ก่อนเข้าฉาย Crazy Rich Asians ถูกโหมประชาสัมพันธ์ว่าเป็นหนังสตูดิโอเรื่องแรกที่เกี่ยวกับคนเอเชีย สร้างโดยคนเอเชีย และนำแสดงโดยคนเอเชียนับจาก The Joy Luck Club เมื่อ 25 ปีก่อน เช่นเดียวกับ Black Panther และ Love, Simon ซึ่งเข้าฉายไปก่อนหน้านี้ ความสำเร็จด้านรายได้ของหนังส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสร้าง “เรื่องราว” หรือ “ตัวตน” ดังกล่าว กระตุ้นให้คนดู (โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมแนวคิดเสรีนิยม) อยากเอาใจช่วย หรือสนับสนุน ด้วยความหวังว่าสักวันฮอลลีวู้ดจะเปิดโอกาสให้ความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่เนื้อหาและหนุนทีมงานชนกลุ่มน้อย แม้สุดท้ายแล้วมันอาจจะเป็นไปได้ยากภายในอนาคตอันใกล้ก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่าความสำเร็จของ The Joy Luck Club ก็เคยจุดประกายแบบเดียวกันมาแล้ว แต่ 25 ปีผ่านไปก็เพิ่งจะมี Crazy Rich Asians ตามออกมา
ถึงแม้จะแตกต่างในโทนอารมณ์และแนวทางภาพยนตร์ แต่หนังทั้ง The Joy Luck Club และ Crazy Rich Asians มีจุดร่วมตรงกันในการพูดถึงความลักลั่นภายในของเอเชียน-อเมริกัน ความขัดแย้งระหว่างตะวันออก-ตะวันตก และสภาวะถอยไม่ได้ไปไม่ถึง หรือเหยียบเรือสองแคม กล่าวคือ พวกเขาไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกได้ แต่ก็หนีมาไกลเกินกว่าจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันออกอย่างสมบูรณ์ น่าสังเกตว่าในขณะที่แอฟริกัน-อเมริกันในหนังฮอลลีวู้ดมักจะไม่ถูกเน้นย้ำถึงความขัดแย้งในส่วนนี้ โดยหันไปสะท้อนการเรียกร้องความเท่าเทียม หรือต่อสู้กับความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหง เอเชียน-อเมริกันในหนังฮอลลีวู้ดกลับถูกฉายภาพในฐานะคนพลัดถิ่น โหยหาที่จะหวนคืนสู่รากเหง้ามากกว่าการเรียกร้องสิทธิ์ นี่อาจเหมารวมหนังอย่าง Floating Life (1996) ของ คลารา ลอว์ ซึ่งพูดถึงครอบครัวชาวฮ่องกงที่ย้ายมาลงหลักปักฐานในออสเตรเลีย ไปด้วยก็ได้
Crazy Rich Asians เริ่มต้นด้วยการแหย่เท้าเข้าไปเฉียดประเด็นเหยียดเชื้อชาติผ่านแฟลชแบ็คของ เอเลนอร์ ยัง (มิเชล โหยว) ขณะหอบกระเตงลูกๆ ฝ่าฝนมาเปิดห้องพักที่โรงแรมสุดหรู ก่อนจะโดนผู้จัดการผิวขาวไล่ตะเพิด พร้อมเสนอให้เธอลองไปหาที่พักในไชนาทาวน์แทน ความเงิบบังเกิดเมื่อปรากฏว่าเอเลนอร์หาใช่ลูกค้าของโรงแรม แต่เป็นเจ้าของคนใหม่ต่างหาก มองในแง่หนึ่งนี่อาจเป็นมุกเล็กๆ ที่ใช้สะท้อนความมั่งคั่งของมังกรจีนในปัจจุบัน ซึ่งพวกฝรั่งตาน้ำข้าวยังต้องสยบยอม (ขณะเดียวกันประชากรนับพันล้านก็ถือเป็นตลาดที่ฮอลลีวู้ดไม่กล้ามองข้าม) กระนั้นหนังไม่ได้สานต่อประเด็นอคติทางเชื้อชาติอย่างจริงจัง แต่เลือกจะพาคนดูไปชมการงัดข้อของตะวันออก-ตะวันตกผ่านสองตัวละครต่างวัย ต่างความคิด และพล็อตน้ำเน่าสไตล์แม่ผัวลูกสะใภ้
หนังตั้งใจวางเอเลนอร์ให้เป็นตัวแทนของตะวันออก ขณะที่เรเชล (คอนสแตนซ์ วู) เป็นตัวแทนของตะวันตก คนแรกเลือกจะเสียสละความฝันส่วนตัวเพื่อมารับหน้าที่เมียและแม่ ส่วนคนหลังเติบโตมาในบ้านคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งอพยพจากบ้านเกิดมาปากกัดตีนถีบในอเมริกาเพราะไม่อาจทนการใช้กำลังของสามีได้ เรเชลเป็นผู้หญิงฉลาด หัวสมัยใหม่ และยืนหยัดบนลำแข้งตัวเองด้วยการสอนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แม้เธอจะมีการศึกษาสูง ไม่ได้ยากจน แต่ก็ห่างไกลจากภาพลักษณ์ลูกคุณหนูเช่นกัน นอกจากนี้แม่ของเธอยังดูห้าวๆ ติดดินด้วยผมซอยสั้น จนทำให้อดนึกถึงตัวละครของ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ใน Three Billboards outside of Ebbing, Missouri ไม่ได้ แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ซอฟต์กว่าหลายเท่า ด้วยเหตุผลทางชนชั้นและทัศนคติจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เอเลนอร์จะดูแคลนเรเชล มองว่าเธอไม่คู่ควรกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอย่าง นิค (เฮนรี โกลดิง) เพราะแม้เรเชลจะมีหน้าตาแบบกากี่นั้ง แต่ความคิดข้างในของเธอเป็นแบบฝรั่งตาน้ำข้าว ไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน เพื่อนสนิทของเรเชลสมัยเรียน พิกลิน (อควาฟินา) อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนว่าเรเชลก็เหมือนกล้วย ข้างนอกสีเหลือง แต่เนื้อแท้ข้างในเป็นสีขาว
“เธอไม่ใช่สิ่งที่นิคต้องการในตอนนี้” เอเลนอร์สรุป ในความคิดของเอเลนอร์ สิ่งที่นิคต้องการ คือ ช้างเท้าหลังที่ยินดีจะยอมเสียสละตัวตน แล้วตามเขากลับมาสิงคโปร์เพื่อสืบทอดธุรกิจของครอบครัวแบบเดียวกับเธอ นั่นนำไปสู่คำถามที่ว่าเรเชลมีเนื้อใน “สีขาว” แบบที่เอเลนอร์เข้าใจจริงหรือ
ใน The Joy Luck Club ผู้กำกับ เวย์น หวัง และคนเขียนนิยายต้นฉบับ เอมี ตัน ได้นำเสนอนัยยะกลายๆ ว่าบางทีความเป็นตะวันออกอาจสืบทอดผ่านทางสายเลือด เมื่อตัวละครหนึ่งหลบหนีสังคมชายเป็นใหญ่ของจีน แล้วย้ายมาตั้งรกรากในอเมริกาด้วยการยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม เธอเลี้ยงลูกตามแนวคิดแบบตะวันตก แต่ลูกสาวเธอกลับกลายเป็นภรรยาที่อ่อนแอ ศิโรราบต่อสามีในทุกเรื่องจนชีวิตคู่พังทลายเพราะเขาไม่เห็นค่าเธอ ใน Crazy Rich Asians เรเชลอาจเติบโตมาในบ้านคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว รักและเทิดทูนความแข็งแกร่งของแม่ แต่ลึกๆ แล้วเธอยังผูกพันกับครอบครัวขยาย ดังจะเห็นได้จากความสุขเมื่อเธอเรียนรู้วิธีห่อเกี๊ยวจากอาม่าของนิค สมาชิกในบ้านอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา มันทำให้เธอตระหนักว่าครอบครัวสำคัญกับชายคนรักของเธอมากเพียงใด และสุดท้ายเธอก็เลือกจะเป็นฝ่ายยอมถอยเพราะไม่อยากให้นิคต้องแตกแยกกับที่บ้าน
ฉากเล่นไพ่นกกระจอกในตอนท้ายพิสูจน์ให้เอเลนอร์เห็นว่าเรเชลไม่ได้ “เหลือง” แค่ภายนอกเท่านั้น แต่เศษเสี้ยวแห่งตะวันออกยังหลงเหลืออยู่ในตัวเธอ แม้เธอจะถือกำเนิดและเติบโตมาในดินแดนตะวันตกอย่างอเมริกา เรเชลรู้ดีว่าไม่ว่านิคจะตัดสินใจเลือกเธอ (ทิ้งครอบครัว) หรือเลือกครอบครัว (เกลียดชังแม่ผู้บีบให้เขาต้องทิ้งคนรัก) สุดท้ายเขาก็จะต้องสูญเสียครอบครัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เธอจึงตัดสินใจแทนเขาด้วยการปฏิเสธข้อเสนอขอแต่งงาน แน่นอน สุดท้ายนิคจะหาแฟนใหม่ได้ ผู้หญิงที่ครอบครัวเขาเห็นดีเห็นงาม ไม่ต่างจากหนุ่มๆ ตระกูลยังรุ่นก่อนหน้าเขา แต่เธอรักเขามากพอจะยอมเจ็บเพื่อให้นิคสามารถรักษาหัวใจแห่งวัฒนธรรมเอเชียนเอาไว้ นั่นคือ ครอบครัว เรเชลจะกลับอเมริกาอย่างเงียบๆ โดยไม่อธิบายก็ได้ แต่เธอต้องการประกาศ/พิสูจน์ตัวเองให้เอเลนอร์ตระหนักว่า เมื่อใดก็ตามที่นิคค้นพบคู่ที่ “เหมาะสม” กับเขา ได้แต่งงาน มีลูกมีหลานสืบสกุลและความมั่งคั่งของต้นตระกูลต่อไป ทั้งหมดนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ หากไม่ใช่เพราะ “ผู้หญิงจากบ้านเลี้ยงเดี่ยว ไร้หัวนอนปลายเท้า ลูกสาวของผู้อพยพ” คนนี้ คนที่เอเลนอร์เคยดูถูกว่าไม่เข้าใจทัศนคติแบบ “เลือดข้นกว่าน้ำ”
เกมไพ่นกกระจอกจำลองสถานการณ์ในชีวิตจริงเอาไว้ เมื่อเรเชลจั่วได้ “ต้นไผ่” เลข 8 ซึ่งเป็นไพ่ “น็อก” ที่เธอกำลังรออยู่ ความหมายแฝงของต้นไผ่ในภาษากวางตุ้งระบุเจาะจงไปยังเหล่าคนจีนที่เติบโตมาในตะวันตก หรือลูกหลานของผู้อพยพ แต่แทนที่จะรีบแบไต๋ เธอกลับเลือกจะทิ้งไพ่ใบนั้นเพราะรู้ว่ามันเป็นไพ่ที่เอเลนอร์รออยู่ พร้อมกับเฉลยไพ่ในมือให้เอเลนอร์เห็นว่าเธอจะปิดเกมอย่างผู้ชนะก็ได้ แต่เธอเลือกจะเสียสละความสุขส่วนตัว แบบเดียวกับที่เอเลนอร์ทำเมื่อสมัยสาวๆ ด้วยการลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันและทิ้งความฝันของการเป็นทนาย ต้นไผ่เป็นไพ่ที่เอเลนอร์กำลังรออยู่ เปรียบได้กับเรเชลเป็นผู้หญิงที่คู่ควรกับนิคและลงล็อกพอดี หาใช่ “ไม่มีวันดีพอ” เหมือนคำครหาของเอเลนอร์ในตอนต้น
ถึงแม้ Crazy Rich Asians จะลงเอยไม่ต่างจากสูตรสำเร็จของหนังในแนวทางตลกโรแมนติกส่วนใหญ่ แต่กลิ่นอายตะวันออกช่วยเพิ่มรสชาติให้มันแตกต่างจากหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องซึ่งมักเชิดชูรักโรแมนติกเหนืออื่นใด ลองเทียบง่ายๆ กับหนังที่มีพล็อตน้ำเน่าในทำนองเดียวกันอย่าง The Notebook โดยเรื่องนี้ครอบครัวของผู้หญิงร่ำรวย และแน่นอนไม่ยอมรับหนุ่มบ้านนาทำงานโรงเลื่อยอย่างโนอาห์ (ไรอัน กอสลิง) ฉากไคล์แม็กซ์เป็นตอนที่อัลลี (เรเชล แม็คอดัมส์) ต้องเลือกระหว่างชายคนที่เธอรักกับชายคนที่ฐานะใกล้เคียงกันและเหมาะสมกับเธอในทางทฤษฎี (เจมส์ มาร์สเดน) ประโยคสำคัญที่โนอาห์พูดกับอัลลี คือ “คุณต้องการอะไร” อย่ามัวพะวงสนใจว่าเขาจะคิดยังไง ผู้ชายอีกคนจะคิดยังไง หรือพ่อแม่เธอจะคิดยังไง แต่จงเลือกตามที่หัวใจเรียกร้อง
นี่คือความแตกต่างระหว่างตะวันตก-ตะวันออก เรื่องหนึ่งความรักโรแมนติกต้องหลีกทางให้กับครอบครัว การกลับตัวกลับใจของเอเลนอร์ไม่ใช่เพราะเธอยอมรับในรักอันบริสุทธิ์ แต่เพราะตระหนักว่าเรเชล “คู่ควร” กับนิค เนื่องจากเธอเห็นคุณค่าครอบครัวเหนือความสุขส่วนตัว ขณะที่อีกเรื่องผลักดันแนวคิดปัจเจกนิยม ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง อย่าพยายามจะเอาอกเอาใจทุกคนแล้วต้องทนกล้ำกลืนความทุกข์เสียเอง ชีวิตเป็นของเรา อย่าปล่อยให้ใครมาบงการ (ในหนังอัลลีรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเมื่ออยู่กับโนอาห์ ต่างจากพ่อแม่เธอซึ่งจะคอยบังคับ เจ้ากี้เจ้าการในทุกๆ เรื่อง หาใช่แค่เรื่องคู่ครองเท่านั้น)
อย่างไรก็ตาม ความย้อนแย้งของ Crazy Rich Asians อยู่ตรงที่หนังพยายามจะวาดภาพผู้หญิงเก่ง เข้มแข็ง ผ่านตัวละครอย่างเอเลนอร์ (หนังเปิดตัวเธอด้วยฉากผู้จัดการโรงแรมเข้าใจผิดว่าเธอเป็นแค่แม่บ้านชาวจีนทั่วไป ก่อนจะถูกตอกกลับจนหงายเงิบ) เรเชล (หนังเปิดตัวเธอด้วยฉากสอนนักศึกษาในหอประชุมขนาดใหญ่) และแอสทริด (หนังเปิดตัวเธอด้วยฉากช้อปปิ้งซื้อของแบรนด์เนมสารพัด ก่อนจะรีบกลับมาซ่อนของที่บ้านเพื่อจะได้ไม่ทำร้ายอีโก้ หรือบั่นทอนความเป็นชายของสามี) ในกลุ่มนี้ แอสทริด (เจมมา ชาน) ดูจะเป็นคนเดียวที่หนังสร้างบทสรุปได้น่าพอใจ เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะเลิกรู้สึกผิดกับความร่ำรวยและความเก่งกาจของตัวเอง ที่สำคัญ เธอยังไม่คิดจะฉุดรั้งสามีที่นอกใจ และประกาศความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
ตรงข้ามกับเรเชลและเอเลนอร์ซึ่งทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพื่อความสุขของผู้ชาย หนังอาจจบอย่างแฮปปี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าสุดท้ายแล้วเรเชลคงต้องยอมเสียสละอาชีพครูที่เธอรักเพื่อสามี ไม่ต่างจากเอเลนอร์ในอดีต นอกจากนี้พล็อตหลักของหนังเองก็ให้อารมณ์ใกล้เคียงกับนิยายประโลมโลก เมื่อผู้หญิงสองคนแก่งแย่งชายคนเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างต้องหักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงไหวชิงพริบเพื่อชัยชนะในลักษณะเดียวกับหนังอย่าง Raise the Red Lantern ซึ่งพูดถึงการต่อสู้แย่งชิงของเพศหญิงภายใต้กฎกติกาของเพศชาย และเช่นเดียวกับคุณผู้ชายในหนังของ จางอวี้โหมว คนดูไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าค่าตาของมิสเตอร์ยังผู้ร่ำรวยอย่างบ้าคลั่ง ทั้งนี้เพราะเขาเปรียบดังตัวแทนของตะวันออก ของโลกยุคเก่าที่ยังรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ได้