วันจันทร์, มกราคม 12, 2552

ความทุกข์ของคนดูหนังและอ่านหนังสือ


ผมยอมรับว่าตอนอ่าน ความสุขของกะทิ รอบแรก (จริงๆ ก็อ่านรอบเดียวแหละ) รู้สึกชอบพอควร แม้หลังๆ มานี้อาจไม่ค่อยกล้าบอกใครเท่าไหร่ เพราะการชอบอะไร “ป็อปๆ” มันไม่ฮิบ และหลายคนรอบข้างก็ดูเหมือนจะชิงชังความดัดจริตของมันเสียเหลือเกิน เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมชอบหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ ภาษาอันเรียบง่าย สวยงาม แต่ไม่สำบัดสำนวนจนเกินระดับสติปัญญาคนธรรมดาเยี่ยงผมจะเข้าใจได้เหมือนงานซีไรท์บางเล่ม เรื่องราวย่อยง่าย แต่แฝงปรัชญาการดำรงชีวิตอันจริงแท้เอาไว้ ตลอดจนความรู้สึกอบอุ่น น่ารัก และความเศร้าแบบไม่บีบเค้น แม้บางคนอาจมองว่าแห้งแล้ง ไม่ได้อารมณ์

รายละเอียดบางอย่างอาจตะขิดตะขวงใจผมอยู่บ้าง เช่น ฉากการสาบานต่อสวรรค์ของแม่ (เหมือน The End of the Affair จังเลย) ซึ่งไม่น่าเชื่อถือและดูเป็นการจงใจสร้างปมให้เรื่องราวมากไปหน่อย หรือความไฮโซจนน่าหมั่นไส้ของแม่กะทิ (จุดนี้อาจไม่ใช่ความผิด แต่เป็นอารมณ์ส่วนตัวล้วนๆ เหมือนเวลาอ่านข่าวแวดวงไฮโซในหน้าหนังสือพิมพ์นั่นแหละ) แต่มันเป็นรอยตำหนิเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมยินดีจะมองข้าม

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกดีของผมต่อหนังสือเล่มนี้กลับเลือนหายไปหมดระหว่างนั่งดูเวอร์ชั่นหนัง ทั้งที่มันก็ดำเนินเหตุการณ์ตามหนังสืออย่างซื่อสัตย์ (เกินไป?) จนทำให้ผมพาลนึกถึงหนังชุด Harry Potter ซึ่งดูเหมือนจะประสบชะตากรรมเดียวกัน

คำพูดบางประโยค เช่น ยายเก็บรอยยิ้มไว้อัดกระป๋องขาย หรือการอธิบายปรัชญาเกี่ยวกับต้นสนลู่เอนตามลม อาจพอกล้อมแกล้มเวลาเป็นตัวหนังสือ แต่การนำมันมายัดใส่ปากให้ตัวละครพูดกลับดูขัดเขิน แข็งขืน แม้จะได้นักแสดงมากประสบการณ์อย่าง สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ มาเป็นคนถ่ายทอดก็ตาม เหตุการณ์หลายอย่างที่ใส่เข้ามาก็ไม่ได้ช่วยให้เรื่องคืบหน้า หรือบอกกล่าวอะไรในเชิงลึกเกี่ยวกับตัวละคร เช่น เรื่องราวของเด็กหญิงจอมเกเร หรือ การมาเยือนของนักปั่นจักรยานชาวฝรั่งเศส (นอกจากจะช่วยเพิ่มสถานะไฮโซของยายว่าหล่อนหาใช่แค่แม่บ้านธรรมดา แต่เป็นชนชั้นกลางมีความรู้และเรียนจบนอก)

สุดท้าย ความสุขของกะทิ เวอร์ชั่นหนังจึงกลายเป็นความสวยงามที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ปราศจากอารมณ์ร่วมใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไคล์แม็กซ์ในหนังสือเกี่ยวกับการส่งจดหมายของกะทิ ซึ่งเมื่อมาปรากฏบนจอหนังกลับไม่อาจเรียกร้องความรู้สึกใดๆ จากคนดูได้เลย

ผมคาดหวังอยากให้หนังใส่ใจกับตัวละครรอบข้างกะทิมากขึ้น เช่น พี่ทอง หรือบรรดาน้าๆ ของเธอ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มหลังซึ่งถูกจับโยนเข้ามาให้คนดูรู้จักแบบฉับพลัน จนยากที่เราจะมีอารมณ์ร่วมใดๆ ได้ เช่นเดียวกับพล็อตความรักระหว่างน้ากันต์กับน้าฎา ที่เริ่มต้นแบบไร้ที่มาที่ไป ก่อนสุดท้ายจะถูกโยนทิ้งอย่างไม่ใยดี (ถ้าหนังไม่มีเวลาจะพัฒนาพล็อตในส่วนนี้ การตัดมันออกไปเลยน่าจะดีกว่าไหม) นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกขัดใจกับการถ่ายทอดอาการป่วยไข้ของแม่กะทิให้ดูโรแมนติก งดงามดุจโศกนาฏกรรม (ผมเคยรู้สึกแบบเดียวกันนี้กับหนังอย่าง The Letter) จนกลายเป็นว่าเราไม่มีโอกาสสัมผัสแง่มุมอัปลักษณ์ของชีวิตอย่างแท้จริงเลย (ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญไม่ใช่หรือ หากหนังต้องการจะบอกให้เรามองหาความสุขจากสิ่งรอบตัว แม้โลกโดยรวมจะโหดร้าย หนักหนาสาหัสเพียงใด) ทุกอย่างช่างดูงดงามไปหมด แม้กระทั่งความตาย

ผมไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่ผู้กำกับไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรจากหนังสือมากนักเป็นเพราะสถานะ “งานเขียนรางวัลซีไรท์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า” ค้ำคออยู่หรือเปล่า (เครดิตหนังต้นเรื่องระบุชัดเจนว่าดัดแปลงจาก “นิยายรางวัลซีไรท์” ทั้งที่ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ) ถ้าใช่ นั่นก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะมองจากทักษะโดยรวมของตัวผู้กำกับแล้ว ผมเชื่อว่าเขามีศักยภาพอยู่พอสมควร... หากเพียงได้บทภาพยนตร์ที่แข็งแรงกว่านี้

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ ในฉากบ้านริมทะเล - ฉันก็คิดตลอดเวลาว่า "นี่แหละคือครอบครัวที่สมควรถูกกระทำแบบในหนังเรื่อง FUNNY GAMES"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

วิธีการดูหนังเรื่องนี้ให้มีความสุขก็คือ ทุกครั้งที่หนังเริ่มทำตัว "เยอะ" และชวนให้ "เหวอ"

มองหน้าน้องพลอย ที่รับบทเป็น หนูกะทิ ไว้

ช่วยได้เยอะทีเดียว

Riverdale กล่าวว่า...

^
^
^
จากหลักการคล้ายๆ กัน เด็กที่เล่นเป็น พี่ทอง ในหนังช่วยได้เยอะ ในความเห็นของผมนะครับ :)

Unknown กล่าวว่า...

ทำใจไว้ตั้งแต่ก่อนดูแล้วล่ะคะ เพราะคิดว่าต้องเป็นแบบนี้ การหยิบบทประพันธ์ที่ประสบความสำเร็จสูงๆ มาทำ เข้าใจว่าต้องเกร็งเป็นธรรมดา แต่ก็อยากให้กล้าตีความในแบบของตัวเอง แล้วทำออกมาให้ดี ให้งดงามได้อย่างบทประพันธ์จัง ^^