Eastern Promises เดวิด โครเนนเบิร์ก ยังคงท้าทายคนดูอย่างต่อเนื่อง การตั้งคำถามต่อเส้นกั้นบางๆ ที่เริ่มเลอะเลือนระหว่างความชั่วร้ายกับความดีงามถือเป็นประเด็นที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้คนไทยในยุคนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดูควบคู่กับ A History of Violence แล้วจะยิ่งได้ภาพรวมที่หนักแน่น
Happy-Go-Lucky เป็นหนังตลกสุดของ ไมค์ ลีห์ อย่างไม่ต้องสงสัย โทนอารมณ์เบาสบาย (จนกระทั่งไคล์แม็กซ์ระดับห้าดาวในตอนท้ายเรื่อง) รวมถึงแง่มุมการมองโลกผ่านรอยยิ้มอาจทำให้หลายคนไม่ทันตั้งตัว เมื่อพิจารณาว่าผู้กำกับคนนี้เคยสร้างหนังโทนหม่นอย่าง Vera Drake และ All or Nothing มาก่อน แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังของลีห์มักสะท้อนความหวังต่อสถาบันครอบครัวและมนุษย์โดยรวมเสมอมา การปรากฏตัวขึ้นของ Happy-Go-Lucky จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก อันที่จริง มันถือเป็นการหักมุมทางอารมณ์ที่น่ายินดีและน่าชื่นชมหลังจากผลงานดราม่าหนักหน่วงอย่าง Vera Drake
No Country for Old Men หนึ่งในภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบจนแทบจะหาข้อติใดๆ ไม่ได้เลย ทั้งในเชิงเทคนิค เนื้อหา และอารมณ์โดยรวม เป็นผลงานที่น่าพอใจที่สุดของสองพี่น้องโคนนับจาก Fargo
Persepolis ถึงแม้จะเป็นการ์ตูนสองมิติที่ไม่ได้เน้นความสมจริงทางลายเส้นเลย (แถมยังใช้สีขาวดำเป็นหลักเสียอีก) แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้ผมหัวเราะทั้งน้ำตาได้มากกว่าหนังคนแสดงหลายๆ เรื่องด้วยซ้ำ หนังถ่ายทอดระดับการลิดรอนสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ (โดยเฉพาะเพศหญิง) ในประเทศอิหร่านผ่านอารมณ์หลายหลาก บางครั้งให้ความรู้สึกสยองจนขนหัวลุก บางครั้งก็น่าเศร้าชวนหดหู่ และบางครั้งกลับดูเหนือจริงจนน่าหัวเราะเยาะ... อะไรหนอทำให้มนุษย์เราคิดว่าตนเองดีกว่า เหนือกว่าคนอื่นๆ และอะไรหนอที่ทำให้มนุษย์เราหวาดกลัวความแตกต่างเสียเหลือเกิน
Wall-E ความบันเทิงแฝงสาระเป็นสิ่งที่คาดหวังจากพิกซาร์ได้เสมอ
นักแสดงชาย
เจมส์ แม็คอะวอย (Atonement) ถึงแม้รูปร่างจะไม่สูงใหญ่ มีกล้ามแน่นเป็นมัดๆ หรือหน้าตาหล่อเหลาดังเทพบุตร แต่เขาก็สามารถดูเท่ในแบบพระเอกโรแมนติกจากความมุ่งมั่น หนักแน่น และเด็ดเดี่ยวที่สะท้อนชัดในแววตา เจือไว้ด้วยความเศร้าสร้อยและผิดหวัง
เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) หยาบกระด้างได้ใจในทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม การพูดจา บุคลิกท่าทาง หรือทัศนคติการมองโลก แต่พอถึงฉากที่ต้องแสดงแง่มุมเปราะบาง อ่อนแอออกมา เขาก็สามารถทำให้คนดูนึกเห็นใจจนน้ำตาซึมได้อย่างไม่น่าเชื่อ การเปลี่ยนบุคลิกชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากชายหนุ่มชั่วร้าย รุนแรง และเกรี้ยวกราดขนาดฆ่าคนได้มาเป็นชายหนุ่มป่วยจิต คลั่งรักที่น่าสงสารและน่าสังเวชภายในชั่วพริบตา ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางการแสดงที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในหนังของ ไมค์ ลีห์
ทอมมี่ ลี โจนส์ (No Country for Old Men) ความอบอุ่น ดีงามท่ามกลางความชั่วร้าย มืดหม่น ใบหน้าของเขา น้ำเสียงเรียบลึกของเขาสะท้อนให้เห็นความเหนื่อยล้า เปี่ยมประสบการณ์ แต่ก็ยังไม่ขาดแล้งอารมณ์ขัน ช่างน่าสลดเพียงใดที่ในหนัง เขากลายเป็นเสมือนตัวแทนของโลกยุคเก่า เป็นตาแก่ที่กำลังจะไม่เหลือพื้นที่ให้อยู่บนโลกใบนี้
แบรด พิทท์ (Burn after Reading) เวลาคนหล่อมาทำอะไรบ้าๆ มันเลยฮาอย่าบอกใคร โดยระดับความโง่เง่าของตัวละครตัวนี้ถึงขั้นทำให้ โฮเมอร์ ซิมสัน กลายเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไปเลย ที่สำคัญเขาดูเหมือนจะไม่สำเหนียกแม้เพียงนิดว่าตัวเองนั้นปัญญาอ่อนขนาดไหน เห็นได้จากฉากการเผชิญหน้ากันครั้งแรกของพิทท์กับ จอห์น มัลโควิช ซึ่งเป็นไฮไลท์ขายหัวเราะกันเลยทีเดียว (ถ้าไม่นับฉากเปิดตัวอุปกรณ์ “ลึกลับ” ของ จอร์จ คลูนีย์ หรือฉาก ทิลด้า สวินตัน นึกสงสัยดังๆ ว่าไอ้บ้าที่ไหนกันนะถึงคิดว่าต้นฉบับบันทึกชีวิตของผัวหล่อนเป็นของมีค่า ฯลฯ)
เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อีส (There Will Be Blood) เวลานักแสดงฝีมือระดับพระกาฬขนาดนี้ ได้รับบทดีๆ ที่ทั้งซับซ้อนและโดดเด่นขนาดนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเลยกลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม
นักแสดงหญิง
เอลเลน เพจ (Juno) ก้าวข้ามบทพูดที่เก๋ไก๋ ยอกย้อนเกินจริง แล้วพาตัวละครมานั่งอยู่ในหัวใจคนดูได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) เดินไต่บนเส้นลวดระหว่างน่ารักกับน่ารำคาญอย่างกล้าหาญ เสียงหัวเราะคิกคักของเธอสามารถเก็บไปหลอนได้อีกหลายวัน แต่เมื่อบทเรียกร้องให้ตัวละครต้องทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง เธอก็เผยให้เห็นให้เห็นความไม่แน่ใจและรอยร้าวแห่งโลกสีชมพูจนหมดเปลือก
เจ้าเหว่ย (Painted Skin) สวยสง่า นิ่งสงบ แต่แข็งแกร่งอย่าบอกใคร ฉากที่เธอเผชิญหน้ากับนางมารแบบไม่เกรงกลัว แถมยังยืดอกด้วยการเอาหัวตัวเองขึ้นเขียงเพื่อช่วยชีวิตสามี... ข้าน้อยขอคารวะ
เมอรีล สตรีพ (Mamma Mia!) แค่ได้ฟังเพลงฮิตหลากหลายของ ABBA ก็มีความสุขแล้ว แม้พล็อตเรื่อง (และตัวหนังโดยรวม) จะปัญญาอ่อนแค่ไหนก็ตาม ข้อดีอีกอย่างของ Mamma Mia! คือ การได้ เมอรีล สตรีพ มาแอ๊บแบ๊ว เริงร่าลืมอายุตัวเอง และไม่ห่วงภาพลักษณ์นักแสดงคุณภาพเอาซะเลย เสียงร้องของเธออยู่ในระดับหายห่วง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ เพียซ บรอสแนน ซึ่งสามารถทำให้ผมลุ้นเอาใจช่วยได้มากกว่าบทบาทของเขาในหนัง เจมส์ บอนด์ ทุกเรื่องเลยทีเดียว) ก่อนจะตบท้ายด้วยการ “ปล่อยของ” ในฉาก The Winner Takes It All ซึ่งกลายเป็นไฮไลท์ของหนังไปโดยปริยาย
กัญญา รัตนเพชร์ (ฝันหวานอายจูบ) ทำให้คำว่า “คุณหนู” กลายเป็นนิยามแง่บวก ใครก็ได้ช่วยสร้างหนัง (ทางที่ดีควรเป็นแนวทางตลก-โรแมนติก) ให้เธอรับบทเป็นนางเอกกับเขาเสียทีเถอะ
ความคิดเห็น
ปีนี้ดูเหมือนผมจะได้ดูหนังไทยเยอะขึ้น (ทำไมถึงชอบทรมานตัวเองนักก็ไม่รู้) แต่กลับไม่ประทับใจเรื่องใดมากเป็นพิเศษ กระนั้นขอบันทึกไว้ตรงนี้สักหน่อยว่า สามเรื่องที่ผมชื่นชอบมาก ได้แก่ Wonderful Town กอด และ สะบายดี หลวงพะบาง โดยเรื่องแรกจัดอยู่ในข่าย “หนังอาร์ต” เข้าฉายแบบจำกัด (มาก) ส่วนสองเรื่องหลังเป็นหนังสำหรับกระแสหลัก ดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จของตลก-โรแมนติก แต่เปี่ยมรสนิยม ไม่หนักมือในส่วนของการเร้าอารมณ์เหมือนหนังไทยอีกหลายๆ เรื่อง หวังเพียงว่าในปีหน้า หนังบ้าๆ บอๆ จำพวก หลวงพี่เท่ง 2 หรือ เทวดาตกมันส์ จะลดปริมาณลง แล้วถูกแทนที่ด้วยหนังน้ำดีแบบสามเรื่องนี้... แต่เมื่อลองเปรียบเทียบรายได้ของ กอด กับ หลวงพี่เท่ง 2 แล้ว ท่าทางโอกาสที่ความหวังของผมจะกลายเป็นจริงคงริบหรี่เต็มที
3 ความคิดเห็น:
วันนี้เราเพิ่งได้ดู The Three Burials of Mulquiades Estrada (แม่งจะยาวไปไหน) ทาง UBC แหละ เราว่าน่าสนใจดีที่บทนี้ของ ทอมมี่ ลี โจส์ กับใน No Country for Old Man ดูคล้ายกันมากๆ
ผมเพิ่งอัพเสร็จแหล่ะ มึนๆซางๆตีสามตีสี่ก็นั่งปั่นๆๆๆๆ
แต่เสร็จแล้วเย้ๆ
ชอบ Wall-E เหมือนกันแต่ก็ตรงที่มันน่ารักเอามากๆดี (จริงๆชอบ หุ่น"โม"มากกว่า อิอิ)
ไม่รู้ทำไม เวลาย้อนมาดูตัวเองว่าแต่ละปีชอบหนังแนวไหนบ้าง มันมักจะมีแนวมืดหม่น ประชดชีวิต มองโลกด้านลบเกินครึ่งทุกที ต้องทบทวนตัวเองใหม่ซะแล้ว ฮา...
ชอบเจ้าเหว่ยมากมาย
รู้สึกเอาเองว่าหนังPAINTED SKIN มันหมุนรอบตัวเธอจริงๆ
แสดงความคิดเห็น