วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 10, 2552
Oscar 2009: ค้างคาวปีกหัก
ชะตากรรมของ The Dark Knight ดูไม่ค่อยแตกต่างจาก Dreamgirls เมื่อสองปีก่อนสักเท่าไหร่ ทั้งสองทำท่าจะเป็นตัวเก็งอันดับต้นๆ หลังจากได้เข้าชิงรางวัลของ SAG (นักแสดงกลุ่ม) PGA และ DGA แบบครบถ้วน แม้ว่าลางร้ายจะเริ่มส่อแววมาไกลๆ เช่น การถูก BAFTA มองข้าม (ในกรณี The Dark Knight หมายรวมถึงลูกโลกทองคำด้วย) แต่กูรูหลายคนก็ยังเชื่อมั่นว่ามันจะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่ได้สำเร็จ
ความล้มเหลวของ The Dark Knight อาจชวนพิศวงน้อยกว่านิดหน่อย เพราะสุดท้ายแล้ว (สำหรับกรรมการออสการ์) มันก็ยังเป็นแค่หนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่ทำมาจากการตูน มีตัวเอกสวมหน้ากากและใส่ชุดยางรัดรูป ไม่ว่าผู้สร้างจะพยายามเน้นความ “สมจริง” มืดหม่น หรือความหนักหน่วงในประเด็นทางศีลธรรมมากเพียงใดก็ตาม (และกรรมการหลายคนคงคิดว่าจะมีอะไรมืดหม่น หดหู่ และตั้งคำถามต่อระดับศีลธรรมได้มากไปกว่าปรากฏการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงนาซีเรืองอำนาจอีกเหรอ นี่เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมหนังอย่าง The Reader ถึงสามารถเอาชนะบุรุษแห่งรัตติกาลได้)
การพลาดหวังของ The Dark Knight นอกจากจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่ากรรมการออสการ์ไม่สนใจความคิดเห็นของมวลชนแล้ว (รายได้ของหนังห้าเรื่องสุดท้ายที่เข้ารอบรวมกันแล้วยังไม่มากเท่ารายได้ของ The Dark Knight เรื่องเดียว) มันยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าพวกเขาไม่แคร์ความรู้สึกของนักวิจารณ์แต่อย่างใด (The Reader ทำสกอร์ใน Rotten Tomatoes ที่ 60% ถือว่าต่ำสุดในรอบทศวรรษสำหรับหนังเข้าชิงออสการ์ ต่ำกว่า Chocolat ซึ่งได้ 62% และ Babel ซึ่งได้ 68% ส่วนหนังที่ติดอันดับ 10 ประจำปีของนักวิจารณ์สูงสุดสองเรื่อง คือ Wall-E กับ The Dark Knight ล้วนพลาดการเข้าชิง)
นี่เองนำไปสู่ประเด็นที่หลายคนอ้างอิงถึง เมื่อพิจารณาความสำเร็จประเภท “มาจากไหน” ของ The Reader บนเวทีออสการ์ นั่นคือ อิทธิพลของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ นักล็อบบี้และโปรโมเตอร์มือหนึ่งที่เคยทำให้ Chocolat เข้าชิงออสการ์ และผลักดัน Shakespeare in Love จนพลิกชนะ Saving Private Ryan แบบช็อคโลกมาแล้ว หลังจากถูกดิสนีย์เขี่ยทิ้ง ไวน์สไตน์ค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ กับแคมเปญออสการ์ในช่วงสองสามปีหลัง จนหลายคนมองเห็นเขาเป็น “อดีตคนดัง” (Transamerica และ Mrs. Henderson Presents หลุดเข้าชิงในสาขานักแสดงนำ แต่พลาดเป้าหมายใหญ่ ขณะที่ Miss Potter, Breaking and Entering, Bobby และ Factory Girl กลับไม่สามารถสร้างกระแสใดๆ ได้เลย) การกลับมาอันยิ่งใหญ่ของ The Reader จึงถือเป็นการล้างแค้นที่หอมหวานของไวน์สไตน์ หลังต่อสู้แบบหัวชนฝาให้หนังเสร็จทันปลายปี จน สก็อตต์ รูดิน ประกาศขอถอนตัวจากทีมโปรดิวเซอร์ (น่าตลกตรงที่หนังสองเรื่องซึ่งรูดินอำนวยการสร้างและพยายามเข็นสุดกำลังอย่าง Doubt และ Revolutionary Road ดันแป้กลงกลางทาง)
เมื่อไวน์สไตน์กลับมา “อินเทรนด์” อดีตคนโปรดออสการ์อย่าง คลินท์ อีสต์วู้ด ก็กลายเป็น “เอาท์” ในชั่วข้ามคืน การหลุดเข้าชิงสามสาขาของ Changeling (นำหญิง กำกับภาพ กำกับศิลป์) ถือเป็นเซอร์ไพรซ์สำหรับหลายคนเนื่องจากหนังได้คำวิจารณ์ไม่สู้ดีนักในอเมริกา แต่ที่เซอร์ไพรซ์กว่า คือ อาการวืดแบบเต็มๆ ของ Gran Torino ทั้งที่เพิ่งจะทำเงินเปิดตัวในอเมริกาอย่างน่าประทับใจ จนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของอีสต์วู้ด (ลบสถิติของ In the Line of Fire และ Unforgiven) การพลาดเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายถือว่าชวนพิศวงพอดูหลังจากเสียงยกย่องหนาหู (อีสต์วู้ดเคยเข้าชิงสาขานี้จาก Unforgiven และ Million Dollar Baby) บางคนตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการส่งหนังเข้าฉายช้าเกินไป โดยกลยุทธ์ที่ว่าอาจได้ผลดีกับ Million Dollar Baby แต่ถือเป็นความผิดพลาดสำหรับหนังที่ก้ำกึ่งในแง่คำวิจารณ์และมีสถานะ “ตลาด” เหนือ “อาร์ต” อย่าง Gran Torino
หรือบางทีเหตุผลง่ายๆ อาจเป็นเพราะกระทั่งอีสต์วู้ดเองก็ไม่อาจต้านทานกระแส “แบรงเจลิน่า” ได้
คนเก่าคนแก่อีกรายที่ตกสำรวจอย่างน่าประหลาด ได้แก่ วู้ดดี้ อัลเลน ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม แม้ว่าหนังเรื่องล่าสุดของเขา Vicky Cristina Barcelona จะกวาดคำชมมาไม่น้อย (อัลเลนเคยเข้าชิงสาขานี้มาแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง คว้าชัยมาครองสองครั้งจาก Annie Hall และ Hannah and Her Sisters) แต่ไม่ค่อยมีใครอยากประท้วงมากนักเนื่องจากหนังที่มาแทนที่อย่าง Frozen River และ In Bruges ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร
ความคิดเป็นอิสระของกรรมการออสการ์นอกจากจะปรากฏชัดในกรณี The Reader แล้ว ยังสะท้อนออกมาจากการเลือก เคท วินสเล็ท ให้เข้าชิงในสาขา “นักแสดงนำหญิง” แทนนักแสดงสมทบหญิง ซึ่งเหล่าทีมงานพยายามโปรโมตด้วยความโลภ (เคทมีบทนำแน่นอนอยู่แล้วจาก Revolutionary Road แต่กฎของออสการ์ประกาศห้ามเสนอชื่อนักแสดงซ้ำกันในสาขาเดียวกัน) และประสบความสำเร็จทั้งบนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG ซึ่งเคทคว้าชัยมาครองในฐานะนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (กรณีคล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ เคชา เคสเทิล-ฮิวจ์ ซึ่งเข้าชิงสมทบหญิงจาก Whale Rider บนเวที SAG ก่อนออสการ์จะแก้ไขความผิดพลาดด้วยการส่งเธอเข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงแทน) อย่างไรก็ตาม กระแสขาขึ้นของ The Reader ส่งผลให้ Revolutionary Road ถูกมองข้ามเกือบหมด จนทำให้บางคนเริ่มตั้งข้อกังขาว่า แซม เมนเดส ยังมีเครดิตพอจะดำรงสถานะขวัญใจออสการ์หลงเหลืออยู่จริงหรือ เนื่องจากแทบทุกครั้งหนังของเขามักถูกเลือกให้เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ ก่อนสุดท้ายจะมาแผ่วปลายอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Road to Perdition และ Jarhead
สังเกตจากการเข้าชิงเพียงสาขาเดียว (บทดั้งเดิม) เห็นได้ชัดว่าออสการ์ชื่นชอบ ไมค์ ลีห์ ในมาดเคร่งขรึมอย่าง Vera Drake (เข้าชิงผู้กำกับ นำหญิง และบทดั้งเดิม) มากกว่าในมาดรื่นเริงอย่าง Happy-Go-Lucky แม้ว่าเรื่องหลังจะกวาดรางวัลจากนักวิจารณ์มาครองมากกว่า อาการตกม้าตายของ แซลลี่ ฮอว์กินส์ ทำให้เธอเป็นนักแสดงคนแรกนับจาก บิล เมอร์เรย์ ใน Rushmore ที่คว้ารางวัลของนักวิจารณ์นิวยอร์กและแอลเอ.มาครอง แต่กลับไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ที่สำคัญ มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อทั้งสองคนรับบทในแนวตลก เปื้อนอารมณ์ขัน
ชัยชนะบนเวที DGA, PGA, SAG และลูกโลกทองคำ ส่งผลให้ Slumdog Millionaire กลายสภาพเป็นเต็งหนึ่งทั้งในสาขาหนังและผู้กำกับ ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง The Curious Case of Benjamin Button แบบไม่เห็นฝุ่น ทว่าในสาขานักแสดงนำชาย ฌอน เพนน์ ซึ่งเพิ่งจะคว้า SAG มาครองดูเหมือนจะนำห่าง มิคกี้ รู้ค เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำไม่มากนัก ส่วนคู่ที่เบียดกันสูสียิ่งกว่า คือ เมอรีล สตรีพ กับ เคท วินสเล็ท ซึ่งต่างก็คว้าชัยบนเวที SAG มาครอง (เคทเข้าชิงนำหญิงจาก Revolutionary Road แต่ได้สมทบหญิงจาก The Reader) การที่คนหลังได้เข้าชิงนำหญิงเพียงสาขาเดียว (จาก The Reader) และยังไม่เคยได้ออสการ์มาครองหลังเข้าชิงมา 5 ครั้งก่อนหน้านี้ทำให้เธอมีภาษีเหนือเจ้าป้าแห่งวงการฮอลลีวู้ดอยู่เล็กน้อย แม้คนแรกจะไม่เคยได้รางวัลมานานมากแล้วเช่นกันนับแต่ออสการ์ตัวที่สองเมื่อ 26 ปีก่อนจาก Sophie’s Choice โดยระหว่างช่วงเวลานั้น สตรีพได้เข้าชิงอีก 10 ครั้ง (นำ 9 ครั้ง สมทบ 1 ครั้ง) แต่ก็พลาดรางวัลแบบครบถ้วน
ของตายเพียงอย่างเดียวคงจะได้แก่ ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) ในสาขานักแสดงสมทบชาย ซึ่งกวาดรางวัลสำคัญมาครองแบบครบถ้วนทั้งลูกโลกทองคำและ SAG นอกจากนี้ยังอาจจะหมายรวมถึง เพเนโลปี้ ครูซ จาก Vicky Cristina Barcelona ด้วย (ในเมื่อคู่แข่งสำคัญอย่าง เคท วินสเล็ท ถูกอัพเกรดไปเข้าชิงในสาขานักแสดงนำแล้ว) แต่คนหลังอาจต้องพึงระวังราชินีพลิกล็อกอย่าง มาริสา โทเม (The Wrestler) และจอมขโมยซีนอย่าง ไวโอลา เดวิส (Doubt) ให้มาก เนื่องจากสาขานี้ขึ้นชื่อมานานแล้วว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้”
สถิติแสนสนุก
• หนังที่ได้เข้าชิงออสการ์มากที่สุดอย่าง The Curious Case of Benjamin Button (13 สาขา) ทำสถิติเทียบเท่า Gone with the Wind, From Here to Eternity, Forrest Gump, Shakespeare in Love และ Chicago ซึ่งทั้งหมดล้วนคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองในตอนท้าย ส่วนหนังที่เข้าชิงมากถึง 13 สาขา แต่พลาดรางวัลสูงสุดได้แก่ Mary Poppins, Who’s Afraid of Virginia Woolf? และ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring อย่างไรก็ตาม สถิติการเข้าชิงมากที่สุดยังคงเป็นของ All About Eve และ Titanic นั่นคือ 14 สาขา
• นี่ถือเป็นครั้งที่ห้าเท่านั้นที่รายชื่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสอดคล้องกับผู้กำกับยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยล่าสุด คือ เมื่อปี 2005 ซึ่งประกอบด้วยหนังอย่าง Brokeback Mountain, Crash, Good Night and Good Luck, Capote และ Munich
• The Curious Case of Benjamin Button ทำให้ แคธลีน เคนเนดี้ ถือครองสถิติผู้อำนวยการสร้างที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสูงสุด 6 ครั้ง ส่วนอีกสองคน คือ สแตนลีย์ เครเมอร์ และ สตีเวน สปีลเบิร์ก คนแรกไม่เคยได้รางวัลมาครอง (เช่นเดียวกับเคนเนดี้) ส่วนคนหลังเคยได้รางวัลจาก Schindler’s List
• แม้ The Dark Knight จะเข้าชิงมากถึง 8 สาขา แต่ตัวหนังกลับพลาดเข้าชิงรางวัลสูงสุด สองปีก่อนเหตการณ์แบบเดียวกันเคยเกิดขึ้นกับ Dreamgirls ซึ่งสุดท้ายคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงมาครอง (เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน) ส่วนสถิติการเข้าชิงสูงสุดโดยปราศจากสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ They Shoot Horses, Don’t They ซึ่งเข้าชิงมากถึง 9 สาขา และคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายมาครอง (กิ๊ก ยัง) หากพิจารณาจากสถิติ ดูเหมือนโอกาสของ ฮีธ เลดเจอร์ จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
• Wall-E ถือครองสถิติร่วมกับ Beauty and the Beast ในฐานะหนังการ์ตูนที่เข้าชิงออสการ์สูงสุด (6 สาขา) ส่วน Waltz with Bashir ก็กลายเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ
• แฟรงค์ แลนเกลลา กลายเป็นนักแสดงคนที่สองที่เข้าชิงออสการ์โดยรับบทเป็นอดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ก่อนหน้านี้ แอนโธนีย์ ฮ็อปกิ้นส์ เคยเข้าชิงสาขาเดียวกันจาก Nixon และพ่ายให้กับ นิโคลัส เคจ จาก Leaving Las Vegas
• The Dark Knight กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เข้าชิงออสการ์มากสุด ลบสถิติเดิมของ The Incredibles ซึ่งเข้าชิงทั้งหมดสี่สาขาจากจากภาพยนตร์การ์ตูน บันทึกเสียง ตัดต่อเสียง และบทภาพยนตร์ดั้งเดิม
• สตีเฟน ดัลดรี้ เป็นผู้กำกับคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมสามครั้งจากการกำกับหนังสามเรื่องแรก นั่นคือ Billy Elliot, The Hours และ The Reader
• สามนักแสดงเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ (เคท วินสเล็ท จาก Revolutionary Road แซลลี่ ฮอว์กินส์ จาก Happy-Go-Lucky และ คอลิน ฟาร์เรลล์ จาก In Bruges) ล้วนพลาดการเข้าชิงออสการ์ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 54 ปี เมื่อเจ้าของลูกโลกทองคำประจำปีนั้นอย่าง สเปนเซอร์ เทรซี่ (The Actress) เดวิด นีเวน (The Moon is Blue) และ เอเธล เมอร์แมน (Call Me Madam) ล้วนพลาดการเข้าชิงออสการ์กันแบบถ้วนหน้า
คำสารภาพของผู้เข้าชิง
• “อันที่จริงการเข้าชิงออสการ์ไม่ใช่ความฝันของผม แต่เป็นความฝันของภรรยาผมต่างหาก” (เอ.อาร์. ราห์แมน สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมจาก Slumdog Millionaire)
• “การได้ร่วมงานกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ถือเป็นรางวัลในตัวเองแล้ว ส่วนการเข้าชิงออสการ์เป็นเหมือนอภิสิทธิ์เหนือความคาดหมายใดๆ... นอกจากนี้ ฉันยังดีใจที่คณะกรรมการไม่ลืมจะเสนอชื่อ Kung Fu Panda เข้าชิงรางวัล ฉันภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในหนังเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวฉันหลงรักกันเหลือเกิน” (แองเจลินา โจลี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จาก Changeling)
• “มันเหลือเชื่อจริงๆ ผมเพิ่งได้รับโทรศัพท์จาก ฮาเวียร์ บาเด็ม (ร่วมงานกันใน No Country for Old Men) ที่สเปน เขาร้องตะโกนด้วยความดีใจยกใหญ่ ความจริง ผมตื่นนอนมาตอนอีกห้านาทีหกโมงเช้าในยูทาห์ พอเหลือบมองนาฬิกา ผมคิดว่าคงมีการประกาศรายชื่อกันไปแล้วและไม่ปรากฏชื่อผม ตอนนั้นผมคิดในใจว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องคิดมาก แต่แล้วก็เพิ่งตระหนักว่ามันมีช่วงต่างของเวลาอยู่หนึ่งชั่วโมง” (จอร์จ โบรลิน สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Milk)
• “ผมตื่นตะลึงกับผลงานของเหล่าเพื่อนนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงและรู้สึกต่ำต้อยอย่างยิ่งเมื่อต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกับพวกเขา หลังจากทำงานเป็นนักแสดงมาหลายปี มันน่าประทับใจเหลือเกินที่เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะอาชีพของผมดำเนินมาถึงจุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเกิดขึ้นกับหนังที่มีความหมายต่อผมอย่างสูง” (ริชาร์ด เจนกินส์ เข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Visitor)
• “ทุกวันที่เราถ่ายฉากการปะทะกันของ แฟรงค์ แลนเกลลา กับ ไมเคิล ชีน ทีมงาานที่โดยปกติมักแยกย้ายกันกลับบ้านหลังเสร็จภารกิจจะมานั่งกินขนมปังและสูบบุหรี่อยู่หลังจอมอนิเตอร์ พวกเขาไม่อยากพลาดอะไรเด็ดๆ เพราะทุกเทคล้วนน่าสนใจไปหมด ทุกเทคล้วนเต็มไปด้วยพลัง สำหรับผู้กำกับที่หลงใหลการร่วมงานกับนักแสดง มันเปรียบดังฝันที่เป็นจริง” (รอน โฮเวิร์ด สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Frost/Nixon)
• “ฉันดีใจอย่างสุดซึ้งที่ได้เข้าชิงและรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้แสดงเป็น ฮันนา ชมิทซ์ ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในอาชีพนักแสดง ฉันตื่นเต้นแทนผู้กำกับแสนวิเศษ สตีเฟน ดัลดรี้ และ เดวิด แฮร์ การได้เข้าชิงเปรียบดังผลตอบแทนความทุ่มเทของพวกเขาต่อหนังเรื่องนี้” (เคท วินสเล็ท สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก The Reader)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น