วันจันทร์, ธันวาคม 08, 2551
ผู้หญิงเล่าเรื่อง ผู้ชายขึ้นหิ้ง
ในบทความชิ้นก่อน ผมลืมพูดถึงรายละเอียดอันน่าสนใจของ Twilight ไปจุดหนึ่ง นั่นคือ การละเมิดความเชื่อที่มีมานานว่าแสงแดดจะสังหารผีดิบดูดเลือด (เช่นเดียวกับการใช้ลิ่มตอกหัวใจ) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พวกเขาอ่อนแอ หวาดกลัว และเปราะบาง ด้วยเหตุนี้เองเหล่าแวมไพร์จึงต้องนอนในโลงศพ แล้วออกล่าเหยื่อเวลาค่ำคืนแบบเดียวกับค้างคาว (อีกร่างหนึ่งของแวมไพร์)
แต่ถ้าคุณกำลังวางแผนจะเขียนนิยายโรแมนซ์ระหว่างเด็กสาววัยรุ่นกับเด็กหนุ่มแวมไพร์ (ซึ่งจริงๆ มีอายุเป็นร้อยปีแล้ว) มันคงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดสถานการณ์ให้ทั้งสองเจอกันเฉพาะตอนค่ำ (ที่สำคัญ หญิงสาวจะไม่เฉลียวใจเลยเชียวหรือถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว) ฉะนั้น สเตฟานี เมเยอร์ จึงฉีกกฎทิ้ง แล้วเปลี่ยนหลักเกณฑ์เสียใหม่ว่า แวมไพร์ของเธอ นอกจากจะไม่ตายเมื่อโดดแสงแดดแล้ว พวกเขายังดู “งดงาม” มากขึ้นด้วย แม้ว่าพวกเขายังคงต้องหลบเลี่ยงวันที่ “อากาศดี” เพราะมันอาจเป็นการเปิดเผยตัวตนว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ปกติธรรมดา
สเตฟานี เมเยอร์ ได้ใช้ถ้อยคำหลายย่อหน้า บรรยาย (หรืออาจจะเรียกว่าเทิดทูนบูชา) ความสมบูรณ์แบบทางรูปลักษณ์ภายนอกของเอ็ดเวิร์ด โดยเฉพาะฉากที่เขาเปิดเผยผิว “ประกายเพชร” กับเบลล่า ไม่ว่าจะเป็นเส้นผมอันแสนมหัศจรรย์ของเขา แผงอกที่ได้รูปสวยงามของเขา ลมหายใจของเขา ดวงตาของเขา ฯลฯ พูดง่ายๆ เอ็ดเวิร์ดเป็นหนุ่มหล่อเลิศทุกสัดส่วน นอกจากนี้ แง่มุมแวมไพร์ของเขายังถูกลดทอนความสยองเพื่อตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของผู้หญิง (กลุ่มคนอ่านหลักของหนังสือเล่มนี้) เช่น ผิวหนังของเขาส่องประกายเมื่อต้องแสงแดด แทนที่จะเผาไหม้ เขาไม่ได้อาศัยอยู่ในปราสาททึมทึบน่ากลัว ไม่ได้นอนในโลงศพ (เขาไม่นอน) แต่กลับมีบ้านพักบนเนินเขาแสนสวย หรูหรา ติดกระจกรอบด้าน และเขาไม่สามารถ (หรือไม่เคย) แปลงร่างเป็นค้างคาว (นั่นมันคงชวนขยะแขยงเกินไป)
ยิ่งไปกว่านั้น เอ็ดเวิร์ดยังเป็นแวมไพร์ “มังสวิรัติ” เขาเลยต้องพยายามสะกดกลั้นตัวเองไม่ให้มีอะไรกับเบลล่า ด้วยกลัวว่าจะห้ามใจตัวเองไม่ไหว และการกระทำแบบนั้น ยิ่งทำให้เขาเป็นที่ปรารถนาของเบลล่ามากขึ้น (ประเด็นนี้ผมกล่าวไปแล้วในบทความชิ้นก่อน) อย่างไรก็ตาม เบลล่าไม่ได้รุกเร้าเอ็ดเวิร์ดในเรื่องเพศเท่านั้น เธอยังต้องการให้เขาแปลงเธอเป็นแวมไพร์ด้วย ซึ่งนั่นตอบสนองแฟนตาซีเพศหญิงในอีกทางหนึ่ง นั่นคือ ความสาวอันเป็นอมตะ เบลล่าไม่ได้มองว่าแวมไพร์ คือ ความตาย หากแต่เป็น “โอกาสที่จะได้อยู่กับแฟนหนุ่มสุดหล่อของฉันตลอดไป โดยที่ฉันไม่ต้องแก่ไปตามกาลเวลา”
คริสเตน สจ๊วต เคยให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างแจกลายเซ็นให้บรรดาแฟนๆ เธอเหมือนจะตระหนักถึงสายตาดูหมิ่น เหยียดหยามจากเด็กสาวรอบข้าง ซึ่งเดินทางยกโขยงกันมาเพื่อหวังจะยลโฉมแฟนตาซีทางเพศของพวกหล่อนที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็นตัวตนจริงๆ ผ่านรูปลักษณ์ของ โรเบิร์ต แพททิสัน ไม่ใช่เรื่องแปลกหากสจ๊วตจะคิดเช่นนั้น เพราะแม้ว่าเธอจะเป็นตัวเอกของเรื่อง (และการแสดงของเธอก็ช่วยอุ้มหนังทั้งเรื่องได้ในระดับหนึ่ง) แต่สุดท้ายแล้วหัวใจหลักของ Twilight ยังคงเป็นเอ็ดเวิร์ด และความงดงามของเขา ความเป็นสุภาพบุรุษของเขา ความลึกลับชวนค้นหาของเขา ความแข็งแกร่ง งามสง่าของเขา ฯลฯ
ตลกดีที่หนังสือมีตัวเอกเป็นเพศหญิง แต่ความลุ่มหลงส่วนใหญ่กลับพุ่งตรงไปยังเพศชายเป็นหลัก โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นว่า โรเบิร์ต แพททิสัน จะหล่อเหลาอะไรมากมาย (เช่น ถ้าเทียบกับ แบรด พิทท์ หรือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ในยุครุ่งเรือง) แต่สาเหตุที่เขาโดนสาวๆ รุมทึ้งเหมือนชิ้นเนื้อกลางฝูงพิรันย่าน่าจะเป็นเพราะ Twilight ได้สร้างภาพเอ็ดเวิร์ดเอาไว้สูงส่ง ชวนหลงใหล และตอบสนองแฟนตาซีของพวกเธอได้ในหลายๆ ทางมากกว่า
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ตามความรู้สึกก็คิดว่าโรเบร์ตแพททิสันตัวจริงไม่ใช่ในหนังนะเขาก็ไม่เห็นจะหล่อเกินคนธรรมดาทั่วไปเท่าไหรแต่เอ็ดเวิร์ดในแวมไพร์ดูเพอแฟ็ก
แสดงความคิดเห็น