ชัยชนะอันคาดไม่ถึงของ Joker ที่เวนิซอาจพูดได้ว่าเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะถ้ามันเข้าฉายแบบเดียวกับหนังบล็อกบัสเตอร์ปกติทั่วไป ปล่อยให้คนดูเข้าไปค้นพบเซอร์ไพรส์ว่ามันแตกต่างและท้าทายความคิดกว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ดาษๆ มากแค่ไหน เชื่อได้ว่าเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์โดยรวมอาจเป็นบวกมากกว่านี้ (แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวหนังเองก็มีจุดก้ำกึ่งในหลายด้านจนน่าไม่น่าแปลกใจที่จะมีทั้งคนชอบและคนชังแบบสุดโต่ง) แต่การคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่ระดับหนึ่งในสามของโลกย่อมนำมาซึ่งความคาดหวังสูงลิ่วอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง รวมถึงการตั้งกำแพงกลายๆ ทั้งจากแฟนหนังกระแสหลักและเหล่าคอหนังอาร์ต ซึ่งแน่นอนว่า Joker ไม่มีวันเติมเต็ม เช่นเดียวกับหนังอย่าง The Artist หรือ Green Book ที่เสน่ห์และความหรรษาถูกบั่นทอนลงจากความคาดหวังอันยิ่งใหญ่
ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ผู้สร้างชื่อเสียงจากหนังตลกเรื้อนๆ อย่าง The Hangover ไม่ใช่หนังอาร์ตประเภทลุ่มลึก ซับซ้อน หรือชวนพิศวง เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่มักคว้าชัยชนะตามเทศกาลหนัง ความชัดและหนักมือของ Joker จึงตกเป็นเป้าโจมตีได้ไม่ยากจากหมู่คอหนังอาร์ต ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้เอาใจตลาดกระแสหลักแบบสุดโต่งเสียทีเดียว เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ตลอดสองชั่วโมงเต็มไปด้วยความเครียด วิบากกรรมแห่งชีวิต แทบจะปราศจากฉากแอ็กชั่น หรือฉากไล่ล่าแบบเป็นชิ้นเป็นอัน จนไม่น่าเชื่อว่าหนังจะสามารถกวาดเงินได้มากมายอย่างที่เป็นอยู่ (เกิน 700 ล้านเหรียญทั่วโลกแล้ว)
กระแสอื้อฉาวของหนังหาได้จำกัดอยู่แค่การคว้ารางวัลสูงสุดมาครองท่ามกลางข้อกังขาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเนื้อหาที่ส่อเสียดไปในทางสนับสนุนความรุนแรง จนกระทั่งเกิดความหวาดกลัวว่าอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ข้อโต้แย้งทำนองนี้มักเกิดขึ้นเสมอ เมื่อมีคนพยายามจะทำความเข้าใจ มอบเหตุผล หรือกระทั่งความเป็นมนุษย์ให้กับบรรดา “ปีศาจร้าย” หนังอย่าง Downfall ซึ่งเล่าถึงช่วงเวลาสุดท้ายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก่อนเผชิญความพ่ายแพ้ในสงคราม ก็ต้องรับมือกับกระแสต่อต้านอย่างหนักจากการแสดงให้เห็นอีกด้านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกไม่ต่างจากปุถุชนทั่วไปของฮิตเลอร์ ที่สำคัญแรงกระแทกดังกล่าวยิ่งหนักหน่วงเมื่อพิจารณาว่า Downfall เป็นผลงานที่สร้างโดยประเทศเยอรมนี ไม่ใช่อังกฤษ หรืออเมริกา
เช่นเดียวกัน ฮันนาห์ อาเรนท์ ผู้เคยสร้างสรรค์วลีโด่งดัง “the banality of evil” (ความชั่วร้ายอันแสนสามัญ) เพื่ออธิบายพฤติกรรมของ อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกและเป็นคนวางแผนการสังหารหมู่เพื่อแก้ “ปัญหาชาวยิว” ให้กับฮิตเลอร์ โดยวลีดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากรอบข้าง โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านนาซี ซึ่งต้องการวาดภาพให้นาซีเป็นพวกมีปัญหาทางจิตและแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (มุมมองของอาเรนท์ต่ออิชมันน์ คือ เขากระทำการดังกล่าวเพียงเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ หาใช่เพราะเหยียดชาวยิวหรือมีสภาพจิตบกพร่อง) อาเรนท์เลือกใช้วลีข้างต้นไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความเห็นใจให้กับอิชมันน์ แต่เพื่อสะท้อนแง่มุมว่าอิชมันน์ไม่ได้ “สนุก” กับการฆ่า ความเกลียดชังหาใช่เหตุผลที่ผลักดันเขาให้สังหารหมู่ชาวยิว แต่เพราะเขา “มืดบอด” เกินกว่าจะตระหนักในศีลธรรม สามัญสำนึก หรือความถูกต้อง เขาเดินหน้าทำตามคำสั่งจากเบื้องบนโดยไม่ได้คิดคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา
หลายคนคิดว่า Joker เปรียบเสมือนข้อแก้ตัวให้กับเหล่ามือปืนที่บุกยิงกราดผู้บริสุทธิ์ เป็นการ “กล่าวโทษเหยื่อ” ว่ากระทำสิ่งเลวร้ายก่อนเลยสมควรจะโดนตอบโต้กลับ แต่ความชอบธรรมของ อาร์เธอร์ เฟล็ก (วาคีน ฟีนิกซ์) ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับตัวละครตามพล็อตทำนองข่มขืนและล้างแค้น ส่งผลให้การเอาคืนของเขาย่อมสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนแก่คนดูอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จริงอยู่ในแง่หนึ่งเราสะใจที่ตัวละครได้ระเบิดความคลั่งแค้นออกมาในที่สุด หลังจากต้องเก็บกด จำทนถูกกระทำมาตลอดทั้งเรื่อง แต่ในเวลาเดียวกันบทลงโทษกลับหนักหนาสาหัสเกินอาชญากรรมไปมาก เราจึงรู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่อาจเข้าข้างอาร์เธอร์ได้อย่างเต็มร้อย (ในทางตรงกันข้าม คนดูจะไม่ตะขิดตะขวงใจมากนักกับการแก้แค้นในหนังอย่าง Kill Bill หรือ Straw Dogs)
แล้วตัวหนังล่ะ เห็นชอบกับการกระทำของอาร์เธอร์หรือเปล่า
ต้องยอมรับว่าคำตอบไม่อาจยืนกรานหนักแน่นว่าเป็นทางหนึ่งทางใดได้ เนื่องจากหนังค่อนข้างไต่เส้นลวดอย่างระมัดระวัง ฉากที่เหล่าผู้คนในม็อบกวนเมืองแห่อาร์เธอร์ออกจากรถตำรวจในสภาพเดียวกับพระเยซูอาจถูกมองว่าเป็นการชำระบาป แล้วสร้างความชอบธรรมให้ฆาตกร แต่ในเวลาเดียวกันหนังก็หาได้ตีตราเห็นชอบพฤติกรรมของอาร์เธอร์ชัดเจน เนื่องจากโทนอารมณ์ในตอนท้ายไม่ได้ใกล้เคียงกับชัยชนะ หรือความฮึกเหิมเสียทีเดียว (บางคนถึงขั้นนำเสนอสมมุติฐานว่าทั้งหมดอาจเป็นแค่ภาพหลอนในหัวอาร์เธอร์ หลังจากหนังเปิดเผยให้เห็นว่าเขาเป็นผู้เล่าเรื่องที่ปราศจากความน่าเชื่อถือมากแค่ไหนจากกรณีของสาวผิวดำข้างห้อง) หากลองเทียบกับหนังอย่าง A Time to Kill แล้วจะเห็นความแตกต่างได้ชัด เพราะผลงานกำกับของ โจล ชูมัคเกอร์ เรื่องนั้นยืนหยัดข้างคุณพ่อที่ฆ่าคนร้ายข่มขืนลูกสาวผิวดำของเขาแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งถือเป็นเรื่องชวนย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาว่าก่อนหน้านี้ จอห์น กริแชม ซึ่งเป็นคนเขียนนิยายต้นทางของ A Time to Kill เพิ่งเคยประณาม Natural Born Killers ของ โอลิเวอร์ สโตน ว่า “ไร้ความรับผิดชอบ” น่าสะอิดสะเอียน เป็นต้นเหตุให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบจากการเคลือบน้ำหวานให้อาชญากรรมและความรุนแรงดูเท่ ดูเก๋ เพราะคนอาจพูดว่าหนังสือของเขาเองก็เคลือบน้ำหวานให้การตั้งศาลเตี้ยและกลยุทธ์ตาต่อตาฟันต่อฟันดูเท่ ดูเก๋ และเป็นทางเดียวที่จะบรรลุความยุติธรรมอย่างแท้จริงได้เช่นกัน
มองเช่นนี้แล้วเราอาจบรรลุข้อสรุปว่า Joker จริงๆ แล้วไม่ได้ “อันตราย” มากไปกว่า A Time to Kill หรือ Natural Born Killers หรือ Taxi Driver ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ลอบสังหาร โรนัลด์ เรแกน เมื่อปี 1981 หรือบทเพลง Healter Skelter ของ เดอะ บีทเทิลส์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ ชาร์ลส์ แมนสัน ส่งเหล่าสาวกออกไปล่าสังหารพวกคนรวยทั้งหลาย ทุกสิ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นปลุกเร้าได้ทั้งนั้นถ้าเหตุปัจจัยพร้อมอยู่แล้ว
ความโกลาหล นรกแตกในช่วงท้ายเรื่องของ Joker ก็ไม่แตกต่างกัน การสังหาร เมอร์เรย์ แฟรงคลิน (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ต่อหน้ากล้อง หรือการยิงนักธุรกิจสามคนของ เวย์น เอนเตอร์ไพรส์ บนรถไฟใต้ดินจะไม่กลายเป็นชนวนนำไปสู่การจลาจล ถ้าเมืองก็อตแธมไม่ได้บ่มเพาะเหตุปัจจัยซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายจนสุกงอมอยู่แล้ว อาร์เธอร์หาได้มีเป้าประสงค์จะเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ เขาระบุชัดเจนตอนให้สัมภาษณ์ออกอากาศ ถ้าเขาต้องการจะเป็นฮีโร่ของเหล่าชนชั้นแรงงานจริง เขาคงเลือกเป้าหมายที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่า อาจเป็นหนึ่งในเศรษฐีชั้นนำที่นั่งหัวร่องอหายระหว่างทัศนาหนังตลกเกี่ยวกับคนชายขอบซึ่งโดนสังคมทุนนิยมกระทำย่ำยีเรื่อง Modern Times ขณะที่ลานข้างนอกเหล่าประชาชนผู้ไม่มีอันจะกินกำลังชุมนุมประท้วงด้วยความโกรธแค้นต่อสภาพความเป็นอยู่อันย่ำแย่ในก็อตแธม ตรงกันข้ามเหยื่อทั้งหมดของอาร์เธอร์ล้วนเป็นคนที่กระทำความผิดต่อเขามากน้อยต่างระดับกันไป ส่วนคนที่ไม่ได้ทำร้ายเขาก็จะได้รับโอกาสให้มีชีวิตรอดต่อไป นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงหวาดหวั่นโจ๊กเกอร์ใน The Dark Knight มากกว่า ทั้งนี้เพราะเราไม่อาจคาดเดาเจตนารมณ์ หรือแรงจูงใจใดๆ ของตัวละครที่ ฮีธ เลดเจอร์ สวมบทบาทได้เลย
โจ๊กเกอร์ของ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ อาจไม่น่าสนใจ ไม่น่าค้นหาในฐานะตัวละครมากเท่าโจ๊กเกอร์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน แต่เขาชดเชยด้วยการนำเสนอโจ๊กเกอร์ในฐานะตัวแทนความรู้สึกแห่งมวลชน คนดูนึกเห็นใจ หรือเข้าอกเข้าใจ อาร์เธอร์ เฟล็ก ไม่ใช่แค่เพราะหนังนำเสนอเรื่องราวชีวิตบัดซบชวนให้รันทดผ่านสายตาเขาเท่านั้น (เขาปรากฏตัวอยู่แทบทุกฉากของหนัง) แต่เพราะเราสามารถแทนภาพตัวเองเข้าไปในตัวละครได้ เขาไม่ได้ชั่วร้าย หรือซับซ้อนเกินกว่าจะนึกภาพออกจนเราทำได้แค่เพียงนั่งมองด้วยแววตาชื่นชม หวาดกลัว หรือสงสัยใคร่รู้เฉกเช่นโจ๊กเกอร์ของเลดเจอร์ หรือฮันนิบาล เล็กเตอร์ ใน The Silence of the Lambs อาร์เธอร์ เฟล็ก ก็ไม่ต่างจากพวกเราส่วนใหญ่ (หากไม่นับเรื่องความผิดปกติทางจิต หรือปูมหลังอันจำเพาะเจาะจง) นั่นคือ คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ถูกกระทำย่ำยีโดยระบบและโครงสร้างอันไม่เป็นธรรม หรือไร้ซึ่งความเท่าเทียม พวกเขาเป็นเหมือนตัวตลกและฝุ่นธุลี (ตามความหมายตรงตัวของนามสกุลเฟล็ก) ในสายตาของเหล่าชนชั้นปกครองและชนชั้นนำ 1%
ชัยชนะของ Parasite ที่คานส์และ Joker ที่เวนิซนอกจากจะสะท้อนให้เห็นการรุกคืบของหนังเล่าเรื่องในพื้นที่ซึ่งมักจะถูกยึดครองโดยหนังอาร์ตปราศจากรูปฟอร์มชัดเจน หรือกระทั่งพล็อตอันแข็งแกร่งตามโครงสร้างแบบสามองก์ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าประเด็นความเหลื่อมล้ำ การขาดความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ หรือกระทั่งมีอารมณ์ร่วมมากขึ้นท่ามกลางระบบสังคมและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่สนับสนุนแนวคิดในทำนองมือใครยาวสาวได้สาวเอา รัฐไม่ควรเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการหรือแทรกแซง จนนำไปสู่ค่านิยมความเชื่อว่าคนที่ล้มเหลวคือคนที่ไม่พยายามพอ คนขี้เกียจที่ไม่พัฒนาตัวเอง หรือปรับตัวเองไปตามความเปลี่ยนแปลง โดยบางครั้งก็มองข้ามโครงสร้างอันไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงจำนวนหยิบมือ ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบตามลำพังโดยไม่ได้รับการเหลียวแล
ถ้าเป็นเมื่อสัก 20-30 ปีก่อน เมื่อสภาพสังคมยังไม่ซับซ้อน เมื่อกระแสทุนนิยม วัตถุนิยมยังไม่เริ่มเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัวและค่อยๆ เผยให้เห็นกับดักที่กัดกร่อนจิตวิญญาณ เมื่อผู้คนยังรู้จัก ยอมรับ ตลอดจนเคารพ “ที่ทาง” ของตนเอง หนังแบบ Parasite หรือ Joker อาจไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ได้มากเท่านี้ ยุคสมัยที่ความฝันแบบอเมริกันในการสร้างเนื้อสร้างตัวยังพอจะหลงเหลือมนตร์ขลังอยู่บ้าง ยุคสมัยที่ยังมีการสร้างหนังอย่าง The Pursuit of Happyness และตีพิมพ์หนังสืออย่าง พ่อรวยสอนลูก ซึ่งเน้นสร้าง “แรงบันดาลใจ” ผ่านเรื่องราวการต่อสู้จากดินสู่ดาว จากเสื่อผืนหมอนใบกลายมาเป็นเจ้าสัวพันล้าน แต่ทุกวันนี้ภาพลักษณ์ของเหล่าเศรษฐี 1% หาใช่ฮีโร่ หรือแบบอย่างที่ผู้คนต้องการเลียนแบบอีกต่อไป พวกเขากลายเป็นภาพแทนของทุนผูกขาดที่เสวยสุขอยู่ในโลกส่วนตัวอันฟู่ฟ่า สวยสะอาด แล้วคอยกีดกันคู่แข่งเพื่อ พิทักษ์รักษาเอกสิทธิ์เอาไว้ในหมู่ตนเองและพวกพ้อง
ดังจะเห็นได้ว่า โทมัส เวย์น (เบร็ท คัลเลน) ใน Joker หาใช่เศรษฐีผู้ใจบุญสุนทาน คอยช่วยเหลือคนยากไร้เหมือนในเวอร์ชั่นอื่นๆ ของหนังชุดแบทแมนอีกต่อไป แต่กลายเป็นนักธุรกิจหน้าเลือดที่มองไม่เห็นหัวคนยากคนจนในสังคม เสพสุขอยู่ในคฤหาสน์ล้อมรั้วโดยไม่จำเป็นต้องเผชิญปัญหาขยะหมักหมมเหมือนเหล่าชนชั้นล่างในชุมชนแออัด ขณะเดียวกันทัศนคติในการแก้ปัญหาของเขาก็มีลักษณะอำนาจนิยม (ตรงนี้อาจเหมารวมไปถึง บรูซ เวย์น ใน The Dark Knight ได้ด้วย) วางแผนกำจัดปราบปรามอาชญากรรมด้วยท่าทีแข็งกร้าว ถ้าเจอหนูตัวใหญ่ ก็แค่หาแมวยักษ์มาล่าสังหาร ทั้งที่ต้นเหตุคือการจัดการขยะ เพราะเขามองแค่ว่าเมืองก็อตแธมกำลังเผชิญวิกฤติจากตัวสร้างเรื่องกลุ่มหนึ่ง หากกำจัดคนพวกนี้ออกไปได้หมด ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ความสงบสุข โดยหาได้มองให้ลึกลงไปถึงโครงสร้าง ถึงความคับแค้นของชาวเมือง การกำจัดคนอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็ก จับเขาเข้าคุก หรือโรงพยาบาลบ้า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอ สุดท้ายแล้วโจ๊กเกอร์คนต่อๆ ไปก็จะถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่
การมองแต่ผลที่เกิดขึ้นโดยไม่สืบสาวให้ลึกไปถึงต้นเหตุ แล้วโยนความผิดให้เป็นแค่ความเลวร้ายส่วนบุคคล คือ ความมักง่ายที่จะนำไปสู่วังวนแห่งวิกฤติไม่สิ้นสุด ความหวาดกลัวเกินกว่าจะขุดคุ้ยให้ถึงก้นบึ้งว่าทำไมเด็กชายยวัยรุ่นสองคนถึงบุกเข้าไปยิงเพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมและคุณครูตายไปทั้งหมด 13 ศพที่โคลัมไบน์ ทำให้สุดท้ายคดีกราดยิงกลายเป็นสิ่งสามัญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอเมริกาจนถึงขั้นต้องจัดสอนขั้นตอนเอาชีวิตรอดในโรงเรียนหากมีใครบุกเข้ามากราดยิง เราอาจพูดแบบเดียวกันนี้ได้เช่นกันกับปัญหาก่อการร้าย แน่นอน การกระทำอันโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรมทั้งหลายเป็นเรื่องที่ควรจะโดนประณาม แต่ประเด็นที่ควรได้รับการถกเถียงและศึกษาวิเคราะห์ตามมา คือ บุคคลเหล่านี้เป็นแค่ปีศาจร้ายในร่างมนุษย์ ถูกซาตานส่งจากนรก หรือสังคมบิดๆ เบี้ยวๆ ที่เราอาศัยอยู่เป็นคนสรรสร้างปีศาจดังกล่าวขึ้นมากันแน่แบบเดียวกับ อาร์เธอร์ เฟล็ก ถ้าคนที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหารอย่างเขาได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น ถ้างบสังคมสงเคราะห์ไม่ถูกตัด ทำให้เขาสามารถเข้าถึงยาและการบำบัดได้อย่างเหมาะสม มันจะช่วยยับยั้งหรือลดทอนความรุนแรงที่ระเบิดขึ้นในตอนท้ายหรือไม่ “ถ้าเป็นผมนอนตายอยู่ข้างถนนก็คงไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ!” คำพูดของอาร์เธอร์มีพลังเสียดแทงเพราะมันแฝงข้อเท็จจริงอยู่ข้างใน
ย้อนกลับไปยังเรื่องราวของ อดอล์ฟ อิชมันน์ ซึ่ง ฮันนาห์ อาร์เรนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่ตระหนักถึงสิ่งเลวร้ายที่ตนเองกระทำลงไปเนื่องมาจากเขา “ไม่สามารถ... ที่จะคิดจากมุมมองของคนอื่นนอกจากตัวเอง” คนรวยใน Parasite และ โทมัส เวย์น ใน Joker อาจไม่ได้ชั่วร้าย แต่อาชญากรรมของพวกเขาคือความไม่รู้เรื่องรู้ราว มองไม่ไกลไปกว่าเงาตัวเอง และปราศจากความคำนึงถึงหัวอกคนอื่น “คุณเคยโงหัวไปดูบ้างไหมว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง เมอร์เรย์ เคยออกจากสตูดิโอบ้างหรือเปล่า ทุกคนพากันตะโกนด่าใส่กัน ไม่มีใครรักษามารยาทกันแล้ว ไม่มีใครคิดถึงหัวอกอื่น คุณคิดว่าผู้ชายอย่าง โทมัส เวย์น เคยคิดเหรอว่าจะเป็นยังไงถ้ามาเป็นผมบ้าง หรือเป็นใครนอกจากตัวเอง ฝันไปเถอะ พวกเขาทึกทักว่าเราจะเป็นเด็กดี จำทนยอมรับชะตากรรมโดยไม่แปลงร่างเป็นหมาป่าแล้วอาละวาด!” อาร์เธอร์ให้สัมภาษณ์ในรายการ ก่อนจะระเบิดความคลั่งแค้นออกมา
เรื่องตลกอยู่ตรงที่ผู้คนพากันจับจ้องไปยังความรุนแรงจากน้ำมืออาร์เธอร์จนหลงลืมที่จะรับฟังสิ่งที่เขาพูดออกมา (เสียงของเขาไม่เคยถูกได้ยิน ไม่ว่าจะจากเจ้านาย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ หรือเมอร์เรย์) ความรุนแรงที่รัฐกระทำกับคนชายขอบ คนชนชั้นล่างอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความล้มเหลวของทุนนิยมเสรีในการสร้างสังคมอันปรองดอง เท่าเทียม ไม่มีใครต้องถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ความบ้าคลั่งของอาร์เธอร์ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติในร่างกายเท่านั้น แต่ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากสภาพแวดล้อมซึ่งพร้อมจะทำให้คน (จน) เป็นบ้า อาจพูดได้ว่ามันเป็นเหมือนตลกร้าย เมื่อหนังที่พยายามจะเข้าอกเข้าใจ มองปัญหาไปยังต้นตอ ไปยังระบบโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกภาพเฉกเช่นหนังซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งแบ่งขาวกับดำ ธรรมะกับอธรรมชัดเจน (แม้ว่าวิธีการ หรือคำตอบอาจจะห่างไกลจากความลุ่มลึก หรือรอบด้านก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นความพยายาม) กลับถูกตราหน้าว่าเป็นหนังอันตราย
1 ความคิดเห็น:
ตอนแรกเข้ามาอ่านไม่คิดว่าจะมีเนื้อหาอัดแน่นขนาดนี้ ขอบคุณมากจร้าที่เขียนรายละเอียดได้แน่น
เพื่อนๆ อย่าลืมบำรุงสุขภาพกันด้วยนะ ป้านยาแปป https://shope.ee/3KzlNNlNt8
แสดงความคิดเห็น