วันจันทร์, มกราคม 05, 2552

คู่แท้ปาฏิหาริย์


ตอนเห็นตัวอย่าง ซูเปอร์แหบ-แสบ-สะบัด ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงหนังเรื่อง 200 Pounds Beauty โดยในใจก็ได้แต่ภาวนา ขออย่าให้หนังมีเนื้อหาสไตล์เดียวกันเลย เพราะผมไม่อยากฟังคำสั่งสอนเกี่ยวกับ “คุณภาพ” มีคุณค่าเหนือ “ความงามภายนอก” จากค่ายเพลงอย่าง อาร์เอส โปรโมชั่น

โชคดีที่ ซูเปอร์แหบ-แสบ-สะบัด หลีกเลี่ยงความเหมือนในเชิงประเด็นกับ 200 Pounds Beauty ได้อย่างน่าประหลาดและน่ายินดี (กระนั้น หนังก็ยังอดไม่ได้ที่จะเปิดโอกาสให้ ฟิล์ม รัฐภูมิ ออกมาเทศนาคนดูในฉากหนึ่งว่าเสียงเพลงของตึ๋งนั้นจะอยู่คงทนไปอีกนานกว่าหน้าหล่อๆ ของต้อม... ตลกไหมล่ะ เมื่อพิจารณาจากสถานะของคนพูดในโลกแห่งความเป็นจริง)

อีกเรื่องที่แปลกประหลาด คือ หนังหลีกเลี่ยงฉาก “เฉลยความจริง” ต่อหน้ามิตรรักแฟนเพลงแบบเวอร์ชั่นหนังเกาหลีได้อย่างสวยงาม โดยในช่วงท้ายๆ ผมก็ได้แต่นั่งภาวนาอีกเช่นกัน ขออย่าให้ฉากดราม่าทำนองนั้นปรากฏขึ้นเลยเพราะผมไม่มั่นใจว่าผู้กำกับจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร (แนวโน้มที่ได้รับความนิยมในแวดวงภาพยนตร์ไทย คือ เน้นการขยี้ ขย้ำ และบีบเค้นหัวใจจนเขียวช้ำในสไตล์ละครทีวี aka Happy Birthday) นอกจากนี้ ผมยังไม่มั่นใจด้วยว่า ฟิล์ม รัฐภูมิ (และเสียงแหบๆ เน้นเอาขำของเขา) จะพร้อมรับสถานการณ์หนักหน่วงแบบนั้นหรือไม่ (สังเกตจาก รักนะ 24 ชั่วโมง ผมว่าเขาน่าจะไปได้ดีกับบทตลก-โรแมนติกมากกว่าดราม่า)

ถึงแม้ทั้งต้อมและตึ๋งจะต่างมีโอกาสได้พบรักกับผู้หญิง แต่น้ำหนักของหนังดูเหมือนจะเอนเอียงไปยังความผูกพันระหว่างคนทั้งสองเสียมากกว่า (โฮโมอีโรติก?) ส่วนไคล์แม็กซ์ก็ให้ความรู้สึก ตลอดจนมีรูปแบบคล้ายคลึงกับไคล์แม็กซ์ของหนังโรแมนติกทั่วๆ ไป (นางเอกกับพระเอกขัดใจกัน ก่อนสุดท้ายจะหันมาเข้ามาใจกัน แล้วลงเอยด้วยการครองรักกันอย่างสุขสม) ตัวละครผู้หญิงถูกผลักให้กลายเป็นเพียงไม้ประดับที่ไม่สลักสำคัญ และเรื่องราวก็จบลงด้วยความเข้าใจกันระหว่างสองตัวละครชาย

นอกจากนี้ การที่หนังนำเสนอว่า เมื่อเสียงของตึ๋งกับหน้าตาของต้อมถูกนำมารวมกันแล้ว “ปาฏิหาริย์จะเกิด” (หรือกล่าวอีกนัย คือ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์) ยังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับ “ครึ่งที่หายไป” (ในหนังแทนด้วย “รองเท้าแตะ” ซึ่งต้องมีสองข้างถึงจะสมบูรณ์) อันเป็นแก่นหลักของอุดมคติแห่งความรักโรแมนติกด้วย (ว่ากันว่าบ่อเกิดของแนวคิดดังกล่าวมาจากลักษณะของเพศสัมพันธ์ ซึ่งฝ่ายหนึ่งต้องล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้เหมือนทั้งสองกลายเป็นคนๆ เดียวกัน)

อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์แหบ-แสบ-สะบัดกลับเลือกที่จะจบเรื่องราวด้วยการปิดตำนาน ตง ลี เฮ ท่ามกลางความพอใจของทุกฝ่าย โดยต้อมได้โชว์ลีลาการเต้นบนเวทีใหญ่ยักษ์ ส่วนบทเพลงของตึ๋งก็เข้าถึงหัวใจคนจำนวนมาก พวกเขาตระหนักในปาฏิหาริย์ และก็ถ่องแท้ว่ามันเป็นแค่ปรากฏการณ์ “ชั่ววูบ” เช่นเดียวกับอาการไข้หวัดของต้อม สุดท้ายแล้วเขาคนหนึ่งก็ต้องเสียงแหบ ส่วนอีกคนก็ต้องอัปลักษณ์อ้วนดำตลอดไป นั่นเป็นความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง มนุษย์เราล้วนไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ แต่ในความไม่เพอร์เฟ็กต์นั้น ทุกคนต่างสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว (อัตถิภาวนิยม?) หากตระหนักได้เช่นนั้น เราก็จะหยุดค้นหาคู่แท้หรือ “ครึ่งที่หายไป”

รักโรแมนติกอาจโบยบินมาชั่ววูบ แต่สุดท้ายก็จะจากไป เหมือนชื่อเสียงและความสำเร็จของตง ลี เฮ มันไม่ใช่การ “เติมเต็ม” ให้สมบูรณ์... เพราะการเติมเต็มที่ว่าควรจะเกิดขึ้นจากภายในมากกว่า เป้าหมายจึงหาใช่การค้นหารองเท้าแตะอีกข้าง แต่เป็นความกล้าที่จะสลัดทิ้งข้างที่คุณสวมใส่อยู่ต่างหาก แล้วก้าวเดินด้วยเท้าเปลือยเปล่าตามแบบที่คุณถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก และสุดท้ายย่อมต้องลาจากไปในสภาพนั้น

2 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

เราชอบ SUPERSTARS (ซูเปอร์แหบ แสบสะบัด) ในระดับ A- ค่ะ ซึ่งถือว่าสูงเกินคาด เพราะปกติเราไม่เคยชอบฟิล์ม รัฐภูมิมาก่อนเลย และเราก็ไม่ชอบ “รักจัง (2006, Haeman Chatemee, B) ด้วย แต่เราว่าซูเปอร์แหบดูเพลิดเพลินดี ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราถึงเพลิดเพลินกับหนังเรื่องนี้มากขนาดนี้ แต่พออ่านที่โอลิเวอร์เขียน ก็เลยทำให้สงสัยว่าเราอาจจะเพลิดเพลินเพราะมันแอบมีความโฮโมอีโรติกอยู่ในหนังก็ได้ หนังดูเหมือนจะทิ้งตัวละครที่แสดงโดยอิม อชิตะไปเลยด้วย ตอนแรกนึกว่าเธอจะมีบทบาทมากกว่านี้ซะอีก

ชอบฉากดวลเพลงกับอาภาพร นครสวรรค์มากๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้คือโปสเตอร์โฆษณานักร้องที่ชื่อ “ปูน้อย สก๊อยเกิร์ล” อยากให้นักร้องคนนี้มีตัวตนจริงๆ

อย่างไรก็ดี การที่เราให้หนังเรื่องนี้ได้แค่ A- ก็เป็นเพราะเราไม่ชอบตอนจบแบบโกหกประชาชนน่ะ ถ้าหากหนังเรื่องนี้เลือกจบแบบเดียวกับ HEROINES (1997, Gerard Krawczyk, A-/B+) ที่นางเอกเปิดเผยความจริงต่อผู้ฟังว่าเธอไม่ใช่นักร้องตัวจริง เราอาจจะชอบซูเปอร์แหบมากในระดับ A+/A เลยก็ได้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

กว่่าจะรู้ตัวว่า เราเข้ามาดูอะไรในหนังเรื่องนี้ก็ตอนที่ เจ๊จิ๊กพูดน้อยไป อ้นสุขุมเกินไป อิมไม่มีบทบาท อาภาพรไม่ปล่อยมุกและตั้ก เชิญยิ้มไม่ค่อยมีฉากเรียกเสียงฮา...อันที่จริงไม่ได้ตั้งใจไปดูหนังประเภทตลกคาเฟ่หรอกครับ คิดว่าพวกเขาน่าจะมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่(คนที่รอดตัวไปจริงๆน่าจะเป็นเจ๊จิ๊กและอ้นศรี) ส่วนคนอื่นๆ อยากถามไปเลยว่า เอามาทำไม...

ดีกว่าที่คาดแหล่ะ ว่ากันตามตรง