ก่อนจะถึงวันงานประกาศรางวัลออสการ์ปีนี้
หลายคนคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเรตติ้งคงจะดิ่งลงเหวจากปีก่อนอย่างแน่นอน
เมื่อพิจารณาจากรายชื่อหนัง 8 เรื่องที่ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาสูงสุด เนื่องจากมีแค่ American
Sniper เรื่องเดียวเท่านั้นที่เข้าข่ายหนังฮิตอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับปีก่อนซึ่งมีหนังทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญในอเมริกาเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากถึง 4 เรื่อง ได้แก่ Gravity, American Hustle, The Wolf of Wall
Street และ Captain Phillips ส่วนปีนี้รายชื่อหนังออสการ์ดูเหมือนหลุดมาจากเวที Independent
Spirit Awards ซะมากกว่า
(โดยสี่เรื่องที่ได้เข้าชิงซ้ำกันของสองเวทีนี้ได้แก่ Birdman,
Boyhood, Selma และ Whiplash) จนกระทั่งพิธีกร
นีล แพ็ทริค แฮร์ริส แซวว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่งานแจกรางวัลออสการ์
หรือในความคิดผม งานแจกรางวัล Dependent Spirit Awards”
และผลลัพธ์ก็ไม่เกินการคาดเดาสักเท่าไหร่ เมื่อปรากฏว่างานแจกรางวัลออสการ์ปีนี้ทำยอดเรตติ้งต่ำสุดในรอบ
6 ปี โดยมีจำนวนผู้ชมการถ่ายทอดสดแค่ 36.6 ล้านคน หล่นจากเมื่อปีก่อน 18% (ยอดผู้ชม 43.7 ล้านคนของปีก่อนถือเป็นยอดผู้ชมสูงสุดในรอบ 10 ปี) ซ้ำร้ายกลุ่มคนที่อุตส่าห์เปิดมาชมการถ่ายทอดสดกลับถูกลงโทษด้วยการต้องทนนั่งชมงานแจกรางวัลออสการ์ที่น่าเบื่อที่สุดในรอบ 4 ปีอีกต่างหาก จริงอยู่ว่าบทบาทพิธีกรของแฮร์ริสในครั้งนี้อาจไม่ใช่หายนะขั้นสุดเหมือนกับปี
2011 ซึ่งมี แอนน์ แฮทธาเวย์ กับ เจมส์ ฟรังโก้ เป็นพิธีกรร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่าเครดิตสุดหรูของเขาจากการเป็นพิธีกรในงานแจกรางวัลโทนี่และเอ็มมี่เป็นเวลาหลายปีกลับไม่อาจช่วยให้เขาสามารถดำเนินรายการได้อย่างสนุกสนาน
ราบรื่น หรืออย่างน้อยก็กระชับฉับไว
นอกจากนี้
กรรมการออสการ์ก็ไม่คิดจะช่วยเหลือแฮร์ริสแต่อย่างใดด้วยการเดินหน้ามอบรางวัลให้กับเหล่าตัวเก็งทั้งหลายอย่างถ้วนหน้าจนทำให้ตลอดทั้งงานแทบจะปราศจากการพลิกโผอย่างสิ้นเชิง
โดยอาจยกเว้นเพียงเซอร์ไพรซ์เล็กๆ อย่างชัยชนะของ Big Hero 6 เหนือ How to Train Your
Dragon 2 ซึ่งไม่นานก่อนหน้านี้เพิ่งจะกวาดรางวัล Annie มาครองถึง 6 รางวัลจนเปลี่ยนสถานะกลายเป็นเต็งหนึ่งไปโดยปริยาย
แต่นั่นก็ไม่ถือเป็นปรากฏการณ์ล็อกถล่มมากเท่ากับการที่ The Lego
Movie พลาดการเข้าชิงสาขานี้ (มันคว้าชัยชนะบนเวที
BAFTA) หรือถ้า The Tale of the Princess
Kaguya คว้ารางวัลมาครอง แต่นั่นคงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย
เมื่อพิจารณาว่ากรรมการกลุ่มนี้เคยมอบรางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมให้กับ Brave และ Frozen
รางวัลในสาขาการแสดงสอดคล้องกับเวที
SAG อย่างครบถ้วน
เช่นเดียวกับสองรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยมที่เป็นไปตามโผของ PGA
และ DGA ตามลำดับ หลายคนตั้งความหวังอย่างมืดบอดว่า
Boyhood จะสามารถฉกรางวัลหนึ่งรางวัลใดจาก Birdman มาได้ (ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยกสาขาหนังและผู้กำกับเป็นปีที่สามติดต่อกัน)
ถึงแม้ว่าเรื่องหลังจะตอกตะปูปิดฝาโลงเรื่องแรกไปเรียบร้อยแล้วด้วยการคว้ารางวัล DGA,
SAG และ PGA มาครองแบบครบถ้วนในสไตล์เดียวกับ Slumdog
Millionaire ทั้งนี้เพราะพวกเขาเชื่อว่า Boyhood มีหมัดเด็ดตรงที่มัน “ได้อารมณ์” มากกว่า และหนังของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู
ก็ค่อนข้างก้ำกึ่งในแง่ที่มีทั้งคนชอบและคนเกลียด แต่ข้อบกพร่องทางตรรกะดังกล่าวอยู่ตรงที่พวกเขากำลังมองไปยังปฏิกิริยาจากกลุ่ม
“นักวิจารณ์”
ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีกว่าไม่ใช่คนโหวตให้คะแนนรางวัลออสการ์ ขณะที่เสียงจากคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระบุชัดว่าพวกเขาชื่นชอบ Birdman มากกว่า Boyhood แบบเป็นเอกฉันท์โดยสังเกตได้จากรางวัลของสมาพันธ์ต่างๆ
(อีกหนึ่งตัวแปรที่สร้างความไขว้เขวได้ไม่น้อย คือ รางวัล BAFTA
ของฝั่งอังกฤษซึ่งเดาทางออสการ์ได้ถูกต้องมาหลายปีติดกัน
เพราะปรากฏว่า Boyhood และ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์
สามารถคว้าชัยชนะบนเวทีนี้มาครองได้สำเร็จเช่นเดียวกับลูกโลกทองคำและ Critics
Choice Award)
สุดท้าย Boyhood จึงลงเอยด้วยสภาพน่าอนาถเช่นเดียวกับ
The Social Network และบางทีอาจจะย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำเนื่องจากสุดท้ายหนังสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้แค่สาขาเดียวเท่านั้น
นั่นคือ นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
มันเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่ากรรมการออสการ์ไม่ชอบถูกชี้นำว่าควรจะเลือกอะไร
และการถูกสถาปนาให้เป็นตัวเก็งก่อนใครอื่นหาใช่จะเป็นข้อได้เปรียบเสมอไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังที่นำเสนอเรื่องราวอย่าง “เจียมเนื้อเจียมตัว”
ไม่มีดรามารุนแรง ไม่มีไคล์แม็กซ์ ไม่มีฮีโร่ที่คนดูคุ้นเคยแบบ Boyhood
เพราะนั่นทำให้หนังเสี่ยงต่อการคาดหวังอันสูงลิ่ว
และนำไปสู่ความรู้สึกทำนองว่า “แค่เนี้ยเหรอ” หลังจากดูจบ อันที่จริง ถ้าตัดแง่มุมการถ่ายทำนาน 12 ปีออก Boyhood
ก็แทบไม่ต่างจากหนังอินดี้เรื่องอื่นๆ ของลิงค์เลเตอร์ นั่นคือ สวนทางกับ
“หนังออสการ์” อย่างแรง ฉะนั้น
การที่มันสามารถหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ ได้มากขนาดนี้
แทนที่จะเป็นแค่ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเหมือนกับ Before Sunset และ Before Midnight ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดแล้ว
ถ้า Boyhood เป็นสุดทางของ minimalism
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า Birdman ยืนอยู่สุดขอบตรงข้ามในความเป็น
maximalism ขณะที่ลิงค์เลเตอร์ถ่ายทอดเหตุการณ์โดยไม่เรียกร้องความสนใจ
นำเสนอให้เห็นความงามในสิ่งเรียบง่ายและธรรมดาสามัญ อินญาร์ริตูกลับเดินหน้าโชว์ออฟทุกอย่างแบบสุดพลัง
ตั้งแต่ตัวละครที่เปี่ยมสีสัน เอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร การถ่ายทำอันหวือหวาให้ดูเหมือนปราศจากการตัดภาพ
ไปจนถึงส่วนผสมย้อนแย้งระหว่างความจริงกับภาพจินตนาการที่เรียกร้องความสนใจจากคนดู
ฉะนั้นเมื่อต้องเลือกระหว่าง “เยอะ” กับ
“น้อย” ก็ไม่น่าแปลกที่ดินแดนผลิตฝันอย่างฮอลลีวู้ดจะเลือกอย่างแรก
ที่สำคัญ คุณคิดว่าเหล่าบุคคลซึ่งทำงานอยู่ในวงการบันเทิง ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสี อีโก้
ความสนใจจากคนรอบข้าง ชื่อเสียง และความมั่งคั่งจะ “อิน”
กับเนื้อหาประเภทใดมากกว่ากันระหว่างบทเฉลิมฉลองความธรรมดาสามัญของชีวิต
หรือบทฉลองความทะเยอทะยานของศิลปินที่ปรารถนาความยิ่งใหญ่และการยอมรับ...
ถ้านับรวมกับ The Artist และ Argo ชัยชนะของ
Birdman พิสูจน์ให้เห็นว่าฮอลลีวู้ดเป็นดินแดนแห่งความลุ่มหลงตัวเองอย่างแท้จริง
(ในทางกลับกัน หนังเกี่ยวกับวงการบันเทิงอย่าง The Player ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน ไม่มีวันเป็นที่ยอมรับบนเวทีออสการ์เพราะมันประณามฮอลลีวู้ดว่าเป็นดินแดนที่ฟอนเฟะทางศีลธรรมและความคิดสร้างสรรค์)
พูดถึงการจัดงานแจกรางวัลในปีนี้ต้องยอมรับว่าภาพรวมค่อนข้างขาดแคลนอารมณ์ขันอยู่พอสมควร
สาเหตุหลักน่าจะมาจากเหตุผลที่ว่า นีล แพ็ทริค แฮร์ริส ไม่ใช่ดาวตลก และหลายครั้งจังหวะการเล่นมุกของเขาออกมาแป้กมากกว่าหัวร่องอหาย
เช่น เมื่อเขาเปรียบเทียบ โอปรา วินฟรีย์ กับ American Sniper ซึ่งกำลังทำเงินถล่มทลายบนตาราง
บ็อกซ์ ออฟฟิศ (และลงเอยด้วยการต้องอธิบายมุกตัวเองว่า “เพราะคุณรวย”) หรือแก๊กฝืดอันยืดเยื้อยาวนานเมื่อเขาขอให้ ออกเทเวียร์
สเปนเซอร์ คอยเฝ้าตู้คำทำนายออสการ์ ซึ่งบางคนถึงขั้นจิกกัดว่ามันเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์เหมารวมและเจือไปด้วยอารมณ์เหยียดสีผิว
(สเปนเซอร์คว้าออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมมาครองจากบทสาวรับใช้ผิวดำในหนังเรื่อง
The Help) บางทีมุกประเภทที่เขาเตือนสเปนเซอร์ว่า “ห้ามแอบไปกินขนม” หรือล้อเลียนความแก่ของ โรเบิร์ต
ดูวัล อาจจะพอเอาตัวรอดไปได้ หากเขามีบุคลิกน่ารัก เป็นกันเองแบบ เอลเลน
ดีเจเนอเรส พิธีกรเมื่อปีก่อน แต่ท่าทางมั่นใจ ดูหยิ่งๆ เหมือนหลงตัวเองนิดๆ
ของเขา (ซึ่งคงติดมาจากการรับบทเสือผู้หญิงในซีรีย์ How
I Met Your Mother) ทำให้มุกเหล่านั้นดูเป็นการจิกกัดแบบเจ็บจริงมากกว่าจะดูน่าขัน
โดยปกติแล้ว
เมื่อพิธีกรไม่ใช่ดาวตลก ทีมงานเบื้องหลังก็มักจะคัดเลือกคนแจกรางวัลอย่าง เบน
สติลเลอร์, ทีนา เฟย์, วิล เฟอร์เรล หรือ
(ในยุคหนึ่ง) จิม แคร์รี มาชดเชยในแง่อารมณ์ขัน แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะปีนี้ออสการ์โดนกระแสโจมตีเรื่องโปรคนขาวหรืออย่างไร
(นี่เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1998 ที่นักแสดง 20 คนซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ล้วนเป็นคนผิวขาวทั้งหมด)
จนแฮร์ริสต้องกล่าวเปิดงานด้วยการแซวว่า “คืนนี้เราจะมอบรางวัลให้กับคนทำงานในฮอลลีวู้ดที่ยอดเยี่ยมและขาวเด่นที่สุด
เอ๊ย โทษที โดดเด่นที่สุด” ผู้จัดจึงคัดเลือกคนประกาศรางวัลเป็นเหล่านักแสดงผิวดำหลายคน
แต่คนที่ตลกที่สุดที่พวกเขาสามารถสรรหามาได้ คือ เควิน ฮาร์ท ซึ่งแน่นอนว่าคนดูนอกอเมริกาส่วนใหญ่ไม่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาสักเท่าไหร่
มุกตลกระหว่างเขากับ แอนนา เคนดริค อาจเรียกรอยยิ้มได้บ้าง
แต่ไม่น่าจดจำอะไรเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับบทเพลงเปิดตัวของแฮร์ริส
ซึ่งเขาใช้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาหลายงานแล้ว แต่ความตลก เฉียบคม
และลงตัวห่างไกลจากบทเพลงเปิดตัวของเขาในงานแจกรางวัลโทนีเมื่อปี 2011 อยู่หลายขุม
Memorable
Quotes
* “โทรหาแม่ของคุณ โทรหาพ่อของคุณ ถ้าคุณโชคดีที่พ่อกับแม่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
โทรหาพวกเขา อย่าอีเมล อย่าส่งข้อความทางมือถือ แต่ให้โทรหา แล้วบอกรักพวกเขา
ขอบคุณพวกเขา รับฟังพวกเขาตราบเท่าที่พวกเขายังอยากจะพูดคุยกับคุณ” เจ. เค. ซิมมอนส์
เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Whiplash
* “ผู้เข้าชิงแต่ละคนในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมล้วนได้พิสูจน์ฝีมือเป็นที่ประจักษ์และมอบการแสดงที่ทรงพลัง
พวกเธอทั้งสี่คนเป็นผู้หญิง
และอีกคนเป็นกฎข้อบังคับตามที่ระบุไว้ในกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย... เมอรีล
สตรีพ” จาเร็ด เลโต
กล่าวแนะนำผู้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (สตรีพทำลายสถิติตัวเองด้วยการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 19 จาก Into
the Woods)
* “เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ ไม่ใช่แค่ชื่อที่เจ๋งที่สุดในวงการบันเทิงเท่านั้น
แต่ยังเป็นเสียงที่คุณจะได้ยินเวลาขอให้ จอห์น ทราโวลต้า พูดชื่อ เบน แอฟเฟล็ค” นีล แพ็ทริค แฮร์ริส
* “ฉันเคยอ่านบทความหนึ่งที่บอกว่าการชนะรางวัลออสการ์จะช่วยให้อายุยืนขึ้น 5 ปี ถ้ามันจริงละก็ ฉันอยากจะขอบคุณคณะกรรมการเพราะสามีฉันอายุน้อยกว่าฉัน” จูลีแอนน์ มัวร์
เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Still Alice
* “แด่ผู้หญิงทุกคนที่เคยเป็นแม่คน เหล่าผู้เสียภาษี และประชาชนในประเทศ
เราได้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันให้กับทุกคนแล้ว
ถึงเวลาเสียทีสำหรับความเท่าเทียมกันทางด้านรายได้และสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงในประเทศอเมริกา” แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Boyhood
* “เราทำหนังขาวดำเกี่ยวกับความจำเป็นของการนิ่งเงียบและถอยห่าง
แต่ตอนนี้เรากลับมายืนอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของความตื่นเต้นและอึกทึกครึกโครม มันยอดเยี่ยมจริงๆ
ชีวิตช่างเต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ” พาเวล พาวลิโควสกี้ เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก Ida
* “หนังเรื่องนี้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน แต่กล่าวได้ว่า Selma พูดถึงอารมณ์ร่วมแห่งปัจจุบัน
เราอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการจองจำมากที่สุดในโลก
ทุกวันนี้มีคนผิวดำถูกจองจำมากกว่าในยุคค้าทาสเมื่อปี 1850 เสียอีก” จอห์น เลเจนด์ เจ้าของรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก
Selma
Simply
the Best
* หนึ่งในสุนทรพจน์ที่โดดเด่นสุดของงาน
คือ คำกล่าวขอบคุณระหว่างขึ้นรับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมของ เกรแฮม
มัวร์ จากหนังเรื่อง The Imitation Game “อลัน ทัวริง ไม่เคยได้มายืนบนเวทีและจ้องมองไปยังใบหน้าสวยๆ หล่อๆ
ทั้งหลายเหมือนผมในตอนนี้ นั่นถือเป็นความอยุติธรรมสูงสุดเท่าที่ผมเคยประสบพบเจอ ฉะนั้นผมอยากจะใช้เวลาช่วงสั้นๆ
นี้บอกเล่าอะไรบางอย่าง ตอนอายุ 16 ปี ผมเคยพยายามฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าตัวเองแปลกประหลาด
ผมรู้สึกแตกต่างและแปลกแยก แต่สุดท้ายผมกลับได้มายืนอยู่ที่นี่ ผมอยากให้เด็กๆ
ทุกคนที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาด แตกต่าง หรือไม่เข้าพวกได้ตระหนักว่า ใช่
พวกเธอเป็นแบบนั้นจริง จงยอมรับในความแปลก ยอมรับในความแตกต่างของตัวเอง
และวันหนึ่งเมื่อถึงคราวที่เธอได้มายืนอยู่บนเวทีบ้าง ขอให้เธอช่วยบอกกล่าวข้อความนี้ต่อๆ
ไป” หลายคนที่ได้ฟังพากันตีความไปว่ามัวร์กำลังพูดถึงรสนิยมรักร่วมเพศของตนเอง
(เมื่อพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมออกสาวของเขาก็ยิ่งช่วยให้สามารถฟันธงได้อย่างแน่ใจ)
แต่มัวร์กลับยืนยันกับสื่อมวลชนว่าเขาไม่ใช่เกย์!!?? นั่นกลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่งกว่าผลรางวัลใดๆ ตลอดทั้งงาน
* ถึงแม้
The
Lego Movie จะพลาดเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมอย่างผิดคาด
แต่โชว์เพลง Everything
Is Awesome ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน
บ้าคลั่ง และพลังงาน จนทำให้ตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 นาทีนั้น “ทุกอย่างช่างดีเลิศประเสริฐศรี”
ไปหมดจริงๆ โดยเฉพาะไฮไลท์ในตอนท้ายเมื่อแบทแมนปรากฏตัวเป็นนักร้องรับเชิญ
พร้อมๆ กับการที่เหล่าแดนเซอร์ในชุดคนงานก่อสร้างและนักบินอวกาศเดินลงจากเวทีไปแจกออสการ์เลโก้ให้เหล่าดาราดังด้านหน้าเวที
ปฏิกิริยาดีใจจนออกนอกหน้าของ โอปรา วินฟรีย์
น่าจะเรียกรอยยิ้มจากคนดูได้อย่างถ้วนทั่ว เช่นเดียวกับใบหน้าปลื้มปริ่มของ เอ็มมา
สโตน ขณะถือออสการ์เลโก้ในมือระหว่างการประกาศรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
* แก๊กเดียวที่เรียกเสียงหัวเราะอย่างได้ผลของ
นีล แพ็ทริค แฮร์ริส คือ การล้อเลียนฉากดังในหนังเรื่อง Birdman เมื่อเขาต้องเดินมารับหน้าที่พิธีกรด้านหน้าเวทีโดยสวมกางเกงในสีขาวแค่ตัวเดียว
(พร้อมกันนั้นก็แวะแซว Whiplash ระหว่างทางด้วยการสั่งให้
ไมลส์ เทลเลอร์ หยุดตีกลอง และพูดว่า “ไม่ใช่จังหวะของฉัน”) “นักแสดงเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ”
เขากล่าวปิดท้าย
* ถ้าโชว์เพลงของคุณสามารถทำให้เหล่าผู้ชมหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้งได้ละก็
(สองในนั้น คือ เดวิด โอเยลโลโอ และ คริส ไพน์) นั่นหมายความว่าคุณกำลังเดินมาถูกทางแล้ว ความอลังการของฉาก
ซึ่งจำลองเหตุการณ์สำคัญในหนังเรื่อง Selma มาไว้บนเวที
ผนวกเข้ากับพลังแห่งเนื้อเพลงอันเปี่ยมความหมายและกระทบจิตใจ ขับกล่อมโดยน้ำเสียงอันทรงพลังของ
จอห์น เลเจนด์ และ คอมมอน ส่งผลให้โชว์เพลง Glory กลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาอันน่าจดจำของงานออสการ์ปีนี้
* เลดี้ กาก้า อาจโด่งดังจากเพลงแดนซ์สนุกสนานและเสื้อผ้าหลุดโลกที่เธอชอบสวมใส่ไปร่วมงานแจกรางวัลต่างๆ
จนกระทั่งหลายคนหลงลืมไปว่าเธอเป็นนักร้องระดับแนวหน้าคนหนึ่ง
และพรสวรรค์ดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพเพื่อเฉลิมฉลองหนังเรื่อง The Sound of Music เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี เธอก้าวขึ้นมาร้องเพลงเมดเลย์ The Sound of Music, My Favorite Things,
Edelweiss และ Climb
Every Mountain ในคีย์เสียงสูงได้อย่างหมดจดงดงาม จนแม้แต่ต้นตำรับอย่าง จูลี
แอนดรูว์ส ยังต้องเอ่ยปากชม
WTF
Moments
* ประเด็นว่าใครบ้างที่ถูกหลงลืมไปจากคลิป In Memoriam ดูเหมือนจะสร้างกระแสฮือฮาได้แทบทุกปี
แม้ว่าทางผู้จัดจะออกมากล่าวอ้างอยู่เสมอว่าพวกเขาไม่สามารถใส่ “ทุกคน” เอาไว้ในคลิปได้ทั้งหมดก็ตาม
และปีนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน เมื่อชื่อของ โจน ริเวอร์ส
เกิดหล่นหายไประหว่างทางจนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
หลายคนเชื่อว่าทางผู้จัดตัดสินใจถอดชื่อของริเวอร์สออกเพียงเพราะเห็นว่าเธอโด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะพิธีกรและดาวตลกมากกว่านักแสดงหรือนักทำหนัง
แม้ว่าธรรมเนียมการสัมภาษณ์ดาราบนพรมแดงในงานออสการ์ของเธอจะขึ้นชื่อจนเรียกได้ว่าพลิกโฉมวงการกันเลยทีเดียว
แต่เหตุผลดังกล่าวกลายเป็นเรื่องสองมาตรฐานตรงที่ในปี 2004 ออสการ์กลับเคยรำลึกถึงการจากไปของ จอห์นนี คาร์สัน ซึ่ง “ไม่เคยสร้างหรือแสดงหนังเลยแม้แต่เรื่องเดียว”
(ตรงข้ามกับริเวอร์ส) ถึงขนาดแบ่งช่วงเวลาพิเศษในงานให้ (ขณะที่นักแสดงระดับตำนานอย่าง
มาร์ลอน แบรนโด ยังแค่ถูกรวมเอาไว้ในคลิป In Memorial เฉกเช่นคนอื่นๆ) ทั้งที่เขาเองก็สามารถถูกจัดไว้ในหมวดเดียวกับริเวอร์สได้เช่นกัน
แต่อาจมีภาษีดีกว่าหน่อยตรงที่เขาเคยเป็นพิธีกรงานออสการ์มาห้าครั้ง...
บางทีก็น่าคิดว่าถ้าริเวอร์สเป็นผู้ชาย เธอจะถูกมองข้ามเยี่ยงนี้หรือไม่
* “ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั้งหลาย
ได้โปรดปรบมือต้อนรับเพื่อนสุดที่รักของฉัน กลอม กาซินโก” ไอดีนา เมนเซล กล่าวเปิดตัว จอห์น ทราโวลต้า เพื่อเป็นการ “เอาคืน” ที่เขาพูดชื่อเธอผิดเป็น
อเดล ดาซีม ในงานออสการ์คราวก่อน “ผมสมควรโดนแล้ว แต่เธอนี่สิ แม่สาวน้อยที่น่ารัก แสนสวย
เปี่ยมพรสวรรค์อย่างร้ายกาจของฉัน ไอดีนา เมนเซล... ถูกแล้วใช่มั้ย” ทราโวลต้าตอบกลับด้วยคำหวานเพื่อเป็นการไถ่บาปครั้งก่อน
แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เขาไม่ได้พูดเปล่า แต่ดันใช้มือลูบไล้ใบหน้าของเมนเซล พลางยื่นหน้าเข้าไปใกล้ชนิดหายใจรดต้นคออีกด้วย
เขาคงต้องการแสดงท่าทีรักใคร่ ชื่นชม แต่ดูไปดูมากลับเอนเอียงไปทางน่ากลัว
และชวนให้ขนลุกมากกว่าจะน่ารัก
(ในระหว่างนั้นเมนเซลก็พยายามปั้นหน้ายิ้มแย้มอย่างกล้าหาญ) เหมือนเขาพยายามจะกลับมาสวมบทบาทเป็นเอ็ดนาในหนังเรื่อง
Hairspray ยังไงยังงั้น ที่สำคัญ วีรกรรมแปลกประหลาดของทราโวลต้ายังไม่จบลงแค่นั้น
เพราะตอนเหล่าดารากำลังเดินพรมแดง จู่ๆ เขาก็โผล่ไปหอมแก้ม สการ์เล็ต โจแฮนสัน
แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอีกด้วย เล่นเอาดาราสาวสุดเซ็กซี่จากหนังเรื่อง The Avengers ทำหน้าไม่ถูก (และแน่นอนว่าภาพดังกล่าวถูกเอาไปล้อเลียนทันทีในเช้าวันรุ่นขึ้น)
* เกิดอะไรขึ้นกับ
เทอร์เรนซ์ โฮเวิร์ด ระหว่างการแนะนำหนังสามเรื่อง (Whiplash, The
Imitation Game, Selma) ที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะมีหลายจังหวะที่เขานิ่งเงียบเป็นเวลานาน
เหมือนพยายามจะกล้ำกลืนความรู้สึกตื้นตันที่กำลังท่วมท้น หรือบางทีอาจเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคของจอป้อนบทพูดก็เป็นได้
ถ้าเขาพยายามจะพิสูจน์ทักษะทางการแสดงเพื่อเรียกร้องขอบทดีๆ นอกเหนือจากบทสมทบในหนังอย่าง
Iron Man ละก็ ต้องถือว่าเขาโอเวอร์แอ็คไปหลายช่วงตัว
แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคก็ต้องถือว่าเขาแก้สถานการณ์ได้อย่างย่ำแย่
เพราะการนิ่งเงียบเป็นเวลานานหลายช่วงสร้างความอึดอัดให้กับผู้ชม นอกจากนี้
มันยิ่งทำให้งานอืดอาดยืดเยื้ออย่างไม่จำเป็น
* เหตุผลที่
ฌอน เพนน์ ไม่ค่อยถูกเลือกให้เล่นบทตลกปรากฏชัดตอนที่เขาออกมาประกาศรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
มุกตลกผิดที่ผิดทาง ผิดจังหวะ และผิดกาลเทศะของเขา (“ใครให้กรีนการ์ดไอ้ระยำต่างด้าวคนนี้วะ”)
นอกจากจะไม่ขำแล้ว
ยังถูกกล่าวหาว่าเจือความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย แม้ว่าอินญาร์ริตูจะ “เก็ท” มุกส่วนตัวดังกล่าวก็ตาม (พวกเขาสนิทสนมจากการร่วมงานกันในหนังเรื่อง 21 Grams)
Fun
Facts
* Birdman กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกนับจาก Ordinary People เมื่อปี 1980 ที่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดมาครองโดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม
และเป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 6 ปีที่พลาดรางวัลสูงสุดบนเวที BAFTA แต่สามารถคว้าชัยชนะบนเวทีออสการ์มาครอง โดยเรื่องหลังสุดที่ทำสำเร็จ คือ No
Country for Old Men ซึ่งปราชัยให้กับ Atonement บนเวที BAFTA
* หลังจากได้ออสการ์ตัวแรกมาครองจาก Gravity เมื่อปีก่อน เอ็มมานูเอล
ลูเบซสกี้ ก็ทำสถิติเป็นผู้กำกับภาพคนที่สี่ที่คว้าออสการ์สองปีซ้อน
โดยคนล่าสุดที่ทำสำเร็จ คือ จอห์น โทล ซึ่งได้ออสการ์กำกับภาพจาก Legends
of the Fall (1994) และ Braveheart (1995)
* นี่ถือเป็นปีที่สองติดต่อกันที่รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตกเป็นของผู้กำกับเชื้อสายเม็กซิกัน
และปีที่ห้าติดต่อกันที่รางวัลนี้ตกเป็นของผู้กำกับชาวต่างชาติ (หลังจาก ทอม ฮูเปอร์, มิเชล ฮาซานาวิเชียส, อังลี, อัลฟองโซ คัวรอน) โดยผู้กำกับชาวอเมริกันคนสุดท้ายที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง
คือ แคธรีน บิกเกโลว์ จาก The Hurt Locker (2009)
* ชัยชนะของ Ida ทำให้โปแลนด์เสียสถิติที่ถือครองร่วมกับอิสราเอลในฐานะประเทศที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมากครั้งที่สุด
(10 ครั้ง) แต่ไม่เคยได้รางวัล
* เอ็ดดี้ เรดเมย์น ในวัย 33 ปี เป็นนักแสดงนำชายที่อายุน้อยที่สุดอันดับ
8 เขาแก่กว่า เดเนียล เดย์ ลูว์อิส (ซึ่งอยู่อันดับ 7) เพียงไม่กี่เดือนตอนที่เขาคว้าออสการ์มาครองจากหนังเรื่อง
My Left Foot เมื่อปี 1989 ส่วน จูลีแอนน์ มัวร์
ในวัย 54 ปีก็เป็นนักแสดงนำหญิงที่อายุมากที่สุดอันดับ 10 โดยส่วนใหญ่แล้วนักแสดงหญิงที่คว้ารางวัลนี้มาครองจะมีอายุ
29 ปี (8 คน) รองลงมา คือ 33 ปี (6
คน) นักแสดงหญิงอีกคนเดียวที่ได้รางวัลนำหญิงขณะอยู่ในวัย
50 กว่าๆ คือ เชอร์ลีย์ บูธ จากหนังเรื่อง Come Back Little Sheba (1952) โดยตอนนั้นเธออายุ 54 ปีเช่นเดียวกับมัวร์ แต่แก่เดือนกว่า
* Birdman เป็นหนังตลกเรื่องแรกนับจาก
Annie Hall ที่ชนะรางวัลออสการ์โดยปราศจากลูกโลกทองคำในสาขาหนังเพลง/หนังตลก ซึ่งตกเป็นของ The Grand Budapest Hotel (ส่วนในปี
1977 มาสเตอร์พีซของ วู้ดดี้ อัลเลน พลาดท่าให้กับ The Goodbye Girl
บนเวทีลูกโลกทองคำ) อีกครั้งเดียวที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
คือ เมื่อ The Sting ได้รางวัลออสการ์ แต่มันไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงลูกโลกทองคำด้วยซ้ำ
* มีเลนา คาโนเนโร คว้าออสการ์ตัวที่ 4
มาครองในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายจาก The Grand Budapest Hotel การทิ้งช่วงเวลา 39
ปีนับแต่เธอได้เข้าชิงครั้งแรก (จาก Barry Lyndon และคว้ารางวัลมาครอง) จนถึงการเข้าชิงครั้งล่าสุดถือเป็นสถิติสูงสุดในสาขานี้
โดยเจ้าของสถิติเดิม คือ อีดิธ เฮด ที่เข้าชิงครั้งแรกในปี 1948 จาก Emperor
Waltz และเข้าชิงครั้งสุดท้ายในปี 1977 จาก Airport 77 นอกจากนี้ออสการ์ตัวที่สี่ยังทำให้คาโนเนโรแซงหน้าสองนักออกแบบเครื่องแต่งกายชั้นนำอย่าง
แซนดี้ พาวเวลล์ (ชนะ 3 เข้าชิง 10) และ คอลลีน แอตวูด (ชนะ 3 เข้าชิง 11)
ขึ้นไปครองอันดับสามตลอดกาล โดยเป็นรองแค่ อีดิธ เฮด (ชนะ 8 เข้าชิง 35) และ ไอรีน ชาราฟ (ชนะ 5 เข้าชิง 15)
* นี่ถือเป็นปีแรกนับแต่ออสการ์มีการขยายสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้มากกว่า
5 เรื่องที่ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาสูงสุด (ทั้งหมด 8 เรื่องในปีนี้) ไม่ต้องกลับบ้านมือเปล่า
รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์
Picture:
Birdman
Director:
Alejandro González Iñárritu (Birdman)
Actor:
Eddie Redmayne (The Theory of Everything)
Actress:
Julianne Moore (Still Alice)
Supporting
Actor: J.K. Simmons (Whiplash)
Supporting
Actress: Patricia Arquette (Boyhood)
Original
Screenplay: Birdman
Adapted
Screenplay: The Imitation Game
Documentary
Feature: Citizenfour
Foreign
Language Film: Ida (Poland)
Animated
Feature Film: Big Hero 6
Production
Design: The Grand Budapest Hotel
Cinematography:
Birdman
Film
Editing: Whiplash
Original
Score: The Grand Budapest Hotel
Original
Song: Glory (Selma)
Costume
Design: The Grand Budapest Hotel
Makeup
and Hairstyling: The Grand Budapest Hotel
Sound
Mixing: Whiplash
Sound
Editing: American Sniper
Visual
Effects: Interstellar
Animated
Short Film: Feast
Live
Action Short Film: The Phone Call
Documentary
Short Subject: Crisis Hotline: Veterans Press 1