทุกข์) ถูกนำมาขยายความเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นใน ลุงบุญมีระลึกชาติ ว่ามนุษย์ทุกคนย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด โดยเรื่องราวในแต่ละชาติของลุงบุญมีอาจแตกต่างกันทางยุคสมัย สถานะทางสังคม เพศ หรือกระทั่งสายพันธุ์ แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกัน (นอกเหนือไปจากฉากหลังของป่าภาคอีสาน) คือ ทุกชีวิตล้วนต้องเผชิญความทุกข์อันหลากหลาย ทุกข์เพราะโหยหาอิสรภาพ แต่กลับถูกสนตะพายให้ทำงานหนัก ทุกข์เพราะโหยหาความรักและรูปกายอันสวยงาม ทุกข์เพราะเจ็บป่วยทางกายและความรู้สึกผิดบาปทางใจ
กระนั้น หนังหาได้มองชีวิตด้วยสายตาหดหู่ สิ้นหวัง หากแต่ด้วยความเข้าใจมากกว่า อารมณ์ขันและความอิ่มเอิบในแบบ “อภิชาติพงศ์” ยังคงปรากฏให้เห็นเช่นเคย โดยความสุขสามารถเกิดขึ้นจากสิ่งเรียบง่ายรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหยอกล้อกับคนงาน การลองลิ้มน้ำผึ้งสด การเด็ดมะขามจากต้นมาป้อนสุนัข หรือการได้นั่งล้อมวงกินข้าวแบบพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว แม้คนหนึ่งจะเป็นวิญญาณ ส่วนอีกคนก็ผิดมนุษย์มนา แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยความผูกพันทางใจ จนคนงานที่มาช่วยล้างไตให้ลุงบุญมีถึงกับเอ่ยว่าตนรู้สึกเหมือนตัวประหลาดซะเอง ทว่าแน่นอน ความสุขเหล่านั้นย่อมผ่านมา แล้วก็ผ่านไป หาได้จิรังยั่งยืน เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่ย่อมแตกดับไปตามอายุขัย
หากพิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้ว เราอาจแบ่ง ลุงบุญมีระลึกชาติ ออกได้เป็นสองแง่มุมด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการถ่ายทอดเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายที่สามารถจดจำอดีตหนหลังได้ยาวนาน (เค้าโครงจากหนังสือ คนระลึกชาติ โดย พระศรีปริยัติเวที) อีกส่วนเป็นการถ่ายทอดความทรงจำของตัวผู้กำกับเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเขาหลงใหล ภาพยนตร์ซึ่งเขาคุ้นเคย ชื่นชอบ รวมถึงผู้คนซึ่งเขาผูกพัน (พ่อของอภิชาติพงศ์เสียชีวิตด้วยโรคไต) จนนำไปสู่ซีเควนซ์ชวนพิศวงของชุดภาพถ่ายกลุ่มทหารวัยรุ่นกับลิงผี พร้อมเสียงเล่าของลุงบุญมีถึงเมืองในอนาคตที่สามารถทำให้คนหายไปได้ มันอาจเชื่อมโยงหยอกล้อกับเรื่องเล่าหลักของหนังอยู่บ้าง (ชาติหนึ่งลุงบุญมีเป็นเหมือนลุงผีที่ถูกตามล่า ขณะที่ชาตินี้เขากลับรับบทนายทหารที่คอยเข่นฆ่าเหล่าคอมมิวนิสต์หนุ่มสาว) แต่น้ำหนักดูจะโอนเอียงไปยังส่วนที่สองอย่างเห็นได้ชัด (4)
กล่าวได้ว่านอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดและจิตวิญญาณแล้ว หนังยังเป็นบทบันทึกความทรงจำของอภิชาติพงศ์อีกด้วย เพื่อไม่ให้อดีตเลือนหายไปในอนาคต และการกระทำดังกล่าวก็ส่งผลให้ ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่เพียงท้าทายขนบการเล่าเรื่องของภาพยนตร์แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังก้าวไปไกลด้วยการสร้างรูปแบบแปลกใหม่ ที่ผสมผสานเรื่องเล่าเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินได้อย่างกลมกลืน ชวนค้นหา และน่าตื่นตะลึง
หมายเหตุ
1. อ่านรายละเอียดจากบทวิจารณ์ “แสงศตวรรษ: วงเวียนมนุษย์”
2. อภิชาติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตัดหลายฉากที่จะช่วยอธิบายเรื่องราวให้ชัดเจนออก ซึ่งนั่นช่วยไขข้อข้องใจว่าเหตุใดเรื่องย่อตามเอกสารเพื่อการประชาสัมพันธ์หนังจึงแตกต่างจากผลลัพธ์สุดท้ายบนจอค่อนข้างมาก เช่น ตอนหนึ่งเขียนบรรยายว่า “ระหว่างอาหารมื้อเย็นลุงบุญมีเล่าให้ฟังถึงความมหัศจรรย์ของการนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้เขาระลึกชาติได้ เขาใช้เวลายามค่ำคืนเล่าเรื่องต่างๆ ในอดีตชาติให้แขกผู้มาเยือนฟัง”
3. ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/ ในหัวข้อ “การระลึกชาติ”
4.“ผมอยากสอดแทรกความทรงจำเกี่ยวกับการสร้างหนัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Primitive Project เข้ามาด้วย โดยโครงการดังกล่าวผมตั้งใจจะบันทึกความทรงจำต่างๆ เกี่ยวกับภาคอีสาน ผมลงเอยด้วยการร่วมงานกับเด็กวัยรุ่นหลายคนในหมู่บ้าน ซึ่งในอดีตมีประวัติทางการเมืองที่รุนแรง นอกจากนี้ เรายังทำหนังสั้นเรื่อง A Letter to Uncle Boonmee พร้อมกับตระเวนไปทั่วหมู่บ้านเพื่อหาบ้านที่เหมาะสำหรับใช้ในการสร้างหนังขนาดยาว ประสบการณ์ของผมในหมู่บ้านแห่งนี้เกี่ยวโยงกับประสบการณ์ของลุงบุญมี มันเป็นสถานที่ซึ่งความทรงจำถูกเก็บกดไว้ ผมอยากจะเชื่อมโยงมันเข้ากับเรื่องราวของผู้ชายที่สามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ฉากภาพถ่ายในหนังทำให้ความทรงจำของผมกับของลุงบุญมีประสานเป็นหนึ่งเดียว” อภิชาติพงศ์กล่าว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)