วันเสาร์, ธันวาคม 27, 2551

เมื่อรักผันผ่านไปตามวัย


เข้าใจว่าทีมผู้สร้างเห็นควรตั้งชื่อ ฝัน หวาน อาย จูบ เพราะมันน่าจะจดจำได้ง่ายสุด แม้ตัวหนังจะเรียงลำดับเรื่องราวเป็น จูบ อาย หวาน ฝัน ซึ่งถ้าให้จำก็คงไม่ค่อยติดหู ความจริง ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการเรียงลำดับหนังสี่เรื่อง เมื่อพิจารณาตามจังหวะการผ่อนหนักผ่อนเบาอารมณ์คนดู (ลองคิดดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า จูบ กลายเป็นเรื่องสุดท้ายตามชื่อหนัง!?!) แต่ขณะเดียวกันก็อดคิดไม่ได้ว่า อาจจะดีกว่าไหมในแง่ภาพรวม ถ้าหนังเลือกเรียงลำดับเรื่องราวตามวัยของตัวละครเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการ ซึ่งก็จะออกมาเป็น ฝัน จูบ อาย หวาน แต่ก็อีกนั่นแหละ การจบหนังด้วยเรื่อง หวาน อาจสร้างความหดหู่ หรือซึมเศร้าให้คนดูมากเกินไป เมื่อเทียบกับการจบหนังด้วยเรื่อง ฝัน หรือ อาย

หากมองจากสไตล์ อารมณ์ หรือเรื่องราว หนังเรื่อง ฝัน หวาน อาย จูบ แทบจะปราศจากจุดเชื่อมโยงใดๆ แต่ในความเหมือนจะไร้เอกภาพดังกล่าวกลับสะท้อนภาพรวมที่น่าสนใจเอาไว้ เกี่ยวกับมุมมองความรัก ชีวิต และการเติบโตของมนุษย์ผันผ่านตามวัย เนื่องจากหนังทั้งสี่เรื่องดำเนินเหตุการณ์ในช่วงวัยที่แตกต่างกัน เริ่มจากวัยแรกรุ่น (ฝัน) วัยรุ่น (จูบ) วัยหนุ่มสาว (อาย) และวัยกลางคน (หวาน)

เช่นเดียวกับโอ๋เล็กใน ปิดเทอมใหญ่ฯ ต้นข้าวใน “ฝัน” ใช้เวลาส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับคนดังที่เธอคลั่งไคล้ และด้วยวัยที่ยังเด็ก (เธอเริ่มสังเกตเห็นเสน่ห์แห่งเพศตรงข้าม แต่อาจยังไม่ก้าวไกลถึง “เสน่ห์ทางเพศ”) เธอจึงมีจินตนาการกว้างไกล มองเห็นความเป็นไปได้ถึงสุดขอบฟ้า แต่ดันมองข้ามความงามตรงเบื้องหน้า เนื้อหาของหนังดูจะดำเนินตามสูตรสำเร็จของ The Wizard of Oz (พร้อมสรรพด้วยฉากร้องเพลง) นั่นคือ การเดินทางจากโลกแห่งความฝันสู่โลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเธอพลันตระหนักในที่สุดว่าวงออกัสไม่ได้สวยงาม เลอเลิศเหมือนดังที่เธอวาดฝันไว้ โดยในความฝัน พวกเขายอมแลกส่วนหนึ่งของวิญญาณเพื่อชื่อเสียง ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาก็ยังคลั่งไคล้ดารา (พี่เบิร์ด) ไม่ต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป

บทสรุปของ “ฝัน” แม้จะมองเห็นมาแต่ไกล แต่กลับให้ความรู้สึกสมจริงและเติบใหญ่กว่าบทสรุปของโอ๋เล็กในปิดเทอมใหญ่ฯ ซึ่งลงเอยด้วยการพบเจอนักร้องหนุ่มที่เธอคลั่งไคล้ แถมสุดท้ายยังได้บัตรฟรีไปร่วมคอนเสิร์ตของเขาอีกแน่ะ… คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าโดโรธีคนนี้จะค้นพบว่าพ่อมดออซก็เป็นแค่ตาแก่เล่นกลธรรมดา

“จูบ” เป็นเรื่องราวความรักผสมกลิ่นอายทางเพศของวัยรุ่นที่กำลังพลุ่งพล่าน ด้วยเหตุนี้ สไตล์หนังจึงดูจะอัดแน่นไปด้วยสีสันฉูดฉาด เสียงเพลงสนั่น เสียงประกอบหลากหลาย และเทคนิคหวือหวาอีกมากมาย โลกของวัยรุ่นเป็นโลกปิด พวกเขาหมกมุ่นเกี่ยวกับอารมณ์ทางเพศ ความรัก และพยายามปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ส่งผลให้ในสายตาของผู้ใหญ่ เรื่อง “สำคัญ” ของวัยรุ่นกลับกลายเป็นเรื่องที่ดูไร้สาระเสียเหลือเกิน เช่น เมื่อกาก้ายืนกรานให้หมีเปลี่ยนชื่อ เพราะเธอไม่อยากถูกเพื่อนๆ ล้อ (น่าประหลาดตรงที่ชื่อสามัญๆ อย่าง “หมี” กลับกลายเป็นเรื่องน่าอายมากกว่าผู้หญิงชื่อ “กาก้า”)

วัยรุ่นยังไร้เดียงสาและมองความรักเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้ การเรียกร้องความทุ่มเท (ของกาก้า) และการทุ่มเทเพื่อพิสูจน์ความรัก (ของหมี) จึงกลายเป็นเรื่องเมคเซนส์ในจักรวาลของวัยรุ่น แต่เช่นกันมันอาจดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่ พวกเขาหมกมุ่นอยู่ในโลกส่วนตัวและมองไม่เห็นทางเลือกอื่นเนื่องจากผ่านโลกมาน้อย

เมื่อวัยรุ่นเติบใหญ่ โบยบินออกไปเผชิญโลกกว้าง พวกเขาจึงเริ่มตระหนักว่าความรักอาจไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังมีปัจจัยอื่นแวดล้อมอีกมากมาย จนบางครั้งก็แบ่งแยก “เรา” ออกจาก “เขา” เช่น สถานะทางสังคม ดังที่ ทุเรียน กับ ตอง ประสบและเรียนรู้จาก “อาย” ทั้งสองเป็นคนหนุ่มสาวในวัยเริ่มทำงาน เมื่อก่อนเคยรักกันหวานชื่น (คาดว่าในช่วงวัยเรียน) แต่ต้องมาแยกจากกันเมื่อฝ่ายชายรู้สึกว่าเขาอาจไม่ดีพอสำหรับฝ่ายหญิง เขาเป็นตัวแทนของวิถีชาวบ้าน เธอเป็นตัวแทนของวิถีชาวเมือง เขาเชื่อว่าคนเราควรจะอยู่กับพวกเดียวกัน ส่วนเธอเชื่อว่าการผสมกลมกลืนนั้นเป็นไปได้ หากรู้จักเปิดใจให้กัน เขามองโลกตามความเป็นจริง ส่วนเธอมองโลกในแง่อุดมคติ การทะเลาะโต้เถียงระหว่างทุเรียนกับตองจึงไม่ต่างกับการต่อสู้ ขัดแย้งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งอุดมคติ ซึ่งเป็นอารมณ์ร่วมของคนวัยหนุ่มสาว เมื่อพวกเขาค้นพบว่าหลายอย่างไม่ได้เป็นดังที่วาดฝันไว้

สำหรับสาวใหญ่กับหนุ่มวัยกลางคนใน “หวาน” ความหวานได้เลือนหายไปจากชีวิตสมรสของพวกเขามาเนิ่นนานแล้ว คนหนึ่งอาจยังจดจำความดื่มด่ำแห่งรักแรกได้แม่นยำทุกรายละเอียด แต่แรงยึดเหนี่ยวต่อโลกความจริงอันปวดร้าวกลับค่อยๆ สูญสลาย อีกคนหมกมุ่นกับหน้าที่และภาระจนเลอะเลือนไปว่าความสำคัญแท้จริงของชีวิตคืออะไร เขาบอกว่าทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นใน “วันนั้น” แต่ความจริง มันเริ่มต้นมาก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อปรากฏว่าความทุ่มเทให้กับงานของเชนได้รับผลตอบแทนที่สุดแสนเจ็บปวด อาจกล่าวได้ไหมว่าการที่เขาเลือกจะปล่อยปละละเลยหวานมานานกว่า 20 ปีหลังเธอเกิดภาวะความทรงจำไหลย้อนกลับก็ถือว่าไร้สาระพอๆ กับความคลั่งไคล้วงออกัสของต้นข้าว ความอายที่จะแสดงความรักของทุเรียน และการยอมเจ็บตัวสารพัดของหมีเพื่อพิทักษ์ริมฝีปากแฟนสาว...

น่าสังเกตว่าเรื่องราวของเชนกับหวานนั้นเป็นตอนเดียวที่ลงเอยด้วยคำว่า “สายเกินไป” ราวกับว่าอายุที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์ที่สั่งสม ความรู้ที่เก็บกักตุนไว้หาได้ช่วยเหลือมนุษย์ให้ฉลาดขึ้น หรือถ่องแท้ขึ้นแต่อย่างใด เพราะเมื่อพูดถึงประเด็นความรัก เรายังคงมืดบอดและพร้อมจะก้าวผิดพลาดได้เสมอ

3 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

พาน้องๆ มาสวัสดีปีใหม่พี่ Riverdale ครับ ขอให้พี่ Riverdale มีความสุขมากๆ ในปีใหม่นี้นะครับ และช่วยเอ็นดูน้องๆ เขาด้วยนะครับ

http://modelsbydidio.blogspot.com/

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คิดประเด็นเดียวกันเลย อิอิ

นี่ๆพี่คับ ข้อแก้ไขหน่อยนะ ไม่รู้ว่า คิดผิดไปเองหรือป่าว...ตรงช่วงท่อนสุดท้ายเรื่อง"หวาน"อ่ะ จริงๆมันควรจะเป็น "หวาน" มากกว่าจะเป็น"อาย"หรือป่าว

"สำหรับสาวใหญ่กับหนุ่มวัยกลางคนใน “อาย” ความหวานได้เลือนหายไปจากชีวิตสมรส"

ฝากแก้ด้วยจ้า

หลังจากนึกไปนึกมา เหมือนจะชอบตอน"ฝัน"เอามากๆเหมือนกันอ่ะ แบบว่า มันบ้าๆเหมือนเด็กๆดี ซึ่งเราคง"เกินวัย"ไปแล้วจริงๆ

Riverdale กล่าวว่า...

^
^
^
อ่า ขอบคุณมากครับ แก้ไขเรียบร้อยแล้ว

จริงๆ ก็ชอบตอนฝันแหละ แต่ animation มันแย่จริงๆ นะ แถมยังยาวอีกต่างหาก