ท่ามกลางกระแสความนิยมของหนังชุด Twilight และ 50 Shades of Grey ซึ่งพลิกตลบแนวคิดเกี่ยวกับเฟมินิสต์ให้ย้อนไปสู่ยุคกลางด้วยการเทิดทูนบูชาเพศชายในฐานะผู้ปกป้องคุ้มภัยและมีอำนาจเหนือหัว ความคิดที่จะนำเอาเทพนิยายอย่าง Cinderella มาดัดแปลงสร้างใหม่จึงถือเป็นเรื่องเข้ายุคเข้าสมัยอยู่พอสมควร เมื่อพิจารณาว่าตัวละครเอกในเทพนิยายเรื่องนี้คือที่มาของคำศัพท์ทางจิตวิทยาสำหรับอธิบายภาวะปรารถนาที่จะพึ่งพิงผู้อื่น ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และหวาดกลัวที่ยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง (Cinderella Complex)
และเพื่อให้อินเทรนด์สมบูรณ์แบบผู้กำกับ
เคนเน็ธ บรานาห์ และคนเขียนบท คริส ไวท์ซ เลือกจะยึดตามเรื่องราวตามการ์ตูนฉบับ
วอลท์ ดิสนีย์ เป็นหลัก แทนการดัดแปลงใหม่ให้ได้กลิ่นอายเฟมินิสต์แบบแข็งทื่อ (ตัวละครเอกเพศหญิงมีความเป็นผู้นำและเข้มแข็งแบบนักรบ)
อย่าง Mirror, Mirror และ Snow White
and the Huntsman หรือล่าสุด Maleficent เพราะแนวคิดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสารตกค้างจากทศวรรษ
1990s ไปแล้ว ยุคสมัยที่ เธลมา กับ หลุยส์
ทนความเลวกว่าหมาของผู้ชายไม่ไหวจนต้องลุกขึ้นมาอาละวาดให้สาแก่ใจ (อันที่จริง Maleficent ยังยึดตามแนวคิดดังกล่าวอยู่พอสมควร)
ความโกรธขึ้ง อัดอั้นตันใจจากเก่าก่อนถูกแปรเปลี่ยนเป็นแฟนตาซีย้อนยุค
เมื่อเหล่าผู้หญิงสมัยใหม่ “เลือก” จะเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายที่เข้มแข็ง
(ไม่ว่าในแง่กายภาพ หรือสถานะทางการเงิน) แต่ขณะเดียวกันก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ (หรือบุคลิกน่าขนลุก ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน)
การกระทำดังกล่าวอาจพูดได้ว่าเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของ
Cinderella
เวอร์ชั่นนี้ กล่าวคือ มันแทบจะสิ้นไร้ความคิดสร้างสรรค์
หรือความกล้าหาญ (ย้อนแย้งกับคำพูดที่แม่บอกกล่าวซินเดอเรลลาก่อนตาย
ซึ่งถูกเน้นย้ำในหนังอยู่หลายครั้ง) แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักดีว่าตัวเองต้องการอะไร
และไม่พยายามอวดอ้าง หรือสวมบทบาทเป็นอย่างอื่นที่มากมายกว่านั้น ที่สำคัญ
การพยายาม “ดัดแปลง” หรือสร้างเรื่องขึ้นใหม่ย่อมเสี่ยงต่อการทำลายเสน่ห์ดั้งเดิมของตัวละคร
(ไม่เชื่อก็ลองดู Maleficent เป็นตัวอย่าง)
และเรื่องราวคลาสสิก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสามารถดึงดูดอารมณ์ร่วมของผู้คนจำนวนมากได้
มิเช่นนั้นแล้วมันคงไม่เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม
การบอกว่า Cinderella
เวอร์ชั่นนี้ปราศจากความแปลกใหม่ใดๆ เลยก็อาจไม่ค่อยยุติธรรมนัก เพราะถึงแม้อารมณ์แฟนตาซีพาฝันของหนังจะบรรลุจุดประสงค์ตามเป้าหมาย
ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณงานสร้างอันประณีตบรรจงและตอบโจทย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
แต่ขณะเดียวกันบทหนังก็มีความพยายามจะอุดช่องโหว่บางจุดในแง่เรื่องเล่าได้ดี เช่น
การให้เวลาเล็กน้อยสำหรับอธิบายความดีงามของซินเดอเรลลา (ลิลลี
เจมส์) ตลอดจนความชั่วร้ายของแม่เลี้ยง (เคท แบลนเช็ตต์) ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนตัวละครเอกในนิยาย
เฮนรี เจมส์ (The Wings of the Dove) โดยเมื่อต้องเลือกระหว่างความรักกับเงินทอง
เธอก็ไม่รีรอที่จะเลือกอย่างหลังแล้วแต่งงานไปกับพ่อของเอลลา (เบน แชปลิน) เพื่อความอยู่รอดของตนเองกับลูกสาวอีกสองคน
(ซึ่งไม่ฉลาดหรือสวยงามพอจะหาคู่ครองดีๆ ได้) เนื่องจากผู้หญิงในยุคนั้นปราศจากตัวเลือกมากมายนัก นอกจากนี้
ความรักระหว่างซินเดอเรลลากับเจ้าชาย (ริชาร์ด แมดเดน)
ก็ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อเขาได้พบเจอเธอก่อนงานเลี้ยงเต้นรำ
และรู้สึกชื่นชมจิตใจอันเปี่ยมเมตตาของหญิงสาว รวมไปถึงความกล้าที่จะแหกกฎประเพณี
ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเองก็ปรารถนาจะทำให้ได้เช่นกัน
หลังจากถูกบิดายืนกรานให้แต่งงานกับเจ้าหญิงจากแดนอื่นเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักรแทนการเลือกคู่ครองจากความรัก
คงไม่เป็นการสปอยล์หนังจนเกินไป
หากจะบอกว่าสุดท้ายแล้วทุกวิกฤติความขัดแย้งก็สามารถคลี่คลายได้อย่างงดงาม (และง่ายดาย)
ความรักถูกเฉลิมฉลองผ่านฉากแต่งงานอันยิ่งใหญ่
เช่นเดียวกับเมตตาธรรม
เมื่อซินเดอเรลลาหันไปบอกแม่เลี้ยงของเธอก่อนจะตามเจ้าชายกลับไปยังพระราชวังว่า “ฉันยกโทษให้คุณ”… หลังจากต้องทนทรมานจากการถูกกลั่นแกล้งสารพัดและโดนดูถูกเหยียดหยามต่างๆ
นานา คำพูดดังกล่าวช่างฟังดูทรงพลังและยิ่งใหญ่เหนือกว่าความรักใดๆ
ระหว่างเจ้าชายผู้สูงศักดิ์กับหญิงสาวสามัญชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น