รักแห่งสยาม: นอกจากคุณค่าในตัวของมันเองแล้ว รักแห่งสยามยังช่วยกระเทาะปอกเปลือกให้เห็นทัศนคติเบื้องลึกของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับ “ความแตกต่าง” และ “ความเป็นอื่น”
Bridge to Terabithia: ทำไมถึงไม่มีใครก่นด่าการโปรโมตของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเนื้อในหาใช่มหากาพย์แฟนตาซีดังคำโฆษณา แต่เป็นผลงานดราม่าเกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นที่อบอุ่น งดงาม และจับใจ
The Lives of Others: ความมหัศจรรย์อยู่ตรงที่ผู้กำกับพยายามจะพูดถึงหลายสิ่งหลายอย่าง และประสบความสำเร็จอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบในทุกแง่มุม ส่วนฉากไคล์แม็กซ์ของหนังก็ถือว่าบีบคั้นหัวใจระดับสุดยอด
The Simpsons Movie: หลงรักครอบครัวตัวเหลืองมาตั้งนานหลายปีแล้ว ดูทีไรก็มีความสุขทุกที และการได้เห็นพวกเขากระโดดมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ก็เปรียบเหมือนความฝันที่กลายเป็นจริง
The Queen: ดูสนุกและลุ้นระทึกอย่างไม่น่าเชื่อ หนังพิสูจน์ให้เห็นว่าความนิยมชมชอบนั้นหาได้เกิดขึ้นจากอากาศธาตุ หากแต่ต้องลงแรงก่อสร้างด้วยความยากลำบาก และอาจจะยากยิ่งกว่าในการดำรงรักษามันไว้
ดาราชายมาริโอ้ เมาเร่อ (รักแห่งสยาม): ดูเหมือนไม่ได้เล่นอะไร แต่ความเป็นธรรมชาติที่เหมาะกับบทของเขาทำให้โต้งกลายเป็นตัวละครที่น่าสงสารเห็นใจอย่างยิ่ง
วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์ (รักแห่งสยาม): ได้ใจคนดูไปแบบเต็มร้อยกับฉากสุดท้ายของหนัง
ลีโอนานาโด ดิคาปริโอ (Blood Diamond): แมนมากๆ ในสไตล์เดียวกับพระเอกหนังยุคสตูดิโอรุ่งเรือง
ซาโตชิ ทสึมาบุกิ (Nada Sou Sou): อบอุ่น น่ารักเหนือคำบรรยาย
อูลริช มูห์ (The Lives of Others): การแสดงของเขาน่าจะเรียกได้ว่า “มหัศจรรย์”
ดาราหญิงลลิตา ปัญโญภาส (พลอย): แม้บทจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย ซับซ้อนทางอารมณ์ จนบางครั้งถึงขั้นก้าวไปไกลเกินความ “สมจริง” แต่เธอกลับทำให้คนดูเชื่อตัวละครในทุกย่างก้าว
สินจัย เปล่งพานิช (รักแห่งสยาม): ทำไมเธอถึงไม่มีหนังให้เล่นมากกว่านี้
เฮเลน เมียร์เรน (The Queen): คู่ควรกับทุกรางวัลที่กวาดมา สีหน้าเธอตอนรู้ว่าช่อดอกไม้ของเด็ก ซึ่งยืนรอรับเสด็จอยู่หน้าพระราชวัง เป็นช่อดอกไม้สำหรับเธอนั้นถือว่าล้ำค่าเหนือราคาจริงๆ
เอเดรียนา บาร์ราซา (Babel): ฉากที่เธอให้ปากคำกับตำรวจสามารถทำให้คนดูหัวใจสลายได้เลย
รินโกะ คิคูชิ (Babel): หล่อนช่างกล้า
ความคิดเห็นผมชื่นชมและชื่นชอบผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทุกชิ้น (เท่าที่มีโอกาสได้ดู) แต่โดยส่วนตัวแล้วอาจกล่าวได้ว่า แสงศตวรรษ เป็นหนังที่มอบความสุขให้กับผมสูงสุด แน่นอน เช่นเดียวกับผลงานเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้า มันยังคงอัดแน่นด้วยอารมณ์ขัน ความท้าทายในเชิงการเล่าเรื่อง และประเด็นวิพากษ์สังคมอันลุ่มลึก แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ กลิ่นอายโรแมนติก ซึ่งถูกนำเสนอแบบไม่เร่งเร้า ไม่โน้มนำ จนมันค่อยๆ ซึมลึกสู่จิตสำนึก
ความที่มัน “ดูสนุก” และค่อนข้างเข้าถึงได้ง่าย (เทียบกับมาตรฐานของหนังอภิชาติพงศ์) เพราะพูดเกี่ยวกับเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ หลายคนจึงเชื่อว่าหนังเรื่องนี้น่าจะช่วยผลักดันให้ชื่อเสียงของผู้กำกับที่นักวิจารณ์ทั่วโลกพากันยกย่องขจรขจายในประเทศบ้านเกิดมากขึ้น แต่สุดท้าย อย่างที่เราส่วนใหญ่ทราบกันดี ความฟอนเฟะของระบบและความใจแคบของคนบางกลุ่มได้สกัดกั้นไม่ให้หนังเรื่องนี้เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความรู้สึกหวานปนขมอย่างบอกไม่ถูก ในแง่หนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ชมภาพยนตร์ฝีมือคนไทย ซึ่งงดงาม กล้าหาญ และเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขนาดนี้ (อันที่จริงหลังจาก สุดเสน่หา ผมก็ไม่ “ตื่นตะลึง” กับคุณภาพงานอันเหนือชั้นของหนังอภิชาติพงศ์อีกต่อไป แม้จะเซอร์ไพรซ์อยู่บ้างเมื่องานของเขายังสามารถพุ่งสูงเกินความคาดหวังอันลิบลิ่วของผมในบางครั้ง ดังเช่นกรณีของ แสงศตวรรษ) ดีใจที่ได้เห็นมันค้นพบที่ทางในระดับนานาชาติ แต่ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกเสียใจกึ่งละอายใจ เมื่อพบว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยนอกจากจะมองไม่เห็นคุณค่าของเพชรเม็ดงามเบื้องหน้าแล้ว พวกเขายังขว้างมันทิ้งอย่างไม่แยแส