วันศุกร์, มกราคม 09, 2552

หนังแห่งความประทับใจ

Eastern Promises เดวิด โครเนนเบิร์ก ยังคงท้าทายคนดูอย่างต่อเนื่อง การตั้งคำถามต่อเส้นกั้นบางๆ ที่เริ่มเลอะเลือนระหว่างความชั่วร้ายกับความดีงามถือเป็นประเด็นที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้คนไทยในยุคนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดูควบคู่กับ A History of Violence แล้วจะยิ่งได้ภาพรวมที่หนักแน่น

Happy-Go-Lucky เป็นหนังตลกสุดของ ไมค์ ลีห์ อย่างไม่ต้องสงสัย โทนอารมณ์เบาสบาย (จนกระทั่งไคล์แม็กซ์ระดับห้าดาวในตอนท้ายเรื่อง) รวมถึงแง่มุมการมองโลกผ่านรอยยิ้มอาจทำให้หลายคนไม่ทันตั้งตัว เมื่อพิจารณาว่าผู้กำกับคนนี้เคยสร้างหนังโทนหม่นอย่าง Vera Drake และ All or Nothing มาก่อน แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังของลีห์มักสะท้อนความหวังต่อสถาบันครอบครัวและมนุษย์โดยรวมเสมอมา การปรากฏตัวขึ้นของ Happy-Go-Lucky จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก อันที่จริง มันถือเป็นการหักมุมทางอารมณ์ที่น่ายินดีและน่าชื่นชมหลังจากผลงานดราม่าหนักหน่วงอย่าง Vera Drake

No Country for Old Men หนึ่งในภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบจนแทบจะหาข้อติใดๆ ไม่ได้เลย ทั้งในเชิงเทคนิค เนื้อหา และอารมณ์โดยรวม เป็นผลงานที่น่าพอใจที่สุดของสองพี่น้องโคนนับจาก Fargo

Persepolis ถึงแม้จะเป็นการ์ตูนสองมิติที่ไม่ได้เน้นความสมจริงทางลายเส้นเลย (แถมยังใช้สีขาวดำเป็นหลักเสียอีก) แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้ผมหัวเราะทั้งน้ำตาได้มากกว่าหนังคนแสดงหลายๆ เรื่องด้วยซ้ำ หนังถ่ายทอดระดับการลิดรอนสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ (โดยเฉพาะเพศหญิง) ในประเทศอิหร่านผ่านอารมณ์หลายหลาก บางครั้งให้ความรู้สึกสยองจนขนหัวลุก บางครั้งก็น่าเศร้าชวนหดหู่ และบางครั้งกลับดูเหนือจริงจนน่าหัวเราะเยาะ... อะไรหนอทำให้มนุษย์เราคิดว่าตนเองดีกว่า เหนือกว่าคนอื่นๆ และอะไรหนอที่ทำให้มนุษย์เราหวาดกลัวความแตกต่างเสียเหลือเกิน

Wall-E ความบันเทิงแฝงสาระเป็นสิ่งที่คาดหวังจากพิกซาร์ได้เสมอ

นักแสดงชาย

เจมส์ แม็คอะวอย (Atonement) ถึงแม้รูปร่างจะไม่สูงใหญ่ มีกล้ามแน่นเป็นมัดๆ หรือหน้าตาหล่อเหลาดังเทพบุตร แต่เขาก็สามารถดูเท่ในแบบพระเอกโรแมนติกจากความมุ่งมั่น หนักแน่น และเด็ดเดี่ยวที่สะท้อนชัดในแววตา เจือไว้ด้วยความเศร้าสร้อยและผิดหวัง

เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) หยาบกระด้างได้ใจในทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม การพูดจา บุคลิกท่าทาง หรือทัศนคติการมองโลก แต่พอถึงฉากที่ต้องแสดงแง่มุมเปราะบาง อ่อนแอออกมา เขาก็สามารถทำให้คนดูนึกเห็นใจจนน้ำตาซึมได้อย่างไม่น่าเชื่อ การเปลี่ยนบุคลิกชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากชายหนุ่มชั่วร้าย รุนแรง และเกรี้ยวกราดขนาดฆ่าคนได้มาเป็นชายหนุ่มป่วยจิต คลั่งรักที่น่าสงสารและน่าสังเวชภายในชั่วพริบตา ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางการแสดงที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในหนังของ ไมค์ ลีห์

ทอมมี่ ลี โจนส์ (No Country for Old Men) ความอบอุ่น ดีงามท่ามกลางความชั่วร้าย มืดหม่น ใบหน้าของเขา น้ำเสียงเรียบลึกของเขาสะท้อนให้เห็นความเหนื่อยล้า เปี่ยมประสบการณ์ แต่ก็ยังไม่ขาดแล้งอารมณ์ขัน ช่างน่าสลดเพียงใดที่ในหนัง เขากลายเป็นเสมือนตัวแทนของโลกยุคเก่า เป็นตาแก่ที่กำลังจะไม่เหลือพื้นที่ให้อยู่บนโลกใบนี้

แบรด พิทท์ (Burn after Reading) เวลาคนหล่อมาทำอะไรบ้าๆ มันเลยฮาอย่าบอกใคร โดยระดับความโง่เง่าของตัวละครตัวนี้ถึงขั้นทำให้ โฮเมอร์ ซิมสัน กลายเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไปเลย ที่สำคัญเขาดูเหมือนจะไม่สำเหนียกแม้เพียงนิดว่าตัวเองนั้นปัญญาอ่อนขนาดไหน เห็นได้จากฉากการเผชิญหน้ากันครั้งแรกของพิทท์กับ จอห์น มัลโควิช ซึ่งเป็นไฮไลท์ขายหัวเราะกันเลยทีเดียว (ถ้าไม่นับฉากเปิดตัวอุปกรณ์ “ลึกลับ” ของ จอร์จ คลูนีย์ หรือฉาก ทิลด้า สวินตัน นึกสงสัยดังๆ ว่าไอ้บ้าที่ไหนกันนะถึงคิดว่าต้นฉบับบันทึกชีวิตของผัวหล่อนเป็นของมีค่า ฯลฯ)

เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อีส (There Will Be Blood) เวลานักแสดงฝีมือระดับพระกาฬขนาดนี้ ได้รับบทดีๆ ที่ทั้งซับซ้อนและโดดเด่นขนาดนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเลยกลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม

นักแสดงหญิง

เอลเลน เพจ (Juno) ก้าวข้ามบทพูดที่เก๋ไก๋ ยอกย้อนเกินจริง แล้วพาตัวละครมานั่งอยู่ในหัวใจคนดูได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) เดินไต่บนเส้นลวดระหว่างน่ารักกับน่ารำคาญอย่างกล้าหาญ เสียงหัวเราะคิกคักของเธอสามารถเก็บไปหลอนได้อีกหลายวัน แต่เมื่อบทเรียกร้องให้ตัวละครต้องทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง เธอก็เผยให้เห็นให้เห็นความไม่แน่ใจและรอยร้าวแห่งโลกสีชมพูจนหมดเปลือก

เจ้าเหว่ย (Painted Skin) สวยสง่า นิ่งสงบ แต่แข็งแกร่งอย่าบอกใคร ฉากที่เธอเผชิญหน้ากับนางมารแบบไม่เกรงกลัว แถมยังยืดอกด้วยการเอาหัวตัวเองขึ้นเขียงเพื่อช่วยชีวิตสามี... ข้าน้อยขอคารวะ

เมอรีล สตรีพ (Mamma Mia!) แค่ได้ฟังเพลงฮิตหลากหลายของ ABBA ก็มีความสุขแล้ว แม้พล็อตเรื่อง (และตัวหนังโดยรวม) จะปัญญาอ่อนแค่ไหนก็ตาม ข้อดีอีกอย่างของ Mamma Mia! คือ การได้ เมอรีล สตรีพ มาแอ๊บแบ๊ว เริงร่าลืมอายุตัวเอง และไม่ห่วงภาพลักษณ์นักแสดงคุณภาพเอาซะเลย เสียงร้องของเธออยู่ในระดับหายห่วง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ เพียซ บรอสแนน ซึ่งสามารถทำให้ผมลุ้นเอาใจช่วยได้มากกว่าบทบาทของเขาในหนัง เจมส์ บอนด์ ทุกเรื่องเลยทีเดียว) ก่อนจะตบท้ายด้วยการ “ปล่อยของ” ในฉาก The Winner Takes It All ซึ่งกลายเป็นไฮไลท์ของหนังไปโดยปริยาย

กัญญา รัตนเพชร์ (ฝันหวานอายจูบ) ทำให้คำว่า “คุณหนู” กลายเป็นนิยามแง่บวก ใครก็ได้ช่วยสร้างหนัง (ทางที่ดีควรเป็นแนวทางตลก-โรแมนติก) ให้เธอรับบทเป็นนางเอกกับเขาเสียทีเถอะ

ความคิดเห็น

ปีนี้ดูเหมือนผมจะได้ดูหนังไทยเยอะขึ้น (ทำไมถึงชอบทรมานตัวเองนักก็ไม่รู้) แต่กลับไม่ประทับใจเรื่องใดมากเป็นพิเศษ กระนั้นขอบันทึกไว้ตรงนี้สักหน่อยว่า สามเรื่องที่ผมชื่นชอบมาก ได้แก่ Wonderful Town กอด และ สะบายดี หลวงพะบาง โดยเรื่องแรกจัดอยู่ในข่าย “หนังอาร์ต” เข้าฉายแบบจำกัด (มาก) ส่วนสองเรื่องหลังเป็นหนังสำหรับกระแสหลัก ดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จของตลก-โรแมนติก แต่เปี่ยมรสนิยม ไม่หนักมือในส่วนของการเร้าอารมณ์เหมือนหนังไทยอีกหลายๆ เรื่อง หวังเพียงว่าในปีหน้า หนังบ้าๆ บอๆ จำพวก หลวงพี่เท่ง 2 หรือ เทวดาตกมันส์ จะลดปริมาณลง แล้วถูกแทนที่ด้วยหนังน้ำดีแบบสามเรื่องนี้... แต่เมื่อลองเปรียบเทียบรายได้ของ กอด กับ หลวงพี่เท่ง 2 แล้ว ท่าทางโอกาสที่ความหวังของผมจะกลายเป็นจริงคงริบหรี่เต็มที

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

วันนี้เราเพิ่งได้ดู The Three Burials of Mulquiades Estrada (แม่งจะยาวไปไหน) ทาง UBC แหละ เราว่าน่าสนใจดีที่บทนี้ของ ทอมมี่ ลี โจส์ กับใน No Country for Old Man ดูคล้ายกันมากๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเพิ่งอัพเสร็จแหล่ะ มึนๆซางๆตีสามตีสี่ก็นั่งปั่นๆๆๆๆ

แต่เสร็จแล้วเย้ๆ

ชอบ Wall-E เหมือนกันแต่ก็ตรงที่มันน่ารักเอามากๆดี (จริงๆชอบ หุ่น"โม"มากกว่า อิอิ)

ไม่รู้ทำไม เวลาย้อนมาดูตัวเองว่าแต่ละปีชอบหนังแนวไหนบ้าง มันมักจะมีแนวมืดหม่น ประชดชีวิต มองโลกด้านลบเกินครึ่งทุกที ต้องทบทวนตัวเองใหม่ซะแล้ว ฮา...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบเจ้าเหว่ยมากมาย
รู้สึกเอาเองว่าหนังPAINTED SKIN มันหมุนรอบตัวเธอจริงๆ